พระไตรปิฎกมหาวิตถาร ๕,๐๐๐ กัณฑ์
(ฉบับส.ธรรมภักดี)
คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต
กัณฑ์ที่ ๒๑
ว่าด้วยอานิสงส์เมตตา
มา ภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิตฺุถ สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญญานนฺติ.
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงคัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต กัณฑ์ที่ ๒๑ ว่าด้วยอานิสงส์เมตตาสืบต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดกาลนาน
บาลี
ดำเนินความตามวาระพระบาลี อันมีในพระสูตรที่ ๙ วรรคที่ ๑ ปัณณาสกสงเคราะห์ คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตนั้นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงสอนภิกษุทั้งหลายไว้ว่า เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญ เพราะคำว่า บุญนี้ เล็งเอาสิ่งที่ให้เกิดความสุข เรรู้ได้ว่า เราได้รับผลอันเป็ที่ต้องการ เป็นที่รักใคร่พอใจอยู่ตลอดกาลนาน คือเราได้เจริญเมตตาจิตอยู่ ๗ ปี แล้วไม่ได้กลับมาสู่โลกนี้อีกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป ในเวลากัล์ปฉิบหาย เราได้อยู่ในอาภัสสรพรหมโลก ในเวลากัล์ปเจริญ เราได้อยู่ในวิมานพรหมที่ว่างเปล่า ในเวลาที่เราได้อยู่ในวิมานพรหมนั้น เราได้เป็นมหาพรหม เป็นผู้ครอบงำสิ่งทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดครอบงำได้ เป็นผู้เห็นทุกสิ่ง เป็นผู้มีอำนาจ ต่อมาเราก็ได้เป็นท้าวสักกะ จอมของเทพเจ้าทั้งหลายอยู่ถึง ๓๖ ชาติ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ผู้เป็นใหญ่ในโลก ผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบพีแก้ว ขุนพลแก้ว อยู่หลายร้อยชาติ เวลาเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้น เรามีบุตรมากกว่าพัน ล้วนแต่แกล้วกล้าสามารถอาจย่ำยีข้าศึกได้ทั้งนั้น แม้เราได้ครอบครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นที่สุดนี้โดยชอบธรรม ไม่ต้องใช้อำนาจอาชญาสาตราวุธอย่างใด
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาซึ่งมีเนื้อความว่า ผู้ต้องการสุขทั้งหลาย จงดูผลแห่งบุญกุศลเถิด เราได้อบรมจิตเมตตาอยู่ ๗ ปี ก็ไม่ได้มาสู่โลกนี้อีกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป เมื่อโลกฉิบหาย เราก็ได้เกิดในอาภัสสรพรหมโลก เมื่อโลกเจริญ เราก็ได้ลงมาเกิดในวิมานพรหม ชั้นพรหมกายิกา เราได้เป็นมหาพรหมอยู่ ๗ ชาติ ได้เป็นท้าวสักกเทวราชอยู่ ๓๖ ชาติ ได้เป็นจักรพรรดิราชอยู่หลายร้อยชาติ ได้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการอยู่ทุกชาติ ที่เป็นจักรพรรดิราช พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้สงเคราะห์โลก ข้อความเหล่านี้เป็นของที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว บุคคลได้เป็นเจ้าของแห่งปฐพีด้วยเหตุอันใด เหตุอันนั้น ย่อมมีแก่ผู้ประเสริฐ เราได้เป็นพระราชาผู้มีเครื่องปลื้อใจมาก ผู้มีเดชมาก มีฤทธิ์มาก มียศมาก ใครได้ฟังแล้วจะไม่เลื่อมใส เว้นไว้แต่ผู้ใจบาปเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่มุ่งความเจริญให้แก่ตน มุ่งความเป็นใหญ่ให้แก่ตน ควรนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรเคารพพระสัทธรรม ดังนี้ สิ้นเนื้อความในพระบาลีเพียงเท่านี้
