สามเณรกุมารกัสสปะ
อรหันต์น้อยชีวิตพิสดาร
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
สามเณรรูปต่อไปที่กล่าวถึงคือ สามเณรกุมารกัสสปะ เรื่องราวของท่านมหัศจรรย์พันลึกจริงๆ ครับ เป็นอย่างไร โปรดตามข้าพเจ้ามา
มีธิดาเศรษฐีเมืองราชคฤห์นางหนึ่ง มีอุปนิสัยในการบรรพชา อยากบวชมาตั้งแต่รู้ความ ขออนุญาตพ่อแม่ไปบวชในสำนักนางภิกษุณี ก็ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้ว พ่อแม่ก็ตกแต่งให้มีครอบครัวกับชายที่มีฐานะทัดเทียมกัน แต่งงานไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว ความคิดอยากจะบวชยังไม่เลือนหายไปจากส่วนลึกของจิตใจ นางจึงขออนุญาตสามีไปบวช สามีคงเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของนางกระมัง ในที่สุดได้อนุญาตตามที่ขอนางจึงไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี
บวชไม่นาน ครรภ์ก็โตขึ้นๆ จนปิดบังไม่อยู่ เมื่อความลับเปิดเผยว่า นางภิกษุณีตั้งท้อง ใครรู้เข้าก็ตำหนิติเตียน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชนไม่แพ้ข่าวสมีเขียว เพียงแต่ว่า เรื่องสมีเขียวเป็นเรื่องจริง แต่นางภิกษุณีรูปนี้มิได้ทำผิดตามที่เป็นข่าว
ว่ากันว่า สำนักภิกษุณีที่นางสังกัดอยู่ในความดูแลของพระเทวทัต ข่าวภิกษุณีมีท้องรู้ถึงหูพระเทวทัต ท่านก็ “ฟันธง” ทันทีว่า นางภิกษุณีต้อง “อันติมวัตถุ” คือต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว จึงสั่งให้สึกโดยไม่ต้องสอบสวนให้เปลืองสมอง
นางภิกษุณีผู้น่าสงสาร ก็อุทธรณ์ว่านางไม่มีความผิดตามกล่าวหา ขอความเป็นธรรมด้วย พระเทวทัตก็ไม่ยอม พูดว่า ก็ท้องเห็นๆ อยู่จะว่าไม่ผิดได้อย่างไร อยู่ๆ มันป่องขึ้นมาเองหรือ อย่างนี้แสดงว่านางมี “เพศสัมพันธ์” กับบุรุษทั้งผ้าเหลืองแน่นอน
นางบอกเหล่าภิกษุณีว่า นางมิได้บวชอุทิศพระเทวทัต นางบวชอุทิศพระศาสดา (หมายความว่าไม่ได้บวชเป็นศิษย์พระเทวทัต บวชเป็นสาวกของพระศาสดาต่างหาก) ขอให้พานางไปกราบทูลขอพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเถิด ภิกษุณีทั้งหลายจึงพานางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
พระองค์รับสั่งให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย สอบสวนอธิกรณ์นี้ พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของสตรี บุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภิกษุอย่างท่าน จะจัดการเรื่องนี้คงไม่ถนัด จึงไปขอร้องนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยสอบสวน
นางวิสาขาให้กั้นม่าน นำนางภิกษุณีเข้าไปตรวจสอบภายใน (ภายในม่านครับและอาจจะ “ภายใน” จริงๆ ด้วยเพื่อความแน่นอน) ตรวจดูมือเท้าท้องและสะดือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซักถามวันเวลาที่บวช วันเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันเวลาที่รู้สึกว่าประจำเดือนไม่มา คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า
นางตั้งครรภ์ก่อนออกบวชเป็นภิกษุณี
นางและคณะผู้สอบสวนจึงรายงานผลการสอบสวนให้พระอุบาลีทราบ พระเถระได้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์รับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสรับรองความบริสุทธิ์ของนางภิกษุณี เกือบโดนไล่สึกฟรี โดยพระเทวทัตผู้ไม่รอบคอบแล้วละครับ
