วิธีศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 4 กันยายน 2005.

  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,682
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,012
    วิธีศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก

    เสฐียรพงษ์ วรรณปก เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 253 - 264
    [​IMG]บทความนี้ เสนอแนวคิดสำหรับการศึกษาและค้นคว้าพระไตรปิฎกเพียงสั้น ๆ พอปฏิบัติได้สำหรับชาวพุทธไทย มิได้ประสงค์ให้เป็นบทความทางวิชาการแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องมีฟุตโน้ต เชิงอรรถ และหนังสืออ้างอิงใด ๆ จะพูดเป็นประเด็นตามลำดับดังนี้

    ๑. พระไตรปิฎกคืออะไร
    [​IMG]พระไตรปิฎกคือคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (คำสอนของคนอื่นที่พระพุทธองค์ทรงรับรองก็นับรวมในที่นี้ด้วย) แบ่งเป็น ๓ ปิฎกคือ (๑) พระวินัยปิฎก (๒) พระสุตตันตปิฎก และ (๓) พระอภิธรรมปิฎก
    [​IMG]พระวินัยปิฎก ว่าด้วยสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ รวมถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่ของสงฆ์ ระเบียบวิธีปฏิบัติอันเรียกว่าสังฆกรรม การก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของภิกษุณีสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีพุทธประวัติช่วงหลังตรัสรู้จนถึงการวางรากฐานพระพุทธศาสนา และประวัติสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒ ด้วย แบ่งโดยย่อ ๆ เป็น ๓ หมวด คือ วิภังค์ ขันธกะ และปริวาร
    [​IMG]พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกสำคัญบางรูป ตลอดถึงภาษิตของเทวดาที่ทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต แบ่งเป็น ๕ นิกาย หรือหมวด คือ (๑) ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหายาวมาก (๒) มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหายาวปานกลาง (๓) สังยุตตนิกาย ว่าด้วยการประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันไว้ในหมวดเดียวกัน (๔) อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยประมวลหมวดธรรมตามจำนวนหัวข้อธรรมจากน้อยไปหามาก และ (๕) ขุททกนิกาย ว่าด้วยหมวดเบ็ดเตล็ด ที่ตกหล่นจากการจัดหมวดข้างต้น
    [​IMG]เนื้อหาในพระสุตตันตปิฎกทั้ง ๕ นิกายนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายถือว่า ๔ นิกายแรกนั้นเก่าแก่ โดยเฉพาะทีฆนิกายน่าจะเก่าแก่กว่าทุกนิกาย ส่วนขุททกนิกาย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นนิกายปลีกย่อยหรือปกิณกะเพิ่มเติมมาภายหลัง เนื้อหาบางส่วนส่อเค้าว่าเพิ่มเติมมาในศรีลังกาเสียด้วยซ้ำ เช่น ขุททกปาฐะ จริยาปิฎก ยกเว้นสุตตนิบาต และธรรมบทที่ถือกันว่าเก่าแก่มาก
    [​IMG]พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยการอธิบายธรรมในพระสูตรนั้นแลให้ละเอียดพิสดาร ในแง่วิชาการที่เป็นระบบ มี ๗ หมวดคือ (๑) ธรรมสังคณี ประมวลหัวข้อหมวดธรรมเข้าด้วยกัน (๒) วิภังค์ อธิบายหมวดธรรมในข้อ(๑) นั้นโดยพิสดาร (๓) ธาตุกถา อธิบายวิธีจัดข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ ธาตุ อายตนะ (๔) ปุคคลบัญญัติ บัญญัติเรียกบุคคลต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มี (๕) กถาวัตถุ วินิจฉัยทัศนะของนิกายพุทธต่าง ๆ เน้นความถูกต้องของนิกายเถรวาท (๖) ยมก ยกข้อธรรมขึ้นถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ และ (๗) ปัฏฐาน อธิบายปัจจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ๒๔ แบบ
