วิปัสสนาวงศ์ในไทย มอญและพม่า (1)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b899e0b8b2e0b8a7e0b887e0b8a8e0b98ce0b983e0b899e0b984e0b897e0b8a2-e0b8a1e0b8ade0b88de0b981e0b8a5.jpg

    ปัญญาทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วยสุตตมยปัญญาจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา กลไกในการสืบทอดปัญญาเหล่านี้ต้องอาศัยการปฏิบัติที่สามารถเจริญอริยมรรคด้วย ฝ่ายวิปัสสนาที่สืบทอดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอยู่ในยุคปัจจุบันได้แก่วิปัสสนาวงศ์ในสุวรรณภูมิ

    สุวรรณภูมิเป็นสังคมเก่าแก่อายุ 4-8 พันปี หรือนานกว่าการศึกษารหัสพันธุกรรม ภาษาและโบราณวัตถุล่าสุดบอกว่าชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่เคยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 3-4 พันปีที่แล้วโดยประชากรก่อนหน้านั้นไม่ทิ้งร่องรอยไว้ ส่วนหนึ่งได้อพยพกลับไปทางอินเดีย

    เราอาจสังเกตว่าอารยธรรมในยุคต่อมาตามแหล่งค้นพบที่บ้านเชียง บ้านเก่า หนองราชวัตร บ้านท่าแค โคกพนมดีและบ้านโนนวัดเป็นต้น มีอายุราว 3-5 พันปี ชาติพันธุ์หลักส่วนหนึ่งที่เริ่มเข้ามายุคนั้นอาจเป็นคนไท-ไตจากแหล่งอารยธรรมบริเวณเสฉวนและทางใต้ของจีน อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) เคยเขียนเมื่อปี พ.ศ.2493 ว่าชาวสุวรรณภูมิเป็นชาวอารยันเก่า

    899e0b8b2e0b8a7e0b887e0b8a8e0b98ce0b983e0b899e0b984e0b897e0b8a2-e0b8a1e0b8ade0b88de0b981e0b8a5-1.jpg
    จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม พ.ศ.2432
    พระมหาโมคคัลลานะถือจีวรรองรับลูกโพธิ์สุกที่ต้นโพธิ์ตรัสรู้
    สืบต่อเป็นอานันทโพธิ์ที่สาวัตถี

    ชนชาติที่อาศัยอยู่ต่อมามีความหลากหลายมากขึ้นและน่าจะกระจายตัวมาก ทีมศาสตราจารย์ไรช์วิเคราะห์ว่าหลังจากการอพยพครั้งใหญ่จากจีนตอนใต้เมื่อ 4,500 ปีก่อนก็มีอีก 3 ครั้ง โดยเข้ามาในพม่า-มอญเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ในเวียดนามเมื่อ 2,000 ปีที่แล้วและในสยามเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว

    การเข้ามาของพระพุทธศาสนามักยอมรับกันตามคัมภีร์ของลังกาว่ามีขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช การเข้ามาก่อนหน้านั้นก็อาศัยตำนาน มอญมีตำนานว่าอุบาสกคู่แรกคือตปุสสะและภัลลิกะ(ตะปาวและตะโป้ของชาวมอญ) ได้นำเอาพระเกศาธาตุมาที่ถิ่นเกิดที่ปากน้ำอิรวดี ในสยามมีตำนานว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับรอยพระบาทที่สุวรรณบรรพต ตำนานทำนองนี้มีมาก ถ้าหากยึดเพียงหลักฐานโบราณวัตถุก็จะตกราวพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งการผลิตและการค้าทางทะเลอาจทำให้ชัดเจนได้มากแล้ว

    การเผยแผ่ของคณะพระโสณเถระและพระอุตตรเถระในสมัยพระเจ้าอโศกน่าจะเริ่มจากพื้นที่ที่ประชิดประตูการค้าก่อนเช่นแถบทวาย-บ้านเก่า-อู่ทองแล้วกระจายคณะไปยังพื้นที่เหลือซึ่งในคณะก็คงมีชาวท้องถิ่นร่วมด้วย ทางมอญเห็นว่าคณะนี้เริ่มที่สะเทิมก่อนซึ่งก็เป็นไปได้เพราะอาจมาขึ้นบกที่อ่าวเมาะตะมะหรือที่ปากน้ำอิรวดี แต่ทวาย-บ้านเก่า-อู่ทองเป็นจุดที่กระจายคณะได้ดีและนครปฐม (ทวารวดีหรือทวารกะ) ก็มีหลักฐานที่โยงไปถึงศิลปะสมัยพระเจ้าอโศก

    พระมหินทเถระ พระโสภณเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นต้นวงศ์เถรวาทในลังกาและสุวรรณภูมิ ต่างเป็นศิษย์พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระสืบสายตรงจากสำนักของพระอุบาลีซึ่งทรงวินัยและบำเพ็ญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ

    สำนักที่สำคัญภายหลังสังคายนาครั้งแรกนั้นได้แก่สำนักของพระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ พระอานนท์ พระอุบาลีและพระกัจจายนะ เมื่อสิ้นสมัยของพระมหาเถระจึงมีการแตกเป็นพุทธเถรวาทและนิกายอื่นๆ

    ในสุวรรณภูมิสมณวงศ์พื้นเมืองเรียกว่าอริยารหันตวงศ์ ส่วนที่เข้ามาจากลังกาเรียกว่าลังกาวงศ์ ต่อมาเมื่ออำนาจขอมสิ้นสุดในอาณาจักรละโว้ นิยมเรียกฝ่ายอริยารหันต์ว่ากัมโพชสงฆ์ปักขะ ในสมัยนั้นพระเถระของวงศ์นี้มีวิหารชื่อพกาสะหรือถิ่นนกยางและอยู่ใกล้ตลาดของชาวกัมโพชที่เป็นไพร่เชลย ชาวละโว้มักเรียกพระเถระของวิหารนี้ว่ากัมโพชสงฆ์ กัมโพชสงฆ์ปักขะจึงมิใช่นิกายของชาวแคว้นกัมโพชหากเป็นอริยารหันตปักขะ

    คณะมหาวิหารของลังกาได้รับความยกย่องว่าเป็นเถรวาทบริสุทธิ์และสำคัญยิ่งในการชำระวินัยและสมณวงศ์ ลังกาวงศ์มีศูนย์กลางที่คณะมหาวิหารในกรุงอนุราธปุระตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระภิกษุที่เน้นการภาวนามักอาศัยตามป่าเขาชนบท ส่วนพระภิกษุสามเณรที่บวชเมื่ออายุน้อยมักศึกษาปริยัติในเมือง แหล่งฝึกการภาวนามีที่อนุราธปุระ จนกระทั่งเมื่อเกิดอาณาจักรโรหณะทางใต้ของเกาะจึงมีแหล่งปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ 4 ศูนย์กลางที่นั่นคือติสสมหารามามหาวิหาร

    899e0b8b2e0b8a7e0b887e0b8a8e0b98ce0b983e0b899e0b984e0b897e0b8a2-e0b8a1e0b8ade0b88de0b981e0b8a5-2.jpg
    จิตรกรรมลายคำวิหารวัดปราสาท เชียงใหม่
    ปัญจมสังคายนา พ.ศ.433 ที่ถ้ำอาโลกเลนสถาน มตเล
    จารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานครั้งแรก
    มีพระป่าเข้าร่วมและได้เกิดคณะอภัยคีรีวิหาร
    (เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน)

    ในพุทธศตวรรษที่ 5 มีการสังคายนาพระไตรปิฎกเพื่อจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ครั้งนั้นเกิดการแยกคณะเป็นคณะอภัยคีรีวิหารซึ่งต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 9 พระเจ้ามหาเสนะได้สร้างคณะเชตวันวิหาร พระภิกษุมหาวิหารถูกเบียดเบียนจนต้องย้ายไปโรหณชนบทเป็นจำนวนมาก

    การเผยแผ่จากคณะมหาวิหารได้เข้ามาในสุวรรณภูมิอย่างช้าในสมัยทวารวดีหรือหลังสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ในพุทธศตวรรษที่ 10 แต่ถ้าหากนับการเข้ามาของคัมภีร์วิมุตติมรรคที่พระอุปติสสเถระแห่งคณะอภัยคีรีได้รจนาก็ตกราวพุทธศตวรรษที่ 6 คณะอภัยคีรีวิหารในสมัยนั้นยังมีคำสอนและวัตรปฏิบัติไม่แตกต่างจากคณะมหาวิหารเพียงใช้ภาษาสันสกฤต ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-15 คณะอภัยคีรีวิหารซึ่งกลายเป็นแหล่งรองรับนิกายต่างๆ ได้รับความศรัทธาสูงมากในลังกาและก็ได้มาเติบโตในชวาและแคว้นศรีวิชัยที่ไชยา

    นิกายสรวาสติวาทินได้เข้ามาจากอินเดียด้วยเช่นกันนิกายสรวาสติวาทินเคยเป็นพุทธเถรวาทที่มีต้นวงศ์สืบสายมาจากพระอานนท์แต่ภายหลังมีความใกล้ชิดกับลัทธิพราหมณ์และหันมาศรัทธาในพระอภิธรรมแทนพระสูตร ส่วนคณะมหาวิหารค่อยๆ เข้ามาผ่านทางมอญในสมัยทวารวดี