อรรถกถา
ในอรรถกถามีว่าไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือ คำว่า เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญนั้น หมายความว่า ผู้ที่ทำบุญอย่ากลับบุญ คำว่า อบรมจิตเมตตานั้น ได้แก่อบรมจิต อันประกอบด้วยเมตตา จนได้ฌานให้ประณีต คำว่าเมื่อกัล์ปฉิบหายั้น คือ เมื่อไฟไหม้กัล์ป คำว่า ครอบครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นที่สุดนั้น คือค ครอบครองแผ่นดินซึ่งมีภูกเขาจักรวาลเป็นขอบเขต มีมหาสมุทรในภายในภูเขาจักรวาลเป็นที่สุด ดังนี้
ธัมมัตถาธิบาย
ในอรรถาธิบายว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงสร้างบารมีอยู่นั้นครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงเจริญเมตตาจนได้สำเร็จฌานอยู่ถึง ๗ ปี ในครั้งนั้น พระองค์ได้เกิดเป็นฤาษี มีนามว่า อรกศาสดา มีศิษย์บริวารอยู่เป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในอรกชาดก คัมภีร์ทุกกนิบาต ซึ่งจะยกมาแสดงต่อไป
บาลี
เอกสฺมิํ สมเย สตฺถา
กล่าวคือ ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเกี่ยวข้องอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานพาหนะ ทำให้เป็นวัตถุ ทำเนืองๆ สะสมไว้ดี ปรารถนาไว้ดี ซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติแล้ว ต้องหวังได้อานิสงส์ ๑๑ ประการฯ ก็อานิสงส์ ๑๑ ประการนั้น คือประการใดบ้าง คือ หลับเป็นสุข ๑ ตื่นเป็นสุข ๑ ไม่ฝันร้าย ๑ เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาทั้งหลายรักษา ๑ ไม่ถูกไฟไหม้ ไม่ถูกยาพิษ ไม่ถูกสาตรา ๑ จิตย่อมเบิกบาน ย่อมตั้งมั่น ๑ สีหน้าผ่องใส ๑ ไม่หลงใหลเวลาจะตาย ๑ เมื่อยังไม่สำเร็จธรรมมอันยิ่ง ย่อมไปเกิดในพรหมโลก ๑
ครั้นพระพุทธองค์ ทรงสรรเสริญการอบรมเมตตา อันมีอานิสงส์ ๑๑ ประการนี้แล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุต้องอบรมเมตตาโดยเจาะจงและไม่เจาะจงในสตว์ทั้งปวง ต้องแผ่จิตเมตตาไปในผู้มีประโยชน์เกื้อกูลบ้าง ไม่มีประโยชน์เกื้อกูลบ้าง ผู้เป็นกลางๆ บ้าง ต้องอบรมกรุณา มุทิตา อุเบกขา ในสัตว์ทั้งปวงโดยเจาะจงและไม่เจาะจงอย่างนี้ ต้องเจริญพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ ผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ เมื่อยังไม่ได้มรรคผล ก็ได้เกิดในพรหมโลกบัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน อบรมเมตตาอยู่ ๗ ปี แล้วได้ไปอยู่ในพรหมโลกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงนำเรื่องอดีตมาแสดง
อตีเต เอกสฺมิํ กปฺเป โพธิสตฺโต พฺราหฺมณกุเล นิพฺพตฺเตตฺวา