    [​IMG]พระอภิธรรมปิฎก เชื่อกันว่าวิวัฒนาการมาในยุคหลัง ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาหนังสือ ที่เรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน ในแง่ประวัติความเป็นมา ก็บ่งบอกว่าได้แตกแขนงออกจากธรรม-วินัย ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม โดยเป็นแขนงหนึ่งของ "ธรรม" นั้นเอง จึงเชื่อว่ามีมาภายหลังแน่นอน เพราะกถาวัตถุ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๗ คัมภีร์ ก็มีหลักฐานว่าแต่งในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ แม้ว่า พระอรรถกถาจารย์จะพยายามโยงพระอภิธรรมให้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาหลังตรัสรู้ และให้พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปแสดงแก่อดีตพุทธมารดา ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ตาม

    ๒. พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร
    [​IMG] (๑) สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดง ธรรม-วินัย หรือ พรหมจรรย์ เท่านั้น ดังเวลาจะทรงส่งพระอรหันต์สาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา ตรัสสั่งให้ไป "ประกาศพรหมจรรย์" อันงามในเบื้องต้น (งามด้วย อธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง (งามด้วยอธิจิตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยอธิปัญญาสิกขา) และเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก็ตรัสว่า "หลังจากเราตถาคตล่วงลับไป ธรรม และวินัย ที่เราได้แสดงและบัญญัติแก่พวกเธอ จะเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเรา"
    [​IMG] (๒) ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะ รวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ยังคงสังคายนา "พระธรรม-วินัย" อยู่ แม้เมื่อกาลล่วงไปประมาณ ๑๐๐ ปี พวกภิกษุวัชชีบุตรได้เสนอขอแก้ไขพระวินัยบัญญัติบางข้อ อ้างว่าพระพุทธองค์ทรงประทานนโยบายไว้ให้แล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายได้ประชุมสังคายนาวินิจฉัยข้อเสนอ (วัตถุ ๑๐ ประการ) ของพวกภิกษุวัชชีบุตรแล้วไม่ยอมรับ การทำสังคายนาครั้งนั้นก็ยังเรียกว่า "ธัมมวินยวิสัชชนา" (การวิสัชนาพระธรรม-วินัย) หรือ "ธัมมวินยสังคีติ" (การสังคายนาพระธรรม-วินัย)
    [​IMG] (๓) ในช่วงระหว่างหลังสังคายนาครั้งที่ ๒ จนถึงครั้งที่ ๓ นี้เอง มีผู้สันนิษฐานว่า ธรรม-วินัย ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด (เรียกว่า เตปิฎก = ไตรปิฎก) คือ ธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก กับพระอภิธรรมปิฎก วินัย เป็นพระวินัยปิฎก
    [​IMG]มีหลักฐานในจารึกสาญจิ กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเถระ และเถรีบางรูป ว่าเชี่ยวชาญในปิฎกต่าง ๆ หรือบางส่วนของพระสุตตันตปิฎก เช่น เปฏกิน = พระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย สุตตันตินี = พระเถรีผู้ทรงพระสุตตันตะ (พระสูตร) ทีฆภาณิกา = พระเถระผู้สวดทีฆนิกายได้ ปัญจเนกายิกา = พระเถระผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕ ได้
    [​IMG]มีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง พระโมคคัลลีบุตร ได้แต่งกถาวัตถุ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และกถาวัตถุถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แสดงว่าพระไตรปิฎกเพิ่งจะมาครบสมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๓ นี้เอง
    [​IMG] (๔) พระไตรปิฎก ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบท่องจำ จนกระทั่งไปถึงศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ ได้รับการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกด้วยอักษรสิงหล จากนั้นก็ถ่ายทอดเป็นอักษรของชาติต่าง ๆ ที่สืบทอดพระไตรปิฎก แม้ประเทศไทยก็ได้พระไตรปิฎกมาจากประเทศศรีลังกา
