(วิชชา ๘) วิชชาจรณสัมปันโน พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 19 ธันวาคม 2015.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    a.3577287.jpg



    วิชชาจรณสัมปันโน
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    วัดอโศการาม ถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
    ๔ ตุลาคม ๒๕๐๓





    จะอธิบายเรื่อง วิชา วิชาในที่นี้เป็นวิชาส่วนสูง ไม่ใช่วิชาธรรมดาสามัญ วิชาสามัญนี้มันกิเลสอาสวะมาก จึงเรียกว่า เหฏฐิมะวิชา เป็นวิชาเบื้องต่ำวิชาเบื้องต่ำนี่ย่อมเป็นสิ่งที่มีทั่วไปแก่พุทธบริษัท แม้จะเป็นคนมิจฉาทิฐิก็มี เช่น ความฉลาดในวิชาด่าง ๆ ในทางโลกซึ่งเขาได้ศึกษากันมาตรฐานแบบตามตำรับ เพื่อเป็นการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองของเขา และวิชาพิเศษชั้นหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากนักปรัชญาชั้นสูง เช่น พวกคิดในทางวิทยาศาสตร์สามารถที่จะประดิษฐ์วัตถุต่างๆ ให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ไว้ใช้สอยแก่สามัญชนโดยทั่วไป เช่น เครื่องยนต์กลไกสามารถจะสร้างตาทิพย์ หูทิพย์ หรือเครื่องยนต์ เช่น เครื่องบินอย่างนี้เป็นต้น จนสามารถที่จะทำสิ่งมหัศจรรย์ใช้แทนมนุษย์ให้ประกอบกิจการต่างๆ อาจสำเร็จตามความประสงค์ของเขาเช่น สมัยสงครามที่เขาริเริ่มกันอยู่ได้ทราบว่าไปทิ้งระเบิดไม่ต้องใช้มนุษย์ไปด้วย และลามารถที่จะชี้มือชี้เท้าของเขาเหล่านั้น บงการว่าจะให้ไปที่ไหน ทำอะไร ย่อมสำเร็จตามความประสงค์ของเขาได้ เมื่อสำเร็จกิจการเหล่านั้นจนเป็นที่พอใจ ก็สามารถที่จะเรียกวัตถุเหล่านั้นกลับคืนมาบ้านเก่า อันนี้เป็นความเจริญของวิชาในทางโลก วิชาเหล่านี้เรียกว่า โลกิยวิชา เป็นวิชาของคนสามัญในโลก มีหลักเกณฑ์อยู่สองชนิดดังกล่าวมา


    วิชาพิเศษ มันก็จะไม่ทำเช่นนั้น เป็นวิชาค้นคิดสำเร็จมาจาก จินตามยปัญญา ไม่ใช่สำเร็จมาจากการศึกษาจากโรงร่ำโรงเรียน คือสำเร็จขึ้นในทางจิต คือพวกแก่กล้าในการศึกษาในทางปรัชญาหรือจิตวิทยา พวกนี้ต้องอาศัยแต่ความคิด เมื่อคิดให้ปรากฏรูป บางทีก็ถึงกับเกิดอุคคหนิมิต เช่น จะคิดอะไรสักอย่าง มันสำเร็จรูปมาจากใจของเขา เป็นภาพสำเร็จรูปมาเลย เมื่อสำเร็จรูปในใจบางคราวก็เขียนภาพ บางคราวก็ไม่ได้เขียนภาพ ทำทดลองด้วยวัตถุ เมื่อทดลองใช้การไม่สำเร็จก็พยายามแปรความคิดเก่านั้นให้ผิดไป เป็นความคิดใหม่ขึ้นมาจากความคิดเก่า ก็ขยายตัวออกทีละนิด ๆ ในที่สุดก็สำเร็จตามความต้องการของเขา ถ้าเรามาคิดกันตื้นๆ ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ถ้าคิดให้ลึกก็มิใช่ของแปลกประหลาด อย่างคิดอีกแบบหนึ่งเช่นอย่างเขาคิด คนตัวเล็ก ให้มันตัวโต คนตัวโต ให้มันตัวเล็ก คิดกันตื้นๆ แค่นี้เสียก่อน แล้วเขาก็ตัดกระจก แผ่นเดียวนั่นแหละ เมื่อตัดกระจกเข้า ทีนี้ไอ้คนสูง มันก็กลายเป็นคนต่ำ คนต่ำก็กลายเป็นคนสูง คนเล็กก็กลายเป็นคนโต คนโตก็กลายเป็นคนเล็ก คิดกันตื้นๆ แค่นี้แหละ คิดไปจนสามารถที่จะเอารูปไกล ๆ เข้ามาใกล้ ๆ ได้


    ครั้งแรกนั้นก็มักเป็นพวกผู้คิดในทางฝ่ายยุทธศาสตร์ ความคิดเกิดจากพวกนี้ก่อน อีกแขนงหนึ่ง ความคิดมันเกิดขึ้นจากพวกแพทยศาสตร์ พวกนี้ต้องใช้ความคิดลึกกว่าธรรมดา หรือเช่นพวกเดินเรือทะเล เขาก็คิดที่จะมองหาเรือที่เดินผ่านไกล ๆ ทำอย่างจึงจะมองเห็น ทำอย่างไรจึงจะทำเรือลำนั้น ให้เงามาติดในเรือของตน พยายามคิดไปจนสำเร็จ คิดขั้นแรก ก็คิดโง่ ๆ อย่างเรานี่แหละ คิดโง่ ๆ อย่างไร คิดแบบกระจกส่องหน้านี่เองไม่ได้คิดวิเศษวิโส ทำเสากระโดงให้สูงขึ้นไปบนอากาศ เมื่อวัตถุต่างๆ มาติดกระจก ก็เอากระจกต่อกระจกมาส่องกันเอง ทีนี้ส่องกันไปส่องกันมาหลาย ๆ บานเข้า กระจกเงานั้นก็คงเอารูปนั้นลงไปในท้องเรือ ไม่ต้องมองกระจกบานบน มองดูกระจกเล็ก ๆ อยู่ท้องเรือนั้น มองเห็นเรือลำนั้นอยู่ไกล ๆ ได้ เขาคิดกันแค่นี้แหละ นานๆ เข้า ก็สร้างกระจกแผ่นเดียว ทำกระจกนั้นให้เป็นคลื่น พอหรือมากระทบคลื่นกระจกบนคลื่นล่างก็รับ รับกันเรื่อยลงไปจนใต้แผ่นน้ำ คิดไปคิดมาจนในที่สุดเวลานี้ ไม่ต้อง เขาก็สร้างกล้องเรดาร์ขึ้นชนิดหนึ่งซึ่งไม่ต้องใช้กระจกเงา และไม่ต้องใช้กระจกเป็นคลื่น กล้องนิดเดียวเท่านั้นแหละสามารถที่จะคิดเอาเรือไกลๆ มาเห็นอยู่ในท้องเรือ จนสำเร็จตามความต้องการของเขา นี่เป็นวิชาชั้นสูงในทางวิทยาศาสตร์


    มาสมัยนี้ ในทางแพทยศาสตร์ก็ค้นคว้า ค้นคว้าในการที่จะไม่ให้มนุษย์ตาย ต่างคนต่างค้น แต่ยังไม่พบ ยังไม่เจอะ ค้นเท่าไรมันก็ยังตายกันอยู่ ยังไม่สำเร็จที่จะทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวไปกว่าธรรมดา ยังไม่สำเร็จ นี่ก็ค้นคิดพิจารณากันอยู่ โดยไม่ต้องอาศัยแบบตำรา แล้วมาสมัยนี้ ยังคิดคืบหน้าออกไปอีก แต่มันจะเป็นไปได้เพียงไรนั้น เป็นเรื่องของพวกเขาคิดว่าจะขึ้นไปอยู่ในพระอังคาร มันคงจะสบายมาก แต่ก็นึกว่ามันสำเร็จได้ยาก ทำไมถึงสำเร็จได้ยาก คือคนมันไม่จริง ทำไมถึงเรียกว่าไม่จริง มันสงสัย มันไม่ชัดในอกในใจ เป็นความคิดคาดคะเน มันยังไม่แน่ชัดในใจ ไอ้ความสงสัยอันนี้แหละ มันเป็นของที่สำเร็จได้ยาก นี่เรื่องวิชาของโลก เป็นวิชาพิเศษส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นของพวกนักคิด เรียกว่าจินตามยปัญญา