นางอุ้มท้องอยู่สำนักนางภิกษุณีจนครบกำหนด ก็คลอดลูกชายน่าเกลียดน่าชังคนหนึ่ง เลี้ยงดูตามมีตามเกิด ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าภิกษุณีในสำนัก
เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินตรวจบริเวณวัด หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ตามปกติ ได้ยินเสียงทารกร้อง จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังกุฏิที่มีเสียงเด็กร้องลอดออกมา ด้วยความสงสัยในพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จเข้าไปก็ทอดพระเนตรเห็นนางภิกษุณีรูปหนึ่งกำลังให้นมทารกน้อยอยู่ จึงตรัสถาม ได้รับการถวายพระพรถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่าภิกษุณีมีความลำบากในการเลี้ยงลูก จึงตรัสขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชวัง นางก็ตัดใจมอบให้ไปเพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกน้อย เด็กน้อยได้รับขนานนามว่า “กุมารกัสสปะ” แปลว่า กัสสปะผู้ได้รับการเลี้ยงดูดุจพระราชกุมารอื่นๆ
กุมารกัสสปะเจริญเติบโตพอรู้เดียงสาได้ทราบว่าตนเป็นลูกไม่มีพ่อ เกิดสลดใจอยากบวช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกบวชในสำนักของภิกษุสงฆ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท บอกว่าเป็นเวลา 12 ปี
นับแต่ลูกน้อยจากไปภิกษุณีผู้เป็นแม่ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม มัวคิดถึงแต่ลูกน้อยผู้จากไป แสดงว่า กุมารกัสสปะคงบวชสามเณรเมื่ออายุประมาณสิบกว่าขวบ
วันหนึ่งขณะสามเณรกุมารกัสสปะไปบิณฑบาตในเมือง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาก็ไปบิณฑบาตเช่นเดียวกัน นางเห็นสามเณรน้อยจำได้ว่าเป็นลูกชายของตน (จำได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะจากไปตั้งแต่ยังเล็กๆ) จึงวิ่งเข้าไปหาปากก็ร้องเรียกว่า “โอ ลูกแม่ๆ” ล้มลงต่อหน้าบุตรชาย ถันหลั่งขีรธาราออกมาเปียกจีวรหมด (นี่ก็ “เว่อร์” อีก ตั้งสิบสองปีแล้ว น้ำนมยังไหลอยู่หรือ)
สามเณรน้อยอรหันต์คิดว่า ถ้าแม่เราได้ยินมธุรสวาจาจากเรา นางก็ยิ่งจะตัดความรักบุตรไม่ขาด เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมแน่นอน คิดแล้วก็กล่าวกับมารดาด้วยเสียงห้าวๆ ว่า
“มัวทำอะไรอยู่ จนป่านนี้แล้ว ยังตัดไม่ขาดกระทั่งความรักลูก”
คำพูดของสามเณรลูกชาย เป็นดุจสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงกลางกระหม่อม นางร้องไห้ด้วยความเสียใจล้มสลบลง ฟื้นขึ้นมาไม่รู้สามเณรน้อยบุตรชายไปที่ไหนเสียแล้ว
นางคร่ำครวญอย่างน่าสงสารว่า ดูหรือลูกเรา เราร้องไห้คร่ำครวญหาด้วยความรักความห่วงใยมาเป็นเวลาสิบสองปี พอพบหน้าจะพูดดีกับเราสักคำก็ไม่มี ช่างใจไม้ไส้ระกำอะไรปานนั้น
นางพยายามข่มใจ ตัดความรักในบุตรได้ เรียกว่าเมื่อลูกไม่ง้อแม่ก็ไม่ง้อเหมือนกัน ว่าอย่างนั้นเถิด ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรทางจิต ไม่นานก็สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูง คือเป็นพระอรหันต์