    [​IMG] (๕) พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (แขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกเป็นภาษาบาลี หรือ ตันติภาษา เมื่อจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจากภาษาบาลี เป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) ไม่มีอักขระเป็นของตน ผู้ประสงค์จะเรียนพระไตรปิฎก จึงต้อง "ถอด" (transliterate) เป็นอักขระของตน เช่น เรียนที่ประเทศตะวันตก ก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เรียนที่ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย
    [​IMG] (๖) พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงแพร่หลายในปัจจุบันคือ (๑) ฉบับโรมัน (ของสมาคมปาลีปกรณ์) (๒) ฉบับสิงหล ของประเทศศรีลังกา (๓) ฉบับพม่า ของประเทศพม่า (๔) ฉบับไทย ที่ถือกันว่าถูกต้องสมบูรณ์ก็คือฉบับสยามรัฐ
    [​IMG]ปัจจุบันมีพระไตรปิฎกที่บันทึกลงในแผ่น CD-ROM ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ Chatta Sangayana CD-ROM ของสถาบันค้นคว้าวิปัสสนา ธรรมคิรี อิคัทปุรี อินเดีย บรรจุพระไตรปิฎกทุก Version มีแผ่นบาง ๆ แผ่นเดียวก็สามารถสืบค้นพระไตรปิฎกอักษรต่าง ๆ ได้สบาย ไม่จำต้องใช้หนังสือดังแต่ก่อน

    ๓. พระไตรปิฎกสำคัญอย่างไรจึงต้องศึกษา
    [​IMG]หลายท่านสงสัยว่า จำเป็นด้วยไหมที่จะต้องอ่านพระไตรปิฎก เพราะได้รับบอกเล่าว่า อ่านยาก เข้าใจยาก แม้จะเป็นฉบับแปลเป็นไทยก็ตามที เราจะอ่านเพียงหนังสืออธิบายธรรมะ ที่ท่านผู้รู้เขียนไว้ จะเพียงพอหรือไม่
    [​IMG]เนื่องจากพระไตรปิฎกเป็นประมวลคำสอน ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เราจำเป็นต้องอ่านพระไตรปิฎกโดยตรง เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องนั้น ๆ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไร เมื่อไม่กระจ่างตอนไหน ประเด็นใดค่อยอ่านหนังสืออรรถกถา หรือหนังสือที่ผู้รู้ทั้งหลายแต่งขึ้นเพื่อประกอบ ในการศึกษานั้น ท่านวางระดับความสำคัญของคัมภีร์ที่พึงเชื่อถือ ลดหลั่นลงไปดังนี้
    [​IMG] (๑) พระไตรปิฎก
    [​IMG] (๒) สุตตานุโลม (หมายถึงอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตลอดถึงปกรณ์พิเศษทั้งหลาย)
    [​IMG] (๓) เกจิอาจารย์ (ผู้รู้ที่เป็นพหูสูตที่เชื่อถือได้)
    [​IMG] (๔) อัตโนมัติ (ความคิดเห็นส่วนตัว)
    [​IMG]พระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการศึกษาพระไตรปิฎกไว้ ๖ ประการ ขอคัดลอกมาลงไว้ต่อไปนี้
    [​IMG]๑. เป็นที่รวมไว้ซึ่งพุทธพจน์ คือ พระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรา มีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
    [​IMG]๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษาไว้ในพระไตรปิฎก
    [​IMG]๓. เป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็นไปตามคำสอนที่เป็นต้นเค้า หรือฐานเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราแม่บท
    [​IMG]๔. เป็นหลักฐานอ้างอิงการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงขั้นสุดท้ายสูงสุด
    [​IMG]๕. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใด ๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลกปลอมก็ตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)
    [​IMG]๖. เป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือ และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใด ๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน

    ๔. จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างไร
    [​IMG]พระไตรปิฎก เป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า อยากรู้ว่าพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องนั้น ๆ ไว้อย่างไร จำต้องอ่านพระไตรปิฎก เพื่อจะได้ทราบหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
    [​IMG]ขอเสนอวิธีศึกษาดังต่อไปนี้
    [​IMG]๑. ให้อ่านเพื่อหาความเข้าใจธรรมะ
    [​IMG]อาจเริ่มจากเรื่องที่ยอมรับกันว่าเป็น "แก่น" ของพระพุทธศาสนา ที่ทุกคนต้องรู้ เช่น อริยสัจ ๔ ท่านที่รู้ภาษาบาลีดีควรอ่านจากต้นฉบับภาษาบาลี ท่านที่อ่านบาลีไม่ได้ ก็ให้อ่านจากฉบับแปลเป็นไทย หรืออังกฤษ อ่านไป พยายามทำความเข้าใจไปด้วย ว่าพระพุทธองค์ทรงหมายความอย่างไร
    [​IMG]อริยสัจ ๔ พระพุทธองค์ตรัสไว้หลายแห่ง ให้ตามอ่านให้หมด เพื่อสำรวจว่า แต่ละแห่งทรงแสดงพิสดารต่างกันอย่างไรหรือไม่ เทคนิคการนำเสนอ ตลอดถึงวิธีอธิบายเหมือนกันหรือต่างกัน จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้น
    [​IMG]อ่านคำอธิบายเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ของพระเถระสำคัญ คือพระสารีบุตร ในส่วนที่เรียกว่าจูลนิทเทส และมหานิทเทส (ในพระไตรปิฎกนี้แล) ว่าท่านขยายอริยสัจ ๔ เป็น อริยสัจ ๘ โดยขยายออกเป็น
    [​IMG]๑-๒ ทุกข์ ได้แก่ นาม - รูป
    [​IMG]๓-๔ สมุทัย ได้แก่ อวิชชา - ภวตัณหา
    [​IMG]๕-๖ นิโรธ ได้แก่ วิชชา - วิมุตติ
    [​IMG]๗-๘ มรรค ได้แก่ สมถะ - วิปัสสนา
    [​IMG]ให้สังเกตวิธีอธิบายของท่าน แล้วสำรวจตัวเองว่า ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นหรือไม่ มีมุมมองกว้างขวางขึ้นหรือไม่
    [​IMG]๒. อ่านเพื่อหาความหมายระหว่างบรรทัด
    [​IMG]บางเรื่องไม่มีพูดไว้ตรง ๆ ในพระไตรปิฎก ก็เป็นเรื่องของผู้ศึกษาจะพึงหาความรู้และคำตอบเอาเองโดยพิจารณาจากบริบท หรือความแวดล้อม หรือจะเรียกว่า หาความหมายระหว่างบรรทัดก็ได้ ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
    [​IMG] (๑) พระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาเสวยวิมุตติสุข ใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้ใกล้เคียง ๔ สัปดาห์ (๒๘ วัน) เท่านั้น แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ เป็น ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) ถามว่าท่านมีเหตุผลหรือความประสงค์อะไร ท่านมิได้บอกไว้ เป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาจะพึงหาคำตอบเอาเอง ถ้าได้คำตอบที่ "ฟังได้" ก็เป็นเรื่องที่น่าจะรับฟัง เช่น อาจได้คำตอบดังนี้
    [​IMG]- ระยะเวลาจากวันตรัสรู้ ไปถึงวันแสดงปฐมเทศนา ๒ เดือนเต็ม (๖๐ วันพอดี)
    [​IMG]- ระยะทางจากพุทธคยาไปสารนาถ ประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าอย่างมากก็ไม่เกิน ๑๐-๑๒ วัน
    [​IMG]- ถ้าให้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์และต้นไม้ในปริมณฑลเพียง ๔ สัปดาห์ (๒๘ วัน) ก็จะเหลือเวลาอีกถึง ๓๒ วัน มากเกินไปสำหรับการเดินทางจากพุทธคยาไปสารนาถ แล้วจะให้พระพุทธองค์ไปอยู่ที่ไหน
    [​IMG]- แต่ถ้าให้พระพุทธองค์อยู่ที่พุทธคยา ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) ก็เหลือเวลาเพียง ๑๑ วัน ซึ่งพอเหมาะพอดี สำหรับเดินทางจากพุทธคยาไปสารนาถ
    [​IMG] (๒) ในจำนวน ๗ สัปดาห์นั้น พระอรรถกถาจารย์เกณฑ์ให้พระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรมด้วยมีความประสงค์และเหตุผลอย่างไร
    [​IMG]อ่านความหมายระหว่างบรรทัดแล้ว คำตอบน่าจะเป็นดังนี้
