-
iamfu
ผู้ดูแลเว็บบอร์ด
ทีมงาน
ผู้ดูแลเว็บบอร์ด
สามีจิกรรม คือการทำสิ่งที่ดี ๆ ต่อผู้ใหญ่กว่า อาวุโสกว่า เป็นต้น เพราะการอยู่ร่วมกันของคนเรานั้น อย่างน้อย ๆ ก็มีการล่วงเกินกันด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เป็นปกติอยู่แล้ว เพราะว่าสติของเรายังไม่สมบูรณ์ ในเมื่อเป็นดังนั้น โอกาสที่จะเกิดโทษย่อมมี ถึงเวลาพวกเราก็ควรจะหาโอกาสที่เหมาะสมเพื่อขอขมา อย่างเช่นว่า วันปีใหม่ สงกรานต์ วันเกิด ไม่ว่าจะเป็นของผู้ใหญ่ ของแม่ ของพ่อ ของพระภิกษุที่เราเคารพนับถือ เป็นต้น
ในเรื่องของกรรมนั้น ทั้ง ๓ หมวด ๑๒ ประเภท มีอยู่ตัวหนึ่ง เขาเรียกว่า อโหสิกรรม ถ้าหากว่าทั้งโจทก์และจำเลยอยู่ต่อหน้ากัน เอ่ยปากยกโทษให้กัน กรรมอันนั้นจะหมดไปเลย ส่วนการอโหสิกรรมอีกแบบหนึ่ง คือการทำความดีจนถึงที่สุด อย่างเช่นว่าเป็นพระอรหันต์ กรรมทั้งหลายเหล่านั้นจะเลิกแล้วต่อกันไป เพราะตามท่านไม่ได้อยู่แล้ว ก็จะเหลือแต่เศษกรรมที่สนองท่านได้บ้างในขณะที่ยังทรงขันธ์ ๕ อยู่
โดยเฉพาะพวกเราทั้งหมด เป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ดังนั้น...ในเรื่องของโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกี่ยวกับการปรามาสพระรัตนตรัย จะเป็นตัวขวางไม่ให้เราเข้าถึงมรรคผล เนื่องจากกติกาความเป็นพระอริยเจ้า ข้อแรกก็คือ ต้องเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ เมื่อเป็นดังนั้น..พวกเราก็จะได้ปลดกำลังใจของเราออก เมื่อเราปลดกำลังใจของเราออกมา รู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งที่ดีงาม เป็นการตอบแทนสิ่งที่เราได้ทำผิดไปแล้ว ก็จะทำให้กำลังใจของเราคลายออกจากวาระกรรมอันนั้น สิ่งที่เคยทำเอาไว้ก็เท่ากับว่าหมดโทษกันไป คราวนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะทำใหม่เมื่อไร
ในวาระปีใหม่นี้ พวกเราก็ได้มาทำในส่วนของสามีจิกรรมด้วยกัน ถือว่าเราได้ทำในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ควร โดยเฉพาะในส่วนของอปจายนมัย การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เราให้ความเคารพนับถือ ถือว่าเราได้ทำตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้ เราเชื่อฟังพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าปฏิบัติในพุทธานุสติ ปฏิบัติตามคำสอนท่านก็ถือว่าทำในธัมมานุสติ ทำการขอขมาต่อตัวแทนพระภิกษุสงฆ์ ก็ถือว่าเราปฏิบัติในสังฆานุสติ ในเมื่อได้ทำบุญใหญ่ครบทั้งสามประการนี้ ก็ให้เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า การทำความดีครั้งนี้เรามีความปรารถนาในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วตั้งใจรับพรพร้อมกัน
อายุวัฑฒะโก ธะนะวัฑฒะโก สิริวัฑฒะโก ยะสะวัฑฒะโก พะละวัฑฒะโก วัณณะวัฑฒะโก สุขะวัฑฒะโก โหตุ สัพพะทา
ทุกขะโรคะภะยา เวรา โสกา สัตตุจุปัททะวา
อะเนกาอันตรายาปิ วินัสสันตุ จะ เตชสา
ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตถิ ภาคะยัง สุขัง พะลัง
สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฑฒี จะ ยะสะวา
สะตะวัสสา จะ อายู จะ ชีวะสิทธี ภะวันตุ เต
.....................................
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
www.watthakhanun.com