กล่าวคือ ในกัล์ปหนึ่งซึ่งล่วงมาแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์ ถึงยามเติบโตแล้ว ก็ออกบรรพชาเป็นฤาษี เจริญพรหมวิหาร ๔ มีนามว่า อรกศาสดา อยู่ในป่าหิมพานต์ มีบริวารเป็นอันมากได้สั่งสอนหมู่บริวารว่า ธรรมดาบรรพชิต ต้องอบรมจิตเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันจิตเมตตานี้ถึงซึ่งอัปปนา คือความแน่นแฟ้นแล้วย่อมให้ไปเกิดในพรหมโลก ดังนี้ เมื่อจะชี้อานิสงส์เมตตาโดยย่อ จึงได้กล่าวคาถา ซึ่งมีเนื้อความว่า ผู้ใดอนุเคราะห์โลกทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ทางขวาง หาประมาณมิได้ด้วยจิตเมตตา จิตเมตตาอันหาประมาณมิได้ ที่บุคคลอบรมดีแล้ว กรรมอันมีประมาณ คือกรรมเล็กน้อยย่อมไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น ดังนี้
ถ้อยคำเหล่านี้มีคำอธิบายว่า ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือคฤหบดี เวศย์ ศูทร สมณพราหมณ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าอนุเคราะห์สัตวโลกทั้งสิ้นด้วยจิตเมตตา อันถึงความแนบแน่น คือแผ่จิตเมตตาขึ้นไปในเบื้องบน เริ่มแต่แผ่นดินขึ้นไปจนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ แผ่จิตเมตตาลงไปในเบื้องต่ำจนถึงนรกใหญ่เป็นที่สุด แผ่จิตเมตตาไปในทางขวางตลอดโลกทั้งปวงว่า จักรวาลมีอยู่ประมาณเท่าใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในจักรวาลมีประมาณเท่าใด จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่ถูกปองร้าย ไม่มีความคับแค้น จงมีแต่ความสุขเถิด คำว่า จิตเมตตาอันหาประมาณมิได้นั้นเป็นจิตเมตตาในสัตว์ทั้งปวง อันบุคคลอบรมหาประมาณมิได้เป็นจิตบริบูรณ์ เป็นจิตเจริญดี กรรมอันเล็กน้อย คือกรรมที่เป็นกามาวจรที่มีอยู่แล้ว ย่อมไม่เหลืออยู่ในจิตอันหาประมาณไม่ได้นั้น เปรียบเหมือนห้วงน้ำน้อยที่ถูกห้วงน้ำใหญ่ท่วม ย่อมไม่เหลืออยู่ได้ เหลืออยู่แต่ห้วงน้ำใหญ่เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด กรรมอันเล็กน้อยคือกรรมที่เป็นกามาวจร ถูกกรรมใหญ่ตัดแล้วก็หมดโอกาสที่จะให้ผล ไม่เหลืออยู่ในภายในแห่งกรรมใหญ่นั้นได้ ไม่อาจให้ผลได้ มีแต่กรรมใหญ่เท่านั้นให้ผล ดังนี้
ครั้นพระโพธิสัตว์เจ้า แสดงอานิสงส์การอบรมเมตตาแก่พวกอันเตวาสิกอย่างนี้แล้ว เวลาฌานไม่เสื่อมก็ได้เกิดในพรหมโลก ไม่กลับมาถึงโลลกนี้อีก ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป ดังนี้ ครั้นองค์พระชินศรี ทรงนำเรื่องนี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า หมู่ฤาษีในคราวนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนอรกศาสดานั้นได้มาเป็นเราตถาคต ดังนี้ สิ้นเรื่องอรกศาสดา ตามชาดกเพียงเท่านี้
ธัมมัตถาธิบาย
