ศิลปะในการหายใจ'หลวงปู่พุทธะอิสระ'
มีการค้นพบกันว่า สัตว์ที่หายใจสั้นและถี่ จะมีชีวิตสั้น ส่วนสัตว์ที่หายใจยาวและเป็นระบบ จะมีอายุยืนยาว อวัยวะในกาย เซลล์ต่างๆ ในกาย จะตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเสมอ สังเกตดูได้จากสัตว์รอบๆ ตัวท่าน
ศิลปะในการหายใจนี้ หลวงปู่เรียกมันว่า ลม ๗ ฐาน หรือใครจะเรียกมันว่า โยคะ หรือ โยคี อะไรก็แล้วแต่ มันมีอยู่แล้วในศิลปะการหายใจ มีอยู่ในพระพุทธศาสนา นั่นคือ วิชาอานาปานสติกรรมฐานนี้แหละ วิชาอานาปานสติ กรรมฐาน คือ การค่อยๆ ผ่อนลมหายใจ หายใจด้วยความผ่อนคลาย ความรู้สึกดื่มด่ำ ซึมซาบ และซึมสิงกับกลิ่นอายธรรมชาติแวดล้อมที่สูดเข้าไป และไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน พร้อมกับขับถ่ายของเสียออกมากับลมหายใจที่ระบายออกเหล่านี้ คือ การตามดูลมที่เข้าและออก มีสติ จดจ่อ จับจ้อง จริงจัง และก็ตั้งใจ
ศิลปะในการหายใจเพื่อการผ่อนคลาย หลวงปู่ไม่อยากจะเรียกมันให้เป็นวิชาสูงส่ง เพราะพระพุทธเจ้าทรงสูงส่งกว่าหลวงปู่มาก แต่ประสบการณ์ทางวิญญาณที่หลวงปู่ได้รับรู้ จากการปฏิบัติ ที่นำมาเล่าสู่พวกท่านฟัง ก็คือ ระบบการหายใจคำพูดประโยคหนึ่งที่หลวงปู่พูด คิด ทำ ที่พวกท่านได้ฟังบ่อยๆ ก็คือเรื่อง จัดระเบียบของกาย จนเป็นระบบของความคิด
เพราะฉะนั้น เรามาเริ่มจัดโครงสร้างของกายให้เป็นระเบียบกันก่อน ที่จริงเราฝึกจิตมิใช่ฝึกกาย แต่เมื่อกายเป็นที่อยู่แห่งจิต เราก็จำเป็นต้องปรับระบบโครงสร้างของกายให้โล่ง โปร่งเบา ผ่อนคลาย จนเป็นที่สบายของจิตเสียก่อน
เริ่มจากการปรับโครงสร้างของกายให้ตรง ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหนๆ ท่านั่งก็ได้ ท่ายืนก็ได้ ท่าเดินก็ได้ หรือ ท่านอนก็ได้ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ปรับโครงสร้างของตนให้มีอิริยาบถ ๓ ประการ คือ อิริยาบถสะอาด อิริยาบถสงบ อิริยาบถปกติ เมื่อเรามีอิริยาบถอันสะอาด อันได้แก่ อิริยาบถที่ปราศจากมลทิน อิริยาบถที่ปราศจากเครื่องร้อยรัด อิริยาบถ ที่ปราศจากความคั่งค้าง คาราคาซัง ไม่เสร็จ ไม่เสร็จในภารกิจ ทั้งปวง ส่วนอิริยาบถสงบ คือ อิริยาบถที่ผ่านขั้นตอนในการชำระล้าง สะสาง ขจัด เครื่องร้อยรัดและมลทิน พร้อมกับภารกิจทั้งปวงได้ถูกปล่อยวางจนหมดสิ้นแล้ว สำหรับอิริยาบถ ปกติ นั่นมันหมายถึง ความจริงจัง จริงใจ สนใจ สม่ำเสมอ ต่อการชำระสะสาง ขจัด ขัดเกลา ในภาระทั้งเก่าและใหม่ ให้หดหาย ผ่อนคลาย เบาสบาย ทีนี้ก็เริ่มที่จะจัดโครงสร้างภายในกาย
ก่อนอื่นลองดูรูปโครงกระดูกที่มีให้ไว้นี้ รูปโครงกระดูกที่เห็นนี้ จะเป็นคู่มือในการจัดโครงสร้างของกายเป็นรูปที่ช่วยป้องกันภัยพิบัติจากตาเห็น หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส และกายสัมผัส
