หลวงปู่จัน เป็นพระที่มีวิชาอาคมกล้าแข็งสามารถล่องหนย่นระยะทางได้ ว่ากันว่าวิชาการสัก วิชาการลงกระหม่อมและอาบว่านยาที่ท่านได้ประสิทธิ์ประสาทให้แก่ลูกศิษย์สามารถสร้างความอยู่ยงคงกระพันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ชาวบ้านทั้งใกล้และไกลในท้องที่นนทบุรีต่างให้ความเคารพนับถือในตัวท่านมาก
โดยในแต่ละวันจะมีผู้คนเข้าไปขอความเมตตาจากท่านช่วยลงกระหม่อมให้ หรือบางคนก็ขอให้ท่านช่วยสักยันต์และที่น่าแปลกใจที่สุดสำหรับชาวบ้านคือการย่นระยะทางหรือการแบ่งภาคไปปรากฏกายตามสถานที่ต่างๆโดยที่ตัวท่านเองยังนั่งอยู่ที่วัด
โดยปกติท่านมักจะขึ้นล่องระหว่างวัดโมลีกับสถานที่แห่งหนึ่งเป็นประจำ การไปของท่านแต่ละครั้งท่านมักจะนำเอาก้อนแร่ชนิดหนึ่งติดเรือกลับมาด้วย สำหรับก้อนแร่นั้นได้มีผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเห็นได้เล่าไว้ว่า
“มีลักษณะเหมือนก้อนกรวด ตะปุ่มตะป่ำ สีแดงอมน้ำตาลคล้ายกับเหล็กเป็นสนิม...”
เมื่อท่านได้ก้อนแร่มาแล้ว ท่านก็จะรวบรวมเอาไว้เพื่อเลี้ยงให้เกิดการงอกตัวขึ้นในตุ่มพิเศษของท่าน และเมื่อมีเวลาว่างหลวงปู่จันท่านจะนำเทียนขี้ผึ้งมาปั้นเป็นหุ่นเทียนรูปทรงพระปิดตา โดยมีพระหัตถ์คู่หนึ่งยกปิดพระพักตร์ อีกคู่หนึ่งล้วงลงปิดทวารด้านล่าง
จากนั้นท่านจึงได้ปั้นเทียนออกเป็นเส้นเล็กๆ เหมือนเส้นขนมจีนแต่เล็กกว่า และบรรจงดัดโค้งให้เป็นอักขระต่างๆ แล้วประดับติดเข้าไปกับเนื้อพระจนกระทั่งเต็มครบสูตรตามความต้องการของท่าน
หุ่นเทียนรูปพระปิดตาดังกล่าวจะถูกนำมาไล้พอกด้วยดินนวลตามกรรมวิธีของช่างหล่อโบราณและต่อชนวนสำหรับเทโลหะเป็นอันเสร็จการ ในกระบวนขั้นตอนการสร้างทั้งหมด
ส่วนที่ลำบากที่สุดก็คือการขึ้นรูปพระและการประดับอักขระลงไป เพราะจะต้องปั้นและประดับติดที่ละองค์จนกระทั่งสำเร็จครับ
ขั้นตอนต่อไปคือการเทหล่อรูปพระตามแบบ หลวงปู่จันท่านจะทำการเทแร่ที่ท่านได้เลี้ยงเอาไว้ลงในเบ้าหลอมพร้อมกับวัตถุอาถรรพ์ตามตำราของท่าน เตาหลอมที่ร้อนแรงได้ทำให้แร่หรือวัตถุทั้งหมดละลายกลายเป็นน้ำ ท่านจึงได้นำน้ำแร่ที่ละลายนั้นเทลงในช่องชนวนที่ได้ต่อไว้ตั้งแต่แรก
น้ำแร่ที่มีความร้อนสูงได้ลงไปในหุ่นเทียนไล่เทียนขี้ผึ้งทั้งหมดให้ละลายและอยู่แทนที่ในช่องว่างตรงนั้น เมื่อน้ำแร่เย็นตัวลงก็จะจับตัวขึ้นรูปเป็นพระปิดตาตามที่ได้ปั้นไว้แต่แรก ซึ่งในการหลอมแร่บางไผ่นั้นช่วงจังหวะที่ยากที่สุดก็คือการสะกดโลหะต่างๆให้ละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
