สัญญาเวทยิตนิโรธกับยาสลบ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย lotte, 8 สิงหาคม 2005.

  1. lotte

    lotte เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    726
    ค่าพลัง:
    +4,545
    พุทธศาสตร์ศึกษาโดยวิธีอุปมาอุปมัย เรื่อง
    "การฝึกจิตให้เป็นสมาธิ ตอนที่ ๓"
    พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์



    ในบทความเรื่อง "การฝึกจิตให้เป็นสมาธิ ตอนที่ ๒" ที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว ผมได้กล่าวถึงเรื่องของ "อรูป" เอาไว้ว่า

    "....เราไม่สามารถไประงับยับยั้งการเกิดดับของจิตได้ เพราะเป็นธรรมชาติของจิต และตราบใดที่เรายังไม่สามารถปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานจนถึงขั้นอรูปฌาณ หรือ ฌาณสมาบัติ ๘ เราก็ไม่สามารถระงับยับยั้งการทำงานของเจตสิกได้

    ตามหลักวิชาพุทธศาสตร์ เมื่อเราสามารถปฏิบัติสมาธิได้จนถึงขั้นดังกล่าว หรือสูงกว่า ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายคือ ขั้นที่ ๙ ที่เรียกว่า "สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ นิโรธสมาบัติ" ซึ่งเป็นภาวะที่สัญญาเจตสิก (ความจำ) และเวทนาเจตสิก (อารมณ์) หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสมมุตินามบัญญัติคำว่า "อรูป" ซึ่งแปลว่า "ไม่มีรูป ไม่มีกาย" สำหรับกรณีนี้ขึ้น เนื่องจาก ในช่วงเวลานี้ อวัยวะของร่างกายที่เป็นกลไกทำงานของเจตสิก คือ สมอง หรือ หทัยวัตถุ จะหยุดการทำงานไปในช่วงเวลาที่จิตกำลังเป็นสมาธิ อยู่ในฌาณสมาบัติระดับนี้

    ก่อนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ พระองค์ท่านได้ทรงศึกษาหาความรู้จากพระอุททกดาบสรามบุตร พระอาจารย์ที่เก่งที่สุดในขณะนั้น จนทรงสามารถปฏิบัติสมถสมาธิได้บรรลุถึงฌาณสมาบัติ ๘ หรือ อรูปฌาณ ๔ มาแล้ว แต่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า เป็นทางปฏิบัติที่ไปสุดสิ้นเพียงโลกิยธรรมเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ หรือ ฌาณสมาบัติแล้ว ก็ยังต้องกลับมาเผชิญกับปัญหาทางโลกอีกต่อไป จึงทรงวินิจฉัยว่า วิธีการนี้มิใช่เป็นทางปฏิบัติที่จะดับทุกข์ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่พระนิพพานได้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงเปลี่ยนไปปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแทน....."

    เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิต กับ สมอง นี้ ผมได้หยิบยกประเด็นไปหารือกับ นายแพทย์ สมพนธ์ บุญยะคุปต์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านได้กรุณาเล่าถึงเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระปูชนียาจารย์ท่านหนึ่ง คือ ท่านหลวงปู่ท่อน วัดป่าศรีอภัยวัน จังหวัดเลย ซึ่งได้เดินทางมาเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ก่อนที่จะทำการผ่าตัด แพทย์ได้ถวายยาสลบให้แก่ท่าน เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จึงถวายยาฉีดกระตุ้นให้ท่าน ฟื้นจากการสลบ ปรากฏว่า หลวงปู่ท่อนท่านไม่ฟื้น ทำความประหลาดใจ และสร้างความเป็น ห่วงใยให้แก่คณะแพทย์ที่ถวายการผ่าตัดเพราะเกรงว่า ท่านจะเป็นอะไรไป นับว่าโชคดี ที่ก่อนหน้านี้ ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ได้เคยเตือนไว้ว่า หากมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น อย่าด่วนกระทำการใด ให้รออยู่สักระยะหนึ่งก่อน เพราะท่านอาจปฏิบัติสมาธิจนเกิดอรูปฌาณสมาบัติ เพื่อให้จิตพ้นจากร่าง พ้นจากเวทนาคือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัดก็ได้ ซึ่งก็เป็นจริงตามที่หลวงพ่อพุธฯ ได้กล่าวไว้ ในไม่ช้า หลวงปู่ท่อนจึงได้ฟื้นขึ้น

