<table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="100%"> <tbody> <tr> <td class="body" align="left" valign="baseline">
ธรรมะปฏิสันถาร
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปุจฉาว่า " หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน? "
" กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน "
หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร
ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับ ทรงมีพระดำรัสคำสุดท้ายว่า " ขออาราธนาหลวงปู่ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม? "
ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า
" อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง "
ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่
พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี 2499 หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ แล้วหลวงปู่สรุปใจความ อริยสัจสี่ให้ฟังว่า
" จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ "
สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด
อุบาสกผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง สนทนากับหลวงปู่ว่า " กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฏ เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นๆ แล้ว เขาจะได้มีกำลังใจและมีความหวัง เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่ "
หลวงปู่กล่าวว่า " ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด "
หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท
ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตน แต่ในตำรา คือ มีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีลที่มีอยู่ในคัมภีร์ว่าตนนั้นมีศีลถึง 227
" ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ "
จริง แต่ไม่จริง
ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผบออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฏในอัวยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากกราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็นนรก สวรรค์ วิมานเทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ
หลวงปู่บอกว่า " ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง "
แนะวิธีละนิมิต
ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกว่ายังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานาน หรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผลฯ
หลวงปู่พูดว่า
" เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ ก็คือ อย่างไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่อยากเห็นก็จะหายไปเอง "
เป็นของภายนอก
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2524 หลวงปู่อยู่ในงานประจำปีวัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาครูพากันเข้าไปถามทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจนจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ในหัวใจของเขา บางคนว่า ได้เห็นสวรรค์วิมานของตัวเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่า เขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จฯ
หลวงปู่อธิบายว่า " สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้นจะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก "
หยุดเพื่อรู้
เมื่อเดือนมีนาคม 2507 มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันเผยแพร่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้ข้าถึงสัจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า
" คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้
ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้
แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้ "
ทั้งส่งเสริมทั้งทำลาย
กาลครั้งนั้น หลวงปู่ได้ให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตครั้งแรก มีใจความตอนหนึ่งว่าฯ
" ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยพร่ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมพระศาสนาและทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะ องค์ธรรมทูตนั่นแหละตัวสำคัญคือ เมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตรงดงามตามสมณวิสัย ผู้พบเห็น หากยังไม่เลื่อมใสก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสยิ่งขึ้นเข้าไปอีกฯ ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีกฯ จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย "
เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ
ก่อนเข้าพรรษาปี 2496 หลวงพ่อเถาะ ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานต่อไปอีกจนเป็นที่พอใจแล้ว หลวงพ่อเถาะพูดตามประสาความค้นเคยว่า หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลา ได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงจะได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียวฯ
หลวงปู่ตอบว่า " ที่เราสร้างนี่ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวา ศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้ "
เป็นการดัดนิสัยหรือเปล่า
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลา 6 ปี ผลได้ที่สงครามฝากไว้ให้ก็คือ ความยากจนค่นแค้นแสนเข็ญด้วยขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แผ่ปกคลุมไปทั่วทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม ขาดแคลนอย่างยิ่ง พระเณรในวัดต่างๆ มีสบงจีวรชุดเดียวก็บุญหนักหนาแล้ว พวกเราเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่หลายรูปฯ
วันหนึ่ง สามเณรพรม ซึ่งเป็นหลานหลวงปู่รูปหนึ่งด้วย เขาเห็นสามเณรชุมพลห่มจีวรใหม่และสวย จึงถามว่า จีวรนี้ท่านได้แต่ไหนมา เณรชุมพลตอบว่าเราเข้าไปทำวาระถวายหลวงปู่ หลวงปู่เห็นของเราขาด ท่านจึงประทานให้มาผืนหนึ่งฯ
เมื่อถึงวาระเณรพรม จึงห่มจีวรขาดไปนวดเท้าหลวงปู่ ด้วยคิดว่าจะได้อย่างเขาบ้าง พอเสร็จวาระกำลังจะออกมา หลวงปู่เห็นจีวรขาด คงจะสงสารหลานอย่างจับใจ จึงลุกไปเปิดตู้หยิบเอาของมายื่นให้ พร้อมกับสั่งว่า " นี่เอาไปเย็บให้ดี อย่าห่มทั้งที่ขาดอย่างนี้ "
สามเณรพรมต้องจำใจรับด้ายกับเข็มจากหลวงปู่อย่างรวดเร็ว ด้วยความผิดหวัง
ทุกข์เพราะอะไร
สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่พรรณนาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจขอพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วยฯ
หลวงปู่แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องราวนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็นฯ
เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า " คนสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด "
อุทานธรรม
หลวงปู่กล่าวธรรมกถาต่อมาอีกว่า สมบัติพัสถานทั้งหลาย มันมีประจำอยู่ในโลกนี้มาแล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ขาดปัญญาและไร้ความสามารถ ก็ไม่อาจจะแสวงหาเพื่อยึดครองสมบัติเหล่านั้นได้ ย่อมครองตนอยู่ด้วยความฝืดเคืองและลำบากขันธ์ ส่วนผู้ที่มีปัญญามีความสามารถ ย่อมแสวงหาทรัพย์สมบัติของโลกไว้ได้อย่างมากมาย อำนวยความสะดวกสบายแก่ตนได้ทุกกรณีฯ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านพยายามดำเนินตนเพื่อออกจากสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ไปสู่ภาวะแห่งความไม่มีอะไรเลย เพราะว่า
" ในทางโลก มี สิ่งที่ มี ส่วนในทางธรรม มี สิ่งที่ ไม่มี "
</td></tr> <tr> <td class="body" align="left" valign="baseline"> อุทานธรรมต่อมา
เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็หมดพันธะกับเรื่องโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสจะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งหมด และจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจ อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง ส่วนโทษทางใจ มีกิเลส ตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเองฯ
" พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นแล้วจากโทษทั้งสองทาง ความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้ "
อุทานธรรมข้อต่อมา
เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้วและได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว ก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รุกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกต่ำทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้ฯ
ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่น เหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ ควรเรียกเอาว่า " เป็นภิกษุแท้ "
พุทโธเป็นอย่างไร
หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ 31 มีนาคม 2521 ในช่วงสนทนาธรรม ญาติโยมสงสัยว่า พุทโธ เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า