    ภายหลังสมัยทวารวดีเป็นต้นมาลังกาวงศ์ได้เข้ามา 3 ระลอกใหญ่ ระลอกแรกเป็นลัทธิลังกาวงศ์เก่าแห่งอาณาจักรโปโลนนารุวะในพุทธศตวรรษที่ 18 มีการเผยแผ่ในพุกามและตามพรลิงค์แล้วขยายไปยังอโยธยา ละโว้และศรีสัชนาลัย-สุโขทัย ตามด้วยลำพูน น่าน ล้านช้าง เชียงใหม่และเชียงตุง ระลอกที่สองเป็นลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ในสมัยต้นอาณาจักรโกตเตโดยเข้ามาในสยาม ล้านนา ล้านช้างและเชียงตุง ระลอกที่สามคือคณะกัลยาณีในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฎกธรแห่งอาณาจักรหงสาวดี

    ลังกาวงศ์ทั้งสามระลอกนี้เป็นคณะมหาวิหารที่มีการปฏิบัติอย่างอรัญวาสีด้วย อรัญวาสีในลังกามีที่มาตั้งแต่ครั้งเป็นคณะพระป่าซึ่งต่อมาได้ยกสถานะขึ้นเป็นคณะอรัญวาสีในพุทธศตวรรษที่ 12 และมีวัดแห่งแรกนอกเมืองอนุราธปุระในพุทธศตวรรษที่ 16 พอปลายศตวรรษเมืองหลวงได้ย้ายไปอยู่ที่โปโลนนารุวะฝ่ายอรัญวาสีที่อุทุมพรคีรีจึงเกิดขึ้น ต่อมาพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ทรงขจัดอลัชชีและรวมอภัยคีรีวิหารและเชตวันวิหารเข้ามาอยู่กับมหาวิหาร ทรงแบ่งเป็นฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญวาสีแทนและทรงให้พระกัสสปะมหาเถระแห่งอุทุมพรคีรีเป็นประธาน พระอุทุมพรกัสสปะมหาสวามีตามคัมภีร์ระบุว่าสืบสายตรงจากพระมหินทเถระ

    การปกครองภายใต้คณะมหาวิหารมีสำนักศึกษาซึ่งเรียกว่าสำนักอายตนะหรือมูละ การศึกษาในสำนักกำหนดให้มีทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระและต้องเรียนกรรมฐานเบื้องต้นตั้งแต่เข้าสู่เพศพรหมจรรย์ นับเป็นยุคที่อรัญวาสีรุ่งเรืองที่สุดและก็ได้นำไปสู่ลัทธิลังกาวงศ์ระลอกแรก คณะอุทุมพรคีรีมีความสำคัญมากในสมัยโปโลนนารุวะและสมัยต่อมาแห่งดัมพเดณิยะ

    วิปัสสนาวงศ์ในมอญมีความใกล้ชิดกับลังกามาก ส่วนพม่ามีความใกล้ชิดน้อยกว่าโดยเริ่มรับพุทธเถรวาทจากมอญผ่านพระธรรมทัสสีแล้วได้ขยายไปถึงสกายและฉาน ในสมัยต้นพระเจ้าอโนรธามังช่อเคยส่งพระภิกษุไปสืบสมณวงศ์ที่ลังกาด้วยแต่มีพระธรรมทัสสีเป็นหลัก

    หลังจากพระธรรมทัสสีถึงมรณภาพพระปันฤคุดำรงตำแหน่งต่อแต่ทิ้งตำแหน่งไปประจำที่ลังกาเพราะไม่อาจเสวนากับพาลชนอย่างได้ เมื่อสิ้นพระเจ้านรสุท่านจึงกลับมาเป็นสังฆราชซึ่งเมื่อถึงมรณภาพพระเจ้านรปติชัยสุระจึงให้พระอาจารย์คือพระอุตตราชีวกเป็นสังฆราชองค์ใหม่ ท่านเป็นหลานศิษย์ของพระมหากาฬเถระซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระธรรมทัสสี

    พระอุตตรชีวกได้นำคณะไปนมัสการพระเจดีย์ที่ลังกาซึ่งในคณะนี้มีสามเณรฉปัฏชาวมอญแคว้นพะสิมร่วมเดินทางไปด้วยแล้วได้บวชที่มหาวิหาร ในปี พ.ศ.1733 พระฉปัฏได้กลับมาสืบลังกาวงศ์ในพุกามโดยได้เชิญพระเถระอีก 4 รูปมาด้วย ได้แก่ พระราหุลชาวลังกา พระสิวลีชาวลังกา พระตามลินทะราชโอรสพระเจ้ากัมโพชและพระอานันทะชาวโจฬะซึ่งเยาว์วัยที่สุด พระราหุลเถระได้มาเผยแผ่ต่อที่ตามพรลิงค์หรือศรีธรรมราช ส่วนท่านอื่นยังคงอยู่ที่พุกามจนสิ้นอายุขัย

