สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายควรทำไว้ในใจให้มั่นคง

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย ธัมมะสามี, 4 พฤษภาคม 2013.

  1. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... พระราชาสองพี่น้องพระนามสัมพละและสุมิตตะ ทรงครองราชย์ ณ อมรนคร ซึ่งงามน่าดูดั่งนครแห่งเทพ

    ... ลำดับนั้น พระสิทธัตถะศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของคู่อัครสาวกซ้ายขวาของพระราชาสองพระองค์นั้น จึงเสด็จไปทางนภากาศ ลงท่ามกลางอมรนคร ทรงแสดงเจดีย์คือรอยพระพุทธบาท เหมือนเหยียบพื้นแผ่นดินด้วยพระยุคลบาทซึ่งมีฝ่าพระบาทประดับด้วยจักร แล้วเสด็จไปยังอมรราชอุทยาน ประทับนั่งเหนือพื้นศิลาที่เย็นด้วยพระกรุณาของพระองค์ อันน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง

    ... แต่นั้น พี่น้องสองพระราชาเห็นพระเจดีย์คือรอยพระบาท ก็เสด็จไปตามรอยพระบาท เข้าเฝ้าพระสิทธัตถะศาสดาผู้บรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง ถวายบังคมแล้วประทับนั่งล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า

    ... พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันเหมาะแก่พระอัธยาศัยโปรดพระราชาสองพี่น้องนั้น สองพระองค์ทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว เกิดพระศรัทธา ทรงผนวชแล้วบรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด

    ... พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางพระขีณาสพร้อยโกฏินั้น นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑.




    ..... ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางบรรพชิตเก้าสิบโกฏิ ในสมาคมพระญาติ กรุงเวภาระ นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒



    ..... ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางบรรพชิตแปดสิบโกฏิ ที่ประชุมกัน ณ พระสุทัสสนะมหาวิหาร นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓



    ..... สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพราหมณ์ชื่อว่ามงคลพราหมณ์ กรุงสุระเสน จบไตรเพทและเวทางคศาสตร์ บริจาคกองทรัพย์นับได้หลายโกฏิ เป็นผู้ยินดีในวิเวก บวชเป็นดาบส ยังฌานและอภิญญาให้เกิดอยู่ ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ อุบัติขึ้นแล้วในโลก จึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วฟังธรรมกถาของพระองค์ แล้วเข้าไปยังต้นชมพูอันเป็นเครื่องหมายของชมพูทวีปนี้ด้วยฤทธิ์ นำผลหว้ามาแล้วอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสิทธัตถะผู้มีภิกษุบริวารเก้าสิบโกฏิ ให้ประทับในสุระเสนมหาวิหาร เลี้ยงดูด้วยผลลูกหว้าให้ทรงอิ่มหนำสำราญ

    ... ลำดับนั้น สมเด็จพระสิทธัตถะบรมศาสดาเสวยผลลูกหว้านั้นแล้วทรงพยากรณ์ว่า

    ... " มงคลดาบสนี้ นานไปในอนาคตกำหนดได้ ๙๔ กัปแต่กาลนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสมณะโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในภัททกัปหนึ่งดังปรากฎจักมีในอนาคตภายภาคหน้า "

    ... ครั้นได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ มงคลมหาดาบสผู้บรมพงษ์โพธิสัตว์หน่อพุทธางกูร ก็มีจิตโสมนัสยินดีเป็นที่สุด หวังจักได้พระพุทธภูมิอันประเสริฐ จึงเกิดวิริยะอุตสาหะอบรมบ่มพระบารมีเพื่อบรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ จึงอธิษฐานข้อวัตรในทาน ศีล และภาวนายิ่งยวดขึ้นไป เพื่อบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ ให้บริบูรณ์




    ..... สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสิทธัตถะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อ เวภาระ พระชนกพระนามว่า พระเจ้าอุเทน (พระนามว่าพระเจ้าชัยเสนบ้างก็มี) พระชนนีพระนามว่า พระนางสุผัสสา คู่พระอัครสาวกชื่อว่า พระสัมพละมหาเถระ และ พระสุมิตตะมหาเถระ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระเรวตะมหาเถระ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่า พระแม่เจ้าสีวลามหาเถรี และ พระแม่เจ้าสุรามามหาเถรี พระศรีมหาโพธิพฤกษ์ชื่อว่า กณิการะ (ต้นกรรณิการ์) พระสรีระสูง ๖๐ ศอก พระชนมายุแสนปี พระอัครมเหสีพระนามว่า พระนางโสมนัสสา พระโอรสพระนามว่า อนุปมะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือพระวอทอง

    ... สมเด็จพระพุทธเจ้าสิทธัตถะผู้เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของโลกกับทั้งเทวโลกพระองค์นั้น สูงขึ้นสู่ฟ้า ๖๐ ศอก เสมือนรูปปฏิมาทอง จึงรุ่งโรจน์ในหมื่นโลกธาตุ

    ... พระพุทธเจ้า ผู้เสมอด้วยพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีผู้เสมอ อันใครชั่งไม่ได้ เปรียบไม่ได้ ผู้มีจักษุพระองค์นั้น ทรงดำรงอยู่ในโลกแสนปี พระองค์ทั้งพระสาวกทรงแสดงพระรัศมีอันไพบูลย์ ยังสาวกทั้งหลายให้บานแล้ว ให้งดงามแล้วด้วยสมาบัติ อันประเสริฐแล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน




    ..... องค์สมเด็จพระสิทธัตถะสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีประเสริฐ เสด็จล่วงลับดับขันธปรินิพพาน ณ วัดอโนมารามมหาวิหาร พระเจดีย์อันประเสริฐบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ สูง ๔ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดอโนมารามมหาวิหาร ฉะนี้แล ฯ.
     
  2. ◎สุริunร์

    ◎สุริunร์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มกราคม 2013
    โพสต์:
    991
    ค่าพลัง:
    +2,200
    วิชชา8 - จรณะ15

    วิชชาจรณสัมปันโน เพื่อนๆคงคุ้นเคยคำนี้กันอยู่บ้างนะคะ
    ซึ่งก็เป็นคำหนึ่งในบทสวดที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ซึ่งเป็นพุทธคุณ ที่มีอานุภาพยิ่งค่ะ
    มาจากคำ 2 คำ คือ วิชชาและจรณะ

    วิชชา การที่พระพุทธองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา 8 ประการนี้ จึงทำให้พระองค์สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป และยังสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เห็นจนสามารถกำจัดกิเลสไปได้หมด เหมือนอย่างกับพระองค์ วิชชา จึงเป็นความรู้ที่สามารถจะกำจัดความมืด คือ อวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร วิชชามี 8 ประการได้แก่

    1. วิปัสสนาญาณ ความเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ 5 ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ซึ่งการเห็นแจ้งนั้น ไม่ใช่จะมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่พระพุทธองค์ทรงรู้เห็นได้ด้วยตาธรรม

    2.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือ จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามที่นึกได้.

    3.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคนได้

    4.ทิพยโสต มีหูทิพย์ มีญาณพิเศษที่จะฟังอะไรก็ได้ยินตามที่ปรารถนา

    5.เจโตปริยญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น

    6.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหน เกิดเป็นอะไร

    7.ทิพยจักษุ คือ ตาทิพย์ พระองค์ทรงสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลอย่างไร และระลึกชาติหนหลังของสัตว์อื่นได้.

    8. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ ทรงขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ไม่มีเหลือในขันธสันดานของพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว ดังที่ได้ตรัสกับสคารวมาณพว่า เมื่อจิตเราเป็น สมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นไม่มี


    จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงาม มี 15 ประการ ได้แก่รักษาศิล ในการปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ถึงจิตแท้ ให้หลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่มีโลภ โกรธ หลง เข้ามาผูกพันธ์อยู่ในจิต การปฏิบัติตนให้อยู่ในศิล ให้ได้ละเอียดขึ้นไปตามระดับ โดยสังวรณ์อยู่ในจรณะ 15 ดังนี้

    1. สังวรศิล ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ประพฤติให้เข้าใจสิ่งดีชั่ว ในบาปบุญ คุณ โทษ ให้บริสุทธิ์ด้วยศิล ให้รู้ว่ามีศิลปกติอยู่ในตน รู้ทัน หลุดพ้นจาก ความโกรธ โลภ หลง ทังหลายทั้งปวง

    2. สำรวมอินทรีย์ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังตนให้รู้ทั่วพร้อมทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน ที่จะเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากการกระทำนั้นๆ

    3. โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักประมาณตน รู้ตนให้พร้อม พอเหมาะ พอควรที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะมีจะเกิดขึ้น ในอาหาร การกิน การใช้จ่าย

    4. ชาคิยานุโยคะ ความเชื่อมั่น การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ พิจารณาควบคุมรู้อยู่ในการกระทำที่พึงประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในการสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตาทั้ง 3 ข้อให้ถูกต้องตรงจริง

    5. ศรัทธา เชื่อมันในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติตน รู้ตน เชื่อมั่นในตนว่าปฏิบัติอยู่ในทางที่ถูกต้องดีงามเป็นมัมมาแล้วจริง มีผลเกิดแล้ว เห็นผลแล้ว พากเพียรตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลยิ่งขึ้น

    6. หิริ ความละอายต่อบาปมีความละอายแก่ใจตนเองเมื่อรู้ว่าตนได้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ ในทางใดทางหนึ่งก็ดี ที่ไม่ถูกไม่ควรแล้ว รู้สึกผิดละอาจตนเอง และจะไม่ทำสิ่งที่ผิดนี้ให้เกิดขึ้นอีกเลย

    7. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่ดีไม่งาม ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ระวังควบคุมตนไม่ให้เกิดอีก

    8. พหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้สดับมาก ( พหูสูต ) เห็นอยู่รู้อยู่ เข้าใจอยู่ ในผลของการปฏิบัติ ที่ถูกตรงบริสุทธิ์แท้ พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจทำจริง ให้ยิ่งๆ ขึ้นอีก

    9. วิริยะ พากเพียร ประพฤติปฏิบัติ กระทำตนให้ดีให้ได้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

    10. สติความระลึกได้ ควบคุมให้รู้ตัวทั่วพร้อม พิจารณารู้อยู่ เป็นอยู่ในการกระทำทวารทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน

    11. ปัญญา รู้แจ้งชัดในทุกสิ่งที่เกิด ที่มี ที่ถูก ที่ควร ได้ยิ่งๆ ขึ้น ปล่อยจิต วางจิต ทำจิตให้สงบ เกิดญานทั้ง 4 ในตนแล้ว

    12. ปฐมฌาน เข้าสู่ความสงบระงับ จิตสงบ พ้นนิวรณ์ 5 ใจปลอดโปร่งติดอยู่ในอารมณ์เดียว (วิตก) มีวิจาร อ่านอยู่ในอารมณ์นั้น จิตเบิกบานเป็นหนึ่งเป็นอิสระ

    13. ทุติยฌาน ระงับวิตกวิจาร มีปิติสุข จิตคิดอ่านอะไร วางวิตก วิจาร จิตเบิกบาน เสวยปิติสุขอยุ่

    14. ตติยฌาน ระงับบปิติ หมดความรู้สึกปิติ มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมตนเอง รู้ตนเองชัด ขณะจิตสงบเสวยสุขอยู่

    15. จตุตฌาน ระดับสุขเป็นอุเบกขา เฉยวางสุข จิตผ่องใส สงบบริสุทธิ์ เป็นเอกถตาจิต จิตเป็นหนึ่ง ที่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 ถูกต้อง


    พระพุทธองค์ทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมามากมายหลายภพหลายชาติ จึงทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจรณะทั้ง 15 ประการ เป็นพื้นฐานที่ทำให้พระองค์มีความหนักแน่น มั่นคงอย่างต่อเนื่องในการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้

    เพราะฉะนั้น คำว่า วิชชาจรณสัมปันโน จึงหมายความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมาหลายภพหลายชาติ จึงทำให้พระองค์มีวิชชาที่รู้ในสิ่งที่สามารถกำจัดความมืด คือ อวิชชา และบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยพระองค์เอง

    http://magicdogma.blogspot.com/2010/12/8-15.html]
     
  3. พุฒิฬส

    พุฒิฬส Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    11
    ค่าพลัง:
    +51
    อุเม.(ไม่ได้โมโหนะ เป็นคำที่คนรุ่นก่อนเขาใช้เป็นคำอุทานเสริมบทกัน อิก อิก) แสงเดินทางได้ 186,000ไมล์ ใน 1วินาที(1 ไมล์เท่ากับ 1.609 กิโลเมตร) เท่ากับ286,000 ก.ม.ใน 1วินาที คำว่า 3ล้านปีแสงคือถ้าเรานะ ถ้าเราเดินทางได้ด้วยความเร็วเท่าแสง ต้องใช้เวลา 3ล้านปี อิก อิก
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 พฤศจิกายน 2013
  4. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    องค์สมเด็จพระติสสะวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ..... ต่อมาภายหลังจากสมัยของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสิทธัตถะผู้เป็นนาถะของโลกพระองค์นั้น ก็ว่างพระพุทธเจ้าไปกัปหนึ่ง ที่สุดเก้าสิบสองกัปนับแต่กัปนี้ ก็บังเกิดมัณฑกัปทรงไว้ซึ่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระติสสะวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้าและสมเด็จพระปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า




    ..... บรรดาพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น พระมหาบุรุษพระนามว่าติสสะ ทรงบำเพ็ญบารมีสิบหกอสงไขยกำไรแสนกัป บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อรอตรัสเป็นพระโลกนาถ พระองค์อันท้าวอมรินทราธิราชพร้อมพรหมและเทวดาทูลอาราธนาอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว ทรงรับอาราธนาจุติจากดุสิตเทวโลกนั้นแล้วทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางปทุมาเทวีผู้มีพระเนตรงามดังกลีบปทุม อัครมเหสีของพระเจ้าชนสันธะ กรุงเขมกะ ถ้วนกำหนดทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ อโนมะราชอุทยาน



    ..... พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่เจ็ดพันปี พระองค์มีปราสาท ๓ หลัง ชื่อว่าคุหาเสละปราสาท นาริสยะปราสาทและนิสภะปราสาท มีพระสนมนารีสามหมื่นสามพันนางมีพระนางสุภัททาเทวีเป็นประมุข



