เรื่องเด่น รับมือภัยพิบัติ 2019 ดินน้ำลมฟ้าวิปโยค

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 6 เมษายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    เริ่มต้นพุทธศักราช 2562 คนไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติภัยธรรมชาติ คุกคามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสภาพอากาศแปรปรวน “วิปริตผิดเพี้ยน” ในสภาวะลม–ฟ้า–อากาศ ที่เกิดถี่และรุนแรงหนักกว่าอดีต


    …สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง อย่าง…คืนวันที่ 3-5 ม.ค.2562 “พายุโซนร้อนปาบึก” ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 75 กม.ต่อ ชม. เคลื่อนตัวจากอ่าวไทยขึ้นฝั่งที่ จ.นครศรีธรรมราช จ.ปัตตานี จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา จ.ชุมพร จ.ยะลา จ.พัทลุง จ.นราธิวาส “แผลงฤทธิ์” ถล่มต้นไม้หักโค่น เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรพังเสียหาย ประชาชนได้รับผลกระทบ 212,784 ครัวเรือน 696,189 คน บ้านเรือนเสียหายจากลมพายุ 1,922 หลัง และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้สูญหาย 1 ราย

    ไม่กี่วันถัดมา กลางเดือน ก.พ. เกิดแผ่นดินไหว ที่พิกัดละติจูด 19.26N ลองจิจูด 99.10E ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 21 กม. ในพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ความแรง 4.9 แมกนิจูด แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนในเขตลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สร้างความตกใจให้ชาวบ้านอย่างมาก มีบ้านเรือนเสียหาย 185 หลังคาเรือน…จากนั้นใน 10 วัน ยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 59 ครั้ง ขนาด 1.9-3.3 ริกเตอร์ ใน จ.ลำปาง ติดกับ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา แต่ไม่สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน

    e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-2019-e0b894e0b8b4e0b899e0b899e0b989e0b8b3.jpg

    กระทั่งมาถึงเดือน มี.ค. ทั่วภูมิภาคเริ่มเผชิญ “ภัยแล้ง” จากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีผลให้ปริมาณฝนน้อยลงต่ำกว่าค่าปกติเฉลี่ยรอบ 30 ปี และฤดูร้อนมาเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยถึงสุดขีด เหลือน้ำใช้การเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเพราะภัยพิบัติภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องเหนือฟ้า เหนือดิน ไม่มีใครคาดการณ์แม่นยำได้ ว่าจะเกิดจุดใด เวลาใด

    รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต อธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงเกิดภัยพิบัติในประเทศไทยว่า ตอนนี้โลกมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา ในปี 2562 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น และอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากผลพวงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.8-0.9 องศาเซลเซียสจากอดีต ส่งผลให้อัตราการระเหยของน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพิ่มขึ้น

    สำหรับประเทศไทย มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งร้อน และแล้ง บางครั้งฝนตกหนัก บางปีก็แล้งหนัก ในรอบ 20 ปีนี้ มีโอกาสเกิดภัยพิบัติจากความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

    b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-2019-e0b894e0b8b4e0b899e0b899e0b989e0b8b3-1.jpg

    เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง พายุ ฝนตกหนัก เพราะชั้นบรรยากาศมีความเปราะบาง มีโอกาสเสี่ยงต่อความแปรปรวนทางสภาพอากาศอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก คือ ประเทศฮอนดูรัส เฮติ เมียนมา นิการากัว ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ปากีสถาน เวียดนาม ไทย และโดมินิกัน รีพับลิก

    นับตั้งแต่กลางปี 2561-2562 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และฤดูฝนมาล่าช้ากว่าปกติ ทำให้สภาพอากาศทั้งร้อนและแล้งกว่าปกติ

    หากบริหารจัดการน้ำได้ดี ไม่น่าเกิดปัญหาวิกฤติตามมา แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ พื้นที่เพาะปลูกนาปรังเพิ่มขึ้น 2–3 เท่าตัว ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะราคาข้าวจูงใจให้เกษตรกรทำนามากขึ้น ทำให้การใช้น้ำการเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปรากฏการณ์เอลนีโญ อุณหภูมิร้อนสูง มีผลให้น้ำที่มีอยู่ ทั้งหมดระเหยเฉลี่ยอีกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ด้วย

    b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-2019-e0b894e0b8b4e0b899e0b899e0b989e0b8b3-2.jpg

    อีกพื้นที่ที่น่าห่วงคือ พื้นที่ภาคตะวันออก ในปี 2561 มีการปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ประมาณ 20,000–30,000 ไร่ จากราคาทุเรียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้น้ำมากขึ้นอย่างน้อยปีละ 60-100 ล้าน ลบ.ม. แต่ปี 2562 จะเอาน้ำมาจากไหน เพราะสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ใกล้เคียงกับในปี 2559 สวนทุเรียนหลายแห่งในภาคตะวันออกขาดแคลนน้ำ ต้องซื้อน้ำเป็นหลายคันรถมาใช้

    อย่างไรก็ดี ตามการประเมินความเสี่ยงภัยแล้งในประเทศไทย ยังมีภัยคุกคามจากภัยแล้งใน “ระดับต่ำ” แต่มีความเปราะบางสูง เรื่องการจัดการน้ำ การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ทำกิน ความสามารถในการรับมือ การปรับตัวภาคการเกษตร องค์ความรู้สมัยใหม่ แผนงานรับมือ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่เสี่ยง การเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินต่างๆ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำ

    เทียบเคียงกับประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่มีภัยคุกคามจากภัยแล้งในระดับสูงมาก แต่ด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงทำให้สามารถลดความเปราะบาง ความล่อแหลมลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ความเสี่ยงภัยแล้งอยู่ในระดับต่ำ

    b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4-2019-e0b894e0b8b4e0b899e0b899e0b989e0b8b3-3.jpg

    “คาดการณ์ในปี 2564–2565 เราอาจจะเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังน้อยกว่าเหตุการณ์ในปี 2554 จากการเข้าสู่สภาพอากาศโหมดลานีญา ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ”

    ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฯบอกอีกว่า ส่วนเรื่อง แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์ไม่ได้ โชคดีประเทศไทยไม่ได้อยู่ใกล้รอยเลื่อนขนาดใหญ่ เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้ว อย่างเช่น…“รอยเลื่อนสะแกง” ที่พาดผ่านตอนกลางของประเทศพม่า อยู่ใกล้ชายแดนไทยประมาณ 300 กม. เป็นรอยเลื่อนลักษณะเฉือนและมีพลังสูง ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6-8 ริกเตอร์กว่า 20 ครั้ง และอีกรอยเลื่อนอยู่ในทะเลอันดามัน

    แต่เรายังเผชิญกับรอยเลื่อนที่มีชีวิตแขนงเล็กๆ น้อยๆ อยู่ 14 แห่ง มีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา และโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ทุกเมื่อ คือ…1.รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงใหม่ 2.รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย 3.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 4.รอยเลื่อนเมย จ.ตาก 5.รอยเลื่อนแม่ทา จ.เชียงใหม่ 6.รอยเลื่อนเถิน จ.แพร่ 7.รอยเลื่อนพะเยา จ.พะเยา 8.รอยเลื่อนปัว จ.น่าน 9.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 10.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ 11.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 12.รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 13.รอยเลื่อนระนอง จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร และ 14.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จ.สุราษฎร์ธานี

    เมื่อก่อนรอยเลื่อน 14 แห่งนี้ มีบางรอยเลื่อนเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะ ในระดับ 1-3 ริกเตอร์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะรอยเลื่อนเคลื่อนตัวตลอดเวลา ยิ่งแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆยิ่งเกิดบ่อยมาก แต่วันนี้มีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวพัฒนาไปไกลมากจากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลย เมื่อตรวจจับแผ่นดินไหวได้ ทำให้ตื่นตระหนกกัน อย่าลืมว่า…เครื่องมือวัดแผ่นดินไหว รถบรรทุกวิ่งผ่านเครื่องมือตรวจวัดก็จะกระดิกวัดได้เช่นกัน ดังนั้นไหวระดับ 1–3 ริกเตอร์ ยังสรุปไม่ได้ว่าผิดปกติ…ในอดีตเคยมีข้อมูลจดบันทึกรอยเลื่อน เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 4–6 ริกเตอร์ 7 ครั้ง ใน 6 แห่ง ในวงรอบ 30 ปี นั่นก็คือ…ทุก 5 ปี จะเกิดขึ้น 1 ครั้ง แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นพื้นที่ใด เวลาใด…

    สำหรับแผ่นดินไหวมี 2 ลักษณะ “แผ่นดินไหวในทะเล” ตัวนี้มีแผนติดตั้งทุ่นลอยสัญญาณเตือนภัย ส่งสัญญาณผิวทะเล ใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบ เพื่อทำนายแนวโน้มของการเกิดคลื่นสึนามิ แจ้งให้ศูนย์เตือนภัยตามชายฝั่งทะเลต่างๆ เพื่อเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นเตรียมตัวอพยพหนีภัยได้ทันเวลา

    อีกส่วน “แผ่นดินไหวบนบก” แม้ไม่รุนแรง แต่อันตรายต่อบ้านเรือน อาคารสูง เกิดความเสียหาย และอาจเป็นอันตรายต่อคนได้ ในปี 2550 มีกฎกระทรวงออกมาควบคุมในการก่อสร้างอาคารสูงกว่า 15 เมตร ออกแบบรองรับแรงแผ่นดินไหว จากเดิมควบคุม 10 จังหวัด ขยายออกเป็น 22 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ แต่กฎหมายไม่ควบคุมอาคารที่ต่ำกว่า 15 เมตร เช่น อาคารห้องเช่า หอพักต่างๆ อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดอันตรายขึ้นได้

    ภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่มีใครคาดการณ์ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การเตรียมตัวให้พร้อมเผชิญรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น.



    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1538078
     
  2. คมสันติ์

    คมสันติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    100
    ค่าพลัง:
    +259
    ร้อนทะลุ ขีดจำกัด ทะลุสถิติ ทุกๆ ตัว..
    จำไว้เถิด.. จิต และกาย พร้อมรับ..
    ทราบแล้ว จงเตรียม...
     
  3. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,293
    ค่าพลัง:
    +12,622
    มันมาแน่นวล
     

แชร์หน้านี้

Loading...