รวมคำสอน “ท่านพ่อลี ธมฺมธโร”

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 15 มิถุนายน 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    รสชาติของการอยู่ป่ากับอยู่บ้านนั้นต่างกัน

    [​IMG]


    (ท่านเกริ่นเรื่องความเจ็บไข้ของท่าน)

    ลูกศิษย์ทุกคน...เรารักสงสารเขาเหมือนกับลูกกับเต้าของตัวเราเอง
    เราจะอาศัยอยู่ในโลกนี้กันไม่นานเท่าไรแล้วก็จะต้องจากกันไป
    ให้รีบๆ ทำความดีกันไว้เสีย อย่าเอาแต่กินแต่นอน

    คนที่บวชแล้วไม่เคยออกป่าเลย
    ก็เท่ากับได้รู้จักแต่รสข้าวสุกอย่างเดียว ไม่มีกับ
    คนที่บวชแล้วเดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก ย่อมได้รับรสของธรรม
    เปรียบเหมือนบุคคลที่กินข้าวสุกมีกับ ย่อมได้รับรสต่างกันมาก

    ตัวอย่างง่ายๆนึกถึงหลักธรรมชาติื
    เช่น "ไก่ป่า" มีลักษณะต่างกันกับ "ไก่บ้าน"
    คือ ตาไว หางกระดก ขันสั้น ปีกแข็ง
    ลักษณะการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความระวังจึงเป็นเช่นนั้น
    ส่วน "ไก่บ้าน" มี หางตก ตาตก ปีกอ่อน ขันยาว
    ลักษณะเหล่านี้ย่อมเป็นเหยื่อของเสือดาว
    ฉะนั้น..รสของการอยู่ป่าและอยู่บ้านย่อมต่างกัน

    บางคราวในเรื่องเหล่านี้ได้เคยผ่านความตำหนิโทษก็มีแต่นึกขยิ่มอยู่ในใจ
    เขา่ว่า "พระตาขาว, ขี้ขลาด, ขี้กลัว, ไม่ใ่ช่นักรบ, หลบหลีกปลีกตัว, เก่งไม่จริง"
    ก็นึกนิ่งหัวเราะไม่ตอบ...
    ในที่สุดก็ต้องตอบให้เขารู้ความจริงว่า

    "การอยู่บ้านเมืองนั้นดีจริงแต่ไม่เก่ง...เพราะเหตุใด ?
    เพราะในป่านั้นผมไม่เคยเห็นคนบ้านเข้าไปอยู่ได้
    ส่วนในบ้านในเมือง อย่าว่าแต่นักบวชของเราเลย
    ผมเห็นว่า คนบ้านก็มีแยะ จนแม้ไก่, สุนัข ฯลฯ มันก็อยู่กันเต็มดื่นดาษ
    จะว่าอะไรแต่พวกเราซึ่งเป็นนักบวช

    ส่วนป่านั้น...ลองให้ท่านไปอยู่ในป่าช้าผีดิบคนเดียวสักคืนจะได้ไหม ?"

    ก็ได้รับตอบว่า "ไม่ไหว" พร้อมทั้งสาธุการ

    เหตุการณ์เหล่านี้จะให้มีรสลึกซึ้งในใจ
    ต้องทดลองให้รู้ ความจริงก็จะทราบในตน
    ไม่ควรถือตามคำของคนและความคิดของตนเพียงเดียว
    ควรถือการกระทำเป็นเกณฑ์ จึงจะถูกหลักของ "พระพุทธศาสนา"
    ที่เรียกว่า "กรรมเป็นของๆ ตน"


    http://www.dhammajak.net
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพ่อลี ธมมฺธโร สอนหลวงพ่อพุธ ฐานิโย

    [​IMG]


    กับท่านพ่อลี สนิทกัน ทีแรกไม่ค่อยสนิท น้องสาวท่านไปอยู่บ้านหนองลักช้าง อำเภอสว่างแดนดิน ใกล้ๆ กับบ้านโคกพุทรา ท่านไปเยี่ยมน้องสาวท่าน ท่านรู้ว่ามีญาติอยู่ที่บ้านโคกพุทรา ท่านก็ไปเยี่ยม ญาติผู้ใหญ่เขาเล่าให้ท่านฟังว่า หลานคนหนึ่งก็เป็นเจ้าคณะอำเภอ อยู่ที่อำเภอวารินฯ พอท่านรู้ ท่านก็ไปตามหาหลวงพ่อ ไปเยี่ยม ไปแล้วท่านก็บอกว่า “พวกเราเป็นญาติพี่น้องกัน เรามีศักดิ์เป็นปู่ของเธอ” หลังจากนั้นก็ค่อยสนิทกัน ขึ้นมาเรื่อย

    ตอนที่ท่านสร้างวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ไปกราบท่านทีไร ท่านก็ต่อว่า “ไอ้เราเป็นลูกเป็นหลาน ไม่เห็นมาอยู่ด้วยกัน แต่คนอื่นเขายังมาอยู่” ก็เลยเรียนท่านว่า “ผมไม่มาอยู่ด้วย ผมก็มาศึกษา ศึกษาแล้วผมไปปฏิบัติ มีปัญหาอะไรผมก็มาเรียนปรึกษาครั้งหนึ่ง ดีกว่าจะมานั่งเฝ้าครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็มีบุญบารมีมากล้น อติเรกลาภมันก็ไหลมาเทมา ประเดี๋ยวจะมาติดแหง่กอยู่นี่ ติดลาภติดยศอยู่นี่ ไปไหนไม่รอดแล้ว” ท่านก็เลยหัวเราะ

    พบกันทีไร ท่านจะไม่พูดพล่ามทำเพลงกับหลวงพ่อ พอเจอหน้ากันปั๊บ กราบแล้ว

    “นั่งสมาธิ”

    ท่านจะคุยอยู่กับใครก็ตาม ท่านจะชี้หน้าหลวงพ่อ

    “เอ้า นั่งสมาธิ”

    พอนั่งไปสักพัก ท่านก็บอก “เป็นไง นั่งสมาธิ”

    “นั่งสมาธิก็ได้สมาธิ”

    ท่านไม่เคยอธิบายอะไรให้ฟังกว้างขวางพิสดาร แต่ท่านจะย้ำว่า

    “ให้ปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง อย่าไปทำๆ หยุดๆ แต่ละครั้งที่เรานั่งสมาธิ จิตสงบหรือไม่สงบ อย่าไปท้อถอย ถึงเวลาสงบ มันจะสงบเอง ความสงบมันเป็นผลงาน เราแต่งเอาไม่ได้”

    [​IMG]


    ที่มา :: http://www.palungdham.com
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพ่อลี : สู้กิเลสด้วยปัญญา เพื่อรักษาเพศพรหมจรรย์

    [​IMG]


    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
    เป็นพระกรรมฐานผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
    ในปี ๒๕๐๐ ท่านเป็นผู้จัดงานฉลองกึ่งพุทธกาลขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ วัดอโศการาม
    นับว่าท่านเป็นผู้มีบุญบารมีและศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง
    ดังความปรากฏตอนหนึ่งใน “๒๘ อรหันต์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ดังนี้

    “ท่านจึงเป็นผู้ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาและให้การยกย่องว่า
    ‘มีพลังจิตสูง เป็นผู้เด็ดเดี่ยว อาจหาญ เฉียบขาด ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยธรรม’
    สมศักดิ์ศรีที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม
    ให้เป็น ‘อัศวินแห่งกองทัพธรรมกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต’ ที่มีธรรมะเป็นอาวุธ”

    แม้จะเปี่ยมด้วยบุญบารมีเพียงใด แต่ยังต้องพบกับอุปสรรคที่ทำให้มีความคิดที่จะลาสิกขา
    เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อครั้งท่านอุปสมบทในธรรมยุติกนิกาย
    จำพรรษา ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นพรรษาที่ ๓
    ช่วงก่อนหน้านั้นท่านได้ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เพื่อจะออกธุดงค์ แต่ไม่ได้รับอนุญาต

    “ในระยะนี้ได้ตรวจดูจิตใจของตนเองรู้สึกว่าเสื่อมในทางปฏิบัติ
    คือจิตชักจะหันหน้าไปทางโลกเสียบ้าง ได้คิดต่อสู้อยู่จนตลอดพรรษา
    อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดความคิดในใจว่า ถ้าเราอยู่ในพระนครนี้เราต้องสึก
    ถ้าเราไม่สึก เราต้องออกจากพระนครไปอยู่ป่า”

    เมื่อมีความคิดดังกล่าวและก็ไตร่ตรองอยู่หลายครั้ง แต่ระหว่างนั้นก็มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น
    เหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งท่านเล่าไว้เพื่อเป็นคติเตือนใจ ในอัตตประวัติมีทั้งหมด ๔ คราว
    เรื่องราวแรกเกิดขึ้นในวันหนึ่งที่ท่านรู้สึกท้องผูก ในตอนบ่ายจึงฉันยาถ่าย
    โดยคาดว่าจะถ่ายอุจจาระประมาณ ๒๑ นาฬิกา ตามปกติดังที่เคยเป็นมา
    แต่ปรากฏว่าในคืนนั้นไม่ได้อุจจาระ และตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นก็ไปบิณฑบาตในตรอกวังสระปทุม

    “พอเดินไปถึงหน้าบ้านที่เขาจะใส่บาตร ก็เกิดรู้สึกปวดอุจจาระอย่างหนักจนทนแทบไม่ไหว
    จะเดินออกไปรับบาตรก็เดินไม่ได้ ก้าวขาไม่ออก
    มัวแต่อดกลั้นขยับขาเดินได้ทีละคืบ ไปถึงป่ากระถินแห่งหนึ่ง
    รีบวางบาตรลอดรั้วเข้าป่ากระถิน มันนึกอยากเอาหัวตำดินให้ตายเสียดีกว่า
    เมื่อทำธุรกิจเสร็จแล้วก็ออกจากป่าอุ้มบาตรเดินบิณฑบาตต่อไปตามเคย
    วันนั้นได้ข้าวไม่พอฉัน กลับมาถึงวัดก็ได้เตือนตัวเองว่า
    ‘มึงสึกไปแล้ว ต้องเป็นอย่างนี้ ใครเขาจะมาใส่บาตรให้กิน’ เรื่องนี้ได้เป็นคติเตือนใจอย่างดี”

    เหตุการณ์ในครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นเมื่อท่านไปบิณฑบาตแถวถนนเพชรบุรี
    เช้าวันนั้นยังไม่ได้ข้าวแม้แต่หนึ่งทัพพี แต่กลับประสบเหตุอื่นแทน

    “พอดีได้เห็นหญิงแก่อายุประมาณ ๕๐ ปี ไว้ผมมวย กับตาแป๊ะแก่ไว้หางเปีย
    ยืนส่งเสียงดังเอะอะอยู่ในห้องแถว ขณะนั้นเราเดินมาถึงตรงหน้าบ้านเขา
    ก็หยุดยืนนิ่งดูประมาณสัก ๒ อึดใจ เห็นยายแก่คว้าไม้กวาดตีหัวตาแป๊ะ
    ตาแป๊ะคว้ามวยผมถีบหลังยายแก่ ตัวเองก็เริ่มนึกว่า
    ‘ถ้าเป็นเราโดนเข้าอย่างนี้จะทำอย่างไรกัน’ ก็ตอบขึ้นว่า ‘มึงต้องบ้านแตกสาแหรกขาดแน่’
    การที่ได้ประสบพบเหตุการณ์อย่างนี้ กลับดีใจยิ่งกว่าบิณฑบาตได้ข้าวเต็มบาตร”