เวลาภาวนาอย่างส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำหนับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็ภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ เมื่อจิตของเราสงบ เราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆ เข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆ ให้มันออกจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั้นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ
ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ในจิตอยู่ในจิต และให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา เราจะได้รู้จักว่า พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย (ถอดจากเทป)
อยากได้ของดี
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2526 คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือโอกาสแวะนมัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา 18.20 น.ฯ
หลังจากกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ก็ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะฯ
หลวงปู่จึงเจริญพรว่า ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กาย วาจา ก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจา ใจ ก็ดี เราก็อยู่ดีมีความสุขเท่านั้นเอง
ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนาได้ งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะฯ
หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า
" การภาวนาต้องกำหนดดูที่ลมหายใจ ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา "
มี แต่ไม่เอา
ปี 2522 หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมพระอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผาราม เจ้าคณะภาคทางภาคใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐานเมื่อวัยชราแล้ว เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียวฯ
เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นพระฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่เป็นเวลานาน ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆ ว่าท่านยังมีโกรธอยู่ไหมฯ
หลวงปู่ตอบเร็วว่า " มี แต่ไม่เอา "
รู้ให้พร้อม
ระหว่างที่หลวงปู่อยู่รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีผู้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมเป็นจำนวนมาก คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข เป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนา นัยว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ แห่งวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติที่เคร่งครัดฝ่ายธุดงค์กัมมัฏฐานในยุคปัจจุบัน ได้ปรารภการปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ ถึงเรื่องการละกิเลสว่า " หลวงปู่ครับ ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ฯ "
หลวงปู่ตอบว่า " ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง "
ไม่ตามใจผู้ถาม
ผู้ที่อยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในรอบดึกมีจำนวนหลายท่านด้วยกัน เขาเหล่านั้นมีความสงสัยและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง โดยที่สังเกตเห็นว่า บางวันพอเวลาดึกสงัดตีหนึ่งผ่านไปแล้ว ได้ยินหลวงปู่อธิบายธรรมะนานประมาณสิบกว่านาที แล้วสวดยถาให้พร ทำเหมือนหนึ่งมีผู้มารับฟังอยู่เฉพาะหน้าเป็นจำนวนมาก ครั้นจะถามประพฤติการที่หลวงปู่ทำเช่นนั้นก็ไม่กล้าถาม ต่อเมื่อเห็นหลวงปู่ทำเช่นนั้นหลายครั้ง ก็ทนสงสัยไม่ได้ จึงพากันถามหลวงปู่ตามลักษณะการนั้นฯ
หลวงปู่จึงบอกว่า " ความสงสัยและคำถามเหล่านี้ มันไม่ใช่เป็นแนวทางปฏิบัติธรรม "
ประหยัดคำพูด
คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน มีร้อยตำรวจเอกบุลชัย สุคนธมัต อัยการจังหวัด เป็นหัวหน้ามากราบหลวงปู่เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมและเรียนถามถึงวิธีปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำได้ง่ายที่สุด เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่งฯ
หลวงปู่บอกว่า " ให้ดูจิต ที่จิต "
ง่าย แต่ทำได้ยาก
คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ 01 บางซื่อ นำโดย คุณอาคม ทันนิเทศ เดินทางไปถวายผ้าป่าและกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ ทางภาคอีสาน ได้แวะกราบนมัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่ และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนต่างก็ออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง
มีอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณ สี่ห้าคน เข้าไปกราบขอให้หลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติต่างๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุดฯ
หลวงปู่บอกว่า " อย่าส่งจิตออกนอก "
ทิ้งเสีย
สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า คนสมัยนี้ไว้ทุกข์ไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน ทั้งๆ ที่สมัย ร. 6 ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่นเมื่อญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ 7 วันบ้าง 50 วันบ้าง 100 วันบ้าง แต่ปรากฏว่าคนทุกวันนี้ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า การไว้ทุกข์ที่ถูกต้องนั้น ควรไว้อย่างไรเจ้าคะฯ
หลวงปู่บอกว่า " ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม "
จริงตามความเป็นจริง
สุภาพสตรีชาวจีนคนหนึ่ง ถวายสักการะแด่หลวงปู่แล้ว เขากราบเรียนว่า ดิฉันจะต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำมาค้าขายอยู่ใกล้ญาติทางโน้น ทีนี้บรรดาญาติๆ ก็เสนอแนะว่า ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง ชนิดนี้บ้าง ตามแต่เขาจะเห็นดีว่าอะไรชายได้ดี ดิฉันยังมีคลามลังเลใจ ตัดสินเอาเองไม่ได้ว่าจะเลือกขายของอะไร จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะฯ
" ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคนซื้อ "
ไม่ได้ตั้งจุดหมายไว้
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2522 คณะนายทหารประมาณ 10 กว่านาย เข้านมัสการหลวงปู่เมื่อเวลาค่ำแล้ว ก็จะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ ในคณะของนายทหารเหล่านั้น มียศพลโทสองท่าน หลังจากสนทนากับหลวงปู่เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ถอดเอาพระเครื่องจากคอของแต่ละท่านรวมใส่ในพานถวายให้หลวงปู่ช่วยอธิษฐานแผ่เมตตาพลังจิตให้ ท่านก็อนุโลมตามความประสงค์แล้วก็มอบให้คืนไป นายพลท่านหนึ่งถามว่า ทราบว่ามีเหรียญหลวงปู่ออกมาหลายรุ่นแล้ว อยากถามหลวงปู่ว่ามีรุ่นไหนดังบ้าง
หลวงปู่ตอบว่า " ไม่มีดัง "
คนละเรื่อง
มีชายหนุ่มจากต่างจังหวัดไกลสามสี่คนเข้าไปหาหลวงปู่ ขณะที่ท่านนั่งพักอยู่ที่มุขศาลาการเปรียญ ดูอากัปกิริยาของเขาแล้วคงคุ้นเคยกับพระนักเลงองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อนแล้ว สังเกตจากการนั่ง การพูด เขานั่งตามสบาย พูดตามถนัด ยิ่งกว่านั้นเขาคงเข้าใจว่าหลวงปู่องค์นี้คงสนใจกับเรื่องเครื่องรางของขลังอย่างดี เขาพูดถึงชื่อเกจิอาจารย์อื่นๆ ว่าให้ของดีของวิเศษแก่ตนหลายอย่าง ในที่สุดก็งัดเอาของมาอวดกันเองต่อหน้าหลวงปู่ คนหนึ่งมีเขี้ยวหมูตัน คนหนึ่งมีเขี้ยวเสือ อีกคนมีนอแรด ต่างคนต่างอวดอ้างว่าของตนดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ มีคนหนึ่งเอ่ยว่า " หลวงปู่ฮะ อย่างไหนแน่ดีวิเศษกว่ากันฮะ "
หลวงปู่ก็อารมณ์รื่นเป็นพิเศษยิ้มๆ แล้วว่า " ไม่มีดี ไม่มีวิเศษอะไรหรอก เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน "
</td></tr> <tr> <td class="body" align="left" valign="baseline"> ปรารภธรรมะให้ฟัง
คราวหนึ่ง หลวงปู่กล่าวปรารภพระธรรมให้ฟังว่า เราเคยตั้งสัจจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ในพรรษาที่ 2495 เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ที่สุดแห่งสัจธรรมหรือที่สุดของทุกข์นั้นอยู่ตรงไหน พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร ครั้นอ่านไป ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ ก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเรา ให้ตัดสินได้ว่า นี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งมรรคผล หรือที่เรียกว่านิพพานฯ
มีอยู่ตอนหนึ่ง คือ ครั้งนั้นพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ พระพุทธเจ้าตรัสถามเชิงสนทนาธรรมว่า สารีบุตรสีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก วรรณะของเธอหมดจดผุดผ่องยิ่งนัก อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ พระสารีบุตรกราบทูลว่า
" ความว่างเปล่าเป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์ " (สุญญตา)ฯ
ก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละ ที่มาสัมผัสจิตของเรา
แนะนำตามวิทยฐานะ
พระอาจารย์สุจินต์ สุจิณโณ จบนิติฯ จากธรรมศาสตร์นานแล้ว มีความเลื่อมใสในทางปฏิบัติธรรม เคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่หลุย เป็นเวลาหลายปี ต่อมาเมื่อได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่ดูลย์จึงลาหลวงปู่หลุยมาปฏิบัติกับหลวงปู่ ตลอดถึงขอบรรพชาอุปสมบทอยู่ตลอดมา อยู่กับหลวงปู่พอสมควรแก่ความต้องการแล้ว จึงกราบลาเพื่อเดินทางธุดงค์วิเวกต่อไปฯ
หลวงปู่แนะนำว่า
