รวมคำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 27 กันยายน 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ


    คำเทศนาของ ท่านพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตเถระ หรือ ภูริทัตโต เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเป็นอาจารย์ ด้านวิปัสนา แต่เนื่องจากเป็นเวลานานเกือบร้อยปีแล้ว ซึงในช่วงนั้น มัลติมิเดีย ยังไม่มี คำเทศนาของท่านจึงเป็นการ บอกเล่าต่อ ๆ กันมาจากลูกศิษย์ของท่านรวมทั้งท่านหลวงตามหาบัวด้วย ซึ่งหลวงตามหาบัวจะได้รวบรวมคำเทศนาของ ท่านอาจารย์มั่นมาให้สาธุชนรุ่นหลังรับฟัง การปฏิบัติธรรมของท่านอยู่ในขั้นสูงมากจนทำให้ท่านสามารถสนทนาปัญหาธรรม และเทศนาให้เทวดาและพรหมเทพฟังได้ทุกคืน การปฏิบัติของท่านมักอยู่ตามป่าเขาได้พบสิงสาราสัตว์มากมาย ท่านเคยมา ปฏิบัติธรรมที่บ้านเรา (กาฬสินธุ์) บริเวณเขาซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัด สักกะวัน ณ สถานที่แห่งนี้ท่านได้นั่งสมาธิจนรู้ว่า ใต้ดินมีซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ ต่อมาจึงได้มีการขุดพบซากสัตว์เหล่านั้น จึงเป็นที่มาของ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ณ บริเวณวัดสักกะวัน นั้นเอง ท่านผู้อ่านจะได้เพลิดเพลินรวมทั้งได้ความรู้ตลอดจนได้ทราบถึงการปฏิบัติของบรรดาเหล่าเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ว่าท่านต้อง ใช้ความมานะอดทนเพียงใดจึงบรรลุธรรมขั้นสูงได้


    ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

    ตอนที่1 รวบรวมโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


    ท่านพระอาจาย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นอาจารย์ทางวิปัสนาซึ่งควรได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่งจากบรรดาศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดท่าน ว่าเป็นอาจารย์วิปัสสนาชั้นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน จากเนื้อธรรมที่ท่านแสดงออกซึ่งเป็นธรรมชั้นสูงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้มีโอกาสฟังอย่างถึงใจตลอดมา ทำให้ปราศจากความสงสัยในองค์ท่านว่า สมควรตั้งอยู่ในภูมิธรรมชั้นใด ท่านมีคนเคารพนับถือมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในภาคต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศไทย นอกจากนั้น ท่านยังมีสานุศิษย์ทั้งนักบวชและฆราวาสในประเทศลาวอีกมากที่เคารพเลื่อมใสในท่านอย่างถึงใจตลอดมา ท่านมีประวัติงดงามมาก ทั้งเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาทรงเพศเป็นนักบวช ตลอดอวสานสุดท้าย ไม่มีความด่างพร้อยเลย ซึ่งเป็นประวัติที่หาได้ยากในปัจจุบัน ความเป็นผู้มีประวัติอันงดงามตลอดสายนี้รู้สึกจะหายากยิ่งกว่าหาเพชรหาพลอยเป็นไหน ๆ

    ท่านเกิดในสกุลแก่นแก้ว โดยนายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถือพุทธศาสนาประจำตระกูลตลอดมา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ 20 มกราคม 2413 ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้อง ร่วมท้องกัน 9 คน แต่เวลาท่านมรณภาพปรากฏว่า ยังเหลือเพียง 2 คน ท่านเป็นคนหัวปี มีร่างเล็ก ผิวขาวแดง มีความเข็มแข็งว่องไว ประจำนิสัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาแต่เล็ก พออายุได้ 15 ปีได้บรรชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักวัดบ้านคำบง มีความสนใจและรักชอบ ในการศึกษาธรรมะ เรียนสูตรต่าง ๆ ในสำนักอาจารย์ได้อย่างรวดเร็ว มีความประพฤติและอัธยาศัยเรียบร้อย ไม่เป็นที่หนักใจหมู่คณะ และครูอาจารย์ที่ให้ความอนุเคราะห์


    เมื่อบวชได้ 2 ปี ท่านจำต้องสึกออกไปตามคำขอร้องของบิดาที่มีความจำเป็นต่อท่าน แม้สึกออกไปแล้ว ท่านก็ยังมีความมั่นใจที่จะบวชอีก เพราะมีความรักในเพศนักบวชมาประจำนิสัย เวลาสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้วใจท่านยังประหวัดถึงเพศนักบวชมิได้หลงลืมและจืดจาง ทั้งยังปักใจไว้ว่าจะกลับมาบวชอีกในไม่ช้า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอำนาจศรัทธาที่มีกำลังแรงกล้าประจำนิสัยมาดั้งเดิมก็เป็นได้


    พออายุได้ 22 ปี ท่านมีศรัทธาอยากบวชเป็นกำลังจึงได้ลาบิดามารดา ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามใจไม่ขัดศรัทธา เพราะมีความประสงค์จะให้ลูกของตนบวชอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีศรัทธาจัดแจงบริขารในการบวชให้ลูกอย่างสมบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบทภิกขุที่วัดเลียบในตัวเมืองอุบล มีท่านอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระอนุศาสนาจารย์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2436 พระอุปัชฌายะให้นามฉายาว่า ภูริทัตโต เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาอยู่ในสำนักวิปัสสนากับท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล


     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เกิดสุบินนิมิต


    เมื่อท่านเริ่มปฏิบัติวิปัสสนาใหม่ ๆ ในสำนักพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี ท่านบริกรรมภาวนาด้วยบท พุทโธ ประจำนิสัยที่ชอบกว่าบรรดาบทธรรมอย่างอื่น ๆ ในขั้นเริ่มแรก ยังไม่ปรากฏเป็นความสงบสุขมากเท่าที่ควรทำให้สงสัยในปฏิปทาวาจะถูกหรือผิดประการใด แต่มิได้ลดละความเพียรพยายามในระยะต่อมาผลปรากฏว่าเป็นความสงบพอให้ใจเย็นบ้างในคืนวันหนึ่งเกิดสุบินนิมิตว่า ท่านออกเดินทางจากหมู่บ้านเข้าสู่ป่าใหญ่อันรกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามจนจะหาที่ด้นดั้นผ่านไปแทบไม่ได้ ท่านพยายามซอกซอนไปตามป่านั้นจนพ้นไปได้โดยปลอดภัย พอพ้นจากป่าก็ถึงทุ่งกว้างจนสุดสายตา เดินตามทุ่งไปโดยลำดับไม่ลดละความพยายาม ขณะที่เดินตามทุ่งไปได้พบไม้ต้นหนึ่ง ชื่อต้นชาติ ซึ่งเขาตัดล้มลง ขอนจมอยู่เป็นเวลานานปี เปลือกและกระพี้ผุพังไปบ้างแล้ว ไม้ต้นนั้นรู้สึกใหญ่โตมาก ท่านเองก็ปีนขึ้นและไต่ไปตามขอนชาติที่ล้มนอนอยู่นั้น พร้อมทั้งพิจารณาอยู่ภายใน และรู้ขึ้นมาว่า ไม้นี้จะไม่มีการงอกขึ้นได้อีก ซึ่งเทียบกับชาติของท่านว่าจะไม่กำเริบให้เป็นภพ--ชาติสืบต่อไปอีกแน่นอน คำว่าขอนชาติ

    ท่านพิจารณาเทียบกับชาติความเกิดของท่านที่เคยเป็นมา ที่ขอนชาติผุพังไปไม่กลับงอกขึ้นได้อีก เทียบกับชาติของท่านว่าจะมีทาง สิ้นสุดในอัตภาพนี้แน่ ถ้าไม่ลดละความพยายามเสีย ทุ่งนี้เวิ้งว้างกว้างขวางเทียบกับความไม่มีสิ้นสุดแห่งวัฏฏวนของมวลสัตว์ ขณะที่กำลังยืนพิจารณาอยู่ ปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่งรูปร่างใหญ่และสูงเดินเข้ามาเทียบที่ขอนชาตินั้น ท่านนึกอยากจะขี่ขึ้นมาในขณะนั้น เลยปีนขึ้นบนหลังม้าแปลกประหลาดนั้น ขณะนั้นปรากฏว่าม้าได้พาท่านวิ่งไปอย่างเต็มกำลังฝีเท้า ท่านเองก็มิได้นึกว่าจะไปเพี่อประโยชน์อะไรณ ที่ใด แต่ม้าก็พาท่านวิ่งไปอย่างไม่ลดละฝีเท้า โดยไม่กำหนดทิศทางและสิ่งที่ตนพึงประสงค์ใด ๆ ในขณะนั้น ระยะทางที่ม้าพาวิ่งไปตามทุ่งอันกว้างขวางนั้น รู้สึกว่าไกลแสนไกลโดยไม่อาจจะคาดได้ ขณะที่ม้ากำลังวิ่งไปนั้น ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่งในความรู้สึกว่าเป็นตู้ พระไตรปิฏกซึ่งวิจิตรด้วยเงินสีขาว งดงามมาก ม้าได้พาเข้าสู่ตู้ใบนั้นโดยมิได้บังคับ พอถึงตู้พระไตรปิฏกม้าก็หยุดท่าก็รีบลงจากหลังม้า
    ทันทีด้วยความหวังจะเปิดดูตู้พระไตรปิฏกที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้าด้วยม้าก็ได้หายตัวไปในขณะนั้น โดยมิได้กำหนดว่าได้หายไปในทิศทางใดท่านได้เดินเข้าไปหาตู้พระไตรปิฏกที่ตั้งอยู่ที่สุดของทุ่งกว้างนั้น ซึ่งมองจากนั้นก็ไม่เห็น มีแต่ป่ารกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามต่าง ๆไม่มีช่องทางพอจะเดินต่อไปได้อีก แต่มิทันจะเปิดดูตู้พระไตรปิฏกว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง เลยรู้สึกตัวตื่นขั้น

    สุบินครั้งนั้นเป็นเครื่องแสดงความมั่นใจว่า จะมีทางสำเร็จตามใจหวังอย่างแน่นอนไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่ลดละความเพียรพยายามเสียเท่านั้น จากนั้นท่านได้ตั้งหน้าประกอบความเพียรอย่างเข้มแข็งมีบท พุทโธ เป็นคำประจำใจในอิริยาบทต่าง ๆ อย่างมั่นใจ ส่วนธรรมคือธุดงควัตรที่ท่านศึกษาเป็นประจำด้วยความรักสงวนอย่างยิ่งตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบทจนถึงปลายแดนแห่งชีวิต ท่านเล่าว่า เวลาพักอยู่ถ่ำสาริกา 1 ปี ได้ประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายประการทั้งภายในและภายนอก แทบตลอดเวลาที่พักอยู่ จะเป็นที่สดุดและฝังใจตลอดมาคือ ขณะท่านไปถึงหมู่บ้าน ถ้าจำไม่ผิดชื่อว่าบ้านกล้วย ที่อยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่

    บ้านอื่น ๆ พอโคจรบิณฑบาตถึงสะดวก ท่านขอวานให้ชาวบ้านนั้นไปส่งที่ถ้ำดังกล่าวเพราะไม่เคยไปไม่รู้หนทาง ชาวบ้านก็เล่าเรื่องฤทธิ์เดชต่าง ๆ ของถ้ำนั้นให้ท่านฟังว่า เป็นถ้ำที่สำคัญอยู่มาก พระไม่ดีจริง ๆไปอยู่ไม่ได้ ต้องเกิดเจ็บป่วยต่าง ๆ และตายกันแทบไม่มีเหลือหลอลงมา เพราะถ้ำนี้มีผีหลวงรูปร่างใหญ่และมีฤทธิ์มากรักษาอยู่ ผีตัวนี้ดุร้ายมากไม่เลือกพระเลือกใคร ถ้าไปอยู่ถ้ำนั้นต้องมีอันเป็นไปอย่างคาดไม่ถึงและตายกันจริง ๆ ยิ่งพระองค์ใดที่อวดตัวว่ามีวิชาอาคมขลัง ๆ ไม่กลัวผีแล้ว ผียิ่งชอบทดลอง พระองค์นั้นก็ต้องเกิดเจ้บขึ้นมากระทันหัน และตายเร็วกว่าปกติธรรมดาที่ควรจะเป็น ชาวบ้านพร้อมกันนิมนต์วิงวอนไม่อยากให้ท่านขึ้นไปอยู่ เพราะกลัวว่าจะตายเหมือน

    พระทั้งหลายที่เคยเป็นมาแล้ว ท่านสงสัยจึงถามเขาว่า ที่ว่าถ้ำมีฤทธิ์เดชต่าง ๆ และมีผีดุนั้นมันเป็นอย่างไร อาตมาอยากทราบบ้างเขาบอกกับท่านว่า เวลาพระหรือฆราวาสขึ้นไปพักถ้ำนั้นโดยมากเพียงคืนแรกก็เริ่มเห็นฤทธิ์บ้างแล้วคือเวลานอนหลับไปจะต้องมีการละเมอเพ้อฝันไปต่าง ๆ โดยมีผีรูปร่างดำ ใหญ่โต และสูงมาก มาหา และจะเอาตัวไปบ้าง จะมาฆ่าบ้าง โดยบอกว่าเขาเป็นผู้รักษาถ้ำนี้มานานแล้ว และเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในเขตแขวงนั้น ไม่ยอมให้ใครมารุกล้ำกล้ำกลายได้ เขาต้องกำจัดและปราบปรามให้เห็นฤทธิ์ทันทีไม่ยอมให้ใครมีอำนาจเก่งกาจยิ่งกว่าเขาไปได้ นอกจากผู้มีศีลธรรมอันดีงามและมีจิตคิดเผื่อแผ่กุศลแก่บรรดาสัตว์ ไม่เป็นผู้คับแคบใจดำและต่ำทรามทางความประพฤติเท่านั้น เขาถึงจะยินยอมให้อยู่ได้ และเขาจะให้ความอารักขาด้วยดี พร้อมทั้งความเคารพและนับถือ

    ดังนี้ ส่วนพระโดยมากที่ไปอยู่กันไม่มีความสุข และอยู่ไม่ได้นาน ต้องรีบลงมา หรือต้องตาย เท่าที่เห็นมาก็เป็นทำนองนี้จริง ๆ ใครไปอยู่ไม่ค่อยจะได้ เพียงคืนเดียวหรือสองคืน ก็เห็นรีบลงมาด้วยท่าทางที่น่ากลัวหรือตัวสั่นแทบไม่มีสติอยู่กับตัว และพูดเรื่องผีดุออกมาโดยที่ยังไม่มีใครถามเลย แล้วก็รีบหนีไปด้วยความกลัวและเข็ดหลาบ ไม่คิดว่าจะกลับคืนมาถ้ำนี้อีกได้เลย ยิ่งกว่านั้น ขึ้นไปแล้วก็อยู่ที่นั้นเลยไม่มีวันที่จะกลับมาเห็นหน้ามนุษย์มนาอีกต่อไปเลยท่าน ฉะนั้นจึงไม่อยากให้ท่านขึ้นไป กลัวว่าจะอยู่ที่นั้นเลย ท่านพระอาจารย์จึงถามว่า ที่ว่าขึ้นไปอยู่เลยไม่ลงมาเห็นหน้ามนุษย์นั้นขึ้นไปอย่างไรกัน ถึงไม่ยอมลงมา เขาบอกว่า ตายเลยท่าน จึงไม่มีทางที่จะลงมาได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีพระมาตายอยู่ในถ้ำนี้ตั้ง 4 องค์ ล้วนมีแต่พระเก่ง ๆ ทั้งนั้น เท่าที่พวกกระผมทราบจากพระท่านพูดให้ฟังว่า เรื่องผีท่านบอกว่าไม่กลัวเพราะท่านมีคาถากันและปราบผี ตลอดคาถาอื่น ๆ อีกเยอะแยะ ผีเข้าไม่ถึงท่าน เมื่อชาวบ้านบอกเรื่องราวของถ้ำและผีดุให้ท่านฟัง เพราะไม่อยากให้ท่านขึ้นไป แต่ท่านบอกว่าไม่กลัว และให้ญาติโยมพาท่านส่งขึ้นไปที่ถ้ำ........
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของท่านอาจารย์ มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 2 รวบรวมคำเทศนาโดย หลวงตามหาบัว

    ชาวบ้านจึงต้องจำใจไปส่งท่านให้ไปอยู่ที่นั่น เมื่อไปอยู่แล้วทำให้เป็นต่าง ๆ มีเจ็บไข้บ้างปวดศีรษะบ้าง เจ็บท้องขึ้นมาอย่างสด ๆ ร้อน ๆ บ้าง เวลานอนหลับเกิดละเมอเพ้อฝันไปว่าจะมีคนมาเอาตัวไปบ้างจะมาฆ่าบ้าง แม้พระที่ขึ้นไปอยู่ในถ้ำนั้นมิได้ไปพร้อมกัน ต่างองค์ต่างไปคนละวันก็ตาม แต่อาการที่เป็นขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน บางองค์ก็ตายอยู่ในถ้ำนั้น บางองค์ก็รีบลงมาจากถ้ำหนีไป พระที่มาตายอยู่ในถ้ำนี้ 4 องค์ ในระยะเวลาไม่ห่างกันเลย แต่ท่านจะตายด้วยผีดุหรือตายด้วยอะไร ทางชาวบ้านก็ไม่ทราบได้ แต่เท่าที่สังเกตุมาถ้ำนี้รู้สึก

    แรงมากอยู่ และเคยเป็นอย่างนี้เสมอมา ชาวบ้านแถบนี้กลัวกันไม่กล้าไปทะลึ้งหรืออวดดี แต่ไหนแต่ไรมา กลัวถูกหามกันลงมา โดยอาการร่อแร่บ้าง โดยเป็นศพที่ตายแล้วบ้าง ท่านถามชาวบ้านว่า เหตุการณ์ดังที่ว่านี้เคยมีบ้างแล้วหรือ เขาเรียนท่านว่า เคยมีจนชาวบ้านทราบอย่างฝังใจและกลัวผีกันทั้งบ้าน ทั้งรีบบอกกับพระหรือใคร ๆ ที่มาถ้ำนี้เพื่อต้องการของดี เช่น เหล็กไหล หรือพระศักดิ์สิทธิ์อะไรต่าง ๆ ซึ่งอาจมีหรือไม่มีก็ตาม แต่บางคนก็ชอบประกาศโฆษนาว่ามี ดังนั้น จึงมีพระและคนที่ชอบทางนี้มากันเสมอ แต่ก็ไม่เห็นได้อะไรติดตัวไป นอกจากตายหรือรอดตายไปเท่านั้น เฉพาะชาวบ้านนี้ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยไปเห็นเหล็กไหลหรือของดีอย่างอื่น ๆ ในถ้ำนี้เลย เรื่องก็เป็นดังที่เล่ามานี้ จึงไม่อยากให้ท่านขึ้นไป กลัวจะไม่ปลอดภัยดังที่เห็น ๆ มา

    พอชาวบ้านเล่าเรื่องจบลง ท่านพระอาจารย์ยังไม่หายสงสัยในความอยากไปชมถ้ำนั้น ท่านอยากขึ้นไปทดลองดู จะเป็นจะตายอย่างไรก็ขอให้ทราบด้วยตนเองจะเป็นที่แน่ใจกว่าคำบอกเล่า แม้เขาจะเล่าเรื่องผี ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวให้ฟังก็ตาม แต่ใจท่านมิได้มีความสะดุ้งหวาดเสียวไปตามแม้นิดหนึ่งเลย ยิ่งเห็นเป็นเครื่องเตือนสติให้ได้ข้อคิดมากมายยิ่งขึ้น และมีความอาจหาญที่จะเผชิญต่อเหตุการณ์อยู่ทุกขณะจิต สมกับเป็นผู้มุ่งแสวงหาความจริงอย่างแท้จริง ท่านจึงพูดกับชาวบ้านเป็นเชิงถ่อมตน ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวจริง ๆ แต่อาตมาคิดอยากจะไปชมถ้ำสักชั่วระยะหนึ่ง หากเห็นท่าไม่ดีจะรีบลงมา จึงขอความกรุณาโยมไปส่งอาตมาขึ้นไปอยู่ถ้ำนี้สักพักหนึ่งเถิด เพระยังไม่หายสงสัยที่อยากชมถ้ำนี้มานานแล้ว ฝ่ายชาวบ้านก็พากันตามส่งท่านขึ้นถ้ำตามความประสงค์


    เวลาท่านพักอยู่ในถ้ำนี้มีรู้อะไรแปลก ๆ หลายอย่าง

    ขณะที่พักอยู่ในถ้ำนั้น ในระยะแรก ๆ รู้สึกว่าธาตุขันธ์ทุกส่วนปกติดี จิตใจก็สงบเยือกเย็น เพราะเงียบสงัดมาก ไม่มีอะไรมาพลุกพล่านก่อกวน นอกจากเสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่พากันเที่ยวหากินตามภาษาเขาเท่านั้น ท่านรู้สึกเย็นกายเย็นใจใน 2 - 3 คืนแรก พอคืนต่อไป โรคเจ็บท้องที่เคยเป็นมาประจำขันธ์ก็ชักจะกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นหนักมาก บางครั้งเวลาไปส้วมถึงกับถ่ายเป็นเลือดออกมาอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ก็มี ฉันอะไรเข้าไปแล้วไม่ยอมย่อยเอาเลย เข้าไปอย่างไรก็ส้วมออกมาอย่างนั้น ทำให้ท่านคิดวิตกถึงคำพูดของชาวบ้านที่ว่ามีพระมาตายที่นี่ 4 องค์ เราอาจเป็นองค์ที่ 5 ก็เป็นได้ ถ้าไม่หาย เวลามีโยมขึ้นไปถ้ำตอนเช้าท่านก็พาโยมไปเที่ยวหายาที่เคยได้ผลมาแล้ว มาต้มบ้าง ฝนใส่น้ำฉันบ้าง เท่าที่ทราบเป็นยาประเภครากไม้ แก่นไม้ แต่ฉันยาประเภคใดลงไปก็ไม่ปรากฏว่าได้ผล โรคนับวันรุนแรงขึ้นทุกวันกำลังกายก็อ่อนเพลียมาก กำลังใจก็ปรากฏว่าลดลงผิดปกติ แม้ไม่มากก็พอให้ทราบอย่างชัดเจน ขณะฉันยาก็นึกวิตกขึ้นมา

    เป็นเชิงเตือนตนให้ได้สติ และปลุกใจให้กลับมีกำลังใจเข็มแข็งขึ้นมาว่า ถ้าเป็นยาระงับโรคได้จริงก็ควรจะเห็นผลบ้างแม้ไม่มากเพราะฉันมาหลายเวลาแล้ว แต่โรคก็นับวันกำเริบ หากยามีทางระงับได้บ้างทำไมโรคจึงไม่สงบ เห็นท่ายานี้จะมิใช่ยาเพื่อระงับ บำบัดโรคเหมือนแต่ก่อนเสียกระมัง แต่อาจเป็นยาช่วยส่งเสริมให้โรคกำเริบแน่นอนสำหรับคราวนี้ โรคจึงนับวันกำเริบขึ้นตามลำดับเมื่อเป็นดังนี้ เราจะพยายามฉันไปเพื่อประโยชน์อันใด พอได้สติจากความวิตกวิจารย์ที่ผุดขึ้นมาในขณะนั้นแล้ว ท่านก็ตัดสินใจ และบอกกับตัวเองทันทีว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะระงับโรคพรรค์นี้ด้วยยาคือ โอสถธรรม เท่านั้น จะหายก็หายจะตายก็ตาย เมื่อสุดกำลังความสามารถในการเยี่ยวยาทุกวิถีทางแล้ว ยาที่เคยนำมารักษานั้นจะงดไว้จนกว่าโรคนี้จะหายด้วยธรรม

    โอสถ หรือจนกว่าจะตายในถ้ำนี้ จะยังไม่ฉันยาชนิดใด ๆ ในระยะนี้ แล้วก็เตือนตนว่า เราจะเป็นพระทั้งองค์ที่ได้ปฏิบัติบำเพ็ญทางใจมาพอสมควรจนเห็นผลและแน่ใจต่อทางดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพานมาเป็นลำดับ ซึ่งควรถือเป็นหลักยึดของใจได้พอประมาณอยู่แล้ว ทำไมจะขี้ขลาดอ่อนแอในเวลาเกิดทุกขเวทนาเพียงเท่านี้ ก็เพียงทุกข์เกิดขึ้นเพราะโรคเป็นสาเหตุเล็กน้อยเท่านี้ เรายังสู้ไม่ไหว กลายเป็นผู้อ่อนแล กลายเป็นผู้แพ้ยับเยินเสียแต่บัดนี้แล้ว เมื่อถึงคราวจวนตัวจะชิงชัยเพื่อเอาแพ้เอาชนะกันจริง ๆ คือเวลาขันธ์จะแตก ธาตุจะสลาย ทุกข์จะยิ่งโหมลงมาทับธาตุขันธ์และจิตใจจนไม่มีที่ปลงวาง เราจะเอากำลังจากที่ไหนมาต่อสู้ เพือเอาตัวรอดไปได้โดยไม่เสียท่าทีในสงครามล้างขันธ์เล่า ?

    พอท่านทำความเข้าใจกับตนเองอย่างมั่นใจและแน่ใจแล้ว ก็หยุดจากการฉันยาในเวลานั้นทันทีและเริ่มทำสมาธิภาวนาเพือเป็นโอสถบำบัดบรรเทาจิตใจและธาตุขันธ์ต่อไปอย่างหนักแน่น ทอดความอาลัยและเสียดายในชีวิตธาตุขันธ์ ปล่อยให้เป็นไปตามคติธรรมดาทำหน้าที่ห้ำหั่นจิตดวงไม่เคยตาย แต่มีความตายประจำนิสัยลงไปอย่างเต็มกำลังสติปัญญาศรัทธาความเพียรที่เคยอบรมมา โดยมิได้สนใจคำนึงต่อโรคที่กำลังกำเริบอยู่ภายในว่าจะหายหรือจะตายไปขณะใดเวลานั้น หยั่งสติปัญญาลงในทุกขเวทนา แยกแยะส่วนต่าง ๆ ของธาตุขันธ์ออกพิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ คือ ยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนา คือ ทุกข์ภายใน ทั้งส่วนสัญญาที่หมายกายส่วนต่าง ๆ ว่าเป็นทุกข์ ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่าส่วนนี้เป็นทุกข์ส่วนนั้นเป็นทุกข์ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณาของสติปัญญาผู้ดำเนินการ ทำการขุดค้นคลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง แต่เวลาพลบค่ำถึงเที่ยงคืน คือ 24.00 นาฬิกา จึงลงเอยกันได้ จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์ สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์จนรู้แจ้งตลอดทั่วถึงทุกขเวทนาที่กำลังกำเริบขึ้นมาเต็มที่จากโรคในท้อง โรคก็ระงับดับลงอย่างสนิทจิตรวมลงถึงที่ในขณะนั้นโรคก็ดับ ทุกข์ก็ดับ ความฟุ้งซ่านของใจก็ดับ พอจิตรรวมสงบลงถึงที่แล้ว ถอนออกมาขั้นอุปจารสมาธิแล้ว จิตสว่างออกไปนอกกาย ปรากฏเห็นบุรุษผู้หนึ่งมีร่างใหญ่ดำและสูงมากราว 10 เมตร ถือตะบองเหล็กใหญ่เท่าขา ยาวราว 2 วา เดินเข้ามาหา และบอกกับท่านว่า จะทุบตีท่านให้จมลงไปในดิน ถ้าไม่หนีจะฆ่าให้ตายในบัดเดี๋ยวใจตามที่ผีบอกกับท่านว่า ตะบองเห็นที่เขาแบกอยู่บนบ่านั้น ตีช้างสารใหญ่ตัวหนึ่งเพียงหนเดียวเท่านั้น ช้างสารต้องจมลงไปในดินแบบจมมิดเลยโดยไม่ต้องตีซ้ำอีก ท่านกำหนดจิตถามผีร่างยักษ์นั้นว่าจะมาตีและฆ่าอาตมาทำไม อาตมามีความผิดอะไรบ้าง

    ถึงจะต้องถูกตีถูกฆ่าเล่า ? การมาอยู่ที่นี่มิได้มากดขี่ข่มเหงหรือเบียดเบียนใครให้เดือดร้อนพอจะถูกใส่กรรมทำโทษถึงขนาดตีและฆ่าให้ถึงตายเช่นนี้ เขาบอกว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจรักษาภูเขาลูกนี้อยู่มานานแล้ว ไม่ยอมให้ใครมาอยู่ครองอำนาจเหนือตนไปได้ ต้องปราบปรามและกำจัดทันที ท่านตอบว่า ก็อาตมามิได้มาครอบครองอำนาจบนหัวใจใครนอกจากมาปฏิบัติบำเพ็ญศีลธรรมอันดีงามเพื่อครองอำนาจเหนือกิเลสบาปธรรมบนหัวใจตนเท่านั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ท่านจะมาเบียดเบียนและทำลายคนเช่นอาตมาซึ่งเป็นนักบวชทรงศีล และเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้มีใจบริสุทธ์ และมีอำนาจในทางเมตตาครอบไตรโลกธาตุ ไม่มีใครเสมอเหมือน

    ท่านซักถามและเทศน์ให้ผีร่างยักษ์ฟังเสียใหญ่ในขณะนั้น ว่าถ้าท่านเป็นผู้มีอำนาจเก่งจริงดังที่อวดอ้างแล้ว ท่านมีอำนาจเหนือกรรมและเหนือธรรม อันเป็นกฏใหญ่ปกครองมวลสัตว์ในไตรภพด้วยหรือเปล่า เขาตอบว่าเปล่า ท่านพูดว่าพระพุทธเจ้าท่านเก่งกล้าสามารถปราบกิเลสตัวที่คอยอวดอำนาจว่าตัวดีตัวเก่งอยู่ภายใน คิดอยากตีอยากฆ่าคนอื่นสัตว์อื่นให้หมดสิ้นไปจากใจได้ ส่วนท่านที่ว่าเก่งได้ปราบกิเลสตัวดังกล่าวให้หมดสิ้นไปบ้างหรือยัง เขาตอบว่ายังเลยท่าน ท่านว่า ถ้ายัง ท่านก็มีอำนาจไปในทางที่ทำตนให้เป็นคนมืดหนาป่าเถือนต่างหาก ซึ่งนับว่าเป็นบาปและเสวยกรรมหนัก แต่ไม่มีอำนาจปราบปรามความชั่วของตัวที่กำลังแผลงฤทธิ์แก่ผู้อื่นอยู่

    โดยไม่รู้สึกตัวว่าเป็นผู้มีอำนาจแบบก่อไฟเผาตัว และต้องจัดว่ากำลังสร้างกรรมอันหนักมาก มิหนำยังจะมาตีมาฆ่าคนที่ทรงศีลธรรมอันเป็นหัวใจของโลก ถ้าไม่จัดว่าท่านทำกรรมอันเป็นบาปหยาบช้ายิ่งกว่าคนทั้งหลายแล้ว จะจัดว่าท่านทำความดีที่น่าชมเชยตรงไหนอาตมาเป็นผู้ทรงศีลธรรมมุ่งมาทำประโยชน์แก่ตนและแก่โลกโดยการประพฤติธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านยังจะมาทุบตีและสังหารโดยมิได้คิดคำนึงบาปกรรมที่จะฉุดลากท่านลงนรกเสวยกรรมอันเป็นมหันตทุกข์เลย อาตมารู้สึกสงสารท่านยิ่งกว่าจะอาลัยในชีวิตของตัว

    เพราะท่านหลงอำนาจของตัวจนถึงกับจะเผาตัวเองทั้งเป็นอยู่ในขณะนี้แล้ว อำนาจอันใดบ้างที่ว่ามีอยู่ในตัวท่าน อำนาจอันนั้นจะสามารถต้านทานบาปกรรมอันหนักที่ท่านกำลังกระทำ จะก่อขึ้นเผาผลานตัวอยู่เวลานี้ได้หรือไม่ ? ท่านว่าเป็นผู้มีอำนาจอันใหญ่หลวงปกครองอยู่ในเขตเขาเหล่านี้ แต่อำนาจนั้นมีฤทธิ์เดชเหนือกรรมและเหนือธรรมไปได้ไหม ถ้าท่านมีอำนาจและมีฤทธ์เหนือธรรมแล้ว ท่านก็ทุบตีหรือฆ่าอาตมาได้ สำหรับอาตมาเองไม่กลัวความตาย แม้นท่านไม่ฆ่าอาตมาก็ยังจักต้องตายอยู่โดยดีเมื่อกาลของมันมาถึงแล้ว เพราะโลกนี้เป็นอยู่ของมวลสัตว์ผู้เกิดมาแล้วต้องตายทั่วหน้ากัน แม้นตัวท่านเองที่กำลังอวดตัวว่าเก่งในความมีอำนาจจนกลายเป็นผู้มืดบอดอยู่ในขณะนี้ แต่ท่านก็มิได้เก่งกว่าความตายและกฏแห่งกรรมที่ครอบงำสัตว์โลกไปได้....................


