วิธีทำบุญ (โดย แม่ครูนราวรรณ กุลธรชุติภาส)
การทำบุญนั้นจะต้องถึงพร้อม 3 ขณะ ตั้งแต่คิด ขณะทำ และหลังจากทำแล้ว ใจต้องผ่องใส อิ่มใจ, สดชื่น ฯลฯ เรียกว่าถึงพร้อม 3 ขณะ บุญชนิดนี้จึงจะมีกำลังในการส่งผล อาจจะสงสัยว่าบุญส่งผลอย่างไร ? เมื่อไหร่ ?
บุญเริ่มส่งผลตั้งแต่คิด …จนถึงทุกครั้งที่ระลึกได้พร้อมกับความ สุขใจ, อิ่มใจ, ผ่องใส ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง บุญแม้เพียงครั้งเดียว เมื่อถึงพร้อม 3 ขณะ บุญนั้นจะให้ผลไม่มีที่สิ้นสุด ทุกครั้งที่ระลึกถึงบุญได้พร้อมกับความรู้สึกสุขใจ ฯลฯ นั่นแสดงว่าบุญให้ผลแล้ว ความสุขใจเป็นผลจากการทำบุญ เป็นบุญที่เกิดจากใจ บุญที่เกิดทางใจส่งผลให้กายกระปี้กระเปร่า ความกระปี้กระเปร่าเกิดจากความสุขใจ
เมื่อมีความสุขใจสุขกาย จิตใจย่อมปลอดโปร่ง คิดทำการงานสิ่งใดย่อมสะดวกสบาย ไม่ติดขัด หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ความสุขใจทำให้เกิดความเบา เป็นความเบาของกาย - ใจ ความเบาทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำความดี เมื่อมีความคิดที่ดี การแสดงออก กิริยาอาการต่าง ๆ การพูดจาก็ดีไปด้วย เมื่อมีผู้พบเห็นได้พูดคุยก็พลอยได้รับบุญไปด้วย บุญชนิดนี้เป็นบุญที่มีกำลังแรงมากให้ผลไม่มีที่สิ้นสุด เป็นบุญที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งของตนเองและผู้อยู่ใกล้ได้
เมื่อมีโอกาสเข้าถึงบุญแล้ว ความปรารถนาต่าง ๆจะมีกำลังในการส่งผล เพราะผลของความดี ( กุศล ) ต้องอาศัยความเบาช่วยหนุน บุญทำให้จิตเบาความเบาของจิตง่ายต่อการทำความดีจิตเข้มแข็งไม่ตกต่ำ เมื่อขาดความเบาจึงต้องหาโอกาสทำบุญเพื่อให้จิตผ่องใส เข้มแข็ง ความดีต้องอาศัยความเบาของจิต ในทางตรงกันข้ามผลฝ่ายอกุศลต้องอาศัยความหนักของจิตช่วยหนุน ความหนักความเบาของจิตจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ความหนักเบาของจิตมีผลต่อพฤติกรรม พฤติกรรมแตกต่างกันมาก เกิดจากความหนักเบาของจิตที่แตกต่างกันมาก
เมื่อมีโอกาสเข้าถึงบุญทั้ง 3 ขณะ จึงควรใช้พฤติกรรมบุญเข้าช่วย ด้วยการสร้างบรรยากาศของบุญให้มีกำลังจนเกิดเป็นพลัง ( ดูวิธีสร้างพลัง ) พลังบุญมีลักษณะ ละเอียด ผ่องใส สดชื่น อ่อนโยน อบอุ่น เข้มแข็ง ฯลฯ ช่วยทำให้บ้านสงบ สะอาด น่าอยู่ เหมือนได้พักผ่อนอยู่ตลอดเวลา จิตที่ได้รับการพักผ่อนเต็มที่จะเกิดความเข้มแข็งในการทำความดี
แล้วบุญเริ่มต้นได้อย่างไร? ก่อนทำบุญต้องมีความศรัทธา ศรัทธาในพระพุทธ ศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศรัทธาในคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ทรงสอนให้เป็นคนดี มีสัมมาคารวะ รู้จักแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี รู้จักครองตน รู้จักเสียสละ เสียสละความสุขส่วนตัว เสียสละปัจจัย เสียสละกิเลสที่อยู่ในใจ เพราะรู้จักเสียสละ ( ทำบุญ ) ศาสนาพุทธจึงยังคงตั้งอยู่จนถึงทุกวันนี้ คำสอนของพระองค์จึงยังมีอยู่ ทำให้มีโอกาสได้ฟังธรรมะตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด
เมื่อมีความเข้าใจแล้วคิดจะทำบุญเมื่อไร บุญจึงเกิดในทันที เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้วต้องรักษาบุญเอาไว้ด้วย เหตุที่ทำบุญแล้วไม่เกิดความรู้สึกได้บุญ เป็นเพราะขาดความเข้าใจอย่างหนึ่ง อยากเห็นเป็นรูปธรรมเร็ว ๆ อีกอย่างหนึ่ง ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า รูปธรรมเป็นของหนัก เพราะฉะนั้นบุญจึงต้องอาศัยนามธรรมซึ่งเป็นของเบา เมื่อบุญที่เกิดจากจิตมีกำลังมาก หรือที่เรียกว่า " พลังจิต" ยังส่งผลให้เป็นรูปธรรมทั้งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป เมื่อต้องการตั้งจิต ให้ตั้งจิตอยู่ในบรรยากาศบุญ บุญจะมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของวัตถุสิ่งของ แต่ขึ้นอยู่กับกำลังความผ่องใส ความเบาของจิต
วิธีทำบุญ (โดย แม่ครูนราวรรณ กุลธรชุติภาส)
ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย danetkung, 11 เมษายน 2013.