สาระสำคัญของอัคคัญญสูตร
ในพระสูตรบทนี้มีข้อความว่า พระพุทธเจ้าได้สนทนากับสองพราหมณ์ที่เป็นสามเณร ชื่อวาเสฏฐะกับภารทวาชะเพื่อเตรียมตัวจะบวชเป็นภิกษุเกี่ยวกับวรรณะพราหมณ์ที่สามเณรทั้งสองถือกำเนิดมา และถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันกล่าวประณามเพราะถือว่ามีวรรณะสูงกว่าวรรณะอื่นด้วยเกิดจากอวัยวะเบื้องบนของพระพรหม ส่วนวรรณะอื่นเกิดจากส่วนเบื้องต่ำของพระพรหม พระพุทธองค์ทรงสอนสามเณรทั้งสองว่า คำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร คนทุกวรรณะเกิดมาโดยอาศัยพ่อแม่ของตน พวกพราหมณ์ก็อาศัยพ่อแม่ในวรรณะของตนเป็นผู้ให้กำเนิด โดยผ่านกระบวนการตั้งครรภ์แล้วจึงคลอดลูกตามลำดับ และเมื่อคลอดลูกแล้วก็ต้องเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จึงเป็นเรื่องเท็จที่อ้างว่า พวกพราหมณ์เกิดจากพระพรหมและตรัสสรุปว่า ท่านทั้งหลายมาบวช จากโคตร จากสกุลต่างๆ เมื่อมีผู้ถามว่าเป็นใครก็จงกล่าวตอบว่า เป็นสมณะศากยบุตร ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต ผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตรเกิดจากอุระเกิดจากพระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม เป็นผู้ที่ธรรมเนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม เพราะคำว่าธรรมกาย พรหมกาย ธรรมภูต พรหมภูต เป็นชื่อของพระพุทธองค์ ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
พระพุทธองค์ได้ตรัสเรื่องการอุบัติขึ้นมาของสรรพสิ่งในโลก และวิวัฒนาการของสัตว์มนุษย์และสังคม ว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว โลกนี้ได้พินาศ สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมกันโดยมาก และเมื่อโลกอุบัติขึ้นมาใหม่ สัตว์เหล่านั้นก็จุติมาสู่โลกนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นจากใจ กินปีติเป็นอาหาร (ยังมีอำนาจฌานอยู่) มีแสงสว่างในตัว ไปได้ในอากาศ มีสภาพเหมือนเช่นในชั้นอาภัสสรพรหม ในขณะที่โลกวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ๆนั้น จักรวาลทั้งจักรวาล มีแต่น้ำ มีแต่ความมืด ไม่มีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ไม่มีดาวนักษัตรทุกชนิด ไม่มีกลางวันและกลางคืน ไม่ปรากฏเวลาเป็นเดือน เป็นปี มนุษย์ที่จุติจากอาภัสสรพรหม อาศัยอยู่ในโลกตอนนั้น ไม่ปรากฏเพศชาย และเพศหญิง แต่ก็รู้ตัวว่าเป็นสัตว์มนุษย์
เมื่อเวลาผ่านพ้นนานไป จึงเกิดมีง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ง้วนดินนั้นมีลักษณะเหมือนนมสดที่เคี่ยวให้งวด มีกลิ่น รส สี คล้ายเนยใสมีรสดุจน้ำผึ้ง สัตว์พวกนี้จึงลองชิมดูก็ชอบใจ เลยหมดแสงสว่างในตัว เมื่อแสงสว่างหายไป ก็มีพระจันทร์พระอาทิตย์ มีดาวนักษัตร มีคืนวัน มีเดือน มีกึ่งเดือน มีฤดูและปี เมื่อกินง้วนดินเป็นอาหาร กายก็หยาบกระด้าง ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏ พวกมีผิวพรรณดี ก็ดูหมิ่นพวกมีผิวพรรณทราม เพราะดูหมิ่นผู้อื่นผู้อื่นเรื่องผิวพรรณ เพราะความถือตัวและดูหมิ่นผู้อื่น ง้วนดินก็หายไป ต่างก็พากันบ่นเสียดาย
แล้วก็เกิดกระบิดินที่คล้ายเห็ดสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรสขึ้นแทนใช้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายก็หยาบกระด้างยิ่งขึ้น ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏชัดขึ้น เกิดการดูหมิ่นถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น กระบิดินก็หายไป จึงเกิดเครือดินคล้ายผลมะพร้าวสมบูรณ์ด้วย สี กลิ่น รสขึ้นแทน ใช้กินเป็นอาหารได้ ความหยาบกระด้างของกาย และความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น เกิดการดูหมิ่นถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น