    ..... เมื่ออานันทะกุมารพระโอรสของพระนางสุภัททาเทวีสมภพ พระมหาบุรุษทรงเห็นนิมิต ๔ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะแล้ว เสด็จขึ้นทรงม้าต้นตัวเยี่ยมชื่อว่าโสนุตตระ ออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงผนวช มนุษย์โกฏิหนึ่งก็บวชตามเสด็จ

    ... พระองค์อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในวันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่ธิดาวีระเศรษฐี ณ วีระนิคม ถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สลละวัน ป่าต้นช้างน้าว (อ้อยช้างก็ว่า) เวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่คนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อวิชิตสังคามกะถวายแล้ว เสด็จเข้าไปยังพระศรีมหาโพธิพฤกษ์ชื่ออสนะ ต้นประดู่ ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๔๐ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิเหนือบัลลังก์หญ้านั้น ทรงเจริญอานาปานสติจนได้ฌาน ๘

    ... ในยามต้นทรงยังทิพจักขุญาณให้บังเกิดทรงระลึกพระชาติของพระองค์ได้ไม่จำกัด ทรงรู้ว่าพระองค์ปรารถนาพระโพธิญาณมาแต่ครั้งใด และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตทรงสอนไว้ว่าอย่างไรบ้าง อันเป็นเหตุเกื้อกูลแก่การบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ

    ... ในยามที่สองทรงยังจุตูปปาตญาณให้บังเกิด ทรงเห็นการเกิดการตายของบรรดาเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย

    ... ในยามที่สามทรงหยั่งปัญญาพิจารณาในปัญจขันธ์ ทรงพิจารณาปัจจยาการ ในกาลปัจจุสมัยใกล้รุ่งเมื่อแสงทองจับขอบฟ้า ก็ทรงได้บรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณตรัสเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก ทรงเปล่งพระอุทานว่า

    ... " เราแสวงหาตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบจึงต้องท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารเป็นอันมาก ชาติ(คือ)ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนอีกไม่ได้ โครงสร้างเรือนของท่านเราหักหมดแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตของเราถึงธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว "




    ..... สมเด็จพระติสสะบรมศาสดาเจ้าทรงเสด็จยับยั้งในที่ใกล้พระศรีมหาโพธิพฤกษ์อยู่ ๗ สัปดาห์ พระองค์อันท้าวสหัมบดีมหาพรหมทูลอาราธนาแสดงธรรมแล้ว ทรงพิจารณาด้วยพระพุทธญาณทรงเห็นพระราชโอรสกรุงยสะวดีสองพระองค์ พระนามว่าพรหมเทวะและอุทยะ (ซึ่งมีความปรารถนามาหนึ่งอสงไขยกำไรแสนกัปเพื่อมาเป็นพระอัครสาวกซ้ายขวาของสมเด็จพระติสสะพุทธเจ้า) พร้อมด้วยบริวาร ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยสมบัติ เสด็จไปทางอากาศ เสด็จลงที่ยสะวดีมิคทายวัน โปรดให้พนักงานเฝ้าพระราชอุทยานเชิญพระราชโอรสมาแล้ว ทรงยังหมื่นโลกธาตุให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงดังพรหม ไม่พร่า ไพเราะซาบซึ้ง ประกาศพระธรรมจักรแก่พระราชโอรสทั้งสองพระองค์นั้นกับทั้งบริวาร ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์ร้อยโกฏิ

    ... ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

    ... ต่อจากสมัยของสมเด็จพระสิทธัตถะพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เทียบ มีพระเดชไม่มีที่สุด มีพระบริวารยศหาประมาณมิได้ เป็นผู้นำเลิศแห่งโลก พระมหาวีระผู้ประกอบด้วยความเอ็นดู ผู้มีจักษุทรงกำจัดอนธการคือความมืด ยังโลกทั้งเทวโลกให้สว่าง ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระวรฤทธิ์ของพระองค์ก็ชั่งไม่ได้ ศีลและสมาธิ ก็ชั่งไม่ได้ ทรงบรรลุพระบารมีในธรรมทั้งปวง ทรงให้พระธรรมจักรเป็นไปแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงประกาศพระวาจาอันสะอาด ให้สัตว์ร้อยโกฏิในหมื่นโลกธาตุตรัสรู้ธรรม ในการแสดงธรรมครั้งที่ ๑




    ..... ภายหลังสมัยต่อมา ในสมัยที่พระมหาบุรุษทรงละการอยู่เป็นหมู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังโคนโพธิพฤกษ์ ภิกษุที่บวชกับสมเด็จพระติสสะบรมศาสดาจำนวนโกฏิหนึ่ง ก็แยกไปเสียที่อื่นแล้ว ครั้นภิกษุโกฏิหนึ่งนั้นทราบข่าวว่าสมเด็จพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร ก็พากันมาที่ยสะวดีมิคทายวัน ถวายบังคมสมเด็จพระทศพลญาณเจ้าแล้ว ก็นั่งล้อมพระองค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าติสสะทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุเหล่านั้น ครั้งนั้น อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ




    ..... ต่อมาอีกในมหามงคลสมาคม ในเมื่อจบมงคล ในครั้งนั้น สมเด็จพระติสสะพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงเปลื้องสัตว์คือมนุษย์และเทวดาทั้งหลายจากเครื่องผูก ในอภิสมัยครั้งที่ ๓ การบรรลุพระอรหัตตผลก็ได้มีแก่สัตว์หกสิบโกฏิ
     
  5. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ได้ยินว่า องค์สมเด็จพระติสสะพุทธเจ้าอันพระอรหันต์ที่บวชภายในพรรษา ในยสะวดีนครแวดล้อมแล้ว ทรงปวารณาพรรษาแล้ว นั้นเป็นสาวกสันนิบาตครั้งที่ ๑



    ..... เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าติสสะบรมศาสดาเสด็จถึงนาริวาหนะนคร นาริวาหนะกุมาร โอรสของพระเจ้าสุชาตะ ผู้เกิดดีทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยบริวาร เสด็จออกไปรับเสด็จ นิมนต์สมเด็จพระทศพลพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ ถวายอสทิสทาน ๗ วัน จึงมอบราชสมบัติของพระองค์แก่พระโอรส พร้อมด้วยบริวารก็ทรงผนวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาในสำนักขององค์สมเด็จพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งปวง

    ... นัยว่า การบรรพชาของพระองค์ปรากฏโด่งดังไปทุกทิศ เพราะฉะนั้น มหาชนมาจากทิศนั้นๆ บวชตามเสด็จพระนาริวาหนะกุมาร

    ... ครั้งนั้น พระตถาคตเสด็จไปท่ามกลางภิกษุเก้าล้าน ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสาวกสันนิบาตครั้งที่ ๒




    ..... ต่อมาอีก ชนแปดล้านฟังธรรมกถาเรื่องพุทธวงศ์ ในสมาคมพระญาติ กรุงเขมะวดี ก็พากันบวชในสำนักของพระองค์แล้วบรรลุพระอรหัตตผล สมเด็จพระสุคตเจ้าอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสาวกสันนิบาตครั้งที่ ๓




    ..... สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระราชาพระนามว่าสุชาตะ กรุงยสะวดี ทรงสละราชอาณาจักรที่มั่นคงรุ่งเรือง กองทรัพย์หลายโกฏิและคนใกล้ชิดที่มีใจจงรักภักดี สังเวชใจในทุกข์ มีชาติทุกข์เป็นต้น จึงออกผนวชเป็นดาบส มีฤทธานุภาพมาก

    ... ในกาลต่อมาได้สดับข่าวว่า พุทโธ อุปปันโน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก ก็มีพระวรกายอันปีติทั้ง ๕ อย่างถูกต้องแล้วมีความยำเกรง ก็เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระติสสะทศพลญาณเจ้าถวายบังคมแล้วดำริว่า

    ... " จำเราจักบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้ทิพย์มีดอกมณฑารพ ดอกปาริฉัตตกะเป็นต้น "

    ... ครั้นดำริอย่างนั้นแล้ว ก็ไปโลกสวรรค์ด้วยฤทธิ์ เข้าไปยังสวนจิตรลดา บรรจุผอบที่สำเร็จด้วยรัตนะขนาดคาวุตหนึ่ง ให้เต็มด้วยดอกไม้ทิพย์มีดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะ และดอกมณฑารพเป็นต้น พามาทางท้องนภากาศ บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยดอกไม้ทิพย์ที่มีกลิ่นหอม และกั้นดอกปทุมต่างฉัตรคันหนึ่ง ซึ่งมีด้ามเป็นมณี มีเกสรเป็นทอง มีใบเป็นแก้วทับทิม เหมือนฉัตรที่สำเร็จด้วยเกสรหอม ไว้เหนือพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔

    ... ครั้งนั้น องค์สมเด็จพระติสสะบรมครูของโลก ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า

    ... " สุชาตะมหาดาบสผู้นี้ นานไปอนาคตกำหนดได้ ๙๒ กัปแต่กัปนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า สมเด็จพระสมณะโคดมพุทธเจ้า ในภัทรกัปหนึ่ง อันจักปรากฎมีในอนาคตกาลภายภาคหน้า "

    ... ครั้นได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์สุชาตะดาบสผู้มีพุทธภูมิบารมี ก็มีพระหฤทัยเกิดปรีดาปราโมทย์เป็นล้นพ้น จึงอุตสาหะบากบั่นอบรมบ่มทาน ศีล ภาวนาให้แก่กล้าขึ้นไป




    ..... องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าติสสะโลกนาถเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อ เขมะกะ พระชนกพระนามว่า พระเจ้าชนะสันธะ พระชนนีพระนามว่า พระนางปทุมา คู่พระอัครสาวกชื่อว่า พระพรหมเทวะมหาเถระ และ พระอุทยะมหาเถระ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระสมังคะมหาเถระ คู่พระอัครสาวิกาชื่อ พระแม่เจ้าผุสสามหาเถรี และ พระแม่เจ้าสุทัตตามหาเถรี พระศรีมหาโพธิพฤกษ์ชื่อ อสนะ (ต้นประดู่) พระสรีระสูง ๖๐ ศอก พระชนมายุแสนปี พระอัครมเหสีพระนามว่า พระนางสุภัททา พระโอรสพระนามว่า อานันทะ เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือพระยาม้าต้น



    ..... สมเด็จพระชินสีห์พุทธเจ้าพระองค์นั้น โดยส่วนสูง ๖๐ ศอก ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้เสมือน ปรากฎดังภูเขาหิมวันต์

    ... พระผู้มีจักษุดำรงอยู่ในโลกแสนปี พระผู้มีพระเดชไม่มีผู้เทียบพระองค์นั้น ก็มีพระชนมายุเท่านั้น พระองค์ทั้งพระสาวก เสวยพระยศยิ่งใหญ่ อันสูงสุดเลิศ ประเสริฐ รุ่งเรืองแล้วก็ปรินิพพานไป ดังกองไฟที่ดับไป ฉะนั้น

    ... สมเด็จพระติสสะพุทธเจ้าทั้งพระสาวกทั้งปวงก็ปรินิพพานไปแล้ว พระวรฤทธิ์ของพระชินเจ้า ที่ไม่มีผู้เทียบได้นั้นและพระสมาธิที่พระญาณอบรมแล้ว ทั้งนั้นก็อันตรธานไปหมดสิ้น สังขาร(คือร่างกายนี้)ว่างเปล่าแท้หนอ




    ..... องค์สมเด็จพระติสสะวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้เป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเสด็จล่วงลับดับขันธปรินิพพาน ณ วัดนันทารามมหาวิหาร พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันประเสริฐของพระองค์สูง ๓ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดนันทารามมหาวิหารนั้น ฉะนี้แล ฯ.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 พฤศจิกายน 2013
  6. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    องค์สมเด็จพระปุสสะบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า



    ..... ภายหลังต่อมาจากสมัยขององค์สมเด็จพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเสื่อมลงโดยลำดับ และเจริญขึ้นอีกจนมีอายุแสนปี แล้วก็เสื่อมลงโดยลำดับจนมีอายุได้เก้าหมื่นปี ในกัปนั้นนั่นเอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ ก็อุบัติขึ้นในโลก




    ..... พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นั้นทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย ก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตรอตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถึงกาลของพระองค์แล้ว พระองค์อันท้าวสักกะเทวราช พรหมและเทวดาทั้งหลายทูลอาราธนาอ้อนวอนแล้ว จุติจากดุสิตเทวโลกนั้นแล้วก็ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมาเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าชัยเสนะ กรุงกาสี ถ้วนกำหนดทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ สิริมาราชอุทยาน



    ..... พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่เก้าพันปี ได้ยินว่า ทรงมีปราสาท ๓ หลัง ชื่อว่าครุฬปักขะปราสาท หังสะปราสาทและสุวรรณภาระปราสาท ปรากฎพระสนมกำนัลสามหมื่นนางมีพระนางกีสาโคตมี เป็นประมุข



    ..... เมื่อพระโอรสพระนามว่าอนูปมะ ของพระนางกีสาโคตมี ทรงสมภพ พระมหาบุรุษทรงเห็นนิมิต ๔ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะแล้ว ก็ขึ้นทรงช้างพระที่นั่งที่ประดับแล้ว เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ทรงผนวช ชนโกฏิหนึ่งออกบวชตามเสด็จ

    ... พระองค์อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๖ เดือน แต่นั้นก็ทรงละหมู่ แสวงหาความวิเวก ทรงเพิ่มความประพฤติแต่ลำพังพระองค์อยู่ ในวันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสิริวัฑฒา ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง ณ นครแห่งหนึ่งถวาย ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ ป่าสีสะปาวัน เวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่อุบาสกชื่อสิริวัฑฒะ ถวาย เสด็จเข้าไปยังพระศรีมหาโพธิพฤกษ์ชื่อ อามะละกะ ต้นมะขามป้อม ทรงลาดสันถัตหญ้าทรงประทับนั่งเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ไม่นานก็ได้ฌาน๘