    ในวันนั้นท่านพ่อได้ข้าวแทบไม่พอฉัน เมื่อถึงเวลากลางคืน ท่านก็ได้ตริตรองเรื่องนี้อยู่ตลอด
    ทำให้ก็รู้สึกเบื่อหน่ายเรื่องของโลกออกไปโดยลำดับ

    เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นเมื่อไปบิณฑบาต แล้ววกกลับมาทางด้านหลังวัดปทุมวนารามฯ
    บริเวณนั้นเป็นถนนดิน ถ้าฝนตกถนนจะลื่น ท่านเดินอย่างสำรวมมาถึงหน้าบ้านของโยมคนหนึ่ง

    “บิณฑบาตได้ข้าวเต็มบาตร ใจก็นึกคิดไปในอารมณ์ของโลก
    นึกจนเผลอตัวก้าวลื่นถลาล้มลงไปในบ่อข้างถนน หัวเข่าทั้งสองจมลงไปอยู่ในโคลนประมาณ ๑ คืบ
    ข้าวสุกในบาตรหกหมด เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยโคลน ต้องรีบเดินทางกลับวัด
    เมื่อกลับมาถึงวัดแล้ว เก็บเอามาเป็นคติเตือนใจสอนตนเองว่า การนึกในเรื่องทางโลกของเรา
    เพียงแต่นึกคิดมันก็ยังมีโทษติดตามมาได้ถึงเพียงนี้ ใจก็ค่อยคลายค่อยเบื่อออกไปโดยลำดับ
    คิดว่า ‘เรื่องครอบครัวนั้นมันเป็นเรื่องของเด็ก ไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่’ กลับความคิดเห็นเป็นอย่างนี้”

    เหตุการณ์สุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อท่านบิณฑบาตไปตามถนนเพชรบุรี
    ไปถึงวังของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
    พระองค์ท่านจะใส่บาตรประจำวันแก่พระสงฆ์ทั่วไป แต่วันนั้นมีขันข้าวอีกขันหนึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามวัง
    ท่านพ่อจึงเดินไปรับบิณฑบาตจากขันตั้งใหม่เสียก่อน แล้วจึงหันกลับมาเพื่อจะไปรับขันที่อยู่ตรงข้าม

    “พอดีมีรถเมล์ขาวนายเลิศวิ่งมาอย่างรวดเร็ว วิ่งเฉียดศีรษะไปห่างประมาณ ๑ คืบ
    คนโดยสารร้องตะโกนโวยวายขึ้น ตัวเองก็ผงะยืนตกตะลึงอยู่เป็นเวลาหลายอึดใจ
    วันนั้นเกือบถึงแก่ความตายเพราะถูกรถเมล์ชน ขณะกลับไปรับบาตรที่วังพระองค์เจ้าธานีฯ
    ต้องสะกดตัวไว้อย่างเข้มแข็ง มีอาการสั่นสะท้านไปทั่วทั้งตัว”

    ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้เป็นคติเตือนใจท่านอย่างดี
    จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็มีดำริว่า

    “ในปีพรรษาที่ ๓ ก็นึกว่า เราต้องออกจากพระนครแน่ๆ
    ถ้าพระอุปัชฌาย์ยังหวงห้ามกีดกันอีก เห็นจะต้องแตกกันในคราวนี้
    มิฉะนั้นก็ขออำนาจคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงช่วยข้าพเจ้าโดยทางอื่น”

    ต่อมาในวันหนึ่งเวลากลางคืน ท่านอ่านหนังสืออยู่แล้วเคลิ้มหลับไป

    “พอเคลิ้มหลับได้เห็นพระอาจารย์มั่นมาดุว่า ‘ท่านอยู่ทำไมในกรุงเทพฯ ไม่ออกไปอยู่ป่า’
    ก็ได้ตอบท่านว่า ‘พระอุปัชฌาย์ไม่ยอมให้ไป’ ท่านตอบคำเดียวว่า ‘ไป’
    จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงท่านว่า ‘เมื่อออกพรรษาแล้ว ขอให้ท่านมาโปรดเราเอาไปให้จงได้’”

    หลังจากนั้นไม่กี่วัน ท่านพ่อก็ได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งมาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
    เพื่อเยี่ยมอาการอาพาธของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

    “นับแต่อุปสมบทล่วงแล้วได้ ๔ พรรษา เพิ่งจะได้มาพบท่านอีกในคราวนี้ ก็ได้เข้าไปกราบไหว้
    ท่านก็เมตตาแสดงธรรมให้ฟังว่า “ขีณาชาติ วุสิตัง พรหมจริยันติ” แปลได้ใจความสั้นๆ ว่า
    “พระอริยเจ้าขีณาสพทั้งหลาย ท่านทำตนให้เป็นผู้พ้นจากอาสวะแล้วมีความสุข
    นั้นคือพรหมจรรย์อันประเสริฐ” จำได้เพียงเท่านี้
    แต่รู้สึกว่าเราไปนั่งฟังคำพูดของท่านเพียงเล็กน้อย ใจนิ่งเป็นสมาธิดีกว่าเรานั่งทำคนเดียวมากมาย
    ในที่สุดท่านก็สั่งว่า “คุณต้องไปกับเราในคราวนี้ ส่วนอุปัชฌาย์นั้นเราจะไปเรียนท่านเอง”

    ท่านพ่อลีจึงได้ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปธุดงค์ทางภาคเหนือ
    ด้วยความเพียรพยายามในการต่อสู้กับกิเลสด้วยปัญญา เพื่อรักษาเพศพรหมจรรย์ของนักบวช
    จึงรอดพ้นจากการลาสิกขา ครองสมณเพศตราบวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


    --------------------------------------------------------

    เอกสารประกอบการเขียน

    “ชีวประวัติพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)” พิมพ์ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๑๙.

    “๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม
    ธรรมบรรณาการในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
    (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) ครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๘ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒.


    โดย เทียบธุลี Dharma@Hand Lite ธรรมะใสใส...ใกล้ตัวคุณ
    http://www.dhammajak.net
     
  4. แสงแข

    แสงแข เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กันยายน 2010
    โพสต์:
    7,935
    ค่าพลัง:
    +44,410
    อยู่ในระหว่างที่คอยรวบรวมพระธรรมจากท่านพ่ออยู่ค่ะ มาพบที่นี่อีก

    สาธุ ขอโมทนาบุญกุศลค่ะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • lotus109m.jpg
      lotus109m.jpg
      ขนาดไฟล์:
      27.1 KB
      เปิดดู:
      55
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อย่าประมาทความดี

    [​IMG]


    แสดง ณ วัดอโศการาม ๔ ตุลาคม ๒๕๐๓
    จากหนังสือ “ท่านพ่อลี ธัมมธโร”

    การที่พวกเราได้มาสับสร้างความดีกันได้เช่นนี้ ก็อย่าลืม มันอาจที่จะให้ผลแก่เราได้ อย่าประมาทว่าผลเล็กน้อยที่เราทำมานี้ จะไม่ได้ผลอะไรมากมาย อย่าประมาท อย่างพระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสอนไว้ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุสามเณรหรือญาติโยมบางคน เวลาบวชมาศึกษาปฏิบัติก็ตัดกิเลสของตนไม่ขาด พอทำกิเลสของคนให้เบาบางเล็กน้อยลงไปบ้างเท่านั้น ใจก็ท้อถอย ไม่สามารถทรงเพศบรรพชิต อยู่ในศาสนาได้ ก็สึก เมื่อสึกไป ก็ไปประกอบกิจการงานต่างๆ ที่เกี่ยวถึงอาชีพ เมื่อประกอบกิจการต่างๆ บางคราวก็สุจริต บางคราวก็ทุจริต เมื่อได้ทำความชั่ว ทุจริตเกิดขึ้น ก็ได้รับทัณฑ์โทษทางบ้านเมือง เมื่อได้รับโทษ ก็ถูกจับถูกกุมถูกคุมขัง

    ตัวอย่างเช่น ลูกศิษย์พระสารีบุตร มาบวชบำเพ็ญคุณงามความดี ก็ไม่ได้อย่างนึกเลยสึกไป เมื่อสึกไปก็ไปประพฤติตัวเป็นโจร เมื่อประพฤติตัวเป็นโจรเป็นขโมย ก็ถูกจับกุมลงโทษถึงประหารชีวิต ก่อนที่จะประหารชีวิตนั้น เขาก็เอาโจรคนนั้นไปทรมานอยู่ ๗ วัน วันหนึ่งนั้นได้ทรมานร่างกายให้ประชาชนได้เห็นมาชม เพื่อเป็นเครื่องปราบคนร้าย ส่งอำมาตย์ให้ทำหลาวไม้รวกหลาวเหล็ก ทำปลายอย่างแหลมคมกล้า แล้วเขาก็รัดไว้เป็นแถวเป็นแนว เสร็จแล้วจึงจับโจรนั้นขึ้นไปนอนขึ้นไปนั่ง ให้หลาวนั้นเสียบแทงอวัยวะร่างกาย ให้เลือดไหลอาบตัวอยู่ ได้รับความทุกข์อย่างสาหัส วันหนึ่งทำตอนเช้า แล้วก็ทำตอนเที่ยง ทำตอนเย็น ป่าวร้องประชาชนพลเมืองมาดูตัวอย่างผู้ประพฤติตนไม่ดี ต้องถูกทรมานตนอย่างนี้ โจรคนนี้แกก็ได้ถูกทรมานตัวอย่างเข็มงวดแข็งแรง และถูกทรมานอยู่อย่างนี้จนกว่าจะถึง ๗ วัน เมื่อทรมานครบเจ็ดวันแล้ว ก็จะเอาตัวไปประหารชีวิตคือตัดศีรษะให้ตาย

    อยู่มาวันหนึ่ง ด้วยอำนาจวาสนาซึ่งเคยได้ไปศึกษาอบรมอยู่กับพระสารีบุตร คือเมื่อตอนไปบวชอยู่กับพระสารีบุตร ท่านก็แนะนำให้ประพฤติธุดงควัตรแล้วก็สอนสมณธรรมให้ ได้บำเพ็ญอบรมจิตใจบำเพ็ญคุณงามความดีของคนนั้นได้แก่ปฐมฌาน แต่ปฐมฌานนั้น มันยังไม่สามารถต้านทานกิเลสตัณหาให้ขาดไปได้ จึงได้ลาเพศไปเป็นคฤหัสถ์

    ในวันที่ ๖ อำนาจบุญวาสนาของท่านพระสารีบุตร ซึ่งเป็นผู้มีเมตตา ได้ช่วยเยียวยาสั่งสอนประชาชนทำกิจศาสนาแทนพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้เล็งญาณทัศนะการดูหมู่คณะสานุศิษย์ ว่าบวชแล้วยังอยู่ไหนบ้าง สึกแล้วไปอยู่ไหนบ้าง ไปประกอบอาชีพกิจการงานต่างๆ อยู่ไหนบ้าง และด้วยบารมีที่ได้สะสมร่วมกับท่านมา ก็ได้ปรากฏแสงสว่าง แลเห็นลูกศิษย์คนนั้นกำลังถูกทรมานอยู่อย่างสาหัส แล้วเขาก็จะตัดศีรษะประหารชีวิตในวันพรุ่งนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พิจารณาเห็นอำนาจบารมีของเขาที่ได้บำเพ็ญไว้ ยังมีเป็นนิสัยอยู่ แต่มันเสื่อมไปหมด แม้กระนั้นความดีที่ทำไว้แล้ว มันก็ยังฝังอยู่ในนั้นแหละถึงมีกิเลสหุ้มห่อดวงจิตไว้ ความดีก็ยังอยู่