    ที่พุกามฉปฏวงศ์ขัดแย้งกับสงฆ์พื้นเมืองซึ่งยาวนานจนถึงสมัยอังวะ เมื่อพระฉปัฏสิ้นอายุนิกายสิงหลก็แตกเป็น 3 นิกายย่อยตามพระเถระที่เหลือและเจริญมาถึงสมัยพระเจ้าจะซวา จากนั้นมาความรุ่งเรืองของลังกาวงศ์เก่าก็มีมากขึ้นเมื่อเมาะตะมะและพะโคแยกจากพุกามได้สำเร็จ

    อาณาจักรรามัญของมอญเริ่มต้นที่เมาะตะมะในปี พ.ศ.1830 โดยเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย จารึกกัลยาณีระบุว่าที่มุตติมนครมีคณะสงฆ์ 6 นิกาย ได้แก่ อริยรหันตวงศ์และลังกาวงศ์อีก 5 นิกาย ลังกาวงศ์มีนิกายทั้งสามที่สืบจากพระสิวลีเถระ พระตามลินทเถระและพระอานันทเถระ นิกายของพระพุทธวงศ์และนิกายที่พระมหานาคสืบมาจากพระมหาสวามี

    ในพุกามพระอานันทเถระมีพระธรรมวิลาสะหรือพระสารีบุตรภิกขุเป็นศิษย์และเป็นชาวมอญทลนคร (ตะเกิงหรือย่างกุ้งอยู่ในเขตทลนคร) พระสารีบุตรภิกขุมีชื่อเสียงมากทางปริยัติและพระเจ้าพุกามได้อาราธนาให้ท่านไปเผยแผ่ที่แคว้นทละในปี พ.ศ.1793 ซึ่งเป็นปีก่อนพระเจ้าจะซวาสิ้นพระชนม์และกรุงพุกามกำลังเข้าสู่ยุคเสื่อม ต่อมาที่ทลนครนี้มีอำมาตย์ได้นิมนต์พระมหาเถระจากกัมโพชวิหารที่ละโว้มาประจำด้วย ห้วงเหตุการณ์นี้น่าจะประมาณการได้ราวปี พ.ศ.1800 เศษ

    พระพุทธวงศ์ไปบวชที่ลังกาและกลับมาที่เมาะตะมะแล้วมีนิกายของตน ส่วนพระมหานาคก็เป็นเช่นเดียวกัน จารึกกัลยาณีมีเพียงความโดยย่อและได้กล่าวว่าพระพุทธวงศ์เป็นพระอาจารย์ของพระเทวีโดยมิได้ระบุพระนามของพระเทวีไว้ ในจารึกทางโบราณคดีที่ถ้ำกอกูนก็มีปริศนาว่า “Queen of Muh Tah” คือใครซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจหมายถึง “พระเทวีแห่งมุตะมะ” เดียวกัน

    พระเทวีนี้อาจหมายถึงพระมหาเทวีหรือวิหารเทวีซึ่งเป็นพระพี่นางซึ่งพญาอู่ทรงยกย่องอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ.1894 พญาอู่ทรงเจริญพระศาสนาจากลังกาและทรงทำนุบำรุงศาสนสถานมาก ช่วง 10 ปีจากนั้นเป็นช่วงที่เมาะตะมะสงบแต่ฝ่ายอรัญวาสีของลังกาก็มิได้อยู่ที่อุทุมพรคีรีแล้ว

    ในตำนานมูลศาสนามีเจ้าไท (พระสงฆ์) และชาวนครพันไปบวชในสำนักพระอุทุมพรกัสสปะมหาสวามีและพระยาสุตตโสมเชิญกลับมาในปี พ.ศ.1874 เจ้าไทได้มอบให้พระอนุมัติซึ่งเป็นศิษย์ที่อุทุมพรคีรีนำคณะมาที่นครพันและก็ได้รับการยกย่องให้เป็นพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี สามเณรที่มาด้วยเป็นหลานของเจ้าไทและต่อมาคือพระอานันทเถระที่ครองวัดป่ามะม่วงในสุโขทัย

    พระยาสุตตโสมคือพญาอายลาวจากสะโตงซึ่งเพิ่งเสวยราชย์หลังจากพระนางจันทมังคละ (พระมารดาของพญาอู่) ได้ลอบปลงพระชนม์พญาอายกำเกิงฝ่ายสุโขทัยในปีนั้น ส่วนนครพันมิใช่เมาะตะมะแต่น่าจะเป็นเมืองนครเพนหรือนครพอัง (Hpa-an) ซึ่งว่ากันว่าเคยเป็นเมืองพระสงฆ์ คณะพระมหานาคจึงน่าจะมีภายหลังคณะพระมหาอนุมัติและมิใช่คณะเดียวกัน

    ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/columnists/news_2831876
     

แชร์หน้านี้

Loading...