     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 3 รวบรวมโดย พระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

    ขณะที่พระอาจารย์มั่นซักถาม และเทศน์สั่งสอนบุรุษลึกลับโดยทางสมาธิอยู่นั้น ท่านเล่าว่าเขายืนตัวแข็งบ่าแบกตะบองเหล็กเครื่องมือสังหารอยู่เหมือนตุ๊กตาไม่กระดุกกระดิก ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนมาไหนเลย ถ้าเป็นคนธรรมดาเรา ก็ทั้งอายทั้งกลัวจนตัวแข็งแทบลืมหายใจ แต่นี่เขาเป็นอมนุษย์พิเศษผู้หนึ่ง จึงไม่ทราบว่าเขามีลมหายใจหรือไม่ แต่อาการทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นชัดว่า เขาทั้งอายทั้งกลัวท่านพระอาจารย์มั่นจนสุดที่จะอดกลั้นได้ แต่เขาก็อดกลั้นได้อย่างน่าชม ตอนท่านแสดงธรรมจบลง เขาได้ทิ้งตะบองเหล็กจากบ่าอย่างเห็นโทษ และนฤมิตเปลี่ยนภาพจากร่างของบุรุษลึกลับที่มีกายดำสูงใหญ่มาเป็นสุภาพบุรุษพุทธมามกะผู้อ่อนโยนนิ่มนวลด้วยมรรยาทอัธยาสัย แสดงความเคารพคารวะและกล่าวคำขอโทษท่านอาจารย์แบบบุคคลผู้เห็นโทษสำนึกในบาปอย่างถึงใจ ซึ่งต่อไปนี้เป็นใจความของเขาที่กล่าวตามความสัตย์จริงต่อพระอาจารย์มั่นว่า กระผมรู้สึกแปลกใจและสดุ้งกลัวท่านตั้งแต่เริ่มแรก มองเห็นแสงสว่างที่แปลกและอัศรรย์มากซึ่งไม่เคยได้พบเห็นที่ไหนมาก่อนพ่งจากองค์ท่านมากระทบตัวกระผมทำให้อ่อนไปหมด แทบไม่อาจแสดงอาการอย่างใดออกมาได้ อวัยวะทุกส่วนตลอดจิตใจอ่อนเพลียไปตาม ๆ กัน ไม่อาจจะทำอะไรได้ด้วยพลการ เพราะมันอ่อนนิ่มไปด้วยความซาบซึ้งจับใจในความสว่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบว่านั้นคืออะไร เพราะไม่เคยเห็น เท่าที่แสดงกิริยาคำรามว่าจะทุบตีและฆ่านั้น มิได้ออกมาจากใจจริงแม้แต่น้อยเลย แต่แสดงออกมาตามความรู้สึกที่เคยฝังใจมานานว่าตัวเป็นผู้มีอำนาจในหมู่อมนุษย์ด้วยกัน และมีอำนาจในหมู่มนุษย์ที่ไม่มีศีลธรรม ชอบรักบาปหามความชั่วประจำนิสัยต่างหาก อำนาจนี้จะทำอะไรให้ใครก็ได้ตามต้องการ โดยปราศจากการต้านทานขัดขวาง อำนาจนี้แลพาให้ทำเป็นผู้มีอำนาจ แสดงออกพอไม่ให้เสียลวดลายทั้ง ๆ ที่กลัวและใจอ่อน ทำไม่ลง และมิได้ปลงใจว่าจะทำ หากเป็นเพียงแสดงออกพอเป็นกิริยาของผู้เคยมีอำนาจเท่านั้น กรรมอันไม่งามใด ๆ ที่แสดงออกให้เป็นของน่าเกลียดในวงนักปราชญ์ที่แสดงต่อท่านวันนี้ ขอได้เมตตาอโหสิกรรมแก่กรรมนั้น ๆ ให้กระผมด้วย อย่าให้ต้องรับบาปหามทุกข์ต่อไปเลย เท่าที่เป็นอยู่เวลานี้ก็มีทุกข์อย่างพอตัวอยู่แล้ว ยิ่งจะเพิ่มทุกข์ให้มากกว่านี้ ก็คงเหลือกำลังที่จะทนต่อไปไหว

    ท่านถามเขาว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจวาสนามาก กายก็เป็นกายทิพย์ไม่ต้องพาหอบหิ้วเดินดินไปมาให้ลำบากเหมือนมนุษย์ การเป็นอยู่หลับนอนก็ไม่เป็นภาระเหมือนมนุษย์ทั่วโลกที่เป็นกัน แล้วทำไมจึงยังบ่นว่าทุกข์อยู่อีก ถ้าโลกทิพย์ไม่เป็นสุขแล้วโลกไหนจะเป็นสุขเล่า ? เขาตอบว่า ถ้าพูดอย่างผิดเผินและเทียบกับกายมนุษย์ที่หยาบ ๆ พวกกายทิพย์อาจมีความสุขมากกว่าพวกมนุษย์จริง เพราะเป็นภูมิที่ละเอียดกว่ากัน แต่ถ้ากล่าวตามชั้นภูมิแล้ว กายทิพย์ก็ย่อมมีทุกข์ไปตามวิสัยของภูมินั้น ๆ เหมือนกัน ระหว่างที่ผีกับพระ

    สนทนากันในตอนนี้ รู้สึกว่าละเอียดลึกลับ ยากที่จะนำมากล่าวได้ทุกประโยค จึงขออภัยด้วยความจนใจสุดท้ายแห่งการสนทนาธรรม ท่านว่าบุรุษลึกลับมีความเคารพเลื่อมใสในธรรมเป็นอย่างยิ่งและปฏิญาณตนถึงพรไตรสรณคมน์ กล่าวอ้างท่านพระอาจารย์เป็นสรณะและเป็นองค์พยานด้วย พร้อมทั้งให้ความอารักขาแก่ท่านเป็นอย่างดี และขอนิมนต์ท่านพักอยู่ที่นี่นาน ๆ ถ้าตามใจเขาแล้วไม่อยากให้ท่านจากไปสู่ที่อื่นตลอดอายุของท่าน เขาจะเป็นผู้คอยดูแลรักษาท่านทุกอิริยาบท ไม่ให้มีอะไรมาเบียดเบียนหรือรังแกท่านได้เลย ความจริงแล้ว เขามิใช่บุรุษลึกลับและมีร่างกายดำสูงใหญ่ดังที่แสดงภาพต่อท่าน แต่เขาเป็นหัวหน้าแห่งรุกขเทวดา ซึ่งมีบริษัทบริวารมากมายที่อาศัยอยู่ในภูเขา และสถานที่ต่าง ๆ มีเขตอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ติดต่อกันหลายจังหวัด มีนครนายก เป็นต้น นับแต่ขณะจิตท่านสงบและระงับโรคจนหายสนิทไม่ปรากฏเลยประมาณเที่ยงคืน กับรุกขเทพมาเกี่ยวข้องและสนทนาธรรมกันจนถึงเวลาที่จากไป และจิตถอนขึนมาก็ประมาณ 4.00 นาฬิกา คือ 10 ทุ่ม โรคที่กำลังกำเริบในขณะที่นั่งทำสมาธิภาวนา พอจิตถอนขึ้นมาปรากฏว่าหายไปโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องอาศัยยาอื่นใดรักษาอีกต่อไป โรคหายได้เด็ดขาดด้วยธรรมโอสถทางภาวนาล้วน ๆ จึงเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มากสำหรับท่านในคืนวันนั้น พอจิตถอนขึ้นมาแล้ว ท่านทำความเพียรต่อไป โดยมิได้หลับนอนตลอดรุ่ง เมื่อออกจากที่ภาวนาแล้วร่างกายก็ไม่มีการ
    อ่อนเพลียแต่กลับกระปรี้กระเปร่าขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย คืนวันนั้นท่านได้เห็นความอัศรรย์หลายอย่าง คือเห็นอนุภาพแห่งธรรมที่สามารถยังเทวดาให้หายพยศและเกิดความเลื่อมใสหนึ่ง จิตรวมสงบลงเป็นเวลาหลายชั่วโมง และเห็นความอัศจรรย์ในขณะที่จิตสงบอยู่ตัว อย่างมีความสุขหนึ่งโรคที่เคยกำเริบอยู่เสมอควรเรียกได้ว่าโรคประเภคเรื้อรัง ได้หายไปโดยสิ้นเชิงหนึ่ง จิตได้หลักยึดเป็นที่พอใจ หายสงสัยในสิ่งที่เคยเป็นมาหลายชนิดหนึ่ง อาหารที่ฉันลงไปในตอนเช้า แต่วันหลังกลับทำการย่อยตามปกติ ความรู้แปลกที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้ปรากฏขึ้นมากมาย ทั้งประภคถอดถอนและประเภคประดับความรู้พิเศษตามวิสัยวาสนาเถิด

    ในคืนต่อไป ท่านบำเพ็ญเพียรด้วยความสะดวก และมีความสงบสุขทางใจอย่างบอกไม่ถูก ร่างกายก็เป็นปกติสุข ไม่มีอาการใดมาก่อกวน บางคืนยามดึกสงัด ก็ต้อนรับพวกรุกขเทพที่มาจากที่ต่าง ๆ จำนวนมากมาย โดยมีเทพลึกลับที่เคยทำสงครามวาทะกับท่านอาจารย์ เป็นผู้ประกาศโฆษณาให้ทราบและเป็นหัวหน้าพามา คืนที่ไม่มีเรื่องมาเกี่ยวข้องท่านก็สนุกบำเพ็ญสมาธิภาวนา บ่ายวันหนึ่งท่านออกจากที่สมาธิ แล้วก็ออกไปนั่งตากอากาศ ห่างจากหน้าถ่ำพอประมาณ ขณะนั้นกำลังรำพึงธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาประทานไว้แก่หมู่ชน รู้สึกว่าเป็นธรรมที่สุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะมีผู้สามารถปฏิบัติและไตร่ตรองให้เห็นจริงตามได้ ท่านเกิดความภูมิใจและอัศจรรย์นตัวท่านเองขึ้นมา ที่มีวาสนาได้ปฏิบัติและรู้เห็นความอัศจรรย์หลายอย่างจากธรรม แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิที่ไฝ่ฝันมานานก็ตาม แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในขั้นพอกินพอใช้ ไม่ขัดสนจนมุมในความสุขที่เป็นอยู่และจะเป็นไป ซึ่งตัวเองก็แน่ใจว่าจะถึงแดนแห่งความสมหวังในวันหนึ่งแน่นอน ถ้าไม่ตายเสียในระยะกาลที่ควรจะเป็นนี้ ขณะนั้นกำลังเสวยสุขอยู่ด้วยการพิจารณาธรรม ทั้งฝ่ายมรรคคือทางดำเนิน และฝ่ายผลคือความสมหวังเป็นลำดับ จนถึงความดับสนิทแห่งกองทุกข์ภายในใจไม่มีเหลือ พอดีมีลิงฝูงใหญ่พากันมาหากินบริเวณหน้าถ้ำนั้น โดยมีหัวหน้ามาก่อนเพื่อนปล่อยระยะห่างจากฝูงประมาณ 1 เส้น พอหัวหน้าลิงมาถึงที่นั้น ก็มองเห็นท่านนั่งนิ่ง ๆ อยู่พอดี แต่มิได้หลับตา ท่านเองก็ได้ชำเลืองดูลิงตัวนั้นเช่นกัน ประกอบกับลิงตัวนายฝูงนั้นกำลังเกิดความสงสัยในท่านอยู่ว่า นั่นคืออะไรกันแน่ มันค่อยด้อม ๆ มอง ๆ ท่าน และวิ่งถอยไปถอยมาอยู่บนกิ่งไม้ด้วยความสงสัย และเป็นห่วงเพื่อนฝูงของมันมาก กลัวจะเป็นอันตราย ขณะที่มันสงสัยท่าน ท่านก็ทราบเรื่องของมันพร้อมกับเกิดความสงสารขึ้นมาในขณะนั้น และแผ่เมตตาจิตไปยังลิงตัวนั้นว่า เรามาบำเพ็ญธรรมมิได้มาเบียดเบียนและทำร้ายใคร ไม่ต้องกลัวเรา
    จงพากันหาอยู่หากินตามสบายแม้จะพากันมาหากินอยู่แถวบริเวณนี้ทุกวัน เราก็ไม่ว่าอะไร สักประเดี๋ยวใจ มันวิ่งไปหาพวกของมันซึ่งพอมองเห็นตัวที่กำลังตามหลังกันมาท่านเล่าตอนนี้น่าหัวเราะและสงสารมาก พอมันวิ่งไปถึงพรรคพวกของมันแล้ว มันรีบบอกกันว่า 'โก้ก ระวันอันตราย'พวกมันที่ยังไม่เห็นพอได้ยินเสียงก็ร้องถามมาว่า "โก้ก อยู่ที่ไหน" "โก้ก อยูที่นั่น" พร้อมทั้งหันหน้ามองมาที่ท่านพักอยู่เหมือนจะบอกกันว่านั่น นั่งอยู่นั่นเห็นไหม ทำนองนี้แต่เป็นภาษาของสัตว์ เมื่อมันให้สัญญานกันว่าอยู่ที่นั้นแล้ว มันบอกกันว่าอย่าพากันไปเร็วนัก จงพากันค่อย ๆ ไปและดูซิว่าเป็นอะไรกันแน่ แล้วก็พากันค่อย ๆ ไป ส่วนหัวหน้าฝูงพอบอกพรรคพวกเสร็จแล้วก็รีบไป แต่ค่อยด้อม ๆ มอง ๆ ไปจนถึงหน้าถ้ำที่ท่านนั่งอยู่ มีอาการทั้งกลัวทั้งอยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ทั้งเป็นห่วงเพื่อนฝูงที่พากันค่อยมารออยู่เบื้องหลัง หัวหน้ามันโดดขั้นลงอยู่บนกิ่งไม้ตามนิสัยลิงซึ่งเป็นนิสัยหลุกหลิกดังที่เคยเห็นมาแล้วนั้นเอง มันมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ระยะห่างจากท่านประมาณ 10 วา ท่านเองก็ได้ใช้ความสังเกตุอยู่ภายในทุกระยะ ว่ามันมีความรู้สึกต่อท่านอย่างไรบ้าง นับแต่เริ่มแรกที่มันมาหาท่านและวิ่งกลับไปจนมันวิ่งกลับมาอีก และดูท่านซ้ำ ๆ ซาก ๆพอมันแน่ใจแล้วว่าไม่ใช่อันตราย มันก็วิ่งกลับไปบอกเพื่อนฝูงของมันว่า "โก้กไปได้ โก้กไม่มีอันตราย" ท่านเล่าว่าตอนมันวิ่งไปบอกเพื่อนฝูงของมันนั้นน่าขบขัน และน่าหัวเราะ ทั้งน่าสงสารมันมากเมื่อเรารู้ภาษาของมันแล้ว แต่ถ้าไม่รู้คำที่มันพูดกันจะเห็นว่าเสียงที่มันเปล่งออกมาแต่ละคำและแต่ละตัวนั้น เป็นเสียงมันร้องธรรมดาไปเสียหมด เช่นเดียวกับเราได้ยินเสียงนกเสียงการ้อง ฉะนั้น ความจริงเท่าที่ท่านตั้งใจสังเกตุกำหนดดูเสียงของลิงที่วิ่งกลับไปบอกเพื่อนฝูงของมันจริง ๆ แล้ว มันเปล่งเสียงออกชัดถ้อยชัดคำเหมือนเสียงคนเราพูดกันดี ๆ นี่เอง คือพอมันวิ่งกลับไปถึงพวกมันแล้ว มันก็รีบพูดเป็นคำเตือนพวกของมันให้สนใจในคำพูดของมันเพื่อระวังตัว โดยเป็เสียงของลิงพูดกันว่า โก้ก ๆ ดังนี้ แต่ความหมายที่มันเข้าใจกันจากคำว่า "โก้ก ๆ" นั้นเป็นใจความว่า "เอ้ยหยุดก่อน อย่าด่วนพากันไป โก้กมันยังมีอะไรอยู่ข้างหน้านั้น" พวกมันได้ยินเสียงมันเตือน

    เช่นนั้นต่างตัวต่างเกิดความสงสัยจึงร้องถามมาว่า "โก้ก มีอะไรหรือ" ตัวนั้นถามมาว่า "โก้ก อะไรกัน" ตัวนี้ร้องถามว่า "โก้ก อะไรกัน"ตัวหัวหน้าฝูงก็ตอบว่า "โก้กเก้ก มันมีอะไรอยู่ที่นั้น น่ากลัวเป็นอันตราย" พวกของมันถามมาว่า โก้กอยู่ไหน" หัวหน้าตอบว่า "โก้ก นั้นอย่างไรละ" เสียงมันถามและตอบรับลั่นสนั่นป่าไปหมด เพราะมีลิงจำนวนมากด้วยกันทั้งตัวเล็กตัวใหญ่วิ่งวุ่นกันไปมา ขณะที่มันเกิดความสงสัยไม่แน่ใจ กลัวจะเกิดอันตรายแก่ตัวเองและพรรคพวกของตัว จึงต่างตัวต่างเรียกร้องถามกันชุลมุนวุ่นวาย เช่นเดียวกับมนุษย์เราร้องถามกันถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ นี่เอง หัวหน้าต้องชี้แจงเรื่องราวต่าง ๆ ให้ทราบและเตือนพวกของมันว่า "โก้กเก้ก ให้พากันรออยู่ที่นี่ก่อน เราจะกลับไปดูให้แน่นอนอีกครั้ง" พอมันสั่งเสียแล้วก็รีบกลับไปดู ขณะที่มันวิ่งไปดูท่านอาจารย์ก็นั่งอยู่ พอจวนถึงตัวท่าน มันค่อยด้อมค่อยมองวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่บนกิ่งไม้ ตาจับจ้องมองดูอย่างพินิจพิเคราะห์ จนเป็นที่แน่ใจว่า ไม่ใช่ข้าศึกผู้จะคอยทำลายแล้ว มันก็รีบวิ่งกลับมาบอกเพื่อนฝูงของมันว่า


    "โก้กเก้ก ไปได้แล้ว ไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องกลัว" พอทราบแล้วต่างตัวมาสู่ที่ท่านนั่งพักอยู่และต่างตัวต่างดูท่านในลักษณะที่ไม่ค่อยน่าไว้ใจนักต่างวิ่งขึ้นวิ่งลงแบบลิงนั้นเอง เพราะความหิวกระหายอยากดูอยากรู้ และร้องถามโก้กเก้กลั่นป่าไปในเวลานั้นว่า นี่คืออะไร และมาอยู่ทำไมกันต่างตอบรับกันแบบต่าง ๆ ตามภาษาสัตว์ซึ่งต่างตัวต่างสงสัยอยากรู้เรื่องด้วยความกระวนกระวาย ที่พูดซ้ำนี้เขียนตามคำที่ท่านเน้นซ้ำเพื่อผู้นั่งฟังด้วยความสนใจจากท่านได้เข้าใจชัดเจน ท่านเล่าว่า ขณะที่เขาเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในชีวิตของตัวเองและพรรคพวกนั้น รู้สึกว่าเป็นเสียงที่แสดงออกด้วยความชุลมุนวุ่นวายมากพอดี เพราะสัตว์ประเภคนี้เคยถูกมนุษย์ทำลายด้วยวิธีต่าง ๆ มากต่อมากตลอดชีวิตของมัน จึงเป็นสัตว์ที่มีความระแวงต่อมวลมนุษย์อยู่มากประจำนิสัย ขณะนั้นต่างตัวต่างมารุมดูทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ด้วยท่าทางระมัดระวังอย่างยิ่ง กระแสจิตที่แสดงความหมายออกมาตามเสียงที่มันร้องถามและตอบรับกันนั้น เหมือนกับกระแสใจของมนุษย์ที่ส่งออกมามกระแสเสียงที่พูดกันนั่นเอง ฉะนั้นเขาจึงรู้เรื่องของกันได้ดีทุกประโยค เช่นเดียวกับมนุษย์เราพูดกันฉันนั้น ในคำที่เขาแสดงออกแต่ละคำซึ่งแสดงออกมาจากกระแสจิตที่มีความมุ่งหมายไปต่าง ๆ กันนั้นเป็นคำที่ให้ความหมายแก่ตัวรับฟังอย่างชัดเจน ไม่มีความบกพร่องพอจะให้เกิดความสงสัยแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้นคำแสดงของลิงแต่ละประโยค

    เช่น โก้ก เป็นต้น ที่มนุษย์ธรรมดาเราฟังไม่รู้เรื่อง แต่ระหว่างเขาเองรู้เรื่องกันดีทุกประโยคที่แสดงออก เพราะเป็นภาษาของสัตว์พูดต่อกัน เช่นเดียวกับมนุษย์เราชาติต่าง ๆ ต่างก็มีภาษาประจำชาติของตนฉนั้น สรุปความก็คือภาษาสัตว์ต่าง ๆ ก็มีไว้สำหรับชาติของตน ภาษามนุษย์ชาติต่าง ๆ ก็มีไว้สำหรับชาติของตน การจะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้ระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ พูดกัน ระหว่างมนุษย์ชาติต่าง ๆ พูดกัน ก็ยุติลงเองไม่เป็นอารมณ์ข้องใจต่อไป ปล่อยให้เป็นสิทธิของแต่ละชาติจะวินิจฉัยรับรู้ของเขาเอง พอต่างตัวต่างหายสงสัยแล้ว ต่างก็มาเที่ยวหากินในบริเวณนั้นตามสบายหายความหวาดระแวง ไม่ระเวียงระวังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาพากันมาเที่ยวหากินตามบริเวณหน้าถ้ำอย่างสบายไม่สนใจกับท่าน ท่านเองก็มิได้สนใจกับเขา ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน

    ท่านว่า สัตว์ที่มาเที่ยวหากินอยู่บริเวณใกล้เคียงท่านโดยไม่ต้องระแวงและกลัวภัยนี้ เขาก็เป็นสุขดีเหมือนกัน โดยมากพระไปอยู่ที่ไหน พวกสัตว์ชนิดต่าง ๆ ชอบไปอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เพราะความรู้สึกมันคล้ายคลึงกันกับมนุษย์ เป็นแต่เขาไม่มีอำนาจและไม่มีความเฉลียวฉลาดรอบด้านเหมือนมนุษย์เท่านั้น มีความฉลาดเฉพาะการหาอยู่หากินและหาที่ซ่อนตัวเพื่อชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

    คืนวันหนึ่ง ท่านเกิดความสลดสังเวชใจอย่างมากจนน้ำตาร่วงออกมาจริง ๆ คือเวลานั่งสมาธิจิตรวมลงอย่างเต็มที่ เพราะการพิจารณากายเป็นเหตุ ปรากฏว่าจิตว่าง และปล่อยวางอะไร ๆ หมด โลกธาตุเป็นเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยในความรู้สึกขณะนั้น....โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 4 รวบรวมโดยพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

    คืนวันหนึ่ง ท่านเกิดความสลดสังเวชใจอย่างมากจนน้ำตาร่วงออกมาจริง ๆ คือเวลานั่งสมาธิจิตรวมลงอย่างเต็มที่ เพราะการพิจารณากายเป็นเหตุ ปรากฏว่าจิตว่างและปล่อยวางอะไร ๆ หมด โลกธาตุเป็นเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยในความรู้สึกขณะนั้น หลังจากสมาธิแล้วพิจารณาพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อลบล้างหรือถอดถอนความผิดที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลก ซึ่งเป็นธรรมที่ออกจากความฉลาดแหลมคมแห่งพระปัญญาของพระพุทธเจ้า พิจารณาไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นความฉลาดและอัศจรรย์ของพระองค์ และเห็นความโง่ขลาเต่าปลาของตนยิ่งขึ้น เพราะการขบฉันขับถ่ายก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนมาก่อน

    การยืน เดิน นั่ง นอน ก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนมาก่อน การนุ่งห่มซักฟอกก็ต้องได้รับการสั่งสอนมาก่อน ไม่เช่นนั้นก็ทำไม่ถูกนอกจากทำไม่ถูกแล้วยังทำผิดอีกด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องหาบบาปหาบกรรมใส่ตัว การปฏิบัติต่อร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน การปฏิบัติต่อจิตใจก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน ถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาเท่าที่ควรก็ต้องทำผิดจริง ๆ ด้วยโดยไม่เลือกเพศวัยและชาติชั้นวรรณะใด ๆ เลย เพราะสามัญมนุษย์เราเป็นเหมือนเด็กซึ่งต้องได้รับการดูแลอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่อยู่ทุกขณะจึงจะปลอดภัยและเจริญเติบโต คนเราใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ ใหญ่แต่ความสำคัญตน แต่ความรู้ความฉลาดที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุขทั้งทางกายและทางใจโดยถูกทางตลอดผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย นั่นไม่ค่อยเจริญเติบโตด้วย

    และไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตอีกด้วย จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่งโดยไม่เลือกเพศวัยและชาติชั้นวรรณะอะไรเลยเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งในคืนวันนั้นที่ชายเขาทางขึ้นไปถ่ำที่ท่านพระอาจารย์พักอยู่ ก็มีสำนักบำเพ็ญวิปัสนาอยู่แห่งหนึ่ง เวลาท่านพักอยู่ถ่ำนั้นมีขรัวตาองค์หนึ่งพักอยู่สำนักบำเพ็ญนั้น คืนวันหนึ่งท่านพระอาจารย์คิดถึงขรัวตาองค์นั้นว่าท่านจะทำอะไรอยู่เวลานี้ ก็กำหนดจิตส่งกระแสมาดูขรัวตา พอดีเป็นเวลาที่ขรัวตาองค์นั้นกำลังคิดวุ่นวายไปกับกิจการบ้านเรือนครอบครัวยุ่งไปหมด เรื่องทีขรัวตาคิดเกี่ยวกับอตีตารมณ์ พอตกดึกท่านส่งกระแสจิตลงมาหาขรัวตาองค์นั้นอีก ก็มาเจอเอาเรื่องทำนองนั้นเข้าอีก ท่านก็ย้อนจิตกลับ จวนสว่างส่ง

    กระแสจิตลงมาอีก ก็มาโดนเอาแต่เรื่องคิดจะสั่งเสียลูกคนนี้หลานคนนั้นอยู่ร่ำไป ทั้งสามวาระที่ท่านส่งกระแสจิตลงมา ก็มาเจอเอาแต่เรื่องขรัวตาคิดจะสร้างบ้านสร้างเรือนสร้างภพสร้างชาติสร้างวัฏฏสงสารไม่มีสิ้นสุดวิถีแห่งความคิดปรุงเอาเสียเลย ตอนเช้าท่านลงมาบิณฑบาต ขากลับจึงมาแวะไปเยี่ยมขรัวตาถึงที่พัก แล้วพูดเป็นเชิงปัญหาว่า เป็นอย่างไรหลวงพ่อ ปลูกบ้านใหม่ แต่งงานกับคู่ครองใหม่แต่เป็นแม่อีหนูคนเก่าเมื่อคืนนี้ตลอดคืนไม่ยอมนอน เสร็จเรียบร้อยไปด้วยดีแล้วไม่ใช่หรือคืนต่อไปคงจะสบายไม่ต้องวุ่นวายจัดแจงสั่งลูกคนนั้นให้ทำสิ่งนั้น สั่งหลานคนนี้ให้ทำงานสิ่งนี้อีกกระมัง คืนนี้รู้สึกหลวงพ่อมีงานมากและวุ่นวายพอดู แทบมิได้พักผ่อนนอนหลับมิใช่หรือ ขรัวตาถามท่านด้วยอาการเอียงอายและยิ้มแห้ง ๆ ว่า ท่านอาจารย์เป็นพระอัศจรรย์มาก

