เที่ยงคืน วันที่ 12 มีนาคม 50 ผมต้องสูญเสียเพื่อนที่ผมรัก สหายที่เคยร่วมทุกข์ ร่วมสุขกันมากว่า 30 ปี
สหายเชิด หรือสุวิทย์ วัดหนู คนของประชาชน ต้องสิ้นลมหายใจจากพวกเราไปในวันและเวลาที่รวดเร็วปานนี้
เสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกที่ผมทราบข่าว
ผมสับสน โกรธ และเคียดแค้นชิงชังสังคมไทย กับโรคร้ายที่คร่าชีวิตของสหาย
ทำไม โลกใบนี้ไร้ความยุติธรรมเหลือเกิน
คนที่ควรจะต้องตายตกจากโลกนี้มีมากมาย
ทำไมคนเหล่านั้นยังอยู่ แถมยังเชิดหน้าชูคอ สังคมยอมรับนับถือบูชา
สหายเชิด เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของขบวนการประชาชน ที่สังคมต้องจดจำ และเรียนรู้ศึกษาจิตใจปฏิวัติของสหาย
ทุกลมหายใจของสหาย นอกเหนือจากการนอนหลับพักผ่อน
ผมกล้ายืนยันได้ 100% สหายคิดคำนึงถึง แต่เรื่องของประเทศชาติ และประชาชน ไม่มีคราใดเลยที่สหายคิดถึงตัวตนของตัวเอง
สหายเป็นแบบอย่างของผู้นำหน้าที่มีจิตสาธารณะเพื่อคนอื่นโดยแท้
ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นเผด็จการเมื่อ 30 กว่าปี
สหายเชิดตัดสินใจเลือกแนวทางการปฏิวัติประชาชาติ ประชาธิปไตย บนหนทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพื่อยึดอำนาจรัฐ สถาปนาสังคมใหม่ สร้าง ประชาธิปไตยของประชาชน
วันที่ผมรู้จักสหายเชิดวันแรก เราพบกันในเขตงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี สหายอยู่ในชุดเครื่องแบบของทหารปลดแอก สังกัดกองทัพปลดแอกประชาชน แห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ดาวแดงบนหมวกของสหายส่งประกายสอดรับกับแววตาที่มุ่งมั่น และยืนหยัดในภารกิจของทหารลูกหลานประชาชน
เรารู้จักกันไม่นาน ก็จำต้องแยกย้ายจากกันเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามที่พรรคมอบหมายแบ่งงาน
สหายเชิดได้รับภาระหน้าที่ไปบุกเบิกเขตใหม่ ในเขตจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในทุกด้าน
สหายเชิด ก็ไม่เคยปริปาก ย่อท้อ มุ่งมั่นทำงานจนเขตงานขยายตัวเติบใหญ่ จนสามารถต่อเชื่อม ร้อยแนวไปยังจังหวัดประจวบฯ เพชรบุรี
รวมระยะเวลาที่สหายเชิดทำงานปฏิวัติในเขตชนบทกว่าแปดปี
ครั้นเมื่อเกิดวิกฤตที่องค์การนำของพรรคถูกทำลาย สหายนำจำนวนมากถูกจับกุม บางส่วนแปรพักตร์ ยอมจำนนยอมรับ มาตรา 17 สัตตะ
สหายเชิดก็หายอมจำนนต่อระบอบสังคมเก่าไม่
วันเวลาที่สหายเดินออกจากป่ามา สหายไม่คิดจะไปมอบตัวต่อหน้าศัตรูทางชนชั้น
เมื่อกลับมาสู่อ้อมอกของครอบครัว และประชาชนในเมือง
สหายเลือกที่จะทำงานปฏิวัติต่อ บนหนทางการต่อสู้ที่หลากหลายรูปแบบ และต่อเนื่อง
ซึ่งต่างกับสหายบางส่วนที่ละทิ้งการปฏิวัติ กลับไปสู่ฐานะทางชนชั้นเดิม
ชีวิตความเป็นอยู่ของสหายคงเส้นคงวา อยู่อย่างเรียบง่าย ไม่มุ่งสะสมทรัพย์สมบัติ
ใช้ชีวิตแบบกรรมาชีพ จะมีที่อาจเรียกว่าเป็นสมบัติก็แต่เพียงบ้านหลัง เล็กๆ ที่เคหะธานี สุขาภิบาล 3 และรถปิกอัพเก่าๆ ที่สหายคนหนึ่งขายให้ในราคาถูก
ความใฝ่ฝัน อุดมการณ์ของสหายเชิดไม่เคยแปรเปลี่ยน
ภายใต้สถานการณ์ใหม่ สหายเชิดมีความมุ่งมั่นอย่างยืนหยัด เขาไปในทุกที่ที่มีมวลชน และโฆษณาจัดตั้งทุกสถานที่ที่มีโอกาส
และในวันสุดท้ายของชีวิต วันนั้นสหายก็ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ศึกษาเรียนรู้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมจนวินาทีสุดท้ายก่อน ที่จะสิ้นลมหายใจ