    เมื่อท่านรู้อย่างนี้ ท่านก็ไปบิณฑบาต เมื่อไปบิณฑบาตในเวลาตอนเช้า นายโจรกำลังนอนอยู่บนหลาวเหล็กและหลาวไม้รวก พระสารีบุตรก็ผ่านไปใกล้ๆ คนก็แตกตื่น บางคนก็ตื่นกันไปดูพระสารีบุตร บางคนก็ตื่นกันไปดูโจรที่ถูกทรมาน พอดีแหวกช่องให้ลูกศิษย์คนนั้นเห็นพระสารีบุตร เห็นชายจีวรเท่านั้นแหละ พระสารีบุตรท่านก็แผ่เมตตาจิต ด้วยอำนาจเมตตาจิตของท่านนั้น ก็กระเทือนถึง เป็นเครื่องยืนยัน แต่เข้าไปใกล้ไม่ได้

    เมื่อลูกศิษย์คนนั้นได้เห็นพระสารีบุตรก็เกิดความดีใจ นึกในใจว่าวันพรุ่งนี้จะต้องลาอาจารย์ คือจะต้องถูกประหารชีวิต ก่อนที่จะลาอาจารย์นั้นก็นึกถึงการกราบการไหว้ การทำสักการบูชาและก็คำนึงถึงคำภาวนาที่อาจารย์สอนให้ แกก็ได้เจริญฌาน ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ เมื่อทำจิตให้สงบก็ได้ระลึกถึงความตาย ว่าเอาเราแน่ละ ไม่ต้องสงสัย เป็นมรณานุสสติ แล้วก็ค้นคิดเข้ามาว่าเขาตายกันอยู่ที่ไหน ความตายมันอยู่ที่ไหนกัน ก็ปรากฏว่าความตายมันมาอยู่ที่ปลายจมูก ถ้าลมดับเสร็จ ตายเป็นแน่ ถ้าลมหายใจยังอยู่ ถึงแม้จะถูกทรมานอย่างแสนสาหัสก็ไม่ตาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็บำเพ็ญอานาปาน์ มาจำเริญกำหนดลมหายใจ เมื่อจิตเข้าไปจับลมเท่านี้แหละ ไอ้เจ้าลมก็หยุด โลหิตนั้นก็หยุดไหลทันที เมื่อโลหิตหยุดไหล เนื้อหนังที่ขาดเป็นช่อง มันก็ติดกันหมด

    เมื่อเห็นแผลปิดเช่นนั้น ก็เกิดปีติ ดีอกดีใจว่าเราได้ภาวนากระทำจิตถึงกับระงับทุกขเวทนาได้ถึงขนาดนี้ ก็ตั้งใจพิจารณาส่วนต่างๆ ของร่างกาย พิจารณาเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทวนกลับไปกลับมา ในที่สุดส่วนอวัยวะที่ขาดฉีกกลับติดต่อกันได้หมด ทีนี้เมื่ออวัยวะเกิดกำลังกล้าก็สามารถนั่งขัดสมาธิบนหลาวเหล็กและหลาวไม้รวกเมื่อขึ้นไปนั่งสมาธิบนหลาวเหล็กและหลาวไม้รวกได้เช่นนั้น ขั้นสมาธิสองชั้น แล้วก็บำเพ็ญฌานเจริญฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม จนถึงที่สี่ เมื่อได้ถึงฌานที่สี่ ร่างกายนั้นก็เบาเหมือนปุยนุ่นแข็งกว่าหลาวเหล็ก แข็งกว่าหลาวไม้รวก หลาวแหลมนั้น ทิ่มแทงกายลูกศิษย์ของพระสารีบุตรนั้นไม่ได้อีกเลย

    ในที่สุดโจรคนนั้นก็ได้นั่งขัดสมาธิบำเพ็ญอัปปนาฌาน ตั้งอธิษฐานจิตว่าเราจะไปอยู่กับอาจารย์ ถ้าเรารอดตัวครั้งนี้ แล้วก็บำเพ็ญฌานที่สี่ได้สำเร็จดี มีองค์อยู่สองอย่างคือจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรทั้งหมด สัญญาที่เขาจะฆ่าไม่มี กับไปไหนไม่ทราบ วางหมด และเป็นผู้มีสติสว่างไสว แล้วก็มองเห็นอาจารย์ อาจารย์ไปอยู่ที่ไหนก็มองเห็นด้วยอำนาจแสงสว่าง ในที่สุดก็อธิษฐานจิตว่า เราจะไปอยู่กับอาจารย์

    เมื่ออธิษฐานจิตอย่างนี้ ร่างกายก็ลอยเหาะไปในอากาศ เมื่อเหาะไปในอากาศ ก็ไปหาอาจารย์ เมื่อไปอยู่กับอาจารย์ก็ให้คำรับรองปฏิญาณตนว่าจะไม่ทำบาปอกุศลอย่างนี้อีกต่อไป ก็ได้บำเพ็ญวิสัยสืบต่อก็รอดตัวแต่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ รอดตัวแค่กันตายในชาตินั้นเพียงเท่านั้น

    นี่แสดงถึงเรื่องความดีที่ได้บำเพ็ญกันมานั้น แม้เมื่อมันยังไม่เกิดสมใจของเราในขณะนั้นก็ตาม ก็อย่าประมาท คือความดีนิดๆ หน่อยๆ นั้น มันเหมือนกับไฟ ไฟนั้นอย่าไปประมาท เพียงไม้ขีดลูกเดียวเท่านั้น มันสามารถสังหารผลาญบ้านเมืองให้ย่อยยับได้ นี่ความดีมันมีอำนาจ เหตุนี้พระองค์จึงได้สั่งสอนพวกเรา มิให้ประมาท ความดีที่ได้สร้างมา ถึงแม้จะเล็กน้อยก็ตามย่อมมีอำนาจสามารถจะช่วยป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ผ่อนหนักผ่อนเบาให้ปลอดภัยนี่ประการหนึ่ง

    อีกนัยหนึ่ง เรื่องของคนเรานั้นก็มาก นิสัยคนบาปคนนั้นเหมือนกับต้นไม้ ต้นไม้บางชนิด เช่นต้นฟักทอง หรือลูกฟัก เมื่อเราไปปลูกฝังไว้ยังพื้นแผ่นดิน เราก็อยากกินลูกเร็วๆ อยากกินผลเร็วๆ มันก็หาเป็นอย่างความคิดนึกของเราไม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ธรรมชาติความดีที่ได้ปลูกสร้างลงไป มันก็ค่อยเจริญขึ้นทีละนิดๆ

    เมื่อมันเจริญขึ้นแล้ว นานเข้าก็ย่อมออกผลให้เป็นธรรมดา แต่เราไปนั่งสังเกตดูซิว่ามันยาวขึ้นวันหนึ่ง นาทีหนึ่ง ยอดมันยาวขึ้นประมาณสักกี่เซนต์ ให้ไปเขียนดูชิ เขียนไม่ได้ ยอดฟักทองน่ะ มันงอกออกมาวันหนึ่งได้เท่าไร เขียนได้ไหมเล่า เขียนไม่ได้ แต่เราเชื่อไหมว่า มันต้องงอกขึ้นทุกวัน ถ้ามันไม่เป็นจริงอย่างนั้นแล้วมันจะยาวขึ้นได้ยังไง นี่ฉันใดก็ดี ความดีของพวกเรา เราจะสับสร้างได้มากน้อยเพียงไรก็ตามถึงเราจะมองไม่เห็นผลก็ตาม แต่มันก็ได้ เราบอกไม่ได้ว่าเราดีเท่านั้นๆ เราก็บอกไม่ได้ วันหนึ่งเราได้ทำดี บอกได้ แต่ไอ้ความดีที่มันเกิดขึ้นจากการทำ มากน้อยเท่าไร บอกไม่ได้ ถามว่าได้ผลหรือเปล่า ได้ซี เหมือนยอดฟักทอง แต่เขียนบอกไม่ได้ว่าเกิดมาวันหนึ่งๆ ได้เท่าไร ไม่รู้ว่ามันเกิดมายาวเท่าไร แต่มันยาวออกมาไหมล่ะ ตอบว่าต้องยาว ฉันใดก็ดี คุณงามความดีทั้งหมด ซึ่งมันเกิดขึ้น ไม่เป็นอย่างเราต้องการ ก็อย่าประมาท นี้ข้อหนึ่ง

    ข้อที่สองนั้น นิสัยของผู้ปฏิบัติ บางท่านหรือบางจำพวกมันเหมือนต้นกล้วยคือธรรมดาต้นกล้วยนั้น เมื่อเราไปตัดต้นของมันขาดเสีย ในชั่วเวลาสักชั่วโมงเดียว ถ้าเราไปดูจะแลเห็นว่ายอดกล้วยนั่นมันโผล่ออกมาได้ตั้งนิ้ว ถ้าสองสามวันก็ขึ้นมาตั้งศอกตั้งแขน นั่นเห็นเร็ว นี่จำพวกหนึ่ง พวกเขาก็เหมือนกัน บางผู้บางคน การปฏิบัติคุณงามความดีเห็นผลเร็ว เกิดโลดโผนสามารถหลายท่าหลายทาง ตัวอย่างสามารถทำฌานของตนให้เกิดขึ้นได้ สามารถที่จะชี้แจงอรรถาธิบายในข้อธรรมะ ที่มันเกิดขึ้นกับตนให้คนอื่นฟังได้ชัดเจน นี่บางท่านเป็นอย่างนี้

    ในสมัยครั้งพุทธกาลก็เหมือนกัน เช่น พระจูฬบันถก บำเพ็ญคุณงามความดีมานาน แต่เวลามาเจริญกรรมฐานด้วยความเหยียดหยามของบุคคลผู้อื่น ปฏิบัติด้วยความแค้นใจเท่านั้น ได้ผลเลยคือ สมัยครั้งหนึ่งได้อยู่กับหมู่คณะตั้ง ๕๐๐ องค์ วันหนึ่งเศรษฐีมานิมนต์ไปฉันอาหารบิณฑบาตในบ้าน ส่วนพี่ชาย พระมหาบันถกนั้น เป็นภัคตุทเทศก์ เมื่อใครมานิมนต์พี่ชายเป็นผู้จัดการที่จะนิมนต์พระไปในภัตตกิจใน

    วันนั้น พระมหาบันถก พี่ชาย เห็นว่าพระจูฬบันถกนั้นขี้เกียจบำเพ็ญกรรมฐาน ก็ได้แต่สัปหงก มีถีนมิทธะครอบงำจิตใจ อย่าเอาไปกินข้าวในบ้านเขาเลย เลยไม่นิมนต์พระจูฬบันถก นิมนต์แต่พระองค์อื่นๆ ไป ๔๙๙ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปในงานถวายท่านของเศรษฐี เมื่อไปถึงบ้านเศรษฐีๆ ก็จัดอาหารถวายพระครบหมด แต่อาหารเหลืออยู่ถาดหนึ่ง เศรษฐีก็ถามว่า ทำไมพระขาดห้าร้อย มหาบันถกก็บอกว่า พระจูฬบันถกไม่ได้นิมนต์มา ทีนี้เศรษฐีก็ไต่ถามพระพุทธเจ้าๆ ก็รับสั่งว่า พระจูฬบันถกเป็นคนสำคัญ บัดนี้ เศรษฐีต้องไปนิมนต์ ท่านเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง

    ส่วนทางพระจูฬบันถกแค้นใจ เขาเหยียดหยามย่ำยี วันนี้ตั้งอกตั้งใจจะไม่กินข้าว นั่งสมาธิบำเพ็ญฌาน บรรลุถึงฌานที่สี่ จนดวงจิตตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยก้าวหน้าถึงขนาดนั้น เมื่อได้ฌานที่สี่แล้ว ก็เข้าฌานที่ห้า ทำจิตสว่างไสว เบิกบานแจ่มใส เกิดกำลังกาย เกิดกำลังจิต พอดีคนของเศรษฐีนั้นเข้ามานิมนต์ ในตอนนี้ พระพุทธเจ้าอยากแสดงให้เศรษฐีเห็นอำนาจ ไม่บอกวิธีนิมนต์ ให้ไปรู้เองเสียก่อน จึงจะค่อยพูด ส่วนทางพระจูฬบันถกก็อธิษฐานจิต เมื่ออธิษฐานจิต พระเต็มวัดหมด ไม่รู้มาจากไหนกัน เกลื่อนกล่นไปหมด บางองค์ก็นั่งสมาธิ บางองค์ก็เดินจงกรม บางองค์ก็ซักจีวรวุ่นวายกันไปทั้งวัด ทีนี้คนไปนิมนต์ถามว่า พระจูฬบันถกอยู่ที่ไหน ท่านก็ชี้มือบอกไปข้างหน้า ว่าอยู่ทางโน้น ไปถามองค์โน้น ก็บอกต่อๆ ไป ถามไปจนหมด ไม่ใช่จูฬบันถกสักองค์ ถามไปองค์โน้นๆ ก็ชี้ไปทางนี้ ถามองค์นี้ๆ ก็ชี้ไปทางโน้นให้ยุ่งกันไปจนหมดเวลาฉันอาหาร ในที่สุดไม่ได้ ก็วิ่งกลับไปในบ้านอีก

    เมื่อเข้าไปในบ้าน ทีนี้พระพุทธเจ้าทราบว่าพระจูฬบันถกนั้นเป็นคนแก่กล้า สามารถที่จะแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่เขาได้ ก็จะได้หายจากการดูถูกเหยียดหยามย่ำยี พระองค์จึงทรงชี้แจงว่าให้ไปนิมนต์ใหม่ นิมนต์คือทำยังไงเมื่อไปนิมนต์ละก็ ถามท่านว่า องค์ไหนเป็นจูฬบันถก เวลาท่านอ้าปาก เปิดปากที่จะบอก ให้รีบจับคว้าแขนทันที อย่าให้ท่านบอกได้ ทีนี้ก็ได้การละซี ก็ไปที่วัด ที่มีพระมากเต็มหมด ทีนี้ก็ไปถามว่าองค์ไหนคือพระจูฬบันถก พอท่านจะชี้บอกก็คว้าแขน จับแขนปั๊บเดียวเท่านั้นแหละพระทั้งหลายหายหมด เหลือพระองค์เดียวที่จับแขนอยู่เท่านั้น ทีนี้ก็ได้นิมนต์ไปฉันอาหารบิณฑบาต ในบ้านของเศรษฐี

    แต่นั้น พระจูฬบันถก ก็เด่นในวงการของคณะ เป็นผู้สามารถทำการอย่างโลดโผน ห้อยโหนโยนตัว สามารถตากแดดไม่ต้องร้อน สามารถตากฝนไม่ต้องเปียก ทางไกลๆ สามารถที่จะไปให้ได้ถึงเร็ว มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ ตัวท่านองค์เดียวอยู่ที่นี้ สามารถให้ไปปรากฏได้ที่ป่าช้า ปรากฏที่อื่นๆ ทำได้ด้วยวิธีหลายอย่าง พระจูฬบันถกก็กลายหายไปจากความแค้นที่หมู่คณะเหยียดหยาม เลยเป็นคนเด่นโลดโผนตั้งแต่นั้นต่อมา นี่อำนาจคุณงามความดีนั้น บาลีท่านก็โลดโผนเร็ว แตกฉานกว้างขวาง แก่ด้วยสมถะ แก่ด้วยวาสนา สามารถที่จะโลดโผนและก้าวไปสู่พระนิพพานได้ในชาตินั้น นี่เรื่องความดีที่ได้อบรมทำมานั้น เป็นบารมีธรรมทั้งสิ้น ฉะนั้น ควรที่จะต้องพากันมีความภูมิใจในการกุศลนี้

    อีกเรื่องหนึ่ง ยังมี เทพยดาองค์หนึ่ง แต่ก่อนเป็นผู้หญิง ในสมัยครั้งหนึ่งแกไปวัดไปเห็นมันรกในทางจงกรมของพระ แกก็ไปเขี่ยขี้ฝอยในทางจงกรมนั้น เพื่อให้ความสะดวกในการเดินจงกรมของพระ ครั้งเดียวเท่านั้น แต่แกทำด้วยความรัก แกทำด้วยความเชื่อ ทำด้วยความนับถือ ทำด้วยความบริสุทธิ์จิต เพราะของที่รกรุงรังสกปรกนั้น ยังความเศร้าใจให้เกิดขึ้นท่านเห็นเป็นเช่นนี้จึงได้เก็บขี้ฝอยออกจากที่ทาง แล้วก็หาน้ำล้างเท้ามาไว้ในที่นั้น เก็บขี้ฝอยขี้เศษต่างๆ รกรุงรังออกหมด แกก็รู้สึกว่า ใจสบายผ่องแผ้ว กลับไปบ้าน

    บังเอิญไปเกิดเป็นลมตาย ตายจากโลกนี้ก็ไปเกิดเป็นเทวดา มีบริษัทบริวาร มีอาหารทิพย์ มีปราสาท มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากมาย เมื่อไปอยู่ที่นั้น ระลึกชาติได้ เมื่อระลึกชาติได้อย่างนี้ ก็นึกในใจว่า ถ้าเราทำบุญมากๆ ก็จะได้ดีมากกว่านี้ จะขอไปทำความดีอีกสักหน่อยเถอะ เพื่อให้มันยิ่งกว่าที่ได้ผลอยู่ขณะนี้ แต่ก่อนไม่ยักรู้ว่ามันจะได้รับผลอย่างนี้ ก็ได้ลงมาจากสวรรค์ ไปเที่ยวหาพระอยู่ตามป่าตามพง พอไปเห็นพระองค์หนึ่งท่านกำลังเข้าสมาธิ ฝ่ายเทวดาก็มายืนจ้อง คอยปฏิบัติอุปัฏฐากพระ ท่านเลยตะเพิดไป “เทวดาทำไมมาแย่งบุญมนุษย์ แต่ก่อนนี้มันประมาท เมื่อไปเสวยผล ได้รับผลดีแล้ว ยังจะอยากโลภมาก ไม่เอา ไม่ให้ท่านให้มนุษย์เขามาทำ คนที่ยังไม่ได้รับความดีอย่างแกนั้นยังมีอยู่อีกมาก ไม่ต้องมาแย่งเขา” เปิดเลย เทวดานั้นขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ ก็ได้ผลแค่นั้น บุญใหม่ควรทำต่อ เขาไม่ให้ทำ

    นี่เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า คนเราประมาทในบุญเล็กน้อย เมื่อตายไปแล้ว จะมาทำบุญกุศลน่ะ
    มันยากนัก ยากยังไง กายก็ไม่เหมือนกายมนุษย์ จะมาพูดกับมนุษย์ก็ไม่ได้ จะมาใส่บาตรทำบุญก็ไม่ได้ อย่างดีก็เพียงมายืนคอยอนุโมทนาเท่านั้น ถ้าใครตาดีก็เห็น ใครตาไม่ดีก็ไม่พบพาน ถ้าใครมีภูมิรู้ในทางจิต ก็พอจะแนะนำสั่งสอนกันบ้าง ถ้าไม่มีคนเช่นนั้น เทวดาก็ไม่มีหนทางที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีต่อได้เลย นี่มันเป็นอย่างนี้

    ฉะนั้น จึงอย่าพากันประมาท เมื่อเรามีโอกาสและเวลา คุณงามความดีใดๆ ในโลกพอจะสามารถและมองเห็น เราก็ควรจะต้องรีบขวนขวาย พยายามทำความดีนั้นเสียโดยเร็ว ถ้าความตายเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้เราจะไปเอาอะไร ไม่มีอะไรสักอย่าง อย่างดีที่สุดก็จะได้แค่ห่อข้าวตากของตนที่ทำไว้แล้วนั่นแหละ คือความดีที่เราสับสร้างมาแต่ก่อน แล้วก็มาระลึกขึ้นความดีนั้นก็จะไปช่วยบำรุงน้ำใจของเรา อำนวยผลให้บุคคลผู้นั้นไปในทางสุคติ โลกสวรรค์ถ้าใครได้มีนิสัย ได้อบรมในทางจิต หรือในทางสมาธิให้แก่กล้าก็สามารถบำเพ็ญให้ตนพ้นไปจากโลกียวิสัย ทำใจของตนให้ก้าวขึ้นไปสู่โลกุตรธรรมได้

    นี่ฉะนั้น พวกเราที่ยังไม่เกิดความดีอย่างสมใจนึกก็ดี อย่าประมาท ผู้ทำความดีได้ยังไม่สมใจอย่างนึกก็อย่าประมาท ก็ควรจะถือว่าสิ่งที่เราทำลงไปนั้น เป็นทรัพย์ของเรา ทรัพย์ของเรานี้ เป็นเครื่องป้องกันชีวิตของเรามิให้ตกไปในฝ่ายต่ำ แม้อยู่ในโลกนี้เราก็อาศัยความดีคือธรรมะนี้ เป็นผู้บงการชีวิต ถ้าเราดับจิตไปจากโลกนี้ ความดีก็จะต้องติดตามตนไปเหมือนกับเงาของบุคคลย่อมตามตนไปทุกเมื่อฉะนั้น

    นี่กล่าวถึงเรื่องความดี ซึ่งพวกเราได้พากันสับสร้างคุณงามความดี ร่วมใจกันในที่นี้ก็จงพากันถือคติที่ได้เตือนใจมานี้ เป็นเครื่องระลึก เป็นธรรมานุสสติภาวนากันต่อไป


    [​IMG]
    พระบุญกู้ อนุวฑฺฒโน บันทึก


    http://www.dhammajak.net
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม

    [​IMG]


    บันทึกการแสดงธรรมเทศนาสั้น

    คัดลอกเนื้อหาจาก
    หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน
    พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร. จัดพิมพ์เผยแพร่โดยชมรมกัลยาณธรรม
    ปี พ.ศ. ๒๕๕๒.

    ลี ธมฺมธโร. แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๑.
    กรุงเทพฯ : ขุมทองอุตสาหกรรมและการพิมพ์, ๒๕๕๒.