    ท่านรู้ด้วยหรือเมื่อคืนนี้ ท่านพระอาจารย์แสดงอาการยิ้มรับแล้วตอบว่า ผมเข้าใจว่าท่านจะรู้เรื่องของตัวเองยิ่งกว่าผมผู้ถามเป็นไหน ๆ แต่ทำไมท่านจึงกลับมาถามผมอย่างนี้อีก ผมเข้าใจว่าความคิดปรุงแต่งของท่านเป็นไปด้วยเจตนาและพอใจในความคิดนั้น ๆ จนลืมหลับนอนไปทั้งคืน แม้แต่รุ่งเช้าตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ผมก็เข้าใจว่าท่านจงใจคิดเรื่องเช่นนั้นอยู่อย่างเพลิดเพลินใจจนไม่มี่สติจะยับยั้ง และยังพยายามทำตัวให้เป็นไปตามความคิดนั้น ๆ อย่างมั่นใจมิใช่หรือ พอจบลงท่านมองดูหน้าขรัวตาเหมือนคนจะเป็นลม ทั้งอายทั้งกลัว พูดออกมาด้วยเสียงสั่นเครือแทบไม่เป็นเสียงคน และไม่ชัดถ้อยชัดคำ ขาด ๆ วิ่น ๆ เหมือนจะเป็นอะไรไปในเวลานั้นจนได้ พอเห็นท่าไม่ได้การ ขืนพูดเรื่องนั้นต่อไปเดี๋ยวขรัวตา

    จะเป็นอะไรไปก็จะแย่ ท่านเลยหาอุบายพูดไปเรื่องอื่นพอให้เรื่องจางไป แล้วก็ลาขึ้นถ่ำ ต่อมาได้ 3 วันโยมผู้ปฏิบัติขรัวตาองค์นั้นก็ขึ้นไปที่ถ่ำ ท่านพระอาจารย์จึงถามถึงขรัวตานั้นว่าสบายดีหรือ โยมบอกท่านว่า ขรัวตาองค์นั้นจากไปที่อื่นเสียแล้วตั้งแต่เช้าวานนี้ ผมถามท่านว่าหลวงพ่อจะไปทำไม อยู่ที่นี่ไม่สบายหรือ ท่านบอกว่า จะอยู่ไปได้อย่างไร ก็เช้าวานนี้ท่านพระอาจารย์มั่นมาหาอาตมาที่นี่ แล้วเทศน์อาตมาเสียยกหนึ่งหนัก ๆ อาตมาแทบเป็นลมสลบไปต่อหน้า ท่านอยู่แล้ว ถ้าท่านขืนเทศน์ไปอีกสักพักประโยชน์สองประโยค อาตมาต้องล้มตายต่อหน้าท่านแน่ ๆ แต่พอดีท่านหยุดและเลยพูดเรื่องอื่น ไปเสีย อาตมาจึงพอมีชีวิตและลมหายใจกลับคืนมาได้ ไม่ตายไปเสียในขณะนั้น แล้วจะให้อาตมาอยู่ต่อไปได้อย่างไร อาตมาขอไปวันนี้

    ผมถามท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ดุด่าท่านหรือ ถึงจะอยู่ต่อไปไม่ได้และจะตายต่อหน้าท่าน ท่านมิได้ดุด่าอาตมา แต่ปัญหาธรรมของท่านนั้นมันหนักยิ่งกว่าท่านดุด่าเฆียนตีเป็นไหน ๆ ขรัวตาตอบ ท่านถามปัญหาหลวงพ่ออย่างนั้นหรือ ปัญหานั้นมีว่าอย่างไร ผมอยากทราบด้วยพอเป็นคติบ้าง ผมถามท่าน ท่านพูดว่า ขออย่าให้อาตมาเล่าให้โยมฟังเลย อาตมาอายจะตายอยู่แล้ว แทบจะมุดดินลงไปเดี๋ยวนี้ และถ้าขืนบอกให้ใครทราบด้วย อาตมาจะพูดให้โยมฟังเพียงเปรย ๆ นะ ก็เราคิดอะไร ๆ ท่านรู้เสียจนหมดสิ้น จะไม่หนักกว่าท่านดุด่าอย่างไรละ ธรรมดาปุถุชนก็ย่อมมีคิดดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดา จะห้ามไม่ให้คิดได้อย่างไร ทีนี้พอเราคิดอะไรขึ้นมา ท่านก็รู้เสียหมด อย่างนี้จะอยู่ได้

    อย่างไรหนีไปตายที่อื่นดีกว่า อย่าอยู่ให้ท่านพลอยหนักใจด้วยเลย คนอย่างเราไม่ควรอยู่ที่นี่ต่อไป อายโลกเขาเปล่า ๆ คืนนี้อาตมานอนไม่ได้เลย คิดแต่เรื่องนี้อย่างเดียว ผมแย้งท่านว่า ก็ท่านจะมาหนักใจด้วยเราทำไม เพราะท่านมิใช่ผู้ผิด เราผู้ผิดต่างหากจะควรหนักใจ และควรแก้ความผิดของตนให้สิ้นเรื่องไป ท่านอาจารย์ยังจะอนุโมทนาอีกด้วย นิมนต์ท่านอยู่ที่นี่ไปก่อน เผื่อคิดอะไรผิด ๆ ถูก ๆ ขึ้นมา ท่านอาจารย์จะได้ช่วยเตือน เราก็จะได้สติแก้ไขยังจะดีกว่าหนีไปอยู่ที่อื่นเป็นไหน ๆ ความเห็นของผมว่าอย่างนี้ หลวงพ่อจะว่าอย่างไรไม่ได้ ความคิดว่าจะได้สติและจะแก้ตัวกับความกลัวท่านนั้น มันมีน้ำหนักกว่ากันคนละโลก เหมือนช้างกับแมวเอาทีเดียว แล้วเรายังจะพอมีสติสตังมาแก้อยู่อย่างไรได้ พอคิดว่าท่านรู้เรื่องเราเท่านั้น ตัวมันสั่นขึ้นมาแล้ว อาตมาขอไปวันนี้ ถ้าขืนอยู่ที่นี่ต่อไป อาตมาต้องตายแน่ ๆ โยมเชื่ออาตมาเถอะ อย่าใหอยู่เลยท่านว่าอย่างนี้ ไม่ทราบว่าผมจะห้ามท่านได้อย่างไร คิดแล้วก็น่าสงสาร เวลาท่านพูดให้ผมฟัง ก็ทั้งพูด ทั้งกลัว หน้าซีดเซียวไปหมด เลยต้องปล่อยให้ท่านไป ก่อนจะไปผมถามท่านว่า หลวงพ่อจะไปอยู่ที่ไหน ท่านตอบว่าเอาแน่นอนอะไร ไม่ได้ ถ้าไม่ตายเราคงเห็นหน้ากันอีก แล้วก็ไปเลย ผมให้เด็กตามไปส่งท่าน เวลาเด็กกลับมาแล้วถามเด็ก เด็กบอกว่าไม่ทราบ เพราะท่านไม่บอกที่ที่ท่านจะพักอยู่ สุดท้ายก็เลยไม่ได้เรื่องราวจนป่านนี้ น่าสงสาร ทั้งท่านก็แก่แล้วไม่น่าจะเป็นเอาขนาดนั้น

    ฝ่ายท่านอาจารย์เกิดความสลดใจ ที่ทำคุณให้โทษ โปรดสัตว์ได้บาป เราคิดแล้วแต่แรกที่เห็นอาการไม่ดีเวลาถามปัญหา จากวันนั้นมาแล้วก็มิได้สนใจคิดและส่งกระแสจิตไปถึงขรัวตาอีก เพราะกลัวจะไปเจอเอาเรื่องที่เคยเจอ แล้วก็มาเป็นดังที่คิดจนได้ ท่านคิดในใจขณะที่ทราบเรื่องจากโยมเล่าให้ฟัง และได้พูดกับโยมบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับปัญหาที่เขาเล่าให้ฟัง ว่าอาตมาก็พูดไปธรรมดาในฐานะคนคุ้นเคยกัน ทีเล่นทีจริงบ้างอย่างนั้นเอง ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตถึงกับทำให้ขรัวตาต้องร้างวัดร้างวาหนีไป เช่นนั้น เรื่องของขรัวตาเป็นเรื่องสำคัญต่อท่านอาจารย์ไม่น้อยตลอดมา ในการที่จะปฏิบัติต่อบรรดาผู้ที่มาเกี่ยวข้องทั้งใกล้และไกลเกรงว่าเรื่องจะซ้ำรอยเข้าอีกหาก ไม่สนใจคิดไว้ก่อน จากนั้นมาแล้ว ท่านไม่เคยทักใครเกี่ยวกับความคิดนึกดีชั่วเพียงพูดเป็นอุบายไปเท่านั้นเพื่อผู้นั้นระลึกร้ตัวเอาเองโดยมิให้กระเทือนใจ เพราะใจคนเราย่อมเป็นเหมือนเด็กอ่อนที่เพิ่งฝึกหัดเดินกะเปะกะปะไปตามเรื่อง ผู้ใหญ่เป็นเพียงคอยดูแลสอดส่องเพื่อมิให้เด็กเป็นอันตรายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องไปกระวนกระวายกับเด็กให้มากไป ใจของสามัญชนก็เช่นกันปล่อยให้คิดไปตามเรื่อง ถูกบ้างผิดบ้าง ดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดา จะให้ถูกต้องดีงามอยู่ตลอดเวลาย่อมเป็นไปไม่ได้

    ท่านว่า ท่านพักอยู่ที่ถ้ำนั้นได้ความรู้และอุบายแปลก ๆ ต่าง ๆ มากมาย ทั้งเป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ ทั้งเกี่ยวกับเรื่องภายนอกไม่มีประมาณ ท่านเกิดความอาจหาญร่าเริงในข้อปฏิบัติ จนลืมเวล่ำเวลา ไม่ค่อยได้สนใจกับวันคืนเดือนปีอะไรนัก ความรู้ภายในใจเกิดขึ้นทุกระยะเหมือนน้ำไหลรินในฤดูฝน บางวันตอนบ่ายอากาศโปร่ง ๆ ท่านก็เดินเที่ยวชมป่าหชมเขาภาวนาไปเรื่อย ๆ ทำให้เพลินใจไปตามทัศนียภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน เย็น ๆ หน่อยค่อยมาลงถ้ำ ที่ที่ท่านพักอยู่สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีมาก พืชผลอันเป็นอาหารธรรมชาติก็มีมาก จำพวกสัตว์ป่าที่อาศัยผลไม้เป็นอาหาร เช่นลิงค่างบ่างชนี ก็รู้สึกว่าเขาเพลิดเพลินไปตามภาษาของเขาเวลาเขามองเห็นเราก็ไม่แสดงอาการกลัว ต่างตัวต่างหากินไปตามภาษา ท่านว่าท่านก็เพลิดเพลินไปกับเขาด้วยความเมตตาสงสารว่าเขาก็เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกับเรา ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้วาสนาบารมีของสัตว์กับมนุษย์ต่างก็มีเช่นเดียวกัน ส่วนความยิ่งหย่อนแห่งวาสนาบารมีนั้นย่อมมีได้ทั้งคนและสัตว์ นอกจากนั้น สัตว์บางตัวที่มีวาสนาบารมีแก่กล้าและอัธยาศัยดีกว่ามนุษย์บางรายยังมีอยู่มาก แต่เวลาเขาตกอยู่ในภาวะความเป็นสัตว์ก็จำต้องทนรับเสวยไป เช่นเดียวกับมนุษย์เรา แม้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งาจัดว่าเป็นชาติที่สูงกว่าสัตว์ แต่ขณะที่ตกอยู่ในความทุกข์จนข้นแค้นก็จำต้องทนเอา จนกว่าจะสิ้นกรรมหรือสิ้นวาระของมัน แล้วมีส่วนดีเข้ามาแทนที่ให้รับเสวยผลสืบต่อไปตามวาระดังที่เห็น ๆ กันอยู่ เพราะฉนั้น ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามชาติกำเนิดความเป็นอยู่ของกันและกัน และสอนว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมดีชั่วเป็นของตนพอตกเย็นท่านก็ทำวัตรปัดกวาดหน้าถ้ำบริเวณที่อยู่อาศัย เสร็จแล้วก็เริ่มทำความเพียร โดยวิธีเดินจงกรมบ้างนั่งสมาธิบ้าง จิตท่านมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางสมาธิ ความสงบใจ ทั้งทางปัญญา พิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนแห่งธาตุขันธ์ลงในไตรลักษณญาน ปรากฏเป็นความมั่นใจขึ้นเป็นลำลับ

    พระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟัง บางคืนปรากฏมีพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังตามทางอริยประเพณี โดยปรากฏทางสมาธินิมิตเป็นใจความว่า.....





     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 5 รวมรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณ สัมปันโน


    พระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟัง บางคืนปรากฏมีพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังตามทางอริยประเพณี โดยปรากฏทางสมาธินิมิต เป็นใจความว่า วิธีเดินจงกรมต้องให้อยู่ในท่าสำรวมทั้งกายและใจ ตั้งจิตและสติไว้ที่จุดหมายของงานที่ตนกำลังทำอยู่ คือกำลังกำหนดธรรมบทใดอยู่ พิจารณาขันธ์ใดอยู่ อาการแห่งกายใดอยู่ พึงมีสติอยู่กับธรรมหรืออาการนั้น ๆ ไม่พึงส่งใจและสติไปอื่น อันเป็นลักษณะของคนไม่มีหลักยึด ไม่มีความแน่นอนในตัวเอง การเคลื่อนไหวไปมาในทิศทางใดควรมีความรู้สึกด้วยสติพาเคลื่อนไหว

    ไม่พึงทำเหมือนคนนอนหลับไม่มีสติตามรักษาความกระดุกกระดิกของร่างกาย และความละเมอเพ้อฝันของใจในเวลาหลับของตน การบิณฑบาต การขบฉัน การขับถ่าย ควรถืออริยประเพณีเป็นกิจวัตรประจำตัว ไม่ควรทำเหมือนคนผู้ไม่เคยอบรมศิลธรรมมาเลย ควรทำเหมือนสมณะคือเพศของนักบวชอันเป็นเพศที่สงบเยือกเย็น มีสติปัญญาเครื่องกำจัดโทษที่ฝังลึกอยู่ภายใน อยู่ทุกอิริยาบทการขบฉันพึงพิจารณาอาหารทุกประเภคด้วยดี อย่าปล่อยให้อาหารที่มีรสเอร็ดอร่อยตามชิวหาประสาทนิยมกลายมาเป็นยาพิษแผดเผาใจ

    แม้ร่างกายจะมีกำลังเพราะอาหารที่ขาดการพิจารณาเข้าไปหล่อเลี้ยง แต่ใจจะอาภัพเพราะรสอาหารเข้าไปทำลาย จะกลายเป็นการทำลายตนด้วยการบำรุง คือทำลายใจเพราะการบำรุงร่างกายด้วยอาหารโดยความไม่มีสติ สมณะไปที่ใด อยู่ที่ใด ไม่พึงก่อความเป็นภัยแต่ตัวเองและผู้อื่น คือไม่สั่งสมกิเสลสิ่งที่น่ากลัวแก่ตัวเองและ ระบาดสาดกระจายไปเผาลนผู้อื่น คำว่ากิเลสอริยธรรมถือเป็นสิ่งน่ากลัวอย่างยิ่ง พึงใช้ความระมัดระวังด้วยความจงใจไม่ประมาทต่อกระแส ของกิเสสทุก ๆ กระแส เพราะเป็นเหมือนกระแสไฟที่จะสังหารหรือทำลายได้ทุก ๆ กระแสไป การยืน เดิน นั่ง นอน การขบฉัน การขับถ่าย

    การพูดจาปราศรัยกับผู้มาเกี่ยวข้องทุก ๆ ราย และทุก ๆ ครั้งด้วยความสำรวม นี่แลคืออริยธรรม เพราะพระอริยบุคคลทุกประเภคท่านดำเนิน อย่างนี้กันทั้งนั้น ความไม่มีสติ ไม่มีการสำรวม เป็นทางของกิเสลและบาปกรรม เป็นทางของวัฏฏะล้วน ๆ ผู้จะออกจากวัฏฏะจึงไม่ควร สนใจกับทางอันลามกตกเหวเช่นนั้น เพราะจะพาให้เป็นสมณะที่เลว ไม่เป็นผู้อันใคร ๆ พึงปรารถนา อาหารเลวไม่มีใครอยากรับประทานสถานที่บ้านเรือนเลวไม่มีใครอยากอยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มใช้สอยเลวไม่มีใครอยากนุ่งห่มใช้สอยและเหลือบมองทุกสิ่งที่ "เลว" ไม่มีใครสนใจ

    เพราะความรังเกียจโดยประการทั้งปวง คนเลว ใจเลว ยิ่งเป็นบ่อแห่งความรังเกียจของโลกผู้ดีทั้งหลาย ยิ่งสมณะคือนักบวชเราเลวด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นจุดทิ่มแทงจิตใจของทั้งคนดีคนชั่ว สมณชีพราหมณ์ เทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมไม่เลือกหน้า จึงควรสำรวมระวังหนักหนา การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งปวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า
    จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจคือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั้นเอง

    เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ ๆ จะเสียใจภายหลัง ความเสียใจทำนองนี้ไม่ควรให้เกิดได้เมื่อทราบอยู่อย่างเต็มใจ มนุษย์เป็นชาติที่ฉลาดในโลก แต่อย่าให้เราที่เป้นมนุษย์ทั้งคน โง่เต็มตัว จะเลวเต็มทนและหาความสุขไม่เจอ กิจการทั้งภายในภายนอก ของสมณะเป็นกิจหรือเป็นงานตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นใจ เพราะเป็นกิจที่ขาวสะอาดปรากศจากมลทินโทษทั้งกิริยาที่ทำและงานที่ประกอบจัดว่าชอบด้วยอรรถด้วยธรรม จึงควรบำรุงส่งเสริมสมณกิจของตนให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ สมณะผู้รักในศีลรักในสมาธิ รักสติ รักปํญญา รักความเพียร จะเป็นสมณะอย่างเต็มภูมิทั้งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ ธรรมที่แสดงนี้

    คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร ของท่านผู้อดผู้ทน ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคนของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิคือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้ จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี ท่านจะกลายเป็นคนที่แปลกขึ้นมาในใจซึ่งเป็นของแปลกอยู่แล้วตามหลักธรรมชาติดังนี้ เมื่อพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังจากไปแล้ว ท่านก็น้อมเอาธรรมนั้นมาพิจารณาใคร่ครวญอีกต่อหนึ่ง โดยแยกแยะ ออกเป็นแขนง ๆ ไตร่ตรองดูด้วยความละเอียด ๆ ทุก ๆ ครั้งที่พระสาวกอรหันต์แต่ละองค์มาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านได้อุบายต่าง ๆ จากการสดับ

    ธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มาอบรมสั่งสอนแต่ละครั้งแต่ละองค์ ช่วยส่งเสริมกำลังใจกำลังสติปัญญาตลอด ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเป็นการภายในว่า ท่านได้บรรลุอนาคามีธรรมในถ่ำนั้น แต่ผู้เขียน (หลวงตามหาบัว) ก็เลยตัดสินใจ นำมาลงเพื่อให้ผู้อ่านติชมบ้าง หากเป็นการผิดพลาดประการใด ก็ขอได้ตำหนิผู้เขียนว่าเป็นผู้ไม่รอบคอบเสียเอง ท่านพักบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยความสงบเย็นใจอยู่ที่นั้นหลายเดือน คืนวันหนึ่งเกิดความเมตตาสงสารหมู่คณะขึ้นมาอย่างมากมายผิดสังเกตุที่เคยเป็นมา สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เนื่องมาจากท่านทำสมาธิภาวนาเกิดความอัศจรรย์หลายอย่างที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้ในชีวิต แต่ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจ ติด ๆ กันทุกคืน เฉพาะคืนที่คิดถึงหมู่คณะนั้นรู้สึกเป็นคืนที่แปลกมาก คือจิตเป็นสมาธิที่ละเอียดสุขุมเป็นพิเศษ ความรู้ความเห็นทั้งภายในภายนอกเป็นพิเศษ ความอัศจรรย์ปรากฏ ขึ้นกับใจเป็นพิเศษ ถึงกับน้ำตาร่วงไหลออกมาด้วยความเห็นโทษแห่งความโง่เขลาของตนในอดีตที่ผ่านมา ความเห็นคุณของความเพียรที่ตะเกียกตะกายมาจนได้เห็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นจำเพราะหน้า ความเห็นคุณของพระพุทธเจ้าผู้มีพระเมตตาประสิทธิ์ประสาทธรรมไว้พอเห็นร่องรอยได้ดำเนินตามและรู้ความสลับซับซ้อนแห่งกรรมของตนและของผู้อื่นตลอดจนสัตว์ทั้งหลายขึ้นมาอย่างประจักษ์ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ตรงตามธรรมบทว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นของตน เป็นต้น อันเป็นบทธรรมที่รวมความสำคัญของศาสนาไว้แทบทั้งมวล ท่านเตือนตนว่า แม้จะประสบ

    ความอัศจรรย์หลายอย่างขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจก็ตาม แต่ก็ทราบว่าทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ของท่านหยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ยังจะต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญาและความพากเพียรทุกด้านลงอย่างเต็มกำลังอีกต่อไป

    สิ่งที่ทำให้ท่านเย็นใจ และอยู่ด้วยความผาสุขและทางกายและทางใจนั้น คือโรคเรื้อรังในท้องที่เคยรบกวนและตัดรอนเสมอมาได้หายไปโดยสิ้นเชิง จิตใจได้หลักยึดอย่างมั่นคง แม้ยังไม่สิ้นกิเลส แต่ก็มิได้สงสัยปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน ปฏิปทาภายในเป็นไปอย่างสม่ำเสมอไม่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนแต่ก่อน มีความแน่ใจว่าจะไม่ลุ่มหลงสงสัยทางดำเนินเพื่อธรรมชั้นสูงสุดแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ดังที่เคยเป็นมาและมั่นใจว่าตนจะบรรลุถึงธรรมแดนพ้นทุกข์ในวันหนึ่งแน่นอน สติปัญญาก็ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอไม่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ วันคืนหนึ่ง ๆ เกิดความรู้

    ความเห็นต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวแก่สิ่งภายใน และเกี่ยวกับสิ่งภายนอกไม่มีประมาณ ทำให้จิตใจรื่นเริงในธรรม และเกิดความสงสารหมู่คณะที่เคยอยู่ด้วยกันมามากขึ้น อยากให้ได้รู้ได้เห็นอย่างที่ตนรู้บ้าง ความคิดสงสารนี้กลายเป็นสามเหตุให้ท่านจำต้องไปจากถ้ำอันเป็นอุดมมงคลนี้ไปหาหมู่คณะ ทางภาคอิสานอีก ทั้ง ๆ ที่อาวรอาลัยไม่อยากไป ก่อนที่ท่านจะจากถ้ำนี้ไปราว 2-3 วัน ก็ปรากฏว่ามีพวกรุกขเทพ โดยมีเทพลึกลับองค์ที่เคยมาหาท่านเป็นหัวหน้าพามาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านเทศนาท่าน เมื่อท่านให้โอวาทแก่เทวดาจบลง..........

    พระพุทธองค์ทรงแนะให้พิจารณาเนือง ๆ ถึงความเป็นไปของชีวิต กล่าวคือ เรามีความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพลากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้นไป

    เรามีกรรมเป็นของ ของตน เป็นผู้ได้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว เราจะต้องเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น


    จึงขอให้ตระหนัก และ เตรียมล่วงหน้า ไว้ก่อน โดยให้ มีความรู้พออาศัย มีทรัพย์พอใช้ มีอนามัยพออยู่ มีบุญกุศลพอเพียง ตั้งแต่ปัจจุบันเรื่อยไป ผู้ไม่ผัดเพี้ยนเวลา มองข้างหน้าย่อมมีหวัง มองข้างหลังย่อมมีสุข



     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 6 รวบรวมคำเทศนาโดย พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน


    ก่อนที่ท่านจะจากถ้ำนี้ไปราว 2-3 วัน ก็ปรากฏว่ามีพวกรุกขเทพโดยมีเทพลึกลับองค์ที่เคยมาหาท่านเป็นหัวหน้าพามาเยี่ยมฟังธรรมเทศนาท่าน เมื่อท่านให้โอวาทแก่เทวดาจบลง และบอกความประสงค์ที่จะต้องจากถ้ำ และคณะเทพทั้งหลาย ไปสู่ถิ่นอื่นด้วยความจำเป็น บรรดาเทวดาที่รวมกันอยู่จำนวนมากไม่ยอมให้ท่านจากไป และพร้อมกันอาราธนานิมนต์ท่านไว้ เพื่อความร่มเย็นและเป็นสิริมงคลแก่ชาวเทพตลอดกาลนาน ท่านก็บอกว่า ที่มาอยู่ที่นี่ก็มาด้วยความจำเป็น แม้การจะจากไปสู่ที่อื่นก็ไปด้วยความจำเป็นเช่นเดียวกันมิได้มาด้วยความอยากพาให้เป็นไป จึงขอความเห็นใจจากท่านทั้งหลาย อย่าได้เสียใจ ถ้ามีโอกาศวาสนาอำนวยยังจะได้มาที่นี่อีก ชาวเทพพากันแสดงความเสียใจและเสียดายท่านด้วยความเคารพรักจริง ๆ ไม่อยากให้ท่านจากไปจวนจะถึงวันลงจากถ้ำ ตอนกลางคืนราว 4.00 นาฬิกาคือ 10 ทุ่ม ท่านติดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์วัดบรมนิวาส ว่าเวลานี้ท่าจะพิจารณาอะไรอยู่ จึงกำหนดจิตส่งกระแสลงมาดูท่านจำคุณอุบาลีฯ ก็ทราบว่าเวลานั้นท่านกำลังพิจารณาปัจจยาการคืออวิชชาอยู่ ท่านอาจารย์ทราบแล้วก็จดจำวันไว้ เวลาลงมากรุงเทพฯได้โอกาศก็เรียนถามท่านตามที่ตนทราบมาแล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ พอได้ทราบเท่านั้นเลยต้องสารภาพและหัวเราะกันพักใหญ่พร้อมทั้งชมเชยว่า " ท่านมั่นนี้เก่งจริง เราเองเป็นขนาดอาจารย์ แต่ไม่เป็นท่า น่าอายท่านมั่นเหลือเกิน ท่านมั่นเก่งจริง " แล้วก็กล่าวชมเชยว่า " มันต้องอย่านี้ซิลูกศิษย์พระตถาคต ถึงจะเรียกว่าเดินตามครู พวกเราอย่าทำตัวเป็นโมฆะจากธรรมของพระพุทธเจ้าเสียหมด ต้องมีผู้ทรงธรรมท่านไว้บ้าง สมกับธรรมเป็นอกาลิโกไม่ปล่อยให้กาลสถานที่และความเกียจคร้านเอาไปกินเสียหมด ธรรมจะไม่ปรากฏแก่โลกทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนแก่หมู่ชน ต้องทำอย่างท่านมั่นที่ได้ความรู้ต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ จึงเป็นที่น่าชมเชย ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เลื่อมใสและชมเชยท่านมาก บางครั้งเวลามีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านไม่แน่ใจว่าควรจะพิจารณาและตัดสินใจอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม ท่านยังให้พระนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปร่วมปรึกษา และมอบเรื่องราวให้ท่านไปพิจารณาช่วยก็ยังมี พอควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็เดินทางไปภาคอิสาน ท่านว่าก่อนท่านจะขึ้นไปบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำสารีกาเขาใหญ่ จัหวัดนครนายก ท่านเที่ยวจาริกไปทางประเทศพม่าก่อน แล้วกลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลงไปทางหลวงพระบางประเทศลาว บำเพ็ญสมนธรรมอยู่แถบนั้นนานพอสมควร แล้วไปจังหวัดเลย และไปจำพรรษาที่บ้านโคก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับถ้ำผาปู่ในเขตจังหวัดเลย 1 พรรษา และไป
    จำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง 1 พรรษาในเขตจังหวัดเดียวกัน ที่ที่ท่านจำพรรษาเหล่านี้มีแต่ป่าแต่เขา และเต็มไปด้วยสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพราะหมู่บ้านและผู้คนมีน้อยในสมัยนั้น เดินทางไปตั้งวันก็ไม่เจอหมู่บ้าน ถ้าเกิดไปหลงทางเข้าต้องแย่ และนอนกลางป่าซึ่งเป็นที่ชุกชุมของสัตว์รนานาชนิดมีเสือเป็นต้น