ถึงวันนี้ สหายจงหลับเถิด ภารกิจปฏิวัติที่สหายใฝ่ฝัน ลมหายใจแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ จะไม่มีวันสิ้นสุด
พวกเราผู้อยู่หลัง จะเดินตาม และต่อลมหายใจของสหาย
จากหนึ่งไปสิบ จากสิบไปร้อย จากร้อยไปพัน จากพันไปหมื่น จากหมื่น ไปแสน จากแสนไปล้าน........
เอกสารชิ้นนี้เป็นชิ้นสุดท้ายที่แสดงตัวตนและจุดยืนที่มั่นคงของสหายเชิด
ขอเราทุกคนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย จงศึกษา อภิปราย สานต่อ แบก รับภารกิจต่อลมหายใจการปฏิวัติประชาชาติ ประชาธิปไตยของสหายเชิด
เอกสารแนะนำพรรคการเมืองทางเลือก (ฉบับร่าง)
สถานการณ์สากล
นับแต่การอ่อนตัวลงของแนวคิดสังคมนิยมในหลายประเทศและต่อเนื่อง มาถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้อิทธิพลของแนวคิดทุนนิยมพัฒนาและขยายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก การประกาศอย่างมั่นใจว่าทิศทาง ของสังคมโลกมีเพียงทุนนิยมเพียงเส้นทางเดียว ด้านหนึ่งได้ก่อเกิดความสับสนในหมู่นักคิดและนักต่อสู้เพื่อสังคมที่เคยเชื่อมั่นในแนวคิดสังคมนิยม ด้าน หนึ่งได้เกิดการพัฒนาระบบทุนนิยมเข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
ทุนนิยมเสรีใหม่ได้พัฒนาพลังการผลิตเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง จัดระเบียบความสัมพันธ์การผลิตบนพื้นฐานการค้าเสรีภายใต้กลไกรองรับ เช่น กองทุนระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก สร้างระบบการเมืองแบบ ประชาธิปไตยเสรีที่มุ่งเน้นประชาธิปไตยตัวแทนหรือประชาธิปไตยทางอ้อมละเลยประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือ ทุนนิยม เสรีใหม่ประกาศอย่างชัดเจนว่าระบบการเมืองต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการ เลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งดอกผลจากแนวคิดของทุนนิยมเสรีใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมปัจเจกชน บริโภคนิยม การยื้อแย่งแข่งขัน และเสื่อมถอยจริยธรรม
ภายหลังปี 2530 โลกได้ก้าวผ่านยุคสงครามเย็น กลุ่มประเทศมหาอำนาจ มุ่งเน้นที่จะขยายอิทธิพลด้วยการจัดระเบียบสังคมโลกภายใต้แนวคิดทุนนิยม เสรีใหม่ โดยสร้างกระแสเสรีภาพเป็นธงนำ การค้าเสรีได้ประกาศก้าวข้ามพรมแดนแห่งเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างกันของมนุษยชาติทั้งใน ด้านภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่างประเทศที่พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีไม่เท่าเทียมกัน มีทรัพยากรธรรมชาติแตกต่างกัน กลุ่มประเทศมหาอำนาจได้อาศัยความเหนือกว่าเอารัดเอาเปรียบจากกติกาการค้าเสรี และรุกรานประเทศที่อ่อนแอกว่าเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย เกิดเป็น ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำของมนุษยชาติที่ประชากรโลก 2,000 ล้านคนหรือประชากร 1 ใน 3 ของโลกอยู่ในภาวะยากจนขาดแคลนปัจจัย 4 ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ทั้งที่รายงานทางวิชาการระบุว่าอาหารในโลกนี้พอเพียงที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก ขณะที่คนอีก 1 ใน 3 ของโลกอยู่ในภาวะยากจน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,500 ล้านคนมีชีวิตที่สุขสบาย และมีเพียง 500 ล้านคนที่อยู่ในสถานะร่ำรวยระดับเศรษฐีและมหาเศรษฐีของโลก
