"..ผู้กำหนดอารมณ์ใดก็ตาม ให้มีความจริงจังต่ออารมณ์นั้น มีสติติดต่อสืบเนื่องกันอยู่กับงานของตนที่ทำ เช่น กำหนดบริกรรมคำว่า พุทโธ เป็นต้น
ให้มีความรู้อยู่กับคำว่าพุทโธๆ ประหนึ่งว่าโลกอันนี้ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย พอที่จะเป็นสองกับสิ่งนั้นเป็นสามกับสิ่งนี้ มีอยู่อันเดียวเท่านั้นคือคำว่าพุทโธกับความรู้กลมกลืนกันอยู่โดยลำดับลำดา คำว่าพุทโธที่เรานำบริกรรมนั้น เมื่อจิตสงบเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปๆ คำว่าพุทโธกับความรู้นั้นจะกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
ที่นี่คำว่าพุทโธๆ เลยหายเงียบไปกลายเป็นความรู้ที่เด่นชัดขึ้นมา นั่นถึงตัวจิตแล้ว ถ้าเป็นตามรอยโคก็ถึงตัวโคแล้ว ปล่อยรอยมันได้ นี่ก็ถึงตัวพุทธะซึ่งเปรียบเหมือนตัวโคแล้ว ปล่อยคำบริกรรมนั้นได้ในเวลานั้น
ผู้กำหนดอานาปานสติ ก็เช่นเดียวกัน ลมจะหยาบจะละเอียดก็ให้รู้อยู่ตามธรรมดา อย่าไปคาดไปหมาย อย่าไปบังคับบัญชาลมให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ ให้มีความรู้อยู่กับลม เพราะการภาวนาโดยถือลมหายใจเป็นอารมณ์
นั้นเราไม่ได้เอาลม แต่ลมนั้นเป็นเครื่องยึดของใจ เพื่อให้ถึงตัวจริงเช่นเดียวกับตามรอยโค เราไม่ได้หมายจะเอารอยโค แต่จะให้ถึงตัวโคจึงตามรอยมันไป นี่เราตามลม กำหนดดูลมก็เพื่อจะถึงตัวจริงคือความรู้
หากว่าเราจะยึดเอาความรู้อย่างเดียวนั้นมันไม่ได้ผล เช่น คนไปตามหาโคไม่แน่ใจว่าจะพบโค แต่เมื่อได้ตามรอยมันไปแล้วก็แน่ใจว่าต้องถึงตัวโคแน่ คำบริกรรมจึงต้องได้ ขยับเข้าไปที่เรียกว่าตามรอยโคไปโดยลำดับ จนถึงตัวโคคือผู้รู้ได้แก่ จิต ..."
คำบริกรรมเหมือนรอยโค
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕
วิธีตามรอยโค เข้าถึงผู้รู้คือจิต : หลวงตาพระมหาบัว
ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 19 ธันวาคม 2021.