สามเณรกุมารกัสสปะเมื่ออายุครบบวชพระ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา ว่ากันว่าท่านได้บรรลุธรรม เพราะได้ฟังปัญหาพยากรณ์ (การตีปริศนาธรรม) 15 ข้อจากพระพุทธองค์ แล้วนำไปเพ่งพิจารณาในป่าอัมพวัน (ป่ามะม่วงแห่งหนึ่ง) จนกระทั่งกระจ่าง “สว่างวาบในใจ” บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในเรื่องต่างๆ 4 ประการ) ในคัมภีร์มิได้ระบุชัดว่า ท่านบรรลุก่อนบวชพระหรือขณะยังเป็นสามเณรอยู่
หลังจากอุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าพระกุมารกัสสปะมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการแสดงธรรมอย่างวิจิตร มีปฏิภาณปัญญาฉับไว โต้ตอบปัญหายากๆ ได้อย่างดี จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการแสดงธรรมอันวิจิตร
สมัยหนึ่งขณะท่านกุมารกัสสปะอยู่ที่ป่าอันธวันเมืองสาวัตถี เทวดาตนหนึ่งปรากฏตัวต่อหน้าท่านกล่าวปริศนาธรรม 15 ข้อแล้วก็หายวับไป
ท่านกุมารกัสสปะนึกอย่างไรก็ไม่ทราบคำตอบ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามปริศนาธรรม 15 ข้อนั้น และกราบทูลขอคำอธิบายจากพระพุทธองค์
ปริศนาธรรม 15 ข้อนั้นคือ
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์คนหนึ่งสั่งศิษย์ชื่อสุเมธ ให้เอาจอบมาขุดจอมปลวกนั้นสุเมธจึงขุดลงไป พบลิ่มสลักพราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบทางสองแพร่ง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบหม้อน้ำด่างพราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเต่าพราหมณ์ก็สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเขียงหั่นเนื้อพราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบพญานาคพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอันตรายมัน จงเคารพนอบน้อมมันอย่างดีที่สุด
พระพุทธเจ้าตรัสไขปริศนาให้ท่านกุมารกัสสปะฟัง ดังนี้
1. จอมปลวกนั้น หมายถึง ร่างกายของคนเรา อันประกอบขึ้นด้วย ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง
2. กลางคืนพ่นควัน หมายถึง คนเราเมื่อเวลากลางคืน มันจะคิดวางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ จนสมองเต็มไปด้วยโครงการต่างๆ เต็มไปหมด (มีโครงการซี่โครงไก่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น) นี่แหละเรียกว่ากลางคืนพ่นควันละ
3. กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึง พอเช้าขึ้นมาก็จะไปทำตามแผนการที่วางไว้ให้เป็นรูปร่าง เหนื่อยแทบสายใจจะขาด ดังคำพังเพยว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” จนแทบว่าร่างกายจะลุกเป็นไฟ (แค่โครงการซี่โครงไก่ยังต้องระเบิดอารมณ์ใส่ผู้สื่อข่าว จนแทบลุกเป็นไฟเลยครับ)
4. พราหมณ์ หมายถึง ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ในกรณีนี้เพ่งเอาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
5. สุเมธ ผู้เป็นศิษย์พราหมณ์ หมายถึง ผู้ยังต้องศึกษาปฏิบัติเพื่อมรรคผล คำว่า “สุเมธ” (แปลว่าผู้มีปัญญา) บอกเป็นนัยว่าผู้ศึกษาปฏิบัติต้องใช้ปัญญา
6. จอบ เครื่องมือสำหรับขุดดิน หมายถึง ปัญญา
7. การขุด หมายถึง วิริยารัมภะ (ความเพียรที่ต่อเนื่อง) ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งกลางคัน
8. ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความโง่เขลา ความไม่รู้ตามเป็นจริง) ขุดไปพบอวิชชาแล้วต้องรีบเอาทิ้ง คือเอาความโง่เขลาทิ้งไป หาไม่จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ
9. อึ่งอ่าง หมายถึง ความคับแค้นเพราะความโกรธ ในการปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามอย่าให้กิเลสฝ่ายโทสะเข้ามาครอบงำ
10. ทางสองแพร่ง หมายถึง วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ความสงสัยไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติเพื่อมรรคผลอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นมิให้บรรลุธรรม) 5 ประการ ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจนแทบไม่ต้องขยายความ
11. หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ทั้ง 5 ประการ อันมี ความพอใจในกาม เป็นต้น นิวรณ์ 5 เป็นเครื่องย้อมใจให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ต่างกับหม้อน้ำด่างที่ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ พูดให้ชัดก็คือนักปฏิบัติธรรมไม่พึงให้กิเลสทั้งหลายมันย้อมใจจนสูญเสียปกติภาพ
12. เต่า หมายถึง ความยึดมั่นในขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู (ตัวมึง ของมึงด้วยแหละ) ไม่ว่าทำอะไร ถ้าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเกินเหตุก็ยากจะได้ผล ยิ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลขั้นสูง ยิ่งต้องปล่อยวางความยึดติดในตัวเราของเราให้ได้
ทำไมเปรียบการยึดมั่นในขันธ์ 5 ดุจเต่าก็ไม่ทราบสิครับ อาจเป็นด้วยว่าเต่ามันเป็นสัตว์เชื่องช้า ความยึดติดในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้บรรลุผลช้าก็เป็นได้ หรือเต่านั้นกระดองหนามาก ความยึดมั่นถือมั่น “หนา” ไม่แพ้กระดองเต่า ยากที่จะทำลายได้ หรือเต่านั้นมีนิสัยชอบหดหัวเข้ากระดอง เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ การปฏิบัติธรรมถ้ามัวแต่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร
13. เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง กามคุณ (ชนิดของกาม 5) คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้อนี้อธิบายง่าย ปุถุชนเราร้อยทั้งร้อยก็ตกอยู่ในอำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้แหละท่านเปรียบเหมือนสัตว์ถูกจูงจมูก แล้วแต่มันจะจูงไปไหนเอาง่ายๆ บางคนเป็นทาสลิ้นติดใจในรสอร่อยเสือกสนไปหามาปรนเปรอลิ้น ไกลแค่ไหนก็ไป บางทีขับรถไปเป็นระยะทางเป็นร้อยๆ กิโลเมตรเพียงเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยวชามสองชามที่เขาว่ามันอร่อยนัก (เขาไหน ก็พวกนี้ไง ว่าแล้วก็ชี้มือไปที่ผู้ชวนชิมทั้งหลาย ชื่อถนัดศอ เป็นต้น ฮิฮิ)
เวลาคนเราถูกครอบงำด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันไม่ต่างกับกำลังถูกเขา “ยกขึ้นเขียงเชือด” ยังไงยังงั้น ถูกเชือดบ่อยๆ แล้วมันจะเหลืออะไร
14. ชิ้นเนื้อ หมายถึง นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดี) ตัวความกำหนัดนี่แหละเป็นประดุจชิ้นเนื้อที่เอร็ดอร่อยนักสำหรับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ใครมัวแต่เพลินกินชิ้นเนื้อก็ถูกเนื้อเป็นพิษเล่นงานเอา เสียผู้เสียคนไปนักต่อนักแล้ว