ต่อนี้ไป เป็นเนื้อความในอรรถาธิบาย ในคำว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญ คำว่า บุญ เล็งเอาเหตุให้เกิดสุข ดังนี้ฯ ข้อนี้มีผู้แปลผิดกันอยู่โดยมาก คือ คำว่า สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานํ ซึ่งได้แปลไว้แล้วว่า คำว่า บุญนี้ เล็งเอาเหตุให้เกิดสุขนั้น มีผู้แปลผิดโดยมาก คือ แปลว่า คำว่า บุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข ดังนี้ การแปลอย่างนี้เมื่อไม่พิจารณาให้ละเอียดแล้ว ก็ไม่เห็นว่าแปลผิด ต่อเมื่อพิจารณาละเอียดจึงเห็นว่าแปลผิด ที่ว่าผิดนั้นคือ อย่างไร คือ ถ้าแปลว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข ดังนี้ ก็ต้องหมายความว่า บุญเป็นตัวผล ไม่ใช่บุญเป็นเหตุ เพราะคำว่าสุขเป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ การทำผลย่อมทำไม่ได้ ทำได้แต่เหตุเท่านั้นเช่น ทำมะม่วงเป็นต้น ย่อมทำไม่ได้ ทำได้ก็แต่ปั้นดินให้เป็รูปผลมะม่วงเท่านั้น จะทำได้ก็ต้องทำเหตุ คือปลูกต้นมะม่วงขึ้นแล้วดูแลจนให้โตใหญ่ จึงจะเกิดดอกผลออกได้ คำว่า สุข ทุกข์เป็นผลทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นเหตุ คำว่า บาป บุญ เป็นเหตุทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นผล เพราะฉะนั้น ถ้าแปลว่า บุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข หรือเล็งเอาความสุข หรือหมายความสุข ดังนี้ ก็เป็นอันแปลผิดแท้ เพราะฉะนั้น ที่ถูกจะต้องแปลว่า คำว่า บุญนี้ เล็งเอาเหตุให้เกิดความสุข ดังนี้ คำว่า สุขสฺส นั้น ท่านลบบทปลายเสียเหมือนคำว่า สุขํ ท่านลบคำว่า อาวหนกํ เสีย เวลาแปลต้องไข คือไขคำว่า สุขํ เป็นสุขาวหนกํ จึงจะถูก คำนี้ต้องไขฉันใด คำว่า สุขสฺส ก็ต้องไขฉันนั้น คือไขคำว่า สุขสฺส เป็นสุขาวหนกสฺส จึงจะถูก เพราะฉะนั้น ขอท่านผู้รู้บาลีทั้งหลายจงจำไว้เป็นแบบแผน อย่าได้แปลผิดๆ ให้คนทั้งหลายฟังอีก เพราะเมื่อแปลผิดๆ คนทั้งหลายก็จะไม่เข้าใจ คือ ถ้าแปลว่า คำว่า บุญนี้ เป็นชื่อแห่งความสุข คนทั้งหลายก็จะเข้าใจว่า ความสุขนั้นเป็นของทำเอาได้ ความสุขนั้นเป็นผล การทำบุญเขาก็จะเข้าใจว่า ได้แก่การทำความสุข เมื่อเขาเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดของเขา เมื่อเขาเข้าใจผิด เขาก็ทำผิด เมื่อเขาเข้าใจถูก เขาก็ทำถูก ถ้าแปลให้เขาฟังว่า คำว่า บุญนี้ หมายเอาเหตุให้เกิดสุข หมายเอาเหุตุที่จะให้เกิดสุข หมายเอาสิ่งนำสุขมาให้ เขาก็จะเข้าใจถูกว่า คำว่า บุญนี้ ไม่ใช่อื่นไกล ได้แก่สิ่งที่จะนำความสุขมาให้ เมื่อเขาเข้าใจอย่างนี้ เขาก็จะเข้าใจต่อไปว่า สิ่งที่จะนำความสุขมาให้นี้ ก็ได้แก่
ทาน ศีล
ภาวนา ดังที่เขาเคยกระทำมา ทาน ศีล ภาวนานี้แหละเป็นเหตุที่จะให้เกิดสุข เป็นสิ่งที่จะนำสุขมาให้ เมื่อเขาเข้าใจอย่างนี้แล้ว เขาก็จะได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ปฏิบัติมารดาบิดาตามกำลังของเขา บางพวกหรือบางคนก็จักได้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบาขา บางคน หรือบางพวกก็จะได้เจริญกรรมฐานอื่นๆ ตามความชอบใจของเขาแล้วเขาก็จักได้ผลดี คือ สุขต่อไป สิ้นเนื้อความในเทศนากัณฑ์นี้เพียงเท่านี้.
เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้ฯ