พระอรหันต์ไม่ขาดจากโลก
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติอย่าเกิดความสงสัย ว่าในยุคนี้จะมีผู้ปฏิบัติบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้หรือไม่ ในบาลีบทหนึ่งว่า
อรหนฺต อสูญฺโยโค ในเมื่อใดยังมีผู้ปฏิบัติให้เป็นไปในพระธรรมวินัยอยู่และปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบตามหลักความเป็นจริงอยู่ ในเมื่อนั้นพระอรหันต์จะไม่ขาดจากโลกดังนี้
ในยุคนี้สมัยนี้ยังมีศาสนาที่สมบูรณ์ และมีครูอาจารย์หลายท่านปฏิบัติที่เป็นไปในมรรคผลยังมีอยู่ พร้อมที่จะให้ความกระจ่างในการปฏิบัติแก่เราอยู่แล้ว แต่พวกเราพร้อมหรือยัง ถึงจะไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ ขอให้ได้บรรลุธรรมในระดับขั้นพระโสดาบันก็จะดี จะมีความหวังได้ว่าการเกิดมาในโลกนี้จะใช้เวลาไม่นานนัก ก็จะผ่านเข้าสู่นิพพานไปได้อย่างแน่นอน พระโสดาบันเป็นนิยตะบุคคล เป็นผู้ย่างเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้แล้ว ไม่มีการเสื่อมกลับมาเป็นปุถุชนอีกต่อไป
พระอริยโสดามีสามประเภท ๑. สัตตักขัตตุงปรมโสดา จะได้เกิดในโลกมนุษย์นี้อีกไม่เกิน ๗ ชาติ
๒. โกลังโกละโสดา จะได้มาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีกไม่เกิน ๓ ชาติ
๓. เอกพีชีโสดา จะได้มาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก ๑ ชาติ ในชาติสุดท้ายนี้จะต้องมาเกิดในยุคสมัยที่มีพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้าแล้วก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในชาติที่มาเกิดเป็นมนุษย์นั้น คุณธรรมของพระอริยเข้าก็จะไม่เสื่อม เพราะพระโสดาบันเลือกที่เกิดเฉพาะตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ชอบธรรม ในชาติที่เกิดนั้นจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพระโสดาบัน แต่จะมีความละอายในการทำชั่วพูดชั่วและคิดชั่ว จะไม่เกิดความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่อย่างใด นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันขั้นเอกพีชี ขณะนี้อยู่บนสวรรค์ จะลงมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีกชาติเดียว ในยุคศาสนาของพระศรีอารยเมตไตรย จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น
ตามประวัติผู้ได้บรรลุธรรมในครั้งพุทธกาล จะไม่ได้บรรลุไปตามลำดับขั้นไปเสียทั้งหมด บางท่านเป็นปุถุชนอยู่เมื่อปฏิบัติไปก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็มีจำนวนมาก เช่น พระจุฬปันถกเป็นต้น ฆราวาส เช่น พระพาหิยะ สันตติมหาอำมาตย์ ชีวิตที่ผ่านมาเป็นปุถุชน เมื่อได้บรรลุธรรมก็เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะกิเลสได้เลย บางท่านเป็นปุถุชน ปฏิบัติไปก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นปุถุชนเมื่อปฏิบัติไปก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามีไป บางท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ไป บางท่านก็บรรลุเรียงไปตามระดับขั้นไป
พระอริยเจ้ามี ๒ ประเภท
การได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้นมี ๒ ประเภท
๑. ปัญญาวิมุติ ๒. เจโตวิมุติ ผู้ได้บรรลุธรรมประเภทปัญญาวิมุติ นั้นจะต้องเป็นไปตามนิสัยบารมีที่สร้างมาในชาติอดีต สมมติว่าผู้นั้นในอดีตเคยฝึกสติปัญญาพิจารณาในหมวดธรรม ให้เป็นไปตามหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาในเรื่องความตาย พิจารณาในเรื่องการพลัดพรากจากกัน พิจารณาว่าไม่มีอะไรเป็นของของเรา หรือพิจารณาในหลักความเป็นจริงอย่างไรเป็นนิสัยไว้แล้ว จึงเรียกว่าผู้สร้างปัญญาบารมีนั้นๆ มาในชาติอดีต เมื่อท่านเหล่านั้นจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าก็เป็นปัญญาวิมุติไป ท่านเหล่านี้จะไม่มีความสงบในสมาธิขั้นละเอียด เป็นรูปฌาน อรูปฌาน จะอยู่ในระดับขณิกอุปจาระเท่านั้น
ขณิกอุปจาระนี้เองเรียกว่า สมาธิ ความตั้งใจมั่น บางท่านได้บรรลุธรรมในขณะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า มีความตั้งใจมั่นในการฟังธรรม พิจารณาไปตามกระแสธรรมที่พระพุทธเจ้ากำลังอธิบายอยู่ ก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงไปตามหมวดธรรมนั้นๆ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้านั้นเอง ผู้ได้บรรลุธรรมในลักษณะนี้เรียก สุกขปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา เป็นผู้ได้บรรลุธรรมได้เร็ว ท่านเหล่านี้มีนิสัยทางปัญญาวิมุติ สร้างบารมีมาทางปัญญาอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ให้อุบายปัญญาให้ตรงกับบารมีที่สร้างมาแล้ว บางท่านบารมียังไม่พอก็ปฏิบัติต่อไปไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าไป ท่านเหล่านี้จะไม่มีในสมาธิระดับฌานใดๆ ไม่รู้ว่าการได้รับความสุขที่เกิดขึ้นจากรูปฌาน อรูปฌานเป็นอย่างไร จึงเรียกว่า อรหันต์สุกขวิปัสสโก เป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันแห้งแล้ง คำว่าแห้งแล้ง ก็หมายถึงผู้ไม่เคยได้เสวยสุขในฌานใดๆ จึงเรียกว่าพระอริยเจ้าประเภทปัญญาวิมุติ พระอริยเจ้าประเภทปัญญาวิมุตินี้ ในครั้งพุทธกาลมีมากกว่าพระอริยเจ้าประเภทเจโตวิมุติหลายเท่า ท่านผู้รู้ได้คำนวณเอาไว้ มีถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หลายท่านวิจารณ์ว่าพระอริยเจ้าประเภทปัญญาวิมุตินี้ แสดงธรรมไม่เป็น ไม่มีอภิญญา ไม่มีอภินิหาร ตอบว่าไม่จริง ตัวอย่าง พระจุฬปันถก พระอานนท์ และองค์อื่นๆ อีกมีมากมายล้วนแล้วแต่ผู้ทรงอภิญญาทั้งนั้น
การแสดงธรรมของผู้ได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าแบบปัญญาวิมุตินี้ มีนิสัยปัญญาดีอยู่แล้ว เช่น พระจุฬปันถก เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็เกิดอภิญญามีฤทธิ์ เรียกว่า มโนมยิทธิ แสดงฤทธิ์ได้แสดงธรรมก็แพรวพราว พระพุทธเจ้าจึงมอบหน้าที่นี้ให้เป็นผู้แสดงธรรมแทนพระองค์ หรือพระอานนท์ก็เช่นกัน ในช่วงอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่นั้น จะมีเวลาไหนไปฝึกฌาน เมื่อได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ฤทธิ์ก็เกิดขึ้นเรียกว่า อิทธิวิธี มีฤทธิ์แทรกแผ่นดินมาปรากฏตัวขึ้นที่อาสนะที่คณะสงฆ์ได้จัดรอคอยเอาไว้ในเมื่อทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง เป็นพหูสูต แสดงธรรมได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นพระอริยเจ้าประเภทปัญญาวิมุติ เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี มีอภิญญา มีอภินิหารมากมาย ถ้าได้ไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าประเภทปัญญาวิมุตินี้จะรู้ได้ดี มิใช่จะมาตีความว่า ผู้บรรลุธรรมที่แห้งแหล้งก็จะไม่มีอะไรเลย มีได้ในอภิญญา ๖ – ๘ และ มีความเพียบพร้อมด้วยปฏิสัมพิทาญาณทั้ง ๔ ธัมมปฏิสัมภิทา อัตถปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นี้ก็มีผู้ตีความถกเถียงกันอยู่มาก ธัมมปฏิสัมภิทา มีญาณหยั่งรู้ในเหตุก่อนจึงรู้เป็นผล ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดเป็นผลออกมาอย่างนี้ๆ เป็นต้น อัตถปฏิสัมภิทา มีญาณหยั่งรู้ในผลที่เกิดขึ้นจากเหตุ ว่าผลนี้เกิดจากเหตุอย่างนี้ๆ
นิรุตติปฏิสัมภิทา รู้จักภาษา คำว่าภาษา หมายถึงภาษาในการพูด คือพูดรู้เรื่องกัน หรือฟังคนอื่นพูดออกมาก็รู้เรื่องในความหมาย ในการพูดได้ในความหมาย หรือคนใบ้แสดงออกมาในความต้องการอะไรก็จะรู้ได้ ถึงจะพูดภาษาเดียวกัน ถ้าไม่รู้ในความหมายซึ่งกันและกัน ก็มักจะพูดว่า พูดกันไม่รู้ภาษาอะไรเลย ดังนี้
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา เป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงออกในความคิดความเห็น มีไหวพริบอันฉลาด สามารถจะวิจัยวิเคราะห์ในปัญหาต่างๆ ได้ทันต่อเหตุการณ์ และแก้ปัญหาไปได้อย่างรวดเร็ว ปฏิภาณในการโต้ตอบก็โต้ตอบได้อย่างทันใจไม่อ้ำอึ้ง เป็นผู้ตีปัญหาต่างๆ ได้อย่างแตกฉาน ปฏิภาณในการแสดงออกมีเหตุผลมารองรับให้เกิดความเชื่อถือได้ ฉะนั้น
พระอริยเจ้าประเภทปัญญาวิมุติ จึงมีความโดดเด่นในทางสติปัญญาเป็นเยี่ยม เพราะเป็นผู้สร้างปัญญาบารมีมาโดยตรง การปฏิบัติก็ต้องใช้สติปัญญาเป็นหลักยืนตัว การฝึกสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป การดำริพิจารณาในทางปัญญาจึงมีความคล่องตัว การทำสมาธิก็ได้เพียงความตั้งใจมั่น ไม่มีความชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติแต่อย่างใด เรียกว่าผู้ภาวนาในสมาธิน้อย พิจารณาในทางปัญญามาก เมื่อได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จึงเรียกว่าผู้บรรลุธรรมในทางปัญญาวิมุตินั้นเอง
ส่วนพระอรหันต์ในทางเจโตวิมุติ พระอรหันต์ประเภทนี้ ในอดีตชาติที่ผ่านมา ท่านเหล่านี้เคยสร้างบารมีมาในทางความเพียร เรียกว่าวิริยบารมี มีความเพียรทำให้จิตมีความสงบเป็นฌานสมาบัติอยู่เสมอ เป็นดาบสบ้าง เป็นฤๅษีบ้าง มีความชำนาญในการทำสมาธิ มีความชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติมาแล้วเป็นอย่างดี มีการฝึกทางปัญญาไว้น้อย แต่ละวันก็ทำสมาธิให้จิตมีความสงบเป็นฌานมาตลอด เมื่อท่านเหล่านี้ได้มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว จะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ก็ตาม จะไม่สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ในขณะนั้น อุบายในการปฏิบัติของท่านเหล่านี้ก็ต้องฝึกจิตให้มีความสงบเป็นสมาธิก่อน เพราะท่านเหล่านี้มีนิสัยในการทำสมาธิขั้นละเอียด มีความหลงในความสุข หลงในรูปฌาน หลงในอรูปฌานมาแล้ว จะไปฝึกปัญญาในทีเดียวไม่ได้ ต้องภาวนาให้เป็นไปตามนิสัยเดิมก่อน
จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงยกเอาเรื่องของสมาธิความสงบ เรื่องของรูปฌาน อรูปฌาน มาอธิบายให้ฟังว่า การหลงติดอยู่ในความสุขของสมาธิ การหลงติดอยู่ในรูปฌาน อรูปฌาน มีความล่าช้าในการที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร เพื่อให้ท่านเหล่านั้นไม่หลงในสมาธิ หลงในรูปฌาน อรูปฌานต่อไป ถึงจะทำสมาธิเข้าฌานก็ให้ทำไป แต่ไม่ให้ติดใจหลงในความสุขในสมาธิ หลงความสุขในฌานที่ทำอยู่ พระองค์ก็จะสอนในอุบายวิธีในการฝึกปัญญาให้พิจารณาตามหลักความเป็นจริง ให้เป็นไปตามไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอสุภะในธาตุสี่ ขันธ์ห้า ให้รู้เห็นทั้งภายในและภายนอก ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด ให้เป็นไปในไตรลักษณ์อยู่เสมอ และให้พิจารณาในความหลงติดสุขในสมาธิ ให้พิจารณาในความหลงติดสุขเพลิดเพลินอยู่ในรูปฌาน อรูปฌาน ให้พิจารณาดูความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปของฌานอยู่เสมอ ให้พิจารณาดูภพของผู้หลงติดอยู่ในฌาน ว่าเมื่อตายไปแล้วจะต้องได้ไปเกิดในพรหมโลกเป็นเวลายาวนาน พระพุทธเจ้าได้อุบัติเกิดขึ้นในโลกนี้ผ่านไปหลายองค์ พวกหลงในฌานก็ยังตกค้างในพรหมโลกนั้นอยู่ จึงทำให้เสียเวลาที่จะเข้ากระแสแห่งมรรคผลนิพพานไปนานทีเดียว พิจารณาให้รู้โทษของฌานว่าไม่มีสาระอะไร ถึงจะไปเกิดในพรหมโลกก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่ความหลงงมงายอยู่ในความสุขในฌานเท่านั้น เมื่ออำนาจของฌานเสื่อมไป ก็ได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์นี้อีกตามเดิม