    ... ในครั้งนั้นพรหมและเทวดามาอารักขาเฝ้าคอยการตรัสรู้ของพระองค์เต็มห้องจักรวาล ยืนกันแน่นขนัดหาช่องว่างมิได้ ต่างพากันยอกรถวายนมัสการพระมหาบุรุษกันถ้วนหน้า แม้พระปุสสะบรมโพธิสัตว์ก็ทรงมองเห็นเทวดาทั้งหลายนั้นด้วยทิพจักขุญาณอันแจ่มใสยิ่งของพระองค์ และที่ว่ามีมารและบริวารมาผจญพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้นั้นไม่เป็นความจริง แต่อย่างใด

    ... ในยามแรกทรงชำระทิพจักขุญาณให้บริสุทธิ์ ทรงระลึกพระชาติของพระองค์ได้ไม่จำกัด ทรงทราบชัดว่าพระองค์ปรารถนาพุทธภูมิมาตั้งแต่ครั้งไหน ได้รับพระพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดบ้าง และพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในอดีตทรงสอนไว้อย่างไรบ้าง อันเป็นเหตุเกื้อกูลให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ

    ... ในยามที่สองทรงได้จุตูปปาตญาณ ทรงเห็นการเกิดตายของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวดา พรหม

    ... ในยามที่สามทรงหยั่งปัญญาพิจารณาในปัญจขันธ์และปัจจยาการ ในยามปัจจุสมัยใกล้รุ่งพระองค์ก็ได้บรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก




    ..... สมเด็จพระนารสภเจ้ายับยั้งอยู่ใกล้ต้นโพธิพฤกษ์ ๗ วัน พระองค์อันท้าวสหัมบดีมหาพรหมอาราธนาให้แสดงธรรมแล้ว ทรงรับอาราธนา ทรงพิจารณาด้วยพระพุทธญาณทรงเห็นภิกษุโกฏิหนึ่งซึ่งบวชกับพระองค์ เป็นผู้สามารถแทงตลอดธรรมได้จึงเสด็จไปทางอากาศ ลงที่อิสิปตนะมิคทายะวัน สังกัสสะนคร ทรงประกาศพระธรรมจักรท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น ครั้งนั้นอภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แปดโกฏิ

    ... ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

    ... ในมัณฑกัปนั้นนั่นเอง ได้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ ผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เปรียบ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ ผู้นำเลิศของโลก

    ... แม้พระองค์ ทรงกำจัดความมืดทั้งหมดแล้ว ทรงสางรกชัฏขนาดใหญ่ เมื่อทรงยังโลกทั้งเทวโลกให้อิ่ม ทรงหลั่งน้ำอมฤตให้ตกลงมา

    ... เมื่อสมเด็จพระปุสสะบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ในสมัยนักขัตมงคล อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แปดโกฏิ




    ..... ครั้งพระเจ้าสิริวัฑฒะ กรุงพาราณสี ทรงละกองโภคสมบัติใหญ่ ทรงผนวชเป็นดาบส ได้มีดาบสที่บวชกับพระองค์จำนวนเก้าล้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดดาบสเหล่านั้น ครั้งนั้น อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์เก้าโกฏิ



    ..... ส่วนครั้งทรงแสดงธรรมโปรดอนุปมกุมาร พระโอรสของพระองค์ ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์แปดโกฏิ

     
  7. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... แต่นั้น สมัยต่อมา พระสุรักขิตะราชโอรสและธัมมะเสนกุมาร บุตรปุโรหิต ณ กัณณะกุชชะนคร เมื่อพระปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงนครของตน ก็ออกไปรับเสด็จพร้อมด้วยบุรุษหกล้าน ถวายบังคมแล้วนิมนต์ถวายมหาทาน ๗ วัน สดับธรรมกถาของพระทศพลแล้วเลื่อมใส พร้อมกับบริวารก็พากันบวชแล้วบรรลุพระอรหัตตผล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ท่ามกลางภิกษุหกล้านเหล่านั้น นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑



    ..... ต่อมาอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธวงศ์ ในสมาคมพระญาติประมาณหกสิบของพระเจ้าชัยเสน กรุงกาสี ชนห้าล้านฟังพุทธวงศ์นั้นพากันบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา แล้วบรรลุพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่ในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒



    ..... ต่อมาอีก บุรุษสี่ล้านฟังมงคลกถาในมหามงคลสมาคมพากันบวชแล้ว บรรลุพระอรหัตผล พระสุคตเสด็จอยู่ในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓



    ..... ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทรงเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าวิชิตาวี นครอรินทมะ ทรงสดับธรรมของพระปุสสะพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายมหาทานแด่พระองค์ ทรงละราชสมบัติใหญ่ ทรงผนวชในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล่าเรียนพระไตรปิฎก ตรัสธรรมกถาแก่มหาชน และทรงบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ในพระศาสนาของสมเด็จพระโลกนาถปุสสะพุทธเจ้า

    ... สมเด็จพระปุสสะพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า

    ... " พระวิชิตภิกขุนี้ นานไปในอนาคตกำหนดได้ ๙๒ กัปแต่กาลนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสมณะโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในภัททกัปหนึ่ง อันจักปรากฏมีในอนาคตภายภาคหน้า "

    ... ครั้นได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์วิชิตภิกษุผู้โพธิสัตว์ก็มีจิตเต็มไปด้วยความโสมนัสยินดี เป็นที่สุด ดุจว่าตนจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในวันพรุ่ง จึงมุ่งหน้าอุตสาหะพยายามอบรมบ่มพระบารมีให้แก่กล้ายิ่งขึ้นไป เพื่อหวังจะได้สำเร็จพระอภิเษกสัมโพธิญาณ ในกาลเบื้องหน้า



    ..... พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่า กาสี พระชนกพระนามว่า พระเจ้าชัยเสน พระชนนีพระนามว่า พระนางสิริมา คู่พระอัครสาวกชื่อว่า พระสุรักขิตะมหาเถระ และ พระธัมมะเสนะมหาเถระ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระสภิยะมหาเถระ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่า พระแม่เจ้าจาลามหาเถรี และ พระแม่เจ้าอุปจาลามหาเถรี พระศรีมหาโพธิพฤกษ์ชื่อว่า อามะละกะ (ต้นมะขามป้อม) พระสรีระสูง ๕๘ ศอก พระชนมายุเก้าหมื่นปี พระอัครมเหสีพระนามว่า พระนางกีสาโคตมี พระโอรสพระนามว่า พระอนุปมะ เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือพระยาช้างต้น



    ..... ในยุคนั้น มนุษย์มีอายุเก้าหมื่นปี องค์สมเด็จพระปุสสะพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงพระชนม์ถึงเพียงนั้น จึงทรงยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ พระศาสดาแม้พระองค์นั้น ทรงสั่งสอนสัตว์เป็นอันมาก ให้ชนเป็นอันมากข้ามโอฆะ พระองค์ทั้งพระสาวกมีพระยศที่ไม่มีผู้เทียบ ก็ยังปรินิพพาน



    ..... สมเด็จพระปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จล่วงลับดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารเสนาราม กรุงกุสินารา พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไปในประเทศต่างๆ ฉะนี้แล ฯ.
     
  8. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    องค์สมเด็จพระวิปัสสีวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า



    ..... ภายหลังต่อมาจากสมัยของสมเด็จพระปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า กัปนั้นพร้อมทั้งอันตรกัปล่วงไป ในเก้าสิบเอ็ดกัปนับแต่กัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าวิปัสสี ผู้เห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง ทรงทราบกัปทั้งปวง ทรงมีความดำริยินดีแต่ประโยชน์ของสัตว์อื่น อุบัติขึ้นในโลก



    ..... พระวิปัสสีโพธิสัตว์ พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาสิบหกอสงไขยกำไรแสนกัป (พระโพธิสัตว์ คือ สัตว์ผู้ฉลาด สัตว์ผู้ตรัสรู้ อีกอย่างหนึ่ง คือสัตว์ผู้ฝักใฝ่ คือมีใจจดจ่ออยู่ในโพธิ ชื่อว่าโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ทรงบรรลุที่สุดแห่งญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา พุทธจริยา)

    ... ในครั้งนั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น ตราบเท่าอายุเพราะบารมีเต็มแล้วด้วยประการทั้งปวงฉันนั้น

    ... พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี ทวยเทพในหมื่นจักรวาลพากันมาประชุม ทูลวิงวอนว่า

    ... " ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ มิได้ทรงปรารถนาสักกะสมบัติ พรหมสมบัติ สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ แต่พระองค์ทรงปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพื่อถอนสัตว์ออกจากโลก บัดนี้ กาลนั้นมาถึงพระองค์แล้ว เป็นสมัยเพื่อความเป็นพระพุทธะของพระองค์แล้ว "

    ... ลำดับนั้น พระมหาสัตว์มิได้ทรงรับปฏิญญาของเทวดาเหล่านั้น ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ ด้วยสามารถทรงกำหนด กาล ทวีป ประเทศ ตระกูล และอายุของพระมารดา

    ... ในมหาวิโลกนะ ๕ นั้น พระมหาสัตว์ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า ถึงเวลาหรือยัง กาลเมื่ออายุของสัตว์เจริญมากกว่าแสนปี ก็ยังไม่ใช่กาล

    ... ถามว่า เพราะเหตุไร

    ... ตอบว่า เพราะในกาลนั้น ชาติชราและมรณะจะไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจะทำให้พ้นจากพระไตรลักษณ์ ก็จะไม่มี เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสอะไร แล้วไม่สำคัญเพื่อจะฟัง เพื่อจะเชื่อ แต่นั้นก็จะไม่มีการตรัสรู้ เมื่อไม่มีการตรัสรู้ คำสอนก็จะไม่นำสัตว์ให้ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่กาล แม้กาลเมื่อสัตว์มีอายุถอยลงไปกว่า ๑๐๐ ปี ก็ไม่ใช่กาล

    ... ถามว่า เพราะเหตุไร

    ... ตอบว่า เพราะในกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาด้วยมาจากอบายภูมิเสียโดยมาก โอวาทที่ให้แก่สัตว์ที่มีกิเลสหนา ย่อมไม่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นโอวาท เหมือนไม้เท้าขีดลงไปในน้ำย่อมหายไปทันที เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่กาล

    ... กาลเมื่ออายุสัตว์ตั้งแต่แสนปี ลงมาถึง ๑๐๐ ปี ชื่อว่ากาล ก็ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงเห็นว่าถึงกาลที่ควรจะเกิดแล้ว

    ... จากนั้น พระมหาสัตว์ทรงตรวจดูทวีปทรงเห็นทวีป ๔ พร้อมด้วยบริวาร ทรงเห็นว่าใน ๓ ทวีป พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่บังเกิด บังเกิดในชมพูทวีปแห่งเดียว (ชมพูทวีปในปัจจุบันคือทวีปเอเชียกับทวีปยุโรป) ชมพูทวีปเป็นทวีปใหญ่และมีผู้คนสนใจปฏิบัติทางจิตกันมากแม้ในกาลที่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติตรัสในโลก

    ... ทรงตรวจดูประเทศต่อไปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในประเทศไหนหนอ ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ จริงอยู่ ในประเทศนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอัครสาวก พระมหาสาวก พระปกติสาวก พระเจ้าจักรพรรดิและกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เศรษฐี ผู้มีศักดิ์ใหญ่เหล่าอื่นย่อมเกิด

    ... อนึ่ง ในประเทศนี้มีนครชื่อพันธุมดี พระมหาสัตว์ทรงตัดสินพระทัยว่า เราควรไปเกิดในนครนั้น

    ... จากนั้น ทรงตรวจดูตระกูล ทรงเห็นตระกูลแล้วว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในตระกูลที่ชาวโลกยกย่อง ก็บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์อันชาวโลกยกย่องแล้ว เราจักเกิดในตระกูลนั้น พระราชาพระนามว่าพันธุมจักเป็นพระบิดาของเรา ดังนี้

    ... จากนั้น ทรงตรวจดูมารดา ทรงเห็นแล้วว่า ธรรมดาพระพุทธมารดาไม่เป็นหญิงเหลาะแหละ ไม่เป็นนักเลงสุรา บำเพ็ญบารมีมาแล้วถึงแสนกัป ตั้งแต่เกิดมาศีล ๕ ไม่ขาด ก็หญิงเช่นพระนางพันธุมดีเทวีนี้จักเป็นมารดาของเรา ดังนี้ ทรงรำพึงว่า พระนางพันธุมดีเทวีจะมีพระชนมายุเท่าไร ทรงเห็นแล้วจักมีพระชนมายุ ๗ วัน ต่อจาก ๑๐ เดือน

    ... พระโพธิสัตว์ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ นี้ตรัสว่า

    ... " ดูกรผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เป็นกาลอันสมควรของเราเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว "

    ... เมื่อจะทรงทำการสงเคราะห์แก่ทวยเทพ ประทานปฏิญญาว่า พวกท่านจงพากันกลับไปเถิด ทรงส่งเทวดาเหล่านั้นแล้ว แวดล้อมด้วยเทวดาชั้นดุสิตเสด็จเข้าไปยังสวนนันทวันในดุสิตเทวโลก แม้ในเทวโลกทั้งหมดก็มีสวนนันทวันเหมือนกัน

    ... เหล่าเทวดาพากันทูลเตือนว่า ขอพระองค์จงจุติจากเทวโลกนี้ไปสู่มนุษยสุคติเถิด แล้วทูลให้ระลึกถึงโอกาสที่ทรงบำเพ็ญกุศลกรรมมาในกาลก่อน

    ... พระโพธิสัตว์นั้นแวดล้อมไปด้วยเหล่าเทวดาผู้ให้ระลึกถึงกุศลอย่างนี้ เสด็จไปอยู่ในสวนนันทวันนั้นทรงจุติแล้ว ปฏิสนธิของพระมหาสัตว์ไม่เหมือนปฏิสนธิของสัตว์อื่น ด้วยว่าสติสัมปชัญญะของพระมหาสัตว์เหล่านั้นถึงที่สุดแล้ว ดังนี้

    ... ในกาลนั้นหมื่นโลกธาตุย่อมหวั่นไหว พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ เสด็จลงสู่ครรภ์มารดาทรงถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิต

    ... พระโพธิสัตว์แม้พระองค์นั้นก็ได้ถือปฏิสนธิด้วยฤกษ์อุตตราสาฬหะในวันเพ็ญเดือน ๘




    ..... ได้ยินว่า ในครั้งนั้นจำเติมแต่วันที่ ๗ แห่งอาสาฬหะบูรณมี พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทรงเล่นนักขัตตกีฬา ทรงประดับด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไม่มีการดื่มสุรา เสด็จลุกแต่เช้าในวันที่ ๗ ทรงสรงสนานด้วยน้ำหอม ทรงตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกชนิด เสวยพระกระยาหารเลิศ ทรงอธิษฐานองค์อุโบสถ เสด็จเข้าสู่ห้องสิริบรรทมเหนือพระสิริไสยาสน์ ทรงเข้าสู่นิทราได้ทอดพระเนตรเห็นพระสุบินนี้

    ... ในพระสุบินนั้นว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ยกพระพุทธมารดาพร้อมด้วยพระแท่นที่บรรทม นำไปยังสระอโนดาต ให้สรงสนาน ให้ทรงนุ่งห่มด้วยผ้าทิพย์ ให้ทรงลูบไล้ด้วยของหอมทิพย์ ประดับดอกไม้ทิพย์ ไม่ไกลจากนั้นมีภูเขาเงิน ภายในภูเขาเงินนั้นมีวิมานทอง ให้พระพุทธมารดาหันพระเศียรไปทางทิศปาจีน บรรทม ณ วิมานทองนั้น

    ... ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นช้างเผือกผ่องพรรณ ไม่ไกลจากนั้นมีภูเขาทองลูกหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จไปที่ภูเขาทองนั้นแล้ว เสด็จลงจากภูเขาทอง เสด็จขึ้นภูเขาเงิน แล้วเสด็จเข้าไปยังวิมานทอง กระทำประทักษิณพระมารดาแล้ว ได้เป็นคล้ายแหวกพระปรัศเบื้องขวาเสด็จเข้าไปสู่พระครรภ์ ทันทีนั้น พระเทวีทรงตื่น กราบทูลพระสุบินนั้นแด่พระราชา

    ... ครั้นสว่างแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกหัวหน้าพราหมณ์ประมาณ ๖๔ คน ให้ลาดอาสนะอันมีค่ามากบนพื้นฉาบด้วยของเขียว กระทำมงคลสักการะด้วยข้าวตอกเป็นต้น เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายนั่ง ณ ที่นั้นแล้ว ทรงนำถาดทองถาดเงินอันเต็มไปด้วยข้าวปายาสอย่างดี ปรุงด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ครอบด้วยถาดทองถาดเงินอีกทีถวาย ทรงให้พราหมณ์เหล่านั้นอิ่มเอิบด้วยวัตถุอย่างอื่นมีผ้าใหม่แม่โคแดงและทานเป็นต้น
     
  9. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... พระราชาตรัสบอกพระสุบินนั่นแก่พราหมณ์เหล่านั้นผู้เอิบอิ่มด้วยสิ่งปรารถนาทั้งปวง แล้วรับสั่งถามว่า

    ... " พระสุบินนั้นจักเป็นอย่างไร "

    ... พวกพราหมณ์กราบทูลว่า

    ... " ขอเดชะข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระเทวีทรงพระครรภ์แล้ว พระเจ้าข้า อนึ่ง พระครรภ์นั้นเป็นบุรุษไม่ใช่สตรี พระองค์จักมีพระโอรส พระโอรสนั้น หากครองเรือนจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประกอบด้วยธรรม เป็นธรรมราชา หากออกบวช จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้เปิดโลก "

    ... ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระราชาทั้งหลายโดยรอบสดับว่า พระโอรสเห็นปานนี้ทรงอุบัติในพระครรภ์ของพระเทวี ทรงส่งบรรณาการอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีในทวารห้า ด้วยสามารถอาภรณ์มีค่ามากและดนตรีเป็นต้น ชื่อว่าการกำหนดปริมาณแห่งลาภและสักการะไม่มีแก่พระโพธิสัตว์ และแก่มารดาของพระโพธิสัตว์ เพราะสั่งสมกรรมคือทานที่ทำไว้แต่ปางก่อน




    ..... พระมารดาพระโพธิสัตว์ ครั้นล่วงกาลมีกลละเป็นต้น ทรงเห็นพระโพธิสัตว์เข้าถึงความเป็นผู้มีอวัยวะน้อยใหญ่ และพระอินทรีย์สมบูรณ์เกิดแล้ว แม้พระมารดาของพระโพธิสัตว์ก็ฉันนั้น คิดว่า

    ... " ทุกข์ใดเกิดแก่ครรภ์ในขณะที่มารดายืนเดินเคลื่อนไปมาและนั่งเป็นต้น และในการกลืนอาหารร้อนเย็นเค็มขมเผ็ดเป็นต้นของมารดา ทุกข์นั้นจะมีแก่บุตรของเราหรือไม่หนอ "

    ... ดังนี้ แล้วมองดูพระโพธิสัตว์เพื่ออยู่อย่างสบาย ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิ พระโพธิสัตว์กระทำกระดูกสันหลังไว้ข้างหลังนั่งขัดสมาธิ ก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกดุจพระธรรมกถึกนั่งธรรมาสน์ ก็กรรมที่พระองค์ทรงกระทำมาในกาลก่อน จึงทำให้วัตถุของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์ เมื่อวัตถุบริสุทธิ์ พระลักษณะ คือพระฉวีละเอียดย่อมบังเกิดขึ้น พระตโจในพระอุทรไม่สามารถจะปกปิดพระฉวีนั้นได้ เมื่อพระมารดาทรงแลดูย่อมปรากฏเหมือนตั้งอยู่ภายนอก

    ... ถ้วนกำหนดทศมาส พระนางพันธุมดีก็ประสูติจากพระวิปัสสีโพธิสัตว์ ณ เขมะมิคะทายวัน เหมือนดวงจันทร์เพ็ญออกจากกลีบเมฆสีเขียวคราม

    ... ในกาลนั้น พระมารดาพระโพธิสัตว์ทรงนุ่งผ้าประด้วยทองคำ เช่นกับตาปลามีสองชั้นคลุมตลอดพระบาทได้ประทับยืน ขณะนั้น พระมารดาพระโพธิสัตว์ได้ประสูติพระโอรสคลอดเช่นกับน้ำไหลออกจากธมกรก

    ... ลำดับนั้น เหล่าเทวดาและพรหมมีเพศเป็นเทวดาและพรหมตามปกติ(คือปรากฏกายให้พระพุทธมารดาเห็นเป็นพรหมเป็นเทวดา)เข้าไปรับด้วยข่ายทองคำก่อน ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้เอาเครื่องลาดทำด้วยหนังเสือเหลืองรับจากหัตถ์ของพรหมเหล่านั้น จากนั้น พวกมนุษย์จึงรับด้วยผ้ารองสองชั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายรับก่อน พวกมนุษย์รับภายหลัง ดังนี้




    ..... สมดังที่สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสไว้ว่า

    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา ท้าวจาตุมหาราชิกา ๔ องค์พร้อมทั้งบริวาร ย่อมเข้าไปรักษาทิศทั้ง ๔ โดยตั้งใจว่า

    ... " ใครๆ คือ มนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ตามอย่าเบียดเบียนพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์นั้นได้ " ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ



    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์โดยย่อมทรงศีล๕ คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการกล่าวเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่เกิดมานัสซึ่งเกี่ยวด้วยกามคุณในบุรุษทั้งหลาย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมเป็นหญิงที่บุรุษใดๆ ซึ่งมีจิตกำหนัดแล้วจะล่วงเกินไม่ได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมได้กามคุณ๕ พระนางเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ๕ ได้รับบำเรออยู่ด้วยกามคุณ๕ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา อาพาธใดๆ ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทรงสำราญ ไม่ลำบากพระกาย และพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเสด็จอยู่ภายในพระครรภ์มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยมนายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดงขาวหรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น บุรุษผู้มีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นี้นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง ขาวหรือนวล ร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น แม้ฉันใด

    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา อาพาธใดๆย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงสำราญ ไม่ลำบากพระกาย และพระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จอยู่ ณ ภายในพระครรภ์ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ



    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วได้ ๗ วัน พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทิวงคตเสด็จเข้าถึงชั้นดุสิต ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ หญิงอื่นๆ บริหารครรภ์๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด พระมารดาของพระโพธิสัตว์หาเหมือนอย่างนั้นไม่ พระมารดาของพระโพธิสัตว์บริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนถ้วน จึงประสูติ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่ประสูติเหมือนหญิงอื่นๆ ซึ่งนั่งหรือนอนคลอด ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติพระโพธิสัตว์ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ



    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา พวกพรหมและเทวดารับก่อน พวกมนุษย์รับทีหลัง ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดาและยังไม่ทันถึงแผ่นดิน พรหม พระอินทร์และท้าวมหาราช ๔ องค์ประคองรับพระโพธิสัตว์นั้นแล้ววางไว้เบื้องหน้าพระมารดา กราบทูลว่า

    ... " ขอจงมีพระทัยยินดีเถิดพระเทวี พระโอรสของพระองค์ที่เกิดมีศักดิ์ใหญ่ " นี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ



    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เสด็จออกอย่างง่ายดายทีเดียว ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำไม่เปรอะเปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยโลหิต ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วมณีอันบุคคลวางลงไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ แก้วมณีย่อมไม่ทำผ้ากาสิกพัสตร์ให้เปรอะเปื้อนเลยถึงแม้ผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำแก้วมณีให้เปรอะเปื้อน เพราะเหตุไรจึงเป็นดังนั้นเพราะสิ่งทั้งสองเป็นของบริสุทธิ์ แม้ฉันใด

    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เสด็จออกอย่างง่ายดายทีเดียว ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยโลหิต ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ



    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา ธารน้ำย่อมปรากฏจากอากาศสองธาร เย็นธารหนึ่ง ร้อนธารหนึ่ง สำหรับกระทำอุทกกิจ แก่พระโพธิสัตว์และพระมารดา ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้วได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้านทิศอุดร เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว และเมื่อฝูงพรหมและเทพดาผู้มีศักดิ์ใหญ่กั้นเศวตฉัตรตามเสด็จอยู่ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่า

    ... " เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลกเราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี ดังนี้ " ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ



    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ เมื่อใด พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ แสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ช่องว่างซึ่งอยู่ที่สุดโลกมิได้ถูกอะไรปกปิด ที่มืดมิดก็ดี สถานที่ที่พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านี้ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากปานนี้ส่องแสงไปไม่ถึงก็ดี ในที่ทั้งสองชนิดนั้นแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ถึงสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสถานที่เหล่านั้นก็จำกันและกันได้ ด้วยแสงสว่างนั้นว่าพ่อเฮ้ย ได้ยินว่าถึงสัตว์พวกอื่นที่เกิดในนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน และหมื่นโลกธาตุนี้ย่อมหวั่นไหวสะเทื้อนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏในโลกล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 พฤศจิกายน 2013
  10. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ก็เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้ว พวกอำมาตย์ได้กราบทูลแด่พระเจ้าพันธุมาว่า

    ... " ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว ขอพระองค์จงทอดพระเนตร พระราชโอรสนั้นเถิด "

    ... พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรเห็นพระวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่งเรียกพวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตมาแล้วตรัสว่า

    ... " ขอพวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตผู้เจริญจงตรวจดูพระราชกุมารเถิด "

    ... พวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตได้เห็นพระวิปัสสีราชกุมารนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมานั้นดังนี้

    ... " ขอเดชะ ขอพระองค์จงดีพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่ทรงเกิดแล้วมีศักดิ์ใหญ่

    ... ข้าแต่มหาราช เป็นลาภของพระองค์ ผู้เป็นเจ้าของสกุลอันเป็นที่บังเกิดแห่งพระราชโอรส เห็นปานดังนี้

    ... ขอเดชะ พระองค์ได้ดีแล้วเพราะพระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ซึ่งมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ

    ... ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้วแก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต

    ... ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก "




    ..... ก็มหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษนั้น มีดังนี้

    ... ๑.มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี

    ... ๒.พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง

    ... ๓. มีส้นพระบาทยาว

    ... ๔. มีพระองคุลียาว

    ... ๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม

    ... ๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย

    ... ๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ

    ... ๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย

    ... ๙. เสด็จสถิตย์ยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึงพระชาณุ(หัวเข่า)ทั้งสอง

    ... ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

    ... ๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณแห่งทองคำ คือ มีพระตจะประดุจหุ้มด้วยทองคำ (มีผิวเป็นสีทอง)

    ... ๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ในพระกายได้

    ... ๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆ

    ... ๑๔. มีพระโลมชาติที่มีปลายช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอกอัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ

    ... ๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายของพรหม

    ... ๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จะงอยพระอังสาทั้งสองและพระศอ

    ... ๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ

    ... ๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็ม

    ... ๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์ พระกายของพระองค์เท่ากับวาของพระองค์ ฯ

    ... ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน

    ... ๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี

    ... ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์

    ... ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ คือ ข้างล่าง ๒๐ ซี่ ข้างบน ๒๐ ซี่

    ... ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน

    ... ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างชิดกันพอดี

    ... ๒๖. มีพระทาฐะขาวงามเหมือนสังข์ขัด

    ... ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ สามารถปิดพระพักตร์ได้

    ... ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังพญานกการเวก

    ... ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท (ตาดำเหมือนนิลที่เจียระไนดีแล้ว)

    ... ๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค

    ... ๓๑. มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างแห่งขนง(คิ้ว) มีสีขาวอ่อนควรเปรียบด้วยปุยฝ้าย

    ... ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์




    ..... ในวันรับพระนามของพระองค์โหรผู้ทำนายลักษณะ และพระประยูรญาติทั้งหลาย แลเห็นพระองค์หมดจด เพราะเว้นจากความมืดที่เกิดจากกระพริบตา ในระหว่างๆ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน จึงเฉลิมพระนามว่า วิปัสสี เพราะเห็นได้ด้วยตาที่เปิดแล้ว (อาจารย์บางพวกกล่าวว่า หรือพระนามว่าวิปัสสี เพราะพึงวิจัยค้นหาย่อมเห็น)

    ... ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นโกณฑัญญะโคตร




    ..... พระเจ้าพันธุมารับสั่งตั้งพี่เลี้ยงนางนมแก่พระวิปัสสีราชกุมาร หญิงพวกหนึ่งให้เสวยน้ำนม หญิงพวกหนึ่งให้สรงสนาน หญิงพวกหนึ่งอุ้ม หญิงพวกหนึ่งใส่สะเอว ฯ