    ปกิณกะธรรม ๑
    แสดงธรรม ณ ศาลาอุรุพงศ์ วัดบรมนิวาส
    เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

    "ความชั่ว"..ตั้งใจจะ "ละ" ไปจนตาย
    "ความดี"..ตั้งใจจะ "ทำ" ไปจนตาย
    เราต้องตั้งใจอย่างนี้จึงจะใช้ได้

    "ความคิด" นั้นยาว "ความนึก"นั้นสั้น
    ต้องรวมลงเป็นอันเดียวกันขณะทำความสงบ
    นึก ก็คือ มุ่งไปในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
    คิด คือ ตรองว่าถ้าทำเหตุอย่างนั้นๆแล้วจะได้ผลอย่างไร ดีหรือไม่ดี

    เมื่อมี "อริยทรัพย์" แล้วก็เป็น "อริยชน"
    ใจของเราก็จักได้หล่อเลี้ยงด้วยอริยทรัพย์
    และกายของเราก็จักได้ความสุขสมบูรณ์

    ลมทั่วตัวเป็น "มหาภูตรูป"
    สติทั่วตัวเป็น "มหาสติปัฏฐาน"
    จิตใหญ่เป็น "มหคคตํ จิตตํ" "มหากุสลํ กมฺมํ"
    ถ้ากายของเราเป็นใหญ่ ใจของเราก็เป็นใหญ่ เรียกว่า "อธิปติปจฺจโย"
    เราก็จะมี "อริยทรัพย์" เต็มที่
    (จิตที่เป็น "อธิปติ" เปรียบเหมือนกับแท่งหินใหญ่ที่ตั้งบนยอดเขาสูง
    ถึงลมจะพัดมาทางทิศใดก็ไม่หวั่นไหว )

    การทำความสงบมีประโยชน์ ๒ อย่าง คือ
    ๑) ข่ม
    ๒) ตัด
    ถ้าเราตัดไม่ได้ เพียงข่มไว้ก็ยังดี
    "ข่ม" แปลว่า มีอยู่แต่ไม่ให้มันกำเริบ พยายามกดไว้
    "ตัด" หมายความว่า..ไม่ให้มันเกิดเลย
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๒

    แสดงธรรม ณ วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี
    เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

    ภัยที่เกิดจากความดี ถ้าเราไม่ดีก็ไม่มีใครเพ่งเล็ง
    ข้อสำคัญ..ต้องรู้จักใช้ความดีให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
    ถ้ามีความดีแล้วไมู่้รู้จักใช้
    คือ ใช้ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ถูกกับบุคคลและอัธยาศัยของเขา
    ก็ไม่ได้รับผล กลับกลายเป็นภัย ความดีก็กลายเป็นเลวเป็นชั่ว

    ต้องรู้จักสังวรในการใช้ความดี
    ถ้าเป็นพระก็ต้องระวังในการใช้ความดีกับญาติโยมให้มาก
    ความดีและความชั่วมีในตัวบุคคลทุกคน
    แต่ต่างกันที่วาสนาบารมี
    เหมือนกับคนที่อ่านหนังสือได้เขียนได้ แต่ไม่ดีไปทั้งหมด
    บางคนอ่านเร็วและถูก บางคนอ่านช้าถูก
    บางคนเขียนตัวสวย ตัวกลม ตัวเอน
    บางคนเขียนช้าสวย บางคนเขียนเร็วสวย ฯลฯ
    ถ้าคนใดรู้จักใช้ความดีให้ถูกกาลเทศะ
    ก็เป็นการอำนวยผลดีให้แก่ตน ถ้าไม่รู้จักใช้ก็ให้โทษ
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๓

    [​IMG]


    แสดงธรรม ณ วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี
    เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

    "ธรรมะ" ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน
    คำพูด, หนังสือหรือคัมภีร์เหล่านี้เป็นเพียง "เงา" ของธรรมะ
    ส่วนตัวจริงของธรรมะนั้นอยู่ที่ "จิตใจ"

    ใจที่เป็นธรรมะคือใจที่เป็นปกติ เยือกเย็น ใจสบาย
    ส่วนใจที่ไม่เป็นธรรมะ ก็คือ ใจที่หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ใจไม่สบาย
    ถ้าใจสบาย รัศมีของความสบายก็จะเปล่งออกมาที่กายเป็นกายสบาย
    จะอยู่ที่ไหนก็สบาย จะกิน, นอน, เดิน, นั่งก็สบาย
    เงินจะมีใช้ก็สบาย จะไม่มีใช้ก็สบาย จะใช้หมดก็สบาย
    ใครจะว่าดีก็สบาย ว่าไม่ดีก็สบาย ฯลฯ

    ส่วนใจที่ไม่มีธรรมะนั้น
    รัศมีของความไม่สบายก็จะเปล่งออกมาที่กาย
    เป็นกายที่ไม่สบาย ใจก็ผีสิง กายก็ผีสิง
    ส่วนใจที่สบายนั้น..คือ ใจที่เทวดาสิง

    "ทาน" ที่พร้อมด้วยองค์ ๔ คือ

    วัตถุสมบัติ
    ได้มาด้วยความสุจริต

    เจตนาสมบัติ
    ประกอบด้วยใจที่ไม่โลภ โกรธ หลง

    คุณสมบัติ
    ผู้ให้ต้องมีกายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ *

    ผู้รับก็ต้องมีคุณธรรม
    คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เป็นต้น

    (* คือ ละเว้นความทุจริต ดังนี้
    กายทุจริต ๓ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักฉ้อ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑
    วจีทุจริต ๔ อย่าง ได้แก่ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑
    มโนทุจริต ๓ อย่าง ได้แก่ โลภอยากได้ของเขา ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑
    เห็นผิดจากครองธรรม ๑ - เพิ่มเติมโดยผู้ตั้งกระทู้)

    ตัวผู้ให้มีองค์ ๓ ก็เหมือนมีก้อนเส้า ๓ ก้อน
    ผู้รับมีอีกองค์หนึ่งก็เป็นภาชนะที่วางบนก้อนเส้า
    เมื่อทานนั้นประกอบด้วยองค์ ๔ ดังนี้เมื่อใด
    พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ

    ของดีนั้นทำนิดเดียวก็เป็นมาก
    ของไม่ดีทำมากก็เป็นของน้อย
    ของดีด้วย..ทำมากด้วย..ยิ่งดีเลิศ
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๔

    แสดง ณ วัดมณีชลขันธ์ จ.ลพบุรี
    เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗



    การกำหนดรู้ลม เป็น "วัตถุสมบัติ"
    ติดอยู่กับลม ตามลมเข้าออก ไม่เผลอ เป็น "เจตนาสมบัติ"
    ความไม่สะกดลม-กลั้นลมไว้ ปล่อยไปตามสบายให้ใจเป็นอิสระ
    หายใจโปร่งโล่ง เบิกบาน เป็น "คุณสมบัติ"
    กิริยาที่นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย
    มือขวาทับมือซ้ายตั้งตัวตรง ตาหลับ เป็น "กิริยา"
    ทั้งหมดนี้เรียกว่า ปุญญกิริยาวัตถุ

    "การนั่งสมาธิ" เป็นประโยชน์ ๓ ประการ คือ

    ๑) เป็นการเผยแผ่พระศาสนาไปในตัว
    เพื่อเป็นการแสดงมารยาทให้บุคคลอื่นที่มาเห็นได้เกิดความเชื่อ
    หรือความเลื่อมใสขึ้นโดยไม่ต้องเจตนา

    * ผู้บันทึกเทศนาธรรมได้บันทึกย่อไว้ โดยไม่ได้บันทึกคำพูดของท่านอาจารย์ทุกคำ
    เพียงสรุปย่อที่ท่านเล่าแทรกไว้ในเทศนาธรรมดังนี้

    "พระอาจารย์เล่าตัวอย่างถึงพระพุทธเจ้าพาพระสาวกไปเจริญสมาธิในป่า
    ปริพาชกมาเห็นมารยาทกิริยาที่สมาธิอยู่ด้วยความสงบ
    ก็ได้เกิดความเลื่อมใสขึ้นโดยไม่ต้องพูดธรรมะใดๆทั้งหมด
    อีกเรื่องหนึ่ง ลูกศิษย์ขี้เมาคนหนึ่งที่ปักษ์ใต้
    เวลาเข้ามาในวัดชอบทำเสียงเอะอะ
    เมื่อมาเห็นพระภิกษุสามเณรกำลังนั่งสมาธิกันอยู่
    ก็มีความเกรงไม่กล้าพูดเอะอะต่อไป
    เกิดความศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสขึ้นโดยกิริยามารยาทนั้นๆ
    จึงเป็นเหตุให้บรรเทาความฟุ้งซ่านของบุคคลผู้ดื่มสุราได้อย่างหนึ่ง"

    ๒) เป็นการสร้างสมบุญกุศลที่เป็นแก่นสารให้เกิดมีในตน

    ๓) เพื่อเกิดแสงสว่างเป็น "วิปัสสนาญาณ"
    อันอาจถึงมรรคผลนิพพานได้

    "ดีนอก" เปรียบเหมือน "เงินนอกถุง"
    "ดีใน" เปรียบเหมือน "เงินในถุง"
    ย่อมสะดวกกับการที่จะหยิบฉวยติดตัวไปได้ทุกเวลา
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๕

    [​IMG]


    แสดง ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
    เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗



    "ธรรมะ" มี..ทุกคนจะรู้หรือไม่รู้ก็มี จะเรียนหรือไม่เรียนก็มี
    นอกจากเราจะเรียนภาษาของธรรมะหรือไม่เท่านั้น
    เมื่อเราเรียนรู้สมมติบัญญัติของธรรมะก็เท่ากับเราอ่านออก เหมือนอ่านหนังสือ

    เด็กทารกไม่รู้เดียงสาเลย พอเกิดออกมาก็ร้องแว้ นั่นก็เป็น "เวทนา" แล้ว
    กินอะไรไม่อร่อยจับโยนทิ้งเปลี่ยนอันใหม่ นั่นก็เป็น "สังขาร"
    พอโตหน่อยจำอะไรๆได้ นั่นก็เป็น "สัญญา"
    "ธรรมะ" มีอยู่อย่างนี้ทุกรูปทุกนาม

    เรียนรู้อะไร? เรียนรู้สมมติบัญญัติแล้วขว้างทิ้งสัญญาเก่าใหม่,อดีต,อนาคต
    นั่นแหล่ะจึงะถึงนิพพาน
    ตำรวจที่ไม่ถอดเครื่องแบบเสียก่อนย่อมสืบความลับของโจรได้ยาก
    เหตุนั้นจึงควรบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา
    ให้สนิทสนมกับขันธ์ ๕ ของตนเสียก่อนจึงจะรู้ความลับของมัน
    นั่นแหล่ะเป็นตัว "วิปัสสนา"

    "วิปัสสนา" เป็นตัว "ละ"
    "สมาธิ" เป็นตัว "ทำวิปัสสนา" เราจะไปทำขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นตัวผล

    "ศีล" เป็นเหตุ - "สมาธิ" เป็นผล
    "สมาธิ" เป็นเหตุ - "ปัญญา"เป็นผล
    "ปัญญา"เป็นเหตุ - "วิมุติื"เป็นผล

    เมื่อทำเหตุแก่ ผลก็ย่อมแก่ตาม
    เหมือนผลไม้เมื่อสุกแก่ มันก็หล่นเอง ไม่ต้องเอาไม้ไปสอย
    คนแก่มากๆ เข้าก็ตายเอง
    จะไปห้ามไม่ให้ตายไม่ได้ จะบอกให้อยู่ก็อยู่ไม่ได้

    "ศีล" บริสุทธิ์ ก็เปรียบเหมือนผ้าขาวธรรมดา ราคาเมตรละ ๑๐ บาท
    ถ้าเราทำสมาธิด้วย ก็เหมือนเราเขียนลวดลายลงในผ้าขาว
    มันจะมีราคาสูงขึ้นถึงเมตรละ ๔๐ บาท
    จิตเราก็เช่นเดียวกัน
    จิิตที่เป็นสมาธิ ปัญญาก็เกิด ก็ย่อมให้ผลราคาสูง

    ต้อง "ทำ" แล้วจึงจะ "รู้"
    รู้แล้วมันจึงจะ "ละ"
    ต้องทำเหตุเสียก่อน..ผลก็ย่อมเกิดเอง
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๖

    แสดง ณ วัดสิริจันทร์นิมิต (เขาพระงาม) จ.ลพบุรี
    เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗



    อาตมาตั้งใจว่า
    "ถ้าเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์แล้ว
    ทำดีอย่างครูบาอาจารย์ไม่ได้ เราจะไม่อยู่"
    (ท่านอาจารย์เล่าถึงตอนที่ท่านอยู่ปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    แล้วได้คอยสังเกตและจดจำในจริยาวัตรอันละเอียดประณีต
    สุขุมของท่านเป็นแบบอย่าง
    แต่รายละเอียดที่ท่านอาจารย์เล่านั้น ไม่มีบันทึกโดยละเอียด)