    แต่ว่าสรุปลงสองชนิดนี้ ไม่เป็นวิชาพ้นไปจากทุกข์ เป็นวิชาสร้างบาป เป็นวิชาสร้างกรรม มีอยู่ถึง ๗๐ ส่วน ส่วนวิชาที่จะให้ประโยชน์นั้นมีอยู่ ๓๐ เท่านั้น ทำไมถึงมีอยู่เพียง ๓๐ ถ้ามันก่อสงครามโลกละ ก็ฉิบหายละ แต่ส่วนที่ใช้ประโยชน์ ให้ความสะดวกในการคมนาคมของมนุษย์มันมีน้อยเหลือเกิน โดยมากมันมุ่งไปในทางประหัตประหารกัน มุ่งในทางสร้างอำนาจสร้างอิทธิพล โดยมากเป็นไปโดยอาการเช่นนั้น ฉะนั้น จึงไม่พ้นไปจากทุกข์ ไม่พ้นไปจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดูกันใกล้ ๆ อย่างทุกวันนี้ เช่น บางพวกฉลาด สร้างอะไรต่ออะไรต่าง ๆ มากมาย เมื่อสร้างแล้ว ก็เอาไปขายเอาเงินบางทีอาวุธหรือศาสตราที่ขายเขานั้น มันกลับไปฆ่าเขาผู้สร้าง ตัวอย่างเช่นบางประเทศสร้างอาวุธไม่ได้เลย แค่ประกาศสงครามต่อสู้กับผู้ให้อาวุธอย่างนี้เป็นต้น อันเป็นวิชาของโลก มันให้ผลเสมอเพียงแค่นั้น



    ฉะนั้น ในทางศาสนาของเรา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้แจงไว้อีกข้อหนึ่ง เป็นวิชาธรรม วิชาธรรมนี้เกิดขึ้นได้สองชนิด ชนิดหนึ่งเกิดจากความคิดนึกตรึกตรองพินิจพิจารณาเบื้องต้นท่านเรียกว่า วิตก วิจาร ต่ำกว่านั้นท่านเรียกว่า โยนิโส มนสิการ


    เมื่อเราได้สดับหรือเราได้ฟังเราจะต้องโยนิโสมนสิการ เราต้องใคร่ครวญทบทวน พินิจพิจารณาดูเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ ตัวอย่างเช่น เราจะทำบุญ เห็นเขาว่าบุญ ๆ เท่านั้น ได้ยินแค่ชื่อก็อยากได้ แต่ไม่ได้ไตร่ตรองพินิจพิจารณาว่าเองสิ่งใดมันเป็นสิ่งควรแก่การทำบุญ บุคคลชนิดไหนเป็นผู้ควรจะสมค่ากองบุญกองกุศลของเรา ต้องตรองพิจารณาดูเสียก่อน คือตรวจดูตนของตน และตรวจดูพัสดุที่ตนจะบริจาค แล้วก็ตรวจดูบุคคลที่จะรับวัตถุไปจากเรา ว่าเป็นการคู่ควรหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นการคู่ควร ก็ทำได้ แต่ว่าทำด้วยความรู้ ไม่ทำด้วยความหลง ไม่ทำด้วยความอยาก อยากได้ก็ทำ แต่ไม่มีการโยนิโสมนสิการ ก็ชื่อว่าขาดจินตามยะ ต้องใคร่ครวญพิจารณาทบทวนดูหลายๆ ชั้นเสียก่อนจึงค่อยประกอบกิจการเหล่านั้น จึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่าทำความดีอาศัยปัญญา


    ปัญญาที่เรียกว่า กุศลาธัมมา นี้เป็นชื่อของปัญญา แต่เราไม่ได้แปลกัน แปลกันแค่ว่ากุสลาคือกุศล กุศลส่วนนี้เป็นคุณศัพท์ เป็นนามศัพท์ก็ได้ เป็นกิริยาศัพท์ก็ได้ เป็นนามศัพท์นั้น กุสลาแปลว่าบุญ นี่นามศัพท์ กุสลาแปลว่าผู้แสดงมรรยาทให้เป็นไปด้วยความสุจริต มีการกระทำทางกายก็สุจริต ทางวาจาก็สุจริต มีความประพฤติเป็นไปในทางจิตก็ชอบ นี่ก็ชื่อว่ากุสลา เป็นกิริยาศัพท์ เป็นคุณศัพท์ก็ได้ ได้แก่การทำความดีอย่างนั้นๆ เราจะได้รับความบริสุทธิ์อย่างนั้นๆ นี่เป็นคุณศัพท์ ทีนี้ปัญหาก็เป็นคุณศัพท์ แปลว่ากุศโลบาย ทำสิ่งใดต้องอาศัยปัญญา ไตร่ตรองพินิจพิจารณาเสียก่อนให้รอบคอบจึงประกอบกิจการเหล่านี้ ให้สำเร็จขึ้นด้วยความสมบูรณ์ เรียกว่ากุศโลบาย ฉลาดมีนโยบายทำคุณความดีให้เกิดขึ้นในตนด้วยความบริสุทธิ์


    เหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงกำชับพวกเราให้เป็นผู้ไตร่ตรองพินิจพิจารณาโยนิโสมนสิการดู เป็นผู้ใคร่ครวญทวนหลายรอบเสียก่อน เมื่อเราใคร่ครวญทวนหลายรอบ ชัดเจนแจ่มแจ้งในจิตแล้วก็ทำ


    ธรรมดาทางเช่นใด หมั่นเดินหมั่นเตียน เตียนเข้าๆ เราสามารถที่จะมองเห็นประตูได้ เดินกลับไปกลับมาหลายๆ ครั้ง ต้นหญ้ามันก็ตาย ความรู้มันก็เกิดขึ้น ทางที่เราเดินอยู่นั้น เป็นต้นไม้อะไร เป็นผักอะไร กินได้หรือกินไม่ได้ เราก็ทราบ ทางเดินของเรามันเตียนขึ้น ทางที่เตียนนั้น มันได้ผลหลายอย่าง อย่างหนึ่งเดินสบายเท้า อย่างที่สองเกิดผลพลอยได้ตัวอย่างเช่น เรารู้ของที่อยู่ริมทาง ผักหญ้าชนิดไหนที่เขานิยมกินได้ หญ้าชนิดไหนกินไม่ได้ ถ้ากินไม่ได้เราจะเอาไปทำประโยชน์อะไร มันอาจที่จะทำเป็นปุ๋ยก็ได้ ที่กินได้เราจะเอาไปทำอะไร เหลือกินก็เอาไปขายที่ตลาด นี่เรียกว่าผลพลอยได้ นอกจากนั้นเมื่อต้องการรีบด่วน จะวิ่งก็สบาย เราจะนั่งถูนั่งไถอยู่ก็สบายก้น แม้เราง่วงนอน จะนอนไปในทางที่เตียนก็ได้ หรือมีงูหรือศัตรูต่าง ๆ มาผ่านทางเข้า เราสามารถที่จะวิ่งได้ด้วยความเร็ว ได้ผลความดีขึ้น พวกเราจะทำสิ่งใดในส่วนบุญส่วนกุศลนั้น ถ้าใคร่ครวญทวนหลายๆ ครั้งได้รับผลดี นี่เรียกว่า จินตามยปัญญา ในข้อต้น



    ข้อที่สองต่อไปนั้น เป็นการที่ลึกเข้าไปอีก ท่านเรียกว่า วิตก วิจาร ท่านไม่เรียกว่า จินตามยะ แต่มันก็อยู่ในจินตามยะนั่นเองแหละ แต่ต่างกัน ในข้อนี้ก็ควรจะตั้งชื่อขึ้นอีกว่า ภาวนามยปัญญา คนภาวนาก็ต้องคิดเหมือนกัน ภาวนาไม่คิดไม่ได้ ต้องอาศัยความคิดเป็นเครื่องประกอบองค์ภาวนา

    ตัวอย่างเช่น องค์ฌาน ท่านบอกว่า วิตก ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจาร เลือกอารมณ์ว่า เราพิจารณากรรมฐานอันใดเป็นที่สะดวกสบายแก่ตน พิจารณาดูกรรมฐานเมื่อเราเห็นว่าสิ่งนี้แหละเป็นที่สะดวกสบายแก่ตน เช่นหายใจ อย่างนี้เป็นต้น หายใจช้า หายใจเร็ว หายใจสั้น หายใจยาว หายใจแคบ หายใจกว้าง หายใจร้อน หายใจเย็น หายใจอุ่น หายใจแค่ปลายจมูก หายใจแค่คอหอย หายใจลงไปถึงหัวอก เมื่อเรามาคัดเลือกอารมณ์ จนเป็นที่ชอบใจแล้ว ก็จับอารมณ์นั้น เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ ทำจิตให้เป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตา

    เมื่อเราได้องค์เอกัคคตาเกิดขึ้นในดวงจิต วิจาร พิจารณากรรมฐาน วิตก ยกอารมณ์นั้นให้เด่น อย่าให้จิตของเราแยกจากอารมณ์ อย่าให้อารมณ์แยกจากจิต ให้นึกว่าเหมือนกับ ข้าว ให้ ข้าว ของเราที่จะกินนั้นตรงเข้าไปในปาก ให้ปากมันตรงกับก้อนข้าว อย่าให้มันพลาด ถ้าพลาดก็เลยไปหูโน่น กินข้าวเอาอุดเข้าไปในรูหู บางทีก็ใส่ใต้คาง บางทีก็ใส่ไปในลูกตา บางทีก็ใส่ไปบนหน้าผาก อย่างนี้ก็ไม่สำเร็จในการกิน ฉันใดก็ดี อารมณ์ของเรา ที่เรียกว่าหนึ่งนั้นน่ะ บางทีก็ไพล่ไปโน่น อดีต ล่วงไปตั้งร้อยปี ยังไปสาวอยู่โน่น บางทีก็เปิดไปอนาคต ซึ่งยังไม่มาถึง ก็ไปสาวเรื่องราวเข้ามารกอกรกใจ นี่เรียกว่ายื่นคำข้าวขึ้นแล้วมันก็เลยศีรษะ ตกไปข้างหลัง หมาเอาไปกินหาย บางทีก็ยกขึ้นมาแค่ปากยังไม่ได้คาบ ผ่าปาไปข้างหน้าโน่น เมื่อเป็นอย่างนี้ เรียกว่าจิตของเรายังไม่แนบสนิทอยู่ในอารมณ์ เมื่อยังไม่แนบสนิท ตัววิตก มันยังไม่แน่น เราต่อสู้ทำตัววิตก ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แล้วก็ประคองจิตขึ้นอยู่ในอารมณ์นั้น เหมือนคนที่ประคองอาหารของตน ให้มันตรงกับปาก ให้มันเข้าปาก อันนี้ท่านเรียกว่า วิตก คำข้าวตรงปาก ปากตรงคำข้าว


    แน่ใจว่าเป็นคำข้าว อะไร เป็นอาหารหวาน หรืออาหารคาว เป็นอาหารประณีตหรือหยาบ เมื่อเราทราบเรื่องราวแล้วก็ปั๊ปเข้าไปในปาก เคี้ยวขยำเข้าไปเลย นี่ท่านเรียก วิจาร ได้แก่ พวกเราตรองอารมณ์ อารมณ์ที่เรากำหนดอยู่นั้น พิจารณา พิจารณาอารมณ์ที่เรากำหนดอยู่นั้น อารมณ์ที่มันเกิดขึ้น บางคราวก็เป็นส่วนอุปจาระภาวนา พิจารณาอารมณ์หยาบๆ ให้มันละเอียด พิจารณาลมหายใจ เมื่อหายใจยาวก็พิจารณาลมหายใจยาว เมื่อหายใจสั้นก็พิจารณาลมที่หายใจสั้น เมื่อหายใจช้าก็พิจารณาลมหายใจช้า ว่าลมอยู่กับจิตหรือไม่ จิตอยู่กับลมหรือไม่ หายใจสะดวกคล่องแคล่วดีหรือไม่ ตรวจพิจารณาลมอยู่โดยอาการเช่นนี้ นี่เรียกว่า วิจาร


    เมื่อวิตก วิจาร เกิดขึ้นในดวงจิต เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งปัญญา วิตก เป็นองค์สมาธิ เอกัคคตา เป็นองค์สมาธิ วิจารณ์ เป็นองค์ปัญญา เมื่อสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้น จิตนิ่งสงบ ก็เกิดวิชาขึ้น


    ถ้าวิจารณ์มาเกินไปความสงบมันก็ดับ ถ้าสงบเกินไป ความคิดมันก็ดับ ให้คุมการสงบจิตของเรา ให้พอดีพอเหมาะให้พอดีกัน ถ้าปรุงไม่เป็นมันก็เกิดโทษ บางทีสงบมากเกินไปมีโทษ คือจิตมันเดินช้าในทางปฏิบัติ บางคราวคิดมากเกินไปจนสมาธิดับ ไม่ดี นั่นก็เลยไปอีก นี่ท่านให้พิจารณา วิจารดูให้มันถี่ถ้วน เหมือนเรากินอาหารอีกแหละ อาหารที่เราอยากถมเถกินเข้าไปติดคอตายก็มี อันใดที่ให้ประโยชน์ พอสู้ได้ เช่น ฟันเราพอใช้หรือยัง บางคนก็มีแต่เหงือกแต่อยากกินอ้อย นั่นมันผิดธรรมดา บางคนก็ฟันหักฟันหลุด เจ็บปวด ยังอยากกินแต่ของแข็งๆ มันก็เกิดโทษ นี่มันเป็นอย่างนี้ ดวงจิตของเรามันก็เหมือนกัน เมื่อสงบเข้านิดๆ หน่อยๆ ก็อยากรู้อยากเห็น อยากมี อยากเป็น อยากได้ อยากดีเลยตัว นี่เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องปรับปรุงสมาธิให้พอกับฐานเสียก่อน ปรับปัญญาให้มันพอเหมาะ สมาธิก็ให้พอเหมาะกับปัญญา ปัญญาก็ให้มันพอเหมาะกับสมาธิ การปรับปรุงข้อนี้เป็นส่วนสำคัญมาก คือองค์วิจารแก่ ตัววิตกมันก็มั่น


    ตัวอย่าง เรามีควายตัวหนึ่ง เอาเชือกผูกมัดหลัก แล้วก็ตีหลักจมลงไปในดิน ถ้าควายมีกำลังมาก มันวิ่งหรือมันเดินหลักเราก็ถอน เมื่อหลักถอนก็เปิดเปิงไปอีก ต้องคอยดูกำลังควายของเราด้วย ถ้ากำลังมันแรงมากเกินไป ตีหลักให้มันแน่น คอยเฝ้าต้นเสาอยู่อย่างนี้เป็นต้น คือถ้าความฟุ้งซ่านของความคิดเรามันเลยเถิด มันเปิดเปิงไปนอกจากวงขอบของสมถะ กำหนดจิตลงไปให้สงบมาก แต่อย่าให้สงบมากจนลืมหน้าลืมหลัง ถ้าสงบมากเกินไปจนไม่รู้ตัวอะไรเลย ไม่รู้เรื่อง สงบมากเข้าก็มักลืม ทีนี้นั่งไม่รู้ตัว เผลอไปเป็นคราวๆ อย่างนี้ก็มี บางทีก็ไม่รู้ ตัวนั่งเงียบ บางทีก็รู้ แต่มันก็ผลุบๆ โผล่ๆ พวกนี้แหละ เรียกว่า สมาธิขาดการวิตก วิจาร การใคร่ครวญ มันก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิ ฉะนั้น ต้องสังเกตดูให้ดี แล้วใคร่ครวญพินิจพิจารณา แต่จิตไม่มีอาการไหวตัวไปตามความนีกคิด ความนึกคิดมันเป็นส่วนหนึ่ง ดวงจิตเราตั้งอยู่ในองค์กรรมฐาน เราจะหมุนตัวไปทางไหนเราก็หมุนอยู่ในหลัก เช่นเราเอามือกอดต้นเสาไว้มือหนึ่งหรือสองมือ เราจะวิ่งก็วิ่งวนอยู่กับค้นเสามันไม่เสียกำลัง ถ้าเราปล่อยเสา วิ่งวนสามรอบ เวียนศีรษะ ล้มปังไปทันที


    ดวงจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าคิดนึกตรึกตรองมองสิ่งใดก็ตาม ให้มันอยู่ในเอกัคคตารมณ์ ไม่มีอาการเหนื่อย ไม่มีเสียหาย ความคิดเป็นจินตามยปัญญา ความสงบเป็นภาวนามยปัญญา มันอยู่ด้วยกันทีนี้ นี่มันเป็นกุศโลบาย เป็นปัญญาในขั้นสมาธิ มันคิดกันไปเรื่อยอย่างนี้ ขั้นทานก็อยู่ในโยนิโสมนสิการ ขั้นศีลก็อยู่ในโยนิโสมนสิการ ทำสมาธิไม่ขัด มันเป็นตัววิตกวิจารแก่ขึ้นไปอีก เมื่อเรามีวิตกวิจารกำกับดวงจิต นึกเท่าไรดวงจิตยิ่งแน่ นั่งเท่าไรยิ่งคิด ดวงจิตก็แน่แน่วจนนิวรณ์ขาดไปจากจิตจากใจ ไม่เที่ยวไปตามสัญญาต่าง ๆ ดวงจิตนั้นก็จะเกิดวิชา ทีนี้มันก็เกิดวิชาขึ้น



    วิชาที่เกิดจากนี้คืออะไร ไม่ใช่วิชาธรรมดา คือมันมาล้างวิชาเก่า วิชาที่โยนิโสมนสิการไม่เอา ปล่อย วิชาที่เกิดขึ้นจากวิตกวิจารไม่เอา เลิก