ลำดับแรก เราน้อมเอารูปโครงกระดูกอันนี้ เข้ามาอยู่ในกายเรา ลำดับที่ ๒ ก็คือ โยกขยับปรับโครงสร้าง ลองขยับดูให้ดี ตรงไหนมันบิดมันเบี้ยว ทับเส้นเอ็นเส้นประสาท จัดให้เข้าท่าเข้าทาง จนแน่ใจว่า ทำให้เราสบายในขณะที่นั่งอยู่ได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนมือไม้จะวางไว้ตรงไหน หลวงปู่ไม่จำเป็นจะต้องบอก ว่าจะต้องวางไว้ที่เข่าอย่างหลวงปู่ เพราะหลวงปู่ถนัดอย่างนี้ ก็วางอย่างนี้ แต่ถ้าท่านถนัดอย่างไร ก็วางเอาไว้อย่างนั้น หรืออาจจะเอามาซ้อนไว้ตรงหน้าตักก็ได้ หรือวางทิ้งไว้ข้างขาก็ได้ จะหลับตาก็ได้ ลืมตาก็ได้ แล้วแต่แต่ต้องไม่เกร็ง หรือข่มหนังตาและลูกตา
ทีนี้ลองโยกตัวไปข้างหน้า โยกตรงๆ ไม่ใช่โยกเอียง ไปข้างใดข้างหนึ่ง โดยทิ้งน้ำหนักตัวลงสู่ช่วงล่างของลำตัว เพื่อรักษาดุลถ่วง ตอนที่โยกตัวไปข้างหน้า ก็ให้ส่งความรู้สึก ไปในโครงสร้างดูว่า กระดูกทุกส่วนของร่างกายมันมีอะไรบกพร่องบ้าง อะไรผิดพลาดบ้าง โยกตัวไปช้าๆ ให้ลำตัวเกือบ ขนานกับพื้น อย่างมีสติ แล้วค่อยๆ โน้มขึ้นมาให้ตั้งตรง แล้วก็เอนไปทางขวา แล้วก็กลับมาตั้งตรงขึ้นมาอย่างช้าๆ จากนั้นเอนไปทางซ้าย แล้วก็ตั้งตรงขึ้นมาอย่างช้าๆ ถ้าเราส่งความรู้สึกมันลงไปในกาย แล้วคลุมอาการไหว ของโครงสร้างภายในกายให้ตลอด แล้วเราก็จะสัมผัสได้ถึงความชัดเจน รู้จริง เห็นจริง ในอิริยาบถของตนเอง แล้วสิ่งหนึ่งที่จะปรากฏแก่เราก็คือ ความสงบ สงบไหม เริ่มรู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้วใช่ไหม เช่นนี้แหละที่เรียกว่า สติปัฏฐาน นั่นคือ สติเป็นฐานที่ตั้งมั่น ของพฤติกรรม เรื่องที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด จะถูกต้องชอบธรรมได้ก็ด้วยอาศัยฐานที่ตั้งอันนี้แหละ
เอาละ...ขยับโยกไปข้างหลังอีกหน่อย ตรวจสอบก้นกบ และโครงสร้างของเรา ต้องทำอย่างจริงจังและจับจ้องต่อมัน แล้วก็กลับมาอยู่ในท่าตรง ขยับหัวไหล่ แล้วแอ่นอกไปข้างหน้า แอ่นอกไปข้างหลัง จากนั้นตรวจสอบดูให้พร้อมว่า กระดูกส่วนใดมีความผิดปกติบ้าง บิดคอจากซ้ายไปขวา ขวาก็ไปซ้าย แล้วมองตรง เงยคอและหน้าขึ้นมองเพดาน และก็กลับมามองตรงเฉพาะหน้า สายตาทอดลงต่ำ
เมื่อเราได้โครงสร้างที่เหมาะสมแล้ว เราก็ค่อยๆ เริ่มหรี่เปลือกตาลงน้อยๆ ด้วยความสุขุมนุ่มนวล และสุภาพอ่อนโยน ไม่ใช่หลับจนเกร็งเปลือกตาจนหลับปี๋ จะกลายเป็นความถมึงทึง เครียด
เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ให้เต็มปอด ลึกสุดหยั่งเต็มที่ พร้อมตามดูลมไป จนกระทั่งมันพุ่งพล่านอยู่ภายใน เปรียบประดุจดังน้ำที่เทเข้าขวดจนเต็มแน่นอัด ในขณะที่มันกำลังเต็มก็เกิดฟองคลื่น แล้วก็ล้นไหลนองออกมาจากขวด เราต้องปิดฝาขวดไว้สักพัก คือ กักลมทิ้งไว้ อย่าเพิ่งผ่อนลมออก นับในใจว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ แล้วก็เปิดฝาขวดค่อยๆรินน้ำออก คือ ผ่อนลมออกอย่างแผ่วเบา สุภาพ ผ่อนคลาย และหมดจด แล้วพักไว้สักนิด หยุดกลืนน้ำลายลงคอหนึ่งครั้ง แล้วค่อยๆสูดเข้าไปใหม่อย่างสุขุม คัมภีรภาพ เบิกบาน เต็มสมบูรณ์ สูดให้เต็มปอด จนกระทั่งลมมันยกหน้าอกขึ้น แล้วก็กักลมทิ้งไว้ พร้อมกับนับใหม่