นิสัยของใจที่มีความหลงติดอยู่ ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะหลงในชาติเป็นมนุษย์นี้อีก ถ้าได้สัมผัสในความสุขของกามคุณก็จะหลงติดอยู่ในกามคุณอีก ใจมีนิสัยขี้หลงไปเกิดที่ไหนก็จะหลงในที่นั้นต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด การพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้ๆ เอง จึงเรียกว่าปัญญาในฌาน พิจารณาให้รู้เห็นโทษของฌาน พิจารณาให้เห็นภัยของฌานที่จะเป็นผลติดตามมา เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ก็จะเกิดความกลัวในภพของฌานที่จะได้ไปเกิดเป็นพรหม ทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่มีสาระอะไร ใจก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในฌานนั้นๆ ถึงจะทำฌานไปก็ไม่มีความหลงและไม่ติดใจใดๆ ถือว่าเป็นของเล่นไป ในเมื่อได้บรรลุธรรม ก็ให้นามว่า
เจโตวิมุติ คือ ผู้มีสมาธิมากปัญญาน้อยนั้นเอง
พระอรหันต์ เจโตวิมุตินี้ จะมีอภิญญา มีอภินิหารได้เหมือนกับพระอรหันต์ปัญญาวิมุติเช่นกัน พระอรหันต์ในเจโตวิมุติและพระอรหันต์ในปัญญาวิมุตินี้ มิใช่ว่าจะมีอภิญญา มีอภินิหารหมดทุกองค์ เพราะอภิญญา อภินิหารนี้จะมีเฉพาะบางองค์เท่านั้น องค์ที่ท่านสร้างบารมีมาในทางนี้ก็จะเกิดมีอภิญญา อภินิหารได้ ถึงท่านจะมีก็ไม่ได้เอาไปอวดใครๆ นอกจากบางกรณีที่จะเอามาใช้เท่านั้น เช่น พระโมคคัลลาน์หรือองค์อื่นๆ นำมาใช้เพื่อปราบพวกมิจฉาทิฏฐิในบางครั้งบางคราว อภิญญาและอภินิหาร มิใช่ว่าจะมีความโดดเด่นเหมือนกันทั้งหมด องค์นั้นมีความโดดเด่นในอภิญญาข้อนั้น อภินิหารข้อนี้ไม่เหมือนกัน เช่น พระอนุรุทธมีความโดดเด่นในเจโตปริยญาณ กำหนดดูรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ พระโมคคัลลาน์มีความโดดเนในทางอิทธิวิธี มีฤทธิ์มาก และองค์อื่นๆ ก็มีความโดดเด่นไปในอภิญญา อภินิหารแตกต่างกันไป จึงได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกัน มิใช่ว่าผู้มีความชำนาญในการเข้าฌานจะมีอภิญญา มีอภินิหารได้ทั้งหมด ผู้มีความชำนาญในการทำสมาธิ มีความชำนาญในฌาน ในครั้งพุทธกาลก็มีผู้หลงในสมาธิ หลงในฌานจนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ไปก็ยังมี จึงอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าเข้าช่วยเหลือ จึงกลับตัวมาปฏิบัติให้ถูกทางเป็นพระอริยเจ้าอย่างสมบูรณ์ได้ เพราะความเข้าใจผิดจะเกิดขึ้นกับผู้หลงในมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุ จึงได้เกิดความหลงในฌานและหลงในอภิญญาต่อไป
ผู้มีนิสัยในทางเจโตวิมุตินี้จะมีความพอใจยินดีในการทำสมาธิเข้าฌานเป็นอย่างมาก จึงยากที่จะถอนตัว เพราะพวกที่หลงติดในสมาธิ หลงติดในฌานนี้เป็นผู้มีทิฏฐิมานะสูง ถ้ามีอภิญญาเสริมเข้าไป ก็ยิ่งทำให้ทิฏฐิมานะอัตตาสูงมากทีเดียว ในยุคนี้สมัยนี้ ถ้าหากผู้มีผู้หลงติดอยู่ในสมาธิ หลงติดอยู่ในฌานจะไม่มีผู้แก้ไขให้กลับตัวได้เลย จะไปแตะต้องว่าผิดไม่ได้ จะอธิบายในสัจธรรมอะไรให้ฟังก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจอยู่ก็ถอนตัวไม่ได้ จะเกิดเป็นทิฏฐิมานะอัตตา เข้าใจว่าเรามีความสามารถโดดเด่นเหนือคนอื่นอยู่เสมอ ใครจะว่าผิดทางแห่งมรรคผลนิพพานไม่ได้เลย จะมีความเข้าใจว่าวิธีนี้ตรงต่อมรรคผลนิพพานที่สุดแล้ว จะไม่ยอมถอนตัวออกจากสมาธิและถอนตัวออกจากฌานนี้แต่อย่างใด เพราะมีความยินดีพอใจในความสุขของสมาธิ มีความยินดีพอใจติดอยู่ในฌานสมาบัติ เกิดความเข้าใจผิดหลงผิด เข้าใจว่าเมื่อจิตมีความสงบดีแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้น ตั้งความหวังว่าปัญญาย่อมเกิดขึ้นจากสมาธิความสงบนี้แน่นอน วิธีเดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้แล้วไม่มีใครให้ความสนใจนำมาปฏิบัติ ทุกคนมีความตั้งใจปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ด้วยกัน จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ได้อย่างไร ก็ให้เป็นตัวใครตัวมัน เพราะทุกคนมีเจตนาไปในจุดเดียวกัน ใครจะถึงจุดนั้นก่อนหรือหลังก็ขึ้นอยู่กับการเดินทางของแต่ละบุคคลก็แล้วกัน
ทางเดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้นั้นตรงที่สุดแล้ว จึงเรียกว่า
เอกายโน อยํ มคฺโค มีทางเดียวเท่านี้ที่ตรองต่อมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ดีรู้ชอบ มีความเมตตาต่อหมู่สัตว์โลกทั้งหลาย อยากให้ทุกคนได้พ้นไปจากวัฏจักรที่เวียนวนนี้ไป พระพุทธเจ้าสร้างบารมีมายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนกัป ก็เพื่อจะรื้อถอนสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสาร ถ้าผู้มีนิสัยพอจะได้มรรคผลนิพพานในชาตินี้ พระองค์จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโค เพื่อจะนำฝูงโคทั้งหลายได้ข้ามมหาสมุทรสุดสาคร ให้พ้นไปจากพื้นที่อันเป็นทุกข์นี้ไป พระพุทธเจ้าได้ข้ามพ้นกระแสของโลกนี้ไปแล้ว พระองค์ยังมีความเมตตาสงสารแก่พวกเรา จึงได้วางเส้นทางให้แก่พวกเราเอาไว้เพื่อไม่ให้หลงในยุคต่อมา อรรถกถาจารย์ ฎีกาจารย์ อนุฎีกาจารย์ ได้ตีความในมรรค ๘ เสียใหม่ จึงออกมาเป็นบทสิกขาสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในมรรค ๘ เดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ ถ้าจะจัดให้เป็นไปตามบทสิกขาสามก็จัดได้ แต่จะออกมาในรูปแบบปัญญา ศีล สมาธิ ที่เรียงตามหมวดหมู่ของมรรค ๘ ที่ทุกคนได้รู้กันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญในปัญญาความเห็นชอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวควบคุมในหมวดศีล เป็นตัวควบคุมในหมวดสมาธิ ศีล สมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาความรอบรู้เอาไว้ การรักษาศีล การทำสมาธิ ก็จะกลายเป็นมิจฉาปฏิบัติไปโดยไม่รู้ตัว
ปัญญา ๓
พระพุทธเจ้าได้วางหลักปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเอาไว้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าปัญญาความเห็นชอบเริ่มต้นถูกแล้ว การรักษาศีล การทำสมาธิก็จะเกิดความเห็นชอบต่อเนื่องกันไปทั้งหมด จะตัดขาดจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดให้หมดไปจากใจทันที ส่วนการศึกษาจะเขียนสลับกันไปมาอย่างไรก็ได้ ในภาคปฏิบัติแล้วจะต้องเริ่มจากปัญญาความเห็นชอบตามแนวทางเดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เช่น
ปัญญา ๓ ก็ต้องเริ่มจากสุตตมยปัญญา คือปัญญาภาคการศึกษาในหลักปริยัติ จินตามยปัญญา คือปัญญาในหมวดวิจัยวิจารณ์ วิเคราะห์ในหมวดธรรมนั้นๆ ว่าปริยัติหมวดไหนมีความหมายเป็นอย่างไร และจะนำมาปฏิบัติได้อย่างไร
จินตามยปัญญาคือปัญญาในระดับขั้นตีความในปริยัติ ถ้าตีความในหมวดปริยัติถูกก็จะเกิดความเข้าใจถูกและเกิดความเห็นถูก ดำริถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติถูก ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็จะถูกไปตามกันทั้งหมด ถ้าตีความในหมวดปริยัติผิด ก็จะเกิดความเข้าใจผิด และจะเกิดความเห็นผิดความดำริผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติผิด ผลที่เกิดขึ้นก็จะออกมาในทางที่ผิด ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับผลที่ผิดๆ ต่อไป ฉะนั้นจินตามยปัญญา จึงเป็นเข็มทิศชี้ทาง หรือเป็นตัวกำหนดทิศทางในการปฏิบัติ จะปฏิบัติผิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ หรือปฏิบัติถูก ก็ขึ้นอยู่กับจินตามยปัญญาตัวนี้ จินตามยปัญญาเป็นปัญญาที่วิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ในหมวดธรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในหมวดธรรมนั้นได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นจินตามยปัญญาจึงเป็นหลักตีความในปริยัติ หรือเป็นตัวช่วยในปริยัติให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจน
ถ้าจินตามยปัญญาตีความในหลักปริยัติไม่เกิดความกระจ่างชัดเจน จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้นทางของการปฏิบัติก็คือจุดนี้ จะออกไปเป็นสัมมาปฏิบัติก็เริ่มต้นจากจุดนี้ทั้งหมด ฉะนั้นผู้ปฏิบัติภาวนาต้องตั้งหลักไว้ให้ดี ที่เราสวดกันอยู่เสมอว่า สุปฏิปันโน คือการปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโนคือการปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเญยธรรมทั้งหลาย สามีจิปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมอันชอบยิ่ง ถ้าไม่มั่นใจในอุบายการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าอุบายนี้ผิดหรือถูก ถ้ามีความสงสัยลังเล ไม่มีความมั่นใจในอุบายการปฏิบัตินั้น อย่าพึ่งตัดสินใจในการปฏิบัตินั้นเลย เหมือนออกรถ ถ้าไม่มั่นใจในเส้นทางที่จะไปก็ต้องจอดรถดูแผนที่นั้นให้ดี จนเกิดความมั่นใจในเส้นทางดีแล้วจึงออกรถลงสู่ถนน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น ถ้าปฏิบัติแบบโมเมเรื่อยเปื่อย ไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ เมื่อแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองไม่ได้ก็จะเข้าหาหลวงพ่อหลวงตา นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติผิดได้ถูกได้ ถ้าหลวงพ่อหลวงตายังมีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิดอยู่ เราก็จะได้รับอุบายในการปฏิบัติที่ผิดๆ นั้นต่อไป ถ้าหลวงพ่อหลวงตามีอุบายในการปฏิบัติที่ถูก ก็ถือว่าเรามีความโชคดีไป จะได้รับข้อมูลในอุบายที่ถูกต้อง และปฏิบัติให้ตรงต่อมรรคผลนิพพานได้อย่างแน่นอน
ฉะนั้น
สุตตมยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปริยัติ จินตามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ภาวนามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิเวธ การปฏิบัติต้องจับคู่ให้ถูก ถ้าจับคู่ไม่ถูก การปฏิบัติก็จะเกิดความสับสนลังเล จับต้นชนปลาย เรียกว่าปฏิบัติภาวนาผิดสูตรนั้นเอง เหมือนทำอาหารหวานคาว ถ้าทำผิดสูตรแล้วจะรับประทานไม่ได้เลย เดี๋ยวจับเอาอาหารคาวไปผสมกับอาหารหวาน เดี๋ยวจับเอาอาหารหวานไปผสมกับอาหารคาว รสชาติที่ออกมา ผู้ผสมอาหารเองก็รับประทานไม่ได้ ว่าอาหารสูตรไหนกันแน่ นี้ฉันใด ผู้ภาวนาปฏิบัติ ถ้าตั้งหลักผิดสูตรเมื่อไร การปฏิบัติก็จะไขว้เขวเป๋ไปเป๋มาเดี๋ยวก็หลุดออกจากสัมมาปฏิบัติไปเสีย หรือหลุดเข้าไปสู่ทางตัน ช่องแคบ ถอยหลังก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ได้ นั้นคือมีความติดใจหลงใหลอยู่ในความสงบ เพลิดเพลินอยู่ในฌานนั้นเอง สุตตมยปัญญา เป็นปัญญาภาคการศึกษาในปริยัติ คือหมวดธรรม หมวดวินัย หมวดอภิธรรมให้เข้าใจ หรือจะมีความเข้าใจเฉพาะข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่ง พอที่จะนำมาปฏิบัติได้และปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
จินตามยปัญญา คือการตีความในปริยัติ การวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ และการเลือกเฟ้นธรรมในหมวดปริยัตินั้น เพื่อเอามาเป็นอุบายในการปฏิบัติ การปฏิบัติดี การปฏิบัติตรง การปฏิบัติเพื่อรู้จริงเห็นจริงในเญยธรรม การปฏิบัติชอบยิ่งก็เริ่มจากจุดนี้ จินตามยปัญญาเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ถ้าเลือกเฟ้นหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเองแล้ว ความก้าวหน้าความราบรื่นก็จะไหลเข้าไปสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน จากนั้นก็จะรวมตัวเข้าเป็นภาวนามยปัญญาอันเป็นคู่กันกับปฏิเวธ ดังนี้