พระปิดตาบางองค์ที่เทติดไม่เต็มหรือชำรุด หลวงปู่จันท่านจะไม่ทิ้งแต่จะนำเอามาหลอมใหม่แล้วจึงเทออกมาเป็นลูกอมหรือก้อนแร่ไว้สำหรับติดตัว
สำหรับพระปิดตาแล้วหลวงปู่จันท่านได้สร้างออกมาหลายแบบและหลายขนาด โดยอาศัยอัตราน้ำหนักเป็นเกณฑ์ ซึ่งองค์ที่มีขนาดเล็กจะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งบาท สองบาทและสามบาทไปเรื่อยๆ แม้แต่ขนาดเล็กหนักสองสลึงท่านก็เคยสร้างไว้
อาจสรุปได้ว่าการสร้างพระปิดตาของหลวงปู่จัน ท่านจะสร้างตามแต่ความเหมาะสมของท่าน เล็กหรือใหญ่ไม่ใช่มาตรฐานในการกำหนดพระของท่าน
อักขระที่ปรากฏบนองค์พระแร่บางไผ่ ทั้งด้านหน้าและหลังจะไม่เหมือนกันทุกองค์ เนื่องจากเป็นการปั้นทีละองค์ ในกลุ่มนักนิยมสะสมพระเครื่องมักจะบอกต่อกันเป็นความรู้ว่า
“หากเรานำพระปิดตาเนื้อแร่บางไผ่สององค์มาวางตรงหน้า และเห็นว่าพระทั้งสององค์นี้เหมือนกัน ก็จงเชื่อมั่นเถอะว่า ไม่องค์ใดองค์หนึ่งต้องเป็นของปลอม หรืออาจจะปลอมทั้งคู่เลยก็ได้...”
กล่าวกันว่าในชีวิตของหลวงปู่จันท่านได้สร้างวัตถุมงคลประเภทต่างๆขึ้นจากแร่บางไผ่ ด้วยเหตุนี้พระที่หลวงปู่จันได้สร้างสรรค์ขึ้นมาจึงนิยมเรียกกันว่า “พระแร่บางไผ่” ซึ่งมีทั้งพิมพ์พระปิดตา พิมพ์พระมหาอุตม์ ร่วมถึงพิมพ์แปลกๆซึ่งคาดว่าแฝงไปด้วยคติธรรม
ร่วมแชร์ประสบการณ์มหัศจรรย์ผงวิเศษในพระเครื่องเมืองสยาม
ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย Hamac, 3 ตุลาคม 2012.
หน้า 2 ของ 2
-
ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
โดยปกติแล้วพระที่หลวงปู่จันได้สร้างเอาไว้ ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยอักขระเลขยันต์ “ธาตุทั้ง ๔” คือ นะ มะ พะ ธะ และยันต์ตัวใหญ่ซึ่งเป็นยันต์ “เฑาว์” ซึ่งจากลักษณะการวางอักขระดังกล่าว จึงเสมือนหนึ่งว่าเป็น “เอกลักษณ์” ของพระพิมพ์ต่างๆของหลวงปู่จันทีเดียว
สำหรับพุทธคุณของพระปิดตาแร่บางไผ่ของหลวงปู่จัน ท่านเน้นหนักไปทางด้านคงกระพันและมหาอุด มีความเชื่อว่าถ้านำพระแร่บางไผ่ไปแช่ไว้ในน้ำมันงาบริสุทธิ์จำนวนเจ็ดวันแล้ว....
ให้เอา ”น้ำมันงาที่แช่พระไว้ครบเจ็ดวัน”นั้นมาทาตัวก็จะเป็นคงกระพันกันเขี้ยวงาได้ดีอีกด้วยนอกเหนือไปจากนั้นน้ำมันงายังเป็นตัวช่วยให้พระแร่บางไผ่คงสภาพไม่กร่อนตัวไปกับสภาพอากาศ
ในส่วนข้อเสียของแร่บางไผ่คือการกร่อนตัวกับสภาพอากาศและหากเราใช้พระติดตัวหากถูกเหงื่อมักจะกร่อนและกินตัวอย่างน่าเสียดาย นี่คือข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีพระแร่บางไผ่ติดตัวครับ
คุณวิเศษอีกประการหนึ่งในเรื่องความมหัศจรรย์แห่งพระปิดตาแร่บางไผ่ของหลวงปู่จันก็คือท่านเคยสั่งว่า...