    เหตุการณ์ที่คุณหมอสมพนธ์ฯ ได้กรุณาเล่าให้ฟังดังกล่าวข้างต้นนี้ ผมได้หยิบยกเป็นประเด็นขึ้นมาเป็นเหตุพิจารณาเพื่อพัฒนาปัญญาในขณะที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยนำ เอาหลักวิชาการแพทย์เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่อง มันสมอง และประสาท เท่าที่มีอยู่จากการอ่าน ศึกษา ค้นคว้าด้วยตนเองบ้าง สอบถามจากมิตรสหายที่เป็นนายแพทย์บ้าง จึงบังเกิดผลที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ดังนี้

    ธรรมชาติซึ่งเฝ้ากระตุ้นให้จิตเกิดรับ ระลึก รู้ มีอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า "เจตสิก"

    อวัยวะของร่างกายที่เป็นกลไกสำคัญซึ่งทำให้เกิดเจตสิกขึ้นมาได้ คือ สมอง ซึ่งใช้ คำศัพท์บาลีว่า "หทัยวัตถุ" แบ่งออกเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ให้เกิดเจตสิกต่างๆ ได้มากถึง ๕๒ ส่วน คือ มันสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้ การปรุงแต่ง มันสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ส่วนที่เกี่ยวกับการนึกคิด การไตร่ตรอง พิจารณาหาเหตุ หาผล ทำให้เกิดปัญญา ในจำนวนนี้มีมันสมองซีกขวาซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการนึกคิด การสร้างจินตนาการต่างๆ จัดเป็นฝ่ายศิลป์ และมีมันสมองซีกซ้ายซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผล การคิดคำนวณต่างๆ จัดเป็นฝ่ายศาสตร์ ในปัจจุบัน ได้มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบสภาวะการทำงานในรูปแบบต่างๆของสมอง และระบบประสาท หรือ คลื่นสมอง ซึ่งแสดงผลให้ปรากฏเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เมื่อได้มีการนำเอาเครื่องมือดังกล่าวมาตรวจสอบคุณลักษณะทางไฟฟ้าของคลื่นสมองของคนที่นอนหลับ ซึ่งทางวิชาการแพทย์ได้จำแนกขั้นตอนการหลับของคนไว้ ๔ ระดับด้วยกัน ปรากฏว่า คุณลักษณะทางไฟฟ้าของคลื่นสมองในแต่ละระดับนั้นแตกต่างกันดังแสดงไว้ในภาพประกอบ นับตั้งแต่เริ่มจะเคลิ้มหลับ ไปจนถึงหลับสนิท ซึ่งในช่วงเวลาหลังนี้ จิตจะเข้าสู่ภวังค์ ไม่รู้สึกตัวเลย ดังคำกล่าวที่ว่า "หลับเป็นตาย" เช่นเดียวกับวิถีของจิตของผู้ปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จากผลการวัดคลื่นสมองดังกล่าวได้พบว่า คลื่นสมองของคนที่เริ่มจะเคลิ้มหลับจะมีระดับไฟฟ้าที่เรียกว่า แรงดันไฟฟ้า (Voltage) ต่ำ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่หลับสนิท จิตเข้าสู่ภวังค์นั้นจะวัดแรงดันไฟฟ้าของคลื่นสมองได้สูงที่สุด และตามหลักวิชาไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับกำลัง หรือพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อจิตเข้าสู่ภวังค์อันเป็นผลเกิดจากการเป็นสมาธิ พลังงานไฟฟ้าของคลื่นสมองที่วัดได้จึงสูงที่สุด

    ดังนั้น เมื่อนำเอาหลักวิชาพุทธศาสตร์กับวิชาการแพทย์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นมาผสมผสานพิจารณาร่วมกัน จึงสรุปได้ดังนี้