แทรกตรงนี้หน่อย (เดี๋ยวจะไม่มีโอกาสแทรก) เมื่อวานนี้เองผู้สื่อข่าวทีวีประเทศญี่ปุ่นมาสัมภาษณ์กรณียันดะที่อื้อฉาวเมื่อไม่นานนี้ว่า ทำไมพระภิกษุที่ได้รับความเคารพนับถือมากขนาดนี้ จึงเสื่อมเสียได้ เป็นความบกพร่องของใคร ผมตอบว่า อย่าไปโทษคนอื่นเลย ต้องโทษที่ตัวพระ พระไม่ระมัดระวังเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ว่าใครในที่สุดก็เสียพระดังที่เห็นๆ กัน เล่นชอบฉันแต่เนื้อบนเขียง ไม่ฉิบหายไหวหรือครับ
15. พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อขุดมาพบพญานาคนับว่าได้มาพบ “สิ่งประเสริฐที่สุด” แล้ว ไม่ควรเอาทิ้ง ตรงข้าม ควรให้ความเคารพบูชา ข้อนี้อธิบายได้ว่า
ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติให้หมดตามลำดับ ตั้งแต่ความเขลาไม่รู้จริง ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความคับแค้น ความยึดมั่นถือมั่น ความติดในรูป รส กลิ่น เสียง เอาออกให้หมด
เมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องละอะไรอีก เพราะได้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว
พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธองค์ทรงไขปริศนาธรรม 15 ข้อ ก็หมดความสงสัย
อ้อ เทวดาที่มาถามปริศนาธรรม จะตีความตามตัวอักษรก็ไม่มีใครว่า ผมว่าคงหมายถึงความนึกคิดของท่านเองมากกว่า ว่างๆ ก็นึกปริศนาขึ้นมาแล้วเมื่อแก้ไม่ได้หรือไม่กระจ่างจึงต้องไปกราบทูลพระพุทธองค์ คงเพราะนิสัยชอบขบคิดด้วยปัญญาเช่นนี้แหละ ท่านกุมารกัสสปะจึงกลายเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลมในเวลาต่อมา
ในพระไตรปิฎกมีปายาสิรัญญสูตร บันทึกการโต้วาทะครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่างราชันย์ปายาสิ ผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กับพระกุมารกัสสปะ ในที่สุดแห่งการถกเถียงอภิปราย ราชันย์ปายาสิยอมเชื่อและละทิฐิของตน
ปายาสิท่านนี้ พระบาลีเรียกว่า “ราชญญะ” (ราชันย์) เจ้าผู้ครองนครเล็กๆ นามว่าเสตัพยะในแคว้นโกศล ปายาสิเป็นนักคิดนักวิจัยก็ว่าได้ เพราะทฤษฎีของเธอที่ว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากความสงสัย ในเบื้องต้นแล้ว “ทดลอง” เพื่อพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์ตามแนวทางของตนแล้วจึงประกาศออกมาสู่สาธารณะ ไม่ประกาศเปล่า ท้าทายด้วยว่าใครแน่จริงให้มาโต้กับตน
ประดาพระอรหันต์ที่ไม่มีอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) ไม่มีปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน) ก็หลบๆ ไป ไม่อยากตอแยกับท้าวเธอ ยิ่งทำให้ท้าวเธอได้ใจว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเท่าข้าฯ (นักวิชาการแสนรู้ทั้งหลายมักจะคิดเช่นนี้แหละครับ)
ร้อนถึงท่านกุมารกัสสปะ อดีตสามเณรน้อยลูกกำพร้าได้เดินทางไปสนทนากับราชันย์ปายาสิ