“หากจวนตัวถูกรุมจนเกินกำลังจะตั้งรับได้ ให้กลืนพระแร่บางไผ่นั้นลงไปทันที ก็จะสามารถหลุดรอดจากอันตรายและพระจะกลับคืนมาหาเราโดยออกมาทางเบื้องสูง..”
ในสมัยโบราณ คนรุ่นเก่ามีความเชื่อกันว่าแร่บางไผ่ เป็นแร่ที่มีคุณวิเศษและมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ดังนั้นจึงมีการนำเอาก้อนแร่บางไผ่ไปถักลวดทองแดงสำหรับใช้แขวนคอ บางคนก็ใช้ผ้าขาวห่อพกติดตัว กล่าวกันว่านักเลงรุ่นเก่าของเมืองนนท์จะมีประสบการณ์กับแร่บางไผ่กันมากมาย....
จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่าร้อยปีแล้วครับ ที่แร่บางไผ่ถูกลืมหายไปจากความทรงจำ ทั้งนี้เนื่องจากหลังสิ้นบุญของหลวงปู่จัน ก็ไม่มีผู้ใดสามารถค้นพบแหล่งที่มาของแร่บางไผ่อีกเลย.....
ว่ากันว่า “ความทรงจำของเรานั้น จริงๆไม่ได้หายไปไหน แต่มันถูกเก็บไว้รอวันเปิดออกมา”.......... -
วันหนึ่ง...”พระอาจารย์สมศักดิ์ ฐิตสกโข” แห่ง “วัดนครอินทร์” อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ท่านได้มีความคิดที่จะสร้างพระขึ้นจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งจะเท่ากับจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อบรรจุเจดีย์ของวัดนครอินทร์ไว้สืบอายุพระพุทธศาสนา โดยท่านได้กำหนดแบบพิมพ์ไว้จำนวน ๔ พิมพ์ หนึ่งในสี่ของพิมพ์นั้นคือ...
“พิมพ์พระปิดตาแร่บางไผ่ ของหลวงปู่จัน วัดโมลี”
พระอาจารย์สมศักดิ์เล่าให้พวกเราฟังว่า ท่านได้เดินทางไปหา”พระปรีชานนทโมลี” เจ้าอาวาสวัดโมลี ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่จันเป็นเจ้าอาวาสและได้เคยสร้างพระแร่บางไผ่ เพื่อสอบถามเรื่องแร่บางไผ่จนได้ความว่า...
ครั้งหนึ่งในสมัยที่พระปรีชานนทโมลี ยังเป็นสามเณรอายุราว ๑๓ ปี ท่านได้เคยช่วย “หลวงตาเชื้อ” สูบเตาไฟถลุงแร่บางไผ่และท่านเองก็เคยได้ยินว่าแร่บางไผ่มีอยู่ที่ “คลองบางคูลัด” กับที่นา “มหาอัน” ซึ่งท่านเองก็ไม่รู้ว่าแร่นี้อยู่ที่ไหนเพราะตัวท่านไม่เคยไปขุด คงช่วยแต่สูบไฟถลุงแร่อยู่ที่วัดเท่านั้น
ด้วยข้อมูลอันน้อยนิด แต่เปรียบเสมือนประกายของเปลวไฟได้ประทุขึ้นจนกลายเป็นดวงไฟอันลุกโชน...
พระอาจารย์สมศักดิ์จึงได้เดินทางไปกับลูกศิษย์อีก ๕ คนเพื่อค้นหาแร่บางไผ่ตามที่ได้ยินมาจากพระปรีชานนทโมลี เรื่องค่อนข้างยาวครับ เอาเป็นขอสรุปรวบรัดการค้นหาในเบื้องต้นได้ว่า.....