    [​IMG]- พระพุทธโฆษาจารย์ต้องการแสดงความเก่าแก่ของพระอภิธรรม ว่ามีมาตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว
    [​IMG]- ถามว่าทำไมจึงต้องแสดงว่าพระอภิธรรมนั้นเก่าแก่ และเก่าแก่กว่าพระสูตรและพระวินัยด้วยซ้ำ คำตอบน่าจะเป็นด้วยว่า ในยุคสมัยของพระพุทธโฆษาจารย์ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอภิธรรมเป็นพัฒนาการยุคหลัง เลยเถิดไปถึงว่า พระอภิธรรมมิใช่พุทธพจน์รุนแรงมาก พระพุทธโฆษาจารย์ในฐานะเป็นพระสำนักพระอภิธรรม จึงต้องแสดงให้เห็นว่าพระอภิธรรมนั้นเป็นพุทธวจนะแน่นอน และมีมาก่อนพระสูตรและพระวินัยด้วยซ้ำ
    [​IMG]- และเนื้อหาพระอภิธรรมเป็น ปรมัตถธรรม (ธรรมลึกซึ้ง) พระพุทธเจ้าทรงเลือกสอนเทวดา ดังสอนพระอินทร์และอดีตพุทธมารดา และเมื่อถ่ายทอดให้มนุษย์ฟัง ก็ทรงถ่ายทอดแก่บุคคลผู้มีปัญญาเฉียบแหลม เช่น พระสารีบุตร
    [​IMG]- แต่ก็น่าสังเกตเหมือนกันว่า นิกายสรวาสติวาทะ นับถือพระอภิธรรมมาก มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "นิกายอภิธรรม" นิกายนี้กลับถือว่าพระอภิธรรม เป็น "เถรภาษิต" (ถือพระสารีบุตร และพระมหากัจจายนะเป็นปรมาจารย์)
    [​IMG] (๓) อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าเชื่อ ทำไมไม่ทรงแสดงธรรมโปรด ในประเด็นนี้ คำตอบน่าจะเป็นดังต่อไปนี้
    [​IMG]- ถ้าพิจารณาจากวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าแน่นอน การที่เขาสั่นศีรษะนั้นแล แสดงว่าเชื่อถือพระพุทธองค์ (ชาวอินเดียสั่นศีรษะ หมายถึงยอมรับ)
    [​IMG]- คำโต้ตอบที่อุปกาชีวกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส = ดูก่อนท่านผู้มีอายุ คำที่ท่านพูดนั้น พึงเป็นไปได้ ก็ยืนยันเหตุผลนี้
    [​IMG]- ถามว่า ถ้าเชื่อแล้ว เพราะเหตุไรพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงธรรมให้ฟัง และถ้าทรงแสดงธรรมให้ฟังอุปกาชีวกคงได้บรรลุธรรม ถ้าเช่นนั้นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะพลิกโฉมหน้าไปจากที่รับทราบกันหรือไม่ คำตอบก็น่าจะเป็นว่า เหตุที่ไม่ทรงแสดงธรรมโปรดอุปกาชีวก ก็คงเพราะต้องการโปรดปัญจวัคคีย์ก่อนใครอื่น
    [​IMG]- ปัญจวัคคีย์เป็นศิษย์เก่า ปฏิเสธพระพุทธองค์ว่าการที่ทรงเลิกทุกรกิริยาไม่มีทางตรัสรู้แน่นอน เมื่อตรัสรู้แล้ว จึงทรงต้องการแก้ความเข้าใจผิดของปัญจวัคคีย์ จึงไม่สนพระทัยแสดงธรรมให้คนอื่น แม้ว่าถ้าทรงแสดง เขาอาจบรรลุธรรมได้ แต่ไม่ทรงประสงค์
    [​IMG]- การที่ปัญจวัคคีย์ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ จะช่วยให้การเผยแผ่พระพุทธ-ศาสนาเป็นไปด้วยความราบรื่น และรวดเร็ว เพราะถ้าไม่โปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วไปแสดงธรรมแก่คนอื่น คนที่เขารู้ความเป็นมาก็จะตำหนิได้ว่า พระสมณะโคดมนั้น แม้ศิษย์ยังตีตัวออกห่าง ธรรมที่อ้างว่าได้ตรัสรู้นั้นจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร
    [​IMG]- หรือไม่ปัญจวัคคีย์นั้นเอง ถ้ารู้ว่าพระพุทธองค์ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะ "ดิสเครดิต" พระองค์ได้ว่า อย่าไปเชื่อท่านผู้นี้ พวกเราอยู่ใกล้ชิดมาก่อน ย่อมรู้จักดี เขามิได้ตรัสรู้แต่ประการใด อย่างนี้เป็นต้น
    [​IMG]ทั้งหมดนี้คือเหตุผล ที่ผู้อ่านอาจจะได้จากการพินิจพิจารณาจากบริบท ในพระไตรปิฎกตอนนี้ (แน่นอน คำตอบที่ได้ อาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับมุมมอง และวิธีคิดของผู้อ่านแต่ละคน แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไรก็ตาม ถ้ามีเหตุมีผลพอฟังได้ ก็สมควรรับฟัง)