    ... ราชบุรุษทั้งหลาย ได้กั้นเศวตฉัตรเพื่อพระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติแล้วนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน หญ้าละออง หรือน้ำค้าง อย่าได้ตกต้องถึงพระองค์

    ... พระวิปัสสีราชกุมาร เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ดอกอุบล ดอกประทุม หรือดอกปุณฑริก เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก แม้ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมารก็ได้เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พระวิปัสสีราชกุมารนั้นอันบุคคลผลัดเปลี่ยนกันอุ้มใส่สะเอวอยู่เสมอ ฯ

    ... พระวิปัสสีราชกุมารเป็นผู้มีพระสุรเสียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน และเป็นที่ตั้งแห่งความรัก หมู่นกการเวกบนหิมวันตบรรพตมีสำเนียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน และเป็นที่ตั้งแห่งความปรีเปรม ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีพระสุรเสียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน เป็นที่ตั้งแห่งความรัก




    ..... ได้ยินว่า พระวิปัสสีโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น ทรงมีทิพยจักษุอันเกิดแต่กรรมวิบาก อันเป็นเหตุให้เห็นได้ไกลโดยรอบโยชน์หนึ่งทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์

    ... ได้ยินว่า ในกาลเมื่อครั้งอดีตพระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเพื่อพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณอยู่นั้น ได้บูชาอดีตพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งด้วยแก้วมณี แล้วปรารถนาขอให้มีทิพยจักษุญาณในทุกชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ และในอีกพระชาติหนึ่งทรงบูชาพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของอดีตพระพุทธเจ้าด้วยประทีปอันสว่างรุ่งเรืองตลอดคืนยังรุ่ง แล้วปรารถนาให้มีทิพจักขุญาณ ก็ด้วยพุทธบูชา การบูชาสมเด็จพระสรรเพชญพุทธองค์ด้วยดวงแก้วมณีและประทีปนี้แล เป็นวิบากผลให้พระวิปัสสีมหาโพธิสัตว์เจ้าได้ทิพยจักษุเห็นปานนี้

     
  11. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ได้ยินว่า พระวิปัสสีราชกุมารประทับนั่งบนพระเพลาของพระชนก ณ ศาลสำหรับพิพากษาคดีนั้น ทรงสอดส่องพิจารณาคดีแล้ว ทรงทราบได้ด้วยพระปรีชา

    ... พระราชกุมารสอดส่องพิจารณาคดีแล้ว ย่อมทรงทราบได้ด้วยพระปรีชา ครั้งนั้น สมญาว่า วิปัสสี ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีราชกุมารนั้น




    ..... ลำดับนั้น พระเจ้าพันธุมาได้โปรดให้สร้างปราสาทสำหรับพระวิปัสสีราชกุมาร ๓ หลัง คือ

    ... หลังหนึ่งชื่อนันทะปราสาท สำหรับประทับในฤดูฝน

    ... หลังหนึ่งชื่อสุนันทะปราสาทสำหรับประทับในฤดูหนาว

    ... อีกหลังหนึ่งชื่อสิริมาปราสาท สำหรับประทับในฤดูร้อน

    ... มีพระสนมกำนัลแสนสองหมื่นนางมีพระนางสุทัสสะนาเทวีเป็นประมุข บำรุงพระราชกุมารด้วยเบญจกามคุณ พระวิปัสสีราชกุมารได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีโดยไม่มีบุรุษเจือปน ในปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น มิได้เสด็จลงสู่ปราสาทชั้นล่างเลย ดังนี้แล

    ... ได้ยินว่า ในปราสาท ๓ หลังนั้น ปราสาทที่ประทับในฤดูฝน ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก แม้ประตูและหน้าต่างของปราสาทนั้น ก็ไม่มากนัก ไม่น้อยนัก อนึ่ง เครื่องปูพื้น เครื่องลาดของเคี้ยวและของบริโภคในปราสาทนี้ ควรรวมกัน

    ... ในปราสาทสำหรับประทับในฤดูหนาว แม้เสา แม้ฝาก็ตํ่า แม้ประตูและหน้าต่างน้อยก็มีช่องสะดวก เพื่อเข้าไปหาความอบอุ่น ควรนำฝาและหิ้งออก ก็ในปราสาทหลังนี้ เครื่องปูพื้น เครื่องลาดพื้น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ควรเป็นผ้ากัมพลเป็นต้น ช่วยให้เกิดความอบอุ่น ของเคี้ยวและของบริโภคอร่อยและเจือเผ็ด

    ... ในปราสาทสำหรับประทับในฤดูร้อน แม้เสาแม้ฝาก็สูง ก็ในปราสาทหลังนี้ประตูและหน้าต่างมีตาข่ายมากมาย เครื่องลาดพื้นเป็นต้นควรสำเร็จด้วยผ้าสองชั้น ของเคี้ยวและของบริโภคควรเป็นของเย็นมีรสอร่อย อนึ่ง ในปราสาทหลังนี้ ชนทั้งหลายตั้งตุ่มใหม่ไว้ในที่ใกล้หน้าต่าง ใส่นํ้าจนเต็มแล้วปลูกบัวเขียวเป็นต้น สายนํ้าไหลเหมือนฝนตกโดยท้องที่ที่ชนทั้งหลายทำท่อนํ้าไว้




    ..... ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย เธอจงเทียมยานที่ดีๆ เราจะไปสวนเพื่อชมพื้นที่อันสวยสด "

    ... นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว เทียมยานที่ดีๆ เสร็จแล้ว จึงกราบทูลแด่พระวิปัสสีราชกุมารว่า

    ... " ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้เทียมยานที่ดีๆเสร็จแล้ว บัดนี้ พระองค์ทรงกำหนดเวลาอันสมควรเถิด "

    ... ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานอันดี เสด็จประพาสพระอุทยาน พระกุมารแวดล้อมด้วยหมู่พลประมาณกึ่งโยชน์ได้จัดอารักขาเป็นอย่างดี ในโอกาสที่รถอยู่ข้างหน้า หมู่พลอยู่ข้างหลัง ได้ทอดพระเนตรชายชรา มีซี่โครงคดเหมือนกลอน หลังงอ ถือไม้เท้า เดินงกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น

    ... ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย ก็ชายผู้นี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ร่างกายของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ "

    ... นายสารถีกราบทูลว่า

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนชรา "

    ... " นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนชรา "

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนชรา บัดนี้ เขาจักพึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน "

    ... " นายสารถี ถึงตัวเราก็จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้หรือ "

    ... " ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้า ล้วนแต่จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ "

    ... " นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับภายในบุรีจากสวนนี้เถิด "

    ... ครั้งนั้นพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัยทรงพระดำริว่า

    ... " ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่ก็จักปรากฏแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว "




    ..... ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี พระวิปัสสีราชกุมาร พระวิปัสสีราชกุมาร ขณะเมื่อเสด็จประพาสพระอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรคนเจ็บ ถึงความลำบาก เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่ในมูตร(เยี่ยว)และกรีส(ขี้)ของตน คนอื่นๆ ต้องช่วยพยุงให้ลุก ผู้อื่นต้องช่วยให้กิน

    ... ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย ก็ชายนี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ตาทั้งสองของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ศีรษะของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ "

    ... นายสารถีกราบทูลว่า

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บป่วย "

    ... " นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนเจ็บป่วย "

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บป่วย ไฉนเล่าเขาจะพึงหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้ "

    ... " นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้หรือ "

    ... " ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้า ล้วนจะต้องมีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้เลย "

    ... " นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปยังภายในบุรีจากสวนนี้เถิด "

    ... ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า

    ... " ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่าขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏ ความเจ็บจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้วทั้งหลาย "




    ..... ครั้นล่วงมาอีกหลายปี พระวิปัสสีราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสพระอุทยานได้ทอดพระเนตรหมู่มหาชนประชุมกัน และวอที่ทำด้วยผ้าสีต่างๆ ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย หมู่มหาชนเขาประชุมกันทำไม และเขาทำวอด้วยผ้าสีต่างๆ กันทำไม "

    ... นายสารถีได้กราบทูลว่า

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนตาย

    ... พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสสั่งว่า

    ... " นายสารถีถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น "

    ... นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้ขับรถไปทางคนตายนั้น พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตรคนตายไปแล้ว ได้ตรัสเรียกนายสารถีมารับสั่งถามว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่าคนตาย "

    ... " นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนตาย บัดนี้ มารดาบิดาหรือญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นเขา แม้เขาก็จักไม่เห็นมารดาบิดาหรือญาติสาโลหิตอื่นๆ "

    ... " นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้หรือ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นเราหรือ แม้เราก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ หรือ "

    ... " ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จะไม่เห็น พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวีหรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ "

    ... " นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปภายในบุรีจากสวนนี้เถิด "

    ... ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า

    ... " ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ความแก่จักปรากฏ ความเจ็บจักปรากฏ ความตายจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว "




    ..... ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปจนพระวิปัสสีราชกุมารมีพระชนมายุได้แปดพันปี พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย เธอจงเทียมยานที่ดีๆ เราจะไปในสวนเพื่อชมพื้นที่อันสวยสด "

    ... นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้วเทียมยานที่ดีๆ เสร็จแล้ว ได้กราบทูลแด่พระวิปัสสีราชกุมารว่า

    ... " ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเทียมยานที่ดีๆ เสร็จแล้ว บัดนี้ พระองค์ทรงกำหนดเวลาอันสมควรเถิด "

    ... ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานที่ดีเสด็จประพาสพระอุทยานพร้อมกับยานที่ดีๆ ทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสพระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรบุรุษบรรพชิตศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์

    ... ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย บุรุษนี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ศีรษะของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่นๆ แม้ผ้าทั้งหลายของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่นๆ "

    ... นายสารถีกราบทูลว่า

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าบรรพชิต "

    ... " นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า บรรพชิต "

    ... " ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า บรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี "

    ... " นายสารถีผู้สหาย ดีละ ที่บุคคลนั้นได้นามว่า บรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางบรรพชิตนั้น "

    ... นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ขับรถไปทางบรรพชิตนั้น

    ... ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิตนั้นว่า

    ... " สหาย ท่านถูกใครทำอะไรให้ แม้ศีรษะของท่านก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ผ้าทั้งหลายของท่านก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ "

    ... บรรพชิตนั้นได้ทูลว่า

    ... " ขอถวายพระพร อาตมภาพแลชื่อบรรพชิต "

    ... " สหาย ก็ท่านหรือชื่อบรรพชิต "

    ... " ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อบรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี "

    ... " ดีละสหาย ที่ท่านได้นามว่าบรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี "

    ... ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า

    ... " นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับไปภายในบุรีจากสวนนี้ ส่วนเราจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต ณ สวนนี้แหละ "

    ... พระมหาบุรุษวิปัสสี พร้อมบุรุษแปดหมื่นสี่พันได้ออกบวชตามเสด็จกับพระมหาบุรุษ




    ..... นัยว่า มหาพรหมชั้นสุทธาวาสและเทวดาดำริว่า

    ... " พระมหาบุรุษทรงติดในกามคุณทั้ง ๕ ดุจช้างติดหล่ม เราจักยังสติให้เกิดแก่พระมหาบุรุษนั้นดังนี้ "

    ... จึงได้จำแลงเพศเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิตนั้นให้ปรากฏแก่คลองจักษุพระมหาบุรุษ เพื่อให้เกิดความเหนื่อยหน่ายแล้วเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์แสวงหาทางพ้นทุกข์ ดังนี้
     
  12. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... เมื่อนายสารถีลับคลองจักษุแล้ว พระมหาบุรุษใช้พระแสงขรรค์อันคมกริบตัดพระเมาฬีให้ขาด แล้วอธิษฐานว่า

    ... " แม้นว่าเรานี้จักได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ รื้อขนปวงสัตว์ข้ามโอฆะสงสารได้แล้วไซร้ ขอมวยผมนี้จงลอยอยู่ในอากาศเถิด "

    ... ทันใดนั้น ท้าวอมรินทราธิราชก็ถือพานทองอัญเชิญพระเมาฬีนั้นไปบรรจุไว้ที่พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์สถาน ณ ภพดาวดึงส์

    ... ได้ยินว่า พระเกศาที่เหลือประมาณสองนิ้วได้วนเป็นทักขิณาวัฏราบเรียบติดกับพระเศียรมองดูเหมือนคนโกนผมได้ห้าวัน และตั้งอยู่อย่างนี้จนเข้าสู่พระปรินิพพาน

    ... ในกาลนั้น ท้าวสหัมบดีมหาพรหมจากสุทธาวาสก็ได้น้อมถวายผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินแก่พระมหาบุรุษ พระมหาบุรุษเปลื้องอาภรณ์เครื่องทรงกษัตริย์ออกแล้ว ทรงถือเอาผ้ากาสาวพัสตร์ทรงเพศเป็นพระภิกษุ (ภิกขุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร) ในกาลนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์เจ้าได้ถือบรรพชา ณ พระราชอุทยานเขมะมิคะทายวัน พร้อมด้วยบริวารแปดหมื่นสี่พัน

    ... ได้ยินว่า ในวันที่พระมหาบุรุษออกมหาภิเษกรมณ์นั้นแล พระนางสุทัสสะนาเทวีได้ประสูติพระโอรส พระนามว่า สมวัฏฏขันธะ




    ..... พระวิปัสสีโพธิสัตว์อันบริษัทนั้นห้อมล้อม เสด็จเที่ยวจาริกไปในบ้าน นิคม ชนบท และราชธานี

    ... ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า

    ... " พวกนี้ เมื่อก่อนแวดล้อมเราผู้เป็นคฤหัสถ์เที่ยวไปอย่างใด แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้นอยู่อีก ประโยชน์อะไรด้วยคณะนี้ ทรงรังเกียจด้วยการปะปนอยู่กับคณะ "

    ... ทรงดำริว่า " เราจะไปวันนี้แหละ "

    ... แล้วทรงดำริต่อไปว่า " วันนี้ยังไม่ใช่เวลา หากเราจักไปเดี๋ยวนี้ พวกนี้ทั้งหมดก็จะรู้ เราจักไปวันพรุ่งนี้ "