ภาวนามยปัญญา ที่เป็นคู่กับปฏิเวธนี้ เป็นหลักนิยตธรรม
เป็นปัญญาที่จะตัดสินชี้ขาดจากปุถุชนจะก้าวขึ้นสู่อริยชนก็อยู่ในจุดนี้ ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามี ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็อยู่ในจุดนี้ทั้งหมด ใครจะได้บรรลุธรรมในระดับใด นั้นจะขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละท่าน ผู้สร้างบารมีมาไม่มากนัก ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันไป หรือผู้สร้างบารมีมากขึ้นไปกว่านี้ ก็จะได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีเป็นพระอนาคามีไป ถ้าผู้สร้างบารมีมามากบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสอาสวะยุติการเวียนว่ายเกิดตายในภพทั้งสามนี้ทันที ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ในวิมุตินิพพานตลอดไป ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพียงสมมติพูดกัน กาย เวทนา จิต ธรรม ก็สักว่าไปตามสมมติด้วยกิริยา ตัวอกิริยานั้นได้ปฏิเสธในอัตตาตัวตนและปฏิเสธในสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปแล้ว ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติเมื่อได้บรรลธรรมในขั้นใดระดับใด ผู้นั้นจะเป็นปัจจัตตังรู้ได้เฉพาะตัว ไม่จำเป็นจะไปถามใครๆ และไม่จำเป็นที่จะไปรับคำพยากรณ์จากใครๆ ทั้งสิ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอะไร ใครจะนินทาสรรเสริญอย่างไรก็ให้เป็นไปตามภาษาของโลก จะหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกนินทาว่าร้าย และได้รับความยกย่องสรรเสริญอยู่นั้นเอง
ภาวนามยปัญญานี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เป็นฐานรองรับไว้ดีแล้ว จึงเกิดเป็นภาวนามยปัญญา หรือเรียกว่าวิปัสสนาญาณ ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อประหารลบล้างกิเลสตัณหาโดยเฉพาะ เมื่อวิปัสสนาญาณที่มีความแก่กล้าเต็มที่ พร้อมทั้งบารมีที่สมบูรณ์ ก็จะประหารกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ทั้งหยาบละเอียดให้หมดไปในอาสวักขยญาณได้ในชั่วระยะพริบตาเดียวเท่านั้น ฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่เป็นของจริง เมื่อเกิดขึ้นกับใคร จะเป็นนักบวชหรือฆราวาส จะเกิดกับผู้หญิงผู้ชาย ในฐานะอะไร ไม่สำคัญ เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้วกับใครจะไม่มีการเสื่อมสลายไป จะทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจโดยถ่ายเดียว
ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เองที่ผู้ปฏิบัติมีความต้องการอยากให้เกิดขึ้น ผู้สอนในวิธีทำสมาธิเพื่อให้จิตมีความสงบ มีความต้องการให้ปัญญาเกิดเพื่อจะได้ละอาสวะกิเลสให้หมดไปสิ้นไปจากใจ ก็คือ ปัญญาตัวนี้นี่เอง ดังบาลีว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหพฺพลาโหติมหานิสงฺสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิวิมุจฺจติ เสยฺย ทิทํ กามาสวา อวิชฺชาสวา ภวาสวา เมื่อจิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญาขึ้น เมื่อปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละกิเลสทั้งหลายไปได้คือ กามกิเลสทั้งหลาย อวิชชาความไม่รู้จริง ละภพน้อยใหญ่ให้หมดไปจากใจได้ ปัญญาอย่างนี้นี่เองที่ผู้ทำสมาธิต้องการให้เกิดขึ้น ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้เกิดขึ้นจริง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ละอาสวะกิเลสตัณหาได้จริง แต่ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้ไม่ได้เกิดจากสมาธิโดยตรง
ปัญญานี้จะเกิดต่อเนื่องมาจากปัญญาในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ปัญญาในการดำริ พิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญา เกิดขึ้นต่อเนื่องในจินตามยปัญญาที่เรียกว่าปัญญาในวิปัสสนา เมื่อปัญญาในวิปัสสนามีความแก่กล้าแล้ว ก็จะเกิดปัญญาวิปัสสนาญาณขึ้น แล้วละอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ส่วนการทำสมาธิให้จิตมีความสงบดีแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้นนั้นไม่จริง เพราะสมาธิเป็นเพียงองค์ประกอบ เสริมปัญญาให้มีกำลังใจได้พิจารณาด้วยปัญญาต่อไปเท่านั้น
การทำสมาธิเป็นเพียงอุบายพักใจให้มีพลัง เมื่อจิตมีพลังจากการทำสมาธิแล้ว เอาพลังที่เกิดจากสมาธินี้ไปเสริมปัญญาที่ฝึกไว้ดีแล้ว ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในสัจธรรม เหมือนถ่านไฟฉายถึงจะมีกำลังไฟอัดแน่นเต็มก้อนอยู่ก็ตาม ถ้าไม่มีสายไฟเชื่อมโยงต่อกับหลอดไฟ หรือหลอดไฟขาดไปเสีย หรือหลอดไฟก็ไม่มีและสายไฟก็ไม่มีเชื่อมโยงต่อกัน จะให้เกิดความสว่างขึ้นเฉพาะถ่านไฟนั้นไม่ได้เลย ผู้ที่ไม่เคยฝึกปัญญามาก่อน หรือไม่มีปัญญาพิจารณาในธรรมมาก่อน กำลังใจที่เกิดขึ้นจากสมาธิจะเอาไปเสริมอะไร ก็เป็นเพียงความสุขใจหดตัวอยู่ในความสงบ หดตัวอยู่ในรูปฌานอรูปฌานเท่านั้นเอง ต้องอ่านประวัติของพระพุทธเจ้าดูบ้าง เมื่อครั้งพระองค์ได้ไปทำสมาธิอยู่กับดาบสทั้งสอง พระองค์ยิ่งมีความสงบในสมาธิเป็นอย่างมาก และมีความชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติทุกรูปแบบ
ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดจากสมาธิแก่พระองค์บ้าง หรือดาบสทั้งสองก็มีความชำนาญในการทำสมาธิ มีความชำนาญในฌานเป็นอย่างมาก ถึงขนาดนั้นปัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ดาบสนั้นเลย ฉะนั้นสมาธิจึงไม่ทำให้เกิดปัญญาแต่อย่างใด เป็นเพียงทำสมาธิเพื่อเอาไปเสริมปัญญาที่มีอยู่เท่านั้น
ฐานของปัญญาก็มีอีกฐานหนึ่งที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ฐานของสมาธิก็มีอีกฐานหนึ่ง เรียกว่าสมถกรรมฐาน แต่ละฐานก็ต้องมีอุบายสร้างมาคนละอย่าง แล้วนำมาร่วมกันในการปฏิบัติธรรม เรียกว่าปัญญาเป็นกำลังหนุนสมาธิ สมาธิมีกำลังหนุนปัญญาหรือเรียกว่า ปัญญาอยู่ที่ไหน สมาธิอยู่ในที่นั้น สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็อยู่ในที่นั้น แต่เป็นสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น จึงเป็นคู่ทำงานร่วมกันกับปัญญาได้ ส่วนสมาธิความสงบจะหมดสิทธิ์ในการใช้ปัญญาทันที
ปัญญาในวิปัสสนาญาณ
ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอัตโนมัติกำจัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจจริงเหมือนความสว่างกำจัดความมืดได้ฉันนั้น ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่เหมือนกับปัญญาอย่างอื่น ปัญญาในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ปัญญาในวิปัสสนาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาที่มีความโดดเด่น มีความฉลาดเฉียบแหลมว่องไว มีความกล้าหาญอยู่ในตัวอย่างเบ็ดเสร็จ เหมือนกับการตั้งเวลาให้แก่ทุ่นระเบิด เมื่อครบวงจรเมื่อไรก็จะเกิดระเบิดขึ้นทันที นี้ฉันใด ปัญญาในวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติเมื่อไร ผู้นั้นจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน อยู่ในอิริยาบถไหนไม่สำคัญ เมื่อวงจรครบรอบเมื่อไรก็บรรลุธรรมได้ในเมื่อนั้น
การบรรลุธรรมของพระอริยเจ้าในระดับพระโสดาบัน ในระดับพระสกิทาคามี ในระดับพระอนาคามี จะเป็นในลักษณะเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในความหยาบและละเอียดเท่านั้น และรู้ตัวทันทีว่า ได้บรรลุธรรมในขณะใดก็จะรู้ตัวเองว่าได้บรรลุธรรมในขณะนั้น และก็รู้ตัวว่าได้บรรลุธรรมในระดับนั้นๆ ไม่ต้องไปถามใครๆ วิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในการได้บรรลุธรรมของตัวเองแต่อย่างใด จะเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัวทันทีว่าตัวเองอยู่ฐานะอะไร การได้บรรลุธรรมในสามระดับนี้จะมีในลักษณะใด เป็นอย่างไร แต่ก่อนเป็นปุถุชน บัดนี้เป็นอริยชน ในความรู้สึกภายในใจจะเป็นอย่างไร ก็ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสืออยู่นี้แหละได้บรรลุธรรมเสียเอง ก็จะรู้ตัวในขณะนั้นทันที
ผู้จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น จะมีความแตกต่างกันกับพระอริยเจ้าในระดับอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดทีเดียว ถึงท่านผู้นั้นจะเป็นนิสัยปัญญาวิมุติหรือเจโตวิมุติก็ตาม เมื่อมีปัญญาในวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้วจะเป็นเหมือนกันทุกท่าน นั้นคือความสงบเป็นอย่างยิ่ง ที่เรียกว่าดับ
คำว่าดับในที่นี้หมายถึงความดับในวิญญาณ วิญญาณที่รับรู้ในรูป วิญญาณที่รับรู้ในเวทนา วิญญาณที่รับรู้ในสัญญา วิญญาณที่รับรู้ในสังขาร วิญญาณที่รับรู้ในจิต ที่เป็นนามธรรมทั้งหมดนี้ ในช่วงนั้นจะไม่ทำงานรับรู้ในสิ่งใดๆ แม้แต่ความคิดและความสำนึกในสิ่งใดก็อยู่ในสภาพหยุดนิ่งทั้งหมด ไม่รับรู้ต่อสิ่งภายนอกใดๆ ได้เลย ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต เป็นในลักษณะอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีในปัจจุบันอยู่นั้นเอง แต่ก็มีความรู้อยู่กับรู้
ไม่มีในความหมายอะไร ไม่รู้ว่าสัตว์ไม่รู้ว่าบุคคล รู้ก็สักแต่ว่ารู้เท่านั้นไม่รู้ในการสัมผัสในทางรูป จะเป็นรูปภายในหรือรูปภายนอก จะไม่มีความสัมผัสเชื่อมโยงต่อกัน จะมีตาก็สักว่ามีตา จะมีหูก็สักว่ามีหู จะมีจมูกก็สักว่ามีจมูก จะมีลิ้นก็สักว่ามีลิ้น จะมีกายก็สักว่ามีกาย จะมีใจก็สักว่ามีใจ ความรับรู้ในอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่มีความสัมผัสรับรู้ในอายตนะภายนอกได้คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ เพราะวิญญาณได้สงบหยุดนิ่ง ไม่มีสื่อที่จะรับรู้ในรูปธรรมนามธรรม จึงเรียกว่า รูปไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่รูป รูปไม่มีในตน ตนไม่มีในรูป เวทนาไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่มีในตน ตนไม่มีในเวทนา สัญญาไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สัญญา สัญญาไม่มีในตน ตนไม่มีในสัญญา สังขารไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในตน ตนไม่มีในสังขาร วิญญาณไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่วิญญาณ วิญญาณไม่มีในตน ตนไม่มีในวิญญาณ
ในเมื่อวิญญาณความรับรู้มีความสงบนิ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความรับรู้ในขันธ์ห้า ความรับรู้ในอายตนะภายในก็หมดสภาพไป ไม่มีอายตนะอะไรสัมผัสในสิ่งใดได้เลย ถึงจะมีรู้อยู่แต่ก็รู้โดยไม่มีสมมติอะไรมาให้รู้ ก็เพราะสมมติทั้งภายในและสมมติทั้งภายนอก
ไม่มีวิญญาณที่จะไปรับรู้ในสิ่งใดๆ ต่อกันได้เลย จึงเป็นรู้โดยไม่มีนิมิตหมายในสมมติใดๆ ทั้งสิ้น การเป็นในลักษณะนี้ไม่นานนัก ก็จะเกิดในลักษณะขยับนิดเดียว อาสวักขยญาณ ก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันทันที ก็รู้ได้ว่า อาสวะจะสิ้นไปในขณะนี้
อาสวักขยญาณเกิดขึ้น
การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นการบรรลุธรรมขั้นพิเศษ นั้นคือผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทุกท่านจะต้องมีอาสวักขยญาณเกิดรองรับเหมือนกันทั้งหมด อาสวักขยญาณนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะผู้จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เท่านั้น พระอริยเจ้าในระดับต่ำลงมา เช่น พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน จะไม่มีอาสวักขยญาณนี้เกิดขึ้น เพราะยังมีกิเลสตกค้างภายในใจอยู่ ฉะนั้น อาสวักขยญาณจึงเป็นญาณที่ถอนรากถอนโคน ทำลายเชื้อพันธุ์ของกิเลสตัณหาให้หมดไปสิ้นไปจากใจนี้โดยสิ้นเชิง จึงเป็น สมูฬํ ตณฺหํ อพฺภุยฺห เป็นญาณที่รื้อถอนกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในให้หมดไปสิ้นไป ไม่มีเชื้อของกิเลสตัณหาน้อยใหญ่แอบแฝงอยู่ในใจนี้บ้างเลย ญาณนี้มีความกล้าเป็นพิเศษ เหมือนจะกระทืบภูเขาทั้งลูกให้พังพินาศเรียบราบไปในชั่วพริบตา หรือเหมือนจะทำอะไรได้ทุกอย่างในโลกอันนี้ ในความกล้าลักษณะนี้ จะมีเฉพาะผู้จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เท่านั้น
อาสวักขยญาณ ในตำราแปลไว้ มีหลายความหมายด้วยกัน เช่น แปลว่า รู้จักทำให้อาสวะสิ้นไปเป็นต้น ข้าพเจ้าก็จะขอแปลไว้ในที่นี้ด้วยเช่นกัน จะผิดถูกอย่างไรก็ให้พิจารณาด้วยเหตุผล คำว่าอาสวักขยญาณ เป็นญาณที่รู้ว่าอาสวะจะสิ้นไปในขณะนี้ ตัดคำว่าทำทิ้งไปเสีย เพราะในช่วงนี้ขณะนี้ไม่มีคำว่าทำอะไรอีกแล้ว ได้ผ่านขั้นตอนในการทำมาแล้ว อีกชั่วขณะจริมกจิตเดียว ก็จะตั๊บขึ้นที่ใจ นั้นคือการพ้นจากกระแสโลกนี้แล้ว เรียกว่าบรรลุธรรม ภาระหน้าที่อันหนักแบกหามกันอยู่ในโลกนี้มา จึงหมดภาระหน้าที่ไม่มีอะไรจะเป็นไปอีกแล้ว กตํ กรณียํ หมดกิจส่วนตัว ไม่มีกิจอื่นใดที่จะทำต่อไป
ในลักษณะดังที่ได้อธิบายมานี้ ก็จะมีผู้อยากจะรู้ อยากจะเห็น อยากสัมผัส ว่าผู้ที่เป็นในลักษณะนี้จะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ใจที่หมดจากอาสวะกิเลสตัณหาเป็นในลักษณะใด จะมีความแตกต่างกันกับปุถุชนอย่างไร ก็ขอให้ท่านได้สัมผัสในลักษณะนี้ด้วยตนเองก็แล้วกัน จะฟังผู้อื่นอธิบายให้ฟัง ก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่นั้นเอง ผู้ที่ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นเหมือนกันกับไฟที่ไหม้เชื้อของไฟอันแห้งกรอบ หรือเหมือนกันกับไฟไหม้น้ำมันหรือไฟไหม้ดินปืน ตราบใดยังมีเชื้อของไฟให้ไหม้อยู่ ไฟก็จะไหม้เชื้อของไฟนั้นให้หมดไป เมื่อหมดเชื้อของไฟเมื่อไร ไฟก็จะหมดไปพร้อมกัน นี้ฉันใด วิปัสสนาญาณ อาสวักขยญาณได้ทำลายอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปแล้ว วิปัสสนาญาณ อาสวักขยญาณก็หมดหน้าที่ไปเช่นกัน เป็นอันว่าเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีสติปัญญา มีความเพียร มีความอดทน เป็นตบะแผดเผากิเลสตัณหาที่มีความเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ดังบาลีว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดกลั้น อดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง ความอดทนอดกลั้น นี้แล จึงเป็นหัวใจของนักพรต มีความอดทนเป็นตบะแผดเผากิเลสตัณหาให้หมดไป เมื่ออาสวักขยญาณได้ทำการแผดเผากิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปแล้วก็หมดภาระกัน
มรรค อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความรู้จริงเห็นจริงแห่งทุกข์ทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้จักมรรค หรือไม่รู้วิธีในการปฏิบัติในองค์มรรคหรือปฏิบัติอยู่แต่ก็ไม่เป็นไปตามองค์มรรค ชาตินี้ทั้งชาติก็จะปิดฉากแห่งมรรคผลนิพพานลงทันที ถึงจะมีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ก็ตาม แต่ถูกมิจฉาปฏิบัติปิดบังเอาไว้อย่างมืดมิดแล้ว บุญบารมีที่มีอยู่ก็ไม่สามารถจะผ่านความเห็นผิดการปฏิบัติผิดนี้เข้าสู่กระแสธรรมได้เลย เหมือนการบวกลบคูณหารผิดหลักผิดสูตร ผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างถูกต้องนั้นก็เป็นไปไม่ได้ หรือเหมือนให้ข้อมูลที่ผิดเข้าไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว จะพิมพ์ออกมาให้ได้รับข้อมูลที่ถูกนั้นก็จะเป็นไปไม่ได้ จะไปโทษว่าไม่มีบุญวาสนาบารมีก็ไม่ถูก เมื่อเราปฏิบัติผิดแล้ว จะไปโทษธรรมว่าไม่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ ให้รู้ตัวเองว่าปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าหรือไม่ เหมือนกับการเชื่อมสายไป ถ้าเชื่อมผิดสายก็จะไม่เกิดความสว่างได้ เหมือนเจาะน้ำบาดาล ถ้าเจาะไม่ถูกกับสายน้ำก็เสียเวลาไม่ได้ประโยชน์อะไร เหมือนกินยาไม่ถูกกับโรค ความเจ็บป่วยก็ไม่หายไปได้เช่นกัน นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมถ้าผิดพลาดไปแล้ว จะให้ผลออกมาเป็นถูกนั้นจะเป็นไปไม่ได้ จะต้องได้รับทุกข์ในการเกิดตายต่อไป
เหตุให้เกิดทุกข์มีเท่าไร ผลของทุกข์ก็มีเท่านั้น เราตั้งข้อสังเกตให้ดีว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึง
เอาทุกข์มาเป็นข้อเริ่มต้นในการใช้ปัญญาพิจารณาก็เพราะคนไม่รู้ทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ จึงได้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า นี้คือความสุขที่ทุกคนแสวงหาและปรารถนา หลงผลแห่งความทุกข์ จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสุขอยู่เรื่อยไป เหมือนยาพิษเคลือบด้วยน้ำตาล เพื่อเอามาหลอกสัตว์ที่โง่เขลาให้หลงกิน ในขณะกินก็มีความติดใจในรสชาติที่หวานฉ่ำ เมื่อคราบน้ำตาลภายนอกได้ละลายไปแล้ว ยาพิษก็จะให้ผลทันที นี้ฉันใด ความทุกข์ที่ทุกคนได้รับกันอยู่ในขณะนี้ เป็นผลออกมาจากเหตุโลกียสุขทั้งนั้น แต่จะมารู้เห็นทุกข์ในช่วงนี้ยังไม่ได้ เพราะสติปัญญาของเรายังไม่พร้อม ยังไม่มีความสว่างทางสติปัญญา จึงไม่เกิดความฉลาดรอบรู้ในเหตุแห่งความทุกข์ได้ว่าอะไรเป็นเหตุที่เกิดทุกข์ มีมูลฐานในการทำ มีมูลฐานในการพูด มีมูลฐานในความเห็นผิดเป็นอย่างไร
ถ้าไม่เข้าใจในจุดนี้ก็ยากที่จะเข้าใจในทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ได้ เพราะเหตุให้เกิดทุกข์มาจากความอยาก ความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นมีมาก ถ้าสติปัญญาไม่มีความฉลาดเฉียบแหลมพอตัวก็ยากที่จะรู้ได้ จึงเป็นผู้ลุอำนาจแห่งความอยากต่อไป จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สร้างเหตุแห่งทุกข์มากขึ้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเอาผลที่เป็นทุกข์มาเป็นหลักพิจารณา ให้เห็นโทษภัยเพื่อให้ใจได้เกิดความกลัว ถ้าใจได้รู้เห็นทุกข์ด้วยสติปัญญาได้อย่างชัดเจนแล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ต้องการความทุกข์ มีแต่จะสลัดให้หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งนั้น การสลัดออกจากทุกข์นี้มิใช่จะทำสมาธิแก้ปัญหาได้ เพราะความสงบของสมาธิเป็นเพียงอุบายกลบปัญหากลบทุกข์ไว้เท่านั้น
การรู้ทุกข์เห็นทุกข์ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ต้องรู้เห็นจากสติปัญญาของตัวเอง การรู้เห็นจากตำราหรือผู้อื่นเล่าให้ฟังก็เป็นเพียงสัญญาเท่านั้น จะให้ใจเกิดความสลดสังเวชเกิดความกลัวในทุกข์นั้นๆ ไม่ได้เลย ความทุกข์ตัวจริงนั้นอยู่ที่ใจโดยตรง ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบให้เกิดทุกข์ทางใจ เมื่อไรกายใจมีความสัมพันธ์กันอยู่ ความทุกข์ก็ยังเป็นผลให้ได้รับตลอดไป นั้นเรียกว่าสภาวทุกข์ คือทุกข์ที่มีอยู่ประจำขันธ์ เรียกว่าทุกข์เป็นเจ้าเรือนที่มีอยู่ในรูปธรรมและนามธรรม อีกทุกข์หนึ่งเป็นปกิณกทุกข์คือทุกข์จรหรือทุกข์เสริม ทุกข์ประจำที่มีอยู่ก็เหลืออดเหลือทนแทบจะรับไม่ไหวอยู่แล้ว ยังมีทุกข์จรเพิ่มเสริมซ้ำเติมเข้ามาอีก ความหนักหน่วงทรมานทางกายและใจก็จะได้รับผลแห่งความทุกข์อย่างเต็มที่ เรื่องความทุกข์นี้มีมาก จะพรรณนาให้จบสิ้นในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ จะเป็นหนังสือเล่มใหญ่เกินไป เพียงอธิบายให้เป็นแนวทางในการใช้ปัญญาพิจารณาเท่านั้น ผลแห่งความทุกข์มีเท่าไร เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ก็มีมากเท่านั้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องฝึกสติปัญญาไว้ให้ดี ให้มีความรอบรู้ในทุกข์ และมีความรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ เหตุปัจจัยภายในเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยภายนอกเป็นอย่างไร ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบรู้อยู่เสมอ สิ่งใดเห็นว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราจะหลีกเลี่ยงในเหตุนั้นเสีย ถึงจะมีความอยากได้อยากทำ ก็ต้องมีขันติความอดทนเพราะกลัวผลที่เป็นทุกข์ติดตามมาให้ผลแก่เรา
สมุทัยคือ ตัณหาสาม เช่น กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาสามนี้เป็นเรื่องของใจเป็นต้นเหตุ ใจที่มีกิเลสสังขารสั่งการอยู่นั้นจึงเหมือนกันกับนายพรานพาสุนัขไปล่าเนื้อ เมื่อได้เนื้อมา นายพรานก็กินของดีเสียหมด โยนให้สุนัขกินเพียงเนื้อติดกระดูก นี้ฉันใด ใจที่ถูกกิเลสตัณหาสั่งการก็ต้องดิ้นรนแสวงหาให้ได้มาตามความอยาก เมื่อแสวงหามาได้แล้ว กิเลสตัณหาก็ได้เสวยสุขแต่ฝ่ายเดียว เศษที่เหลือก็คือความทุกข์ของใจ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกามคุณคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความทุกข์เกิดขึ้นจากความรักความใคร่ ผลของทุกข์ในสิ่งใดที่กิเลสตัณหาได้สั่งการให้ใจได้ทำไปแล้ว กิเลสตัณหาจะสลัดโยนทิ้งไปให้ใจเป็นผู้รับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว ใจที่โง่เขลาเบาปัญญาไม่มีวิชาความรู้ความฉลาด ก็จะอยู่เป็นทาสรับใช้ให้แก่กิเลสตัณหาตลอดไป ใจได้ตกเป็นทาสให้แก่กิเลสตัณหามายาวนานจนถึงปัจจุบัน และจะตกเป็นทาสให้แก่กิเลสตัณหาต่อไปในชาติอนาคตไม่มีกำหนดได้ ใจเดิมมีความฉลาดฝังอยู่ลึกๆ แต่ขาดการศึกษา ไม่มีวิชาทางสติปัญญาในทางธรรม จึงเป็นใจที่มืดบอดลุ่มหลง เรียกว่า โมหะอวิชชา ดังคำว่า คนโง่ย่อมตกอยู่ในความครอบงำของคนที่มีความฉลาดกว่า ใจโง่ก็ย่อมตกอยู่ในความครอบงำของกิเลสตัณหาก็ฉันนั้น ขณะนี้ถึงเวลาหรือยังพร้อมหรือยังที่จะฝึกใจให้มีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง สติปัญญาวิชาความรู้ใดที่เป็นไปในธรรมก็นำมาอบรมสอนใจเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ตัณหาพาให้เกิดทุกข์
ตัณหา หมายถึงความอยาก เช่น