    ท่านเล่าว่า ท่านข้ามไปเที่ยวธุดงค์ฟากฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาว และพักอยู่ในป่าใกล้ภูเขา มีเสือโคร่งใหญ่เคยมาหาท่านบ่อย ๆ บางทีมันก็มาดูท่านอยู่ห่าง ๆ ในเวลากลางคืนซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่มันก็มิได้แสดงท่าทางให้เป็นที่น่ากลัวอะไรนัก นอกจากมันร้องไปตามภาษาของมัน แลเที่ยวไปมาอยู่แถว ๆ บริเวณนั้นเท่านั้น ท่านก็มิได้สนใจกับมันเพราะเคยชินกับพวกสัตว์ต่าง ๆ มาแล้ว คืนวันหนึ่งมีเสือโคร่งตัวใหญ่มากเข้ามาหาพระที่เป็นเพื่อนไปด้วยกัน ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่อยู่กันคนละหมู่บ้านมิได้อยู่ด้วยกัน มันเข้ามาดูท่านอยู่ข้างทางเดินจงกรมของพระอาจารย์องค์นั้น ห่างจากทางเดินจงกรมท่านประมาณ 1 วา ท่ามกลางความสว่างของแสงไฟเทียนไขที่ท่านจุดไว้เพื่อมองเห็นทางเดินจงกรมไปมา การนั่งของเสือโคร่งตัวนั้นเหมือนสุนัขบ้านเรานั่งนั้นเอง มันนั่งหันหน้ามาทางจงกรมท่าน ตามันจับจ้องมองดูพระที่ท่านกำลังเดินจงกรมไปมาไม่ลดละสายตา แต่มิได้แสดงอาการใดออกมา ขณะที่พระท่านเดินจงกรมไปถึงตรงที่มันนั่งอยู่นั้น รู้สึกสงสัยนัยน์ตาและเฉลียวใจ เพราะข้างทางเดินจงกรมนั้นปกติไม่มีอะไร แต่ขณะนั้นรู้สึกพิกลนัยน์ตาจึงมองไปดู ก็พอดีเห็นเสือโคร่งใหญ่กำลัง
    นั่งมองดูท่านอยู่แล้ว ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ พระท่านเองก็ไม่กลัวมัน มันก็ไม่ทำอะไรท่านเป็นเพียงนั่งดูอยู่เฉย ๆ เหมือนสัตว์ไม่มีวิญญานและไม่กระดุกกระดิก ท่านก็เดินจงกรมผ่านหน้ามันไปมาไม่นึกกลัวอะไร เป็นแต่เห็นมันนั่งดูท่านอยู่นานผิดปกติ จึงทำให้ท่านคิดขึ้นด้วยความสงสารมันว่า แกจะไปหาอยู่หากินที่ไหนก็ไปซิ จะมานั่งเฝ้าเราทำไมกัน พอท่านคิดจบลงเท่านั้น เสียงมันดังกระหึ่มขึ้นทันทีจนสะเทือนป่าไปหมดในขณะนั้น เมื่อท่านได้ยินเสียงมันกระหึ่มและไม่ยอมหนีตามที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไป ท่านเลยรีบเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า เท่าที่คิดเช่นนั้นก็เพราะสงสาร เกรงว่าจะเกิดความหิวโหยเพราะมีปากท้องที่จะต้องได้รับการบำรงรักษาเช่นทั่ว ๆ ไป เพราะการมานั่งเฝ้าเรานาน ๆ ถ้าไม่เกิดความหิวกระหายใด ๆ จะนั่งเฝ้าเพื่อรักษาอันตรายให้ก้ยิ่งดี เราก็ไม่ว่าอะไร พอท่านเปลี่ยนความคิดใหม่เช่นนี้จบลง มันก็มิได้แสดงอาการอย่างไรต่อไปอีก คงนั่งดูท่านเดินจงกรมต่อไปตามนิสัยของมัน ท่านเองก็คงเดินจงกรมไปมาตามปกติ มิได้สนใจกับมันอีกต่อไป มันก็นั่งดูท่านอยู่เหมือนหัวตอไม่กระดุกกระดิกตัวแต่อย่างใดเลย จนถึงเวลาท่านก็เดินออกจากจงกรม เข้าสู่ที่พักซึ่งเป็นแคร่เล็ก ๆ เหมือนเตียงนอน ที่อยู่ไม่ห่างไกลจากที่จงกรมนัก ทำวัตรสวดมนต์และนั่งสมาธิภาวนาต่อไป จนถึงเวลาพักผ่อนท่าก็พักผ่อนบนแคร่นั้น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเสือตัวนั้นเลย ท่านตื่นนอน 3.00 นาฬิกาหรือ 9 ทุ่ม จากนั้นท่านก็เริ่มออกไปเดินจงกรมอีกตามเคยแต่ไม่เห็นเสือตัวนั้นอีก ไม่ทราบว่ามันหายไปทางทิศใด คืนต่อไปก็ไม่เห็นมันมาที่นั่นอีก จนกระทั่งท่านจากที่นั้นหนีไป เผอิญเห็นเฉพาะ คืนเดียวเท่านั้น จึงทำให้พระอาจารย์องค์นั้นเกิดความสงสัย เวลาไปพบท่านพระอาจารย์มั่นจึงเล่าเรื่องเสือมาผฝ้าตนให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

    ท่านเล่าว่า พระอาจารย์องค์นั้นชื่อ "สีเทา" อายุพรรษาแก่กว่าท่านเล็กน้อย ท่านเป็นพระนักปฏิบัติรุ่นเดียวกัน และเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ท่านชอบป่าเขาชอบที่สงบสงัดมาก ท่านชอบอยู่ตามภูเขาทางฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาวมากกว่าที่อื่น ๆ แม้ข้ามมาฝั่งไทยเราก็ไม่นาน ท่านพระอาจารย์สีเทาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง คราวเสือกระหึ่มใส่ท่านนั้นเป็นขณะที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไป ว่าท่านไม่รู้สึกกลัวแต่ขนลุกไปหมดทั้งตัว ศีรษะชาเหมือนใส่หมวก ต่อไปค่อยเป็นปกติและเดินจงกรมไปมาได้สะดวกธรรมดา เหมือนไม่มีอะไรมาอยู่ที่นั้น ความจริงมันคงจะมีความกลัวอยู่อย่างลึกลับจนเจ้าตัวไม่อาจรู้ได้ แม้คืนที่เสือโคร่งใหญ่ตัวนั้นไม่มาหาท่านถึงที่อยู่ แต่ก้ได้ยินเสียงมันร้องกระหึ่ม ๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ท่านพักอยู่แทบทุกคืน ท่านก็ไม่เห็นรู้สึกกลัวมัน และทำความเพียรได้อย่างสบายเหมือนไม่มีอะไรในบริเวณนั้น

    สมัยที่ท่านพระอาจารย์ม่นออกปฏิบัติทีแรก และที่ยวไปตามจังหวัดต่าง ๆ มีจังหวัด นครพนม สกลนคร อุดรธานี จนไปถึงพม่ากลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่ หลวงพระบางเวียงจันทน์ จังหวัดเลย ลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพ และไปพักที่ถ้ำสาริกาเขาใหญ่ตลอดเวลาที่ท่านกลับมาทางภาคอีสานอีก ท่านมักจะไปเพียงองค์เดียว แม้จะมีพระติดตามไปบ้างก็เป้นบางสมัยเท่านั้น แล้วก็แยกกันไปเพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติเด็ดเดี่ยวไม่ชอบยุ่งเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ท่านถือเป็นความสะดวกในการไปคนเดียวอยู่คนเดียวบำเพ็ญสมณธรรมคนเดียวตลอดมา จนปรากฏมีกำลังใจมั่นคง จึงเกิดความสงสารหมู่คณะ และสนใจที่จะแนะนำสั่งสอน ความคิดอันนี้เป็นเหตุให้ท่านได้จากถ้ำสาริกาอันแสนสบาย กลับไปทางภาคอีสาน หลังจากที่ท่านอบรมพระเณรไว้บ้างสมัยที่ท่านเที่ยวธุดงค์อยู่ทางภาคอีสาน ก่อนหน้าจะลงมาทางภาคกลางและไปถ้ำเขาใหญ่ก็ปรากฏว่ามีพระธุดงค์กรรมฐานปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานมากพอสมควร พอท่านกลับไปเที่ยวนี้ก็ได้ตั้งใจทำการสอนทั้งพระเณรและฆราวาสผู้มีความมุ่งมั่นต่อท่านอยู่แล้วอย่างเต็มกำลัง การเที่ยวทางภาคอีสานท่านก็เที่ยวไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เคยไปแล้วปรากฏว่ามีพระเณรญาติโยมเกิดความเชื่อเลื่อมใสท่านมากมาย ผู้ออกบวชและปฏิบัติตามท่านด้วยความเลื่อมใสมีจำนวนมาก แม้พระที่มีอายุพรรษาจนเป็นขั้นอาจารย์แล้วก็ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่านจนกลายเป็นผู้มีความมั่นคงทางข้อปฏิบัติและทางจิตใจจนสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้อย่างเต็มภูมิก็มีจำนวนมากพระที่เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของท่าน คือ ท่านพระอาจารย์สุวรรณ ที่เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อจังหวัดหนองคาย พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสิมา พระอาจารย์มหาปิ่น ปํญญาพโล เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดศรัทาราม นครราชสิมา ทั้ง 3 องค์นี้ท่านเป็นชาวอุบลราชธานี และท่านมรณภาพไปหมดแล้ว ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ผู้สำคัญที่ให้การอบรมพระ เณร ญาติโยม สืบทอดจากพระอาจารย์มั่นมาเป็นลำดับถึงสมัยปัจจุบันพระอาจารย์สิงห์ กับ พระอาจารย์มหาปิ่น ทั้งสององค์นี้ท่านเป็นพี่กับน้องร่วมอุทรเดียวกัน และเป็นผู้ได้รับการศึกษาทางปริยัติมามากพอสมควร ทั้งสององค์นี้ท่านเกิดความเลื่อมใสพอใจ ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่านพระอาจารย์มั่นตลอดมา และได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รองลงมาก็ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านเป็นพระราชาคณะ ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่วัดหินหมากเป้งอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย (ผมขอเพิ่มเล็กน้อยครับ พระอาจารย์เทสก์ ได้มรณภาพไปเมื่อ 17 ธ.ค. 2537 ครับ/วิศนุ01) ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอยู่มากและเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนทั่วไปแทบทุกภาค ปฏิปทาของท่านเป็นไปอย่างเรียบ ๆ สม่ำเสมอ สมกับอัธยาสัยท่านที่คล่องแคล่วอ่อนโยนสงบเสงี่ยมงามมากยากที่จะหาไต้แต่และองค์ คำพูดจาปราศรัยเป็นที่จับใจไพเราะต่อคนทุกขั้น ท่านมีมารยาทสวยงามมาก ผู้ยึดไปเป็นคติและปฏิบัติตามย่อมเป็นผู้สวยงามและเย็นตาเย็นใจแก่ผู้ได้เห็นได้ยิน ตลอดผู้มาเกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไปอย่างไม่มีประมาณ เพราะมารยาทอัธยาศัยของครูอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน คือมารยาทของบางองค์ใครนำไปใช้ก็งามไปหมด ไม่แสลงใจแก่ผู้มาเกี่ยวข้องและเป็นความงามตาเย็นใจในคนทุกชั้น แต่มารยาทของบางอาจารย์ย่อมเป็นสมบัติที่เหมาะสมและสวยงามเฉพาะองค์ท่านเท่านั้น ผู้อื่นยึดเอาไปใช้ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงและแสลงใจผู้อื่นที่ได้เห็นได้ยินขึ้นมาทันที ดังนั้นมารยาทของบางอาจารย์จึงไม่สะดวกที่จะยึดไปใช้ทั่ว ๆ ไป ท่านอาจารย์เทสก์ ท่านมีอัธยาสัยนุ่มนวลควรเป็นคติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับไปปฏิบัติตามทั่ว ๆ ไป โดยไม่มีปัญหาว่าจะขัดต่อสายตาและจิตใจของผู้มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และเหมาะสมกับเพศนักบวชผู้ควรมีมารยาทอัธยาสัยสงบเสงียมเย็นใจโดยแท้ นี่คือลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่งที่ควรกราบไหว้บูชาอย่างสนิทใจ ตามความรู้สึกของผู้เขียน (พระมหาบัว/วิศนุ01) ที่ได้เคยสมาคมและกราบไหว้บูชาท่านโดยถือเป็นครูอาจารย์อย่างสนิทใจตลอดมา ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากในภาคต่าง ๆ และทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างกว้างขวาง จัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่หาได้ยากรูปหนึ่งลำดับพรรษาลงมาก็มี พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง ขณะนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมสมพรบ้านนาหัวช้าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (ขอเพิ่มครับ ท่านอาจารย์ ฝั้น อาจาโร มรณภาพ เมื่อ 21 ม.ค. 2521/วิศนุ01) ท่านเป็นที่เลื่องลือระบือทั่วทุกหนทุกแห่งด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณแห่งการปฏิบัติดีสามีจิกรรม (สามีจิกรรม คือ กิจชอบ) ที่ชอบทั้งภายนอกภายใน จิตใจ
    ท่านสูงส่งด้วยคุณธรรม.....................................


    สหายช่วยให้เกิดสุข ในเมื่อเกิดมีเรื่องราวขึ้น


    ชะตากรรมของคนเราย่อมเอาแน่ได้ยาก ได้ดีมีสุขในวันนี้ อาจเกิดทุกข์ระทม ล้มละลายวันไหนก็ได้ ต้นไม้นอกกอ ย่อมหักโค่นง่ายกว่าต้นไม้ในกอฉันใด คนไร้ญาติขาดมิตรก็ฉันนั้น ฉะนั้น โปรดหาเพื่อน ไว้บ้าง แต่ก็ไม่ควรลืมคติที่ว่า คบคนพาลนำไปหาผิด คบบัณฑิตนำไปหาผล ไว้ด้วย
    นอกจากเพื่อนส่วนตัวแล้ว จงเข้าใจมองไปยังเพื่อนร่วมโลกที่เขาเหล่านั้นกำลังตกระกำลำบากกว่าเราบ้างความรู้สึกเศร้าหมองของเรา ย่อมจะผ่อนคลายลงได้ไม่น้อย


    http://www.umarin.com/umaboard/showthread.php?tid=343&page=1
     
  8. ประทีปแก้ว

    ประทีปแก้ว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กันยายน 2008
    โพสต์:
    3,506
    ค่าพลัง:
    +8,328
    [​IMG]

    กราบอนุโมทนาเป็นอย่างสูงค่ะ
    ---------------------------------------
    * คนเจ้าปัญญา ย่อมบริหารอารมณ์
    สร้างอารมณ์ที่ควรสร้าง
    เสพอารมณ์ที่ควรเสพ
    ควบคุมอารมณ์ทีควรควบคุม
    รักษาอารมณ์ที่ควรรักษา
    สลายอารมณ์ที่ควรสลาย
    เขาจึงเป็นนายของอารมณ์โดยสมบูรณ์ *
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 7 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    ลำดับพรรษาลงมาก็มี พระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง ขณะนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมสมพร บ้านนาหัวช้าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (ผมขอเสริมครับ..ท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2521)ท่านเป็นที่เลื่องลือระบือทั่วทุกหนทุกแห่ง ด้วยกิติศัพย์กิติคุณแห่งการปฏิบัติดีปฏิบัติสามีจิกรรมที่ชอบทั้งภายนอกภาย ใน จิตใจท่านก็สูงด้วยคุณธรรม เป็นที่เคารพนับคือของหมู่ชนทุกภาคของเมืองไทย เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง เป็นผู้มีความเมตตามากต่อคนทุกขั้น การสงเคราะห์ทั้งด้านวัตถุและด้านธรรมะ นับว่าท่านเอาใจใส่อย่างพระผู้มีจิตเมตตาไม่มีขอบเขตจริง ๆ แต่รู้สึกเสียใจที่จำต้องงดเรื่องของท่านไว้ก่อนเพื่อดำเนินเรื่องของพระอาจารย์มั่นสืบต่อไป หากมีโอกาศจะนำมาลงในวาระต่ไปตอนจบเรื่องของพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว ลำดับศิษย์ของท่านองค์ต่อไปคือ ท่านพระอาจารย์ขาว ซึ่งขณะนี้ท่านอยู่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ขอเพิ่มเติมครับ ท่านได้มรณะภาพเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2526) ท่านผู้อ่านคงทราบกิตติคุณท่านได้ดีพอเพราะเป็นอาจารย์สำคัญทั้งในข้อ ปฏิบัติและความรู้ภายใจใจเป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างมาก ท่านเป็นพระที่เด็ดเดี่ยวทางความเพียร ชอบแสวงหาอยู่ในที่สงัดตลอดมาทางความเพียรท่านเป็นเยี่ยมในวงพระธุดงค กรรมฐาน ยากจะหาตัวจับได้ มีบางคนพูดเป็นเชิงวิตกเป็นห่วงท่านว่า ท่านจะทำความเพียรไปเพื่ออะไรหนักหนา เพราะอะไร ๆ ท่านก็เพียงพอทุกอย่างแล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะขยันไปเพื่ออะไรอีก ก็ได้ชี้แจงเรื่องของท่านให้ฟังว่า ท่านผู้หมดสิ้นสิ่งที่เป็นข้าศึกซึ่งคอยกีดกันบั่นทอนและคอยเอารัดเอาเปรียบ ตลอดเวลาโดยสิ้นเชิงแล้ว ท่านไม่มีความเกียจคร้านมากีดขวางลวงใจให้ลุ่มหลงไปตาม เหมือนพวกเราผู้ส่งสมความขี้เกียจอ่อนแอไว้ในใจจนกองเท่าภูเขาสูงลูกใหญ่ ๆ แทบมองหาตัวคนไม่เห็น พอจะทำอะไรลงไปบ้างก็กลัวแต่จะได้มาก มีมาก กลัวจะหาที่เก็บไม่ได้ กลัวแต่จะเหนือยยากลำบาก สุดท้ายก็ไม่มีอะไรจะเก็บใส่ภาชนะเลย มีแต่ภาชนะเปล่า ๆ ใจเปล่า ๆใจเห-ยี่วแห้ง ใจไม่มีคุณสมบัติเครื่องอาศัย ใจลอย ๆ สิ่งที่เต็มก็คือการบ่นว่าทุกข์ว่าจนหรือเดือดร้อนกันทั่วโลก เพราะมารตัวขี้เกียจคอยบันดาล ขัดขวางและถ่วงโลกไว้ ท่านผู้ปราบมารตัวเหล่านี้ออกจากใจได้แล้ว จึงเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรไม่ลดละ โดยไม่สนใจคิดว่าจะมีภาชนะเก็บหรือไม่มีใจเป็นธรรมล้วน ๆ ไม่มีโลกเครื่องทำลายเข้ามาแอบแฝง จึงมีความสง่าผ่าเผยอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่มีความอับเฉาเศร้าใจเข้ามาครอบครอง จึงเป็นตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นเหมาะ ลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์แต่ละองค์รู้สึกมีสมบัติอันแพรวพราวราวกับเพชร ซ่อนอยู่ในตัวอย่างลึกลับแทบทุกองค์เมื่อเข้าถึงองค์ท่านจริง ๆ แล้วจะได้รับสิ่งแปลก ๆ และอัศจรรย์ไปเป็นขวัญใจและระลึกไว้เป็นเวลานาน ๆ พระอาจารย์มั่นท่านมีลูกศิษย์ที่สำคัญ ๆ อยู่หลายองค์และหลายรุ่น ทั้งรุ่นอายุพรรษาและคุณธรรมรองกันลงมาเป็นลำดับลำดา สมกับท่านเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องรุ่งเรืองด้วยคุณธรรมคือข้อปฏิบัติและธรรมภายใน ประหนึ่งพระไตรปิฏกย่อม ๆ ตั้งอยู่ภายใจดวงใจท่าน จริงดังบุพพนิมิตที่ปรากฏเป็นกรุยหมายไว้แต่เริ่มแรกออกปฏิบัติ เวลาสำเร็จผลขึ้นมาก็ตรงตามนั้น ทราบว่าท่านจาริกไปในที่ต่าง ๆ และทำการอบรมสั่งสอนด้วยความรู้จริงเห็นจริงมิได้เป็นไปแบบสุ่มเดา คือท่านก็แน่ใจและเห็นจริงในธรรมที่ปฏิบัติรู้และสอนจริงตามธรรมที่ท่านรู้ ท่านเห็น เมื่อกลับจากถ้ำสาริกาสู่ภาคอิสานครั้งที่สองนี้ ท่านเล่าว่าท่านตั้งใจอบรมสั่งสอนพระเณรและประชาชนทั้งชุดเก่าที่เคยอบรมไว้ บ้างแล้ว ทั้งชุดใหม่ที่กำลังเริ่มตั้งรากฐานอย่างแท้จริงการปฏิบัติต่อธุดงควัตรที่ ท่านนับถือเป็นแบบฉบับอย่างฝังใจประจำองค์ท่านและสั่งสอนพระเณรให้ดำเนินตาม มีดังนี้

    การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ถ้ายันฉันอยู่ เว้นจะไม่ฉันวันใดก็ไม่จำเป็นต้องไปในวันนั้น กิจวัตรในการบิณฑบาตท่านสอนให้ตั้งอยู่ในท่าสำรวมกายวาจาใจ มีสติประจำตนกับความเพียรที่เป็นไปอยู่เวลานั้น ไม่ปล่อยใจให้พลั้งเผลอไปตามสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสกับอายตนภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งไปและกลับ ท่านมีสติรักษาใจตลอดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ให้เผลอตัวและถือเป็นความเพียรประจำกิจวัตรข้อนี้ทุก ๆ วาระที่เริ่มเตรียมตัวออกบิณทบาต หนึ่งอาหารที่ได้มาในบาตรมากน้อยถือว่าเป็นอาหารที่พอดีและเหมาะสมกับผู้ตั้งใจจะ สั่งสมธรรมคือความมักน้อยสันโดษให้สมบูรณ์ภายในใจ ไม่จำต้องแสวงหาหรือรับอาหารเหลือเฟือที่ตามส่งมาที่หลังอีก อันเป็นการส่งเสริมกิเลสความมักมากซึ่งมีประจำตนอยู่แล้ว ให้มีกำลังผยองพองตัวยิ่ง ๆ ขึ้น จนตามแก้ไม่ทัน อาหารที่ได้มาในบาตรอย่างใดก็ฉันอย่างนั้น ไม่แสดงความกระวนกระวายส่ายแส่อันเป็นลักษณะเปรตผีตัวมีวิบากกรรมทรมาน มีอาหารไม่พอกับความต้องการ ต้องวิ่งวุ่นขุ่นเคืองเดือดร้อนเพราะท้องเพราะปาก ด้วยความหวังอาหารมากยิ่งกว่าธรรมธุดงค์ข้อห้ามอาหารที่ตามส่งมาที่หลังนี้ เป็นธรรมหรือเครื่องมือหักล้างกิเลสความมักมากในหาหารได้เป็นอย่างดี และตัดความหวังความกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่งการฉันมื้อเดียวหรือหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ เป็นความพอดีกับพระธุดงค์กรรมฐาน ผู้มีภาระและความกังวลน้อย ไม่พร่ำเพรื่อกับอาหารหวานคาวนเวลาต่าง ๆ อันเป็นการกังวลกับปากท้องมากกว่าธรรมจนเกินไป ไม่สมศักดิ์ศรีของผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์อย่างเต็มใจ แม้เช่นนั้นในบางคราวยังควรทำการผ่อนอาหาร ฉันแต่น้อยในอาหารมื้อเดียวกัน เพื่อจิตใจกับความเพียรจะได้ดำเนินสะดวก ไม่อืดอาดเพราะมากเกินไป และยังเป็นผลกำไรทางใจอีกต่อหนึ่งจากการผ่อนนั้นด้วย สำหรับรายที่เหมาะกับจริตของตน ธุดงควัตรข้อนี้เป็นธรรมเครื่องสังหารลบล้างความเห็นแก่ปากแก่ท้องของพระ ธดงค์ที่มีใจมักละโมบโลเลในอาหารได้ดี และเป็นธรรมข้อบังคับที่เหมาะสมมาก ทางโลกก็นิยมเฃ่นเดียวกับทางธรรม เช่น เขาก็มีเครื่องมือป้องกันและปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึก ไม่ว่าจะเป็นข้าศึกต่อทรัพย์สินหรือต่อชีวิตจิตใจ เช่น สุนัขดุ งูดุ เสือดุ คนดุ หรือไข้ทรยศ เขามีเครื่องมือหรือยาสำหรับป้องกันหรือปราบปรามกันทั่วโลก พระธุดงค์กรรมฐานผู้มีใจดุ ใจหนักในอาหารหรือในทางไม่ดีใด ๆ ก็ตามี่ไม่น่าดูสำหรับตนเองและผู้อื่น จึงควรมีธรรมเป็นเครื่องมือไว้สำหรับปราบปรามบ้าง จึงจะจัดว่ามีขอบเขตและงามตาเย็นใจสำหรับตัวและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไป ธุดงค์ข้อนี้จึงเป็นธรรมเครื่องปราบปรามได้ดี หนึ่งการฉันในบาตรไม่เกี่ยวกับภาชนะอื่นใดจัดเป็นความสะดวกอย่างยิ่งสำหรับพระ ธุดงค์กรรมฐาน ผู้ประสงค์ความมักน้อยสันโดษและมีนิสัยไม่ค่อยอยู่กับที่เป็นประจำ การไปเที่ยวจาริกเพื่อสมณธรรมในทิศทางใดก็ไม่ต้องหอบหิ้วพะรุงพะรังอันเป็น ความไม่สะดวกและเหมาะสมกับพระผู้ต้องการถ่ายเทสิ่งรกรุงรังภายในใจทุกประเภค เครื่องบริขานใช้สอยแต่ละอย่างนั้นทำความกังวลแก่การบำเพ็ยได้อย่างพอดู ฉนั้นการฉันเฉพาะในบาตร จึงเป็นกรณีที่ควรสนใจเป็นพิเศษสำหรับพระธุดงค์ คุณสมบัติที่จะเกิดจากการฉันในบาตรยังมีมากมาย คือ อาหารชนิดต่าง ๆ ที่รวมลงในบาตรย่อมเป็นสิ่งที่สดุดตาสดุดใจ และเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจต่อการพิจารณา เพื่อถือเอาความจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่กับอาหารที่รวมกันอยู่ได้อย่างดีเยี่ยม ท่านเล่าว่าท่านเคยได้รับอุบายต่าง ๆ จากการพิจารณาอาหารในขณะที่ฉันมาเป็นประจำ แม้ข้ออื่น ๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน ท่านจึงได้ถือเป็นข้อหนักแน่นในธุดงค์วัตรตลอดมามิได้ลดละ การพิจารณาอาหารในบาตร เป็นอุบายตัดความทะเยอทะยานในรสชาติของอาหารได้ดี การพิจารณาก็เป็นธรรมเครื่องถอดถอนกิเลสเวลาฉันใจก็ไม่ทะเยอทะยานไปก้บรส อาหาร มีความรู้สึกรู้อยู่กับความจริงของอาหารโดยเฉพาะ อาหารก็เป็นเพียงเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่กลับเป็นเครื่องก่อกวนและส่งเสริมให้ใจกำเริบ เพราะอาหารดีมีรสอร่อยบ้าง เพราะอาหารไม่ดีมีรสไม่ต้องใจบ้าง การพิจารณาโดยแยบคายทุก ๆ ครั้งก่อนลงมือฉัน ย่อมทำให้ใจคงตัวอยู่ได้โดยสม่ำเสมอ ไม่ตื่นเต้น ไม่อับเฉา เพราะอาหารและรสอาหารชนิดต่าง ๆ วางตัวคือใจอย่างมีความสุขฉนั้น การฉันในบาตรจึงเป็นข้อวัตรเครื่องกำจัดกิเลสตัวหลงรสอาหารได้อย่างดียิ่ง หนึ่งท่านถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร พยายามอดกลั้นไม่ทำตามความอยากอันเป็นความสะดวกใจซึ่งมีนิสัยชอบความสวยงาม ในความเป็นอยู่ใช้สอยโดยประการทั้งปวงมาดั้งเดิมคือ เที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ เช่นที่ป่าช้าเป็นต้น เก็บเล็กผสมน้อยมาเย็บปะติดปะต่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอยโดยเป็นสบงบ้าง เป็นจีวรบ้าง เป็นสังฆาฏิบ้าง เป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง เป็นบริขารอื่น ๆ บ้างเรื่อยมา บางครั้งท่านชักบังสุกุลผ้าที่เขาพันศพคนตายในป่าช้าก็มีที่เจ้าของศพเขา ยินดี เวลาไปบิณฑบาตรเห็นผ้าขาดตกทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง ท่านก็เก็บเอามาเป็นผ้าบังสุกุล ไม่ว่าจะเป็นผ้าชนิดใดและได้มาจากที่ไหนเมื่อมาถึงที่พักแล้วท่านจะนำมาซัก ฟอกให้สะอาด แล้วเอามาเย็บปะสบงจีวรบ้าง เย็บติดต่อกันเป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง อย่างนั้นเป็นประจำตลอดมา ต่อมาศรัทธา

    ญาติโยมทราบเข้าต่างก็นำผ้าบังสุกุลถวายท่าน ที่ป่าช้าบ้าง ตามสายทางที่ท่านไปบิณฑบาตรบ้าง ตามบริเวณที่พักท่านบ้าง ที่กุฏิหรือแคร่ที่ท่านพักบ้างการบังสุกุลที่ท่านเคยทำมาดั้งเดิมก็ค่อย เปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่พาให้เป็นไปท่านเลยต้องชักบังสกุลผ้าที่เขามาทอด ไว้ตามที่ต่าง ๆ ในข้อนี้ปรากฏว่ท่านพยายามรักษามาตลอดเวลาแห่งชีวิต ท่านว่าพระเราต้องทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วปราศจากราคาค่างวดใด ๆ แล้วจึงเป็นความสบายการกินอยู่หลับนอนและใช้สอยอะไรก็สบาย การเกี่ยวข้องกับผู้คนก็สบาย ไม่มีทิฏฐิมานะความถือตัวว่าเราเป็นพระเป็นเณรผู้สูงศักดิ์ด้วยศีลธรรม เพราะศีลธรรมอันแท้จริงมิได้อยู่กับความสำคัญเช่นนั้น แต่อยู่กับความไม่ถือตัวยั่วกิเลส อยู่กับความตรงไปตรงมาตามผู้มีสัตย์มีศีลมีธรรมความสม่ำเสมอเป็นเครื่องครอง ใจ นี้แลคือศีลธรรมอันแท้จริงไม่มีมานะเข้ามาแอลแฝงทำลายได้ อยู่ที่ใดก็เย็นกายเย็นใจ ไม่มีภัยทั้งแก่ตัวและผู้อื่น การปฏิบัติธุดงค์วัตรข้อนี้เป็นเครื่องทำลายกิเลสมานะความสำคัญตนในแง่ต่าง ๆ ได้ดีผู้ปฏิบัติจึงควรเข้าใจระหว่างตนกับศีลธรรมด้วยดี อย่าปล่อยให้ตัวมานะเข้าไปยื้อแย่งครอบครองศีลธรรมภายในใจได้ จะกลายเป็นผู้มีเขี้ยว มีเขาแฝงขึ้นมาในศีลธรรมอันเป็นธรรมชาติเยือกเย็นมาดั้งเดิม การฝึกหัดทรมานตนให้เป็นเหมือนผ้าเช็ดเท้าจนเคยชิน โดยไม่ยอมให้ตัวทิฏฐิมานะโผล่ขั้นมาว่าตัวมีราคาค่างวดนี้ เป็นทางก้าวหน้าของธรรมภายในใจโดยสม่ำเสมอ จนกลายเป็นใจธรรมชาติ เป็นธรรมธรรมชาติ ไม่หวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน ใครจะทำอะไร ๆ ก็ไม่สะเทือน จิตที่ปราศจากทิฐิมานะทุกประเภคโดยประการทั้งปวงแล้ว ย่อมเป็นจิตที่คงที่ต่อเหตุการณ์ดีชั่วทั้งมวล การปฏิบัติต่อบังสุกุลจีวรท่านถือว่า เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยตัดทอนลบล้างตัวมีราคาที่ฝังอยู่ในใจอย่างลึกลับใหสูญ ซากลงได้อย่างมั้นใจข้อหนึ่ง......