    ... อนึ่ง ในวันนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านเช่นกับหมู่บ้านอุรุเวลาได้นิมนต์พระโพธิสัตว์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น

    ... ชาวบ้านเหล่านั้นตระเตรียมข้าวปายาสสำหรับบรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปและสำหรับพระมหาบุรุษ ขณะนั้น พระมหาบุรุษได้ฉันอาหารกับบรรพชิตเหล่านั้นในบ้านนั้น ในวันรุ่งขึ้นแล้วได้ไปที่อยู่ ณ ที่นั้น พวกบรรพชิตได้ปรนนิบัติพระมหาบุรุษเสร็จแล้วเข้าไปที่พักกลางคืนและกลางวันของตนๆ แม้พระโพธิสัตว์ก็เสด็จเข้าไปประทับนั่ง ณ บรรณศาลา ทรงรำพึงว่า

    ... " เมื่อถึงเวลาเที่ยง นกทั้งหลายมารวมกัน ป่าใหญ่จะมีเสียงอึกกะทึก ภัยนั้นจะส่องถึงเรา "

    ... ในคราวมีภัยแก่ผู้ยินดีในความสงัด ในคราวมีความวุ่นวายแก่สัตว์ทั้งปวงเห็นปานนี้ พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่านี้ถึงเวลาแล้ว จึงเสด็จออกปิดประตูบรรณศาลา บ่ายพระพักตร์สู่โพธิมัณฑะ (แม้ในกาลอื่น พระโพธิสัตว์เที่ยวไปในที่นั้น ทรงเห็นโพธิมัณฑะ แต่พระทัยพระโพธิสัตว์นั้นไม่เคยน้อมไปเพื่อประทับนั่งเลย แต่วันนั้น พระญาณของพระโพธิสัตว์ถึงความแก่กล้า เพราะฉะนั้น เกิดจิตเพื่อทอดพระเนตรโพธิมัณฑะที่ตกแต่งแล้ว)




    ..... พระวิปัสสีโพธิสัตว์เจ้าทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือน เช้าวันวิสาขปุรณมี เพ็ญเดือน ๖ พระมหาบุรุษเสวยข้าวมธุปายาสที่ธิดาสุทัสสนะเศรษฐีถวาย ทรงพักกลางวัน ณ ป่าต้นรังหนุ่มที่ประดับด้วยดอกหอมใบงาม ยามบ่ายหลังจากสรงสนานพระวรกายแล้ว ทรงรับหญ้า ๘ กำ ที่คนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อสุชาตะถวาย ทรงเสด็จไปตามทางที่เหล่าเทวดาและพรหมทั้งหลายจัดแจงไว้แล้ว เข้าสู่ลานพระศรีมหาโพธิพฤกษ์ชื่อว่า ปาฏลี (ต้นแคฝอยที่กำลังออกดอกงามสะพรั่ง) จึงเสด็จเข้าไปยังโพธิพฤกษ์นั้นทางทิศทักษิณ

    ... วันนั้นลำต้นอันเกลากลมของต้นปาฏลีนั้นสูงชะลูดขึ้นไป ๕๐ ศอก กิ่ง ๕๐ ศอก สูง ๑๐๐ ศอก วันนั้นนั่นเอง ต้นปาฏลีนั้นออกดอกดารดาษไปหมดทั้งต้น เริ่มแต่โคนต้นดอกทั้งหลายมีกลิ่นหอมอย่างยิ่ง เหมือนผูกไว้เป็นช่อ มิใช่ปาฏลีต้นนี้ต้นเดียวเท่านั้นที่ออกดอกในเวลานั้น ต้นปาฏลีทั้งหมดในหมื่นจักรวาลก็ออกดอกด้วย มิใช่ต้นปาฏลีอย่างเดียวเท่านั้น แม้ไม้ต้นไม้กอและไม้เถาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลก็ออกดอกบาน แม้มหาสมุทรก็ดารดาษไปด้วยปทุม บัวสาย อุบลและโกมุท ๕ สี มีน้ำเย็นอร่อย ระหว่างหมื่นจักรวาลทั้งหมดก็เกลื่อนกล่นไปด้วยธงและมาลัย พื้นแผ่นธรณีอันตกแต่งด้วยดอกไม้กลิ่นหอมนานาชนิด ก็เกลื่อนกล่นด้วยพวงมาลัย มืดมัวไปด้วยจุรณแห่งธูป แม้พรหมและเทวดาทั้งหมดต่างยืนยอกรนมัสการแวดล้อมพระโพธิสัตว์เต็มห้องจักรวาลทีเดียว

    ... พระองค์เสด็จเข้าไปยังต้นปาฏลีนั้น ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๕๓ ศอก ทรงอธิษฐานความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ ประทับนั่ง ทำปฏิญาณว่า

    ... " หากว่าเรายังไม่ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าเพียงใด ก็จะไม่ยอมลุกจากที่นี้เพียงนั้น "

    ... ใกล้ค่ำ พระมหาบุรุษทรงเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ไม่นานนักจิตของพระองค์ทรงได้ถึงฌานแปด ทรงถอยหลังมาฌาน ๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ อุปจารฌาน แล้วเข้าฌาน ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘ ทรงเข้าฌานออกฌานจนได้วสีชำนาญดีแล้ว จิตของพระองค์ทรงมีความสุขสงบเยือกเย็นยิ่งนัก

    ... ในปฐมยาม ทรงชำระทิพยจักขุ ทรงทำปุพเพนิวาสานุสสติญาณให้บังเกิด ทรงระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในภพก่อนกาลก่อนได้ไม่มีจำกัด ทรงทราบว่าทรงได้ปรารถนาพระโพธิญาณมาแต่กาลไหน พระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสพยากรณ์พระองค์ทรงสอนว่าอย่างไร ดังนี้เป็นต้น อันเป็นปัจจัยให้พระองค์ได้บรรลุพระโพธิญาณ

    ... ในมัชฌิมยามที่สอง ทรงยังจุตูปปาตญาณให้บังเกิด ทรงเห็นการเกิดตายของเหล่าสรรพสัตว์ในไตรภพ ทรงเห็นความทุกข์ยากลำบากในการเกิดตาย ยังความเบื่อหน่ายในภพชาติให้เกิดแก่พระมหาบุรุษยิ่งนัก

     
  13. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ในยามที่สามทรงพิจารณาปัจจยาการ ทรงออกจากจตุตถฌาน ทรงตั้งจิตที่อุปจารสมาธิ ทรงพิจารณาว่า โลกนี้ถึงความยาก ย่อมเกิด แก่ ตาย และเวียนตาย เวียนเกิด เออก็แหละบุคคลไม่รู้ชัดถึงอุบายเครื่องพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ การพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ จักปรากฏได้เมื่อไรเล่า

    ... พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชราและมรณะจึงมี ชราและมรณะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี ชราและมรณะมีเพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชาติจึงมี ชาติมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพมีอยู่ชาติจึงมี ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ภพจึงมี ภพมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานมีอยู่ภพจึงมี ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนามีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อสฬายตนะ(คืออายตนะ ๑๒ คือ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายนอก ๖ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่มากระทบใจ)มีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรมีอยู่หนอ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า วิญญาณนี้ย่อมกลับเวียนมาแต่นามรูป หาใช่อย่างอื่นไม่ โดยความเป็นไปเพียงเท่านี้

    ... สัตว์โลกพึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุปบัติบ้าง ความเป็นไปนั้น คือ

    ... วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย

    ... นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

    ... สฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย

    ... ผัสสะมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

    ... เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย

    ... ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย

    ... อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย

    ... ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

    ... ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย

    ... ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัสและอุปายาส ย่อมมีพร้อมเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

    ... จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า สมุทัยๆ(เหตุเกิดขึ้นพร้อมๆ ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย



    ..... ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ได้ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะย่อมไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพไม่มีชาติย่อมไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานไม่มี ภพย่อมไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ อุปาทานจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานย่อมไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหาจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาย่อมไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนาจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาย่อมไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแลการตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะย่อมไม่มี เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ ดังนี้

    .. ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ สฬายตนะจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะย่อมไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปย่อมไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ

    ... ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณย่อมไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ ดังนี้

    ... ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า หนทางเพื่อความตรัสรู้นี้เราได้บรรลุแล้วแล คือ

    ... เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ

    ... เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

    ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

    ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

    ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

    ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

    ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

    ... เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

    ... เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

    ... เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับโดยไม่เหลือเชื้อ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

    ... จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า นิโรธๆ (ความดับๆ ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 พฤศจิกายน 2013
  14. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า

    ... ดังนี้รูป ดังนี้เหตุเกิดแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป

    ... ดังนี้เวทนา ดังนี้เหตุเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ความดับแห่งเวทนา

    ... ดังนี้สัญญา ดังนี้เหตุเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่งสัญญา

    ... ดังนี้สังขาร ดังนี้เหตุเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ความดับแห่งสังขาร

    ... ดังนี้วิญญาณ ดังนี้เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ

    ... เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ไม่นานนักจิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นแล

    ... ในปัจจุสมัยใกล้รุ่ง ยามแสงทองจับขอบฟ้า จิตของพระมหาบุรุษทรงพ้นแล้วจากเครื่องผูกมัดทั้งปวง ทรงรู้แจ้งแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ทรงตรัสเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สมเด็จพระวิปัสสีวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดออกแล้ว มีพระสันดานเบิกบานดุจดอกประทุมต้องแสงอาทิตย์ ฉะนั้น

    ... ทรงกระทำพระดำริที่มีมาตลอดสิบหกอสงไขยกำไรแสนกัปให้บริบูรณ์ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข(ความสุขจากการหลุดพ้นจากกิเลสาสวานุสัย) ณ โพธิบัลลังก์

    ... ทรงกระทำมรรคญาณ ๔ ( โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค)

    ... ผลญาณ ๔ (โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล)

    ... ปฏิสัมภิทา ๔ (ธัมมะปฏิสัมภิทา อัตถะปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา

    ... ญาณกำหนดกำเนิด ๔ (เกิดในไข่ เกิดในเถ้าไคลที่สกปรก เกิดแต่ท้องมารดา ผุดเกิด)

    ... ญาณกำหนดคติ ๕ (อบายภูมิ มนุสสโลก เทวโลก พรหมโลก และพระนิพพาน)




    ..... ตถาคตพลญาณ ๑๐ คือ

    ... (ภาษาไทยเรียกพระทศพลญาณ) พระบาลีเรียก พระตถาคตพละญาณ ๑๐ คือ

    ... พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคตเจ้า ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง

    ... ๑. ฐานาฐานะญาณ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน

    ... ๒. กรรมวิปากะญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน

    ... ๓. สัพพัตถะคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร

    ... ๔. นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นเอนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิการปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะ และธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลาย

    ... ๕. นานาธิมุตติกะญาณ ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน

    ... ๖. อินทริยะปะโรปริยัตตะญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่

    ... ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ่ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย

    ... ๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้โดยไม่มีจำกัด

    ... ๙. จุตูปปาตะญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม

    ... ๑๐. อาสวักขยะญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ(คือสังโยชน์ ๑๐ ประการ)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 พฤศจิกายน 2013
  15. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... และ ญาณ ๗๓ ประการ คือ

    ... ๑. ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ (ปรีชาอันสำเร็จมาแต่การฟัง)

    ... ๒. ปัญญาในการฟังธรรมแล้ว สังวรไว้ เป็นสีลมยญาณ (ปรีชาอันสำเร็จมาแต่ศีล)

    ... ๓. ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็นภาวนามยญาณ (ปรีชาอันสำเร็จมาแต่การเจริญสมาธิ)

    ... ๔. ปัญญาในการกำหนดปัจจัย เป็นธัมมะฐิติญาณ (ปรีชาในเหตุธรรม)

    ... ๕. ปัญญาในการย่อธรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนอดีตส่วนอนาคตและส่วนปัจจุบันแล้วกำหนดไว้ เป็นสัมมสนญาณ (ปรีชาในการพิจารณา)

    ... ๖. ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งธรรมส่วนปัจจุบัน เป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ (ปรีชาในการพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม)

    ... ๗. ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป เป็นวิปัสสนาญาณ (ปรีชาในความเห็นแจ้ง)

    ... ๘. ปัญญาในการปรากฏโดยความเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณ (ปรีชาในการเห็นโทษ)

    ... ๙. ปัญญาในความปรารถนาจะพ้นไป ทั้งพิจารณาและวางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเปกขาญาณ (ปรีชาวางเฉยในสังขาร)

    ... ๑๐.ปัญญาในการออกและหลีกไปจากสังขารนิมิตภายนอก เป็นโคตรภูญาณ

    ... ๑๑. ปัญญาในการออกและหลีกไปจากกิเลส ขันธ์และสังขารนิมิตภายนอกทั้งสอง เป็นมรรคญาณ

    ... ๑๒. ปัญญาในการระงับประโยคเป็นผลญาณ

    ... ๑๓. ปัญญาในการพิจารณาเห็นอุปกิเลสนั้นๆ อันอริยมรรคนั้นๆตัดเสียแล้ว เป็นวิมุติญาณ

    ... ๑๔. ปัญญาในการพิจารณาเห็นธรรมที่เข้ามาประชุมในขณะนั้น เป็นปัจจเวกขณญาณ

    ... ๑๕. ปัญญาในการกำหนดธรรมภายใน เป็นวัตถุนานัตตญาณ (ปรีชาในความต่างแห่งวัตถุ)

    ... ๑๖. ปัญญาในการกำหนดธรรมภายนอก เป็นโคจรนานัตตญาณ (ปรีชาในความต่างแห่งโคจร)

    ... ๑๗. ปัญญาในการกำหนดจริยา เป็นจริยานานัตตญาณ (ปรีชาในความต่างแห่งจริยา)

    ... ๑๘. ปัญญาในการกำหนดธรรม ๔ เป็นภูมินานัตตญาณ (ปรีชาในความต่างแห่งภูมิ)

    ... ๑๙. ปัญญาในการกำหนดธรรม ๙ เป็นธรรมนานัตตญาณ (ปรีชาในความต่างแห่งธรรม)

    ... ๒๐. ปัญญาที่รู้ยิ่ง เป็นญาตัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่ารู้)

    ... ๒๑. ปัญญาเครื่องกำหนดรู้เป็นตีรณัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าพิจารณา)