    [​IMG] (๔) อีกเรื่องหนึ่งคือ การที่พระพุทธเจ้าทันทีที่ทอดพระเนตรเห็น อุปติสสะมาณพ กับ โกลิตะมาณพ เดินเข้าพระเวฬุวันมา พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปแล้วตรัสบอกภิกษุสงฆ์ ที่เฝ้าอยู่ว่า "ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา"
    [​IMG]ถามว่าเพราะเหตุไร สองคนนั้นยังไม่ได้บวชเลย พระองค์จึงจะทรงแต่งตั้งเป็นอัครสาวก ครั้นท่านทั้งสองบวชได้เพียง ๒ สัปดาห์ก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกเลย ทรงละเลยพระเถระผู้ใหญ่อื่น ๆ เช่น พระมหากัสสปะ พระอัญญาโกณฑัญญะไปหมด มิเป็นการเห็นแก่หน้าหรือ
    [​IMG]คำตอบก็น่าจะหาได้จากความหมายระหว่างบรรทัดนั้นเอง เช่น
    [​IMG]- ระยะนี้เป็นเวลาที่เริ่มประกาศพระพุทธศาสนา จะต้องเสนอแนวคิดใหม่ที่แตกต่างไปจากความเชื่อถือดั้งเดิม การจะทำงานประสบความสำเร็จ พระองค์จะต้องมี "มือ" สำคัญในการเผยแพร่คำสอน
    [​IMG]- บุคคลที่จะเป็น "มือ" ทำงานได้สำเร็จ จะต้องเป็นผู้ที่รู้คำสอนดั้งเดิมของพวแกพราหมณ์ดี และมีวาทศิลป์ในการโต้แย้ง หักล้างพวกพราหมณ์ได้ หาไม่จะไม่มีทางกลับใจพวกพราหมณ์ให้มานับถือพระพุทธศาสนาได้
    [​IMG]พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะนั้นเป็นพราหมณ์ผู้เรียนจบไตรเพทมาก่อน ทั้งยังได้จบการศึกษาทางปรัชญาลัทธิ "อมราวิกเขปิกา" จากสำนักของสัญชัย เวลัฏฐบุตรด้วย ย่อมมีความรู้ความสามารถที่จะโต้เถียงหักล้างพวกพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี เหมาะสมกว่าพระเถระผู้เฒ่าเช่นพระมหากัสสปะ และพระอัญญาโกณฑัญญะ (ผู้ซึ่งชอบชีวิตสงบ ถือธุดงควัตรมาก
    กว่า) การที่ทรงแต่งตั้งพระหนุ่ม พรรษาน้อย เพื่อผลทางการทำงานการเผยแผ่พระศาสนา มากกว่าอย่างอื่น หาใช่ทรงเห็นแก่หน้าบุคคลไม่
    [​IMG]๓. อ่านเพื่อประมวลคำตอบหลากหลายในประเด็นเดียวกัน
    [​IMG]ในที่นี้หมายถึงว่า บางเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หรือหลักธรรม มีคำอธิบายหรือให้คำตอบหลายนัย เช่น มาร หมายถึงอย่างนี้ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ เราในฐานะผู้ศึกษาพระไตรปิฎกพึงประมวลคำตอบทุกนัยไว้ เพื่ออธิบายแก่ผู้ชักถามแล้วแต่กรณี
    [​IMG]คำอธิบายนั้นอาจจะมาจาก (๑) พระไตรปิฎกอันเป็นพุทธวจนะโดยตรง หรือคำอธิบายของพระเถระสำคัญอื่น ๆ (๒) จากคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา (๓) จากมติของเกจิอาจารย์ หรือบุรพาจารย์อื่น ๆ ขอยกตัวอย่าง เหตุการณ์ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
    [​IMG]ทันทีที่ประสูติ มีเทวดามารับ นำน้ำเย็นน้ำร้อนมาชำระพระวรกาย
    [​IMG]พระกุมารทรงยืน ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ชูพระดรรชนีขึ้นฟ้า ประกาศอาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ประเสริฐในโลก เป็นใหญ่ในโลก นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป"
    [​IMG]เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว (อรรถกถาเติมว่า ขณะเสด็จดำเนินมีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาทด้วย)
    [​IMG]ปรากฏเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ อีกมาก
    [​IMG]หน้าที่ของผู้ศึกษาก็คือ
    [​IMG](๑) สำรวจว่าเหตุการณ์นี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ถ้ามี มีทุกเรื่องหรือไม่ หรือบางเรื่องเติมภายหลัง ถ้าอ่านพระไตรปิฎกก็ทราบว่า มีบันทึกในพระไตรปิฎก ในรูปแห่งพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าด้วย มิใช่อรรถกถาแต่งขึ้น เพียงแต่บางอย่างเติมเข้ามา เช่น ดอกบัวผุดรองรับพระบาทไม่มีในพระดำรัสตรัสเล่า