ปายาสิประกาศว่า โลกหน้าไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี พระมหากัสสปะถามว่า ทำไมคิดเช่นนั้น ปายาสิตอบว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยสั่งคนทำชั่ว (ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพูดว่าจะต้องไปตกนรกแน่ๆ) ให้กลับมาบอกหลังจากไปตกนรกแล้ว สั่งไปหลายคนแล้ว แต่ละคนก็รับปาก แต่จนบัดนี้ไม่มีใครกลับมาบอกเลย
พระมหากัสสปะอธิบายว่า นักโทษประหารที่เขานำไปสู่ตะแลงแกง แกจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวแกเพื่อไปสั่งเสียลูกเมียสักระยะหนึ่ง ย่อมไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับสัตว์นรก ย่อมไม่มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ ถึงเขาไม่ลืมสัญญาของท่าน เขาก็มาบอกท่านไม่ได้
ปายาสิแย้งว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้นพระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้คนดีมีศีลธรรม (ที่สมณพราหมณ์ยืนยันว่าตายไปจะต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่) ให้กลับมาบอกเช่นเดียวกัน พวกนี้ไปแล้วก็เงียบหาย พวกเทวดาไม่ได้ถูกทำโทษทรมาน แล้วทำไมเขาไม่มาบอกเล่า อย่างนี้ชี้ให้เห็นชัดๆ แล้วว่าสวรรค์ก็ไม่มีจริง
พระกุมารกัสสปะอธิบายว่า มีเหตุผลสองประการที่เทวดาไม่มาบอกท่าน ประการแรก คือ ระยะเวลาห่างกันมาก ร้อยปีในเมืองมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งคืนหนึ่งของสวรรค์ ถึงแม้ผู้ที่รับปากท่านไม่ลืม กะว่าพรุ่งนี้จะกลับมาบอกท่าน ถึงเวลานั้นท่านก็ตายไปนานแล้ว
อีกประการหนึ่ง โลกมนุษย์นั้นมันสกปรกเหม็นร้ายกาจ ไม่เป็นที่ปรารถนาของเทวดา เมื่อคนตายจากโลกมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว ก็ไม่อยากกลับมาอีก ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น มีคนช่วยยกขึ้นจากหลุมอาบน้ำชำระให้สะอาดแล้วลูบไล้ด้วยของหอมเขาจะยินดีกระโจนลงไปหลุมคูถอีกหรือ ไม่แน่นอน ท่านปายาสิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ
ปายาสิกล่าวว่า คำตอบของท่านพอฟังได้โดยอุปมา แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่ออยู่ดี เพราะถ้านรกสวรรค์มีจริงข้าพเจ้าก็น่าจะสัมผัสได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย
พระกุมารกัสสปะตอบว่า คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดไม่เคยเห็นสีแสงเลย ไม่เคยเห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เขากล่าวว่า ข้าฯ ไม่เชื่อว่ามีสีต่างๆ ไม่เชื่อว่ามีพระจันทร์ พระอาทิตย์ เพราะข้าฯ ไม่เห็น คำพูดนี้ฟังขึ้นไหม ไม่ขึ้นแน่นอน เพราะคนตาดีเขามองเห็นและรู้ว่าสีต่างๆ มีจริง พระจันทร์ พระอาทิตย์มีจริง
ปายาสิอ้างผลวิจัยเก่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยนำนักโทษประหารมาใส่หม้อใหญ่ทั้งเป็น เอาหนัง เอาดินเหนียวพอก ปิดให้มิดชิดแล้วยกขึ้นตั้งบนไฟ คอยเฝ้าดูว่าคนตายแล้วชีวะ (วิญญาณ) เขาจะออกจากร่างไปไหน ก็ไม่เห็น ครั้นกะเทาะดินออกดู ก็ไม่เห็นชีวะเขาแต่อย่างใด แสดงว่าตายแล้วสูญ
พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า คนนอนหลับฝันว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ คนที่อยู่ใกล้ๆ เห็นชีวะเขาหรือไม่ ขนาดชีวะของคนเป็นๆ ยังไม่มีใครเห็นเลย ชีวะของคนตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร
ปายาสิกล่าวว่า คำอุปมาของท่านก็เข้าที แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่ออยู่ดี ข้าพเจ้าเคยวิจัยอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จับนักโทษประหารมาชั่งน้ำหนักแล้วเอาเชือกรัดคอเขาจนตาย แล้วยกขึ้นชั่งน้ำหนักดูอีกที ศพกลับหนักกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่อีก ที่ว่าตายแล้วชีวะออกจากร่างก็ไม่จริง เมื่อมันออกจากร่าง ร่างกายต้องเบากว่าสิ แต่นี่กลับหนักกว่าเสียอีก
พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า เหล็กที่เผาไฟจนร้อนนั้นย่อมเบากว่าเหล็กที่เย็นฉันใด มนุษย์ก็ฉันนั้น เมื่อยังมีไออุ่น ยังมีจิตวิญญาณอยู่ร่างกายย่อมเบากว่าเมื่อตายแล้ว ไม่เกี่ยวกับความเชื่อว่าวิญญาณออกจากร่างหรือไม่ออกจากร่างแต่อย่างใด (ความเชื่อแบบนั้นมิใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา)
ปายาสิกล่าวอีกว่า ข้าพเจ้ามิได้ทดลองเพียงนั้น ยังทดลองวิธีอื่นอีก คือจับนักโทษประหารมาฆ่าโดยมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ของเขาช้ำ เมื่อเขาจวนจะตายก็ให้นอนหงาย นอนตะแคง คว่ำหน้า ฯลฯ เพื่อเฝ้าดูว่าชีวะของเขาจะออกมาทางไหน ก็ไม่เห็นเลย
พระกุมารกัสสปะตอบว่า ชาวบ้านมุงดูชายคนหนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านถามว่า เสียงอันไพเราะนี้มาจากไหน คนเป่าสังข์บอกว่าออกมาจากสังข์นี้ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาหงายบอกให้เปล่งเสียง สังข์เงียบ จับมันคว่ำแล้วบอกให้มันเปล่งเสียงสังข์ก็เงียบอีก จับตะแคง เอาไม้เคาะ เอามือทุบ สั่งให้มันเปล่งเสียง มันก็เงียบเหมือนเดิม คนเป่าสังข์จึงยกสังข์ขึ้นเป่าให้ดู เสียงอันไพเราะก็เปล่งออกมา ชาวบ้านก็จ้องดูว่าเสียงมันออกมาทางไหน ก็ไม่เห็น ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้ว่าวิธีจะให้เสียงเปล่งออกจากสังข์ทำอย่างไร และโง่จนไม่รู้ว่าเสียงสังข์นั้นมันมิใช่สิ่งที่มองเห็นได้ ไม่ต่างอะไรกับบางคนที่ต้องการพิสูจน์วิญญาณออกจากร่างกายอย่างไร ทำไมจึงมองไม่เห็น
ตรงนี้พระเถระกำลังจะบอกว่า การพิสูจน์ทดลองเรื่องการตายโดยวิธีนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตั้งแต่สมมติฐานที่ตั้งไว้แต่แรกแล้วว่าคนตายไปชีวะ (วิญญาณ) จะต้องออกจากร่าง เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ว่าวิญญาณมันออกจากร่างได้อย่างไรก็เลยไม่เชื่อเรื่องการตาย การเกิด
ปายาสิก็ยังไม่ลดละ เสนอผลงานวิจัยของตนต่อไปว่า ข้าพเจ้าเคยสั่งให้เชือดผิวหนัง เชือดเนื้อ ตัดเอ็น กระดูก ของนักโทษประหาร เพื่อจะหาว่าชีวะมันอยู่ที่ไหน ก็ไม่พบ เอามาสับละเอียดก็ไม่พอ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าชีวะหรือวิญญาณไม่มีจริง
พระกุมารกัสสปะเตือนสติอีกครั้ง โดยยกอุปมาอุปไมยว่า ชฏิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งสั่งศิษย์อายุประมาณ 10-11 ขวบ ให้ดูแลกองไฟให้ดี ถ้ามันดับให้ก่อไฟใหม่ ศิษย์มัวเล่นเพลินไฟดับ กลัวอาจารย์ดุ จึงเอาไม้สีไฟมาสีกัน (เพราะเคยเห็นอาจารย์ทำประจำ) ก็ไม่เกิดไฟ จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ก็ไม่มีไฟออกมา จึงสับเป็นชิ้นๆ ก็ไม่เห็นไฟออกมา เสร็จแล้วเอาโขลกในครกจนละเอียด โปรยละอองให้ลมพัด ก็ไม่เห็นไฟออกมา จึงไม่สามารถก่อไฟได้