กามตัณหา ความอยากในกามคุณ ๕ คืออยากได้รูปที่ชอบใจ อยากในเสียงที่ชอบใจ อยากในกลิ่นที่ชอบใจ อยากในรสที่ชอบใจ อยากในสัมผัสที่อ่อนนุ่มชอบใจ ความอยากในลักษณะนี้จะมีอยู่ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานก็มีความอยากในลักษณะนี้เช่นกัน มนุษย์ทุกชาติชั้นวรรณะอยู่ในฐานะอย่างไร จะมีความอยากในกามคุณนี้เหมือนกันทุกคน พวกเทพพรหม ก็ยังมีความอยากแต่อยากต่างกัน เทพอยากในกามคุณ พรหมอยากในความสุขในฌาน เว้นพรหมในชั้นสุทธาวาสของพระอนาคามี ความอยากในกามคุณนี้เหมือนยาเสพติดในระดับสามภพทีเดียว เฉพาะกามภพจะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ สัตว์โลกตัวใดได้สัมผัสกับกามคุณห้าแล้วจะเกิดความติดใจไม่อยากหนีไปไหน เหมือนกับมดที่ติดใจในรสชาติของน้ำผึ้ง ถึงอย่างไรก็จะป้วนเปี้ยนเวียนวนมาชิมน้ำผึ้งเป็นประจำ อีกสักวันหนึ่งขาจะไปติดอยู่กับน้ำผึ้ง ในที่สุดก็ตายเพราะความอยากในน้ำผึ้งหยดเดียว นี้ฉันใด สัตว์โลกทั้งหลายที่อยู่ในกามภพนี้ทุกตัว ก็จะมีความชอบใจในกามคุณห้านี้เหมือนกันทั้งหมด ฝั่งของมหาสมุทรสุดสาคร ยังไม่อิ่มพอในกระแสของน้ำฉันใด ใจของมวลสัตว์ทั้งหลายก็ยังไม่อิ่มพอต่อกามคุณก็ฉันนั้น กามคุณทั้งห้าเหมือนกับเป็นแกนกลางของโลก หรือจะเรียกว่า เสาเอกของโลกก็ว่าได้ ใครได้มาเยี่ยมชมงานนิทรรศการของโลกนี้เมื่อไรจะอดใจไม่ได้เลย อย่างไรก็ขอให้ได้สัมผัสกับกามคุณห้านี้ให้สมใจ
ภวตัณหา หมายถึง อยากในภพที่ชอบใจ
วิภวตัณหา หมายถึงไม่อยากในภพที่ไม่ชอบใจ นี้ก็เป็นธรรมชาติของใจต้องมีความอยาก และความไม่อยากเป็นนิสัย เช่น อยากได้ในสิ่งที่ดี และไม่อยากในสิ่งที่ไม่ดี เราคนเดียวก็ตกอยู่ในภพทั้งสามนี้ ในปัจจุบันนี้ก็อยากให้มีฐานะร่ำรวย ทุกอย่างให้มีความเพียบพร้อมอยู่ท่ามกลางกองสมบัตินานาประการ ในขณะที่ทำบุญแล้วชอบยกมือใส่หัวอธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้ไปอยู่สวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ นี้ก็คือต้องการภพที่ดีเรียกว่า ภวตัณหานั้นเอง วิภวตัณหาก็หมายถึงตัวเรานี้เอง เมื่อเราได้เกิดเป็นภพชาติของมนุษย์ที่ดีแล้ว ทุกอย่างมีความพร้อม มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอำนวยความสุขนานาประการ เมื่อเราได้พบเห็นภพชาติคนอื่น สัตว์อื่นที่ต่ำต้อยน้อยวาสนาของคนบางกลุ่ม หรือภพชาติที่ต่ำกว่าเราลงไปอีก เช่น ภพของสัตว์ดิรัจฉาน เราก็ไม่ต้องการในภพนี้เช่นกัน
ฉะนั้น การสำรวจตรวจสอบในตัว สมุทัยคือ ตัณหาสาม กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาตรวจสอบที่ตัวเราเอง ตัณหาสามมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเราทั้งหมด ให้ค้นหากันอยู่ที่นี่ และละกันอยู่ในที่นี่ ถ้าสติปัญญาเราดี มีความรอบรู้ และมีความฉลาดเฉียบแหลม จะเกิดความรู้เห็นตัวสมุทัยได้ในตัณหาสามนี้ได้อย่างชัดเจนทีเดียว
วิจยะ การเลือกเฟ้น
ธัมมวิจยะ ผู้มีสติมีความรอบรู้ การเลือกเฟ้นหาหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยตัวเองนั้น เลือกได้ง่าย วิจยะ แปลว่าเลือกหรือเฟ้น หรือว่าเลือกเฟ้นก็ได้ในความหมายอย่างเดียวกัน ฉะนั้นการเลือกเฟ้น จึงเป็นนิสัยของคนที่มีสติปัญญา เป็นนิสัยของผู้มีความคิด จะเชื่อในตัวบุคคล หรือจะเชื่อในธรรมอย่างไร ก็ต้องมีวิจยะมาโยนิโสใคร่ครวญพิจารณาก่อนการตัดสินใจเชื่อ จึงนับว่าเป็น สทฺธา ญาณ สมฺปยุตฺ เป็นผู้เชื่ออะไรอย่างมีเหตุผล และพิจารณาด้วยปัญญาก่อนจึงเชื่อทีหลัง การเชื่อบุคคลก่อนธรรมหรือการเชื่อธรรมก่อนบุคคล อย่างไหนจะมีผลดีกว่ากัน เอาแน่ไม่ได้
ในบางครั้งเราได้อ่านหนังสือธรรมะจากท่านองค์นั้นแล้ว เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรม จึงตามหาตัวบุคคลและเชื่อในตัวบุคคลทีหลัง หรือเชื่อในตัวบุคคลก่อน เช่น เห็นเข้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จะเห็นเพียงกิริยาหรือลักษณะพอเชื่อถือได้ หรืออาจเป็นเพราะนิสัยตรงกัน จึงได้เกิดความเชื่อในตัวบุคคลก่อน เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้วก็เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรมทีหลัง ถ้าผู้มีนิสัยในทางปัญญาจะเอาวิจยะมาประกอบในการเลือกเฟ้นนั้นได้ง่าย จะเลือกเฟ้นในตัวบุคคล จะเลือกเฟ้นเอาหมวดธรรมมาปฏิบัติ ก็เป็นของง่ายสำหรับผู้มีสติปัญญาที่ดี ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญา ไม่มีวิจยะธรรมภายในใจ จะเชื่ออะไรก็เป็นความเชื่ออย่างงมงาย จะเชื่อธรรมหรือเชื่อบุคคลก็ไม่เป็นไปตามใจที่เราเชื่อ ก็เพราะเชื่อขาดจากปัญญาความรอบรู้นั้นเอง
วิจยะ หมายความว่าการเลือกเฟ้น
ทิฏฐิวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเห็น ความเห็นใดที่เป็นไปในความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ถูกต้องเป็นธรรมก็ดี ต้องนำความเห็นนั้นๆ เข้ามาทำการเลือกเฟ้นด้วยสติปัญญาอย่างมีเหตุมีผล เอาไตรลักษณ์มาเป็นตัวตัดสินอ้างอิง ถ้าความเห็นใดไม่เป็นไปในไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเห็นนั้นไม่ถูกต้องใช้ไม่ได้ ละความเห็นประเภทนั้นทิ้งไปเสีย ถ้าความเห็นใดเป็นไปตามไตรลักษณ์ ความเห็นนั้นถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย นั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้องเป็นธรรมที่สุดแล้ว
สังกัปปวิจยะ เลือกเฟ้นในความคิด ตามปกติ ใจจะคิดได้ในทุกอารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรืออารมณ์อย่างอื่นใดก็ตาม ใจจะคิดได้ทั้งหมด ผิดถูกชั่วดีทางโลกทางธรรมคิดได้ทั้งนั้น ถ้าฝึกใจให้คิดไปในทางไหนอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยโน้มเอียงไปในสิ่งนั้นๆ จนกลายเป็นนิสัย ถ้าฝึกใจไปคิดในทางโลกอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เอนเอียงไปในทางโลก ถ้าฝึกใจไปติดอยู่ในเรื่องของกามคุณคือ คิดในรูป คิดในเสียง คิดในกลิ่น คิดในรสของอาหาร คิดในการสัมผัสที่อ่อนนุ่มอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความยินดีพอใจมีความกำหนัดในกามคุณมากขึ้น ถ้าฝึกใจไปคิดอยู่กับความร่ำรวยในลาภสักการะอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดเป็นความโลภขึ้น
ถ้าฝึกใจไปคิดพิจารณาในเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง ฉะนั้นจงฝึกใจให้คิดให้ดำริในไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ อย่าเอาความโง่มาปิดกั้นปัญญาตัวเอง ขณะนี้ต้องการฝึกใจให้มีความรอบรู้ในเหตุและผลด้วยตนเอง เราต้องมีความขยันหมั่นคิดพิจารณาให้รู้เห็นทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจากกามคุณอยู่เสมอ
การฝึกคิดพิจารณาในสิ่งใดก็ตาม ถ้าให้เป็นไปในไตรลักษณ์แล้ว ความคิดนั้นจะไม่ผิดจากธรรมแต่อย่างใด การฝึกใจให้มีการดำริพิจารณา หรือฝึกใจให้คิดในทางธรรมนี้ จึงเป็นวิธีใหม่ของใจ ในอดีตที่ผ่านมายาวนาน ความคิดของใจจะเป็นไปในทางโลกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ใจไปยึดติดในสิ่งที่คิดนั้นๆ อย่างฝังตัวจนกลายเป็นนิสัยความเคยชิน ฉะนั้นจึงมาฝึกใจให้มีความคิดเสียใหม่ เพื่อจะได้ลืมแนวความคิดเก่าๆ นั้นไปเสีย ผู้ที่ยังไม่เคยคิดพิจารณาในทางปัญญา การเริ่มใหม่ก็จะมีความสับสนพอสมควร เมื่อคิดพิจารณาในหลักความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ พัฒนาในแนวความคิดไปเองได้
การฝึกคิดพิจารณานี้ อย่าไปใฝ่ใจในการทำสมาธิให้สงบมากนัก เพราะความสงบในสมาธิเป็นตัวปิดกั้นปัญญาอย่างสนิททีเดียว ถ้าจะทำสมาธิก็เพียงนึกคำบริกรรม หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ใจมีความตั้งมั่นพอประมาณสัก ๑๐ – ๑๕ – ๓๐ นาที แล้วหยุดการนึกคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วน้อมใจมาคิดพินิจพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริง เป็นเรื่องของตัวเองบ้าง เรื่องของคนอื่นสัตว์อื่นบ้าง หรือคิดพิจารณาในเรื่องภายนอกแล้ว ก็น้อมเข้ามาหาตัวเองให้พิจารณาลงจุดเดียวกันคือ ไตรลักษณ์ จะอยู่ในที่ไหนไปเที่ยวในที่ใด จะนั่งรถนั่งเรือนั่งเครื่องบิน ก็พิจารณาด้วยปัญญาได้ ไม่ต้องมานึกคำบริกรรมทำสมาธิให้เสียเวลา ให้พิจารณาด้วยปัญญาได้เลย จะรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำล้างหน้าแปรงฟัน ใช้ปัญญาพิจารณาได้ทั้งนั้น จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ไม่จำเป็นต้องนึกคำบริกรรม เว้นเสียแต่หลับไปเท่านั้น
วจีวิจยะ การเลือกเฟ้นในคำพูด ว่าจะพูดอย่างไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์แก่คนอื่น จะพูดอย่างไรที่จะทำให้เกิดความรักต่อกัน และให้เกิดความสามัคคีต่อกัน ต้องเลือกคัดจัดสรรหาคำพูดให้แก่ตัวเองให้เป็น การพูดเท็จพูดส่อเสียดยุยงให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิด จะเป็นคำพูดที่เสียดแทงหัวใจกัน ถ้าคนอื่นพูดให้เราอย่างนี้ เรามีความพอใจในคำพูดนี้หรือไม่ ถ้าเราไม่ชอบใจในคำพูดอย่างนี้ เราก็อย่าใช้คำพูดอย่างนี้ไปพูดกับคนอื่นเขา วิจยะวาจาเป็นวาจาที่เลือกแล้วจึงพูดออกไป มิใช่ว่าจะพูดตามใจอยากจะพูด ประโยคข้อความในการพูดนั้นต้องให้ชัดเจน ผู้ฟังจะเกิดความสบายใจ อย่าพูดให้คนอื่นไปตีความหมาย ถ้าตีความหมายในคำพูดผิดไป จะทำให้เกิดปัญหา ในสังคมมนุษย์นี้ จะใช้คำพูดเป็นสื่อต่อกันมากมาย คนจะเกิดความรักกันชอบพอกันก็เพราะคำพูด คนจะเกลียดชังกันไม่ไว้ใจกันก็เพราะคำพูด
คำพูดนี้เป็นใบเบิกทาง คำพูดเป็นหน้าต่างของสังคม คำพูดเป็นตัวแทนให้แก่ใจ คำพูดเป็นตัววัดของคนดีและคนไม่ดี คำพูดเป็นตัววัดใจของคนมีธรรมหรือไม่มีธรรม ดังคำว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี วิชาปัญญาเป็นเลิศ ให้เอาวิชาปัญญาเลิศ มาร่วมงานกันกับปากเป็นเอกดูบ้าง เสียงที่ออกมาจากปากของคนผู้ที่มีความรู้ดี มีความฉลาดรอบรู้ในหลักการที่พูดดีย่อมเป็นเสน่ห์กับสังคม ไปที่ไหนมีแต่สังคมยอมรับให้ความเชื่อถืออย่างสนิทใจทีเดียว ฉะนั้นเราต้องเลือกเฟ้นคำพูดตัวเองเสียแต่บัดนี้ ถึงจะไม่ดีเลิศให้พอใช้ได้ก็ยังดี เมื่อใช้คำพูดที่เป็นธรรมย่อมนำตัวเองไปสู่ความเจริญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การพูดดีจะมีกระแสธรรมฟุ้งขจรไป จะเป็นที่เคารพแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
กัมมันตวิจยะ เลือกเฟ้นการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่มีโทษแก่ตัวเองและคนอื่น ไม่ทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมที่นักปราชญ์เจ้าไม่สรรเสริญ เช่น ไปฆ่าสัตว์ ไปลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม และกินเหล้าเมายา หรือการกระทำในสิ่งใดที่จะให้ตนและคนอื่นมีความเดือดร้อนไม่สบายใจ การทำอย่างนั้นให้เลิกละไปเสีย เมื่อเราไม่ชอบ คนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกันกับเรา ต้องเลือกทำในสิ่งที่นักปราชญ์เจ้าชมเชย อย่าทำในสิ่งใดเพื่อการได้เปรียบคนอื่น อย่าทำในทางอคติให้คนอื่นได้รับความทุกข์เดือดร้อน การได้ความสุขบนพื้นฐานแห่งความทุกข์ของคนอื่น ผู้มีคุณธรรมประจำใจจะไม่ทำในลักษณะนี้ ผู้มีสติปัญญาที่ดีจะต้องเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน มีความละอายในการทำชั่วทั้งปวง จะเลือกเฟ้นทำในงานที่ไม่เป็นโทษ เพราะผู้มีธรรมประจำใจจะเชื่อกรรมเป็นหลักใหญ่ ว่าสัตว์โลกจะได้รับผลดีและผลชั่วนั้นจะเกิดขึ้นจากเหตุคือ การกระทำของตัวเอง และเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งใดที่กระทำลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะไม่เป็นกรรมไม่มีในโลก นั้นหมายถึงกรรมดีและกรรมไม่ดี ทำกรรมดี ก็เป็นเหตุที่จะให้ได้รับผลดีคือบุญกุศล ทำกรรมชั่วก็จะเป็นเหตุให้ได้รับผลชั่วคือ บาปอกุศล คนผู้มีความหวังดีแก่ตัวเองจะต้องเลือกเฟ้นทำแต่กรรมดี มีเมตตาธรรม ใจมีความรักในคนอื่นสัตว์อื่นเป็นนิสัย กรุณาธรรม ใจมีความสงสารแก่คนอื่นสัตว์อื่นอยู่เป็นนิจ หิริธรรม ใจมีความละอายในการทำชั่วโดยประการทั้งปวง ธรรมสามหมวดนี้ถ้านำมาปฏิบัติได้ ผู้นั้นจะมีความเจริญ ไม่มีเวรมีภัยใดๆ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าตลอดไปชั่วกาลนาน
