สัมมัปปธาน : เพื่อรู้ยิ่ง สิ้นไปแห่งสังโยชน์

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย บุญญสิกขา, 21 ธันวาคม 2012.

  1. บุญญสิกขา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,863
    ค่าพลัง:
    +14,471
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค​


    ๕. สัมมัปปธานสังยุต
    ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔



    [๑๐๙๐] สาวัตถีนิทาน. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน?
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้แล.

    [๑๐๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.

    [๑๐๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มาก ซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างไรเล่า ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน?
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะ ให้เกิดพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างนี้แล ย่อมเป็น ผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.
    ปาจีนนินนสูตร ๖ สูตร สมุททนินนสูตร ๖ สูตร ๒ อย่างเหล่านั้น อย่างละ ๖ สูตร รวมเป็น ๑๒ สูตร เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าวรรค (พึงขยายความคังคาเปยยาลแห่งสัมมัปปธานสังยุต ด้วยสามารถสัมมัปปธาน)

    จบ วรรคที่ ๑​

    ๑. ตถาคตสูตร ๒. ปทสูตร ๓. กูฏสูตร ๔. มูลสูตร ๕. สารสูตร ๖. วัสสิกสูตร ๗. ราชาสูตร ๘. จันทิมสูตร ๙. สุริยสูตร ๑๐. วัตถสูตร (พึงขยายความอัปปมาทวรรค ด้วยสามารถสัมมัปปธาน)
    จบ วรรคที่ ๒​

    [๑๐๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้อย่างนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน.

    [๑๐๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างไรเล่า?
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ อย่างนี้แล (พึงขยายความพลกรณียวรรค ด้วยสามารถสัมมัปปธานอย่างนี้).
    จบ วรรคที่ ๓​

    [๑๐๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ การแสวงหากาม ๑ การแสวงหาภพ ๑ การแสวงหาพรหมจรรย์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ อย่างนี้แล.

    [๑๐๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้เพื่อความสิ้นไป เพื่อความละซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้ สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละการแสวงหา ๓ อย่างนี้แล.

    [๑๐๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ นี้ สังโยชน์เป็นส่วนเบื้องบน ๕ เป็นไฉน? คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ นี้แล.

    [๑๐๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละซึ่งสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้แล สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละซึ่งสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้แล.
    (พึงขยายความออกไป เหมือนเอสนาวรรค)
    จบ สัมมัปปธานสังยุต

    -----------------------------------------------------

    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙
    http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=6306&Z=6369&pagebreak=0



    ด้วยผลานิสงส์การอ่านพระไตรปิฏก
    ที่ข้าพเจ้าได้กระทำไว้อันดีแล้วด้วยจิตบริสุทธิ์

    ขอการปฏิบัติบุญกิริยานี้บูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมคุณพระสงฆ์
    บูชาคุณมารดาบิดา คุณครูบาอาจารย์ และคุณพระกรรมฐานเจ้า
    ขออานิสงฆ์มหาธรรมทานจงมีไปสู่ทุกสรรพชิวิต
    ขอให้ข้าพเจ้าและทุกดวงจิตทุกดวงวิญญาณ ได้รับรสพระธรรมแล้ว มีจิตผ่องใส
    เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ สูตะ จาคะ
    ปัญญามีความเพียร ขันติ
    เป็นผู้กำเนิดแห่งไตรเหตุ (อโลภะ อโทสะ อโมหะ)
    ได้ญาณเป็นเครื่องรู้เฉพาะตนอันสูงสุด
    และห่างไกลพ้นเขตมารทั้งหลายโดยพลันและตลอดกาลเทอญ


    <O></O><!-- google_ad_section_end --><O></O>

    [MUSIC]http://palungjit.org/attachments/a.2411870/[/MUSIC]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้