พระอาจารย์สมศักดิ์ได้เดินทางไปจนพบที่นา “มหาอัน” และได้เก็บเศษแร่เล็กๆ ซึ่งท่านคาดว่าน่าจะเป็นแร่บางไผ่กลับมาศึกษาดูที่วัด
บนเส้นทางแห่งการแสวงหาขุมทรัพย์แร่บางไผ่ หลายครั้งที่ทุกคนท้อแท้เกือบจะหมดหวังและหลายเวลาที่ท้อแท้กลับมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น เรื่องราวที่เสมือนจะเป็นตำนานก็กลายมาเป็นเรื่องจริง...
“คุณดิเรก ถึงฝั่ง ปลัดจังหวัดนนทบุรี”(ตำแหน่งขณะนั้น) ได้บันทึกเรื่องราวการค้นหาไว้ค่อนข้างละเอียดครับ
“เช้าวันนั้นผมออกเดินทางจากวัดนครอินทร์ พร้อมด้วยขบวนรถอีกหลายคัน ฯลฯ รถวิ่งไปได้ประมาณ ๑๐ กิโล ก็จอดรถไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านแล้วหอบอุปกรณ์ต่างๆ เดินผ่านทุ่งนาเข้าไปยังที่นาของ ‘มหาอัน’ ริมคลองบางคูลัด
ระยะทางอีกเกือบ ๑ กิโลเมตรก่อนจะถึงที่นามหาอัน พระอาจารย์สมศักดิ์ได้ชี้ให้ผมดูสถานที่ซึ่งท่านมาสำรวจและพบแร่ ผมดูแล้วก็เห็นความแปลกทันที
กลางทุ่งนาเบื้องหน้าผม มีกองดินสูงเท่าหัวคน ลักษณะคล้ายเจดีย์ ตั้งอยู่กลางนามีน้ำล้อมรอบ ถัดจากกองดินลักษณะคล้ายเจดีย์ไปทางซ้ายประมาณ ๕๐ เมตร มีมูลดินที่เป็นโคกร้าง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่
ผมมองดูกองดินที่กลางนาพร้อมกับนึกในใจว่า ทำไมเจ้าของเขาไม่ไถกองดินนี้ออก เขาเก็บเอาไว้กลางนาอย่างนั้นทำไม...
บนโคกนั้น ผมพบก้อนอิฐที่มีลักษณะป่นถูกไฟเผาดำเกลือนกลาดไปหมด แสดงว่าบริเวณโคกนี้คงจะเป็นที่เผาก้อนอิฐหรือเตาเผาอะไรสักอย่างหนึ่ง
ผมเดินสำรวจจากโคกลงไปตามคันนาที่มีน้ำขังอยู่ พบแร่บางไผ่เม็ดเล็กๆจำนวนหลายเม็ด พวกเราเดินจากโคกนั้นไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร เห็นคลองบางคูลัดทอดลำตัวยาว คดเคี้ยวอยู่เบื้องหน้า ริมคลองมีบ้านอยู่หนึ่งหลัง.......”
พระอาจารย์สมศักดิ์ได้สอบถาม ‘คุณยายจรูญ เดชขจร’ เจ้าของบ้านที่มีอายุ ๘๐ ปี ว่า...
“ประวัติที่มาของกองดินคล้ายเจดีย์กลางทุ่งนาและโคกร้างนั้นมีมาอย่างไร....”
คุณยายเล่าให้ฟังว่า.....
“ฉันเกิดมาจำความได้ก็เห็นอย่างนี้ พ่อแม่เล่าว่า โคกร้างและกองดินกลางนานั้นเป็นของ ‘หลวงปู่จัน’ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่งหรือไถทิ้งหรอก...”
“ที่กองดินกลางทุ่งนานั้น วันดีคืนดีก็มีแสงไฟพุ่งขึ้นมา และที่โคกร้างนั้นก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครกล้าขึ้นไปเล่น เจ้าที่แรง เด็กขึ้นไปเล่นก็ชักอยู่บนนั้น บางทีเห็นแมวตัวโตวิ่งขึ้นไปและไม่รู้หายไปไหน หาเท่าไรก็ไม่เจอ ชาวบ้านบางคนไปหากบหาปลา เจอกบตัวใหญ่ผิดปกติ เกิดความกลัว ไม่กล้าเข้าไปบริเวณนั้นอีก...”
จากคำเล่าของคุณยายจรูญ เดชขจร ทำให้คุณดิเรก นึกไปถึงตำนานของหลวงปู่จัน แห่งวัดโมลีขึ้นมาได้...