    ยาสลบเป็นสารทางเคมีที่มีอำนาจระงับการทำงานของสมองส่วนที่จะรับรู้สัญญาหรือ "สัญญาเจตสิก" และ อารมณ์สุขทุกข์ทั้งกายและใจ หรือ "เวทนาเจตสิก" ได้ ทางการแพทย์จึงได้นำมาใช้ในการผ่าตัด เพื่อให้คนไข้สลบไปขณะหนึ่ง การปฏิบัติสมาธิได้จนถึงขั้นอรูปฌาณสมาบัติ จึงมีพลังสูงยิ่ง และเป็นไปได้ที่พลังสมาธินี้จะทำให้สมองผลิตสารเคมีบางประเภท อาทิ "เซราโตนิน (Serotonin)" ซึ่งแสดงผลทำให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ และส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ คือ "สัญญา" และ "เวทนา" ตามคำศัพท์บาลีในพระพุทธศาสนา ตามลำดับ หยุดพักการทำงานไปขณะหนึ่งในช่วงเวลาที่สมาธิอยู่ในอรูปฌาณสมาบัติ ดังนั้น ถึงแม้ว่า แพทย์จะได้ฉีดยากระตุ้นให้หลวงปู่ท่อนฟื้นจากสลบตามวิธีการที่ใช้ในการผ่าตัดทั่วไปก็ตาม เมื่อหลวงปู่ท่อนท่านยังอยู่ในอรูปฌาณสมาบัติ จิตของท่านได้แยกจากกายออกไปแล้ว พลังสมาธิที่สูงของท่านจึงสามารถยับยั้งการออกฤทธิ์ของยากระตุ้นที่ฉีดเข้าได้

    เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ผมได้มีโอกาสไปนมัสการ ท่านอาจารย์ หลวงพ่อพุธฯ ที่วัดป่าสาลวัน อีกครั้ง จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงความถูกต้องของเรื่อง "อรูปฌาณสมาบัติ" ตามความรู้ ความเข้าใจของผมว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ท่านได้กรุณายืนยันความถูกต้อง และได้กรุณาอธิบายขยายความเรื่อง "สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ นิโรธสมาบัติ" หรือ "ฌาณสมาบัติ ขั้นที่ ๙" ไว้ด้วยว่า "....ณ จุดนี้ จิตจะรวมพลังได้สูงที่สุด...." ซึ่งสอดคล้องกับผลของการตรวจวัดระดับไฟฟ้าของคลื่นสมองตามหลักวิชาการแพทย์ และตามความเข้าใจของผม นอกจากนี้ หลวงพ่อท่านยังได้แนะนำให้ผมนำบทความพุทธศาสตร์ศึกษาโดยวิธีอุปมาอุปมัยทุกเรื่องซึ่งผมได้เขียนไว้ และได้ส่งไปให้ท่านช่วยตรวจสอบความถูกต้อง และ ชี้แนะให้ทุกครั้งออกพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน วิทยาทานต่อไปด้วย ทำให้ผมมีความภูมิใจ และ ปิติเป็นอย่างยิ่ง

    เรื่องจิตที่สามารถเพิ่มพลังขึ้นได้โดยการปฏิบัติสมาธิซึ่งสามารถพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องโดยการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ดังกล่าวข้างต้นนั้น ผมยังได้รับการยืนยันเพิ่มเติมจาก นายแพทย์เฉก ธนะสิริ เพื่อนสนิทของผมที่สนใจศึกษาค้นคว้าในเรื่อง เทคนิคการรักษาสุขภาพเพื่อให้อายุยืน โดยไม่ต้องใช้อาหารเสริม หรือยาบางประเภทซึ่งกำลังแตกตื่นฮือฮากันอยู่มากในขณะนี้ นายแพทย์เฉกฯ ได้นำเอาวิชาพุทธศาสตร์เข้ามาประยุกต์ในการศึกษาค้นคว้าของเขาด้วย และได้รวบรวมข้อมูลผลการศึกษามาเขียนหนังสือออกจัดจำหน่ายเพื่อการกุศลไปหลายเรื่องว่า จิตที่อยู่ในสภาพเป็นภวังคจิต ผู้ปฏิบัติจะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับคนที่หลับสนิท ในช่วงเวลานี้ สมองจะมีโอกาสได้หยุดพักผ่อน และใช้เวลานี้ในการซ่อมแซมเซลล์ของสมอง และประสาทที่เสื่อมโทรมชำรุดให้คืนสภาพดี เสมือนกับการประจุ หรือชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ ดังนั้น หลังจากการปฏิบัติสมาธิแล้ว ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกสดชื่น เบิกบาน กระปรี้กระเปร่าขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนที่จะปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อปฏิบัติประการหนึ่งของพระอริยบุคคลที่ใช้วิธีปฏิบัติสมถสมาธิเพื่อการพักผ่อน และเป็นทางผ่านสุดท้ายเพื่อเข้าสู่พระนิพพาน

    ขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ผลงานที่ได้ปรากฏอยู่ในบทความเรื่องนี้ และเรื่องอื่นๆ ที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว เป็นอานิสงส์จากการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานซึ่งช่วยสร้าง และพัฒนาปัญญาให้แก่ผม ดังที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ทุกประการ อย่างไร ก็ตาม หากท่านผู้อ่านที่มีความรู้ ทักษะในวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการแพทย์ วิชาการ พุทธศาสตร์ หรือ วิชาการอื่นๆ ที่ผมได้อ้างอิง นำมากล่าวไว้มาในบทความต่างๆ ซึ่งผมได้เขียนขึ้นโดยตลอด มีข้อคิดเห็นที่ผิดแผกแตกต่างออกไป กรุณาช่วยชี้แนะเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผม และท่านผู้อ่านอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดเป็นผลานิสงส์แก่ท่านในโอกาสต่อไป ขอขอบคุณ และอนุโมทนาล่วงหน้าครับ


    *********************

    เอกสารอ้างอิง ๑. "พุทธธรรม", พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต.โต),
    มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

    ๒. "เจตสิกปรมัตถ์", ขุนสรรพกิจโกศล (โกวิท ปัทมะสุนทร),
    มูลนิธิปริญญาธรรม
    ๓. "Microsoft Encarta 98 Encyclopedia", CD, Microsoft
    Corporation
     
  2. อักขรสั จร

    อักขรสั จร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2005
    โพสต์:
    220
    ค่าพลัง:
    +343
    การนอนหลับกับยาสลบ ต่างจากสมาธิตรง สติ
     
  3. panuwat

    panuwat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    59
    ค่าพลัง:
    +104
    ฝันในฝันในฝันในฝัน หลับในหลับในหลับในหลับ สติในสติในสติในสติในสติ ไพบูลย์ๆๆๆๆ
     
  4. ผู้มีจิตอันตั้งมั่น

    ผู้มีจิตอันตั้งมั่น Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2005
    โพสต์:
    11
    ค่าพลัง:
    +48
    ใช่แล้วครับ การนอนหลับและการสลบต่างจากสมาธิตรงนี้ สมาธิที่แท้จริงคือการ ตั้งจิต กับสติ ให้คงมั่นในกาย อย่างที่หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก จิตที่ส่งออกนอกเป็น สมุทัย ความรู้ต่างๆไม่ต้องไปสนใจมัน ตั้งสติ กับจิตให้คงมั่นในกายก็พอ เดี๋ยวมันก็รู้เอง ผมเองตอนปฏิบัติสมาธิตอนแรกก็สงสัยเหมือนกัน ทำไมถึงไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย คือมันอยากเห็น นิมิตอยากเห็นนรกสววรค์ ทำยังไงก็ไม่เห็น เพราะอาจารย์ผมสอนให้ดูแต่จิตเท่านั้น คือไม่ให้ส่งจิตไปที่ไหนเลย ไปมามันรู้เอง มันเห็นเอง บางทีสมาธิมันมาเกิดตอนผมหลับไปแล้วก็มี ตัวลอยจนติดเพดาน บางทีก็นิมิต เห็นโน่นเห็นนี้ บางทีเห็นนางไม้ เห็นเทวดาก็มี บางทีนิมิตว่าสู้กับรุกเทวดาก็มี บางที นิมิต ว่าตนเองเป็นเทวดาถือพระขรรค์ก็มี บางทีนิมิตว่าได้ยินเสียงผีกำลังร้องทักทายกันเเหมือนชาวบ้านที่กำลังทำมาหากินเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วตามคำสั่งสอนหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า สิ่งต่างๆที่เราเห็นน่ะจริง แต่สิ่งที่เราเห็นน่ะไม่จริง นิมิตต่างๆน่ะมันหลอกเราทั้งนั้นแหละ แต่สมาธิผมมันไปได้แค่นี่แหละ ไม่รู้ว่าถึงขั้นไหนแล้วเหมือนกัน ใครที่ภาวนาเก่งก็แนะนำสั่งสอนผมด้วยน่ะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...