    ทำจิตนิ่งสงบ เมื่อจิตสงบไม่มีนิวรณ์มาเจือปนก็เป็นตัวบุญเป็นตัวกุศล เมื่อดวงจิตของตนเป็นไปเช่นนั้น ไม่ติดสัญญาใดๆ ทั้งหมด สัญญาที่เคยรู้มาในทางโลกและทางธรรม จำได้มากน้อยเพียงใด ล้างเกลี้ยง เมื่อเรามาล้างไปจนหมดอย่างนั้น อย่างอื่นมันถึงจะเกิด ฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ยึดสัญญาความจำได้หมายรู้ในส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด จะต้องยอมจนตรอก คนใดที่มันเกิดความคิด มักในคราวจนนั่นแหละ ถ้าไม่แสดงตนเป็นคนจนตรอก มันไม่เกิดปัญญา คือหมายความว่า ไม่ต้องกลัวโง่ ไม่ต้องกลัวไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีไม่เป็น ไม่ต้องไปใช้สุตะ ปัญญาของสุตะไม่ต้องการ เพราะมันเป็นสัญญาอนิจจา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากจินตามยะไม่ต้องการ เพราะมันเป็นสัญญาอนัตตา ปล่อยให้มันดับไปหมดให้เหลือแต่ดวงจิตตั้งเที่ยง ไม่เอียงไปข้างหน้า ไม่เอียงไปข้างหลัง ไม่เอียงไปข้างซ้ายคือ อัตตกิลมัตถานุโยค คือความไม่พอใจ ไม่เอียงไปข้างขวา คือ กามสุขัลลิกานุโยค คือความไม่พอใจ ทำจิตให้นิ่งสงบเป็นกลางวางเฉย ตั้งตระหง่าน เมื่อจิตเป็นไปได้เช่นนี้ นั่นแหละสัมมาสมาธิ



    เมื่อสัมมาสมาธิเกิดขึ้น มันก็มีเงา มองเห็นเงาปรากฏ เกิดวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานคือตัววิชา วิปัสสนากรรมฐานเป็นตัวปฐมวิชา เป็นปรัชญาในทางพระพุทธศาสนาของเรา ท่านจึงจัดว่าเป็นวิชาข้อแรก


    เป็น วิชาข้อหนึ่งคือ วิปัสสนาญาณ
    วิชาข้อที่สองคือ อิทธิวิธี
    วิชาข้อที่สามคือ มโนมยิทธิ
    วิชาข้อที่สี่คือ ทิพพจักขุ
    วิชาข้อที่ห้าคือ ทิพพโสต
    วิชาข้อที่หกคือ เจโตปริยญาณ
    วิชาข้อที่เจ็ดคือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
    และวิชาข้อที่แปดได้แก่ อาสวักขยญาณ


    ทั้งแปดข้อนี้เป็นวิชาเกิดขึ้นจากสมาธิ คนไม่มีสมาธิไม่มีเกิด รับรองเด็ดขาด จะฉลาดมากน้อยเพียงใดก็ตาม มันไม่สำเร็จเป็นวิชา มันก็ตกอยู่ในอำนาจของอวิชชาทั้งนั้น วิชาแปดประการนี้ มันเกิดจากสัมมาสมาธิ วิชาแปดประการเกิดขึ้นแล้วท่านก็ไม่เรียกว่าความคิด ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ



    คือ เห็นว่าอันนั้นผิด ผิดจริง อันนี้ถูกถูกจริง นี่ สัมมาทิฏฐิ สิ่งที่ผิดเห็นเป็นถูก มิจฉาทิฏฐิ สิ่งที่ถูกเห็นเป็นผิด มิจฉาทิฏฐิ ส่วน สัมมาทิฏฐิ สิ่งเป็นผิด ผิดจริง สิ่งเป็นถูก ถูกจริง ถ้าจะกล่าวตามเหตุตามผลได้แก่เห็นอริยสัจธรรม คือเห็นทุกข์ มันทุกข์จริงๆ เห็นสมุทัยเกิด มันเป็นเหตุแห่งทุกข์จริงๆ เป็น อริยสัจ เป็นของไม่เท็จ เป็นของที่ค้านไม่ได้ เป็นของที่มีความจริง นี่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นในส่วนทุกข์เกิดมาจากเหตุ เหตุอันนี้ต้องทุกข์ ทุกข์จริงๆ เห็นเหตุแห่งความดับทุกข์ว่า ทางที่เราเดินไปนี้ มันต้องไปเข้านิพพานไม่ต้องสงสัย ถูกจริง ไม่ผิด เดินถึงก็ตาม เดินไม่ถึงก็ตาม แต่ความเห็นมันถูก เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ


    ทีนี้ข้อสองนั้น คือ รู้แจ้งทางนิโรธ ความดับทุกข์มีจริง เมื่อเราเจริญมรรค เราก็จะต้องดับทุกข์ได้จริง เมื่อรู้เห็นเป็นจริงเกิดขึ้นในดวงจิตอย่างนี้ ท่านเรียก วิปัสสนาญาณ นี่อย่างพิสดาร อย่างสั้นๆ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม มันไม่แน่นอนทั้งนั้น ตัวเราเองก็เป็นของไม่แน่นอน ตายก็ไม่แน่นอน แก่ก็ไม่แน่นอน มีลักษณะกลับกลอกหลอกลวง ยักย้ายแปรผันอยู่เป็นนิจ นี่เรียกว่า เห็นอนิจจัง อย่าไปดีใจในเรื่องอนิจจัง อย่าไปเสียใจในเรื่องอนิจจัง ทำจิตให้เป็นกลาง จึงเรียกวิปัสสนา


    บางทีเห็นเขาไม่เที่ยง ดีใจ บางทีเสียใจ ตัวอย่างเช่น เราไม่ชอบคนโน้นได้ข่าวว่าคนโน้นจะตายหรือป่วย หรือจะต้องถูกถอดยศ เราก็ดีใจ อยากให้มันตายเสียเร็ว ๆ เพราะสังขารของเขาไม่เที่ยง ความเป็นอยู่ของเขาไม่แน่ มันแปรไปได้ แต่เราพอใจ นี่เรียกว่าเป็นตัวกิเลส ทีนี้ถ้าไปเห็นคนดีเป็นลูกเป็นหลานได้ดิบได้ดี เป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีตา ดีใจ นั่นแหละดวงจิตเราผิดไปจากองค์อริยมรรค ไม่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ต้องทำใจเป็นกลาง ไม่ดีใจในวัตถุ ไม่เสียใจในวัตถุ ไม่ดีใจในเรื่องราวที่นึกคิดสำเร็จ ไม่เสียใจในเรื่องที่นึกคิดไม่สำเร็จ ทำดวงจิตเป็นกลาง วางเฉยอยู่อย่างนี้ นี่ความเป็นกลางของสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก พยายามแก้ดวงจิต อย่าให้เป็นไปในทางผิด พยายามต้อนดวงจิตให้มันเป็นไปในทางถูก นั่นเรียกว่า สัมมาสังกัปโป นี่เป็น วิปัสสนาญาณ


    ทีนี้ส่วน ความทุกข์ ก็เหมือนกัน เราจะเป็นทุกข์เองก็ตาม หรือคนอื่นเขาจะเป็นทุกข์เองก็ตาม ถ้าคนใดเป็นศัตรูแก่เราเป็นทุกข์ สาธุ ให้มันตายฉิบหายเร็วๆ เถิด ดวงจิตมันเอียง ถ้าคนใดเป็นเพื่อนเป็นมิตร เราได้ทราบข่าวว่าเขารวย เขามั่งเขามี อย่างนี้เราก็ดีใจ ถ้าหากเป็นลูกเป็นหลานเรา เจ็บหนักเราก็เสียใจ นี่ก็เรียกว่าดวงจิตเราล้มไปกับความทุกข์ มีความทุกข์ใจ ไปที่นั้นโดนทุกข์ ทำไมถึงโดน เพราะไม่มีวิชา เพราะจิตไม่ตั้ง คือดวงจิตไม่เป็นสัมมาสมาธิ เราต้องรักษาจิตของเรา อย่าให้มันแยกไปในความทุกข์ มันจะทุกข์ก็ทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ คนในโลกมันจะทุกข์ก็ตาม แต่กูไม่ทุกข์ไปกับมัน ร่างกายมันจะมีทุกข์เกิดขึ้น แต่ใจไม่ทุกข์ไปกับมัน มันจะทุกข์ก็ทุกข์ไป แต่ใจไม่ทุกข์ ทำจิตใจให้เป็นกลาง ไม่ดีใจในความสุขที่มีอยู่ในตน สุขมันก็ทุกข์ ทำไมมันทุกข์ ความสุขมันแปรได้ มันขึ้นมันลง มันสูงมันต่ำ แปรได้ คือมันทนไม่ไหว นั่นแหละคือทุกข์ ความเดือดร้อนก็ทุกข์ มันมีทุกข์สองทุกข์ เมื่อดวงจิตเห็นแจ้งชัดในกองทุกข์เช่นนี้ คือเห็นทุกข์ เป็นตัววิปัสสนาเกิดขึ้นในดวงจิต