    ธรรมเทศนาของหลวงปู่มั้นในวันนี้ ส่วนใหญ่เน้นในเรื่องการสอนพระภิกษุสามเณรถึงการปฏิบัติของท่าน เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงจะได้รับทราบว่าบรรดาเกจิอาจารย์นั้นท่านปฏิบัติตนอย่างไร ซึ่งบางสิ่งบางอย่างเราอาจนำมาปฏิบัติก็จะเป็นผลดีกับตัวเราเอง สำหรับในวันนี้ก็ต้องขอยุติแต่เพียงเท่านี้

    ขอท่านได้โปรดติดตามต่อในวันที่ 18 มิย. 2552 ขอบคุณ สวัสดีครับ


    พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงกาลามสูตรไว้ดังต่อไปนี้

    กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หมายถึง วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร

    1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน) อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ประเภท "เขาว่า" "ได้ยินมาว่า" ทั้งหลาย

    2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสีบๆกันมา (มา ปรมฺปราย) อย่าได้ยึดถือถ้อยคำสืบๆกันมา ประเภท "ใครๆว่า" "โบราณว่า" ตามกระแส

    3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย) อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นข่าวว่า เข่าว่าอย่างนี้ ประเภทข่าวลือ ข่าวโคมลอย ทั้งหลาย

    4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน) อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าไปตามตำรามากนัก ตำราว่าอย่างนั้น ต้องออกมาเป็นอย่างนั้น เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่า ตำราบางเล่ม คนแต่งก็มั่วมาบ้าง เขียนไม่ครบบ้าง ใส่ไข่เอาเองบ้าง คนมีกิเลสไปแก้ไขตำรา คนมีผลประโยขน์ ไม่แก้ไขตำราเท่ากับเราโดนหลอก

    5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ) อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง เช่น เข้าใจเอาเอง หรือข้อมูลไม่พอ ใจร้อนเดาสุ่มเอา มั่วๆ เอา

    6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ) อย่าได้ยึดถือโดยการคาดคะเน การคาดการณ์ตามประวัติศาสตร์ ตามสถิติ ความน่าจะเป็น ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ เพราะเห็นแค่ร้อย อย่าเหมาว่าที่ร้อยเอ็ดจะเป็นไปด้วย

    7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน) อย่าได้ยึดถือตรึงตามอาการ อย่าเห็นว่าอาการแบบนี้ น่าจะเป็นแบบนี้ ให้คิดเผื่อๆไว้ด้วย เช่น เห็นคนไข้เป็นแบบที่เคยรักษาคนอื่นๆมาก่อน อย่าไปตรึกเอาเองว่าเป็นแบบนั้น เห็นเงาก็จ่ายยาได้ เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า อย่าเข้าข้างตนเอง นั่งสมาธิเห็นโน่น เห็นนี้ อย่านึกว่าเป็นจริง เพราะอาจจะเป็นจิตหลอกจิต

    8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา) อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ อะไรที่ตรงกับที่ตนคิดไว้เท่านั้นที่เชื่อได้ คนคิดแบบนี้ ดื้อตายชัก

    9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย) อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ ระวังจะโดนหลอก อย่าลืมว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

    10.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ) อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา การยึดอาจารย์ของตนเองมากไป ก็ไม่ดี ควรทำตาม ทดสอบดู ถ้าผิดพลาดก็ไม่ต้องเชื่อ ถ้าทำแล้วดีขึ้นก็แสดงว่าเชื่อได้ ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าคนนั้นจะต้องพิจารณาคำพูดของผู้อื่นให้ถ่องแท้ หรือ รักใครจนหลงหน้ามืดตามัว เขาหรือเธอจะพูดอะไรเป็นเชื่อหมดซึ่งคำพูดของคนผู้นั้นอาจไม่จริงโดยพาดพิง ถึงผู้อื่น เมื่อเราเชื่อก็อาจไปโกรธหาทางกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา หรือไปป่าวประกาศต่อบุคคลอื่นทำให้เขาได้รับความเสียหายซึ่ง เป็นการสร้างเวรกรรมใส่ตัวเปล่า ๆ สูตรนี้ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาละมะนั้นเป็นชาวเกสปุตตะนิคม ในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก 10 ข้อดังกล่าวแล้วข้างต้น
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]



    คำเทศนา ของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ ครั้งที่ 8
    รวมรวมโดยหลวงตามหาบัว ญานสัมปัญโน

    การอยู่ป่าเป็นวัตรตามธุดงค์ระบุไว้ ท่านก็เริ่มเห็นคุณแต่เริ่มฝึกหัดอยู่ป่าเป็นต้นมา ทำให้เกิดความวิเวกวังเวงอยู่คนเดียว ตาเหลือบมองไปในทิศทางใดก็ล้วนเป็นทัศนียภาพเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นอยู่เสมอ ไม่ประมาทนอนใจ นั่งอยู่ก็มีสติยืนอยู่ก็มีสติ เดินอยู่ก็มีสติ นอนอยู่ก็มีสติ กำหนดธรรมทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัว เว้นแต่หลับเท่านั้นในอิริยาบททั้งสี่เต็มไปด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีพันธะใด ๆ มาผูกพัน มองเห็นแต่ความมุ่งหวังพ้นทุกข์ที่เตรียมพร้อมอยู่ภายในไม่มีวันจืดจางและอิ่มพอ ยิ่งพักอยู่ในป่าเปลี่ยวอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทุกชนิดซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านด้วยแล้ว ใจปรากฏว่าเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะ ประหนึ่งจะทะยานเหาะขึ้นจากหล่มลึกคือกิเลสในเดี๋ยวนั้น ราวกับนกจะเหาะบินขึ้นบนอากาศฉะนั้น ความจริงกิเลสก็คงเป็นกิเลสและฝังอยู่ในใจตามความมีอยู่ของมันนั่นแล แต่ใจมันมีความรู้สึกไปอีกแง่หนึ่งเมื่อไปอยู่ในที่เช่นนั้น ความรู้สึกในบางครั้งเป็นเหมือนกิเลสตายลงไปวันละร้อยละพัน ยังเหลืออยู่บ้างประปรายราวตัวสองตัวเท่านั้น เพราะอำนาจของสถานที่ที่พักอยู่ช่วยส่งเสริม ทั้งความรู้สึกโดยปกติเวลาบำเพ็ญเพียรกลายเป็นเครื่องพยุงใจไปทุกระยะที่พักอยู่ ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ทั้งสัตว์ร้ายและสัตว์ดีที่อยู่ในบริเวณนั้น ก็คิดไปในทางสงสารมากกว่าจะคิดในทางเป็นภัย โดยคิดว่าเขากับเราก็มีความเกิดแก่เจ็บตายเท่ากันในชีวิตที่ทรงตัวอยู่เวลานี้ แต่เราก็ยังดีกว่าเขาก็ตรงที่รู้จักบาปดีชั่วอยู่บ้าง ถ้าไม่มีสิ่งนี้แฝงอยู่ในใจบ้างก็คงมีน้ำหนักเท่ากับเขา เพราะคำว่า "สัตว์" เป็นคำที่มนุษย์ไปตั้งชื่อให้เขา โดยที่เขามิได้รับทราบจากเราเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คือ สัตว์มนุษย์ที่ตั้งชื่อกันเอง ส่วนเขาไม่ทราบว่าได้ตั้งชื่อให้พวกมนุษย์เราอย่างไรหรือไม่ หรือเขาขโมยตั้งชื่อให้ว่า "ยักษ์" ก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะสัตว์ชนิดนี้ชอบรังแกและฆ่าเขาแล้วนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารก็มี ฆ่าทิ้งเปล่า ๆ ก็มี จึงน่าเห็นใจสัตว์ที่พวกมนุษย์เราชอบเอารัดเอาเปรียบเขาเกินไปประจำนิสัย และไม่ค่อยยอมให้อภัยแก่สัตว์ตัวใดง่าย ๆ แม้แต่พวกเดียวกันยังรังเกียจและเกลียดชังกัน เบียดเบียนกัน ฆ่ากันไม่มีหยุดหย่อนและผ่อนเบาลงบ้างเลย ในวงสัตว์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่าเขา ในวงมนุษย์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่ากันเอง ฉะนั้นสัตว์จึงระเวียงระวังมนุษย์ประจำ

    สันดาน ท่านว่าการอยู่ในป่ามีทางคิดทางไตร่ตรองได้กว้างขวางไม่มีทางสิ้นสุดทั้งเรื่องนอกเรื่องในซึ่งมีอยู่รอบตัวตลอดเวลา ใจที่มีความไคร่ต่อธรรมแดนพ้นทุกข์ จึงรีบเร่งตักตวงความเพียรไม่มีเวลาลดละ บางครั้งหมูป่าเดินเข้ามาหาในบริเวณที่นั้นและมองเห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่แทนที่มันจะกระโดดโลดเต้นวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เปล่ามันมองเห็นแล้วเดินหากินไปตามภาษาของมันอย่างธรรมดา ท่านว่ามันจะเห็นท่านเป็นยักษ์ไปกับมนุษย์ผู้ร้ายกาจทั้งหลายด้วย แต่มันไม่คิดเหมาหมด มันจึงไม่รีบวิ่งหนีและเที่ยวขุดกินอาหารอย่างสบายเหมือนไม่มีอะไร ในตอนนี้ขอแทรก (หลวงตามหาบัว)บ้างเล็กน้อย เพื่อเรื่องกระจ่างขึ้น อย่าว่าแต่หมูมันไม่กลัวท่านพระอาจารย์มั่นที่อยู่องค์เดียวในป่าเลย แม้แต่วัดป่าบ้านตาด เมื่อเริ่มสร้างใหม่ ๆ และมีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป หมูป่าเป็นฝูง ๆ ยังพากันมาอาศัยนอนและเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฏิพระเณรในเวลากลางคืน ห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว 2-3 วาเท่านั้น ได้ยินเสียงมันขุดดินหาอาหารด้วยจมูกดัง ตุ๊บตั๊บ ๆ อยู่ในบริเวณนั้น ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย เวลาท่านเรียกกันมาดูและฟังเสียงมันอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นมันวิ่งหนีไป ยังพากันเที่ยวหากินตามสบายในบริเวณนั้นแทบทุกคืน ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อยและนาน ๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง พวกยักษ์ที่สัตว์ตั้งชื่อให้ดังท่านพระอาจารย์มั่นว่าไว้เอาไปรับประทานเกือบจะไม่มีสัตว์เหลือค้างแผ่นดินแถบนั้นอยู่แล้วเวลานี้ ต่อไปไม่กี่ปีก็คงเรียบไปเอง ที่ท่านเล่าคงเป็นจริงในทำนองเดียวกัน

    เพราะสัตว์ทุกชนิดชอบมาอาศัยพระ พระอยู่ที่ไหนสัตว์ชอบมาอยู่ที่นั้นมาก แม้วัดที่อยู่ในเมืองสัตว์ต้องมาอาศัย เช่น สุนัขเป็นต้นบางวัดมีเป็นร้อยเพราะท่านไม่เบียดเบียนมัน เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าธรรมเป็นของเย็น สัตว์โลกจึงไม่มีใครค่อยรังเกียจ เว้นกรณีที่สุดวิสัยจะกล่าวเสียเท่าที่ท่านปฏิบัติมาก่อน ท่านว่าป่าเป็นสถานที่ช่วยพยุงใจได้ดีมาก ฉะนั้น ป่าจึงเป็นจุดที่เด่นของพระผู้มีความใคร่ต่อทางพ้นทุกข์ จะถือเป็นสมรภูมิสำหรับบำเพ็ญธรรมทุกชั้น โดยไม่ระแวงสงสัยว่าป่าจะกลับเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญธรรม ตรงกับอนุศาสตร์ที่พระอุปัชฌาย์อบรมสั่งสอนภิกษุผู้อุปสมบทใหม่ให้พากันเสาะแสวงหาอยู่ป่าตามอัธยาศัย ท่านพระอาจารย์จึงถือธุดงค์ข้อนี้จนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ นอกจากสมัยที่จำต้องอนุโลมผ่อนผันไปตามเหตุการณ์เท่านั้น เพราะทำให้ระลึกว่าตนอยู่ในป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยวกายเปลี่ยวใจตลอดเวลา จะนอนมิได้ คุณธรรมจึงมีทางเกิดไม่เลือกกาล หนึ่งธุดงควัตรข้อรุกขมูล (โคนต้นไม้) คือร่มไม้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ท่านอาจารย์มั่นเล่าว่า ขณะที่จิตของท่านจะผ่านโลกามิสไปได้โดยสิ้นเชิง (โลกามิส คือ เครื่องล่อใจของโลก) คืนวันนั้นท่านก็อาศัยอยู่รุกขมูลคือร่มไม้ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว การอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งปราศจากที่มุงบังและเครื่องป้องกันตัวย่อมทให้ มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้กับตัวย่อมเป็นทางถอดถอนกิเลสไปทุกโอกาศ เพราะกาย เวทนา จิต และ ธรรม หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่าสติปัฏาน และ สัจจธรรม อันเป็นจุดที่ระลึกรู้ของจิตแต่ละจุดนั้น ย่อมเป็นเกราะเครื่องป้องกันตัวเพื่อทำลายกิเลสแต่ละประเภคได้อย่างมั่นเหมาะซึ่งไม่มีที่อื่นใดจะยิ่งไปกว่า ฉะนั้น จิตที่ระลึกรู้อยู่กับสติปัฏฐานหรืออริยสัจ เพราะความเปลี่ยวและกลัวเป็นเหตุ จึงมีจิตที่มีหลักยึดเพื่อการรบชิงชัยเอาตัวรอดโดยสุคโต ตามทางอริยธรรมไม่มีพลาด ผู้ประสงค์อยากทราบเรื่องของตัวอย่างละเอียดทั่วถึงโดยทางที่ถูกและปลอดภัย จึงควรแสวงหาธรรมและสถานทีที่เหมาะสมเป็นเครื่องพยุงทางความเพียร จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วทีขึ้นกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นอยู่มาก ดังนั้น ธุดงควัตรข้ออยู่รุกขมูลจึงเป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสได้เป็นอย่างดีเสมอมา ที่ควรสนใจเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่งธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงคเครื่องปลุกกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่ โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตาย ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยตายไปอยู่ทุกเวลานั้นเอง.....................





    จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง

    เมื่อท่านสูญเสียทรัพย์สมบัติ ให้ถือว่าไม่ได้เสียอะไรหนักหนา หากท่านสูญเสียสุขภาพ จงเห็นว่าเป็นการสูญเสียสิ่งสำคัญมิใช่น้อย แต่ถ้าท่านสูญเสียสภาพจิตใจนั้น เป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทีเดียว เพราะเราเกิดมาก็มิได้นำทรัพย์มา ตายไปก็มิได้เอาสมบัติติดไป หากเราเผลอปล่อยให้สุขภาพเสีย ถึงร่ำรวยแต่ตายเร็วก็ไม่คุ้มกัน และแม้ว่าเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีมีอายุยืนยาว แต่จิตใจเสื่อมเสียด้วยความชั่วร้าย ยังมีชีวิตอยู่ก็ย่อมวุ่นวายใจ ตายไปก็มีหวังลงสู่อบายภูมิ

    ดังนั้น ไม่ว่าเคราะห์หามยามร้ายปากใดบังเกิดขึ้น ขอให้แข็งใจ ไม่พรั่นหนี ไว้ก่อน


     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 9 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    ธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้า เป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่ โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตายความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยตายไปทุกเวลานั้นเอง เพราะคนที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกกสร้างกันในป้าช้าจนดาษดื่นแทบจะหาที่เผาและที่ฝังกันไม่ได้ ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้วเช่นพวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหน พอจะเห็นว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้อง ผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั่งเดิมในป่าช้านั้นเอง เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ไม่มีใครกล้าอุตริเย่อหยิ่งตัวว่าจะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายได้ เมื่อสายทางแห่งวัฏฏะที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ

    พระซึ่งเป็นเพศที่เตรียมพร้องแล้วเพื่อความหลุดพ้นจึงควร ศึกษามูลเหตุแห่งวัฏฏะทุกข์ที่มีอยู่กับตน คือความเกิด แก่ เจ้บ ตายทั้งภายนอกคือการเยื่ยมป่าช้าอันเป็นที่เผาศพ ทั้งภายในคือตัวเองอันเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุอยู่ในตัวเองตลอดเวลา ทั้งเก่าและใหม่จนนับไม่ครบและแทบเรียนไม่จบ ให้จบสิ้นลงด้วยการพิจารณาธรรมสังเวชโดยทางปัญจเวกขณะ คือองค์สติปัญญาเครื่องทดสอบ แยกแยะหามูลความจริง ไม่นิ่งนอนใจทั้งนักบวชและฆราวาสที่ชอบเข้าเยี่ยมทั้งป่าช้านอกและในตัวเอง โดยการพิจารณาความตายเป็นต้นเป็นอารมณ์ ยอมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่งในวัยในชีวิตและในวิทยฐานะต่าง ๆ ออกได้อย่างน่าชม ไม่ชอบผยองพองตัวในแง่ต่าง ๆ ตามนิสัยมนุษย์ซึงมักมีความพิศดารประจำใจอยู่เป็นนิตย์ ทั้งจะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวเองและพยายามแก้ไขเป็นลำดับมากกว่าจะไปเห็นโทษคนอื่นแล้วนำมานินทาเขา ซึ่งเป้นการสั่งสมความไม่ดีใส่ตนประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบเป็นกันอยู่โดยทั่วไป เหมือนโรคระบาดเรื้อรังชนิดแก้ไม่หายหรือไม่สนใจจะแก้ นอกจากจะเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น ป่าช้าเป็นสถานที่อำนวยความรู้ความฉลาดให้แก่ผู้สนใจพิจารณาอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่าป่าช้าเป็นจุดใหญ่ที่สุดของโลก คนทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องประสบด้วยกันจะกระโดดข้ามไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่คลองเล็ก ๆ พอจะก้าวข้ามไปอย่างง่ายดายโดยไม่ได้พิจารณาจนรู้รอบขอบชิดก่อน ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ท่านข้ามไป แม้เช่นนั้นก็ปรากฏว่าท่านต้องเรียนวิชาจากสถาบันใหญ่ คือ ความเกิด แก่ เจ้บ ตาย เชี่ยวชาญทุก ๆ แขนงก่อน แล้วจึงโดดข้ามไปอย่างสบายใจหายห่วง ไม่ต้องติดบ่วงแห่งมารอยู่เหมือนพวกที่ลืมตนลืมตาย ไม่สนใจพิจารณาเรื่องของตัวคือมรณะธรรมอันขวางหน้าอยู่ซึ่งจะต้องโดนในไม่ช้า การเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาความตายจึงเป็นทางผ่อนคลายหายกลัวทั้งเรื่องของตัวเองและเรื่องของคนอื่นอย่างไม่มีประมาณจนเกิดความอาจหาญต่อความตาย ทั้ง ๆ ที่โลกกลัวกันทั่วดินแดน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ได้เป็นไปในวงของนักปฏิบัติธรรมมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมเสร็จแล้วจึงประทานพระโอวาทเกี่ยวกับการพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไว้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อหมู่ชนผู้มีความรับผิดชอบในตนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาหาทางแก้ไขบรรเทาความมัวเมาเขลาปัญญาของตนขณะมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเวลาที่พอดิบพอดี

    ยังไม่สายเกินไป เมื่อสิ้นลมหายใจจนไปถึงสถาบันใหญ่แล้ว ต้องนับว่าหมดหนทางแก้ไข มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือถ้าไม่ผังก็ต้องเผาเท่านั้น จะพาไปรักษาศีลภาวนาทำบุญสุนทร์ทานอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเห็นคุณของการเยี่ยมป่าช้า ว่าเป็นสถานที่ที่ให้สติปัญญารอบรู้กับเรื่องของตนตลอดมา ท่านจึงสนใจเยี่ยมป่าช้านอกและป่าช้าในเสมอ แม้พระบางองค์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านก็ยังพยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติตามท่าน ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นพระที่กลัวผีมาก ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินกันในคำว่าพระกลัวผี และธรรมกลัวโลก แต่พระบางองค์นั้นได้เป็นพระที่กลัวผีเสียแล้ว

    ท่านเล่าให้ฟังว่า พระองค์หนึ่งเที่ยงธุดงค์ไปพักอยู่ในป่าใกล้ ๆ ป่าช้า แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกโยมพาไปพักริมป่าช้า เพราะไปถึงหมู่บ้านนั้นในตอนเย็น ๆ และถามถึงป่าที่ควรพักบำเพ็ญเพียร โยมก็ชี้บอกตรงป่านั้นว่าเป็นที่เหมาะ แต่มิได้บอกว่าเป็นป่าช้า แล้วพาท่านไปพักที่นั้น พอพักได้คืนเดียว วันต่อมาก็เห็นเขาหามผีตายผ่านมาที่นั้นเลยไปเผาที่ป่าช้าซึ่งอยู่ห่างจากที่พักท่านประมาณ 1 เส้น (ประมาณ 40 เมตร) ท่านมองตามไปก็เห็นที่เขาเผาอยู่อย่างชัดเจน องค์ท่านเองพอมองเห็นหีบศพที่เขาหามผ่านมาเท่านั้นก็ชักจะเริ่มกลัวใจไม่ดี และยังนึกว่าเขาจะหามผ่านไปเผาที่อื่นแม้เช่นนั้นก็นึกเป็นทุกข์ไว้เผื่อตอนกลางคืนอยู่อีก ใจเริ่มกระวนกระวายเอาการอยู่ นับแต่ได้เห็นศพทีแรกเมื่อตกกลางคืนยิ่งกลัวมาก และหายใจแทบไม่ออก ปรากฏว่าตีบตันไปหมด น่าสงสารพระที่กลัวผีถึงขนาดนี้ก็มี จึงได้นำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านที่เป็นนักกลัวผี จะได้พิจารณาดูความบึกบึนที่ท่านไดพยายามต่อสู้กับผีคราวนั้น จนเป็ประวัติการณ์อันเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียมีอยู่ในเนื้อเรื่องอันเดียวกันนี้ พอเขากลับกันหมดแล้ว ท่านเริ่มเกิดเรื่องยุ่งกับผีแต่ขณะนั้นมาจนถึงตอนเย็นและกลางคืน จิตใจไม่เป็นอันเจริญสมาธิภาวนาเอาเลย หลับตาลงไปทีไร ปรากฏว่ามีแต่ผีเข้ามาเยี่ยมถามข่าวคราวความทุกข์สุกดิบต่าง ๆ อันสืบสาวยาวเหยียดไม่มีประมาณ และปรากฏว่ามากันเป็นพวก ๆ ก็ยิ่งทำให้ท่านกลัวมาก แทบไม่มีสติยับยั้งตั้งตัวได้เลยเรื่องเริ่มแต่ขณะมองเห็นศพที่เขาหามผ่านหน้าท่านไปจนถึงกลางคืน ไม่มีเวลาเบาบางลงบ้างพอให้หายใจได้ นับว่าท่านเป็นทุกข์ถึงขนาดที่จะอดกลั้นได้

    นับแต่วันบวชมาก็เพิ่งมีครั้งเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้กับผีในมโนภาพอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านจึงพอมีสติระลึกได้บ้างว่า ที่เราคิดกลัวผีก็ดี ที่เราเข้าใจว่าผีมาเยี่ยมเยียนเราเป็นพวก ๆ ก็ดี อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้และอาจเป็นเรื่องเราวาดมโนภาพศพขึ้นมาหลอกตนเองให้กลัวเปล่า ๆ มากกว่า อย่ากระนั้นเลย เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นพระธุดงค์กรรมฐานทั้งองค์ ที่โลกให้นามว่าเป็นพระที่เก่งกาจอาจหาญเอาจริงเอาจัง และเป็นพระประเภคที่ไม่กลัวอะไร ๆ ไม่ว่าจะเป็นผีที่ตายแล้ว หรือเป็นผีเปรต ผีหลวง ผีทะเลอะไร ๆ มาหลอกก็ไม่กลัว แต่เราซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่โลกเคยยกยอสรรเสริญอย่างยิ่งมาแล้วว่าไม่กลัวอะไร แล้วทำไมจึงมาเป็นพระที่อาภัพอับเฉาวาสรา บวชมากลัวผี กลัวเปรต กลัวลม กลัวแล้ง อย่างไม่มีเหตุมีผลเอาได้ เป็นที่น่าอับอายขายหน้าหมู่คณะซึ่งเป็นพระธุดงค์กรรมฐานด้วยกัน เสียเรี่ยวแรงและกำลังใจของโลกที่อุสาห์ยกยอให้ว่าเป็นพระดีพระไม่กลัวผีกลัวเปรต ครั้นแล้วก็เป็นพระอย่างนี้ไปได้ เมื่อท่านพรรณาคุณของพระธุดงค์ และตำหนิตัวเองว่าเป็นพระเหลวไหลไม่ป็นท่าแล้ว ก็บอกกับตัวเองว่า นับแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน เรามีความกลัวในสถานที่ใด จะต้องไปสถานที่นั้นให้จงได้ ก็บัดนี้ใจเรากำลังกลัวผีที่กำลังถูกเผาซึ่งมองเห็นกองไฟอยู่ในป่าช้านั้น เราต้องไปที่นั้นให้จงได้.......