    ... ๒๒. ปัญญาในการละ เป็นปริจจาคัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าสละ)

    ... ๒๓. ปัญญาเครื่องเจริญ เป็นเอกรสัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่ามีกิจเป็นอันเดียว)

    ... ๒๔. ปัญญาเครื่องทำให้แจ้ง เป็นผัสสนัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าถูกต้อง)

    ... ๒๕. ปัญญาในความต่างแห่งอรรถ เป็นอัตถปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๒๖. ปัญญาในความต่างแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๒๗. ปัญญาในความต่างแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๒๘. ปัญญาในความต่างแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๒๙. ปัญญาในความต่างแห่งวิหารธรรม เป็นวิหารัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าธรรมเครื่องอยู่)

    ... ๓๐. ปัญญาในความต่างแห่งสมาบัติเป็นสมาปัตตัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าสมาบัติ)

    ... ๓๑. ปัญญาในความต่างแห่งวิหารสมาบัติ เป็นวิหารสมาปัตตัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าวิหารสมาบัติ)

    ... ๓๒. ปัญญาในการตัดอาสวะขาด เพราะความบริสุทธิ์แห่งสมาธิอันเป็นเหตุไม่ให้ฟุ้งซ่าน เป็นอานันตริกสมาธิญาณ (ปรีชาในสมาธิอันมีในลำดับ)

    ... ๓๓. ทัสนาธิปไตย ทัสนะมีความเป็นอธิบดี วิหาราธิคม คุณเครื่องบรรลุ คือวิหารธรรมอันสงบ และปัญญาในความที่จิตเป็นธรรมชาติน้อมไปในผลสมาบัติอันประณีต เป็นอรณวิหารญาณ (ปรีชาในวิหารธรรมอันไม่มีกิเลสเป็นข้าศึก)

    ... ๓๔. ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญด้วยความเป็นผู้ประกอบด้วยพละ ๒ ด้วยความระงับสังขาร ๓ ด้วยญาณจริยา ๑๖ และด้วยสมาธิจริยา ๙ เป็นนิโรธสมาปัตติญาณ (ปรีชาในนิโรธสมาบัติ)

    ... ๓๕. ปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ของบุคคลผู้รู้สึกตัว เป็นปรินิพพานญาณ

    ... ๓๖. ปัญญาในความไม่ปรากฏแห่งธรรมทั้งปวง ในการตัดขาดโดยชอบและในนิโรธ เป็นสมสีสัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าธรรมอันสงบและธรรมอันเป็นประธาน)

    ... ๓๗. ปัญญาในความสิ้นไปแห่งกิเลสอันหนา สภาพต่างๆ และเดชเป็นสัลเลขัฏฐญาณ (ปรีชาในความว่าธรรมเครื่องขัดเกลา)

    ... ๓๘. ปัญญาในความประคองไว้ซึ่งจิตอันไม่หดหู่และจิตที่ส่งไป เป็นวิริยารัมภญาณ

    ... ๓๙. ปัญญาในการประกาศธรรมต่างๆ เป็นอรรถสันทัสนญาณ (ปรีชาในการเห็นชัดซึ่งอรรถธรรม)

    ... ๔๐. ปัญญาในการสงเคราะห์ธรรมทั้งปวงเป็นหมวดเดียวกันในการแทงตลอดธรรมต่างกันและธรรมเป็นอันเดียวกัน เป็นทัสนวิสุทธิญาณ

    ... ๔๑. ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น เป็นขันติญาณ

    ... ๔๒. ปัญญาในความถูกต้องธรรมเป็นปริโยคาหนญาณ (ปรีชาในความย่างเข้าไป)

    ... ๔๓. ปัญญาในการรวมธรรมเป็นปเทสวิหารญาณ (ปรีชาในวิหารธรรมส่วนหนึ่ง)

    ... ๔๔. ปัญญาในความมีกุศลธรรมเป็นอธิบดีเป็นสัญญาวิวัฏฏญาณ (ปรีชาในความหลีกไปด้วยปัญญาที่รู้ดี)

    ... ๔๕. ปัญญาในธรรมเป็นเหตุละความเป็นต่างๆ เป็นเจโตวิวัฏฏญาณ (ปรีชาในการหลีกออกจากนิวรณ์ด้วยใจ)๔๖. ปัญญาในการอธิษฐาน เป็นจิตตวิวัฏฏญาณ (ปรีชาในความหลีกไปแห่งจิต)

    ... ๔๗. ปัญญาในธรรมอันว่างเปล่า เป็นญาณวิวัฏฏญาณ (ปรีชาในความหลีกไปด้วยญาณ)

    ... ๔๘. ปัญญาในความสลัดออก เป็นวิโมกขวิวัฏฏญาณ (ปรีชาในความหลีกไปแห่งจิตด้วยวิโมกข์)

    ... ๔๙. ปัญญาในความว่าธรรมจริงเป็นสัจจวิวัฏฏญาณ (ปรีชาในความหลีกไปด้วยสัจจะ)

    ... ๕๐. ปัญญาในความสำเร็จด้วยการกำหนดกาย (รูปกายของตน) และจิต (จิตมีญาณเป็นบาท) เข้าด้วยกัน และด้วยสามารถแห่งความตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญา (สัญญาประกอบด้วยอุเบกขาในจตุตถฌานเป็นสุขละเอียด) และลหุสัญญา (สัญญาเบาเพราะพ้นจากนิวรณ์และปฏิปักขธรรม) เป็นอิทธิวิธญาณ (ญาณในการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ)

    ... ๕๑. ปัญญาในการกำหนดเสียงเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียวด้วยสามารถการแผ่วิตกไป เป็นโสตธาตุวิสุทธิญาณ (ปรีชาอันหมดจดแห่งโสตธาตุ)

    ... ๕๒. ปัญญาในการกำหนดจริยาคือ วิญญาณหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยความแผ่ไปแห่งจิต ๓ ประเภท และด้วยสามารถแห่งความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นเจโตปริยญาณ (ปรีชาในความกำหนดรู้จิตผู้อื่นด้วยจิตของตน)

    ... ๕๓. ปัญญาในการกำหนดธรรมทั้งหลายอันเป็นไปตามปัจจัย ด้วยสามารถความแผ่ไปแห่งกรรมหลายอย่างหรืออย่างเดียว เป็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาเป็นเครื่องระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้)

    ... ๕๔. ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแห่งแสงสว่าง เป็นทิพจักขุญาณ

    ... ๕๕. ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญในอินทรีย์ ๓ ประการ โดยอาการ ๖๔ เป็นอาสวักขยญาณ (ปรีชาในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)

    ... ๕๖. ปัญญาในความกำหนดรู้ เป็นทุกขญาณ

    ... ๕๗. ปัญญาในความละ เป็นสมุทยญาณ

    ... ๕๘. ปัญญาในความทำให้แจ้ง เป็นนิโรธญาณ

    ... ๕๙. ปัญญาในความเจริญ เป็นมรรคญาณ

    ... ๖๐. ทุกขญาณ (ปรีชาในทุกข์)

    ... ๖๑. ทุกขสมุทยญาณ (ปรีชาในเหตุให้เกิดทุกข์)

    ... ๖๒. ทุกขนิโรธญาณ (ปรีชาในความดับทุกข์)

    ... ๖๓. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาในข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับทุกข์)

    ... ๖๔. อรรถปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๖๕. ธรรมปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๖๖. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ๖๗. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

    ... ญาณทั้ง ๖๗ ประการนี้ เป็นสาธารณะญาณเป็นญาณทั่วไปแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งปวง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 พฤศจิกายน 2013
  16. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... แต่นี้จักแสดงในอสาธารณะญาณ พระญาณที่มีเฉพาะแต่องค์สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่สาวก มี ๖ พระญาณ(รวมกับพระตถาคตพลญาณที่แสดงมาแล้วเป็น ๗ ประการ) คือ


    ... ๖๘. อินทริยปโรปริยัตตะญาณ (ปรีชาคือความรู้ในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย) ก็อินทรียะปโรปริยัตตะญาณของพระตถาคตเป็นไฉน

    ... ในอินทรียะปโรปริยัตตญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

    ... คำว่า มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ ความว่า

    ... บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้ปรารภความเพียร เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้เกียจคร้าน เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ

    ... บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ




    ..... คำว่า มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน ความว่า

    ... บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า

    ... บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีอินทรีย์อ่อน

    ... บุคคลผู้ปรารภความเพียร เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า

    ... บุคคลผู้เกียจคร้าน เป็นคนมีอินทรีย์อ่อน

    ... บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า

    ... บุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นคนมีอินทรีย์อ่อน

    ... บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า

    ... บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เป็นคนมีอินทรีย์อ่อน

    ... บุคคล บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า

    ... บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมีอินทรีย์อ่อน




    ..... คำว่า มีอาการดี มีอาการชั่ว ความว่า

    ... บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีอาการดี

    ... บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีอาการชั่ว

    ... บุคคลผู้ปรารภความเพียร เป็นคนมีอาการดี

    ... บุคคลผู้เกียจคร้าน เป็นคนมีอาการชั่ว

    ... บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นคนมีอาการดี

    ... บุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นคนมีอาการชั่ว

    ... บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นคนมีอาการดี

    ... บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เป็นคนมีอาการชั่ว

    ... บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีอาการดี

    ... บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมีอาการชั่ว




    ..... คำว่า พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก ความว่า

    ... บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย

    ... บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก

    ... บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย

    ... บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนพึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก




    ..... คำว่า บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยบางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย ความว่า

    ... บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

    ... บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

    ... บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

    ... บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย




    ...... ชื่อว่าโลก คือ ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกคือภพวิบัติ โลกคือสมภพวิบัติ โลกคือภพสมบัติ โลกคือสมภพสมบัติ

    ... โลก ๑ คือสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร

    ... โลก ๒ คือ นามและรูป

    ... โลก ๓ คือเวทนา ๓

    ... โลก ๔ คืออาหาร ๔

    ... โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕

    ... โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖

    ... โลก ๗ คือ ภูมิเป็นที่ตั้งวิญญาณ ๗

    ... โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘

    ... โลก ๙ คือ ภพเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ ๙

    ... โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐

    ... โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒

    ... โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘




    ..... ชื่อว่าโทษ คือ

    ... กิเลสทั้งปวง

    ... ทุจริตทั้งปวง

    ... อภิสังขารทั้งปวง

    ... กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวง เป็นโทษ

    ... ความสำคัญในโลกนี้และโทษนี้ว่าเป็นภัยอันแรงกล้า ปรากฏแล้วด้วยประการดังนี้ เหมือนความสำคัญในศัตรูผู้เงื้อดาบเข้ามาจะฆ่า ฉะนั้น

    ... พระตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็น ทรงทราบชัด ทรงแทงตลอดซึ่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ด้วยอาการ ๕๐ นี้ นี้เป็นอินทรียะปโรปริยัตตะญาณของพระตถาคตเจ้าแล

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 พฤศจิกายน 2013
  17. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ๖๙. อาสยานุสยญาณ (ปรีชาในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย) พระญาณในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย ของพระตถาคตเจ้า เป็นไฉน

    ... ในพระญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทราบฉันทะเป็นที่มานอน กิเลสอันนอนเนื่อง จริต อธิมุติ ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทรงทราบชัดภัพพะสัตว์และอภัพพะสัตว์





    ..... ก็ฉันทะเป็นที่มานอนของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ... สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้อาศัยทิฐิในภพก็มี อาศัยทิฐิในความปราศจากภพก็มี ดังนี้ว่า

    ... โลกเที่ยงบ้าง

    ... โลกไม่เที่ยงบ้าง

    ... โลกมีที่สุดบ้าง

    ... โลกไม่มีที่สุดบ้าง

    ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง

    ... ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นบ้าง

    ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกบ้าง

    ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีกบ้าง

    ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง

    ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง

    ... บุคคลไม่ข้องแวะส่วนที่สุดทั้งสองนี้เสียแล้ว เป็นอันได้ขันติอันสมควร ในธรรมทั้งหลายอันอาศัยกันคือความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยเกิดขึ้น




    ..... อนึ่ง พระตถาคตย่อมทรงทราบบุคคลผู้เสพกาม ด้วยยถาภูตญาณ คือ

    ... ทรงทราบบุคคลผู้เสพกามว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในกาม มีกามเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในกาม

    ... ทรงทราบบุคคลผู้เสพเนกขัมมะว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในเนกขัมมะ มีเนกขัมมะเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในเนกขัมมะ

    ... ทรงทราบบุคคลผู้เสพพยาบาทว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในพยาบาท มีพยาบาทเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในพยาบาท

    ... ทรงทราบบุคคลผู้เสพความไม่พยาบาทว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในความไม่พยาบาท มีความไม่พยาบาทเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในความไม่พยาบาท

    ... ทรงทราบบุคคลผู้เสพถีนมิทธะว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในถีนมิทธะ มีถีนมิทธะเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในถีนมิทธะ

    ... ทรงทราบบุคคลผู้เสพอาโลกสัญญาว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในอาโลกสัญญา มีอาโลกสัญญาเป็นที่อาศัย น้อมใจไปในอาโลกสัญญา



    ..... ก็กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ... กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย

    ... กามราคานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก

    ... ปฏิฆานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก อวิชชาตกไปตามในธรรมสองประการนี้ ดังนี้ มานะ ทิฐิ และวิจิกิจฉา ซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับอวิชชานั้น ก็พึงเห็นดังนั้น นี้เป็นกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย




    ..... ก็จริตของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ... ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นภูมิน้อยก็ตาม เป็นภูมิมากก็ตาม นี้เป็นจริตของสัตว์ทั้งหลาย




    ..... ก็อธิมุติของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ... สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุติเลวก็มี มีอธิมุติประณีตก็มี

    ... สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติเลวเหมือนกัน

    ... สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติประณีต ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกัน

    ... แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ก็สมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติเลวเหมือนกัน

    ... สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติประณีต ก็สมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกัน

    ... แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ก็จักสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ผู้มีอธิมุติเลวเหมือนกัน

    ... สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติประณีต ก็จักสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กะสัตว์ ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกัน นี้เป็นอธิมุติของสัตว์ทั้งหลาย




    ..... ภัพพะสัตว์และอภัพพะสัตว์เป็นไฉน

    ... สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธาไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตะนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นอภัพพะสัตว์

    ... ภัพพะสัตว์เป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตะนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นภัพพะสัตว์



    ..... นี้เป็นญาณในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย ของพระตถาคตเจ้าแล
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 พฤศจิกายน 2013
  18. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ๗๐. ยมกปาฏิหาริยญาณ (ปรีชาในยมกปาฏิหาริย์) ก็ยมกปาฏิหาริยะญาณของพระตถาคตเจ้าเป็นไฉน

    ... ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ไม่สาธารณะด้วยหมู่พระสาวก คือ

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระบาทเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระบาทเบื้องซ้าย

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระบาทเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระบาทเบื้องขวา

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระองคุลี สายน้ำพุ่งออกจากระหว่างพระองคุลี

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากระหว่างพระองคุลี สายน้ำพุ่งออกจากพระองคุลี

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ สายน้ำพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ

    ... ท่อไฟพุ่งออกจากขุมพระโลมา สายน้ำพุ่งออกจากขุมพระโลมา

    ... พระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระสรีระกายด้วยสามารถแห่งวรรณะ ๖ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาวสีแสด สีเลื่อมประภัสสร




    ..... พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม พระพุทธนิมิตประทับยืนประทับนั่ง หรือทรงไสยาสน์

    ... พระผู้มีพระภาคประทับยืน พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับนั่งหรือทรงไสยาสน์

    ... พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือทรงไสยาสน์

    ... พระผู้มีพระภาคทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือประทับนั่ง

    ... พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม ประทับนั่ง หรือทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตประทับยืน

    ... พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตประทับนั่ง

    ... พระผู้มีพระภาคประทับยืน ประทับนั่งหรือเสด็จจงกรม พระพุทธนิมิตทรงไสยาสน์

    ... นี้เป็นยมกปาฏิหาริยญาณของพระตถาคตเจ้า

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 พฤศจิกายน 2013
  19. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ๗๑. มหากรุณาสมาปัตติญาณ ก็มหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคตเจ้าเป็นไฉน

    ... พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นอยู่ด้วยอาการเป็นอันมาก จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ คือ

    ... พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสอันไฟติดโชนแล้ว ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสยกพลแล้ว ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเคลื่อนพลแล้ว ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเดินทางผิดแล้ว ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกอันชรานำเข้าไป มิได้ยั่งยืน ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสไม่มีที่ต้านทาน ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสไม่มีที่เร้น ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสไม่เป็นที่พึ่งของใคร ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสมีลูกศร ถูกลูกศรเป็นจำนวนมากเสียบแทงแล้วใครอื่นนอกจากเราผู้จะถอนลูกศรทั้งหลายของโลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสมีความมืดตื้อคืออวิชชาปิดกั้นไว้ ถูกใส่เข้าไปยังกรงกิเลส ใครอื่นนอกจากเราซึ่งจะแสดงธรรมเป็นแสงสว่างแก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสตกอยู่ในอำนาจอวิชชา เป็นผู้มืด อันอวิชชาหุ้มห่อไว้ ยุ่งดังเส้นด้าย พันกันเป็นกลุ่มก้อน นุงนังดังหญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย ไม่ล่วงพ้นสงสาร คือ อบาย ทุคติและวินิบาต ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกอวิชชามีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่แล้ว มีกิเลสเป็นโทษ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะโทสะและโมหะ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยสางรกชัฏให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกกองตัณหาสวมไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกกระแสตัณหาพัดไป ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้องไว้...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะตัณหานุสัย ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหา ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกกองทิฐิสวมไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกข่ายคือทิฐิครอบไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกกระแสทิฐิพัดไป...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกทิฐิเป็นเครื่องคล้องไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะทิฏฐานุสัย ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะทิฏฐิ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะทิฏฐิ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสไปตามชาติ(คือความเกิด) ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสซมซานไปเพราะชรา ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกพยาธิครอบงำ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกมรณะห้ำหั่น ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสตกอยู่ในกองทุกข์ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกตัณหาซัดไป โลกสันนิวาสถูกกำแพงคือชราแวดล้อมไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกบ่วงมัจจุคล้องไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกเป็นอันมาก คือ เครื่องผูกคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ กิเลส ทุจริต ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยแก้เครื่องผูกให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเดินไปตามทางแคบมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยชี้ทางสว่างให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกความกังวลเป็นอันมากพัวพันไว้ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยตัดความกังวลให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสตกลงไปในเหวใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้น ให้ขึ้นพ้นจากเหว เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเดินทางกันดารมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นข้ามพ้นทางกันดารได้ เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเดินทางไปในสังสารวัฏใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นพ้นจากสังสารวัฏได้ เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสกลิ้งเกลือกอยู่ในหล่มใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้น ให้พ้นจากหล่มได้ เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสร้อนอยู่บนเครื่องร้อนเป็นอันมากถูกไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำไว้ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยดับไฟเหล่านั้นให้แก่โลกสันนิวาสนั้นได้เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสทุรนทุราย เดือดร้อนเป็นนิตย์ ไม่มีอะไรต้านทาน ต้องรับอาชญา ต้องทำตามอาชญา ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกผูกด้วยเครื่องผูกในวัฏฏะ ปรากฏอยู่ที่ตะแลงแกง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยโลกสันนิวาสนั้นให้หลุดพ้นได้เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ควรได้รับความกรุณาอย่างยิ่ง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยต้านทานให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกทุกข์เสียบแทงบีบคั้นมานาน ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสติดใจกระหายอยู่เป็นนิตย์ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเป็นโลกบอด ไม่มีจักษุ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสมีนัยน์ตาเสื่อมไป ไม่มีผู้นำ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ทางผิด หลงทางแล้ว ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยพาโลกสันนิวาสนั้นมาสู่ทางอริยะ เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ห้วงโมหะใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้นให้ขึ้นจากห้วงโมหะ เป็นไม่มี ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกทิฐิ ๒ อย่างกลุ้มรุม ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสปฏิบัติผิดด้วยทุจริต ๓ อย่าง ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเต็มไปด้วยกิเลสเครื่องประกอบ ถูกกิเลสเครื่องประกอบ ๔ อย่างประกอบไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกกิเลสเครื่องร้อยกรอง ๔ อย่างร้อยไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถือมั่นด้วยอุปาทาน ๔ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสขึ้นสู่คติ ๕ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกนิวรณ์ ๕ ทับไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสวิวาทกันอยู่ด้วยมูลเหตุวิวาท ๖ อย่าง ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกองตัณหา ๖ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกทิฐิ ๖ กลุ้มรุมแล้ว ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะอนุสัย ๗ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๗ เกี่ยวคล้องไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสฟูขึ้นเพราะมานะ ๗ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเวียนอยู่เพราะโลกธรรม ๘ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ ๘ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสประทุษร้ายกันเพราะบุรุษโทษ ๘ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสมุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ ๙ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสพองขึ้นเพราะมานะ ๙ อย่าง ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่เพราะธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล ๙ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสย่อมเศร้าหมองเพราะกิเลสวัตถุ ๑๐ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสมุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ ๑๐ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๑๐เกี่ยวคล้องไว้ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ ๑๐ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสประกอบด้วยมิจฉาทิฐิมีวัตถุ ๑๐ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสประกอบด้วยสักกายทิฐิมีวัตถุ ๑๐ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสต้องเนิ่นช้าเพราะตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้า ๑๐๘ ...

    ... พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า โลกสันนิวาสถูกทิฐิ ๖๒ กลุ้มรุมจึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปให้หมู่สัตว์ว่า


    ... " ส่วนเราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังข้ามไม่ได้

    ... ส่วนเราเป็นผู้พ้นไปแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่พ้นไป

    ... ส่วนเราทรมานได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังทรมานไม่ได้

    ... ส่วนเราสงบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่สงบ

    ... ส่วนเราเป็นผู้เบาใจแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่เบาใจ

    ... ส่วนเราเป็นผู้ดับรอบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่ดับรอบ

    ... ก็เราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกข้ามได้ด้วย

    ... เราเป็นผู้พ้นไปแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นไปด้วย

    ... เราทรมานได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกทรมานได้ด้วย

    ... เราเป็นผู้สงบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกสงบด้วย

    ... เราเป็นผู้เบาใจแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกเบาใจด้วย

    ... เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกดับรอบด้วย "

    ... พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นดังนี้ จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์


    ... นี้เป็นมหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคตเจ้าแล
     
  20. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ๗๒.พระสัพพัญญุตญาณ และ ๗๓. พระอนาวรณญาณ ก็สัพพัญญุตญาณของพระตถาคต(และพระอนาวรณญาณ)เป็นไฉน

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สังขตะธรรม(ขันธปัญจกเป็นสังขตะ เพราะอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง)และอสังขตะธรรม(นิพพานเป็นอสังขตะ เพราะไม่ปรุงแต่งอย่างขันธ์ ๕ นั้น)ทั้งปวง มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้ธรรมส่วนอนาคตทั้งหมดทั้งปวง มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้ธรรมส่วนอดีตทั้งหมดทั้งปวง มิได้มีส่วนเหลือ
    ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้ธรรมส่วนปัจจุบันทั้งหมดทั้งปวง มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้จักษุและรูปทั้งหมดว่าอย่างนี้ มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้หูและเสียงทั้งหมดว่าอย่างนี้ มิได้มีส่วนเหลือ
    ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า จมูกและกลิ่นทั้งหมดว่าอย่างนี้ มิได้มีส่วนเหลือ
    ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า ลิ้นและรสทั้งหมดว่าอย่างนี้ มิได้มีส่วนเหลือ
    ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า กายและโผฏฐัพพะทั้งหมดว่าอย่างนี้ มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า ใจและธรรมารมณ์ทั้งหมดว่าอย่างนี้ มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น



    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่าในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งรูป ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งจักษุ ฯลฯ แห่งชราและมรณะ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น



    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพธรรมที่ควรรู้ยิ่งด้วยอภิญญาทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ควรกำหนดรู้ด้วยปริญญา ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ควรละด้วยปหานะ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ควรเจริญด้วยภาวนา ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ควรทำให้แจ้งด้วยสัจฉิกิริยาตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่เป็นกองแห่งขันธ์ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ทรงไว้แห่งธาตุตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพเป็นที่ต่อแห่งอายตนะตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ปัจจัยปรุงแต่งแห่งสังขตะธรรมตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งแห่งอสังขตะธรรมตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ


    ..... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้กุศลธรรมตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้อกุศลธรรมอัพยากตธรรม กามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม โลกุตตระธรรมตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัย สภาพเป็นที่ดับแห่งนิโรธ สภาพเป็นทางแห่งมรรค ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในอรรถแห่งอรรถปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในธรรมแห่งธรรมปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในนิรุตติแห่งนิรุตติปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในปฏิภาณปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้อินทรียปโรปยัตตญาณ รู้ญาณในฉันทะอันมานอน และกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้ยมกปาฏิหาริยญาณ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้มหากรุณาสมาปัตติญาณ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้อารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ฟัง ที่ได้ทราบ ที่ได้รู้แจ้ง ที่ได้ถึง ที่แสวงหา ที่เที่ยวตามหาด้วยใจแห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่าในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น


    บทธรรมที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง
    บทธรรมน้อยหนึ่งที่ควรรู้ พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้ว ไม่มี
    พระตถาคตทรงทราบยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง
    เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ (ผู้ทรง
    เห็นทั่ว) ฯ


    ... คำว่า สมนฺตจกฺขุ ความว่า ชื่อว่าสมันตจักษุ เพราะอรรถว่ากระไรเล่า พระพุทธญาณ ๑๔ คือ

    ... ๑.ญาณในทุกข์

    ... ๒.ญาณในทุกขสมุทัย

    ... ๓.ญาณในทุกขนิโรธ

    ... ๔.ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

    ... ๕.ญาณในอรรถปฏิสัมภิทา

    ... ๖.ญาณในธรรมปฏิสัมภิทา

    ... ๗.ญาณในนิรุตติปฏิสัมภิทา

    ... ๘.ญาณในปฏิภาณปฏิสัมภิทา

    ... ๙.ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์

    ... ๑๐.ญาณในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย

    ... ๑๑. ญาณในยมกปาฏิหาริย์

    ... ๑๒.ญาณในมหากรุณาสมาบัติ

    ... ๑๓. สัพพัญญุตญาณ

    ... ๑๔. อนาวรณญาณ ๑

    ... บรรดาพระพุทธญาณ ๑๔ ประการนี้ พระญาณ ๘ ข้างต้น เป็นญาณทั่วไปด้วยพระสาวก พระญาณ ๖ ไม่ทั่วไปด้วยพระสาวก ฯ


    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ พระตถาคตทรงทราบแล้วตลอดทั้งหมด ที่มิได้ทรงทราบไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ พระตถาคตทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัย
    ... สภาพเป็นที่ดับแห่งนิโรธ
    ... สภาพเป็นทางแห่งมรรค
    ... สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในอรรถแห่งอรรถปฏิสัมภิทา
    ... สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในธรรมแห่งธรรมปฏิสัมภิทา
    ... สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในนิรุตติแห่งนิรุตติปฏิสัมภิทา
    ... สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในปฏิภาณแห่งปฏิภาณปฏิสัมภิทา พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น


    ... ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์
    ... ญาณในฉันทะอันมานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย
    ... ญาณในยมกปาฏิหาริย์ ญาณในมหากรุณาสมาบัติ พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้วทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องด้วยพระปัญญาไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น


    ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า อารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ฟัง ที่ได้ทราบ ที่ได้รู้แจ้ง ที่ได้ถึง ที่แสวงหา ที่เที่ยวตามหาด้วยใจ แห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์เทวดาและมนุษย์ พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น

    บทธรรมที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง
    บทธรรมน้อยหนึ่งที่ควรรู้ พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้วไม่มี
    พระตถาคตทรงทราบยิ่งซึ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง เพราะ
    ฉะนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ ฉะนี้แล ฯ
     

แชร์หน้านี้

Loading...