อาชีววิจยะ การเลือกเฟ้นในการเลี้ยงชีพ เช่น ในเรื่องอาหาร เพราะธาตุขันธ์ของคนมีโรคต่างกัน ถ้าอาหารใดแสลงกับโรคตัวเอง ก็อย่ารับประทานอาหารประเภทนั้น เพราะอาหารนั้นไม่เป็นสัปปายะแก่ธาตุขันธ์ของตนเอง รับประทานแล้วจะก่อให้เกิดทุกข์ จึงหลีกเลี่ยงในอาหารนั้นเสีย ตลอดเครื่องดื่มต่างๆ ก็เช่นกัน เห็นญาติโยมนำมาถวายก็ฉันเอาๆ ไม่เข้าใจไม่สนใจว่าสิ่งนั้นควรฉัน หรือไม่ควรฉัน จะผิดศีล ผิดธรรมอะไรไม่สนใจ ขอให้ข้าพเจ้าได้อิ่มท้องก็เป็นพอ ในกาลิก ๔ เช่น ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก กาลิกสี่นี้สำหรับพระเณร จะเป็นผู้ปฏิบัติตาม เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อให้พระเณรได้เลือกเฟ้นฉันให้ถูกกับพระธรรมวินัย ไม่ให้ฉันตามความอยากของตัวเอง
เมื่อมีญาติโยมนำสิ่งของมาถวาย ก็ให้พิจารณาก่อนว่า ของนี้ควรรับได้ หรือรับไม่ได้ เมื่อรับแล้วก็ต้องรู้จักว่าอะไรควรฉันในกาลไหนอย่างไร ต้องเลือกเฟ้นให้เป็น ต้องศึกษาธรรมวินัยให้เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ญาติโยมผู้นำปัจจัยสี่มาถวายพระก็ควรจะรู้เอาไว้ว่าสิ่งใดควรถวายในเวลาไหน อย่าเอาความมักง่ายเข้าว่า จึงทำให้พระผิดศีลผิดธรรมไป พระก็มีความด่างพร้อยในศีลในธรรม ไม่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องตามที่เราต้องการ นี้ก็เพราะญาติโยมทำให้พระผิดศีลผิดธรรม มีความเศร้าหมองเองมิใช่หรือ ฆราวาสก็หาเลี้ยงชีวิตในความบริสุทธิ์ ให้ได้มาโดยความชอบธรรม ไม่ไปบังคับขู่เข็ญแย่งชิงฆ่าตีเอาเนื้อเขามาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ไม่ขโมยลักสิ่งของของคนอื่นมาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ผู้มีปัญญาผู้มีหิริธรรมย่อมเลือกเฟ้นทำในสิ่งที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงในสิ่งที่เป็นโทษผิดศีลผิดธรรมเสีย
วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเพียรพยายาม ความเพียรนั้นเป็นได้ทั้งดีและไม่ดี เป็นได้ทั้งถูกและผิด ถ้าเป็นความเพียรของคนพาลก็จะเพียรทำในสิ่งที่ชั่วอยู่เรื่อยไป ถ้าความเพียรของหมู่ดาบสฤๅษีชีไพร ก็จะเพียรทำในทางสมาธิ จะให้จิตมีความสงบเยือกเย็น ให้จิตมีความสุขความสบาย ความเพียรแบบฤๅษีนี้ ชาวพุทธก็เลียนแบบวิธีทำความเพียรของพวกดาบสฤๅษีเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและได้รับผลเกิดขึ้นได้ทันอกทันใจ ทำให้เกิดความตื่นเต้นในอาการของจิตที่เกิดขึ้น เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ คนที่ไม่เห็นก็อยากจะเห็น วิธีทำความเพียรอย่างนี้กำลังจะกลบกลืนในวิธีความเพียรของพระพุทธเจ้าให้หมดไป จะไม่มีใครเข้าใจในหลักความเพียรเดิมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ คิดว่าคงไม่นานนัก หลักความเพียรเดิมของพระพุทธเจ้าก็สูญสลายไป นี้ก็เพราะความเพียรของพวกดาบสฤๅษีมีบทบาทสูงมากในขณะนี้ ในมุมไหนของประเทศไทย จะให้ความสนใจในความเพียรของพวกดาบสฤๅษีกันทั้งนั้น แม้แต่ในต่างประเทศก็มีความนิยมฝึกความเพียรแบบฤๅษีนี้เช่นกัน ความเพียรเดิมที่เป็นอุบายวิธีที่จะทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้องได้เข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานนั้นแทบจะไม่มีผู้สอนกันเลย เมื่อไม่มีผู้สอนก็ไม่มีผู้ปฏิบัติ ความเพียรพยายามที่จะข้ามกระแสโลกนี้ให้พ้นไปก็จะหมดความหมาย ในไม่ช้าก็จะไม่มีใครให้ความสนใจในการปฏิบัตินี้เลย
วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นความเพียรมาปฏิบัติให้ถูกตามแนวทางของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าได้นั้น ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าให้เข้าใจ ความเพียรพยายามทำลายอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ เพียรพยายามฝึกใจให้เกิดเป็นสัมมาวายาโม ให้เกิดเป็นความเพียรชอบนั้น ผู้นั้นต้องฝึกสติปัญญาให้มีความฉลาดรอบรู้ในความเพียรนั้น ๆ ให้ชัดเจน ความเพียรใดเป็นไปในลัทธิของพวกดาบสฤๅษี ความเพียรใดเป็นไปในคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องมีวิจยะ มีสติปัญญาในการเลือกเฟ้น มีเหตุผลในการตัดสินใจได้ ว่าอุบายวิธีนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้สอนพระสาวกได้บรรลุมรรคผลนิพพานมาแล้ว เราต้องเลือกเอาอุบายวิธีนั้นมาเป็นหลักประกอบความเพียรให้แก่ตัวเอง หลักความเพียรที่พระพุทธเจ้าได้เอามาสอนพุทธบริษัทนั้น เป็นหลักของสติปัญญา
ถ้าความเพียรใดไม่มีสติปัญญาเป็นองค์ประกอบแล้ว ความเพียรนั้นไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย ไม่เป็นไปในความเพียรชอบแต่อย่างใด ฉะนั้นความเพียรชอบต้องมาจากปัญญาความเห็นชอบ ปัญญาความเห็นชอบกับความเพียรชอบจึงเป็นของคู่กันจะแยกกันไม่ได้ ต้องเพียรพยายามละความเห็นผิด ให้เกิดความเห็นที่ถูก ความคิดผิดให้เกิดความคิดถูก เพียรพยายามละในคำพูดที่ผิดให้เกิดเป็นคำพูดที่ถูก เพียรพยายามละในการทำอะไรที่ผิดๆ ให้เกิดความเข้าใจในการทำถูก เพียรพยายามละในวิธีเลี้ยงชีวิตผิดให้รู้ในวิธีเลี้ยงชีวิตถูก พยายามละในความเพียรที่ผิดๆ ให้ใฝ่ใจในความเพียรที่ถูกให้มากขึ้น เพียรพยายามละในความระลึกในทางที่ผิดๆ ให้ฝึกใจได้ระลึกในทางที่ถูก เพียรพยายามละในวิธีความตั้งใจมั่นที่ผิดๆ ให้มาฝึกในวิธีตั้งใจมั่นให้ถูก ความเพียรนี้จึงเป็นวิธีที่ถูกต้องอย่างแท้จริงของพระพุทธเจ้า
สติวิจยะ การเลือกเฟ้นในความระลึกของใจนั้น ต้องฝึกให้มีความระลึกไปในทางที่ไม่ให้เกิดโทษ ถ้าระลึกไปในกามคุณอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยเอนเอียงไปในความรัก ถ้าฝึกระลึกในสิ่งที่ไม่เที่ยงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยรู้เห็นตามในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นๆ ไป ถ้าฝึกใจให้มีความระลึกในเรื่องความทุกข์อยู่บ่อยๆ ใจก็จะเกิดความรู้เห็นความทุกข์ใจ ความทุกข์กายนี้ไป ความระลึกรู้อยู่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนของเราอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยปล่อยวางในความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนไปได้ ถ้าระลึกว่าไม่มีอะไรเป็นของของเรา ความโลภในสิ่งนั้นก็จะลดน้อยลงเช่นกัน
ความเห็นว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตนและของของตนอยู่อย่างนี้ ใจก็จะไม่มีความผูกพันในสิ่งใดๆ ไม่มีความกังวลว่า สิ่งนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แม้แต่ความทุกข์กายทุกข์ใจเกิดขึ้น ก็ระลึกได้ว่าสภาพความเป็นจริงมันต้องเป็นอยู่อย่างนี้ มีความระลึกรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สติวิจยะ ต้องมีสติปัญญาเลือกระลึกอยู่ตามหลักความเป็นจริงให้มาก ระลึกถึงความแก่ ระลึกถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย และระลึกถึงความตายอันจะเกิดขึ้นแก่ตัวเอง ระลึกถึงบุญกุศลที่สร้างไว้แล้ว ระลึกในการรักษาศีล ระลึกในการภาวนาปฏิบัติปรารภความเพียรอยู่เสมอ
สติ หมายถึง ความระลึกได้ วิจยะ หมายถึง การเลือกเฟ้น ถ้าพูดรวมกันก็เลือกเฟ้นในสิ่งนั้นๆ มาระลึกรู้นั้นเอง ระลึกรู้ในความเห็นของตัวเองว่า เรามีความเห็นผิดหรือความเห็นถูก เรามีความคิดผิดหรือความคิดถูก ระลึกรู้ในคำพูดของตัวเอง ก่อนจะพูดก็ระลึกได้ในคำที่จะพูด ในขณะพูดอยู่ก็ระลึกได้ว่าเราพูดในเรื่องอะไร หรือพูดไปแล้วก็ระลึกทบทวนดูคำพูดของตัวเอง และรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง ระลึกในการงานที่ทำว่างานนั้นเป็นประโยชน์ และเป็นโทษให้แก่ตัวเองและคนอื่นอย่างไร ระลึกรู้ในปัจจัยสี่ที่นำมาเลี้ยงชีวิตว่า ผิดศีลผิดธรรมหรือไม่ ระลึกรู้ในความเพียรของตัวเองอยู่เสมอ วันคืนผ่านไปๆ ชีวิตเราก็ผ่านๆ ขณะนี้เรามีความเพียรอะไรที่จะต้องปฏิบัติ ระลึกรู้ใจของตัวเองอยู่เสมอ ว่าใจมีอารมณ์อะไรที่จะต้องละ ใจมีโลภะ ใจมีโทสะ ใจมีโมหะ ใจมีราคะอย่างไร จะแก้ไขด้วยหมวดธรรมอะไร ต้องระลึกรู้ใจตัวเองอยู่เสมอ
สมาธิวิจยะ ผู้ภาวนาปฏิบัติต้องรู้จักการเลือกในความตั้งมั่นของใจให้เป็น ว่าใจตั้งมั่นอย่างไรผิด ใจตั้งมั่นอย่างไรถูก ความสงบของใจอย่างไรผิด ความสงบของใจอย่างไรถูก ต้องเลือกเฟ้นดูให้รู้เห็น ใจตั้งมั่นเป็นสัมมาก็รู้ ใจตั้งมั่นเป็นมิจฉาก็รู้ ใจสงบเป็นสัมมาก็รู้ ใจสงบเป็นมิจฉาก็รู้ วิจยะการเลือกเฟ้นนี้เอง จึงเป็นคู่กับปัญญาความรอบรู้ได้เป็นอย่างดี จึงเรียกว่า ปัญญาวิจยะ เลือกเฟ้นในสิ่งใด ต้องใช้ปัญญารอบรู้ในสิ่งนั้นๆ ให้ชัดเจน
การทำสมาธิอย่างไร ก็ต้องมีปัญญาความรอบรู้เลือกเฟ้นดูในสมาธินั้นๆ เรียกว่าปัญญาความเห็นชอบในวิธีทำสมาธิ พิจารณาให้เข้าใจว่า การทำสมาธิอย่างนี้ถูกต้องแล้วจึงทำ ถ้าเลือกเฟ้นในการทำสมาธิให้ถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูกต้องชอบธรรม ถ้าทำสมาธิที่ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดเป็นมิจฉาสมาธิไป ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสนั้นเอง
วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นจากมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิ เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นต้นเหตุ ฉะนั้นผู้ภาวนาปฏิบัติต้องศึกษาในวิธีทำสมาธิให้ดี ปัญญาวิจยะ มีความรอบรู้ในการเลือกเฟ้นในอุบายให้ถูกต้องตามแนวทางของหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบให้ถูกต้อง ถ้าตั้งหลักความเห็นชอบได้แล้ว ทำสมาธิก็จะเป็นสัมมาสมาธิ เป็นทางตรงเข้าสู่วิปัสสนา และตรงเข้าสู่วิปัสสนาญาณ มรรคผลนิพพานก็จะเปิดรับทันที การภาวนาปฏิบัติถ้าตั้งหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบถูกต้องแล้ว อันดับต่อไปจะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติแต่อย่างใด จะเป็นไปในความเห็นชอบนี้ทั้งหมด
สมาธิ ความสงบวิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะอธิบายต่อไปนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านจงอ่านให้สุดวิธี แล้วนำมาพิจารณาดูด้วยเหตุผลว่าจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ ในหลักฐานที่มาก็มีอยู่แต่ไม่ได้นำเอามาตีแผ่ให้กว้างขวาง ผู้ปฏิบัติก็เลยไม่เข้าใจในหลักการและวิธีการของความสงบนี้ ในความหมายคำว่า
สงบนั้น คือ จิตไม่กระเพื่อมตามอารมณ์ เพราะมีความรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นอารมณ์อยู่แล้ว นั้นคือ ใช้สติปัญญาอบรมใจสอนใจให้มีความรอบรู้เท่าทันในเหตุการณ์นี้ไว้ล่วงหน้า และรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหา และรอบรู้ในวิธีแก้ปัญหาได้ ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาเรื้อรังฝังใจจนลืมตัว ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งไปตามกิเลสตัณหา เกิดการปรุงแต่งเป็นสังขารไปตามสมมตินั้นๆ เรียกว่า มีสติระลึกรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เหมือนรู้ว่าไฟกำลังก่อตัวขึ้นในที่นี้ ก็รีบดับเสีย หรือไฟได้ลุกขึ้นแล้วสาดน้ำเข้าใส่ ไฟก็จะดับในทันที นี้ฉันใด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดความลุ่มหลง ก็มีสติระลึกรู้ให้เท่าทัน หรือใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตกระเพื่อมตามอารมณ์อยู่ให้สงบลงได้
