เรื่องเด่น รู้จัก "Long Covid" อาการที่ยังหลงเหลือแม้หายป่วยโควิดแล้ว

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย rachotp, 5 ตุลาคม 2021.

  1. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,218
    กระทู้เรื่องเด่น:
    251
    ค่าพลัง:
    +23,891
    C.PNG

    ทำความรู้จักกับอาการ "Long Covid" ที่เป็นอาการหลงเหลืออยู่ของเชื้อโควิด-19 แม้หายป่วยจากการติดเชื้อแล้ว ซึ่งจะพบหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก และวิธีดูแลตัวเองเพื่อให้หายจากอาการ

    B.PNG

    นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคน มีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับเมื่อหายจากการติดเชื้อ ก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน บางคนหายจากการติดเชื้อแล้วกลับมาเป็นปกติเลย หรือมีอาการดีขึ้นในระยะเวลา 6 สัปดาห์

    แต่ ในผู้ป่วยบางรายเมื่อหายจากการป่วยโควิด-19 แล้ว ยังมีอาการคล้ายเป็นโควิด-19 ต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า Long Covid โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดเมื่อยตามข้อหรือมีภาวะไอเรื้อรังได้ ภาวะเหล่านี้มักพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก เนื่องจากลักษณะของอวัยวะต่างๆของร่ายการที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ


    เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาร่างกายให้กลับมาแข็งแรง เช่น การออกกำลังกายต่อเนื่อง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงความวิตกกังวล จะสามารถช่วยให้กลุ่มอาการของ Long Covid ค่อยๆดีขึ้น

    ด้าน นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มอาการ Long Covid คืออาการที่หลงเหลืออยู่ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะพบหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่เชื้อลงปอด และพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้สูงอายุ สามารถพบได้ถึง 60 – 70% ขึ้นไป

    นอกจากนี้กลุ่มผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง อายุน้อย ไม่มีภาวะอ้วนและหายจากโควิด-19 ก็อาจจะมีกลุ่มอาการ Long Covid ได้เช่นกัน แต่ไม่มากเพียง 5-10% ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงอาการ Long Covid จึงขึ้นอยู่กับโรคประจำตัว และอายุของผู้ป่วย

    อาการในผู้ป่วยที่มีภาวะ Long Covid ที่พบบ่อย คือ


    - รู้สึกเหมือนมีไข้ตลอดเวลา เหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง
    - ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆหน้าอก
    - ไอและปวดศีรษะ
    - ท้องร่วง
    - มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
    - ปวดตามข้อตามรู้สึกจี๊ดๆ ตามเนื้อตัวหรือปลายมือปลายเท้า
    - มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
    - จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส


    ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการ Long Covid จะไม่ส่งผลในระยะยาวต่อร่างกายหากดูแลรักษาร่างกายตนเองให้กลับมาแข็งแรง โดยสามารถกลับมาเป็นปกติได้เกือบ 100%

    สำหรับ วิธีการดูแลและแนวทางการปฏิบัติตนเองเมื่อมีอาการ Long Covid สามารถทำได้ดังนี้


    1. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ติดขัด หรือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและทำการรักษา

    2. ผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยควรออกกำลังกายเบาๆไม่หนักเกินไป และควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆฟื้นตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง และเน้นท่าที่บริหารปอดเพื่อฟื้นฟู ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรงและถุงลมในส่วนต่างๆของปอด ถูกนำมาใช้แลกเปลี่ยนก๊าซได้เต็มที่

    3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวล ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

    4. ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่น PM 2.5

    5. ควรรักษาสุขอนามัยของตนเองโดยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ทุกครั้งที่สัมผัส และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร


    ดังนั้นหากผู้ป่วยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมีความเชื่อมั่นว่าร่างกายจะค่อยๆฟื้นฟูกลับมาดีขึ้น และช่วยให้กลุ่มอาการ Long Covid ที่เป็นอยู่หายไป

    A.PNG


    Credit: ขอขอบคุณที่มาจาก PostToday https://www.posttoday.com/life/healthy/664753
     
  2. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,218
    กระทู้เรื่องเด่น:
    251
    ค่าพลัง:
    +23,891
    D.PNG

    พบ “ภาวะลองโควิด (Long COVID)” อาจคงอยู่แม้หายจากโควิด-19 แล้ว 1 ปี

    งานวิจัยต่างประเทศได้ทำการสำรวจผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ไปแล้ว 1 ปี พบเกือบครึ่งยังมีผลกระทบระยะยาวจากโควิด-19 อยู่

    ความน่ากลัวของโควิด-19 ไม่ได้มีแค่เพียงอัตราการระบาดที่ค่อนข้างสูงและอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น แต่ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่แม้หายดีจากโควิด-19 เป็นเวลานานแล้วก็ตาม หรือที่เรียกกันว่า “ลองโควิด (Long COVID)”


    การศึกษาเกี่ยวกับลองโควิด 2 ชิ้นจากสหราชอาณาจักรและจีน รายงานว่า ภาวะลองโควิดนี้อาจเรื้อรังอยู่ในอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ได้นานถึง 1 ปีหลังการติดเชื้อ


    โดยผลการศึกษาขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว 1 ใน 3 ยังมีอาการลองโควิดอย่างน้อย 1 อาการหลังจากหายดีแล้ว 6 เดือน ขณะที่การศึกษาจากประเทศจีนตรวจพบอดีตผู้ป่วยโรคโควิด-19 เกือบครึ่งยังมีอาการลองโควิดอย่างน้อย 1 อาการแม้ผ่านไป 1 ปีหลังจากออกจากโรงพยาบาล

    ในการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA Network Open ทีมนักวิจัยชาวจีนได้ทำการสำรวจผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยแล้วจำนวน 2,433 ราย ประมาณ 1 ปีหลังจากที่พวกเขาออกจากโรงพยาบาล ผลการศึกษาพบว่า มีอดีตผู้ป่วยถึง 45% ที่รายงานพบอาการลองโควิดอย่างน้อย 1 อาการแม้ผ่านไป 1 ปีแล้ว

    อาการเหนื่อยล้า เหงื่อออก แน่นหน้าอก วิตกกังวล และอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นอาการลองโควิดที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มที่สำรวจ โดยผู้สูงอายุและผู้ที่มีประวัติเจ็บป่วยจากโควิด-19 ที่รุนแรงมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีภาวะลองโควิดอย่างน้อย 3 อาการ

    อย่างไรก็ตาม นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาติดตามผลหลังหายป่วย 1 ปีของพบอัตราโดยรวมที่ต่ำกว่ากลุ่มที่เพิ่งหายป่วย 6 เดือน ซึ่งหมายความว่า มีอดีตผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่จะมีภาวะลองโควิดยาวนานถึง 1 ปี และเป็นความหวังว่า ภาวะลองโควิดอาจลดลงหรือหายไปเมื่อเวลาผ่านไป

    ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งของสหราชอาณาจักร เป็นผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ทำการศึกษาลักษณะทั่วไปของภาวะลองโควิดในกลุ่มอดีตผู้ป่วยจำนวน 273,618 รายที่หายดีแล้ว

    โดยภาพรวมพบว่า เกือบ 37% ของผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 รายงานว่ามีอาการลองโควิดอย่างน้อย 1 อาการในช่วง 3-6 เดือนหลังการติดเชื้อ

    E.PNG

    อาการลองโควิดที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่นี้คือ ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า 15%, การหายใจผิดปกติ 8%, แวดท้อง 8%, เจ็บหน้าอก/คอ 6%, ภาวะสมองล้า 4%, อ่อนเพลียเหนื่อยล้า 6% และปวดศีรษะ 5%

    แม็กซ์ ทาเกต์ หัวหน้าทีมวิจัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า “ผลการศึกษายืนยันว่า คนทุกวัยมีโอกาสได้รับผลกระทบระยะยาวในช่วง 6 เดือนหลังการติดเชื้อโควิด-19”


    ผลการวิจัยที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในการศึกษาของอ็อกซ์ฟอร์ดคือ ได้มีการเปรียบเทียบโอกาสของการเกิดลองโควิดกับผู้ที่มีผลกระทบระยะยาวจากไข้หวัดใหญ่

    นักวิจัยพบว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จำนวนหนึ่งที่รายงานอาการอย่างน้อย 1 อาการที่คงอยู่นานถึง 6 เดือนหลังการติดเชื้อ แต่อาการในระยะยาวมักเกิดขึ้นบ่อยกว่ามากในผู้ป่วยโควิด-19

    ผู้ป่วยโควิด-19 มีโอกาสมีเกิดผลกระทบในระยะยาวมากกว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 1.5 เท่า


    นักวิจัยบอกว่า “ความเสี่ยงในการเกิดผลระยะยาวจากการป่วยโควิด-19 สูงกว่าการป่วยไข้หวัดใหญ่ มันแสดงให้เห็นว่า ต้นตอของภาวะอาการเรื้อรังระยะยาวนี้อาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการติดเชื้อ SARS-CoV-2 และไม่ใช่ผลลัพธ์ที่พบได้ทั่วไปจากการติดเชื้อไวรัส ... สิ่งนี้อาจช่วยในการพัฒนาการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อโรคโควิด-19 ในระยะยาว”


    การศึกษาเรื่องผลกระทบระยะยาวจากการติดเชื้อโควิด-19 กำลังได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบเงินเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 17,000 ล้านบาท) ให้กับโครงการวิจัยลองโควิดหลายโครงการ

    พอล แฮร์ริสัน จากอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า งานวิจัยประเภทนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เราสามารถจัดการกับผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตอันใกล้

    “การวิจัยประเภทต่าง ๆ มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมทุกคนถึงไม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์จากโควิด-19 ... เราจำเป็นต้องระบุกลไกที่เป็นสาเหตุของอาการระยะยาวต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อผู้รอดชีวิต ข้อมูลนี้จะมีความสำคัญหากต้องการป้องกันหรือรักษาผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ” แฮร์ริสันกล่าว


    Credit: ขอขอบคุณที่มาจาก PPTV Online
     

แชร์หน้านี้

Loading...