“หลวงปู่จัน ท่านพายเรือมาร่อนแร่ และเก็บแร่ที่คลองบางคูลัด และได้เข้ามาจอดเรือในที่แห่งหนึ่ง เพื่อมาหาแร่ทั้งในคลองและในทุ่งนา แร่ที่หามาได้ก็นำมาถลุงที่ริมคลองและนั่นก็คือบริเวณที่ดินแห่งนี้นั่นเอง.....”
นอกจากความดีใจที่ได้ค้นพบสถานที่ตามตำนานแล้ว “คุณดิเรก ถึงฝั่ง” ยังได้เขียนถึงเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นระหว่างการงมหาแร่อีกว่า....
“ท่านอาจารย์สมศักดิ์ ฐิตสกโข ได้สั่งให้คณะที่ติดตามมารออยู่ที่ริมคลอง ส่วนท่านและผมได้เดินมาที่โคกร้างแห่งนี้....
ท่านอาจารย์สมศักดิ์ ได้จุดธูปเทียนบูชาเจ้าที่เจ้าทางและลงนั่งสมาธิ ขออำนาจบารมีแห่งหลวงปู่จันและเจ้าที่เจ้าทางให้คณะของเราได้ค้นพบแร่บางไผ่ เพื่อนำไปสร้างเป็นพระเครื่องในโอกาสต่อไป....
ด้วยสมาธิที่แน่วแน่ของพระอาจารย์สมศักดิ์ สักครู่ฝนก็ตกลงมาเป็นละอองเล็กๆ นับเป็นมิ่งมงคลอย่างยิ่ง...”ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
“หนึ่งชัวโมงให้หลัง พระอาจารย์สมศักดิ์ได้บอกพวกเราว่า ให้เริ่มงมหาแร่ได้แล้ว โดยแบ่งคนกระจายกันงมทั้งในคลองบางคูลัดในทุ่งนาที่อยู่ติดกับคลองรอบๆ บริเวณพื้นดินที่เป็นรูปเจดีย์ พวกเราช่วยกันงมแร่ทั้งในคลองและในนาอยู่หลายชั่วโมง ได้แร่บางไผ่มาเป็นจำนวนมาก ที่น่าแปลกก็คือ.....
เหตุใดแร่บางไผ่จึงมีอยู่เฉพาะบริเวณนี้และตัวแร่ก็กระจายอยู่ทั่วไปในลำคลองและบริเวณทุ่งนา บางก้อนก็หมกโคลนอยู่...
พวกเราช่วยกันงมช่วยกันเก็บอย่างสนุกสนาน ยิ่งเก็บแร่ก็ยิ่งวิ่งมาชนมือมากขึ้น เป็นที่ประหลาดนัก วันนี้งมแร่ได้ถึง ๑๐ ถัง เป็นที่ปราบปลื้มยิ่งนัก....”
ครับตามบันทึกของคุณดิเรก บอกให้ทราบอีกว่าการค้นหาแร่บางไผ่ได้มีการดำเนินอย่างต่อเนื่องออกไปอีกหลายวัน สมาชิกผู้รวมวีรกรรมการค้นหาครั้งนี้ประกอบไปด้วยพระและฆราวาส
โดยทุกครั้งก่อนที่จะออกเดินทางพวกเขาเหล่านั้นจะทำพิธีสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนาแผ่เมตตาเพื่อทำให้ใจบริสุทธิ์...และสิ่งที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจกันมากก็คือว่า...