ฉะนั้น ใจเมื่อถูกสติปัญญาตัดสายสัมพันธ์ต่อกิเลสตัณหาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ สงบลงไปได้ สติปัญญาเป็นฉากป้องกันห้ามใจไม่ให้ไปมั่วอยู่กับเหตุที่จะให้เกิดกิเลสตัณหา และไม่สร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นอารมณ์แห่งความรักความใคร่เกิดขึ้น เหมือนกับไฟและเชื้อของไฟ ถ้าแยกออกจากกันคนละที่ไปแล้ว ไฟและเชื้อของไฟก็ไม่มีสื่อโยงหากัน ไฟก็จะดับไปเอง นี้ฉันใด ใจกับเหตุที่จะทำให้เกิดอารมณ์แห่งความรัก ความหลง เมื่อมีสติปัญญารอบรู้อยู่ พิจารณาอยู่ ใจกับเหตุที่จะให้เกิดความรักความใคร่ ก็จะค่อยหมดสภาพไป นี้คืออุบายฝึกใจให้สงบด้วยสติปัญญา วิธีนี้เป็นหลักประกันในระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี เป็นวิธีปกป้องใจไม่ให้กระเพื่อมไปตามอารมณ์ของกิเลสตัณหา เรียกว่าใจมีความสงบอยู่ด้วยสติปัญญานั้นเอง
ใจ เมื่อสติปัญญาอบรมดีแล้ว นำความสงบสุขมาให้ ไม่ไปมั่วสุมวุ่นวายอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่พอใจ ถึงตาจะสัมผัสในรูป หูสัมผัสในเสียง ก็รู้อยู่ว่าสัมผัสเท่านั้น หรือสัมผัสเพียงรู้เรื่องกันในความหมาย การสื่อต่อกันในระหว่างตากับรูป หูกับเสียงนั้นเป็นธรรมชาติที่โลกนี้มีต่อกันมา จะห้ามตากับรูป หูกับเสียง ไม่ให้สัมผัสกันนั้นไม่ได้เลย จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส โผฏฐัพพะจะห้ามไม่ให้สัมผัสกับสิ่งภายนอกนั้นไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นของคู่กัน อยู่กับโลกนี้โดยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สัมผัสเป็นสื่อในความหมายซึ่งกันและกันไปตามสมมติโลกที่มีต่อกัน
ถ้าอายตนะภายใน อายตนะภายนอกไม่สัมผัสกัน มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้จะไม่รู้ภาษาและความหมายอะไรต่อกันแต่อย่างใด แม้แต่สัตว์ต่อสัตว์ หรือมนุษย์ต่อมนุษย์ ก็ต้องมีสื่อความสัมผัสในอายตนะต่อกัน จึงรู้เรื่องกันและอยู่ร่วมกันได้ การสัมผัสอย่างนี้ ยังไม่เกิดเป็นพิษภัยต่อกันแต่อย่างใด คำว่าสำรวม ผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญาในการตีความให้ถูกกับความหมาย มิใช่ว่าสำรวม แปลว่าทุกคนจะต้องปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย และปิดใจ ไม่ให้ออกไปสัมผัสต่อสิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์แต่อย่างใด ถ้าเป็นในลักษณะนี้ การตีความหมายในคำว่าสำรวมย่อมผิดไป
ในคำว่าสำรวม ความหมายคือ ไม่ให้ใจไปเกิดความรัก ความชอบ ไม่ให้ใจไปเกิดความเกลียด ความชังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สัตว์โลกมีความสื่อสารต่อกันเท่านั้น ถ้าสำรวมใจได้อย่างนี้เป็นปกติแล้ว นั้นแลชื่อว่า จิตมีความสงบ ไม่กระเพื่อมไปตามกระแสของโลก ไม่เกิดความหลงรัก หลงชัง หลงโกรธ หลงเกลียดต่อสิ่งใดๆ นั้นเรียกว่าเป็นผู้รู้เท่าทันตามความเป็นอยู่ของโลก ความเป็นจริงของโลกมีความเป็นอยู่อย่างไร ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์ของโลกนี้ได้ดี ในโลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีความเป็นอยู่อย่างไร และมีความเป็นไปอย่างไร สติปัญญามีความรอบรู้โลกนี้ทั้งหมด ดังคำว่า นตฺถิ โลเก รโหนาม ความลับไม่มีในโลก คำว่าความลับ ก็ต้องตีความให้ตรงกับความหมาย มิใช่ว่าจะตีความหมายเพียงนินทาว่าร้ายต่อกันแล้วความลับนั้นปิดอยู่ไม่ได้ วันหนึ่งข้างหน้า ความลับก็ย่อมเปิดเผยขึ้นมาให้สาธารณชนได้รู้กัน การตีความเพียงเท่านี้ไม่พอ คำว่าความลับหมายถึงความลี้ลับซ่อนเร้น ที่เป็นมายาหลอกใจให้เกิดความลุ่มหลง ปิดบังอำพรางความจริงอยู่ในตัวมันเอง ดูภายนอกสดใสงดงามน่าสัมผัส ดูภายในสกปรกโสโครกเป็นซากผีเน่า ดูภายนอกเหมือนรสหวาน ดูภายในเจือด้วยยาพิษ
โบราณว่า เสือซ่อนเล็บ ดูผิวเผินจะไม่เห็นเล็บเสือ เมื่อโกรธขึ้นมาเมื่อไร เล็บจะออกมาให้เห็นเมื่อนั้น ความลับในโลกนี้ก็เช่นกัน ตามปกติโลกนี้ก็น่าอยู่น่าอาศัย ดูอะไรก็มีแต่ความสดใสสวยงามน่าสัมผัส มีความงามงอนเหมือนราชรถนี้เป็นเพียงแสงเสียงสี เป็นความลับให้คนเขลาแวะข้องอยู่ ผู้มีสติปัญญาที่ฉลาดรอบรู้หาข้องอยู่ไม่ นั้นคือใจมีความสงบดีแล้วจะไม่หลงติดอยู่ในสิ่งใดๆ ในโลกนี้เลย
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ความสงบนั้นมีสองอย่าง ๑. ความสงบเกิดขึ้นจากการนึกคำบริกรรมทำสมาธิ ๒. ความสงบเกิดขึ้นจากสติปัญญาดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว
ส่วนความสงบจากการนึกคำบริกรรมทำสมาธิ เป็นเพียงความสงบฉาบฉวยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเรียกว่าหาวิธีหลบปัญหาได้ชั่วคราว เป็นหลักภาวนาของผู้มีปัญญาอ่อน ไม่กล้าเผชิญต่อปัญหา ไม่กล้าสู้ต่อปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ตัวเองสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ยอมแก้ปัญหาของตัวเอง หาที่หลบซ่อนตัวอยู่ในความสงบของสมาธิอยู่เรื่อยไป ออกจากสมาธิแล้วก็มาสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเติมต่อไป จะเข้าใจว่าเมื่อทำสมาธิให้จิตมีความสงบได้แล้วจะแก้ปัญหาได้ นี้คือความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะการทำสมาธิให้จิตมีความสงบ มิใช่เป็นวิธีแก้ปัญหาแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่จะสะสมปัญหาให้เกิดมากขึ้น มีทั้งปัญหาอย่างหยาบ และปัญหาอย่างละเอียดสุดในสมาธินั้นๆ ตลอดไป ถ้าจิตลุล่วงถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌานไปแล้ว ในยุคนี้จะไม่มีใครๆ แก้ให้ได้อีกแล้ว มีแต่จะจมดิ่งปักใจหลงอยู่ในความสุขนั้นๆ จนลืมตัว นี้แลจึงเรียกว่าสร้างปัญหาขั้นละเอียดให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง ที่ว่าจิตมีความสงบเป็นสมาธิดีแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นนั้น ข้าพเจ้าก็ขอพูดเลยว่า เป็นเรื่องเพ้อฝัน ที่จริงนั้นจะตรงกันข้าม นั้นคือจิตมีความสงบลึกมากเท่าไร ปัญญาก็จะหมดหดหายไปทันที มีแต่อุเบกขา ใจวางเฉยอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง
ที่ว่าจิตมีความสงบเป็นสมาธิดีแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้นนั้น ให้ท่านได้ศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาลดูบ้าง เช่น ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ภัททวัคคีย์ ๓๐ ท่าน ชฎิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวารหนึ่งพันท่าน และพระสาวกองค์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แม้องค์สุดท้ายชื่อว่า สุภัททปริพาชกก็ดี ไม่มีองค์ไหนเลยที่ทำสมาธิให้จิตสงบแล้วปัญญาเกิดขึ้นเอง ผู้จะบรรลุธรรมทุกท่านต้องมีปัญญาความเห็นชอบทั้งนั้น แม้จะทำสมาธิก็ต้องศึกษาในวิธีทำสมาธิให้เข้าใจ ถ้าไม่ศึกษาจะทำสมาธิได้อย่างไร ข้าพเจ้าเคยได้ศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในระดับปัญญาวิมุติและเจโตวิมุติมาแล้ว ไม่เห็นองค์ไหนเลยมีปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิแต่อย่างใด หรือจะอ้างถึงพระจุฬปันถกนั้นไม่ได้ เพราะพระจุฬปันถกเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมมาก่อน มีความฉลาดเข้าใจในวิธีจับผ้าขาวจากพระพุทธเจ้าอธิบายให้ฟังแล้วเป็นอย่างดี ฆราวาสผู้ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าก็มีจำนวนมาก เช่น บริวารของพระเจ้าพิมพิสารหนึ่งแสนสองหมื่นคน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ให้นึกคำบริกรรมทำสมาธิก่อนแต่อย่างใด พระองค์อธิบายธรรมให้ฟัง ท่านเหล่านั้นก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง และมีความรู้จริงมีความเห็นจริงตามหลักความเป็นจริง ก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลไปเท่านั้นเอง ฉะนั้นผู้ที่ยังเข้าใจว่าปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิอยู่ ให้ไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาลดูบ้าง แม้ผู้จะมาสอนคนอื่น ก็ควรไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาลเช่นกัน เพื่อจะได้นำมาสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป
สมาธิ
คำสอนของพระพุทธเจ้ามีจำนวนมาก จึงยากที่จะศึกษาให้เกิดความเข้าใจได้ทั้งหมด หรือได้ศึกษามาแล้วก็ยากที่จะตีความให้ถูกในความหมายได้ คำว่า สมาธิ ก็ต้องตีความแยกเป็นสองสมาธิด้วยกัน มิใช่จะเหมาเอาว่าสมาธิจะต้องมีคำบริกรรมทุกครั้งไป ในยุคนี้สมัยนี้ผู้สอนและผู้ภาวนาจะเข้าใจว่าสมาธิคือความสงบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จริงแล้ว
สมาธิมี ๒ วิธี ๑.สมาธิความตั้งใจมั่น ๒. สมาธิความสงบ สมาธิความสงบนี้ก็แยกออกเป็นสองวิธีดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว
สมาธิความตั้งใจมั่นก็มีอุบายในการปฏิบัติ ๒ วิธีด้วยกัน
๑. ตั้งใจมั่นด้วยการนึกคำบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสติระลึกรู้อยู่ในคำบริกรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง เรียกว่า เอกัคตารมณ์คือ มีสติระลึกรู้อยู่ในอารมณ์ของคำบริกรรมเพียงอย่างเดียว ไม่มีความคิดในเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีความคิดในเรื่องอนาคตที่ยังไม่มาถึง มีจิตคำนึงระลึกรู้อยู่ในปัจจุบัน จะว่าเอกัคตาจิต คือ จิตรวมเป็นหนึ่งก็ลักษณะอย่างนี้ จึงเรียกว่า สมาธิความตั้งใจมั่น ความตั้งใจมั่นนี้ผู้ภาวนามีความชำนาญแล้ว จะเป็นอุบายเชื่อมโยงสมาธิอย่างอื่น
๒. จะเป็นอุบายเชื่อมโยงให้เกิดสมาธิความสงบได้ง่าย นั้นคือ อัปปนาสมาธิ คือ ความสงบที่แน่วแน่ ไมมีความหวั่นไหว ไม่มีความรู้สึกต่ออายตนะภายนอกมาสัมผัสแต่อย่างใด บางคนก็สงบอยู่นาน บางคนก็สงบอยู่ไม่นาน ถ้าจิตมีความสงบอยู่ในลักษณะนี้ อย่าบังคับให้จิตถอนออกจากความสงบอย่างเด็ดขาด ให้สงบต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกำหนดกาลเวลา ให้เป็นไปตามนิสัยของแต่ละคนเท่านั้น เมื่อเกิดความอิ่มตัวในสมาธิความสงบแล้ว จะถอนออกมาเอง ในช่วงขณะจิตได้ถอนออกจากสมาธิความสงบนี้เอง จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากทีเดียว ว่าผู้นั้นเคยฝึกสมาธิความตั้งใจมั่นไว้รองรับเอาจากสมาธิความสงบหรือไม่ ถ้าไม่มีก็น่าเสียดาย เหมือนกับน้ำฝนที่ตกจากชายคาหรือรางน้ำแล้ว ไม่มีโอ่งรองรับเอาน้ำเก็บไว้เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ จะปล่อยให้น้ำนั้นไหลบ่าหายไปหรือซึมหายไปตามพื้นดินนั้นเสีย นี้ฉันใด จิตเมื่อถอนออกจากสมาธิความสงบแล้ว ถ้าไม่มีสมาธิความตั้งใจมั่นมาเป็นตัวรองรับเอาไว้ สมาธิความสงบนั้นก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน เพียงได้รับความสุขใจไม่กี่นาทีกี่ชั่วโมง ความสงบในสมาธินั้นก็จะเสื่อมลงๆ เป็นจิตปกติธรรมดาไป เหมือนกับกินน้ำแข็งเพื่อระงับความร้อน จะได้รับความเย็นเพียงขณะ แล้วก็จะร้อนขึ้นมาตามเดิมฉันนั้น