เครือดินก็หายไป เกิดข้าวสาลีไม่มีเปลือก มีกลิ่นหอมมีเมล็ดเป็นข้าวสุกขึ้นแทน ใช้เป็นอาหารได้ ข้าวนี้เก็บเย็นเช้าก็สุกแทนที่ขึ้นมาอีก เก็บเช้าเย็นก็สุกแทนที่ขึ้นมาอีก ไม่มีพร่อง ความหยาบกระด้างของกาย ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น จึงปรากฏเพศหญิงและเพศชาย เมื่อต่างเพศเพ่งกันและกันก็เกิดความกำหนัดเร่าร้อน เกิดเพศสัมพันธ์กันขึ้น การร่วมเพศเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จึงพากันเอาสิ่งของขว้างปา เพราะในสมัยนั้นถือว่าเป็นอธรรม เมื่ออยากเสพต้องไปกระทำนอกชุมชน เช่นกับที่สมัยนี้ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง
ต่อมาจึงรู้จักสร้างบ้านเรือน ปกปิดซ่อนเร้น ต่อมามีผู้เกียจคร้านที่จะนำข้าวสาลีมาตอนเช้าเพื่ออาหารเช้า นำมาตอนเย็นเพื่ออาหารเย็น จึงนำมาครั้งเดียวให้พอทั้งเช้าทั้งเย็น ต่อมาก็นำมาครั้งเดียวให้พอสำหรับ ๒ วัน ๔ วัน ๘ วัน มีการสะสมอาหาร จึงเกิดมีเปลือกห่อหุ้มข้าวสาลี ที่เกี่ยวแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทน มีการขาดแคลนเป็นตอนๆ ตั้งแต่นั้นมา ข้าวสาลีจึงมีเฉพาะเป็นบางแห่ง
สัตว์มนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมกันปรารภความเสื่อมลงโดยลำดับ แล้วมีการแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน ต่อมาบางคนรักษาส่วนตน ขโมยของคนอื่นมาบริโภค เมื่อถูกจับได้ ก็เพียงแต่สั่งสอนกันไม่ให้ทำอีก เขาก็รับคำ ต่อมาขโมยอีก ถูกจับได้ถึงครั้งที่ ๓ ก็สั่งสอนเช่นเดิมอีก แต่บางคนก็ลงโทษ ตบด้วยมือ ขว้างด้วยก้อนดิน ตีด้วยไม้
ต่อมาสัตว์ระดับผู้ใหญ่จึงประชุมกันปรารภว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การจับท่อนไม้เกิดขึ้น ควรจะแต่งตั้งสัตว์ผู้หนึ่งขึ้นให้ทำหน้าที่ติผู้ที่ควรติ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ โดยพวกที่เหลือจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงาม น่าเลื่อมใส น่าเกรงขาม แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคนติและขับไล่คนที่ทำผิด คำว่า มหาชนสมมติ (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) กษัตริย์ (ผู้ใหญ่ยิ่งแห่งเขต) ราชา (ยังชนอื่นให้สุขใจโดยธรรม) กษัตริย์จึงเกิดขึ้น ซึ่งมาจากสัตว์พวกเดียวกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่โดยอธรรม ธรรมะจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ต่อมามีสัตว์บางกลุ่มออกบวชมุ่งลอยธรรมที่ชั่ว ที่เป็นอกุศล จึงมีนามว่า พราหมณ์ (ผู้ลอยบาป) สร้างกุฎีหญ้าขึ้น เพ่งในกุฎีนั้น จึงมีนามว่า ฌายกะ (ผู้เพ่ง) สัตว์บางคนไปอยู่รอบหมู่บ้านรอบนิคม แต่งคัมภีร์ จึงถูกเรียกว่า อัชฌายกะ (ผู้ไม่เพ่ง) การทรงจำ การสอน การบอกมนต์ เกิดจากการไม่เพ่ง เดิมมีความหมายเลว แต่บัดนี้มีความหมายทางดี
ยังมีสัตว์บางกลุ่ม ถือการเสพเมถุนธรรม ประกอบการงานเป็นแผนกๆ จึงมีชื่อว่า เวสสะ (ประกอบการค้า) และยังมีสัตว์บางกลุ่ม ประกอบการล่าสัตว์ อาศัยการล่าสัตว์เลี้ยงชีพ จึงมีชื่อว่าศูทร
ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งพราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เกิดจากสัตว์พวกนั้น มิใช่เกิดจากสัตว์พวกอื่น เกิดจากสัตว์ที่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่อธรรม แล้วตรัสต่อไปว่า มีสมัยซึ่งบุคคลในพวกทั้ง ๔ มีกษัตริย์เป็นต้น ไม่พอใจธรรมะของตนออกบวช ไม่ครองเรือน จึงเกิด สมณมณฑล ซึ่งมาจากพวกสัตว์ทั้ง ๔ กลุ่มนั่นเอง จะแตกต่างกันเพราะธรรม
ครั้นแล้วสรุปว่า ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และสมณะ ถ้าประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ มีความเห็นผิด ประกอบกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นผิด เมื่อตายไปก็จะเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกัน ถ้าตรงกันข้าม คือ ประพฤติสุจริต ทางกาย วาจา ใจ มีความเห็นชอบ ประกอบกรรมซึ่งเกดจากความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็จะเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ เหมือนกัน หรือถ้าทำทั้งสองอย่าง ก็จะได้รับทั้งสุขทั้งทุกข์เหมือนกัน ถ้าทั้ง ๔ พวกนี้สำรวม กาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ ก็จะปรินิพพานได้ในปัจจุบันเหมือนกัน และวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว หมดกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นก็นับว่าเป็นยอดแห่งวรรณะเหล่านั้นโดยธรรมมิใช่โดยอธรรม เพราะธรรมเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในที่สุดตรัสย้ำถึงภาษิตของ สนังกุมารพรหมและของพระองค์ ที่ตรงกันว่า กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร แต่ผู้ใดมีวิชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ) ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ ฯ
วิวัฒนาการของโลก จากคัมภีร์ อัคคัญญสูตร
จากสาระสำคัญที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จะเห็นถึงกระบวนการวิวัฒนาการของการเกิดเป็นมนุษย์ มีจุดเริ่มต้นมาจากอาภัสสรพรหม ซึ่งมาจากพรหมโลกเป็นพวกที่ทรงฌาน มีกายและใจ ที่ละเอียดอ่อน มาเกิดบนโลกซึ่งมีแต่น้ำ มนุษย์ยุคแรกจึงต้องอยู่บนอากาศ และใช้เวลาอันนานแสนนาน กว่าจะเกิดพื้นดิน และที่อยู่อาศัยบนพื้นโลกได้ ในพระไตรปิฎกมิได้บอกระยะเวลาไว้ แต่อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์กลุ่มแรกนี้มีลักษณะคล้ายเทพ และ/หรือ กึ่งเทพ มิได้กล่าวถึงอายุขัย ไม่ต้องกินอาหาร ไม่มีการแยกเพศ ไม่มีการกล่าวถึงจำนวนคนและความสัมพันธ์ภายในชุมชน ดูเหมือนว่ากระบวนการเกิดสังคมจะเริ่มขึ้น เมื่อมนุษย์มีการค้นพบอาหาร(ง้วนดิน)และลองชิมจนติดใจจึงเกิดการทำตามกันต่อๆมา จนเกิดการแบ่งแยกผิวพรรณกันขึ้น เมื่อมนุษย์กินอาหารนั้นทำให้ความเป็นกึ่งเทพหมดไป จึงต้องดิ้นรนแก่งแย่งกัน เกิดการสืบพันธ์ สร้างครอบครัว สะสมอาหาร มีระบบการปกครอง มีการสร้างกฎเกณฑ์ของชุมชน มีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบของส่วนรวม ในที่สุดความเป็นสังคม และความเป็นรัฐก็วิวัฒนาการมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน จากข้อเขียนของบรรจบ บรรณรุจิ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของโลกไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าหลังพินาศแล้วโลกกลับเจริญขึ้นอีก เรียกยุค นี้ว่า
วิวัฒนาการการกำเนิดชีวิตและจักรวาล
ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย Lukhgai, 8 กุมภาพันธ์ 2009.