    ส่วน อนัตตา มาพิจารณาถึงสิ่งสภาพทั้งหมด เราไม่ยึดสิทธิ เราไม่แสดงอำนาจ ไม่แสดงอิทธิพลว่าเก่งกาจสามารถทำลายสิ่งที่เป็นอนัตตานั้นให้อยู่ในอำนาจ เราจะไปกีดกันกั้นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่สำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จ ทีนี้มันจะแก่ก็ให้มันแก่ไปเถิด มันจะเจ็บก็ให้มันเจ็บไปเถิด มันจะตายก็ให้มันตายไปเถิด ไม่แสดงความดีใจในความตายของตนและคนอื่น ไม่แสดงความเสียใจในความตายของตนและคนอื่น ทำจิตเป็นกลางวางเฉย เป็น สังขารุเบกขาญาณ ปล่อยสังขารตามสภาพ ดวงจิตนั้นเป็นดวงจิตที่อยู่ในวิปัสสนา นี่เรียกว่าเป็นวิชาข้อหนึ่ง เป็นตัววิปัสสนาโดยสั้น เห็นสังขารเป็นของไม่เที่ยง เห็นสังขารเป็นทุกข์ เห็นสังขารไม่ใช่ตัวตน เราก็ปลดสังขารออกไปจากความยึดความถือ ปล่อยวางไปตามสภาพ


    ทีนี้ละก็ดีละซี ดีอย่างไร เราไม่ต้องเหนื่อยไปแบกสังขารอนิจจัง ของไม่เที่ยงเอาไว้ข้างหลัง อนัตตา ของไม่ใช่ตัวตนเอาไปไว้ข้างหน้า อุปาทานเป็นคนหาบทุกข์เอาไว้ในปัจจุบัน เอาละซีทีนี้ ตาขี้ทุกข์ ยายขี้ทุกข์ หาบกันไป บางทีแหละ อนัตตามันหนักข้างหน้า หกคะเมนเทนเท่ หัวปักดิน บางทีอนิจจังมันหนักข้างหลัง หงายท้อง ทุกขังถ่วงหนัก ขลุกขลัก ตกปลักจมดิน กลายเป็นพระเทวทัตแผ่นดินสูบ นี่จึงเรียกว่าขี้ทุกข์ คนขี้ทุกข์คนขี้ยาก แต่อวดมั่งอวดมี มีคานสี่เล่ม มีตะกร้าสี่ใบ ใบข้างหน้า ใบข้างหลัง แบกใส่บ่าอุปาทานคือ คานหาบ อุปาทานขันธ์มีห้าอย่าง รูปูปาทานักขันโธ หาบรูปนี้คานหนึ่ง เวทนูปาทานักขันโธ เวทนาขันธ์ที่เราไปยึดถือ เป็นคานอีก สัญญูปาทานักขันโธ ปัญญาความเข้าไปจำได้หมายรู้ ยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นคานหามคานหาบ สังขารูปาทานักขันโธ ยึดถือสังขารความคิดนึกว่าเป็นตัวเป็นตน วิญญาณูปาทานักขันโธ ถือวิญญาณว่าเป็นตัวเป็นตน หาบกันละซีทีนี้ คานหนึ่งเอามาขนาบขาซ้าย ให้ขามันหาบ คานหนึ่งเอามาขนาบขาขวา ให้ขามันหาบ คานหนึ่งเข้าไปใส่ไหล่ซ้ายให้ไหล่มันหาบ คานหนึ่งก็ใส่ไหล่ขวาให้ไหล่มันหาบ อีกคานก็ใส่บนหัวหาบไปเถิด ทีนี้อีรุงตุงนังพะรุงพะรัง


    ภารา หเว ปัญจักขันธา หาบกันไปเถิด ขันธ์ห้ามันเป็นของหนัก ภารหาโร จ ปุคคโล บุคคลพากันหาบไปอย่างนี้ก็มี เป็นภาระอันหนัก ภาราทานัง ทุกขัง โลเก หาบไปเถิดรอบทิศ เรามัวเป็นทุกข์ในโลกนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนว่า ผู้ไม่มีปัญญา ผู้ไม่มีวิชา ผู้ไม่เจริญสมาธิภาวนาให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้น จะต่อสู้หาบทุกข์ หาบคานกันอยู่อย่างนี้เป็นนิตย์ น่าทุเรศ น่าสงสาร จะไปไหนก็ไปไม่รอด พากันหาบอย่างนี้ มันทุเรศทุรังมาก ขาก็หาบ ไหล่ก็หาบ ไม่รู้จะหลบไปไหนกัน หาบกันไปข้างหน้า หาบกันมาข้างหลัง ก้าวข้างหน้าสามก้าว ถอยหลังสองก้าว ชักคะเย่อกันอยู่อย่างนี้แหละ เดี๋ยวก็ท้อถอย เดี๋ยวก็เกิดความขยันหมั่นเพียรขึ้น


    นี่ เมื่อใครมาพิจารณาเห็นอนิจจัง สังขารทั้งหลาย ภายในภายนอก เป็นของไม่แน่ มาพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นทุกข์ มาพิจารณาสังขารให้เห็นไม่เป็นตัวตน มันวนเวียนอยู่ในตัวเหล่านี้ เมื่อเห็นเช่นนี้ก็วางภาระ วางคานเสีย คือความยึดความถือ วางสัญญาอดีต คือความเป็นห่วงบ่วงใย วางสัญญาอนาคต ความอาลัยอาวรณ์ วางสัญญาในปัจจุบัน ความถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อตะกร้าสามลูก หลุดจากข้างหน้า หลุดจากข้างหลัง หลุดจากไหล่ เดินไปอย่างสบาย ทีนี้จะรำไปก็ได้ เอาขารำไปก็ได้ นี่มันก็งามซีทีนี้ ที่เขาเรียกว่า นางงาม ไปที่ไหนก็มีคนชอบ ทำไมจึงชอบล่ะ คนมันไม่มีความรุงรังจะทำอะไรก็สบาย แม้จะวิ่ง จะเดินจะเหินแม้จะรำจะร้อง สนุก มันสนุกทั้งนั้น นี่เป็นนางงามของพระพุทธศาสนา เป็นกัลยาณชนคนดี แม้จะไปอยู่ในสังคมใดก็ดี มีความสวยความงาม เพลิดเพลินเจริญจิต ไม่ติดหาบไม่ติดคอน มันก็สบายละคนเรา นี่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ข้อแรก



    เมื่อเราได้ปราบปรามเสี้ยนหนามเหล่านี้ ให้ราบรื่นไปจนหมด สบายใจ เอาละซีทีนี้เราก็จะได้วิชาเป็นอาวุธ วิชาเป็นอาวุธคืออะไร อิทธิวิธี เราสามารถที่จะแสดงฤทธิ์ขึ้นโดยทางใดทางหนึ่ง มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เรียกว่าอิทธิวิธี แสดงปาฏิหาริย์ทางกาย แสดงปาฏิหาริย์ทางวาจา แสดงปาฏิหาริย์ในทางดวงจิต ทำฤทธิ์เดชได้ต่างๆ เป็นเครื่องใช้ของสอย เป็นศาสนีย์ ทำกิจของพระศาสนา นี่คืออิทธิวิธี แต่ทางบาลีแสดงว่ามีอาการเดินหลายอย่าง เดินในน้ำไม่เปียก เดินในไฟไม่ร้อน ตากฝนไม่เปียก ตากลมไม่หนาว ตากแดดตากฝนอดทนแข็งแกร่ง ทำให้เป็นคนแก่คนเฒ่า ถ้าคนแก่ทำให้เป็นคนหนุ่ม คนสูงทำให้เป็นคนต่ำ คนต่ำทำให้เป็นคนสูง ดัดแปลงร่างกายได้หลายอย่างหลายประการ พระพุทธเจ้าจึงทรงทำศาสนกิจได้แก่คนไม่เลือก ถ้าไปสอนคนแก่ท่านก็ทำร่างกายแก่ คนแก่กับคนแก่คุยกันมันสนุก ไม่มีอาการระแวง ถ้าท่านไปพบกับพวกสาวๆ สวยๆ ท่านก็ทำตัวเป็นหนุ่มขึ้นมันสนุก ผู้หญิงสาว ๆ ก็สนุก ตัวท่านเองก็สนุก คุยกันไม่เบื่อ เหตุนั้นธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงจึงเป็นที่พอใจแก่ปวงชนทุกเหล่า ท่านสามารถที่จะปรับปรุงร่างกายท่านได้ในสังคมทุกแห่ง อย่างจะไปคบกับเด็ก ท่านก็เล่าเรื่องเด็ก ทำเหมือนเด็ก เมื่อไปพบคนแก่ท่านก็ทำเหมือนคนแก่ เล่าเรื่องคนแก่ ถ้าท่านไปเจอะคนหนุ่มคนสาวขึ้น ท่านก็เล่าเรื่องของหนุ่มของสาว ทำความเพลิดเพลินให้เป็นที่พอใจของเขา เกิดความเชื่อเกิดความเลื่อมใสกลายมาเป็นพุทธ กลายมาบวชในศาสนา อย่างนี้ก็มี นี่ท่านเรียกว่า อิทธิวิธี