    เรื่องงานของผู้หญิงแล้ว อาตมาจะต้องทำให้ได้ทุกอย่าง
    ตั้งแต่ทอผ้า ปั่นฝ้าย หุงข้าม ต้มแกง ฯลฯ แต่จะดีหรือไม่ดีไม่รู้นะ
    ถ้าเราทำไม่ได้ เราจะไปสอนคนอื่น บังคับคนอื่นไม่ได้
    อำนาจทั้งหมดมันอยู่ที่ความรู้ของเรา ความจริงของเรา
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๗

    แสดง ณ วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี
    เนื่องในงานมาฆบูชา (กัณฑ์เช้า)
    เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘


    แสดงธรรมในบทพระคาถา
    "สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุตึ ยนติฯ"
    มีใจความโดยย่อว่า

    ทำ "ทาน" เท่ากับมีเงินหนัก ๔ บาท
    มี "ศีล" เท่ากับมีทองหนัก ๕ บาท ๘ บาท ๑๐ บาท และ ๒๒๗ บาท
    ทำ "ภาวนา" เท่ากับมีเพชรหนัก ๔๐ บาท
    เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในองค์ของสมถกรรมฐาน ๔๐ ห้อง

    รวมความแล้ว "ทาน ศีล ภาวนา"
    ก็เป็นความดีเหมือนกันแต่คุณภาพต่างกัน

    คนที่ไม่มี ทาน ศีล ภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นคนยากจน
    และถ้าท่านทรงเห็นว่า ลูกของท่านเป็นคนยากจน ท่านก็จะทรงละอายมาก
    ถ้าลูกของท่านเป็นคนมั่งมีศรีสุข ก็จะทำให้พ่อแม่มีหน้ามีตา มีชื่อเสียงไปด้วย

    "อามิสบูชา" มีน้ำหนักเพียง ๕ กิโลกรัม
    แต่ "ปฏิบัติบูชา" มีน้ำหนักถึง ๑๐๐ กิโลกรัม
    เหตุนั้น.., พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่า ปฏิบัติบูชา เป็นบูชาอันเลิศ

    อามิสบูชา นั้นเราจะทำซ้ำๆซากๆไม่ได้
    ถ้าเราทำแล้วอาจจะกลายเป็นโทษหรือเป็นบาปไปด้วย
    ตัวอย่าง เช่น ดอกไม้ที่เราจัดใส่พานหรือแจกันสวยๆ งามๆ นั้น
    เราจะนั่งเปลี่ยน ๓ ชั่วโมงทำใหม่ๆ อย่างนี้ย่อมทำไปไม่ได้
    หรือถ้าเห็นพระเดินมา เรานึกว่าท่านคงหิวก็นำเงินไปใส่บาตรหรือในย่าม
    ให้ท่านไปซื้อข้าวซื้อแกงซื้อของกินในเวลาวิกาล
    อย่างนี้ก็ย่อมเป็นโทษแก่ท่านและเป็นบาปแก่เราด้วย

    อามิสบูชา จึงเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะกาลเวลาเท่านั้น ไม่ใช่ทำได้เสมอไป
    ส่วนปฎิบัติบูชานั้น...ทำได้ไม่จำกัด กาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล

    คนที่ทำ "ทาน" มากก็จะให้ผลให้เขาเป็นคนมีทรัพย์สินอุดมสมบูรณ์
    คนมี "ศีล" จะทำให้ได้อัตภาพที่ดี มีรูปร่างผิวพรรณดีงาม
    ไม่เป็นใบ้ บอดหนวกหรือหน้าตาวิปริตน่าชัง
    ถ้ามี "ภาวนา" ด้วย
    ก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ไม่เป็นบ้าวิกลจริต
    เหตุนั้น, พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรา
    ทำทั้งทาน ศีล ภาวนาให้ครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการ

    ให้ลองคิดดูเถิด สมมติมีคนๆ หนึ่งเป็นเศรษฐี
    มีเงินทองมากมาย เพราะเขาได้ทำทานไว้ในชาติก่อนมาก
    แต่ไม่เคยได้รักษาศีล ๕ เลย
    เขาจึงเกิดมามีร่างกายน่าเกลียดน่าชังมาก
    คือ มือง่อย ตีนหงิก ตากลวงโบ๋ จมูกโหว่ ปากแหว่ง
    ดังนี้มีใครบ้างที่จะพากันนิยมคบหากับเศรษฐีคนนั้น
    นี่แหละถึงเขาจะมีทรัพย์สินเงินทองเท่าใดก็ไม่อาจช่วยตัวเขาให้มีความสุขได้

    หรืออีกอย่างหนึ่ง สมมติว่ามีคนๆ หนึ่งเป็นลูกเศรษฐี
    และตัวเองก็เป็นคนสวยงามมากแต่เป็นคนวิกลจริต
    คิดดูสิว่า พ่อแม่เขาจะยอมยกทรัพย์มรดกให้ลูกคนนี้ปกครองหรือไม่
    เหตุนั้น "ภาวนาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก"

    "การภาวนา" นั้นถึงแม้จะไม่ทำให้เราสำเร็จมรรคผลได้ในชาตินี้
    ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เราเ็ป็นผู้มีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาดในชาติหน้า

    "ศีล" ก็เป็นเครื่องขัดเกลาหล่อหลอมให้เราเป็นคนสวยคนงาม
    เราต้องขัดกาย วาจา ใจของเราให้บริสุทธิ์ สะอาด
    ให้เหมือนกับดอกไม้หอมที่จะถวายบูชาพระพุทธเจ้าในวันนี้
    ตาของเราขัดให้มี
    รูปใดไม่ดีที่ผ่านไป เราเห็นแล้วก็อย่าไปเกลียด, รังเกียจ, ไม่ชอบ
    ถ้าเราเรู้ว่าไม่ดี อย่าไปดู หู, ก็ขัดให้เป็นหูดี
    เสียงอะไรไม่ดีมากระทบก้อย่าไปเก็บเอามาโกรธ,เกลียด เสียอกเสียใจ
    จมูก, ได้กลิ่นไม่ดีมากระทบก็อย่าไปรังเกียจ, รำคาญใจ ทำใจเฉยให้เป็นปกติ
    ไม่รับรู้อะไรเข้ามาให้จิตใจของเราเศร้าหมอง
    ต้องให้เป็นจิตที่บริสุทธิ์

    บุญกุศลภายนอก คือ ความดีที่เกิดแต่กาย วาจาของเรานี้
    ก็จะกลายเป็นเหมือนกลีบบัวที่หุ้มห่อเกสร
    คือ ดวงใจของเราไว้ให้บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม คือ "มรรคจิต"
    เมื่อ "มรรคจิต" เกิดขึ้นเมื่อใด "ผลจิต" ก็ย่อมตามมา
    บุคคลผู้นั้นก็จะถึงซึ่งความสุขสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และอริยทรัพย์
    เป็นคนไม่ยากไม่จน มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
    รูปร่างก็งดงาม จะไปไหนก็มีคนยินดีต้อนรับ, รักใคร่
    นิยมนับถือสมกับเป็นลูกของพระพุทธเจ้า
    จะมีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๘

    [​IMG]


    แสดง ณ วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี
    เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา (กัณฑ์บ่าย)
    เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘


    แสดงใน
    "อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
    มตฺตญฺุญุตา จ ภตฺตสมฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนนฺติฯ"

    มีความโดยย่อว่า "อนูปวาโทฯ" ให้รักษาวาจาของเราไว้ให้ดี
    อย่าไปพูดใส่ร้ายคนอื่นให้เขาได้รับความเจ็บใจ
    อย่าไปกล่าวคำใดที่ไม่จริง เช่น เขาไม่มีความชั่วร้ายแต่เราไปใส่โทษให้เขา
    นี้เรียกว่า เบียดเบียนเขาด้วยวาจาในเรื่องที่ไม่เป็นจริง

    "อนูปฆาโตฯ" ไม่เบียดเบียนเขาด้วยกาย
    คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขา ไม่ว่าสัตว์ใดๆ
    ไม่ทรมานเขาให้เขาได้รับความทุกข์ลำบาก

    "ปาฏิโมกฺเข จ สํวโรฯ" ให้มีความสำรวมในศีลพระปาฏิโมกข์
    ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทวินัยอย่างหนึ่ง กับให้สำรวมในอินทรีย์
    คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า "อินทรียสังวร"
    คือ ไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นทางอายตนะ ๖ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งกองกิเลสอย่างหนึ่ง
    ถ้าพระเณรองค์ใดประพฤติไม่ถูกต้องตามศีลพระปาฏิโมกข์หรือสิกขาวินัยของตน
    ก็จัดว่าผู้นั้นไม่ใช่ "ผู้บวช"
    เป็นคนนุ่งผ้าเหลืองเปล่า จิตใจของตนก็ไม่มีความสุข
    อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ทำลายความดีของตัวเอง
    และผู้ที่ฆ่าตัวเองได้นั้น ก็ทำไมเล่าจะฆ่าผู้อื่นไม่ได้

    "มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสมฺมึฯ"
    ให้เป็นผู้รู้จักประมาณในอาหารการบริโภค ทั้งอาหารกายและอาหารใจ
    อาหารกาย ได้แก่ อาหารคำๆ ที่บริโภคเข้าไปเป็นเลือดเนื้อ
    คือ ให้รู้จักกินอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
    ไม่เป็นพิษเป็นโทษและไม่มากเกินประมาณ

    อาหารจิต ก็ต้องหาอาหารที่ดีมาบำรุง
    อาหารที่เป็นพิษของดวงจิต คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
    อย่าให้มันมีขึ้นในจิตในใจ พอรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นก็ให้รีบดับเสีย
    ให้เก็บไว้ในตัว อย่าให้มันออกมาเกะกะลุกลามไปถึงคนอื่น
    และความชั่วความไม่ดีของคนอื่น เราก็ไม่เก็บเข้ามาไว้ในตัวของเรา
    กิเลสข้างในเราก็อย่าให้ไหลออก ข้างนอกก็กันอย่าให้มันเข้า

    ข้อนี้ท่านสอนให้มีความสันโดษมักน้อยนั่นเอง
    คือ ให้รู้จักหากินโดยสัมมาสุจริตภายในขอบเขตของตน
    เช่น พระเณรก็ให้บริโภคปัจจัย ๔ เท่าที่ตนจะพึงมีพึงได้
    เช่น เขาให้ ๑ ก็อย่าไปเรียกเอา ๒ เขาให้ ๒ อย่าไปเรียกเอา ๓
    ต้องเขาให้ ๒ เราเอาเพียง ๑ หรือเขาให้เท่าไรเรายินดีเท่านั้นอย่างนี้จึงจะดี

    ถ้าเป็นฆราวาสก็ให้เลี้ยงชีวิตในทางชอบธรรม
    เช่น เรามีนาอยู่ ๕ ไร่ เราก็อย่าไปโกงเอาของคนอื่นเขามาทำเข้าอีกเป็น ๖ ไร่
    อย่างนี้ต้องได้รับความเดือดร้อน
    เพราะเขาต้องฟ้องร้องเอาตัวไปเข้าคุกเข้าตะรางแน่นอน

    เงินทองนั้นถึงจะได้มาสักเท่าภูเขาสระบาปก็ตาม
    ถ้าทุจริตแล้วไม่เอามันเลย
    ความโลภ, โกรธ, หลง ที่จะไหลเข้ามาเกาะกินจิตใจของเราแล้ว
    ต้องเขี่ยมันออกไปให้ไกลทีเดียว อย่าให้่มันเข้าใกล้ได้เลยเป็นอันขาด

    "ปนฺตญฺจ สยนาสนํ"
    ให้รู้จักพอใจในความสงัดวิเวกในที่นอนที่อาศัย
    คือ ให้หลบหลีกปลีกตนออกจากหมู่ที่ระคนด้วยความวุ่นวาย เดือดร้อน
    ไปอยู่ตามป่า, ตามเขา, ตามโคนไม้, ป่าช้า
    หรือเรือนร้างว่างเปล่าสุญญาคารที่ไกลสงบสงัดจากอารมณ์ภายนอก
    อันจะมาทำลายความดีของเรา