    เว้นเหตุแห่งทุกข์ ย่อมมีสุขในที่ทั้งปวง

    เวลามีเรื่องทุกข์ร้อน บางคนชอบหันไปหาทางผ่อนคลายทางอบายมุข มีการเสพสุรายาเสพติด เล่นการพนัน เที่ยวเตร่เสเพล ดูมหรสพพร่ำเพรื่อ หรือหันไปมั่วสุมกับคนเลว จนเหลวไหล ไม่เอางานเอาการ จะยิ่งซ้ำร้ายยิ่งขึ้นอีก

    ทางที่ถูกต้องรู้จักยกเอาความทุกข์ที่กำลังเผชิญ มาวิจัยหาสาเหตุที่แท้จริง และตั้งใจเว้นสิ่งพึงเว้น บำเพ็ญสิ่งพึงบำเพ็ญ จึงจะเป็นการแก้ไขที่ถูกต้อง มิควรกลบ ปัญหาเหล่านั้น โดยทางอบายมุขหรือทางที่ผิดเป็นอันขาด

     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]



    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตเถระ
    ครั้งที่ 10 วันที่ 22 มิถุนายน 2552
    รวบรวมโดยหลวงตา มหาบัว ญานสัมปันโน

    ก็บัดนี้ใจเรากำลังกลัวผีที่กำลังถูกเผาซึ่งมองเห็นกองไฟอยู่ในป่าช้านั้น เราต้องไปให้ได้ในขณะนี้ ว่าแล้วก็เตรียมตัวครองผ้าเหลืองออกจากที่พัก เดินตรงไปยังศพซึ่งกำลังถูกเผาและมองเห็นอยู่อย่างชัดเจนทันที พอออกเดินไปได้ไม่กี่ก้าว ขาชักแข็ง ก้าวไม่ค่อยออกเสียแล้ว ใจทั้งเต้นทั้งสั่น ตัวร้อนเหมือนถูกแดดเผาเวลากลางวัน เหงื่อแตกโชกไปทั้งตัว เห็นท่าไม่ได้การจึงเปลี่ยนวิธีใหม่ คือเดินแบบเท้าต่อเท้าติด ๆ กันไป ไม่ยอมให้หยุดอยู่กับที่ ตอนนี้ท่านต้องบังคับใจอย่างเต็มที่ ทั้งกลัวทั้งสั่นแทบไม่เป็นตัวของตัวเหมือนอะไร ๆ มันจะสุด ๆ สิ้น ๆ ไปเสียแล้วเวลานั้น แต่ท่านไม่ยอมถอยความพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงแบบเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน สุดท้ายก็ไปจนถึง พอไปถึงศพแล้ว แทนที่จะสบายตามความรู้สึกในสิ่งทั่ว ๆ ไปว่า “สมประสงค์แล้ว” แต่เวลานั้นปรากฏว่าตัวเองจะเป็นลมและลืมหายใจไปจนแล้วจนรอด จึงข่มใจพยายามดูศพที่กำลังถูกเผาทั้ง ๆ ที่กำลังกลัวแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปอยู่แล้ว พอเห็นกะโหลกศีรษะผีที่ถูกเผาจนไหม้และขาวหมดแล้ว ใจก็ยิ่งกำเริบกลัวใหญ่ แทบจะพาเหาะลอยไปในขณะนั้น จึงพยายามสะกดใจไว้ แล้วพานั่งสมาธิตรงหน้าศพห่างจากเปลวไฟเผาศพพอประมาณ โดยหันหน้ามาทางศพเพื่อทำศพให้เป็นเป้าหมายของการพิจารณา บังคับใจที่กำลังกลัว ๆ ให้บริกรรมว่า เราก็จะตาย

    เช่นเดียวกับเขาคนนี้ ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย กลัวไปทำไม ไม่ต้องกลัว ขณะที่นั่งบังคับใจให้บริกรรมภาวนาความตายอยู่ด้วยทั้งความกระวนกระวายเพราะกลัวผีนั้น ได้ปรากฏเสียงแปลกประหลาดขึ้นข้างหลัง เสียงบาทย่างเท้าดังเข้ามาเป็นบทเป็นบาทเหมือนมีอะไรเดินมาหาท่านซึ่งกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ และเดิน ๆ หยุด ๆ เป็นลักษณะจด ๆ จ้อง ๆ คล้ายจะมาทำอะไรท่าน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดขึ้นในขณะนั้น ก็ยิ่งทำให้ใจกำเริบใหญ่ ถึงขนาดจะวิ่งหนีและร้องออกมาดัง ๆ ว่า ผีมาแล้วช่วยด้วย ถ้าเทียบทางวัตถุก็ยังอีกเส้นผมเดียวที่ท่านจะออกวิ่ง ท่านอดใจรอฟังไปอีกก็ได้ยินเสียงค่อย ๆ เดินมาข้าง ๆ ห่างท่านประมาณ 3 วา(ประมาณ 6 เมตร) แล้วก็ได้ยินเสียงเคี้ยวอะไรกร๊อบแกร๊บ ยิ่งทำให้ท่านคิดไปมากว่า มันมาเคี้ยวกินอะไรที่นี่ เสร็จแล้วก็จะมาเคี้ยวศีรษะเราเข้าอีก ก็เป็นอันว่าเราต้องจบเรื่องกับผีตัวร้ายกาจไม่ไว้หน้าใครอยู่ที่นี้แน่ ๆ พอคิดขึ้นมาถึงตอนนี้ ท่านอดรนทนไม่ไหว จึงคิดจะลืมตาขึ้นดูมัน เผื่อเห็นท่าไม่ได้การจะได้เตรียมวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด ดีกว่าจะมายอมจอดจมให้ผีตัวไม่มีความดีอะไรเลยกินเปล่า เมื่อชีวิตรอดไปได้เราก็ยังมีหวังบำเพ็ญเพียรต่อไป ยังจะมีกำไรกว่าการเอาชีวิตของพระทั้งองค์มาให้ผีกินเปล่า พอปลงตกแล้วก็รีบลืมตาขึ้นมาดูผีตัวกำลังเคี้ยวอะไรกร๊อบ ๆ อยู่ขณะนั้น พร้อมกับเตรียมตัวจะวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอดหวังเอาชีวิตไปจอดข้างหน้า พอลืมตาขึ้นมาดูจริง ๆ สิ่งที่เข้าใจว่าผีตัวร้ายกาจ เลยกลายเป็นสุนัขบ้านออกมาเที่ยวเก็บกินเศษอาหารที่เขานำมาเพื่อเซ่นผู้ตายตามประเพณี ซึ่งไม่สนใจกับใครและมาจากที่ไหน คงเที่ยวหากินไปตามภาษาสัตว์ ซึ่งเป็นผู้อาภัพทางอาหารประจำชาติตามกรรมนิยม ส่วนพระธุดงคกรรมฐาน พอลืมตาขึ้นมาเห็นสุนัขอย่างเต็มตาแล้ว เลยทั้งหัวเราะตัวเอง และคิดพูดทางใจกับสุนัขตัวไม่รู้ภาษาและไม่สนใจกับใครนั้นว่า แหม..สุนัขตัวนี้มีอำนาจวาสนามากจริง ๆ ทำเอาเราแทบตัวปลิวไปได้ และเป็นประวัติการณ์อันสำคัญต่อไปไม่มีสิ้นสุด ทั้งเกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งที่ไม่เป็นท่าเอาเลย ทั้ง ๆ ที่ได้พูดกับตัวเองแล้วว่า จะเป็นนักสู้แบบเอาชีวิตเข้าประกัน แต่พอเข้ามาเยี่ยมศพในป่าช้า และได้ยินเสียงสุนัขมาเทียวหากินเพียงเท่านี้ก็แทบตั้งตัวไม่ติด และจะเป็นกรรมฐานบ้าวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปจนได้ ยังดีที่มีพระธรรมท่านเมตตาไว้ให้รออยู่ประมาณเส้นผมหนึ่ง พอรู้เหตุผลต้นปลายบ้าง ไม่เช่นนั้นคงเป็นบ้าไปเลย โอ้โฮ...เรานี้โง่และหยาบถึงขนาดนี้เชียวหรือ ควรจะครองผ้าเหลืองอันเป็นเครื่องหมายของศิษย์พระตถาคตผู้องอาจกล้าหาญไม่มีใครเสมอเหมือนอีกต่อไปละหรือ และควรจะไปบิณฑบาตจากชาวบ้านมากินให้สิ้นเปลืองของเขาเปล่า ๆ ด้วยความไม่เป็นท่าของเราอยู่อีกหรือ เราจะปฏิบัติต่อตัวเองที่แสนต่ำทรามอย่างไรบ้างจึงจะสาสมกับความเลวทรามไม่เป็นท่าของตนที่แสดงอยู่ในขณะนี้ ลูกศิษย์พระตถาคตผู้โง่เขลาและต่ำทราบขนาดเรานี้จะยังมีอยู่ให้หนักพระศาสนาต่อไปอีกไหมหนอ ขนาดมีเราเพียงคนเดียวเท่านี้ก็นับว่าจะทำพระศาสนาให้ซวยพอแล้ว ถ้าขืนมีอีกเช่นเรานี้พระศาสนาคงแย่แน่ ๆ ความกลัวผีซึ่งเป็นเครื่องกดถ่วงให้เราป็นคนต่ำทรามไม่เป็นท่านั้น เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้ ถ้ารอไปนานก็ขอให้เราตายเสียดีกว่า อย่ามายอมตัวให้ความกลัวผีเหยียบย่ำหัวใจอีกต่อไปเลย อายโลกเขาแทบไม่มีแผ่นดินจะให้คนหนักพระศาสนาอยู่ต่อไปอีกแล้ว พอพร่ำสอนตนจบลง ท่านทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ถ้าไม่หายกลัวผีเมื่อไร จะไม่ยอมหนีจากที่นี่อย่างเด็ดขาด ตายก็ยอมตาย ไม่ควรอยู่ให้หนักโลกและพระศาสนาอีกต่อไป คนอื่นยังจะเอาอย่างไม่ดีไปใช้อีกด้วย และจะกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคน และหนักพระศาสนายิ่งขึ้นไปอีกมากมาย นับแต่ขณะนั้นมา ท่านตั้งใจปฏิบัติต่อความกลัวอย่างกวดขัน โดยเข้าไปอยู่ป่าช้าทั้งกลางวันและกลางคืน ยึดเอาคนที่ตายไปแล้วมาเทียบกับตนซึ่งยังเป็นอยู่ ว่าเป็นส่วนผสมของธาตุเช่นเดียวกัน เวลาใจยังครองตัวอยู่ก็มีทางเป็นสัตว์เป็นบุคคลสืบต่อไป เมื่อปราศจากใจครองเพียงอย่างเดียว ธาตุทั้งมวลที่ผสมกันอยู่ก็สลายลงไปที่เรียกว่าคนตาย และยึดเอาความสำคัญที่ไปหมายสุนัขทั้งตัวที่มาเที่ยวหากินในป่าช้าว่าเป็นผีมาสอนตัวเองว่า เป็นความสำคัญที่เหลวไหลจนบอกใครไม่ได้ ไม่ควรเชื่อถือว่าเป็นสาระต่อไปกับคำว่าผีหลอก ความจริงแล้วก็คือใจหลอกตัวเองทั้งเพ การกลัวก็กลัวเพราะใจหลอกหลอนตัวเอง
    ทุกข์ก็เพราะความเชื่อความหลอกลวงของจาจนทำให้เป็นทุกข์แบบจะเป็นจะตายและแทบจะเสียคนไปทั้งคนในขณะนั้น ผีจริงไม่ปรากฏว่ามาหลอกหลอน เราเคยหลงเชื่อความคิดความหมายมั่นปั้นเรื่องหลอกลวงต่าง ๆ ของจิตมานาน แต่ยังไม่ถึงขั้นจะพาตัวให้ล้มจมเหมือนครั้งนี้ ธรรมท่านสอนไว้ว่าสัญญา (ความจำ) เป็นเจ้ามายานั้น แต่ก่อนเรายังไม่ทราบความหมายชัดเจน เพิ่งมาทราบเอาตอนจะตายทั้งเป็นและจะเหม็นทั้งที่ยังไม่เน่า

    ขณะกลัวผีที่ถูกเจ้าสัญญาหลอกและต้มตุ๋นนี้เอง ต่อไปนี้สัญญาจะมาหลอกเราเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แน่นอน เราจะต้องอยู่ป่าช้านี้จนกว่าเจ้าสัญญาที่เคยหลอกตายไปเสียก่อน จนไม่มีอะไรมาหลอกให้กลัวผีต่อไปถึงจะหนีไปที่อื่น เวลานี้เป็นเวลาที่เราจะทรมานสัญญาตัวปลิ้นปล้อนหลอกลวงเก่ง ๆ นี้ให้ตายไป จนได้เผาศพมันเหมือนเผาศพผีตายดังที่เราเห็นเมื่อวานเสียก่อน เมื่อมีชีวิตอยู่ อยากไปที่ไหนเราถึงจะไปที่หลัง ตอนนี้ถึงขั้นเด็ดขาดกับสัญญา ท่านก็เด็ดจริง ๆ และทรมานถึงขนาดที่สัญญาหมายขึ้นว่า ผีมีอยู่ ณ ที่ใดและเกิดขึ้นขณะใดท่านต้องไปที่นั่น เพื่อดูและรู้เท่ามันทันที จนสัญญาเผยอตัวขึ้นไม่ได้ในคืนวันนั้น เพราะท่านไม่ยอมหลับยอมนอนเองเลย ตั้งหน้าต่อสู้กับผีภายนอก คือสุนัขซึ่งเกือบเสียตัวไปกับมัน พอได้เงื่อนและได้สติ ท่านก็ย้อนกลับมาต่อสู้กับผีภายในให้หมอบราบไปตาม ๆ กัน นับแต่ขณะที่รู้ตัวแล้ว ความกลัวผีไม่เคยเกิดขึ้นรบกวนท่านได้อีกตลอดทั้งคืน แม้คืนต่อมา ท่านก็ตั้งท่ารับความกลัวนั้นอย่างแข็งแกร่งตลอดไปจนกลายเป็นพระองค์กล้าหาญต่อหลาย ๆ สิ่งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องก็เป็นความจริงจากท่านมาแล้ว จนเป็นเรื่องฝังใจและตั้งตัวได้เพราะผีเป็นเหตุแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความกลัวผีจึงเป็นธรรมเทศนากัณฑ์เอกโปรดท่านให้กลายเป็นพระอันแท้จริงขึ้นมาองค์หนึ่ง ฉะนั้น การเยี่ยมป่าช้าจึงเป็นความสำคัญสำหรับธุดงควัตรประจำสมัยตลอดมา.....


     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


    ครั้งที่ 11 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน



    การถือไตรจีวรคือผ้า 3 ผืนเป็นวัตร ท่านพระอาจารย์มั่นถือปฏิบัติมาแต่เริ่มแรกตอนอุปสมบทไม่ลดละจนถึงวัยชราจึงลดหย่อนผ่อนตามธาตุขันธ์ที่ต้องการความบำรุงมากขึ้นทุกระยะ ที่ท่านปฏิบัติเช่นนั้น โดยเห็นว่าพระธุดงคกรรมฐานครั้งนั้นไม่อยู่ประจำที่นัก นอกจากในพรรษาเท่านั้น ต้องเที่ยวไปในป่านั้นในภูเขาลูกนี้อยู่เสมอ การไปก็ต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่มีรถลาเหมือนสมัยนี้ มีบริขารมากน้อยต้องสะพายไปเอง ช่วยตัวเองทั้งนั้น ของใครของเรา ช่วยกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีพอกับกำลังของตัว จะมีมากกว่านั้นก็เอาไปไม่ไหว ทั้งเป็นความไม่สะดวก พะรุงพะรังอีกด้วย จึงมีเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ นานไปก็เป็นความเคยชินต่อนิสัย แม้มีผู้มาถวายให้ก็ให้ทานผู้อื่นไป ไม่สั่งสมให้เป็นการกังวล เพราะสมณะเรามีความสวยงามอยู่กับการปฏิบัติดีและไม่สั่งสม เวลาตายไป ให้มีแต่บริขารแปดซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับพระเท่านั้น เป็นความงามอย่างยิ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็สง่าผ่าเผยด้วย+ความจนแบบพระ เวลาตายก็เป็นสุคโต ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใด อันเป็นเกียรติอย่างยิ่งของพระผู้ตายด้วยความจน มนุษย์และเทวดาสรรเสริญ ธุดงควัตรข้อนี้จึงเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามตลอดอวสานข้อหนึ่ง ธุดงควัตรเหล่านี้ ท่านเคยปฏิบัติมาเป็นประจำไม่ลดละปรากฏว่าเป็นผู้คล่องแคล้วชำนิชำนาญในทางนี้อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ในปัจจุบัน และได้อบรมสั่งสอนพระเณรผู้มาศึกษาอบรมด้วยธุดงควัตรหล่านี้ คือ ท่านพาอยู่รุกขมูลร่มไม้ ในป่า ในเขา ในถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า ซึ่งล้วนเป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยวน่ากลัวพาบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่พารับอาหารที่มีผู้ตามส่งที่หลัง ข้อนี้คณะศรัทธาเมื่อทราบอัธยาศัยท่านแล้ว เขามีอาหารหวานคาวอย่างไร ก็พากันใส่บาตถวายท่านไปพร้อมเสร็จ ไม่ต้องไปส่งให้ลำบาก พาฉันสำรวมในบาตร ไม่มีภาชนะชนิดสำหรับใส่อาหารทั้งหวานคาวรวมลงในบาตรใบเดียว พาฉันมื้อเดียวคือวันละหนมาเป็นประจำจนอวสานสุดท้าย พระเณรที่เป็นลูกศิษย์ตลอดจนฆารวาสญาติโยมนับวันแน่นหนาขึ้นเป็นลำดับ ท่านไปพัก ณ ที่ใด มีพระเณรพยายามติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก บางสมัยมีพระเณรอยู่กับท่าน 60-70 รูปก็มี ที่พักอยู่แถวบริเวณใกล้เคียงก็ยังมีอีกมาก แต่ท่านพยายามระบายพระเณรให้แยกย้ายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่ไกลกันพอไปมาหาสู่เพื่อศึกษาอรรถธรรมในเวลาเกิดความสงสัย สะดวกและเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม ไม่หลายองค์เกินไปจนเกิดความไม่สงบวันอุโบสถปาฏิโมกข์ต่างก็ทยอยมารวมกันที่สำนักท่าน หลังจากปาติโมกข์แล้ว ท่านให้โอวาทสั่งสอนและแก้ปัญหาข้อข้องใจแก่ผู้มีความสงสัยเรียนถามเป็นราย ๆ ไป จนเป็นที่พอใจแล้ว ต่างองค์ก็กลับไปยังที่อยู่ของตนด้วยความอิ่มเอิบในธรรมที่ได้รับจากท่านและต่างก็ตั้งหน้าปฏิบัติด้วยความสนใจ ทั้งศีลทั้งสมาธิปัญญาตามภูมิและกำลังของตน ตลอดข้อวัตรปฏิบัติอย่างอื่นที่เป็นอุปกรณ์แก่การบำเพ็ญ พระเณรแม้จะอยู่กับท่านเป็นจำนวนมากในบางสมัย แต่การปกครองเป็นที่เบาใจตลอดมา เพราะท่านที่มาศึกษาต่างพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตนเพื่อความเป็นคนดีตามโอวาทที่ท่านอบรมสั่งสอน เรื่องราวอันเป้นข้าศึกต่อความสงบจึงไม่ค่อยมีในป่าที่พระเณรกับท่านพักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก แต่เป็นเหมือนไม่มีคนอยู่ที่นั้นเลย ถ้าไปไม่ถูกกับเวลาที่ท่านมารวมกัน เช่นเวลาฉันและเวลาประชุมเท่านั้นนอกเวลาแล้วจะไปหาท่านก็ไม่พบ เพราะต่างองค์ต่างหลีกเร้นอยู่กับความเพียร คือ การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาในป่า เป็นแห่ง ๆจำเพาะองค์ ทั้งกลางวันและกลางคืน เวลาท่านประชุมให้โอวาทพระเณรตอนกลางคืน จะได้ยินเฉพาะเสียงที่ท่านให้โอวาทเท่านั้น เสียงจากพระเณรแม้จะอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากไม่ปรากฏในขณะนั้น กระแสเสียงและเนื้อธรรมที่ท่านให้โอวาทแก่พระเณร รู้สึกซาบซึ้ง จับใจไพเราะ ทำให้ผู้ฟังเคลิ้มไปตามกระแสธรรมจนลืมเนื้อลืมตัว ลืมความเหน็ดเหนื่อย ลืมเวล่ำเวลา ไม่รู้สึกกับสิ่งอื่นใดในขณะนั้น นอกจากกระแสธรรมกับใจสัมผัสสำพันธ์กันอยู่อย่างเพลินตัว ไม่รู้จักอิ่มพอเท่านั้น การประชุมครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพราะถือเป็นการทำควาเพียรทางสมาธิและปัญญาอันเป็นภาคปฏิบัติอยู่กับการฟังในขณะนั้นด้วย พระธุดงค์จึงมีความเคารพเลื่อมใสในอาจารย์และในการฟังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจารย์ผู้คอยให้โอวาทตักเตือน และการฟังถือเป็นเส้นชีวิตจิตใจแห่งการปฏิบัติทางภายในของพระธุดงค์จริง ๆ ท่านจึงมีความเคารพรักต่ออาจารย์มาก แม้ชีวิตก็ยอมสละแทนได้ ที่พระอานนท์มีความจงรักภักดีต่อพระพทธองค์ถึงกับกล้าสละวิ่งออกขัดขวางช้างตัวเมามันที่เทวทัตปล่อยให้มาทำลายพระองค์ได้อย่างไม่อาลัยขีวิต ก็เพราะความเคารพรักเป็นสำคัญ พระธุดงค์ในสมัยพระอาจารย์มั่นพาดำเนินรู้สึกเป็นไปด้วยความเคารพเชื่อฟังโอวาทอย่างถึงใจ พอจะทราบได้เวลาท่านหาอุบายจะให้พระที่อาศัยอยู่กับท่านได้กำลังใจเป็นกรณีพิเศษว่า ท่านองค์นั้นควรไปอยู่ในป่านั้น องค์นี้ควรไปอยู่ในถ่ำนั้นดังนี้ พระที่ถูกระบุนามจะไม่ขัดขืนและไปด้วยความเคารพเต็มใจจริง ๆ โดยไม่สนใจคิดว่าจะกลัวหรือจะเป็นอะไรตายอะไรเลย มีแต่ความดีใจและมั่นใจว่าตัวจะต้องได้กำลังใจจากสถานที่ที่ท่านแสดงอุบายให้ไปท่าเดียว และตั้งใจบำเพ็ญเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่หยุดยั้งลดละ มีความมุ่งมั่นต่อผลที่จะพึงได้จากความเพียรในสถานที่นั้นตามคำแนะนำที่ท่านแนะนำให้ไป ประหนึ่งได้รับคำพยากรณ์จากท่านมาแล้วอย่างมั่นใจว่าเพื่อพักอยู่ที่นั้นจะได้ผลอย่างนั้น ทำนองพระอานนท์ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าเวลาจะเสด็จปรินิพพานว่า อีกสามเดือนเธอจะไปเป็นผู้ไม่มีกิเลสเหลืออยู่ในใจ คือจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์บุคคลในวันทำสังคายนาแน่นอนฉนั้น เหล่านี้พอจะทราบได้ว่า ความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์เพื่อผลที่ตนมุ่งหวังเป็นสิ่งสำคัญมากทำให้ผู้นั้นมีความสนใจจดจ่อ ไม่เผลอเรอปล่อยใจปล่อยตัว นับว่าเป็นผู้มีหลักยึดของใจด้วยดี พูดอะไรก็พอรู้เรื่องกันบ้างไม่ต้องพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนกลายเป็นเรื่องรำคาญและหนักใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย.....

     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]



    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ


    ครั้งที่ 12 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ


    โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ท่านพระอาจารย์มั่นกลับไปภาคอีสานเที่ยวที่สองนี้ ทำให้ผู้คนพระเณรตี่นเต้นและกระตือรือร้นกันทั้งภาค เพราะท่านเที่ยวจาริกและอบรมสั่งสอนในที่ต่าง ๆ เกือบทุกจังหวัด เริ่มผ่านไปตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ศรีษะเกษ อุบล นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย หล่มสัก เพชรบูรณ์ และข้ามไปเวียงจันทร์ ท่าแขก ประเทศลาว กลับไปมาหลายตลบในแต่ละจังหวัด จังหวัดที่มีป่ามีเขามาก ท่านชอบพักอยู่นานเพื่อการบำเพ็ญเป็นแห่ง ๆ ไป เช่น ทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัดสกลนครมีป่ามีเขามาก ท่านจำพรรษาอยู่แถบนั้น คือจำพรรษาอยู่ที่หมู่บ้านโพนสว่าง อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนคร แถบนั้นมีแต่ป่าเขา พระธุดงค์จึงมีประจำมิได้ขาดตลอดมาจนทุกวันนี้ เพราะท่านเหล่านี้ชอบป่าชอบเขามาก เวลาท่านเที่ยวจาริกในหน้าแล้ง ที่พักหลับนอนโดยมากก็เป็นร้านหรือแคร่เล็ก ๆ ปูด้วยฟากที่ทำด้วยไม้ไผ่แผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ ยาวประมาณ 1 วา กว้าง 2 หรือ 3 ศอก เฉพาะแต่ละรูปอยู่ห่างกันตามแต่ป่าที่ไปอาศัยกว้างหรือแคบ ถ้าป่ากว้างก็อยู่ห่างกันออกไปประมาณ 20 วา มีป่าคั่นมองไม่เห็นกัน ถ้าป่าแคบก็อยู่ด้วยกันหลายรูป ก็ห่างกันราว 15 วา แต่โดยมากตั้งแต่ 20 วาขึ้นไป อยู่น้อยองค์เท่าไรก็ยิ่งห่างกันออกไปมาก พอได้ยินเสียงไอหรือจามเท่านั้น ญาติโยมพากันมาทำทางสำหรับเดินจงกรม ให้ท่านประจำที่พัก องค์ละ 1 สาย ยาวประมาณ 5 วา หรือ 10 วาทุกองค์ สำหรับทำความเพียรในท่าเดินและเดินได้ทั้งกลางวันและกลางคืนตามแต่สะดวกในเวลาต้องการ ถ้ามีพระขี้กลัวผีหรือกลัวเสือไปอยู่ด้วย ท่านมักจะให้อยู่ห่าง ๆ หมู่เพื่อนเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการฝึกทรมานให้หายพยศ ความขี้ขลาดของตัวเสียบ้าง จนมีความเคยชินต่อป่าดงพงลึกและสัตว์เสือหรือผีต่าง ๆ ที่จิตไปทำความมั่นหมายสิ่งนั้น ๆ มาหลอกตัวเอา จะได้เหมือนท่านที่เคยฝึกมาแล้ว ไปที่ไหนจะได้ไม่ต้องหาบหามความกลัวไปด้วย เพราะวิธีนี้ท่านถือว่าได้ผลดีกว่าการปล่อยตามใจ ซึ่งไม่มีวันจะเกิดความกล้าหาญได้เลยถ้าไปอยู่ใหม่ ๆ ต่างองค์ต่างก็ต้องนอนกับพื้นดินไปก่อน โดยเที่ยวหาใบไม้แห้งหรือใบไม้สดมารองนอน ถ้ามีฟางก็เอาฟางมาปูรองที่นอน ท่านว่าหน้าเดือน 1-2 ซึ่งเป็นฤดูฟ้าใหม่ฝนเก่าประสานกันนี้รู้สึกลำบากอยู่บ้าง เวลาฝนตกต้องเปียกและตากฝนทุกปี บางครั้งนอนตากฝนทุกคืนจนกว่าฝนจะหยุด กลดก็สู้ไม่ไหว เพราะทั้งฝนทั้งลม ต้องทนหนาวตัวสั่นอยู่ในกลดนั้นแล ตาก็มองไม่เห็นจะหนีไปไหนก็ไม่ได้ ถ้ากลางวันก็ค่อยยังชั่วบ้าง แม้จะเปียกก็พอมองเห็นนั่นเห็นนี่ และคว้านั่นคว้านี่มาช่วยปิดบังฝนได้บ้างไม่มืดมิดปิดตายเสียทีเดียว ผ้าสังฆาฏิและไม้ขีดไฟซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องเก็บไว้ในบาตรเอาฝาปิดไว้ให้ดี ส่วนจีวรเอาไว้สำหรับห่มกันหนาวขณะฝนกำลังตก มุ้งที่กางไว้กับกลดต้องลดลงเพื่อกันฝนสาดเวลาลมพัดแรง ไม่เช่นนั้นก็เปียกหมด ตกตอนเช้าไม่มีผ้าห่มบิณฑบาตก็ยิ่งแย่ใหญ่ พอตกเดือน 3 เดือน 4 หรือเดือน 5 อากาศเริ่มร้อนขึ้น ก็ขึ้นไปบนภูเขา หาพักตามถ้ำหรือเงื้อมผา พอบังแดดบังฝนได้บ้าง ถ้าไปตอนเดือน 1-2 ซึ่งพื้นที่ยังแห้งไม่ดี ก็เป็นไข้และชนิดจับสั่นที่เรียกกันว่ามาเลเรีย ซึ่งใครเป็นเข้าแล้วไม่ค่อยหายเอาง่าย ๆ เสียเวลตั้งหลายเดือนกว่าจะหายขาด หรือบางทีก็เป็นไข้รื้อรังไปเลย คิดอยากไข้เมื่อไรก็เป็นขึ้นมา ชนิดที่เขาเรียกว่า “ ไข้พ่อตาแม่ยายหน่ายเกลียดชัง” รับประทานได้ แต่ทำงานไม่ได้ คอยแต่จะไข้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าแต่พ่อตาแม่ยายใคร ๆ ก็คงจะเบื่อหน่ายเหมือนกัน ไข้ประเภคนี้ไม่มียารับประทาน ในสมัยโน้นใครเป็นเข้าต้องปล่อยให้มันหายไปเอง เพราะไม่มียารักษา ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเรื่องพระธุดงค์เป็นไข้ป่าไข้มาเลเรีย นับแต่องค์ท่านลงไปถึงลูกศิษย์ บางองค์ถึงกับตายไปก็มี ฟังแล้วเกิดความสงสารสังเวชท่านและคณะของท่านมากมาย รอดตายมาแล้วจึงได้มาสั่งสอนธรรมพอเป็นร่องรอยแก่คณะลูกศิษย์ได้ยึดถือและปฏิบัติตามท่านบ้าง แต่ก่อนที่ท่านพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์เสาร์ยังไม่ได้ผ่านไปอบรมสั่งสอนให้รู้เรื่องดีชั่ว เรื่องผีเรื่องคน เรื่องบุญเรื่องบาปบ้าง ภาคอีสานทั้งภาคเป็นภาคที่นับถือผีอย่างเป็นชีวิตจิตใจจริง ๆ จะทำนาทำสวนปลูกบ้านสร้างเรือนอะไร ๆ แทบทั้งนั้น ต้องลงเลขลงยามหาวันดี เดือนดี ปีดี หาฤกษ์ยามงามดี และเซ่นสรวงวิญญาณผีให้เห็นดีเห็นชอบก่อน ถึงจะลงมือทำอะไรไปได้ ไม่เช่นนั้นหากมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ไอบ้างจามบ้าง ตามธรรมดาธาตุขันธ์ แม้แต่สุนัขก็ยังมีได้เป็นได้ แต่เป็นต้องหาว่าผิดผีเข้าแล้ว ต้องไปเชิญหมอมาทำนายทายทักให้ในทันทีทันใด หมอสมัยนั้นก็เก่งจริง เก่งกว่าหมอสมัยนี้เป็นไหน ๆ เป็นต้องทายเปาะออกมาทันทีว่าผิดผีตรงนั้นว่าตรงนี้บ้างทันที เมื่อไปบวงสรวงแล้วจะหาย หวัดก็หาย จามก็หาย ไอก็หาย แม้ผู้เป็นจะยังไอจามฟิกๆ แฟก ๆ อยู่ก็ตาม ถ้าหมอสมัยนั้นว่าหายแล้วก็หายไปตามและสบายใจไปเลย ทั้ง ๆ ที่ไอและจามฟิก ๆ อยู่นั่นแล

    ฉะนั้นจึงกลางเขียนว่าหมอสมัยนั้นเก่งจริง ๆ และคนไข้สมัยนั้นก็เก่งจริง ๆ หมอบอกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ไม่ต้องสนใจหาหยูกหายามารักษากัน เอาหมอกับผีมารักษาเป็นหายเรียบไปเลย แต่พอท่านอาจารย์ทั้งสองผ่านไปและอบรมสั่งสอนอย่างมีเหตุผล เรื่องบ้าผีและบ้าหมอทายผีก็ค่อยจางลงจนแทบไม่มีเลย แม้หมอเสียเองก็ยอมรับไตรสรณคมน์ คือถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แทนการถือผีไหว้ผีต่าง ๆ แต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครทำกันก็ว่าได้ เวลาเที่ยวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทางภาคอีสาน
    ไม่ค่อยโดนและเหยียบผีและเหยียบเครื่องสังเวยผีเหมือนแต่ก่อน นอกจากเขาจะพากันไปทำอยู่ใต้ดิน ซึ่งสุดวิสัยที่จะไปเที่ยวซอกแซกเห็น จึงนับว่าภาคอีสานมีวาสนาอยู่บ้าง ไม่พากันกอดคอตายกับผีไปตลอดชาติ ยังมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบไหว้บูชาแทนผีบ้างในกาลต่อมา ชาวอีสานที่ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากท่านพระอาจารย์ทั้งสองคงไม่ลืมบุญคุณท่าน เพราะเป็นผู้มีพระคุณแก่คนภาคนั้นจนสุดพรรณนา ทั้งนี้เขียนตามประวัติที่ท่านเล่าให้ฟัง ส่วนจะผิดหรือถูกก็ไม่ทราบ สมัยโน้นไม่ว่าการอบรมฆราวาสหรือพระเณร ท่านได้ทุ่มเทกำลังและความสามารถทุกด้านเพื่อให้คนเป็นคนจริง ๆ ท่านเที่ยวไปบางหมู่บ้าน มีนักปราชญ์บัณฑิตประจำหมุ่บ้านมาถามปัญหากับท่านก็มี ความว่าผีมีจริงไหมบ้าง ว่ามนุษย์เกิดมาจากไหนบ้าง ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายเกิดรักชอบกันเองโดยไม่มีโรงร่ำโรงเรียนสอนให้รักชอบกันบ้าง ว่าสัตว์ชนิดเดียวกันตัวผุ้กับตัวเมียทำไมจึงเกิดรักชอบกันเองบ้าง ว่ามนุษย์และสัตว์ไปเรียนความรักชอบซึ่งกันและกันมาจากไหนจึงได้เกิดรักชอบกันขึ้นมาบ้าง

    ปัญหาที่ว่าผีมีจริงไหม ? ท่านแก้ว่า ไม่ว่าแต่ผีหรือสิ่งใด ๆ ในโลก ถ้าสิ่งนั้นมีอยู่จริง...........