    มโนมยิทธิ เกิดฤทธิ์ขึ้นทางจิต ดวงจิตมีฤทธิ์ มีฤทธิ์อย่างไร จะไปไหนก็ไปได้ อยากไปเที่ยวในนรกก็ไปได้ อยากไปเที่ยวดูในสถานที่ต่าง ๆ ไปวิเวก บางคราวก็ไปเที่ยวอยู่เมืองนรก สบายดี ไปเล่นอยู่กับพวกสัตว์นรก ไปหยอกพวกสัตว์นรก คนใดบาปน้อยก็ขึ้นมาสนทนา ฝากข่าวกุศลมาหาญาติ บุคคลที่ได้คำสั่งมาจากนรกก็มาแนะนำสั่งสอนพวกญาติให้ทำบุญ นี่ไปเที่ยวเมืองนรก


    บางคราวก็ไปเที่ยวกับพวกสัตว์เดรัจฉาน ไปสนทนากับพวกสัตว์นกเอี้ยง นกสาลิกา นกฮูก นกอะไรก็ตาม หรือสัตว์สี่เท้าก็ดี สองเท้าก็ดี ไปอยู่ในป่าในดง ในรกพงไพรก็ดี ไปสนทนาคุยกับสัตว์มันก็สนุกละซีทีนี้ มันสนุก ไม่เหมือนคุยกับคน คุยกับคนมันลำบาก คุยกับสัตว์มันสบาย ไม่ต้องพูดมาก เพียงแค่นึกในใจ สนทนากันไปเล่าเรื่องอะไรต่าง ๆ ถามข่าวถามคราว ว่าแกไปอยู่เป็นสัตว์ กินอะไร กินอิ่มหนำสำราญดีอยู่ละหรือ สนทนากันเรื่อย


    มีเพื่อนมีฝูงเคยเป็นญาติเป็นมิตรสหายกัน นี่ท่านก็รู้จักไปเที่ยวในเมืองสัตว์แล้วก็ไปเที่ยวในเมืองเปรต เมืองเปรตยิ่งสนุก เปรตมันมีหลายจำพวก สนุกมากพวกเปรตบางตัวหัวเท่าตุ่ม ปากหลวมเข็ม ปากของเปรตมันรูหลวมเท่ารูเข็มเท่านั้น บางตัวขายาวตั้งสามวา มือมันสั้นเพียงคืบเดียวเท่านั้นแหละ น่าดูเหมือนกับการ์ตูน นั่นแน่บางพวกก็มีแต่ริมฝีปากข้างล่าง บนไม่มี บางพวกริมฝีปากขาดหมด มีแต่ฟันแหงแก๋ นี่มีหลายจำพวก บางพวกก็ตาโตออกมาเท่าลูกมะพร้าว บางพวกก็เล็บมือยาวตั้งเท่าใบตาล มันสนุก น่าดู น่าชม บางตัวก็อ้วนเสียจนไปไม่รอด บางตัวก็ผอมโกโรโกโส มีแต่กระดูก นี่พวกเปรตมีหลายจำพวก บางพวกก็ชนกัน บางพวกก็กัดกัน บางพวกก็ตีกัน นี่พวกเปรต นี่ก็สนุก เรียกว่ามโนมยิทธิฤทธิ์ทางดวงจิต เมื่อดวงจิตตั้งมั่นก็ไปดูไปชม


    บางทีก็ไปเที่ยวเมืองพญานาค บางทีก็ไปเที่ยวในเมืองมนุษย์ บางทีเบื่อมนุษย์ก็ขึ้นไปเล่นกับพวกเทวดา ไปดูนางงามในเมืองสวรรค์ ในชั้นจาตุมหาราชิกา ไปเที่ยวในชั้นยามา ตาวติงสา จนตลอดไปเที่ยวถึงพรหมแน่ะ ดวงจิตไปได้ไม่ขัดไม่ข้อง นี่เกิดเป็นมโนมยิทธิ อำนาจของดวงจิต นี่ก็เป็นวิชา มันก็สนุก กิเลสก็หมด งานเราทำสำเร็จ มีข้าวพอกินมีเงินพอใช้ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ตากอากาศสบายดี นี่ท่านเรียกว่า มโนมยิทธิ



    ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ตาสองชั้น ตานอกเรียกว่า มังสะจักขุ ดูมนุษย์ในโลก ดูเทวดาในโลก ปัญญาจักขุ ตรวจกิเลสของมนุษย์ มนุษย์กิเลสหยาบ มนุษย์กิเลสหนา มนุษย์มีศรัทธา มนุษย์ไม่มีศรัทธา มนุษย์มีนิสัย มนุษย์ไม่มีนิสัยไตร่ตรองพินิจพิจารณาด้วยปัญญาภายใน เรียกว่าปัญญาจักขุ นี่ตาสองชั้น คนเรามีตาชั้นเดียว คือมังสะจักขุ ตาเนื้อ ตาในไม่เกิด จะไปเกิดอย่างไร ขี้ตามันไม่ลอก ขี้ตาคืออะไร กามฉันทะ ก้อนเบ้อเร่อ พยาปาทะ ก้อนใหญ่ ถีนมิทธะ ก้อนเท่าหัวค้อนหัวคอก จะสงบจะสงัด แต่ขี้ตามันก้อนใหญ่ มันหนักหัวเรียกว่า ถีนมิทธะ เห็นแก่หลับเห็นแก่นอน อุทธัจจะกุกกุจจะ มันก็ขี้ตา ความฟุ้งซ่านรำคาญจิต วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล นี่ก้อนขี้ตา เมื่อมันเข้าไปติดอยู่ในดวงจิต มันจะสว่างอย่างไร มันก็มืดแปดด้านน่ะชี เมื่อใครมาเจริญภาวนา ทำจิตให้สงบระงับชื่อว่าแกะขี้ตา วิตก ล้วงมันลงไป วิจาร ล้างมันออก เมื่อล้วง เมื่อล้างให้สะอาดได้ ตามันก็ใส ตาใจมันก็เป็นปัญญาจักขุ นี่เรียกว่า ทิพพจักขุ



    ทิพพโสต หูทิพย์ หูมันก็สองหูอีกนั่นแหละ หูนอกคือหูหนัง หูในมันได้แก่หูใจ หูใจมันไม่เกิด ก็เพราะว่าอย่างนั้นแหละ มันมีแต่ขี้หู ไม่แกะสักที ไม่สร้างความดีให้เกิดขึ้นในทางจิต ดวงจิตไม่เป็นสมาธิ เมื่อดวงจิตไม่มีสมาธิฟังเสียงดีๆ ในก็จะไม่ค่อยจะอยู่ ขี้หูมันก็ไม่หลุด แค่ฟังเขาด่าฟังเขาแช่งฟังเขาคุย ใจมันเพลิน ก้อนขี้หูก้อนเบ้อเร่อเบ้อร่างัดเข้ามาติดอยู่ในหูของตัว ส่วนเทศน์ธรรมคำสอนทั้งหลายไม่ค่อยสนใจฟัง จึงเกิดกันแต่ขี้หูทั้งนั้น ส่วนในจิตของเราก็ขี้หูติด ส่วนนอกก็ขี้หูทั้งนั้น ไม่แกะ หูทิพย์มันก็ไม่เกิด หูทิพย์มันสบายไม่ต้องไปนั่งฟังให้มันลำบาก ต้องการฟังอะไรล่ะ ฟังได้ทุกอย่าง เปรตมันคุยอย่างไรกัน ฟังได้ยิน สัตว์มันคุยกันฟังได้ยิน พวกเทวดาคุยกันอย่างไร ว่าสวรรค์แสนสุข ก็ฟังได้ยิน ฟังได้ทุกอย่างเว้นแต่ไม่ต้องการ เหมือนวิทยุ ถ้าเปิดก็ได้ยินแช่ ถ้าหนวกหูก็ไม่ต้องเปิด ผู้มีวิชาข้อนี้ ถ้าต้องการฟังเล่นก็เปิดขึ้น ฟังไป ถ้าไม่ต้องการ ปิดปั๊บสบายใจ นี้เรียกว่า ทิพพโสต นี่ก็เป็นวิชาข้อหนึ่ง



    อีกข้อหนึ่ง คือ เจโตปริยญาณ รู้จักวาระน้ำจิตของสัตว์ในโลก คือดวงจิตของมนุษย์พุทธบริษัท จะคิดดีคิดชั่วคิดต่ำคิดสูง คิดเลวคิดหยาบ ทราบได้ด้วยปัญญา ข้อนี้เรียกว่า เจโตปริยญาณ เป็นวิชาสำคัญข้อหนึ่ง



    ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ระลึกชาติได้



    และ อาสวักขยญาณ มาทำความคิดให้แจ่มใส ทำใจให้สะอาด มาล้างกวาดอวิชชา ตัณหา อุปทาน ออกจากจิต ไม่ให้อวิชชาเข้ามาเกิดในดวงจิต ไม่มีตัณหามาเป็นเจ้าเรือนในดวงจิต ไม่มีความยึดถือ เมื่อบุคคลผู้ใดมาคลายกิเลสของตน กามชะโห ไม่ติดในกิเลสกาม ไม่ติดในพัสดุกาม ทิฏฐิชะโห ไม่ติดในความคิดความเห็น อวิชชาชะโห ไม่หลงไปเห็นว่าอวิชชาเป็นวิชา ปล่อยวางเสียได้ ไม่ยึดไม่ถือ ความชั่วก็ไม่ยึดไม่ถือ ความดีมีอยู่ในคนก็ไม่ยึดถือ ปล่อยดี คายความดี คายความชั่วออก ไม่ยึดชั่วเป็นของตน ไม่ยึดดีเป็นของตน ปล่อยวางตามสภาพนั่นชื่อว่า อาสวักขยญาณ จิตนั้นก็ไม่มีอาสวะกิเลส นี่เรียกว่าเป็นตัว นิโรธสัจจะ สำเร็จด้วยการประพฤติปฏิบัติให้เกิดวิชา



    นี่ วิชาเกิดขึ้นจากภาวนาเป็นอย่างนี้ เป็นวิชาพิเศษ เป็น อุปริมะวิชา เป็นวิชาเบื้องสูงสำหรับศาสนา สบายละทีนี้ เราจะตายก็สบาย เราจะไม่ตายก็สบาย ไม่ต้องไปสร้างจรวดขึ้นไปบนพระอังคาร อยู่โนโลกนี่แหละ แต่ไม่มีสิ่งใดสังหารได้ คือ รู้ว่าสิ่งใดเป็นภัย เป็นโทษ ไม่แตะต้อง คนนั้นก็จะอยู่ด้วยความปลอดภัย ดวงใจก็มีแต่ความเบิกบานแจ่มแจ้งอยู่อย่างนี้เป็นนิจ ฉะนั้น พวกเราควรจะต้องพากันฝึกหัด เข้มงวด พากันกวดขัน ขะมักเขม้น เอาใจใสในข้อปฏิบัติ ก็จะเป็นไปด้วยความสำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนาของตนทุกรูปทุกนาม นี่แสดงถึงเรื่องวิชาโดยใจความสั้นๆ ถ้าจะพรรณนาให้พิสดารไปนั้นก็มีอาการมากมาย


    วิชาทั้งหมดสรุปแล้วก็เกิดจากความสงบ เมื่อจิตไม่สงบก็ไม่เกิดวิชา อย่างเก่งก็จะเกิดจากสุตะ ฉลาดจากการฟัง ฉลาดจากการพูด จินตะ ฉลาดในการคิดการไตร่ตรอง แต่คนเลิกคิดเลิกนึก ไม่ต้องคิดต้องตรอง แต่ฉลาดนั้น เป็นสิ่งอัศจรรย์มาก เป็นสิ่งทวนกระแสของโลก ธรรมดาโลกต้องศึกษาต้องเรียน ต้องเขียนต้องอ่าน ต้องคิดต้องนึก จึงจะเกิดความฉลาด แต่ในทางธรรมหยุดคิด หยุดนึก หยุดขีด หยุดเขียน หยุดจำ หยุดทำ จึงเกิดวิชาขั้นสูงได้เป็นของทวนกระแสโลก ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายทำได้ยาก


    ฉะนั้น เมื่อสาธุชนพุทธบริษัท ต่างคนต่างพากันได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญจนเกิดวิชาแล้ว ก็จะสำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนา มีโดยได้แสดงมาในวิชาจรณะแต่เสมอเพียงเท่านี้ ฯ




    ที่มา :
    https://www.youtube.com/watch?v=x8pKLCCaDQ4
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_5324.JPG
      IMG_5324.JPG
      ขนาดไฟล์:
      71.7 KB
      เปิดดู:
      468
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 มีนาคม 2017
  2. uิwwิnา

    uิwwิnา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    72
    ค่าพลัง:
    +146
    วิชาทั้งหมดสรุปแล้วก็เกิดจากความสงบ เมื่อจิตไม่สงบก็ไม่เกิดวิชา อย่างเก่งก็จะเกิดจากสุตะ ฉลาดจากการฟัง ฉลาดจากการพูด จินตะ ฉลาดในการคิดการไตร่ตรอง แต่คนเลิกคิดเลิกนึก ไม่ต้องคิดต้องตรอง แต่ฉลาดนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก เป็นสิ่งทวนกระแสของโลก ธรรมดาโลกต้องศึกษาต้องเรียน ต้องเขียนต้องอ่าน ต้องคิดต้องนึก จึงจะเกิดความฉลาด แต่ในทางธรรมหยุดคิด หยุดนึก หยุดขีด หยุดเขียน หยุดจำ หยุดทำ จึงเกิดวิชาขั้นสูงได้เป็นของทวนกระแสโลก ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายทำได้ยาก

    ++++++++

    ชัดเจน สาธุธรรมครับ
     
  3. ชมทรัพย์

    ชมทรัพย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มิถุนายน 2015
    โพสต์:
    552
    ค่าพลัง:
    +248
    เหตุปัจจัย:-

    "..คนภาวนาก็ต้องคิดเหมือนกัน ภาวนาไม่คิดไม่ได้ ต้องอาศัยความคิดเป็นเครื่องประกอบองค์ภาวนา


    ตัวอย่างเช่น องค์ฌาน ท่านบอกว่า วิตก ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจาร เลือกอารมณ์ว่า เราพิจารณากรรมฐานอันใดเป็นที่สะดวกสบายแก่ตน พิจารณาดูกรรมฐานเมื่อเราเห็นว่าสิ่งนี้แหละเป็นที่สะดวกสบายแก่ตน


    เช่นหายใจอย่างนี้ เป็นต้น หายใจช้า หายใจเร็ว หายใจสั้น หายใจยาว หายใจแคบ หายใจกว้าง หายใจร้อน หายใจเย็น หายใจอุ่น หายใจแค่ปลายจมูก หายใจแค่คอหอย หายใจลงไปถึงหัวอก เมื่อเรามาคัดเลือกอารมณ์ จนเป็นที่ชอบใจแล้ว ก็จับอารมณ์นั้น เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ ทำจิตให้เป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตา


    เมื่อเราได้องค์เอกัคคตาเกิดขึ้นในดวงจิต วิจาร พิจารณากรรมฐาน


    วิตก ยกอารมณ์นั้นให้เด่น อย่าให้จิตของเราแยกจากอารมณ์ อย่าให้อารมณ์แยกจากจิต


    ให้นึกว่าเหมือนกับ ข้าว ให้ ข้าว ของเราที่จะกินนั้นตรงเข้าไปในปาก ให้ปากมันตรงกับก้อนข้าว อย่าให้มันพลาด ถ้าพลาดก็เลยไปหูโน่น กินข้าวเอาอุดเข้าไปในรูหู บางทีก็ใส่ใต้คาง บางทีก็ใส่ไปในลูกตา บางทีก็ใส่ไปบนหน้าผาก อย่างนี้ก็ไม่สำเร็จในการกิน ฉันใดก็ดี อารมณ์ของเรา ที่เรียกว่าหนึ่งนั้นน่ะ บางทีก็ไพล่ไปโน่น อดีต ล่วงไปตั้งร้อยปี ยังไปสาวอยู่โน่น บางทีก็เปิดไปอนาคต ซึ่งยังไม่มาถึง ก็ไปสาวเรื่องราวเข้ามารกอกรกใจ นี่เรียกว่ายื่นคำข้าวขึ้นแล้วมันก็เลยศีรษะ ตกไปข้างหลัง หมาเอาไปกินหาย บางทีก็ยกขึ้นมาแค่ปากยังไม่ได้คาบ ผ่าปาไปข้างหน้าโน่น เมื่อเป็นอย่างนี้ เรียกว่าจิตของเรายังไม่แนบสนิทอยู่ในอารมณ์ เมื่อยังไม่แนบสนิท ตัววิตก มันยังไม่แน่น เราต่อสู้ทำตัววิตก ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แล้วก็ประคองจิตขึ้นอยู่ในอารมณ์นั้น เหมือนคนที่ประคองอาหารของตน ให้มันตรงกับปาก ให้มันเข้าปาก อันนี้ท่านเรียกว่า วิตก คำข้าวตรงปาก ปากตรงคำข้าว


    แน่ใจว่าเป็นคำข้าว อะไร เป็นอาหารหวาน หรืออาหารคาว เป็นอาหารประณีตหรือหยาบ เมื่อเราทราบเรื่องราวแล้วก็ปั๊ปเข้าไปในปาก เคี้ยวขยำเข้าไปเลย นี่ท่านเรียก วิจาร