ผลจากการเอารัดเอาเปรียบที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดขบวนการ ของประชาคมโลกที่คัดค้าน และต่อต้านแนวทางทุนนิยมเสรีใหม่กระจายตัวไปในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าขบวนการของประชาคมโลกจะยังไม่สามารถเชื่อมประสานเป็นขบวนการที่เป็นเอกภาพชัดเจน เนื่องจากมีความคิดที่ แตกต่างกันต่อการมองถึงทางออกของสังคมโลก รูปธรรมของขบวนการ เช่น กลุ่มประเทศมุสลิม ขบวนการสังคมนิยมในประเทศแถบละตินอเมริกา กลุ่มสังคมนิยมในยุโรป, แอฟริกา, อเมริกา และเอเชีย เป็นต้น ขบวนการประชาคมโลกแม้จะยังแตกต่างกันทั้งแนวคิด ระดับของความเข้มแข็ง และขนาด ขององค์กร แต่ก็มีจุดร่วมที่สำคัญ 2 ประการคือ การต่อต้านทุนนิยมเสรีใหม่และคัดค้านสงคราม
สถานการณ์สังคมไทย
สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมมานานกว่า 100 ปีแล้ว เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก เนื่องจากรากฐานการผลิตเป็นเกษตรกรรม ยังมีลักษณะวิธีการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้มากกว่าผลิตเพื่อขาย กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มมุ่งสู่อุตสาหกรรมควบคู่ไปกับเกษตรกรรม แต่การส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมมีมากกว่าภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรมและเมืองกับชนบท สังคมไทยเริ่มผูกพันกับกระแสทุนนิยมอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เป็นความผูกพันทั้งทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบการค้าเสรี ทางการเมืองที่พัฒนาจากระบบเผด็จการทหารมาสู่ระบบประชาธิปไตยเสรี และได้ก่อเกิดวัฒนธรรมปัจเจกชน บริโภคนิยม แก่งแย่งแข่งขันและเสื่อมทรุดทางจริยธรรม
ภาพโดยรวมของสังคมไทยในปัจจุบัน หากมองอย่างผิวเผินจะพบว่ามีความเจริญมากขึ้นในหลายด้าน เช่น ด้านสาธารณูปโภค การคมนาคม การสื่อสาร การแพทย์ เป็นต้น แต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่าเรายังล้าหลังในหลายด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยี การศึกษา อุตสาหกรรม พลังงาน เป็นต้น ผล จากการพัฒนาประเทศที่ผูกพันกับระบบทุนนิยมเสรีใหม่แม้ว่าด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดความเจริญ แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่าง ชัดเจน ซึ่งอาจจะกล่าวอย่างรวบรัดว่าสังคมไทยเจริญแต่ไม่พัฒนา เพราะตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริงอยู่ที่คุณภาพชีวิตของคนในสังคม
สถานการณ์สังคมไทยในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างชัดเจน รูปธรรมก็คือวิถีการผลิตเป็นการผลิตเพื่อขาย ระบบเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตลาดเสรีโลก มุ่งเน้นอุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการ และภาคการเงิน ขณะที่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและการ ค้นคว้าระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองซึ่งเป็นฐานรากระบบเศรษฐกิจแท้จริงกลับได้รับการส่งเสริมน้อยมาก ทั้งที่สังคมไทยก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้หลายครั้งด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจเกษตรกรรม ในด้านการเมืองสังคมไทยยังอยู่ภายใต้ แนวคิดอำนาจนิยมที่ถูกแปรเปลี่ยนจากอำนาจเผด็จการทหารมาเป็นอำนาจเงิน การเมืองเริ่มเข้าสู่ระบบผูกขาดของกลุ่มทุนที่ร่ำรวย