เมื่อวานก็งมแร่แถวนี้จนหมดแล้ว แต่พอมางมในวันใหม่ตรงที่เดิมก็สามารถงมพบอีกเรื่อยๆ
จนวันหนึ่ง(๒๘ กันยายน ๒๕๓๖) ไม่ว่าจะงมอย่างไรก็ไม่สามารถค้นหาได้ เรียกว่างมจนอ่อนอกอ่อนใจไปตามๆกันแหละครับ ร้อนถึงพระอาจารย์สมศักดิ์ท่านต้องตัดสินใจนั่งสมาธิสวดมนต์ภาวนาขอบารมีของหลวงปู่จันและเจ้าที่เจ้าทาง
ทันใดนั้นก็เกิดพายุใหญ่ พัดกระโชก ฝนตกลงมาขนาดใหญ่อย่างกะทันหัน ทุกคนวิ่งหลบฝนกันจ้าละหวั่น แต่พระอาจารย์สมศักดิ์ท่านยังคงนั่งภาวนาตากฝนอยู่ตรงที่เดิม
หนึ่งชัวโมงผ่านไปฝนเริ่มหยุด พระอาจารย์สมศักดิ์ท่านจึงสั่งให้ทุกคนเริ่มลงมือค้นหาใหม่ คราวนี้แหละครับ งมตรงไหน จิ้มลงตรงจุดใด เป็นอันได้เจอ
แร่ทั้งหมดที่ค้นพบและอนุมานว่าใช่แร่บางไผ่นี้ ได้มีการตรวจสอบและทดสอบ ทั้งจากตำราโบราณ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ และจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของแร่บางไผ่
ไม่ว่าจะใช้กรอบความคิดอันไหน ทฤษฏีอะไร ตรรกะแนวไหน ผลลัพธ์ที่ได้คือคำว่า “ใช่” โดยก้อนแร่รูปร่างประหลาดๆทั้งหมดนี้เขาเรียกกันว่า “แร่บางไผ่” และเป็นแร่ที่หลวงปู่จัน ท่านใช้สร้างพระแร่บางไผ่ อันเกรียงไกรในอดีต...
“อาตมาได้ทดลองทำหลายสูตร กว่าจะได้ออกมาเป็นองค์พระ ต้องคอยกำกับเวลาหุง เวลาเท การใช้อุณหภูมิของไฟว่าต้องขนาดไหน เพราะถ้าร้อนเกินไปแร่ก็จะหายไปหมด เรียกว่าตอนถลุงยังอยู่ พอถลุงเสร็จเปิดมาดู หายไปเรียบ...”
พระอาจารย์สมศักดิ์ได้กล่าวถึง “คติความเชื่อ” ในแร่บางไผ่ ตามทรรศนะของท่านว่า ท่านเชื่อว่าแร่บางไผ่เป็นแร่ที่มีคุณวิเศษในตัวเอง
คำว่ามีคุณวิเศษในตัวเองก็คือแร่ชนิดนี้มีฤทธิ์มีเดช ไม่ต้องมีอะไรมากระตุ้นปลุกเสกก็สามารถใช้คุ้มครองป้องกันอันตรายได้ แต่ถ้ายิ่งได้พระสุปฏิปันโน ที่กล้าแข้งในวิชามาปลุกเสก ก็จะเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับตัวแร่นั้นยิ่งๆขึ้นไป
และด้วยเป้าประสงค์ให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันไม่ไขว้เขว ตลอดจนไม่เป็นการลอกเลียนแบบครูบาอาจารย์ พระแร่บางไผ่ของวัดนครอินทร์ จึงได้มีการจัดสร้างโดยใช้แบบพิมพ์ใหม่โดยมีเอกลักษณ์สำคัญที่แตกต่างจากของหลวงปู่จัน
กล่าวคือยันต์ที่องค์พระของเดิมจะเป็นตัว “เฑาว์” แต่ของวัดนครอินทร์จะเป็นตัว “ส” พระอาจารย์สมศักดิ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า...
“คุณดิเรก เป็นคนออกแบบให้ ความหมายของตัว ส.เสือ คือชื่อย่อของอาตมาซึ่งเป็นผู้สร้างพระชุดนี้
อีกประการหนึ่งคือ ส.เสือ หมายถึง สุปฏิปันโน แปลว่าผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ลองสังเกตดูให้ดี ส.เสือ ตัวนี้ปลายหางจะเป็นอุณาโลมหางหยัก อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า
เราจึงแปลความหมายได้ว่า พระสงฆ์ผู้เทิดทูนพระพุทธเจ้า...”
ฟังแล้วยิ่งได้ใจครับ เห็นด้วยตามคำพูดของพระอาจารย์สมศักดิ์ จริงอยู่การทำงานอะไรสักอย่าง “วิธีการและเป้าหมาย” เป็นสิ่งที่เราควรจะนำมาคิดคำนวณกันอย่างถ้วนถี่ การที่เราจะมองเพียงเป้าหมายโดยไม่สนใจหรือละเลยวิธีการไปถึงเป้าหมาย...มันถูกต้องแล้วหรือ...ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
พระแร่บางไผ่ ที่ออกในนามของวัดนครอินทร์ครั้งแรกเป็นการสร้างในปี ๒๕๓๗ โดยมีหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่(ปลุกเสกเดี่ยว ณ.วัดบ้านไร่) และพุทธาภิเษกที่วัดนครอินทร์ โดย..
