รื้อโครงสร้างดับไฟใต้ ศอ.บต-กอ.รมน. คือคำตอบ ?

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 10 ตุลาคม 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,488
    รื้อโครงสร้างดับไฟใต้ ศอ.บต-กอ.รมน. คือคำตอบ ?

    วิเคราะห์

    [​IMG]

    คำมั่นสัญญาชายชาติทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ให้ไว้ในทันทีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย คือการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

    ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจว่า การทำงานร่วมกันระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะสามารถนำความสงบสุขกลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อย

    เนื่องจากทั้ง 2 คนมีประสบการณ์การทำงาน คลุกคลีลงพื้นที่บ่อยครั้ง และรู้ดีว่าปัญหาเกิดจากอะไร

    ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) นักวิชาการด้านความมั่นคง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการแก้ไขปัญหานั้นต้องมองย้อนในอดีตที่หน่วยงานปกติทั่วไปหลายหน่วยงานพยายามจะใช้สันติวิธีเข้าแก้ไข แต่ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง

    "การที่หน่วยงานต่างๆ ถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง จนมีการบีบให้คนออกมารายงานตัว หรือการที่ฝ่ายทหารพยายามใช้สันติวิธีแต่ฝ่ายกลาโหมกลับประกาศต่อต้านโดยต้องการใช้กำลัง ทำให้ยุทธศาสตร์สันติวิธีไม่สำเร็จ"

    เมื่อขณะนี้ฝ่ายการเมืองไม่อยู่ในฐานะที่จะแทรกแซงได้แล้ว หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรเดินตามยุทธศาสตร์พระราชทาน คือเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

    นักวิชาการด้านความมั่นคง ยังมองว่า รายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) อะไรที่คิดว่าควรนำมาใช้ บางมาตรการ ก็ควรดำเนินตามนั้น ตามความเหมาะสม

    เนื่องจากรายงาน กอส.เป็นมาตรการที่เห็นผลระยะยาว เพื่อสลายเงื่อนไขทั้งหมดของรัฐไม่ให้ผู้ก่อเหตุนำมาอ้างได้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างครบองค์ประกอบ ครบทุกองค์กรรัฐ ต้องมีการขับเคลื่อนจริงจัง ซึ่งข้อเสนอของ กอส.อันใดที่สามารถใช้ได้ก็ควรนำมาใช้โดยเร็ว

    "ข้อมูลบางอย่างที่บางคนมองว่าไม่เป็นพลวัตหรือล้าหลัง ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของหน่วยปฏิบัติว่าอะไรใช้ได้"

    อาจารย์รัฐศาสตร์คนนี้ยังอธิบายต่อไปอีกว่า สาเหตุที่การก่อความไม่สงบยังคงมีอยู่นั้น ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไหนขึ้น รัฐบาลไหนลง เพราะการดำรงจุดมุ่งหมายของความขัดแย้งเกิดจากหลายกลุ่ม ซึ่งก็มีเรื่อยมาอยู่แล้ว

    แม้กระแสข่าวช่วงนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า พล.อ.สนธิต้องการจะศึกษาผลดีผลเสียในการฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมถึงรื้อโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างเต็มสูบ แต่ ผศ.ชิดชนก เห็นว่า

    "เหตุเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ศอ.บต.ยังไม่ถูกยุบ แต่เมื่อมีการใช้นโยบายที่คุกคาม เติมเชื้อไฟ จึงทำให้เกิดการดึงคนเข้าร่วม อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การต่อสู้และการดึงคนเข้าร่วมน้อยลง เพราะสถานการณ์ต่อสู้ยังคงอยู่ ต้องเข้าใจด้วยว่าเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคทักษิณ มันมีเหตุมีผลมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่เมื่อมีการเอาตำรวจเข้ามาดูแล มีการอุ้มหาย มีการตามหาปืน และอะไรหลายๆ อย่างที่สร้างความรุนแรงเป็นเชื้อไฟ"

    ทั้งนี้ เพราะนักวิชาการด้านความมั่นคงคนนี้ เชื่อว่าเมื่อเดินมาถูกทางแล้วก็ควรเดินต่อไป ไม่ใช่ต้องเริ่มกันใหม่ทุกรัฐบาล เมื่อนโยบายในการแก้ปัญหามีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้กลไกของรัฐสามารถขับเคลื่อนได้ และขณะนี้คือเวลาของการประเมินนโยบาย ไม่ใช่ต้องคิดใหม่ทำใหม่เสมอ

    สิ่งที่อยากจะเห็นต่อไปคือฟังเสียงทักท้วงจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ หรือแม้แต่องค์กรภาคประชาชนประเมินการแก้ไขทั้งหมด ทบทวนก่อนคิดใหม่ เพราะการรื้อนโยบายหรือแนวทางจะทำให้เสียทรัพยากรมาก"

    นั่นจึงเป็นคำแนะนำที่จะส่งผ่านไปถึง "ลูกป๋า" อย่าง พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ อดีตเสนาธิการทหารบก (ตท 1.) เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.สุรยุทธ์ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงกลาโหม และ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาค 4 คนใหม่ (ตท. 9) ซึ่งอาจจะต้องหาคนเข้าไปถกกับแกนนำผู้ก่อเหตุใต้เพื่อสร้างสันติสุข

    วันนี้ประเด็นหนึ่งที่รอการพิสูจน์ก็คือ ทักษิณและรัฐตำรวจออกไป ไฟใต้จะค่อยๆ สงบลง...จริงหรือเท็จ ?





    ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol03091049&day=2006/10/09
     

แชร์หน้านี้

Loading...