ถ้าหากผู้นั้นมีความชำนาญในการทำสมาธิ ความตั้งใจมั่นดีแล้ว จะเป็นตัวรองรับของสมาธิความสงบได้เป็นอย่างดี จะทำให้สมาธิความสงบเสื่อมช้าลง ฉะนั้นจึงฝึกในสมาธิทั้งสองให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อกัน เมื่อสมาธิความสงบถอนออกมาอยู่ในขั้นสมาธิความตั้งใจมั่นได้แล้ว กำลังของสมาธิความตั้งใจมั่น ก็จะสื่อต่อกันกับปัญญาได้เป็นอย่างดี นี้ก็เป็นจุดสำคัญเป็นอย่างมากทีเดียว ถ้าหากผู้นั้นไม่เคยฝึกปัญญามาก่อน สมาธิความตั้งใจมั่นก็ทำอะไรไม่ได้ ก็หยุดกันเพียงเท่านั้น จึงเป็นทางตันก้าวต่อไปไม่ได้เลย จะทำสมาธิในลักษณะนี้ ก็จะมาหยุดกันเพียงเท่านี้ จึงเรียกว่าสมาธิวังวนเวียนไปมาอยู่ที่เดิมหาทางออกไม่ได้ เหมือนพายเรืออยู่ในสระวนไปมาอยู่ในที่แห่งเดียวนั้นเอง ผู้ภาวนาไม่ก้าวหน้าไปถึงไหนก็เป็นในลักษณะอย่างนี้นี่เอง
ฉะนั้นจงฝึกปัญญาไว้ให้ดี เพื่อจะเป็นตัวนำร่องพาสมาธิออกจากทางตัน หรือออกจากการเวียนวนของสมาธินี้ไปได้ มิใช่ว่าจะมาติดอยู่ในสมาธิเพียงอย่างเดียว นั้นคือผู้มีความฉลาดรอบรู้ในวิธีทำสมาธิด้วยสติปัญญา
คำสอนมี ๒ หมวด
ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์สอนให้เป็นไปตามบุญวาสนาบารมีของคน ถ้าบารมียังน้อย ไม่พอที่จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ พระองค์ก็สอนวิธีการเสริมสร้างบารมีให้มากขึ้น ถ้าผู้มีบารมีพอจะบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ในชาตินี้ พระองค์ก็สอนอุบายในการปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุธรรมในขั้นนั้นๆ ไป ดังจะได้อธิบายในขั้นตอนดังต่อไปนี้
คำสอนของพระพุทธเจ้า แบ่งออกเป็น ๒ หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน
๑. เป็นคำสอนที่ตามกระแสโลก เรียกว่ากามาวจรกุศล
๒. เป็นคำสอนที่ทวนกระแสโลก
คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสองวิธีนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างไร ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา
๑. ที่ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามกระแสโลกนั้น พระพุทธเจ้ามีพระญาณล่วงลึกสามารถรู้นิสัยบุญวาสนาและบารมีของมนุษย์ได้ทั้งหมด ว่าผู้นั้นมีบารมีพอจะได้เป็นพระอริยเจ้าได้หรือไม่ ถ้ารู้ว่าบุญยังน้อย บารมียังอ่อนอินทรีย์ยังไม่แก่ พระองค์ก็สอนในวิธีเสริมสร้างบารมีให้ท่านเหล่านั้นเอาไว้ การบำเพ็ญบุญบารมีอย่างไรเป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม เพื่อประโยชน์ตน เพื่อประโยชน์ท่าน พระองค์ก็สอนให้ท่านเหล่านั้นได้ประพฤติปฏิบัติต่อไป และพระองค์ก็สอนในวิธีที่จะนำไปสู่ความหายนะ นำไปสู่ความทุกข์เดือดร้อนในอบายภูมิต่างๆ ในภพชาติต่อไป พระองค์ก็สอนเอาไว้ ความประพฤติทางกาย วาจา ใจอย่างไรเป็นไปในทางบาปอกุศล พระองค์ก็สอนไว้ทั้งหมด พระองค์สอนด้วยความรัก สอนด้วยความสงสาร ไม่อยากให้กุลบุตรลูกหลานได้ไปตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก ไม่อยากให้ไปตกนรกน้อยใหญ่ ไม่อยากให้ไปเกิดในภพของเปรต ไม่อยากให้ไปเกิดในภพของสัตว์ดิรัจฉาน หรือจะมาเกิดเป็นภพชาติของมนุษย์ พระองค์ก็ไม่อยากให้เกิดเป็นมนุษย์วิบัติที่ขาดความสมบูรณ์ เช่น รูปร่างกลางตัวไม่สมประกอบดังที่ได้เห็นกันในที่ทั่วไป หรือรูปร่างสมประกอบอยู่ก็ตาม แต่ผลของกรรมที่ตามสนองอยู่ก็ได้รับผลกรรมต่อไป ดังเห็นได้ในทั่วทุกประเทศเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก นั้นคือกรรมได้ซัดทอดให้ได้ไปเกิดในที่เช่นนั้น เรียกว่ากรรมปิดบัง ในลักษณะนี้จะมีอยู่ทั่วทุกประเทศในโลกนี้ แต่จะมีมากน้อยต่างกันเท่านั้น ในภพชาติอย่างนี้พระองค์ก็มีความเมตตาสงสาร แต่ก็เหลือวิสัยเพราะเขาเหล่านั้นชอบทำตามใจตัวเองในทางชั่ว เขาก็จะได้รับผลชั่วต่อไป
พระพุทธเจ้าพยายามทุกอย่างเพื่อปกป้องไม่ให้คนทำความชั่ว แต่ก็ปกป้องได้เฉพาะผู้มีสติปัญญาที่ดี มีความละอายในการทำบาปอกุศล เป็นผู้ที่เชื่อผลของกรรมดีกรรมชั่วว่า ให้ผลกับผู้กระทำเท่านั้น และผู้นั้นก็จะเลือกทำแต่กรรมดีตลอดไป เช่น ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น กรรมดีนี้เองจะเป็นเกราะกำบังไม่ให้กรรมชั่วอย่างอื่นเกิดขึ้นได้ กรรมดีทั้งหมดที่เราได้บำเพ็ญไว้ดีแล้ว จะไปเกิดในภพไหนชาติใด จะไม่ตกต่ำในภพชาตินั้นๆ ในการเวียนว่ายเกิดตายในโลกนี้อยู่ บุญบารมีนี้จะดลบันดาลให้เราได้ไปเกิดในยุคพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในชาติหน้า เราก็จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ แล้วก็จะเกิดดวงตาเห็นธรรมรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม เราก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงเป็นการสิ้นสุดในภพชาติทั้งหลาย ไม่ได้เวียนว่ายเกิดตายในภพน้อยภพใหญ่อีกต่อไป นี้คือ
คำสอนของพระพุทธเจ้าในขั้นกามาวจรกุศล พระองค์สอนให้คนละในการทำชั่ว พูดชั่ว และสอนให้ละมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม และสอนให้บำเพ็ญบุญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ชาติชีวิตที่เรามีอยู่จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่าอ้างกาลเวลาในการสร้างบุญกุศล และอย่าอ้างกาลเวลาว่าเรายังมีวัยยังน้อยอยู่ เพราะความตายไม่เลือกวัยหนุ่มวัยแก่และวัยชรา ฉะนั้นต้องตั้งใจบำเพ็ญกุศลเสียนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
๒. อีกคำสอนหนึ่ง เมื่อพระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์มีพระญาณหยั่งรู้ในบุญบารมีของมวลมนุษย์ได้อย่างถูกต้อง ว่าท่านผู้นี้มีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในขั้นใดขั้นหนึ่ง พระองค์ก็จะแสดงธรรมโปรดให้ท่านเหล่านี้ได้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม อย่างน้อยจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าขั้นโสดาบัน เป็นพระอริยเจ้าขั้นสกิทาคามี เป็นพระอริยเจ้าขั้นอนาคามี หรือผู้ที่ได้สร้างบารมีมาอย่างสมบูรณ์แล้วก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานตามพระพุทธเจ้าไป เมื่อมาถึงในสมัยนี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แต่พระองค์ก็ได้วางแนวทางที่จะเข้ากระแสพระนิพพานไว้ให้แก่พวกเรา และเป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนทีเดียว เป็นแนวทางตรงที่สุด
ถ้าผู้ปฏิบัติมีความตั้งใจจริงและมีความเชื่อมั่นว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัติผ่านพ้นเข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว ไม่มีความกังขาลังเล ไม่มีความสงสัยลูบคลำ มีความมั่นใจอย่างเต็มที่ มีความเชื่อมั่นว่าตรงที่สุดและถูกต้องที่สุดแล้ว นั้นแลจึงจะทุ่มเทความพากเพียรลงไปได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งบารมีก็ให้การสนับสนุน มรรคผลนิพพานก็จะเปิดรับทันที นี้คือผู้มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการตัดสินใจ เป็นผู้ไม่มีภาระห่วงใยกับสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพราะท่านมีสติปัญญาเป็นอาวุธอยู่ในตัวจะไปกลัวอะไร ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางปิดบังสติปัญญาได้เลย สติปัญญาจะฟันฝ่าอุปสรรคให้แตกกระจายไป กิเลสตัณหาน้อยใหญ่จะมาใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกใจอย่างไรได้ ก็จะไม่หลงอีกต่อไป
ในยุคนี้สมัยนี้ผู้ที่ตีความให้เป็นไปตามแนวทางเดิมของพระพุทธเจ้านั้นอาจจะมีความแตกต่างกันไป ใครจะตีความถูกตามแนวทางเดิมของพระพุทธเจ้า หรือผู้ตีความที่แตกต่างกันไม่เป็นไปตามแนวทางเดิมของพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าตัวใครตัวมัน และการปฏิบัติก็เป็นตัวใครตัวมันเช่นกัน ใครตีความถูกก็ปฏิบัติถูกไป ใครตีความผิดก็ปฏิบัติผิดไป ใครๆ ก็มีความมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกันนั้นคือ ความพ้นทุกข์เหมือนกัน ใครจะทำได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ให้อยู่ในความพยายามของแต่ละบุคคลไป
แนวทางที่จะให้พ้นไปจากวัฏสงสารนี้มีเส้นเดียวเท่านั้น กระแสธรรมที่จะเกิดขึ้นกับพระอริยเจ้านั้นก็มีสายทางเดียวเช่นกัน ใครจับเส้นทางเดิมของพระพุทธเจ้าได้ ก็จะเป็นผู้เข้ากระแสธรรมแห่งมรรคผลนิพพานไป ฉะนั้นการตีความให้ถูกกับความหมายเดิมของพระพุทธเจ้านั้น ในยุคนี้สมัยนี้พูดกันไปคนละวิธีกัน เช่น คำว่าวิปัสสนา เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ตีความหมายกันไปคนละอย่างและปฏิบัติไปคนละวิธีกัน แม้แต่มรรค ๘ ที่เป็นหัวใจสำคัญในภาคปฏิบัติ ก็ตีความหมายไปต่างกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว และวางแนวทางไว้ตรงมรรคผลนิพพานที่สุดแล้ว เช่น
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี้เป็นหลักของปัญญาที่ตายตัว สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี้ก็เป็นหลักของหมวดศีลที่ชัดเจนทีเดียว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้ก็เป็นหลักของหมวดสมาธิ การปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามหลักเดิมของพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นไปในรูปแบบปัญญา ศีล สมาธินั้นเอง
ส่วนการศึกษาจะออกมาในรูปแบบศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่มีปัญหาอะไร เหมือนกับจับตัวอักษรหรือจับตัวอักขระที่ปรุไว้แล้ว จะจับชิ้นไหนมาก่อนมาหลังไม่สำคัญ ข้อสำคัญคือ การเรียงตัวอักษรและวางอักขระให้ถูกกับตำแหน่ง เพื่อจะอ่านในความหมายให้เข้าใจ ถ้าวางไม่ถูกตำแหน่งแล้วจะอ่านไม่ถูกกับความหมายได้เลย นี้ฉันใด การปฏิบัติในมรรค ๘ ถ้าไม่เริ่มต้นจากปัญญาความเห็นชอบเป็นพื้นฐานเอาไว้ จะมีปัญหาในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เมื่อมีปัญญาความเห็นชอบถูกต้องดีแล้ว ก็จะเกิดความเห็นชอบในหมวดศีล และจะเกิดความเห็นชอบในหมวดสมาธิต่อไป ฉะนั้นปัญญาความเห็นชอบที่พระพุทธเจ้าได้วางเป็นหลักเกณฑ์เอาไว้อย่างตายตัวแล้ว ก็ควรปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเดิม เพราะเป็นหลักประกันในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้าได้สอนในวิธีนี้แก่พุทธบริษัททั้งหลายมาแล้ว และได้บรรลุมรรคผลนิพพานไปมีจำนวนมาก ก็เพราะปฏิบัติเริ่มต้นจากปัญญาความเห็นชอบนั้นเอง
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายที่เป็นปัญญาชน ควรใช้ความคิดที่มีเหตุผลพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริง การปฏิบัติของเราก็เริ่มจะเข้าสู่กระแสธรรมใกล้ความจริงมากขึ้น ความจริงนี้มีสติปัญญาเท่านั้นจะพาให้จิตรู้เห็นได้ ส่วนอุบายธรรมหมวดอื่นๆ ก็เพียงเป็นอุบายเสริมให้สติปัญญามีกำลัง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมต้องฝึกใจให้มีความฉลาดรอบรู้ในหลักความเป็นจริงอยู่เสมอ อีกสักวันหนึ่งจะเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงด้วยสติปัญญาจากตัวเราเองอย่างแน่นอน
https://sites.google.com/site/watpalan54/1/11 Click to expand...