พระราชปรีชานนทโมลี วัดโมลี หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา หลวงพ่อสร้อย วัดเลียบ หลวงพ่อผัน วัดแปดอาร์ หลวงพ่ออินทร์ วัดบ้านบัว หลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ หลวงพ่อทิม วัดพระขาว และพระอาจารย์สมศักดิ์ ฐิตสกโข วัดนครอินทร์......
ครั้งที่ ๒ สร้างในปี ๒๕๓๙ โดยมีหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ (ปลุกเสกเดี่ยว ณ วัดบ้านไร่) และพุทธภิเษกที่วัดนครอินทร์ โดย...
หลวงพ่อเฮ็น วัดดอนทอง หลวงพ่อทิม วัดพระขาว หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา หลวงพ่อสร้อย วัดเลียบ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ หลวงพ่ออินทร์ วัดบ้านบัว หลวงพ่อผล วัดเชิงหวาย หลวงพ่อทองใบ วัดสายไหม และพระอาจารย์สมศักดิ์ ฐตสกโข วัดนครอินทร์
และครั้งล่าสุดเมื่อ ๔ เมษายน ๒๕๕๒ โดยหลวงพ่อตัด วัดชายนา ปลุกเสกเดี่ยว ณ วัดชายนา หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกรินกฐิน ปลุกเสกเดี่ยว ณ วัดเกรินกฐิน พุทธาภิเษกที่วัดนครอินทร์ โดย...
หลวงพ่อรวย วัดตะโก หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน พระอาจารย์อึ่ง วัดเชิงหวาย และพระอาจารย์สมศักดิ์ ฐตสกโข วัดนครอินทร์
สำหรับประสบการณ์ไม่ต้องถามถึงครับ มันมีมากเสียจนผมเขียนไม่ไหว เอาเป็นว่าหากเพื่อนๆท่านใดว่างก็เข้าไปฟังประสบการณ์ได้ที่วัดนครอินทร์ครับ มีการนำมาบอกเล่ากันทุกวัน เข้าไปสัมผัสตัวจริง เสียงจริง น่าจะได้ใจมากกว่า....
ครับเรื่องราวของแร่บางไผ่และพระอาจารย์สมศักดิ์ แห่งวัดนครอินทร์ เป็นการตามหาความจริงจากตำนานในอดีต...
ใครจะรู้เล่าครับว่าแร่บางไผ่นี้มีจริงหรือไม่และเมื่อมีจริงแล้วเราควรจะทำอย่างไร พระอาจารย์สมศักดิ์ ท่านได้เฉลยสิ่งที่ท่านได้ทำขึ้นให้พวกเราเห็นแล้ว คือการทำคุณประโยชน์ให้กับพระศาสนา...
นอกจากนั้นเราเห็นอะไรจากตำนานในอดีตอีกครับ.....
ลองมองดูสิครับ....ลึกลงไปใต้ผืนนาของ “มหาอัน” และใต้ผืนน้ำ “คลองบางคูลัด” แร่บางไผ่ที่พระอาจารย์สมศักดิ์ได้ค้นพบ นอกจากมันจะถูกนำมาสร้างเป็นวัตถุมงคลเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและใช้คุ้มครองตัวแล้ว
"แร่บางไผ่แห่งคลองบางคูลัด" มันยังเป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมอันลุ่มลึกและอดีตอันรุ่งเรือง ที่หล่อหลอมจิตวิญญาณของชาวนนทบุรีมานับร้อยปี.....สวัสดีครับ...
เครดิตเวป : พระอาจารย์สมศักดิ์ ฐิตสกโข วัดนครอินทร์ ตอน มหัศจรรย์แร่บางไผ่กับมรดกอันรุ่งเรือง จากวัดโมลีสู่วัดนครอินทร์ไฟล์ที่แนบมา:
-
หน้า 2 ของ 2