เราอาจจะนับไม่ถึง ๖ ก็ได้หรือไม่นับก็ได้ เพื่อให้ลมมันได้พุ่งพล่านไปในกาย ปลุกเส้นประสาททั้งหลายให้ตื่นตัว เมื่อมันตื่นหมดจนคิดว่าทนไม่ไหวแล้ว ค่อยๆผ่อนออกพยายามอย่าไปกลั้นลมจนเราทนไม่ไหว ตรงนี้มันจะทำให้เหนื่อย ที่จริงไม่ต้องใช้คำว่า ทนไม่ไหว แต่ว่ามันเหลือกลั้นก็ผ่อนออก ผ่อนด้วยความนิ่มนวล ผ่อนคลาย ผ่อนของเสียที่มีอยู่ในกายออกมา ดูดของดีเข้าไปใหม่ เพื่อปรุงชีวิตอินทรีย์ขึ้นใหม่ แล้วก็ขับของเสียออกมา ผ่อนออกแล้วต้องทิ้งไว้นิดหนึ่ง แล้วจึงจะสูดเข้าไปใหม่ เพราะถ้าสูดเข้าไปเลยมันจะทำให้เหนื่อย
การผ่อนลม จะผ่อนออกทางปากก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่อนทางจมูกเสมอไป ไม่มีข้อห้ามว่าจะต้องออกทางจมูกเท่านั้น สูดเข้าทางจมูกและผ่อนออกทางปากก็ได้ เหมือนกับอักษร จ แต่เขียนหางตัว จ ก่อน แล้วมาจบที่หัว หรือจะสูดเข้าทางปากแล้วออกทางจมูกก็ได้ เหมือนอักษร "จ" ที่เขียนตามปกติ เสร็จแล้วลองสำรวจดูอารมณ์ว่า สงบไหม... สงบ...ทรงความสงบนั้นไว้ก่อน อย่าเพิ่งปล่อยให้เราแยกแตกออกจากกันกับความสงบนั้น จงรักษาความสงบนั้นต่อไป ขั้นแรกของวิชา ลม ๗ ฐาน เอาแค่นี้ก่อน อาจยังเรียกไม่ได้ว่าขั้นแรก แต่อาจบอกได้ว่า เป็นพื้นฐานของวิชา ลม ๗ ฐาน พอได้ ช่วงนี้ขอเพียงพวกเรารู้จักถึงกลิ่นอาย รสชาติ ที่แท้จริงของสติ สงบ เท่านี้ก่อน เพียงแค่นี้มันก็ทำให้เรารู้สึกดื่มด่ำ ชุ่มฉ่ำ แช่มชื่น และมีสันติสุข พอที่จะเป็นฐาน เป็นพลัง ให้เราได้ทำ พูด คิด อย่างสมบูรณ์ ถูกต้องแล้ว
เข้าใจวิธีแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นวิธีนี้คือวิธีที่เรียกว่า ศิลปะในการหายใจ เพื่อความผ่อนคลาย การที่เรากักลมทิ้งไว้ ลมที่กักมันจะทำให้หัวใจเราเต้นแรง หลอดเลือดจะขยาย โลหิตจะไหลเวียนได้มากยิ่งขึ้น ใครที่เป็นโรคเส้นโลหิตอุดตัน เป็นโรคความดัน หรือเป็นโรคปลายประสาทฝ่อ จะแก้และรักษาได้ด้วยวิธีนี้
ฝึกใหม่ๆ แค่ ๕ ครั้งก็น่าจะพอแล้ว ถ้า ๑๐ ครั้ง มันจะเหนื่อยเกินไป แล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จะต้องทำติดต่อกันจนเป็นปกติของชีวิตเรา นี่เป็นวิธีการที่จะทำให้เราตั้งมั่นอยู่ได้ในทุกอิริยาบถ ถ้าหากเราฝึกจนถึงขั้นที่สามารถจะรู้เท่าทัน จตุธาตุวัฏฐาน หรือความเป็นไปของธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย เราก็สามารถจะควบคุมกายนี้ได้ เป็นนายกายนี้ถูก สมองทุกห้องของเรา จะใช้มันอย่างสมบูรณ์ ประสาททุกส่วนในตัวเรา จะได้รับการปลุกให้ตื่นได้ทุกเวลา ถ้าเราอยากตื่น
ศิลปะในการหายใจหลวงปู่พุทธะอิสระ
ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย DevilBitch, 22 มิถุนายน 2005.