การเชื่อมประสานระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจเงินอย่างแยบยลของกลุ่มทุนได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีใหม่ ที่ดูเหมือนจะมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันในการเลือกอาชีพ การทำงานเพื่อดำรงชีพ แต่ความไม่เท่าเทียมกันในด้านของความรับรู้ การได้รับการบริการจากรัฐได้นำไปสู่ความแตกต่างทางโอกาสของคนในสังคม โดยเฉพาะคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ได้รับโอกาสน้อยมาก ผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาจึงตกอยู่กับคนส่วนน้อย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจึงถ่างกว้างขึ้น และดอกผลที่ตามมาคือความไม่สงบสุขในสังคม ปัญหาอบายมุข การปล้นชิงทรัพย์สินจึงเกิดเพิ่มมากขึ้น รากฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยที่เคยโอบอ้อมอารีกำลังเสื่อมสลายเพราะระบบสังคมได้บีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัว กระทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม
เหตุผลในการจัดตั้งพรรคการเมืองทางเลือก
เหตุผลสำคัญในการจัดตั้งพรรคการเมืองทางเลือกมี 4 ประการ คือ
ประการแรก เกิดจากการประเมินอนาคตของสังคมไทยที่หากยังมุ่งเน้นพัฒนาประเทศไปตามแนวทางทุนนิยมเสรีใหม่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมอย่างรุนแรง ทั้งในด้านการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะถ่างกว้างขึ้น สิทธิและโอกาสของคนในสังคมจะเกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น ส่งผลถึงความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงแก่งแย่ง แข่งขัน และจะเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะทำให้สังคมไม่เกิดสันติสุขอย่างแท้จริง
ประการที่สอง พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเน้นสนับสนุน ทิศทางการพัฒนาประเทศไปในแนวทางทุนนิยมเสรีใหม่ เพียงแต่มีแนวคิดที่จะปรับปรุงวิธีการในการบริหารจัดการมากกว่าการค้นคว้าทิศทางการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย รูปธรรมของการปรับปรุง เช่น การบริหารแบบธรรมาภิบาล ทุนนิยมเมตตาธรรม เป็นต้น ซึ่งเนื้อแท้แล้วขัดแย้งกับหลักคิดของทุนนิยมเสรีที่มุ่งเน้นกระตุ้นกิเลสของปัจเจกชน ส่งเสริมการแข่งขันมากกว่าการแบ่งปัน
ประการที่สาม กลุ่มประชาสังคมที่คัดค้านทุนนิยมเสรีใหม่ยังมีความหลาก หลายในแนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศ ด้านหนึ่งความหลากหลายก็เป็น จุดแข็งที่ก่อให้เกิดการค้นคว้า และเป็นภาพแห่งเสรีประชาธิปไตย แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นจุดอ่อนต่อการเชื่อมประสานของกลุ่มคนในสังคมที่มุ่งหวังจะร่วมกันค้นคว้า ทางออกของสังคมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเสนอเป็นทางเลือกต่อสาธารณชน
ประการสุดท้าย สถานการณ์ทางสังคมพัฒนามาถึงจุดที่มีเงื่อนไขให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อค้นคว้า และดำเนินกิจกรรมอันจะนำไปสู่การเสนอทางออกและทิศทางการพัฒนาสังคมที่แตกต่างจากแนวทางทุนนิยมเสรีใหม่ พรรคการ เมืองทางเลือกจึงเป็นองค์กรที่จัดตั้งเพื่อรองรับการเชื่อมประสานของกลุ่มคนที่มุ่งหวังจะร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
ลมหายใจที่ไม่มีวันสิ้นสุดของผู้ไม่ยอมจำนน...
ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย 1redstar, 19 มีนาคม 2007.