    ได้แก่ พวกเราตรองอารมณ์ อารมณ์ที่เรากำหนดอยู่นั้น พิจารณา พิจารณาอารมณ์ที่เรากำหนดอยู่นั้น อารมณ์ที่มันเกิดขึ้น บางคราวก็เป็นส่วนอุปจาระภาวนา พิจารณาอารมณ์หยาบๆ ให้มันละเอียด พิจารณาลมหายใจ เมื่อหายใจยาวก็พิจารณาลมหายใจยาว เมื่อหายใจสั้นก็พิจารณาลมที่หายใจสั้น เมื่อหายใจช้าก็พิจารณาลมหายใจช้า ว่าลมอยู่กับจิตหรือไม่ จิตอยู่กับลมหรือไม่ หายใจสะดวกคล่องแคล่วดีหรือไม่ ตรวจพิจารณาลมอยู่โดยอาการเช่นนี้ นี่เรียกว่า วิจาร


    เมื่อวิตก วิจาร เกิดขึ้นในดวงจิต เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งปัญญา วิตก เป็นองค์สมาธิ เอกัคคตา เป็นองค์สมาธิ วิจารณ์ เป็นองค์ปัญญา เมื่อสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้น จิตนิ่งสงบ ก็เกิดวิชาขึ้น


    ถ้าวิจารณ์มากเกินไปความสงบมันก็ดับ ถ้าสงบเกินไป ความคิดมันก็ดับ ให้คุมการสงบจิตของเรา ให้พอดีพอเหมาะให้พอดีกัน ถ้าปรุงไม่เป็นมันก็เกิดโทษ บางทีสงบมากเกินไปมีโทษ คือจิตมันเดินช้าในทางปฏิบัติ บางคราวคิดมากเกินไปจนสมาธิดับ ไม่ดี นั่นก็เลยไปอีก นี่ท่านให้พิจารณา วิจารดูให้มันถี่ถ้วน เหมือนเรากินอาหารอีกแหละ อาหารที่เราอยากถมเถกินเข้าไปติดคอตายก็มี อันใดที่ให้ประโยชน์ พอสู้ได้ เช่น ฟันเราพอใช้หรือยัง บางคนก็มีแต่เหงือกแต่อยากกินอ้อย นั่นมันผิดธรรมดา บางคนก็ฟันหักฟันหลุด เจ็บปวด ยังอยากกินแต่ของแข็งๆ มันก็เกิดโทษ นี่มันเป็นอย่างนี้ ดวงจิตของเรามันก็เหมือนกัน เมื่อสงบเข้านิดๆ หน่อยๆ ก็อยากรู้อยากเห็น อยากมี อยากเป็น อยากได้ อยากดีเลยตัว นี่เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องปรับปรุงสมาธิให้พอกับฐานเสียก่อน ปรับปัญญาให้มันพอเหมาะ สมาธิก็ให้พอเหมาะกับปัญญา ปัญญาก็ให้มันพอเหมาะกับสมาธิ การปรับปรุงข้อนี้เป็นส่วนสำคัญมาก คือองค์วิจารแก่ ตัววิตกมันก็มั่น


    ตัวอย่าง เรามีควายตัวหนึ่ง เอาเชือกผูกมัดหลัก แล้วก็ตีหลักจมลงไปในดิน ถ้าควายมีกำลังมาก มันวิ่งหรือมันเดินหลักเราก็ถอน เมื่อหลักถอนก็เปิดเปิงไปอีก ต้องคอยดูกำลังควายของเราด้วย ถ้ากำลังมันแรงมากเกินไป ตีหลักให้มันแน่น คอยเฝ้าต้นเสาอยู่อย่างนี้เป็นต้น คือถ้าความฟุ้งซ่านของความคิดเรามันเลยเถิด มันเปิดเปิงไปนอกจากวงขอบของสมถะ กำหนดจิตลงไปให้สงบมาก แต่อย่าให้สงบมากจนลืมหน้าลืมหลัง ถ้าสงบมากเกินไปจนไม่รู้ตัวอะไรเลย ไม่รู้เรื่อง สงบมากเข้าก็มักลืม ทีนี้นั่งไม่รู้ตัว เผลอไปเป็นคราวๆ อย่างนี้ก็มี บางทีก็ไม่รู้ ตัวนั่งเงียบ บางทีก็รู้ แต่มันก็ผลุบๆ โผล่ๆ พวกนี้แหละ เรียกว่า สมาธิขาดการวิตก วิจาร การใคร่ครวญ มันก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิ


    ฉะนั้น ต้องสังเกตดูให้ดี แล้วใคร่ครวญพินิจพิจารณา แต่จิตไม่มีอาการไหวตัวไปตามความนีกคิด


    ความนึกคิดมันเป็นส่วนหนึ่ง ดวงจิตเราตั้งอยู่ในองค์กรรมฐาน เราจะหมุนตัวไปทางไหนเราก็หมุนอยู่ในหลัก เช่นเราเอามือกอดต้นเสาไว้มือหนึ่งหรือสองมือ เราจะวิ่งก็วิ่งวนอยู่กับต้นเสามันไม่เสียกำลัง ถ้าเราปล่อยเสา วิ่งวนสามรอบ เวียนศีรษะ ล้มปังไปทันที ดวงจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าคิดนึกตรึกตรองมองสิ่งใดก็ตาม ให้มันอยู่ในเอกัคคตารมณ์ ไม่มีอาการเหนื่อย ไม่มีเสียหาย


    ความคิดเป็นจินตามยปัญญา ความสงบเป็นภาวนามยปัญญา มันอยู่ด้วยกันทีนี้ นี่มันเป็นกุศโลบาย เป็นปัญญาในขั้นสมาธิ มันคิดกันไปเรื่อยอย่างนี้ ขั้นทานก็อยู่ในโยนิโสมนสิการ ขั้นศีลก็อยู่ในโยนิโสมนสิการ ทำสมาธิไม่ขัด มันเป็นตัววิตกวิจารแก่ขึ้นไปอีก เมื่อเรามีวิตกวิจารกำกับดวงจิต นึกเท่าไรดวงจิตยิ่งแน่ นั่งเท่าไรยิ่งคิด ดวงจิตก็แน่แน่วจนนิวรณ์ขาดไปจากจิตจากใจ ไม่เที่ยวไปตามสัญญาต่าง ๆ ดวงจิตนั้นก็จะเกิดวิชา ทีนี้มันก็เกิดวิชาขึ้น.."




    :-
    "..วิชาที่เกิดจากนี้คืออะไร ไม่ใช่วิชาธรรมดา คือมันมาล้างวิชาเก่า วิชาที่โยนิโสมนสิการไม่เอา ปล่อย วิชาที่เกิดขึ้นจากวิตกวิจารไม่เอา เลิก


    ทำจิตนิ่งสงบ เมื่อจิตสงบไม่มีนิวรณ์มาเจือปนก็เป็นตัวบุญเป็นตัวกุศล เมื่อดวงจิตของตนเป็นไปเช่นนั้น ไม่ติดสัญญาใดๆ ทั้งหมด สัญญาที่เคยรู้มาในทางโลกและทางธรรม จำได้มากน้อยเพียงใด ล้างเกลี้ยง เมื่อเรามาล้างไปจนหมดอย่างนั้น อย่างอื่นมันถึงจะเกิด ฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ยึดสัญญาความจำได้หมายรู้ในส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด จะต้องยอมจนตรอก คนใดที่มันเกิดความคิด มักในคราวจนนั่นแหละ ถ้าไม่แสดงตนเป็นคนจนตรอก มันไม่เกิดปัญญา คือหมายความว่า ไม่ต้องกลัวโง่ ไม่ต้องกลัวไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีไม่เป็น ไม่ต้องไปใช้สุตะ ปัญญาของสุตะไม่ต้องการ เพราะมันเป็นสัญญาอนิจจา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากจินตามยะไม่ต้องการ เพราะมันเป็นสัญญาอนัตตา ปล่อยให้มันดับไปหมดให้เหลือแต่ดวงจิตตั้งเที่ยง ไม่เอียงไปข้างหน้า ไม่เอียงไปข้างหลัง ไม่เอียงไปข้างซ้ายคือ อัตตกิลมัตถานุโยค คือความไม่พอใจ ไม่เอียงไปข้างขวา คือ กามสุขัลลิกานุโยค คือความไม่พอใจ ทำจิตให้นิ่งสงบเป็นกลางวางเฉย ตั้งตระหง่าน เมื่อจิตเป็นไปได้เช่นนี้ นั่นแหละสัมมาสมาธิ




    :-
    เมื่อสัมมาสมาธิเกิดขึ้น มันก็มีเงา มองเห็นเงาปรากฏ เกิดวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานคือตัววิชา วิปัสสนากรรมฐานเป็นตัวปฐมวิชา เป็นปรัชญาในทางพระพุทธศาสนาของเรา ท่านจึงจัดว่าเป็นวิชาข้อแรก


    เป็น วิชาข้อหนึ่งคือ วิปัสสนาญาณ .."
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 ธันวาคม 2015
  4. ทอนเงิน

    ทอนเงิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +708
    เป็นความรู้อย่างยิ่งครับสาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...