รหัสธรรม ตรีกาย ยับยุม และอื่นๆ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย มนตะระเทวะ, 10 มีนาคม 2013.

  1. มนตะระเทวะ

    มนตะระเทวะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    59
    ค่าพลัง:
    +126
    [​IMG]

    หลายคนที่มีโอกาสไปเยือนทิเบตจะเห็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนามากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่รู้จักความหมายของสัญลักษณ์หรือรหัสธรรม เราจะไม่มีวันเข้าใจความเป็นพุทธทิเบตที่แท้ และทำให้การเดินทางไปทิเบตไม่สนุกเท่าที่ควร

    สัญลักษณ์หนึ่งที่มักมีการหยิบยกมาพูด วิจารณ์ หรือแม้แต่ประณามจากมุมมองผู้ไม่เข้าใจ คือสัญลักษณ์ที่เรียกว่า "ยับยุม" ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่า "บิดามารดา"

    สัญลักษณ์นี้ถ่ายทอดในลักษณะพระพุทธเจ้าสวมกอดสตรี จนเกิดเป็นความรู้สึกทางลบในหมู่พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยที่มองว่ารูปสัญลักษณ์เช่นนี้ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้ผ่องแผ้วจากตัณหาทั้งปวง

    เรื่องยับยุมหากไม่เข้าใจ ไม่มีวันที่เราจะเห็นภาพสวมกอดนี้เป็นความงดงาม แต่หากเข้าใจปรัชญาและความหมายของรหัสธรรมนี้ ภาพนี้นำเราไปสู่มิติแห่งความเข้าใจตัวตน ผ่านโลกียธรรมไปสู่โลกุตตรธรรม

    ก่อนจะทำความเข้าใจว่ายับยุมคืออะไร และทำไมจึงต้องมีสัญลักษณ์เช่นนี้ เราควรทำความรู้จักแนวคิดเรื่องพุทธะก่อน ในพุทธทิเบตมีศัพท์ที่ตรงกับคำว่า Buddha หรือพระพุทธเจ้า สองคำ

    พระพุทธเจ้าในมุมมองของตรีกาย (ซังเจ)

    คำหนึ่งคือ ซังเจ (ซัง "ตื่นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง" เจ "บรรลุปัญญาจนเข้าถึงการตื่นรู้โดยสมบูรณ์") ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แบ่งเป็นสามกาย ได้แก่

    ธรรมกาย พระพุทธเจ้าในลักษณะสภาวะธรรม ทรงคือหนึ่งเดียวกับความไพศาลอันเป็นคุณลักษณะของจิตเดิมแท้ของเรา ปราศจากรูปลักษณะ ทวิลักษณ์ และการปรุงแต่งใดๆ

    ในคัมภีร์กล่าวถึงคุณลักษณะของธรรมกายาของพระพุทธเจ้าว่า ปราศจากรูป ปราศจากบริวาร เหนือกาลเวลา ปราศจากสถานที่ประทับอยู่ และปราศจากวจนะ เพราะธรรมกายคือสภาวะธรรมอันว่างและกระจ่างใส ดำรงอยู่ในทุกแห่ง เราจึงกล่าวว่าพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ในทุกที่ ในทุกสภาวะ

    สัมโภคกาย พระพุทธเจ้าในลักษณะสันติ พิโรธ หรือกึ่งพิโรธ มีรูปลักษณ์ชัดเจน ไม่ว่าจะสวมอาภรณ์เครื่องประดับอันวิจิตร หรือสวมหนังสัตว์ทรงสร้อยคอกระโหลก ทรงเป็นกายทิพย์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ปรากฏในลักษณะนี้เพื่อให้เราได้รู้จักตัวตนของตัวเอง ได้บ่มเพาะคุณธรรมแห่งพุทธะในอีกลักษณะที่ใกล้เคียงกับจริตของสัตว์โลก และสามารถประสานเชื่อมโยงกับสภาวะพุทธะดังกล่าวในสมาธิ ตัวอย่างของสัมโภคกายของพระพุทธเจ้า เช่น พระอวโลกิเตศวร พระแม่ตารา พระมัญชุศรี พระวัชรปาณี ตลอดจนพระยีตัมจำนวนมากเพื่อการทำสมาธิตามคัมภีร์ตันตระ ฯลฯ

    สัมโภคกายต่างจากธรรมกายตรงที่มีคุณสมบัติทั้งห้าประการ ได้แก่ ดำรงอยู่ด้วยรูป ดำรงอยู่ด้วยบริวาร ดำรงอยู่ในกาลเวลา ดำรงอยู่ในสถานที่ (พระพุทธเจ้าในลักษณะนี้มีพุทธเกษตร) และดำรงอยู่ด้วยพระวจนะ

    นิรมาณกาย กายเนื้อของพระพุทธเจ้า ผู้เสด็จมาโปรดสัตว์ ตรัสรู้ธรรมให้เห็น และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเพื่อเป็นตัวอย่างของปุถุชนธรรมดาที่ละสังขารเช่นนี้

    พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นผู้ชี้นำหนทาง (เติมปา)

    ยังมีศัพท์อีกคำที่สำคัญคือ เติมปา ตรงกับ Buddha เช่นกัน แต่แปลว่า ผู้นำทาง (Guide) พระพุทธเจ้าในความหมายนี้หมายถึงเฉพาะนิรมาณกาย ดังเช่น พระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี คุรุอาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบในฝ่ายทิเบตเมื่อละสังขารแล้วอาจกลับมาเกิดเพื่อสานต่อการงานด้วยโพธิจิต พวกท่านมักได้รับการขนานนามว่า ทุลกุ (tulku) แปลว่า ลามะกลับชาติมาเกิด หรือ Little Buddha ที่เรียกว่า Buddha ในที่นี้จึงไม่ใช่ความหมายแรก แต่เป็นความหมายที่สองของผู้มาชี้นำหนทาง

    กลับมาที่ยับยุม

    เรื่องของยับยุมไม่เกี่ยวกับเติมปา ไม่เกี่ยวกับพระบรมครูผู้ประสูติ ณ ลุมพินี เมื่อ 2600 ปี แต่เกี่ยวกับซังเจโดยเฉพาะในปางสัมโภคกาย (ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมกาย จะกลับมาพูดถึง) ปรากฏในลักษณะของพระพุทธเจ้าบุรุษแทนอุบายแห่งธรรมอันกอรปด้วยความกรุณา และพระพุทธเจ้าสตรีแทนปัญญาในการเข้าใจศูนยตา เมื่อเราได้บ่มเพาะจนกรุณาและปัญญาประสานกันอย่างแนบแน่นในจิตของเรา เราจะเข้าถึงความสุขสูงสุด จากหลักปรัชญานี้ทำให้เกิดการปฏิบัติและถ่ายทอดพุทธศิลป์ปางยับยุม

    ในทางโลก บิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต ในทางธรรม กรุณากับปัญญาให้กำเนิดความสุขที่แท้อันนำไปสู่การหลุดพ้น

    หลักการคิดเช่นนี้เป็นแก่นหัวใจของตันตระ หนึ่งในมรรควิถีแห่งจิตวิญญาณทิเบตที่เน้นการเปลี่ยนโลก เปลี่ยนพลังไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์ เปลี่ยนกิเลสตัณหาให้เป็นปัญญา...

    กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ 1 มีค 56


    https://www.facebook.com/photo.php?...=a.51958967835.62131.693142835&type=1&theater
     

แชร์หน้านี้

Loading...