     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น
    ครั้งที่ 13โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


    ปัญหาว่าผีมีจริงไหม ? ท่านแก้ว่า ไม่ว่าแต่ผีหรือสิ่งใด ๆ ในโลก ถ้าสิ่งนี้นมีอยู่จริง สิ่งนั้นต้องเป็นอิสระไปตามความมีอยู่ของตนไม่ขึ้นอยู่กับความสนับสนุนหรือทำลายของใคร ที่ไปว่าสิ่งนั้นมีจริงหรือสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นถึงจะมีหรือจะสูญไป แต่สิ่งนั้นต้องมีอยู่ตามธรรมชาติของตน ไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามคำเสกสรรของใคร ๆ ผีที่มนุษย์สงสัยกันทั่วโลกว่ามีหรือไม่มีก็เช่นกัน ความจริงผีที่ทำให้คนกลัวและเป็นทุกข์นั้น เป็นผีที่คนคิดขึ้นที่ใจว่า ผีมีอยู่ที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง ผีจะมาทำลายบ้างต่างหาก จึงพาให้เกิดความกลัวและเป็นทุกข์กันขึ้นมา ถ้าอยู่ธรรมดา ไม่ก่อเรื่องผีขึ้นที่ใจก็ไม่เกิดความกลัวและไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น ผีจึงเกิดขึ้นจากการก่อเรื่องของผู้กลัวผีขึ้นที่ใจมากกว่าผีที่จะมาจากที่อื่น แต่ผีจะมีจริงหรือไม่นั้น แม้จะบอกว่าผีมีจริงก็ไม่มีหลักฐานยืนยันพอให้เชื่อได้ เพราะนิสัยมนุษย์เราไม่ยอมรับความจริง แม้ไปเที่ยวขโมยของเขามา เจ้าของตามจับตัวได้พร้อมทั้งของกลางและพยานหลักฐานมาอย่างพร้อมมูล ยังไม่ยอมรับความจริงแถมยังปั้นพยานเท็จขึ้นหลอกลวงเพื่อหาทางรอดตัวไปจนได้ โดยไม่ยอมรับว่าตัวทำผิด นอกจากถูกบังคับด้วยพยานหลักฐานเท่านั้นก็ยอมรับโทษไป ทั้ง ๆ ที่ใจจริงและกิริยาที่แสดงออกไม่ยอมรับว่าตัวผิด เวลาไปเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำแล้ว มีผู้ไปถามว่าคุณทำผิดอะไรถึงต้องมาติดคุกและเสวยกรรมอย่างนี้ นักโทษคนนั้นจะรีบตอบเป็นเชิงแก้ตัวทันทีว่า เขาหาว่าผมขโมยของเขา แต่จะยอมรับความจริงว่าผมไปขโมยของเขาอย่างนี้ไม่ค่อยมี รายไหนถูกถาม รายนั้นต้องตอบอย่างเดียวกัน นี่คือมนุษย์เราโดยมากเป็นอย่างนี้

    ปัญหาที่ว่า มนุษย์เกิดมาจากไหน ? ท่านตอบว่า มนุษย์เราต่างก็มีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด แม้ผู้ถามก็มิได้เกิดมาจากโพรงไม้ แต่มีพ่อมีแม่เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาเหมือนกัน จึงไม่ควรถาม ถ้าจะตอบว่ามนุษย์เกิดจากอวิชชาตัณหาก็ยิ่งจะมืดมิดปิดตายิ่งกว่าไม่ตอบเป็นไหน ๆ เพราะไม่เคยรู้ว่าอวิชชาตัณหาคืออะไร ทั้ง ๆ ที่มีอยู่กับทุกคน เว้นพระอรหันต์ท่านเท่านั้น แต่ไม่สนใจอยากรู้และปฏบัติเพื่อรู้สิ่งดังกล่าวนอกจากจะตอบว่าเกิดจากพ่อกับแม่ที่เห็น ๆ กันอยู่นี้เท่านั้น ผู้ถามก็จะหาว่าตอบตัดสำนวน จึงลำบากในการตอบตามความจริง เพราะผู้ถามมิได้สนใจกับความจริงเท่าใดนัก จิตของมนุษย์ทุกคนมีกิเลสบนหัวใจ ถ้ายอมรับความจริงแล้ว ก็นี่แลพาให้เกิดเป็นมนุษย์และสัตว์อยู่เต็มโลกจนจะหา
    ที่อยู่ที่กินกันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะอวิชชาตัณหาความหิวโหยไม่มีเวลาลดตัวเป็นต้นเหตุทั้งที่ยังไม่ตายก็เตรียมหาที่เกิดและที่อยู่กินอยู่แล้ว เพราะอวิชาตัณหาความหิวโหยไม่มีเวลาลดตัวเป็นต้นเหตุ ทั้งที่ยังไม่ตายก็เตรียมหาที่เกิดและที่อยู่กินกันอยู่แล้ว นี่แลตัวที่พามนุษย์และสัตว์เกิดและเป็นทุกข์อยู่เต็มโลก ถ้าอยากทราบก็จงดูจิตดวงที่เต็มไปด้วยกิเลสประเภคที่พาให้ร้อนรนกระวนกระวายส่ายแส่หาที่เกิดอยู่ทุก ๆ ขณะนี้ จะได้พบสิ่งที่มุ่งหวังและหายสงสัยในตัวเอง ไม่ต้องไปถามใคร อันเป้นการแสดงความงมงายของตัวให้คนอืนเห็นว่าตัวยังบกพร่องเรื่องของตัวอยู่มาก เพราะจิตเป็นตัวคะนองและจองหองไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบได้ในโลก หากแต่ขาดความสนใจเหลียวแลเท่านั้น จึงไม่รู้ความดื้อดึงของตัว และทำให้คว้าน้ำเหลวโดยไม่มีอะไรติดมือพอเป็นความสมหวังบ้าง...
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]



    คำเทศนาของหลวงปู่มั้น ภูริทัตโต


    ครั้งที่ 14 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน

    การอบรมสั่งสอนประชาชนและพระเณร ถ้ามีคนมาเกี่ยวข้องมาก ท่านก็แบ่งเป็นเวลาไม่ให้ตรงกัน คือ บ่ายราว 4-5 โมงเย็นอบรมคณะญาติโยม แต่ 1 ทุ่มขึ้นไปอบรมพระเณร พอเลิกจากประชุม ต่างองค์ต่างไปที่พักของตนและประกอบความเพียร เวลาพักอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคอีสาน ท่านปฏิบัติต่อประชาชนพระเณรอย่างหนึ่ง ในเที่ยวแรกกับเที่ยวที่ 2 เวลาท่านไปพักอยู่ที่เชียงใหม่และกลับไปอุดรเที่ยวที่ 3 คือเที่ยวสุดท้าย ท่านปฏิบัติต่อประชาชนและพระเณรอีกอย่างหนึ่งซึ่งผิดกับแต่ก่อนอยู่มาก ท่านสนใจสั่งสอนพระเณรเป็นพิเศษ ถ้าปรากฏว่ารายใดภาวนาจิตเป็นไปและรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับภายนอกหรือภายใน ท่านจะพยายามสนใจและเรียกมาสอบอารมณ์เป็นพิเศษ เพราะตามธรรมดาของผู้ปฏิบัติภาวนาทั่ว ๆ ไป ย่อมมีจริตนิสัยแปลกต่างกัน แต่ผลคือสงบสุขเย็นใจนั้นเหมือนกัน

    ที่แปลกแตกต่างกันก็คืออุบายวิธีและความรุ้ความเห็นที่ปรากฏขึ้นในขณะภาวนา บางรายก็รู้เกี่ยวกับสิ่งภายในด้วย เกี่ยวกับสิ่งภายนอกด้วยเช่น เห็นภูตผีเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เห็นเทวบุตรเทวดาเป็นต้นเข้ามาเกียวข้องบ้าง เห็นคนหรือสัตว์มาตายอยู่ตรงหน้าบ้าง เห็นเขาหามผีมาทิ้งไว้ต่อหน้าบ้าง เห็นร่างของตัวออกไปนอนตายอยู่ต่อหน้าบ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดวิสัยของผู้เพิ่งรู้เพิ่งเห็นในขณะเริ่มต้นภาวนาและจิตเริ่มสงบ ซึ่งล้วนเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องแม่นยำได้ทุก ๆ กรณีไป ทั้งไม่แน่ใจว่าที่ปรากฏขึ้นมาแต่ละอย่างนั้นจะมีความผิดถูกแฝงอยู่ประการใดบ้าง บางรายที่เป็นนิสัยไม่ชอบใคร่ครวญก็อาจเห็นผิดไปตาม และยึดถือเอาว่าเป็นความจริง ก็ยิ่งเป็นทางล่อแหลมต่อความเสียหายในอนาคตมากยิ่งขึ้น แต่นิสัยที่จิตออกรู้สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมาขณะที่จิตสงบลงมีจำนวนน้อยมาก ร้อยละห้าคนก็ทั้งยาก แต่ก็ต้องมี รายหนึ่งจนได้ที่จะปรากฏเช่นนั้นขึ้นมาจึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องได้รับการแนะนำจากท่านผู้มีความเชี่ยวชาญในทางนี้มาก่อน เวลาพระธุดงค์เล่าผลของการภาวนาที่ปรากฏในลักษณะต่าง ๆ กันถวายครูอาจารย์ และเวลาอาจารย์ชี้แจงวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่รู้ที่เห็นให้ผู้มาศึกษาไต่ถามฟังรู้สึกว่าซาบซึ้งจับใจเพลิดเพลินในการฟังไม่อยากให้จบลงง่าย ๆ เวลอธิบายท่านแยกประเภคแห่งนิมิตออกป็นตอน ๆ และอธิบายวิธีปฏิบัติต่อนิมิตนั้น ๆ อย่างละเอียดละออมากจนผู้ฟังหายสงสัยและร่าเริงในธรรมที่ท่านแสดงให้ฟัง พร้อมทั้งความมีแก่ใจที่จะบำเพ็ญตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แม้รายที่ไม่ปรากฏเห็นนิมิตเกี่ยวกับสิ่งภายนอก แต่ก็น่าฟังไปอีกอย่างหนึ่ง เวลาท่านเล่าความสงบสุขของใจที่รวมลงสู่ความสงบตลอดอุบายวิธีที่ท่านทำถวายอาจารย์ ผู้ที่ยังไม่สามารถถึงขั้นที่ได้ยินได้ฟังในขณะนั้นก็เกิดศรัทธาความเชื่อมั่นขึ้นมา ที่จะพยายามทำให้ได้อย่างนั้นบ้าง หรือยิ่งกว่านั้นบ้าง ทั้งผู้ที่มีจิตเป็นไปและผู้ที่กำลังตะเกียกตะกายต่างก็ได้รับความปลื้มปิติในขณะฟัง บางรายเวลาจิตสงบลงปรากฏว่าได้ไปเที่ยวบนสวรรค์ชมวิมานชั้นต่าง ๆ จนจวนสว่างใจถึงกลับสู่ร่างและรู้สึกตัวขึ้นมาก็มี บางรายลงไปเที่ยวปลงธรรมสังเวชกับพวกเสวยกรรมต่าง ๆ ในนรกก็มี บางรายทั้งขึ้นไปเที่ยวบนสวรรค์ทั้งลงไปเที่ยวในนรก ดูสภาพสองแห่งซึ่งมีความแตกต่างกันมาก คือพวกหนึ่งรื่นเริงบันเทิง แต่อีกพวกหนึ่งคร่ำครวญด้วยความทุกข์ทรมาน ซึ่งไม่มีกำหนดว่าจะพ้นโทษไปได้เมื่อใด บางรายก็ต้อนรับแขกคือพวกภูติผีและเทวดาที่มาจากที่ต่าง ๆ คือชั้นบนบ้าง รุกขเทพบ้าง ขณะที่จิตสงบลง บางรายก็เสวยความสงบสุขที่เกิดจากสมาธิประเภคต่าง ๆ กันตามกำลังของตัวบ้าง บางรายก็พิจารณาทางปัญหาแยกธาตุแยกขันธ์ออกเป็นแผนก ๆ และแยกให้สลายจากกันจนเป็นคนละชิ้นละส่วน และทำให้สลายลงสู่คติเดิมของตนบ้าง บางรายก็กำลังเริ่มฝึกหัดและกำลังล้มลุกคลุกคลานเหมือนเด็กกำลังหัดนั้งบ้างเดินบ้างต่าง ๆ กัน บางรายภาวนาบังคับจิตให้ลงอย่างใจหวังไม่ได้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจร้องไห้บ้าง บางรายได้ยินท่านสนทนาธรรมประเภคต่าง ๆ ตามภูมิที่ตนรู้ตนเห็นกับอาจารย์เกิดความปิติและอัศจรรย์ในธรรมวนั้น ๆ แล้วร้องไห้บ้าง บางรายก็ไปเป็นทัพพีนอนแช่อยู่กับแกงไม่รู้รสแกงว่าเป็นอย่างไรและทำตัวขวางหม้อต้มหม้อแกงอยู่ซึ่งเป็นธรรมดา ของหลายอย่างอยู่ด้วยกัน ย่อมมีทั้งดีและชั่วปะปนกันไปแต่ไหนแต่ไรมา ผู้มีสติปัญญาก็เลือกเก็บเอาเฉพาะที่เห็นว่าดีและเป็ประโยชน์ก็เป็นสาระกับผู้รอบคอบนั้นท่านมาอยู่อบรมสังสอนภาคอีสานที่ยวที่สองนี้ปรากฏว่าหลายปี แม้การจำพรรษาไม่ค่อยซ้ำที่เก่า ในปีหลัง พอออกพรรษาแล้วก็ออกเที่ยวธุดงค์ตามป่าตามเขาไปแบบสุตโต เหมือนนกที่มีเฉพาะปีกบินกับหางบินไปเที่ยวหากินในที่ต่าง ๆ ตามความสบาย บินไปจับต้นไม้และหากินบนต้นไม้ใดบึงหรือหนองใด พออิ่มแล้วก็บินไปอย่างสบายหายห่วง ไม่คิดว่าต้นไม้ตนนั้น ผลไม้นั้น เปลือกตมนั้น บึงนี้น หนองนั้น เป็นของมัน ผู้ปฏิบัติธรรมได้แบบนกก็เป็นสุขไปทางหนึ่งซึ่งยากจะทำได้ เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์หมู่สัตว์พวก ชอบอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวกและชอบติดถิ่นฐานบ้านเรือน ผู้จะออกไปโดดเดี่ยวดังท่านพระอาจารย์มั่นปฏิบัติมาในบั้นต้นและจวบจนบั้นปลาย คือเวลาท่านอยู่เชียงใหม่ จึงรู้สึกฝืนใจไม่น้อยเลยขออภัยถ้าเทียบก็ราวกับจูงสัตว์บกใส่น้ำใส่ฝนฉะนั้น แต่ถ้าใจคุ้นกับธรรมแล้วกลับตรงข้าม คือ ชอบไปคนเดียว อยู่คนเดียว อริยาบทั้ง 4 เป็นเรื่องของคน ๆ เดียว ใจดวงเดียว ไม่มีอารมณ์เครื่องก่อกวนยุ่งเหยิง นอกจากธรรมเป็นอารมณ์อันพาให้สบายเท่านั้น ฉะนั้น ท่านผู้มีใจเป็นเอการมณ์ คือมีธรรมเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว จึงเป็นใจที่แสนสบายและสว่างไสว ไม่มีอะไรมาปกปิดกำบังให้อับเฉาเมามัว เป็นผู้อยู่ตัวเปล่า ใจเปล่าจากอารมณ์ ชมสันติสุขด้วยธรรมชาติที่มีอยู่กับตัวอย่างสมบูรณ์ ไม่เกรงกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงและสิ้นไปหมดไปเพราะเป็น อกาลิกธรรม คือธรรมที่ปราศจากกาลสถานที่ มีอยู่กับใจที่ปราศจากสมมุติเครื่องหลอกลวง พระอาจารย์มั่นท่านดำเนินแบบสุตโตไปเป็นสุข อยู่เป็นสุข นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข นำหมู่คณะโดยสุดโต แต่บรรดาลูกศิษย์ที่พยายามตามให้เป็นไปตามความประสงค์ท่าน รู้สึกว่ามีน้อยในธรรมชั้นสูง แต่ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์ก่ประชาชนอยู่มาก เวลาพาออกบิณฑบาตเฉพาะองค์ ท่านเองก็จะมีเรื่องสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์คู่เคียงกับธรรมะในใจ ให้แสดงออกทางวาจาพอผู้เดินตามหลังถัดท่านได้ยินชัดถ้อยชัดธรรม อันเป็นเชิงสอนเราให้รู้วิบากกรรมว่า แม้สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมันโดยนำเรื่องของสัตว์นั้น ๆ ที่เดินผ่านไป
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ


    ประจำวันที 29 มิถุนายน 2552
    ครั้งที่ 15 รวมรวมโดยหลวงตา มหาบัว


    เวลาท่านออกบิณฑบาตรเฉพาะองค์ ท่านเองก็จะมีเรื่องสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์คู่เคียงกับธรรมภายในใจ ให้แสดงออกทางวาจาพอผู้เดินตามหลังถัดท่านได้ยินชัดถ้อยชัดคำ เป็นเชิงสอนเราให้รู้ถึงวิบากกรรมว่า แม้สัตว์เดียรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน โดยนำเรื่องของสัตว์นั้น ๆ ที่เดินผ่านไปหรือพบเห็นเขาเดินเที่ยวหากินอยู่ตามรายทางมาแสดง เพื่อมิให้ประมาทเขาว่าเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดที่ต่ำทราม ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระที่เวียนมาถึงเท่านั้น เช่นเดียวกับมนุษย์เราเกิดเสวยชาติเป็นคน ซึ่งก็มีความสุขบ้างทุกข์บ้างตามวาระของกรรมที่อำนวยในเวลาต่าง ๆ กัน ฉะนั้น ที่ท่านพร่ำเรื่องของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มีไก่ สุนัข วัว ควาย เป็นต้น เพราะความสงสารที่เขาต้องมาเป็นอย่างนั้นหนึ่ง เพราะความตระหนักในกรรมของสัตว์ว่ามีต่าง ๆ กันหนึ่ง เพราะท่านและพวกเราที่กำลังเป็นมนุษย์ก็เพราะมีกรรมชนิดหนึ่งที่พาให้มาเป็นเช่นนี้ ซึ่งล้วนเคยผ่านกำเนิดต่าง ๆ มาจนนับไม่ถ้วนหนึ่ง เพราะความวิตกรำพึงกับสิ่งที่พาให้เป็นภพเป็นชาติประจำมวลสัตว์ ว่าเป็นสิ่งลึกลับมากยากที่จะรู้เห็นได้แม้มีอยู่กับตัวทั่วกัน ถ้าไม่ฉลาดแก้หรือถอดถอนออกได้ก็ต้องเป็นภัยอยุ่ร่ำไป ไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะหลุดพ้นไปได้ในกาลและสถานที่ใด ๆ หนึ่ง แทบทุกครั้งที่ออกบิณฑบาตร ท่านก็จะนำเรื่องสัตว์หรือเรื่องคนมาพร่ำไปตามสายทางในลักษณะที่กล่าวมา ผู้สนใจพิจารณาตามที่เกิดสติปัญญาได้อุบายต่าง ๆ จากท่าน ผู้ไม่สนใจพิจารณาตามก็ไม่เกิดประโยชน์ และยังอาจคิดไปว่าท่านพูดอะไรกับสัตว์กับมนุษย์ซึ่งเขาเหล่านั้นไมมีทางทราบได้ เพราะท่านมิได้พูดเฉพาะหน้าเขา ดังนี้ก็อาจมีได้

    เวลาที่ท่านพักอยู่ภาคอีสานบางจังหวัด ขณะท่านแสดงธรรมอบรมพระตอนดึก ๆ หน่อยในบางคืนเป็นกรณีพิเศษ ท่านยังสามารถทราบและมองเห็นพวกรุกขเทวดาที่พากันมาแอบฟังธรรมท่านอยู่ห่าง ๆ เพราะพวกเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมีความเคารพพระมาก ท่านเล่าว่าเวลาพวกเทพฯ ชั้นบนลงมาจากชั้นต่าง ๆ มาฟังธรรมท่านในยามดึกสงัด จะไม่มาทางที่มีพระพักอยู่ แต่จะมาตามทางที่ว่างจากพระและพร้อมกันทำประทักษิณสามรอบขณะที่มาถึง แล้วนั่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เสร็จแล้วหัวหน้ากล่าวคำรายงานตัวที่พาพวกเทพฯ มาจากที่นั้น ๆประสงค์อยากฟังธรรมนั้น ๆ ท่านก็เริ่มทักทายพอสมควร แล้วเริ่มกำหนดจิตเพื่อธรรมที่สมควรจะแสดงแก่ชาวเทพฯ จะผุดขึ้นมา จากนั้นก็เริ่มแสดงให้ชาวเทพฯ ฟังจนเป็นที่เข้าใจ จบแล้วชาวเทพฯ พร้อมกันสาธุการสามครั้งเสียงลั่นโลกธาตุ สำหรับผู้มีหูทิพย์ได้ยินทั่วกัน ส่วนหูกะทะ หูหม้อแกงหม้อต้มไม่มีทางทราบได้ตลอดไป พอจบการแสดงธรรมแล้วชาวเทพฯ พร้อมกันทำประทักษิณสามรอบ แล้วลาท่านกลับอย่างมีระเบียบสวยงามผิดกับชาวมนุษย์เราอยู่มาก แม้ผู้เป็นพระผู้เป็นอาจารย์ ก็ไม่สามารถทำได้อย่างสวยงามเหมือนเขา เพราะความหยาบความละเอียดแห่งเครื่องมือคือกายต่างกันกับเขามาก พอออกไปพ้นเขตวัดหรือที่พักแล้ว ชาวเทพฯเหล่านั้นพากันเหาะลอยขึ้นสู่อากาศเหมือนปุยนุ่นหรือสำลีเหาะปลิวขึ้นไปบนอากาศฉะนั้นเวลาที่ชาวเทพฯ มาก็เช่นกัน พากันเหาะลอยมาลงนอกบริเวณทีพักแล้วเดินเข้ามาด้วยความเคารพอย่างมีระเบียบสวยงามมากและมิได้พูดคุยกันอึกทึกครึกโครมเหมือนชาวมนุษย์เราเข้าไปหาอาจารย์ที่ถือว่าเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเทพฯ เป็นกายทิพย์ จะพูดอย่างมนุษย์จึงขัดข้อง ข้อนี้พวกเทพฯ ต้องยอมแพ้มนุษย์ที่พูดเสี่ยงดังกว่า มนุษย์จึงได้เปรียบพวกเทพฯ ตรงนี้เอง พวกเทพฯ ขณะนั่งฟังเทศน์มีความสำรวมดีมาก ไม่ส่ายโน่นส่ายนี่ ไม่แสดงทิฐิมานะออกมาให้กระทบจิตใจของผู้จะให้อรรถให้ธรรม ตามปกติก่อนหน้าพวกเทพฯ จะมาฟังเทศน์ ท่านเคยทราบไว้ก่อนเสมอเช่น เขาจะมาในราวที่สุดของสองยามคือ 6 ทุ่ม พอตกเย็นท่านก็ทราบไว้ก่อนแล้ว บางวันท่านคิดว่าจะมี่การประชุมพระตอนเย็นก็ต้องสั่งงดในคืนวันนั้น พอขึ้นจากจงกรมแล้วท่านก็เริ่มเข้าที่ทำสมาธิภาวนา พอจวนเวลาพวกเทพฯ จะมาถึงท่านก็เริ่มถอยจิตออกมารออยู่ขั้นอุปจารสมาธิและส่งกระแสจิตออกไปดู ถ้ายังไม่เห็นมา ท่านก็เข้าสมาธิอีก พักอยู่พอสมควรแล้วถอยจิตออกมาอีก บางครั้งพวกเทพฯ มาถึงก่อนแล้ว บางครั้งกำลังหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณที่พัก บางครั้งท่านก็รอคอยอยู่ขั้นอุปจารสมาธินานพอสมควรจึงเห็นพวกเทพฯ มา วันไหนที่ทราบว่าเขาจะมาดึก ๆ หน่อยราวตี 1 ตี 2 หรือ ตี 3 ก็มีห่าง ๆ วันเช่นนั้น พอทำความเพียรจนถึงเวลาพอสมควรแล้วท่านก็พักผ่อนจำวัดไปตื่นเอาตอนนั้นเลยทีเดียว แล้วเตรียมต้อนรับแขกตามเวลาที่กำหนดไว้ พวกเทพฯ ที่มาฟังเทศน์ท่านเวลาพักอยู่ทางภาคอีสานไม่ค่อยมีมาบ่อย ๆ และไม่มีมากนักส่วนรายที่มาแอบฟังเทศน์ท่านอยู่ห่าง ๆ ขณะที่ท่านกำลังอบรมพระนั้น พอทราบท่านก็หยุดการอบรมในเวลานั้นและสั่งพระให้เลิกประชุม สำหรับองค์ท่านก็รีบเข้าที่ทำสมาธิภาวนาเพื่อแสดงธรรมให้ชาวเทพฯ ฟังในลำดับต่อไปจนจบ พอพวกเทพฯ กลับไปแล้วท่านก็พักจำวัดจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร ก็ตื่นทำความเพียรต่อไปตามปกติที่เคยทำมาเป็นประจำ


    การต้อนรับชาวเทพฯ เป็นกิจของท่านโดยเฉพาะไม่ให้คลาดเคลื่อนเวลาได้เลยเพราะเขามาตามกำหนดเวลา คำสัตย์ถือเป็นสำคัญมาก แม้พระทำให้เคลื่อนโดยไม่มีความจำเป็นเขาก็ตำหนิติเตียน พวกเทพฯ เคารพหัวหน้ามาก คอยฟังคำสั่งและปฏิบัติด้วยความสนใจ พวกนี้ไม่ว่าจะมาจากชั้นบน หรือที่เป็นรุกขเทพฯ มาจากที่ต่าง ๆ จะต้องมีหัวหน้ามาด้วยเสมอ การสนทนาระหว่างพวกเทพฯ กับพระใช้ภาษาใจภาษาเดียวเท่านั้น ไม่มีหลายภาษาเหมือนมนุษย์และสัตว์ชนิดต่าง ๆ กัน เนื้อหาของใจที่คิดขึ้นเพื่อผู้ตอบนั้นเป็นคำถามของภาษาใจที่แสดงออกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วผู้ตอบเข้าใจได้ชัดเช่นเดียวกับเราถามเป็นประโยคด้วยคำพูดทางวาจา ประโยคที่ผู้ตอบคิดขึ้นแต่ละประโยคแต่ละคำเป็นเนื้อหาของภาษาใจอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ถามเข้าใจได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน ภาษาของใจยิ่งตรงตามความรู้สึกที่ระบายออกทีเดียว ไม่ต้องแยกแยะหรือขยายเนื้อความให้ชัดเจนเหมือนใช้คำพูดทางวาจาเป็นเครื่องมือของใจอีกวาระหนึ่ง ซึ่งบางประโยคความรู้สึกทางใจกับคำพูดที่จะใช้ให้เหมาะสมไม่ค่อยตรงกันจึงทำให้เสียความมุ่งหมายอยู่บ่อย ๆ ตราบใดที่ใช้วาจาเป็นสื่อแทนใจอยู่ ความไม่สะดวกย่อมมีอยุ่ตราบนั้น แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่คนเราไม่รู้ภาษาใจของกันและกันจำเป็นต้องใช้วาจาเป็นเครื่องมือของใจอยู่ตลอดไปอย่างแยกไม่ออกทั้ง ๆ ที่ไม่สู้จะตรงกับความมุ่งหมายของใจเท่าใดนัก เพราะโลกหากพานิยมใช้กันมาอย่างนี้ ไม่มีทางแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นซึ่งดียิ่งกว่านี้ได้ นอกจากจะรู้ภาษาใจกันเท่านั้น สิ่งลี้ลับก็กลับเปิดเผยและยุติกันไปเองพระอาจารย์มั่นท่านเชี่ยวชาญทางนี้มาก
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ


    ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2552
    ครั้งที่ 16 รวมรวมโดยหลวงตา มหาบัว

    ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเชี่ยวชาญทางนี้มาก เครื่องมือท่านก็มีพร้อมในการฝึกฝนอบรมให้เป็นคนดี ส่วนพวกเราแม้แต่จะคิดขึ้นมาใช้เฉพาะตัว ยังต้องเที่ยวหาหยิบยืมจากผู้อื่น คือเที่ยวหาอบรมจากครูอาจารย์ในที่ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ แม้เช่นนั้นก็ยังหลุดไม้หลุดมือไปได้ รักษาไว้ไม่อยู่ คือฟังจากท่านแล้วก็หลงลืมไปแทบไม่มีอะไรเหลือติดตัว แต่สิ่งที่ไม่ดีอันมีอยู่แต่ดั้งเดิม คือ ความผิดพลาดขาดสติปัญญาความระลึกรู้ไตร่ตรองไม่ยอมหลงลืมและตกไป คงยังสมบูรณ์อยู่ตลอดไป

    ฉะนั้นจึงมีแต่ความผิดหวังคือ นั่งอยู่ก็ผิดหวัง นอนอยู่ก็ผิดหวัง อะไร ๆ มีแต่ความผิดหวัง เดินไปก็ผิดหวัง เพราะขาดธาตุคุณธรรมดังกล่าวที่จะทำให้มีหวังในสิ่งที่พึงใจทั้งหลาย

    ปฎิปทาเครื่องดำเนินและการอบรมสั่งสอน ท่านพระอาจารย์มั่นรู้สึกว่าราบรื่นสม่ำเสมอ ไม่ค่อยมีเรืองกระเทือนฝั่ง ดังที่เคยปรากฏมา ท่านไปที่ไหนชุ่มเย็นราบเรียบในที่นั้น พระเณรมีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ญาติโยมพอทราบข่าวว่าท่านไปที่ไหนต่างมีความยิ้มแย้มแจ่มใส พากันหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชาด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างฝังจิตฝังใจไม่มีเวลาเจือจางตลอดมา ดังชาวบ้านถ่ำที่ท่าแขก ฝั่งแม่น้ำโขงแห่งประเทศลาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่พระอาจารย์มั่นพระอาจารย์เสาร์เคยไปพัก ก่อนหน้าที่ท่านไปเล็กน้อย ชาวบ้านนั้นเกิดเป็นโรคฝีดาษกันเกือบทั้งบ้าน พอเห็นท่านไป เขาดีอกดีใจกันมากแทบตัวลอย พร้อมกันออกมาวิ่งตอนรับและวิงวอนขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ท่านก็ให้เขาพากันมารับ
    ไตรสรณคมน์ คือ ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณกะแทนถือผี เพราะแต่ก่อนเขาพากันมานับถือผีกันทั้งหมู่บ้าน ท่านแนะวิธีปฏิบัติให้เขาเช่น ตอนเช้าตอนเย็นเวลาจะหลับนอนให้พากันไหว้พระสวดมนต์ก่อน และให้พากันทำวัตรสวดมนต์ทุก ๆ เช้าเย็น เขาก็ทำตาม ส่วนท่านเองก็ทำพิธีอะไร ๆ อันเป็นการภายในช่วยเขา เป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์ทันตาเห็น คนที่ล้มตายกันวันละหลาย ๆ ศพเรื่อยมาเพราะโรคนั้นกลับไม่มีใครตายอีกเลยนับแต่วันนี้นเป็นต้นมา แม้ที่กำลังเป็นอยู่ก็กลับหายไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีการกำเริบอีกต่อไปราวกับปาฏิหาริย์ ชาวบ้านเกิดความอัศจรรย์ ไม่เคยเห็นและไม่คาดฝันว่าจะเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ ยิ่งเกิดความเชื่อเลื่อมใสกันทั้งบ้านตลอดลูกหลานติดต่อสืบเนื่องกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

    แม้พระที่เป็นสมภารองค์ปัจจุบันประจำหมู่บ้านนั้นก็เกิดศรัทธาเคารพเลื่อมใสท่านพระอาจารย์ทั้งสองมากมาจนทุกวันนี้ พูดถึงพระอาจารย์ทั้งสองทีไรจะต้องยกมือไหว้ก่อนแล้วค่อยพูดเรื่องพระอาจารย์ทั้งสองต่อไป ที่เป็นทั้งนี้ก็เพราะอำนาจธรรมในใจท่านแผ่กระจายออกไปให้เป็นความสุขเย็นใจแก่โลก ท่านเล่าว่า ท่านแผ่เมตตาใหญ่ในรอบ 24 ชั่วโมงต่อ 3 ครั้งคือ เวลากลางวันตอนบ่ายขณะนั่งภาวนาหนึ่งครั้ง ตอนก่อนนอนหนึ่งครั้ง ตอนตื่นนอนหนึ่งครั้ง ส่วนการแผ่เมตตาปลีกย่อยประจำนิสัยนั้นมิได้นับอ่านว่าวันหนึ่งกี่สิบครั้ง ท่านแผ่เมตตาใหญ่ท่านวย่ากำหนดจิตให้ดำรงตัวอยู่เฉพาะ แล้วกำหนดกระแสใจให้แผ่ซ่านออกไปทั่วโลกธาตุเบื้องบนเบื้องล่าง ทั่วทุกทิศทุกทางไม่มีว่างเว้น


    ปรากฏว่าจิตในขณะนั้นมีอำนาจแผ่รัศมีและแสงสว่างออกไปทั่วพิภพ ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีอะไรมาปิดบังได้เลย ยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์กี่ร้อยกี่พันดวงเป็นไหน ๆ และไม่มีอะไรจะทรงแสงสว่างเสมอด้วยใจที่ได้ชำระอย่างเต็มภูมิแล้ว คุณสมบัติซึ่งแสดงออกจากจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้ว ย่อมทำให้โลกสว่างและมีความร่มเย็นอย่างอัศจรรย์ที่บอกไม่ถูก เพราะไม่มีพิษสงแม้น้อยเจือปนอยู่ มีแต่คุณธรรมคือความเย็นล้วน ๆ ดำรงอยู่ในดวงใจ ท่านผู้มีเมตตาจิตและมีใจบริสุทธิ์สะอาดไปอยู่ ณ ที่ใด มนุษย์เทวดาอารักษ์ย่อมเคารพเลื่อมใส ตลอดสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่ระเวียงระวังว่าจะเป็นภัยต่อเขา เพราะจิตท่านอ่อนนิ่มไปทั้งดวงด้วยเมตตาที่มีอยู่ประจำตลอดเวลา ไม่นิยมกาลสถานที่ บุคคล กำเนิดสูงต่ำ เหมือนฝนตกลงสู่พื้นพิภพ ไม่นิยมว่าสถานที่ สูงต่ำประการใด

    ฉะนั้นคราวท่านกลับจากอุบลฯ ทีแรกท่านมาจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร มีพระเณรติดตามมาศึกษาปฏิบัติด้วยเป็นจำนวนมากมายประชาชนหญิงชายพากันตื่นเต้นมากประหนึ่งท่านผู้มีบุญมาเกิด แต่มิได้ตืนเต้นแบบมงคลตื่นข่าว หากแต่ตื่นเต้นเพื่อละชั่วทำดี ละการนับถือผีไหว้เจ้า กราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แทนเท่านั้น พอออกพรรษาแล้ว ท่านออกเที่ยวธุดงค์ไปเรื่อย ๆ มาทางจังหวัดอุดรธานี ไปอำเภอหนองบัวลำภูบ้าง อำเภอบ้านผือและจำพรรษาที่บ้านค้อบ้าง ไปอำเภอท่าบ่อ จำพรรษาที่นั้นในเขตจังหวัดหนองคายบ้าง พักอยู่สองจังหวัดนี้นานพอสมควร สถานที่ท่านพักบำเพ็ญโดยมากมีแต่ป่าแต่เขาดังกล่าวแล้ว หมู่บ้านก็มีอยู่ห่าง ๆ กัน ในสมัยโน้นไม่แออัดด้วยผู้คนและบ้านเรือนเหมือนสมัยนี้ การอบรมสั่งสอนก็ง่าย ป่าก็เป็นป่าจริง ๆ เต็มไปด้วยหมู่ไม้ใหญ่ ๆ สูงไม่มีใครทำลาย สัตว์ป่าก็ชุกชุม พอตกกลางคืนได้ยินแต่เสียงสัตว์ต่าง ๆ ร้องไปต่างภาษาของเขา ฟังแล้วทำให้เพลิดเพลินไปตามด้วยความเมตตาและสนิทสนม เพราะเสียงสัตว์ไม่ค่อยเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญสมณธรรม ผิดกับเสียงมนุษย์อยู่มาก ท่านว่าทั้งนี้อาจเป็นเพราะเราไม่เข้าใจความหมายของเสียงก็เป็นได้

     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ


    ครั้งที่ 17 รวบรวมโดยพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


    ประจำวันที่ 1 กรกฏาคม 2552

    ส่วนเสียงมนุษย์ไม่ว่าจะพูดสนทนากันธรรมดา ไม่ว่าจะขับรำทำเพลงกัน ไม่ว่าจะทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าจะแสดงความสนุกรื่นเริงกันเพียงแต่เริ่มแสดงออกก็เริ่มเข้าใจความหมายตามทุก ๆ คำและทุก ๆ ระยะ จึงทำให้ไม่ค่อยจะสะดวกนักในเวลามีเสียงคนมากระทบขณะทำสมาธิภาวนา ถ้าสมาธิไม่ดีพอมีหวังล้มละลายได้อย่างง่ายดาย แต่ต้องขออภัยต่อท่านเจ้าของเสียงนี้มาก ๆ ที่เขียนนี้มิใช่เพื่อมุ่งจะตำหนิท่านผู้เป็นเจ้าของเสียงแต่อย่างใด แต่เขียนไปตามความไม่เป็นท่าของนักภาวนาต่างหาก เพื่อจะได้สติฮึดสู้บ้างพอมีทางเอาตัวรอดได้ ไม่หมอบยอมแพ้ราบอยู่ท่าเดียว ที่ท่านชอบพักอยู่ในป่าในเขาอาจมีส่วนเกียวข้องกับทำนองนี้อยู่บ้าง เพื่อหลบภัยและเพื่อบำเพ็ญคุณงามความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปไม่ล่าถอย จนถึงที่สุดอันเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อธรรมขั้นนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชอบอยู่ในป่าในเขาตลอดมาจนถึงวันมรณะภาพ จึงได้ธรรมอันเป็นขวัญใจมาฝากพวกเราอย่างภาคภูมิใจ

    ท่านเล่าว่า เวลาท่านกำลังบำเพ็ญ ถ้าเป็นโรคก็เป็นประเภคชีวิตไม่ยังเหลือค้างโลกให้ใคร ๆ เห็นได้เลย เพราะมีแต่การฝึกทรมานทั้งกายทั้งใจตลอดไป ไม่มีวันที่จะได้ลืมตาอ้าปากพูดอย่างสนุกรื่นเริงเหมือนท่านผู้อื่นบ้างเลย เพราะกิเลสกับใจมันไวต่อการติดพันกันจนมาองไม่ทันเผลอตัวบ้างไม่ได้เลยเป็นได้เรื่องทันที แต่พอมันติดพันใจได้แล้ว แก้หรือถอนไม่ยอมออกอย่างง่าย ๆ มีแต่จะพันให้แน่นเข้าทุกที อันนี้แลที่จะทำให้เผลอตัวไม่ได้ ต้องจ้องต้องมองต้องคอยจองจำทำโทษมันอยู่เสมอ ไม่ยอมให้มีกำลังขึ้นมาได้เดี๋ยวมันมัดเราเข้าอีกมีหวังจอดจมแน่ทำถึงขนาดนั้นจึงพอมีความสุขและลืมตาได้บ้างเท่านั้น พอมีกำลังใจบ้างและได้รับความสะดวกกายสบายใจก็ได้วกมาสั่งสอนหมู่เพื่อน


    ต่อจากนั้นหมู่เพื่อนทั้งพระทั้งเณรทั้งฆราวาสไม่ทราบมาจากไหน ทางนั้นก็มา ทางนี้ก็มา มาไม่หยุด และมาทุกทิศทุกทาง บางครั้งจนไม่มีที่พักเพียงพอกันเพราะมามากต่อมาก ทั้งน่าสงสาร ทั้งน่าเห็นใจท่านว่า บางครั้งก็ทำให้วิตกกับผู้อื่นเกี่ยวกับความปลอดภัยซึ่งมีผู้หญิงและชีนุ่งขาวไปเยี่ยม เช่น คราวพักอยู่ในถ่ำบ้านนาหมู นายุง อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี สมัยนั้นคนมีน้อยและสัตว์เสือก็ชุกชุมมาก ถ่ำและบริเวณที่ท่านพักอยู่ เสือโคร่งใหญ่ซึ่งมีอยู่หลายตัวแถวนั้นเคยเข้ามาบริเวณนั้นเสมอ ไม่เป็นที่ไว้วางใจในชีวิตของผู้ไปเยี่ยมทานและค้างคืนที่นั่น เวลาเขาไปเยี่ยม ท่านต้องสั่งให้ชาวบ้านหาไม้มาทำห้างสูง ๆ จนพ้นจากปากเสือที่จะกระโดดขึ้นไปถึงคนที่หลับนอนอยู่บนห้างนั้น เวลาค่ำคืนท่านห้ามไม่ให้ลงมาที่พื้นดินกลัวเสือจะโดดคาบเอาไปกิน

    แม้ปวดหนักปวดเบาก็ให้เตรียมหาภาชนะขึ้นไปไว้ข้างบนด้วยเพื่อสะดวกแก่การขับถ่ายในเวลาค่ำคืน เพราะแถวนั้นเสือชุกชุมมากและดุร้ายด้วย ผู้ที่ไปเยี่ยม ท่านไม่ให้พักอยู่หลายวัน ต้องรีบพากันกลับ เสือแถบนั้นไม่ค่อยกลัวคนนัก ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้วมันยิ่งไม่กลัวเอาเลย หากพอทำอันตรายได้มันอาจทำ แม้ชาวบ้านก็พูดเหมือนกันว่าเสือพวกนี้ไม่ค่อยกลัวคนนัก บางครั้งเวลากลางคืน ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่โดยจุดเทียนไขใส่โคมไฟแขวนไว้ที่ทางจงกรม ยังเห็นเสือโคร่งใหญ่เดินตามหลังฝูงควายที่พากันเดินผ่านมาที่พักท่านอย่างองอาจ ไม่กลัวท่านซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่บ้างเลย ฝูงควายที่ถูกเสือรบกวนมากต้องรีบพากันกลับเข้าบ้าน เสือยังกล้าเดินตามหลังฝูงควายมาได้ต่อหน้าต่อตาพระซึ่งเป็นคนผู้หนึ่ง

    ที่นั้น พระที่ไปศึกษาอบรมกับท่านต้องเป็นพระที่เตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว ทั้งความสละเป็นสละตายต่อการประกอบความพากเพียรในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่เป็นที่แน่ใจและอาจมีภัยรอบด้าน ทั้งสละทิฎฐิมานะความถือตัวว่ามีราคาค่างวดซึ่งอวดรู้อวดฉลาดอยู่ภายใน และสละทิฎฐิมานะต่อหมู่ต่อคณะประหนึ่งเป็นอวัยวะอันหนึ่งอันเดียวกัน จิตใจถึงจะมีความสงบสุข การประกอบความเพียรก็มี เกิดสมาธิได้เร็ว ไม่มีนิวรณ์มาขัดขวางถ่วงใจ ในที่ถูกบังคับให้อยู่ในวงจำกัด เช่นสถานที่กลัว ๆ อาหารมีน้อยฝืดเคืองด้วยปัจจัยสติกำกับใจไม่ลดละ คิดอ่านเรื่องอะไรมีสติคอยสะกิดบังคับอยู่เสมอ ย่อมเข้าสู่ความสงบได้เร็วกว่าเท่าที่ควรจะเป็น เพราะข้างนอกก็มีภัย ข้างในก็มีสติคอยบังคับขู่เข็ญ จิตซึ้งเปรียบเหมือนนักโทษก็ยอมตัวไม่คึกคะนอง


    นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์คอยใส่ปัญหาเวลาจิตคิดออกนอกลู่นอกทางอีกด้วย จิตซึ่งถูกบังคับด้วยเครื่องทรมานตลอดเวลาทั้งข้างนอกข้างในย่อมกลายเป็นจิตที่ดีขึ้นได้อย่างไม่คาดฝัน คือ กลางคืนซึ่งเป็นเวลากลัว ๆ เจ้าของก็บังคับให้ออกเดินจงกรมแข่งกับความกลัว ทางไหนจะแพ้จะชนะถ้าความกลัวแพ้ ใจก็เกิดความอาจหาญขึ้นมาและรวมสงบลงได้ ถ้าใจแพ้สิ่งที่แสดงขึ้นมาในเวลานั้นก็คือความกลัวอย่างหนักนั่นเอง ฤทธิ์ของความกลัวคือ ทั้งหนาว ทั้งร้อน ทั้งปวดหนักปวดเบา ทั้งเหมือนจะเป็นไข้หายใจไม่สะดวกแบบคนจะตายเราดี ๆ นี่เอง เครื่องสงเสริมความกลัวคือเสียงเสือกระหึ่ม ๆ อยู่ตามชายเขาบ้าง ไหล่เขาบ้าง หลังเขาบ้าง พื้นราบบ้าง จะกระหึ่มอยู่ที่ไหน ทิศใดก็ตามใจจะไม่คำนึงถึงทิศทางเลย แต่จะคำนึงอย่างเดียวว่าเสือจะมากินพระองค์เดียวที่กำลังเดินจงกรมด้วยความกลัวตัวสั่นไม่เป็นท่าอยู่นี้เท่านั้น แผ่นดินกว้างใหญ่ขนาดไหนไม่ได้นึกว่าเสือเป็นสัตว์มีเท้า

    จะไปยังสถานทีอื่น ๆ บ้าง แต่คิดอย่างเดียวว่าเสือจะตรงมาที่ที่มีบริเวณแคบ ๆ เล็ก ๆ นิดเดียวซึ่งพระขี้ขลาดกำลังเดินวุ่นวายอยู่ด้วยความกลัวนี้แห่งเดียวการภาวนาไม่ทราบว่าไปถึงไหนมิได้คิดคำนึงถึงเพราะลืมไปหมด ที่จดจ่อที่สุดก็คือคำบริกรรมโดยไม่รู้สึกตัว ว่าได้บริกรรมว่า เสือจะมาที่นี่ อย่างเดียวเท่านั้น จิตก็ยิ่งกำเริบด้วยความกลัวเพราะการส่งเสริมด้วยคำบริกรรมแบบโลกแตก ธรรมก็เตรียมจะแตกหากบังเอิญเสือเกิดหลงป่าเดินเปะปะมาที่นั้นจริง ๆ ลักษณะนี้อย่างน้อยก็ยืนตัวแข็งไม่มีสติ มากกว่านั้นเป็นอะไรไปเลย ไม่มีทางแก้ไข นี่คือการตั้งจิตไว้ผิดธรรม ผลจะแสดงความเสียหายขึ้นมาตามขนาดที่ผู้นั้นพาให้เป็นไป ทางที่ถูกท่านสอนให้ตั้งหลักใจไว้กับธรรม จะเป็นมรณานุสสติหรือธรรมบทใดบทหนึ่งในขณะนั้น ไม่ให้ส่งจิตปรุงออกไปนำเอาอารมณ์ที่เป็นภัยเข้ามาหลอกตัวเอง เป็นกับตายก็ตั้งจิตไว้กับธรรมี่เคยบริกรรมอยู่เท่านั้น จิตเมื่อมีธรรมเป็นเครื่องยึดก็จะไม่เสี่ยหลัก และจะตั้งตัวได้ในขณะที่ทั้งกลัว ๆ นั่นแล จะกลายเป็นจิตที่อาจหาญขึ้นมาในขณะนั้นอย่างอัศจรรย์ที่บอกไม่ถูกท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนให้ตั้งหลักด้วยความเสียสละทุกสิ่งบรรดาที่มีอยู่กับตัว คือ ร่างกาย จิตใจ แต่มิให้สละธรรมที่ตนปฏิบัติหรือบริกรรมอยู่ในขณะนั้นจะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามคติธรรมดา เกิดแล้วต้องตาย
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    ครั้งที่ 18 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน
    เกิดแล้วต้องตาย จะเป็นคนขวางโลกไม่ยอมตายไม่ได้ผิดคติธรรมดา ไม่มีความจริงใด ๆ มาชมเชยผู้มีความคิดขวางโลกเช่นนั้น ท่านสอนให้เด็ดเดี่ยวอาจหาญ ไม่ให้สะทกสะท้านต่อความตาย เกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปบำเพ็ญเพื่อหาความดีใส่ตัว ดงหนาป่ารกชัฎมีสัตว์เสือชุมเท่าใดยิ่งสอนให้ไปอยู่ โดยให้เหตุผลว่าที่นั่นแล จะได้กำลังใจทางสมาธิปัญญา เสือจะได้ช่วยให้ธรรมเกิดในใจได้บ้าง เพราะคนเราเมื่อ ไม่กลัวพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่กลัวเสือและเชื่อเสือว่าเป็นสัตว์ดุร้ายจะมาคาบเอาไปเป็นอาหารและช่วยไล่ตะล่อมจิตเข้าสู่ธรรมให้ก็ยังดี จะได้กลัวและตั้งใจภาวนาจนเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมแล้วก็เชื่อพระพุทธเจ้าและเชื่อพระธรรมไปเอง เมื่อเข้าสู่ที่คับขันแล้วจิตไม่เคยเป็นสมาธิก็จะเป็น ไม่เคยเป็นปัญญาก็จะเป็น ในที่เช่นนั้นแลใจไม่มีอะไรบังคับบ้าง มันขี้เกียจและตั้งหน้าสั่งสมแต่กิเลสพอกพูนใจแทบจะหาบหามไปไม่ไหวไปให้เสือช่วยหาบหามขนกิเลสตัวขี้เกียจตัวเพลิดเพลินจนลืมตัวลืมตายออกเสียบ้างจะได้หายเมาและเบาลง ยืนเดินนั่งนอนจะไม่พะรุงพะรังไปด้วยกิเลส ประเภคไม่เคยลงจากบนบ่า คือหัวใจคน ที่ใดกิเลสกลัว ท่านสอนให้ไปที่นั่น แต่ที่กิเลสไม่กลัวอย่าไป เดี๋ยวเกิดเรือง ไม่ได้ความแปลกและอัศรรย์อะไรเลย นอกจากกิเลสจะสร้างความฉิบ-หายใส่ตัวจนมองไม่เห็นบุญบาปเท่านั้น ไม่มีอะไรน่าชมเชย ท่านให้ความมั่นใจแก่นักปฏิบัติว่า สถานที่ที่ไม่มีสิ่งบังคับบ้าง ทำความเพียรไม่ดีจิตลงสู่ความสงบได้ยาก แต่สถานที่เต็มไปด้วยความระเวียงระวังภัย ทำความเพียรได้ผลดี ใจก็ไม่ค่อยปรากศจากสติซึ่งเป็นทางเดินของความเพียรอยู่ในตัวอยู่แล้ว ผู้หวังความพ้นทุกข์โดยชอบจึงไม่ควรกลัวความตายในที่ ๆ น่ากลัว มีในป่าในเขาที่เข้าใจว่าเป็นสถานที่น่ากลัว เป็นต้นเวลาเข้าสู่ที่คับขันจริง ๆ

    ขอให้ใจอยู่กับธรรมไม่ส่งออกนอกกายนอกใจซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของธรรม ความปลอดภัยและกำลังใจทุกด้านที่จะพึงได้ในเวลานั้นจะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันไปในตัว อย่างไรก็ไม่ตายถ้ายังไม่ถึงกาลตามกรรมนิยมแทนที่จะตายดังความคาดหมายที่ด้นเดาไว้ ท่านเคยว่าท่านได้กำลังใจในที่เช่นนั้นแทบทั้งนั้น จึงชอบสั่งสอนหมู่เพื่อนให้มีใจมุ่งมั่นต่อธรรมในที่คับขัน จะสมหวังในไม่ช้าเลยแทนที่จะทำไปแบบเสี่ยงวาสนาบารมีอันเป็นเรื่องเหลวไหลหลอกลวงตนมากกว่าจะเป็นความจริง เพราะความคิดเช่นนั้น ส่วนมากมักจะออกมาจากความอ่อนแอท้อถอย จงมักเป็นความคิดที่กดถ่วงลวงใจมากกว่าจะช่วยเสริมให้ดี และเพิ่มพูนกำลังสติปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้น

    ธรรมที่สร้างความมั่นใจแก่นักปฏิบัติเพื่อถือเป็นหลักประกันชีวิตและความเพียรคือ พึงหวังพิ่งเป็นพึ่งตายต่อธรรมจริง ๆ อย่าฟั่นเฟือนหวั่นไหวโดยประการทั่งปวงหนึ่ง พึงเป็นผู้กล้าตายด้วยความเพียรในที่ที่ตนเห็นว่าน่ากลัวนั้น ๆ หนึ่ง เมื่อเข้าที่จำเป็นและคับขันเท่าไร พึงเป็นผู้มีสติกำกับใจให้มั่นในธรรม มีคำบริกรรมเป็นต้น ให้กลมกลืนกันทุกระยะ อย่าปล่อยวาง แม้ช้างเสืองูเป็นต้นจะมาทำลาย ถ้าจิตสละเพื่อธรรมจริงอยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นจะไม่กล้าเข้าถึงตัว มิหนำเรายังกล้าเดินเข้าไปหามันด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่กลัวตาย แทนที่มันจะทำอันตรายเรา แต่ใจเรากลับจะเป็นมิตรอย่างลึกลับอยู่ภายในกับลมันอีกด้วยโดยไม่เป็นอันตรายหนึ่ง ใจเรามีธรรมแต่ใจสัตว์ไม่มีธรรม ใจเราต้องมีอำนาจเหนือสัตว์เป็นไหน ๆ

    แม้สัตว์จะไม่ทราบได้ว่ามีธรรม แต่สิ่งที่ทำให้สัตว์ไม่กล้าอาจเอื้อมมีอยู่ในใจเราอย่างลึกลับนั่นแลคือธรรมเครื่องป้องกันหรือธรรมเครื่องทรงอำนาจให้สัตว์ใจอ่อนไม่กล้าทำอะไรได้หนึ่งอำนาจของจิตเป็นอำนาจลึกลับและรู้อยู่เฉพาะตัว แต่ผู้อื่นทราบได้ยากหากไม่มีญาณภายในหนึ่ง ฉะนั้น ธรรมแม้เรียนและประกาศสอนกันทั่วโลกก็ยังเป็นธรรมชาติที่ลึกลับอยู่นั่นเองถ้าใจยังเข้าไม่ถึงเป็นขั้น ๆ ควรจะเปิดเผยกับใจเป็นระยะ ๆ ไป เมื่อเข้าถึงกันจริง ๆ แล้ว ปัญหาระหว่างใจกับธรรมก็สิ้นสุดลงเอง เพราะใจกับธรรมมีความละเอียดสุขุมลี้ลับพอ ๆ กัน เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว แม้จะพูดว่า ใจคือธรรมและธรรมคือใจ ก็ไม่ผิด และไม่มีอะไรมาขัดแย้งถ้ากิเลสตัวเคยขัดแย้งสิ้นไปไม่มีเหลือแล้ว เท่าที่ใจเป็นเครื่องมือของกิเลสตัณหาจนมองหาคุณค่าไม่เจอนั้น ก็เพราะใจถูกสิ่งดังกล่าวคละเคล้ากลุ้มรุมจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงดูเหมือนไม่มีคุณค่าอะไรแฝงอยู่เลยในระยะนั้น ถ้าปล่อยให้เป็นทำนองนั้นเรื่อยไป ไมสนใจรักษาและชำระแก้ไข ใจก็ไม่มีคุณค่า ธรรม ก็ไม่มีราคาสำหรับตน

    แม้จะตายไปแล้วเกิดแล้วตายสักกี่ร้อยกี่พันครั้ง ก็เป็นทำนองเขาเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าซึ่งล้วนเป็นชุดสกปรกด้วยกัน จะเปลี่ยนวันละกี่ครั้งก็คือผู้สกปรกน่าเกลียดอยู่นั่นเอง ผิดกับผู้ที่เปลี่ยนชุดเสื้อผ้าที่สกปรกออก แล้วสวมเสื้อผ่าที่สะอาดแทนเป็นไหน ๆ ฉะนั้นการเปลี่ยนชุดดีชั่วสำหรับใจ จึงเป็นปัญหาสำคัญของแต่ละคนจะพิจารณาและรับผิดชอบตัวเองในทางใด ไม่มีใครจะมารับภาระแทนได้ไม่ต้องเป็นกังวนอีกต่อไป แต่เรื่องตัวเองนี้เป็นเรื่องใหญ่โตของแต่ละคนซึ่งรู้อยู่กับตัวทั้งปัจจุบันและอนาคต ว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบตัวเองตลอดไปไม่มีกำหนดกาล นอกจากผู้ให้การบำรุงรักษาจนถึงที่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ดั่งพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเป็นตัวอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นผู้หมดภาระโดยประการทั้งปวงอย่างสมบูรณ์ ผู้เช่นนั้นแลที่โลกกล่าวอ้างเป็นสรณะเพื่อหวังฝากเป็นฝากตายในชีวิตตลอดมา แม้ผู้ตกอยู่ในลักษณะแห่งความไม่ดี แต่ยังพอรู้บุญรู้บาปอยู่บ้าง ก็ยังกล่าวอ้าง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะอย่างไม่หยุดปากกระดากใจ ยังระลึกถึงพอให้พระองค์ทรงเป็นห่วงและรำคาญในความไม่ดีของเขาอยู่นั่นเอง เช่นเดืยวกับลูก ๆ ทั้งที่เป็นลูกที่ดีและลูกเลวบ่นถึงผู้บังเกิดเกล้าว่า เป็นพ่อเป็นแม่ของตนฉะนั้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...