    ให้ตัดห่วงกังวลที่จะมาพันพัวกับตัวเราออกเสีย
    ที่ใดเขามีความเดือดร้อนวุ่นวายกัน เราอย่าเข้าไปร่วมหมู่ด้วย
    รวมความว่า เราจะต้องตัดทุกๆ อย่างให้น้อยลง

    มันยาวอยู่ก็ต้องตัดให้สั้นเข้า ถ้าสั้นอยู่ก็ต้องทำให้มันกลมเข้าไป
    ถ้ากลมอยู่แล้วก็ทำให้มันเกลี้ยง ถ้าเกลี้ยงอยู่แล้วก็ทำให้มันใสขึ้นอีก
    มันจะได้กลิ้งไปมาได้ ไม่ติดไม่ขัด
    เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๙

    แสดง ณ วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี
    เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา (กัณฑ์ค่ำ)
    เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘


    แสดงพระธรรมเทศนาใน "พระโอวาทปาฏิโมกข์คาถา"
    มีใจความโดยย่อว่า

    วัน ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๓ เป็นวันพระ
    ที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นเอหิภิกขุ ๑๒๕๐ องค์
    มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ที่ปาวาลเจดีย์

    พระพุทธองค์ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์แก่ภิกษุ ๑๒๕๐ องค์
    และเป็นวันที่พระองค์ทรงกำหนดวันปลงอายุสังขารของพระองค์ด้วย
    นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวัน ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๖
    เป็นวันที่พระองค์จะต้องทรงทอดทิ้งอัตภาพร่างกายไปสู่ความไม่กลับมาอีก
    จึงได้ประทานโอวาทคำสอนจนหมดจนสิ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย
    ผู้ซึ่งจะต้องเป็นพี่เลี้ยงปกปักรักษาพระธรรมคำสั่งสอนไว้
    เพื่อดำรงอยู่จนกว่าจะสิ้นอายุแห่งพระพุทธศาสนา

    ทั้งนี้ก็ด้วยพระเมตตาบารมีของพระองค์
    ที่ยังทรงปรารถนาดีต่อสัตว์โลกผู้ยังโง่เขลาและจักต้องเวียนว่ายตายเกิดนั้น
    เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว
    ผู้ที่จะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ คือ พุทธบริษัท ๔
    ดังนั้นจึงทรงแสดงพระโอวาทเป็นคาถา
    มีใจความดังนี้

    "ขนฺตี" นี้ก็คือ พระองค์ได้ประทาน "น้อต" ให้พวกเราไว้ตัวหนึ่ง
    สำหรับขันตรึงไม้ให้ติดกับเสา
    เพื่อไม่ให้เรือนของเราโยกคลอน (หมายถึงจิตใจของเรา)
    ขันตีอันนี้เป็นเหล็กกล้าที่ไม่มีสนิม
    เป็นตปะ ความเพียรที่เผากิเลสให้แห้งไปได้ดียิ่งกว่าสิ่งอื่น
    พวกเรานั้นมีแต่ตะปูขี้สนิม
    เช่น ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้ปวด ขี้เมื่อย อะไรต่างๆเหล่านี้
    ซึ่งพอจะทำความดีให้ัตัวเองก็ทำไม่ได้ เพราะขาด "ขนฺตี"

    "สพฺพปาปสฺส อกรณํ"
    ขึ้นชื่อว่า บาปทั้งหลาย จงอย่าได้ทำเป็นอันขาด

    "กุศลสฺสูปสมฺปทา"
    ให้ทำกุศล (ความดี) ให้มากที่สุดที่จะทำได้
    และให้ยิ่งๆขึ้นไป คือ ถึงพร้อมด้วย ทาน ศีล ทางกาย วาจา

    "สจิตตปริโยทปนํ"
    ให้ทำจิตให้ขาวรอบบริสุทธิ์
    หมายถึงให้มีสมาธิ ภาวนาเป็นอารมณ์อยู่เสมอ
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๑๐

    [​IMG]


    แสดง ณ วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี
    เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา (กัณฑ์ค่ำ)
    เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗


    แสดงในบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
    โดยย่อว่าดังนี้่

    ๑. อิติปิโส ภควา
    พระองค์มีความดีเท่าใดไม่เคยหวงไว้
    ทรงชี้แจงแนะนำให้คนอื่นรู้ตาม ปฏิบัติตามด้วย

    ๒. อรหํ
    พระองค์เป็นผู้ไกลจากกิเลส ทางกายของพระองค์ก็บริสุทธิ์
    เพราะธาตุขันธ์ อายตนะของพระองค์ที่ได้ทรงเพ่งเล็งมาแล้วอย่างยิ่ง
    ก็ได้สะอาดบริสุทธิ์หมดสิ้น
    คือ เมื่อพระองค์ได้ทรงเพ่ง "กายคตาสติ" มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ
    อาการ ๓๒ เหล่านี้อันใด เมื่อนั้นสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งบริสุทธิ์หมดจด
    และพระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่ให้มีโลภ โกรธ หลง ไม่มีความเศร้าหมอง

    ๓.สมฺมาสมพุทฺโธ
    พระองค์ตรัสรู้เองโดยไม่มีใครมาสอนให้ทำหรือบังคับให้ทำ

    ๔. วิชฺชา
    พระองค์ทรงมีพระปรีชา ฉลาด ยิ่งกว่าใครๆ
    คือ มีวิชชา ๓ วิชชา ๘ ได้แก่
    ๔.๑) ปุพเพนิวาสานุสฺสติญาณ
    ระลึกชาติอดีตได้

    ๔.๒) จุตูปปาตญาณ
    รู้ความตายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
    ที่ทำกรรมอันใดไว้จึงมาเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และตายแล้วจะไปไหนอีก

    ๔.๓) อาสวกฺขยญาณ
    พระองค์ทรงรู้จักวิธีกำจัดกิเลสให้สิ้นไปจากพระสันดานของพระองค์

    ๔.๔) ทิพฺยจกฺขุ
    ไม่ว่าใกล้หรือไกล แม้เปลือกตาหนาตั้ง ๘ ฟุต
    พระองค์ก็ทรงสามารถมองเห็นอะไรๆได้ ในเมื่อพระองค์ต้องการจะเห็น

    ๔.๕) ทิพยโสตฺ
    ใครจะพูดกันที่ไหน ว่าอะไร พระองค์ก็สามารถจะได้ยินทั้งหมด
    ถ้าพระองค์ต้องการจะฟังเมื่อใดก็ได้ฟัง ถ้าไม่ต้องการฟังก็ไม่ฟัง
    เหมือนวิทยุที่เราอยากจะฟังเมื่อใดก็เปิดเครื่องรับได้เมื่อนั้น

    ๔.๖) อิทฺธิวิธิ
    พระองค์ทรงสามารถแสดงฤทธิ์ดำดิน เหาะเหินเดินอากาศได้
    บุกป่าก็ไมาถูกหนาม บุกน้ำก็ไม่เปียกกาย

    ๔.๗) เจโตปริยญาณ
    กำหนดรู้วาระน้ำจิตของบุคคลอื่นได้

    ๔.๘) มโนมยิทฺธิ
    พระองค์ทรงใช้อำนาจจิต บังคับคนให้เป็นไปตามความประสงค์
    เช่น พระองค์นึกถึงใครก็ทรงอธิษฐานจิตให้คนนั้น
    แลเห็นพระรูปกายของพระองค์ไปปรากฏอยู่เฉพาะหน้า
    ทำให้คนๆนั้นเห็นอำนาจของพระองค์จนเกรงกลัว
    หรือทำให้เขาเชื่อมั่นในพระองค์จนคลายจากการกระทำชั่วก็ได้

    เหล่านี้เรียกว่า "วิปสฺสนาญาณ"

    ๕. จรณสมฺปนโน
    พระองค์ทรงดำเนินอยู่ด้วยการประพฤติปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา
    มิได้ทรงละแม้จะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
    พระองค์ก็ยังทรงดำเนินด้วย กาย วาจา ใจ ดีอยู่
    ศีลก็ยังทรงทำ สมาธิก็ยังทรงเจริญ
    ปัญญาก็ยังทรงใช้พิจารณาในกองสังขารอยู่เสมอ

    ๖. สุคโต
    พระองค์เสด็จไปไหนก็มีคนรัก ถวายความต้อนรับเป็นอันดี
    จะมาก็ดี จะอยู่ก็ดี ไม่มีคนเกลียดชังพระองค์

    ๗. โลกวิทู
    พระองค์ทรงรู้แจ้ง ตลอดทั้งโลก มนุษย์ เทวดาและพร้อม

    ๘. อนุตฺตโร ปุรสทมฺมสารถิ
    พระองค์ทรงเป็นบุรุษผู้ฝึกหัดทรมานบุคคลเลิศยิ่งไม่มีผู้ใดสู้
    คือ ทรงเป็ฯนายสารถีที่ขับคนให้เดินตรงทางไม่คดเคี้ยว ให้เข้าสู่ศีล สมาธิ ปัญญา

    ๙. สตถา เทวมนุสฺสานํ
    พระองค์ทรงเป็นครูสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
    คือ สอนมนุษย์ให้เป็น "เทวดา" สอนเทวดาให้เป็น "พรหม"
    สอนพรหมให้เป็น "อริยะ" สอนอริยะให้เป็น "อรหันต์"

    ๑๐. พุทฺโธ ภควาติ
    นี้แหล่ะพระองค์จึงทรงเป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนี้

    รวมความแล้วก็มี
    พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
    ถ้าเราน้อมความดีของพระองค์เหล่านี้มาให้ตัวเราเมื่อใด
    เราก็จะถึงพระพุทธคุณเมื่อนั้น


    พระธรรมโดยย่อ ก็มี
    พระปริยัติ พระปฏิบัติ และพระปฏิเวธ

    ๑. สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
    พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้หรือไม่ตรัสก็ดี
    มีทั้งกุศลและอกุศล มีทั้งดีทั้งชั่ว
    ดีก็เป็น "สุกกธรรม" คือ ธรรมขาว
    ชั่วก็เป็น "กัณหธรรม" คือ ธรรมดำ
    อย่างที่ท่านว่า กุสฺลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา
    และ อพฺพกตา ธมมา คือ ธรรมเฉยๆ ที่ไม่ได้ปรุงแต่งให้เป็นบาปเป็นบุญ
    ได้แก่ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ซึ่งปกติมันก็มีอยู่ ตั้งอยู่ของมันเฉยๆ
    ต่อเมื่อเราไปทำกรรมดีหรือชั่ว จึงจะเป็น กุสฺลา ธมฺมา,อกุสลา ธมฺมา

    ๒. สนฺทิฏฺฐิโก
    เป็นสิ่งที่ให้เราเห็นได้ว่า อย่างนั้นทำดีได้ดี อย่างนี้ทำชั่วได้ชั่ว
    เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้จริง มีเหตุมีผล
    ใครทำชั่วแล้วต้องได้รับทุกข์จริงอย่างนั้นๆ
    ใครทำดีแล้วก็ได้รับผลดีจริงอย่างนั้นๆ

    ๓. อกาลิโก
    ให้ผลไม่เลือกกาลเวลาใด
    ทำเมื่อใด ก็ได้เมื่อนั้น

    ๔. เอหิปสฺสิโก
    ควรที่จะเรียกให้มาดูได้

    ๕. โอปนยิโก
    ถ้าเห็นใครเขาทำดี ก็ให้น้อมเข้ามาทำบ้าง
    ถ้าเห็นไม่ดีก็อย่าทำ

    ๖. ปจฺจตฺตํ
    เป็นสิ่งที่เราจะรู้เอง เห็นเอง เฉพาะตัว ไม่ใช่คนอื่นจะรู้ด้วย
    เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าทำดีก็รู้ว่าดีอย่างไร
    เวลาทำชั่ว เราก็รู้เองในผลที่ได้รับ