“เด็กโง่คนนี้ไม่รู้จักวิธีหาไฟ จึงไม่สามารถก่อกองไฟได้ เช่นเดียวกับท่านไม่รู้จักวิธีแสวงหาปรโลก (โลกหน้า) ก็ย่อมไม่พบความจริงฉันนั้น” พระกุมารกัสสปะเตือนสติปายาสิว่า เรื่องการตายเกิด เรื่องจิตวิญญาณไม่สามารถค้นหาโดยวิธีนั้นได้ เมื่อใช้ “เครื่องมือ” ไม่ถูกกับเรื่องก็ย่อมไม่ได้ความรู้ หรือความจริงที่ถูกต้อง
ปายาสิเมื่อไม่สามารถจะหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ จึงกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้าก็พูดว่าน่าฟัง แต่ข้าพเจ้ายังไม่สละความคิดเห็นเดิมอยู่ดี”
พระเถระถามว่า “ทำไมท่านยังยึดมั่นในความเห็นเดิมที่ตัวท่านเองก็เห็นว่ามันไม่ถูกต้องแล้ว”
ปายาสิตอบว่า “จะให้สละได้อย่างไรในเมื่อใครๆ ก็รับรู้แล้วว่า ข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้มาแต่ต้น พระเจ้าปเสนนิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐก็ดี กษัตริย์แว่นแคว้นอื่นๆ ก็ดี ต่างก็รับรู้ว่า ข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้”
พูดให้ชัดก็ว่าอายเขา ว่าอย่างนั้นเถอะ นักวิชาการผู้มากความรู้ก็อย่างนี้แหละครับ ทั้งๆ ที่รู้ภายหลังว่าตนเห็นผิด ก็ไม่ยอมรับว่าผิด ดึงดันไปทั้งที่ผิดๆ อย่างนั้นแหละ
พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า เมื่อรู้ว่าทรรศนะเดิมไม่ถูกต้องก็จงสละเสียเถิด อย่าดึงดันเลย เพราะไม่เป็นผลดีแก่ตัวท่าน ว่าแล้วท่านก็ยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ 4 เรื่อง ขอยกมาเพียงสองเรื่องคือ
1. คนเลี้ยงหมูไปหมู่บ้านอื่น เห็นขี้หมูนึกว่านี่แหละอาหารหมู จึงเอาผ้าห่อเทินศีรษะเดินกลับบ้าน บังเอิญฝนตกน้ำขี้หมูไหลลงมาเปรอะตามตัว คนเห็นเขาก็หัวเราะเยาะชี้ให้กันดูชายโง่ที่ไหนแบกขี้หมูตากฝน เขาเถียงว่าไม่ใช้ขี้หมูเว้ย นี้คืออาหารหมู พวกท่านสิโง่ไม่รู้จักอาหารหมู
2. ชายสองคนเดินทางไปด้วยกันพบสิ่งต่างๆ ระหว่างทางมากมาย เช่น เชือกป่าน ด้าย ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ชายคนแรกถือเอาเชือกป่านแล้วก็ไม่ยอมทิ้ง เมื่อพบสิ่งอื่นดีกว่าก็ไม่ยอมเอา เพราะคิดว่าเชือกป่านนี้ถือติดตัวมาไกลจะทิ้งก็เสียดาย แต่ชายอีกคนเมื่อพบของดีกว่าก็ทิ้งของเก่า เอาของใหม่ จนในที่สุดเขานำทองติดตัวกลับบ้านมากมาย
เมื่อชายทั้งสองกลับถึงบ้าน บุตรและภรรยาของชายคนแรกต่างก็ว่าเขาโง่ ส่วนชายที่ได้ทองไปมากเป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา
“เมื่อรู้ว่าอะไรดีกว่า ถูกต้องกว่า ก็น่าจะยึดถือปฏิบัติ สละทิ้งสิ่งที่ผิดๆ เสีย” พระเถระกล่าวสรุป
ปายาสิยอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศสละความเห็นผิดของตน นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เริ่มให้ทานรักษาศีลแต่บัดนั้นจนสิ้นชีวิต
เรื่องราวของสามเณรกุมารกัสสปะก็จบลงเพียงเท่านี้ แหะๆ เขียนเพลินจนเกือบจบไม่ลง
ที่มา ::
สามเณรกุมารกัสสปะ อรหันต์น้อยชีวิตพิสดาร (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 8 ตุลาคม 2012.