    [​IMG] (๒) เมื่อทราบดังนี้แล้ว ก็ดูต่อไปว่า ท่านอธิบายอย่างไร คือแปลความหมายไปกี่อย่าง ก็ทราบดังต่อไปนี้
    [​IMG]- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง หากเป็น "สัญลักษณ์" หรือ "บุพนิมิต" ดังทรงอธิบายว่า การที่เทวดามารับ แสดงว่า พระกุมารจะได้รับการยอมรับจากเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียง เช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส
    [​IMG]- การที่เสด็จดำเนินไปทางทิศเหนือ แสดงว่า จะทรงอยู่เหนือ หรือเอาชนะความเห็นผิดต่าง ๆ ที่มีในยุคนั้น
    [​IMG]- การที่ทรงชี้พระดรรชนีแล้วเปล่งอาสภิวาจา แสดงว่าจะได้ประกาศสัจธรรมที่ตรัสรู้แก่โลก
    [​IMG]- การที่เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว แสดงว่า จะทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในแว่นแคว้นทั้ง ๗ (ซึ่งนับจริง ๆ เกิน ๗ พระองค์จึงจับคู่ นับสองแว่นแคว้นเป็นหนึ่ง เป็นต้น)
    [​IMG]- เมื่อตรวจอรรถกถา และพระไตรปิฎก มีคำอธิบายคล้ายกัน คือ ท่านกล่าวว่า เหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นเป็น "ธรรมดาของพระโพธิสัตว์" มิใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์ หรือ อิทธิปาฏิหาริย์แต่อย่างใด พระโพธิสัตว์มี ๒ ชนิดคือ (๑) อนิยตโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่บารมียังไม่สมบูรณ์ยังไม่แน่นอนว่าจะตรัสรู้เมื่อใด และ (๒) นิยตโพธิสัตว์
    พระโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมจะตรัสรู้ในไม่ช้า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทที่ ๒ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระโพธิสัตว์ เป็นปรากฏการณ์โดยธรรมชาติ มิใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด
    [​IMG]พูดอีกนัยหนึ่ง การพูดได้ เดินได้ ทันทีหลังจากประสูติ เป็นของธรรมดาสำหรับพระโพธิสัตว์ เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้จริง ไม่ผิดปกติและไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์แต่อย่างใด ดุจดังการที่นกบินได้ หรือการที่ปลาอยู่ในน้ำได้ทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจและไม่ขาดใจตาย เป็น "ธรรมดา" ของนกและปลา มิใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด
    [​IMG]ยังมีอีกหลายเรื่อง หลายประเด็น ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกแล้ว พยายามหาความหมายระหว่างบรรทัดจะได้รับความรู้และได้คำตอบที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย
    [​IMG]๔. อ่านและตีความจากภูมิหลังของตน
    [​IMG]หมายถึงเอาภูมิหลังของตนเองมาเป็นสื่อ หรือเครื่องมือ ทำความเข้าใจพระไตรปิฎก เข้าใจสาขาวิชาการของตนเพิ่มขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ เช่น
    [​IMG]พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจ พระพุทธศาสนากับประชาธิปไตย พระพุทธศาสนากับจิตวิเคราะห์ เสรีภาพในทรรศนะพระพุทธศาสนา พุทธศึกษากับปรัชญา ครูในอุดมคติตามแนวพระพุทธศาสนา อุดมรัฐตามแนวพุทธศาสนา ฯลฯ เราผู้อ่านมีภูมิหลังในด้านใด อาจนำเอาแนวคิด เอาทฤษฎีในด้านนั้นมาจับพระไตรปิฎก แล้วเสนอออกมาเป็นทรรศนะพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จะทำให้
    [​IMG](๑) ได้ความรู้ใหม่ อีกมิติหนึ่ง เกี่ยวกับสาขาวิชาการที่ท่านเล่าเรียนมา
    [​IMG](๒) ช่วยเสนอแนวทางอธิบายพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากที่พระเณรเคยเรียนเคยสอนกันมา ตลอดถึงวิธีการปรับ ประยุกต์ใช้ให้สมสมัยอีกด้วย และ
    [​IMG](๓) จะพบความสนุกสนานในการอ่านพระไตรปิฎก ไม่เบื่อ ไม่เซ็ง
     

แชร์หน้านี้

Loading...