    ๗. เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ
    วิญญูชนพึงรู้ได้ดังนี้
    เราจะต้องศึกษา สดับตรับฟัง คือ "ปริยัติ"
    เมื่อรู้แล้วปฎิบัติตามด้วยเป็น "ปฏิบัติ"
    และเมื่อปฏิบัติแล้วก็จะให้ผลแห่งความรู้แจ้งแทงตลอดแก่เราเป็น "ปฏิเวธ"


    พระสังฆคุณ โดยย่อมีดังนี้

    ๑. สุปฏิปนฺโน
    คือ ได้แก่ ผู้ประพฤติดีตามโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    พระภิกษุสามเณรก็อยู่ในศีลพระปาฏิโมกข์ ไม่ล่วงสิกขาบทวินัย

    ๒. อุชุปฏิปนฺโน
    คือ ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ไม่โอนเอียง
    ใครจะฉุดไปทางไหนก็ไม่ไปให้ผิดทาง

    ๓. ญายปฏิปนฺโน
    ทำให้รู้แจ้งตามความจริงด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อตามเขาบอก
    เช่นเขาว่าเราเป็นหมา เราต้องดูตัวเราว่า มีหางหรือเปล่า ถ้าไม่มีเราก็ไม่ใช่

    ๔. สามีจิปฏิปนฺโน
    ปฏิบัติให้ดียิ่งๆขึ้นไปเสมอ ไม่ให้ถอยต่ำลงมา
    เช่น มีศีล ๕ แล้วก็ทำให้มีศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗
    สมาธิเคยทำวันละ ๑ ชั่วโมง เราเพิ่ทำให้เป็นวันละ ๒ ชั่วโมง
    ปัญญาก็เหมือนกัน ต้องหมั่นกำหนดพิจารณาในตัวของเราอยู่เสมอ
    จนถึงที่สุดจะทำความหลุดพ้นจากกิเลสได้

    ๕. ยทิทํ จตตาริ ปุริสยุคานิ
    บุคคล ๔ คู่ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล,สกิทาคามิมรรค-สกิทาคามิผล
    อนาคามิมรรค-อนาคามิผล และอรหัตตมรรค-อรหัตตผล

    ๖. อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา
    บุคคล ๘ คู่นี้แหล่ะเป็น "ลูกแก้ว" ของพระพุทธเจ้า

    ๗. เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย
    ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลกรณีโย
    บุคคล ๔ คู่เหล่านี้เมื่อไปไหนก็เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ
    ควรแก่การทำความเคารพ ควรแก่ทักษิณาทาน
    และเป็นผู้ควรที่เราจะกราบไหว้

    ๘. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ
    นี่เป็นนาบุญ ๔ ไร่ที่เราควรหว่านข้าวลงไว้
    (ตั้งแต่ "สุปฏิปนฺโน" ถึง "สามีจิปฏิปนฺโน")
    เพื่อประโยชน์สุขแห่งตัวเรา
    และเมื่อเรามีข้าวแล้วก็ต้องเตรียมทำยุ้งไว้เพื่อเก็บด้วย
    มิฉะนั้นข้าวก็จะตกเกลื่อนกลาด ไม่ได้กินถึงลูกถึงหลาน
    ลูกหลานก็ไม่รู้จักข้าวเปลือกนั้นเป็นเช่นไร

    เราต้องฝัดต้องสีให้เป็นข้าวสารแล้วนำมาหุงต้มกิน
    จึงจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
    อย่าเก็บไว้ในยุ้งเฉยๆมันจะถูกหนูกินหรือรั่วไหลไปหมด
    ต้องทำยุ้งให้ดี คือ "ภาวนา"
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๑๑

    แสดง ณ วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี
    เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘


    มีดสับดินนั้นไม่ทำให้ลุกเป็นไฟดอก
    ต้องสับกับหิน มันจึงจะลุกเป็นไฟได้

    ความเพียร คือ สมาธิ นี้
    อาตมาทำเสียจนรู้สึกว่า กระดูกในร่างกายนี้มันแข็งเป็นเหล็กไปหมดทั้งก้อน
    เสือสางอะไรมันจะกล้าดีเข้ามา ไม่กลัวมันทั้งนั้น
    จะสู้มันทุกอย่าง ไม่ว่าผีห่าผีโหงอะไรทั้งหมด
    (ท่านเล่าถึงตอนท่านไปธุดงค์อยู่ในป่า)

    ครั้งหนึ่งมีคนเขาบอกว่า "ท่านอย่าไปทางนั้นนะ จะต้องหลงทาง"
    อาตมาบอกว่า "หลงทางน่ะฉันไม่กลัวดอก ฉันกลัวแต่หลงโลกเท่านั้น"

    "ขี่กิเลส" นั้นคือ กดไว้
    ถึงมันจะโลภก็อย่าให้มันออกมาข้างนอกให้เขาเห็น
    คนขี้ขอนั้นไปขึ้นบ้านใครๆเขาก็เกลียดหน้าเพราะเขากลัวจะไปขอเขา
    ถ้ามันจะโกรธ ก็อย่าให้มันออกมาข้างนอก
    รีบเก็บอาวุธปืนมีดไม้เสีย (คือ ปาก มือ เท้าของเรา)
    มีแต่มือน่ะมันไม่เท่าไรดอก โกรธแต่เราอย่าพูด
    ถ้าเราไม่พูด เขาก็ไม่เกลียดเรา
    ถึงท่าทางกิริยาจะทำโกรธ แต่อย่าให้ใจมันโกรธ
    ถ้าเราพูดขึ้นเขาก็เกลียดเรา หลง มันจะหลงก็รีบมีสติไว้ อย่าให้มันเหลิง
    นี่แหล่ะ เรียกว่า "ขี่กิเลส"
    คือ ไม่ให้กิเลสมันมีอำนาจยิ่งกว่าเรา

    ไปอยู่ไหนก็ตอ้งขยายกลิ่นหอมให้เขา
    อย่าไปขยายกลิ่นเหม็นไว้
    ไปไหนก็ต้องให้เขารัก อยู่ไหนก็ต้องให้เขาชอบ

    "คนโง่" นั้นต่อให้นั่งเฝ้าหลุมทองอยู่ก็ไม่มีปัญญาทำให้เป็นอะไรได้
    "คนฉลาด" อยู่กับดินกับหญ้า เขาก็ทำให้เป็นเงินเป็นทองได้

    เราต้องพยายามให้มี เครื่องประดับทองฝังเพชร จึงจะวิเศษ
    คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

    อย่าเห็นแก่กิน
    อย่าเห็นแก่นอน
    กลางคืนสว่างด้วยพระจันทร์
    กลางวันสว่างด้วยพระอาทิตย์...นั้นเป็นเรื่องของโลก
    แต่เรานั้นลืมตาก็ต้องให้มันเห็น
    หลับตาก็ต้องให้มันรู็ทั้งกลางวันและกลางคืน
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปกิณกะธรรม ๑๒

    แสดงอบรมผู้บวชเนกขัมม์ ณ วัดบรมนิวาส
    เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘


    อาตมารู้ตัวเจ้าของเองว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีอะไรดีสักอย่าง
    รูปร่างหน้าตาก็ไม่สวยไม่งาม วาจาที่พูดกับเขามันก็ไม่เพราะ ไม่น่าฟัง
    แต่มัน "ดี" อยู่ข้างในนิดเดียวเท่านั้น...คือ เมตตาสงสาร เขานี่แหล่ะ

    อาตมาตั้งใจไว้ว่า จะให้เลือดทุกๆ หยดในร่างกายตั้งศีรษะจดปลายเท้า
    เป็นไปเพื่อกิจพระศาสนา
    ไม่ว่าจะเป็นบนผ้าหรือใต้ดินก็จะต้องขอเอาจนสุดชีวิต

    ผู้ปฏิบัติธรรม จะต้องมีการเสียสละไม่เห็นแก่ตัว
    บุคคลใดมีธรรมอันพอจะช่วยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่ไม่ช่วย
    พระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงสรรเสริญบุคคลชนิดนั้นและตัวเราเองก็ติเตียน
    ถ้าหากเราจะทำอย่างนั้นบ้าง เราก็สบายไปนานแล้ว ไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้
    ทุกสิ่งทุกอย่างทำไปนี่ก็เพราะเห็นแก่ศาสนาเป็นส่วนใหญ่



    จบปกิณกะธรรม
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ธรรมะมีทุกคน...จะรู้หรือไม่รู้ก็มี

    [​IMG]


    ธ ร ร ม ะ มี ทุ ก ค น
    จะรู้หรือไม่รู้....ก็มี
    พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ

    ธรรมะมีทุกคน จะรู้หรือไม่รู้ก็มี
    จะเรียนหรือไม่เรียนก็มี
    นอกจากจะเรียนภาษาของธรรมะหรือไม่เท่านั้น

    เมื่อเราเรียน สมมติ บัญญัติของธรรมะ
    ก็เท่ากับเราอ่านออก เหมือนอ่านหนังสือ


    (คัดลอกบางตอนมาจาก “อานาปานานุสรณ์ ตอนต้น”
    ในแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เรียบเรียงจาก โอวาท ๔ พรรษา
    ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีเมธาจาย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ, หน้า ๒๘๐)
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ธรรมะคือเรื่องของจิตใจ

    [​IMG]


    "ธรรมะ" คือเรื่องของจิตใจ
    พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม จ. สมุทรปราการ

    "ธรรมะ" คือเรื่องของจิตใจ

    การพูดก็เป็น "ธรรม"
    เจตนาที่พูดก็เป็น "ธรรม"
    คนที่จะฟังก็ต้องตั้งใจให้เป็น "ธรรมะ" ด้วย
    จึงจะเป็น "ธรรม"

    เมื่อองค์ทั้งสามนี้ได้สันนิบาตกันขึ้น
    ก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่การฟังธรรม เป็นเอนกประการ


    (คัดลอกบางตอนจาก : “อานาปานานุสรณ์ตอนต้น”
    ใน แนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐานเรียบเรียงจาก โอวาท ๔ พรรษา
    ของ พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม จ. สมุทรปราการ, หน้า ๒๕๙)
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สอนหนังสือสบายกว่าสอนธรรมะ

    [​IMG]


    สอนหนังสือสบายกว่า
    ส อ น ธ ร ร ม ะ
    พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ

    การสอนธรรมะบางสิ่งต้องพูดกลางที่ประชุม
    บางสิ่งต้องพูดกับตัวเขาโดยเฉพาะ
    บางคนต้องข่ม บางคนต้องส่งเสริม

    คนเราก็มีผิดมีถูกปนกัน
    จะกล่าวถึงคนอื่นไปใย
    แต่ตัวเจ้าของเองก็ยังมีผิดมีถูก

    พระอรหันต์ก็ยกให้เป็น “วิบาก”
    คนธรรมดาผิดมันเป็น “กรรม”

    แต่ก็อุ่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า
    เมื่อเจตนาจะทำดีแล้ว ในที่สุดมันต้องดี

    แต่ไม่วายที่จะมีเลนครอบหัว
    (ลูกเศรษฐีผลาญพ่อของตนไม่เป็นไร ไม่ใช่คนอื่นผลาญ)


    (คัดลอกบางตอนจาก : “อานาปานานุสรณ์ตอนต้น”
    ใน แนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐานเรียบเรียงจาก โอวาท ๔ พรรษา
    ของ พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ, หน้า ๙๕)
     

แชร์หน้านี้

Loading...