" เรื่องของพระวินัยนั้น ให้ศึกษาอ่านตำรับตำราให้เข้าใจให้ถูกต้องทุกข้อมูล เพื่อปฏิบัติไม่ให้ผิด ส่วนธรรมะนั้น ถ้าอ่านมากก็จะมีวิตกวิจารณ์มาก จึงไม่ต้องอ่านก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเอาเพียงอย่างเดียวก็พอ "
แนะนำหลวงตาแนน
หลวงตาแนน บวชเมื่อวัยเลยกลางคนไปแล้ว หนังสือก็อ่านไม่ออกสักตัว ภาษากลางก็พูดไม่ได้สักคำ ดีอย่างเดียว คือ เป็นคนตั้งใจดี ขยันปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง ว่าง่ายสอนง่าย เมื่อเห็นพระรูปอื่นเขาออกไปธุดงค์ หรืออยู่กับสำนักปฏิบัติกับครูบาอาจารย์อื่นๆ ก็อยากจะไปกับเขาด้วย จึงไปลาหลวงปู่ฯ
เมื่อหลวงปู่อนุญาตแล้ว หลวงตาแนนกลับวิตกว่า กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดเขา จะปฏิบัติกะเขา ได้อย่างไรฯ
หลวงปู่แนะนำว่า " การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระพยัญชนะหรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว วิธีปฏิบัติในส่วนวินัยนั้น ให้พยายามดูแบบอย่างเขา แบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ส่วนธรรมะ ให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้วอย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง "
ภาระและปัญหาประจำ
การปกครองและการบริหารหมู่คณะใหญ่ นอกจากจะต้องแก้ปัญหาเล็กใหญ่อย่างอื่นแล้ว ก็มีปัญหาขาดแคลนพระเจ้าอาวาส เราเคยได้ยินแต่การแย่งเป็นสมภารกัน แต่ลูกศิษย์หลวงปู่นั้น ต้องปลอบ ต้องบังคับให้ไปเป็นสมภาร ไม่เว้นแต่ละปีที่มีญาติโยมยกขบวนมาขอให้หลวงปู่ส่งพระไปเป็นเจ้าอาวาส เมื่อหลวงปู่เห็นว่าองค์ไหนสมควรไปก็ขอร้องให้ไป ส่วนมากเมื่อไม่อยากไปก็มักจะอ้างว่า กระผมก่อสร้างไม่เก่ง อบรมไม่เป็นเทศน์ไม่ได้ ประชาสัมพันธ์หรือรับแขกไม่คล่อง เป็นต้น จึงยังไม่อยากจะไปฯ
หลวงปู่ก็สอนว่า
" สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นเท่าไรหรอก เรามีหน้าที่ปฏิบัติกิจวัตรเท่านั้นเอง บิณฑบาต ฉัน แล้วก็นั่งภาวนา เดินจงกรม ทำความสะอาดลานวัด เคร่งครัดตามธรรมวินัย แค่นี้ก็พอแล้ว การก่อสร้างอะไรๆ มันแล้วแต่ญาติโยม เขาจะทำหรือไม่ทำแล้วแต่เขา "
ปรารภธรรมะให้ฟัง
หลวงปู่สรงน้ำวันละหนึ่งครั้ง เวลาบ่ายห้าโมง เฉพาะน้ำร้อนที่ผสมให้อุ่นแล้วกระทำอยู่อย่างนี้จนตลอดอายุขัยของท่าน โดยมีพระเณรผู้อยู่รับใช้ช่วยสรงถวายท่าน หลังจากเช็ดตัวแห้งดี จิตใจปลอดโปร่งแล้ว ท่านมักจะปรารภธรรมะให้ฟัง แล้วแต่จะมีธรรมะข้อใดปรากฏขึ้นในขณะนั้น เช่น ครั้งหนึ่งท่านปรารภว่า
" ภิกษุเรา ถ้าปลูกความยินดีในเพศภาวะของตนแล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีในเพศอื่น ภาวะอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั่นคือภิกษุภาวะโดยแท้ ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข "
ปรารภธรรมะให้ฟัง
จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว จำพระธรรมได้มากหลาย พูดเก่ง อธิบายได้อย่างซาบซึ้ง มีคนเคารพนับถือมาก ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม ถ้ายังประมาทอยู่ ก็นับว่ายังไม่ได้รับรสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น เมื่อพูดถึงประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ภายนอก คือ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง หรือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนวัตถุ ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น คือความพ้นทุกข์ " จะพ้นทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อรู้ จิตหนึ่ง "
คิดไม่ถึง
สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นั่นเอง อยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้าหกรูป อยากจะเคร่งครัดเป็นพิเศษ ถึงขั้นสมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา คือ ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกจากปากใคร ยกเว้นการสวดมนต์ทำวัตร หรือสวดปาฏิโมกข์เท่านั้น ครั้นออกพรรษาแล้ว พากันไปกราบหลวงปู่ เล่าถึงการปฏิบัติอย่างเคร่งของพวกตนว่า นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้ว สามารถหยุดพูดได้ตลอดพรรษาอีกด้วยฯ
หลวงปู่ฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า
" ดีเหมือนกัน เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอก นอกจากพระอริยบุคคล ผู้เข้านิโรธสมาบัติขั้นละเอียด ดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละ ที่ไม่พูดได้ นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่า ไม่พูดนั่นแหละยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ไม่ออกเสียงให่คนอื่นได้ยินเท่านั้นเอง "
อย่าตั้งใจไว้ผิด
นอกจากหลวงปู่จะนำปรัชญาธรรมที่ออกจากจิตของท่านมาสอนแล้ว โดยที่ท่านเคยอ่านพระไตรปิฎกจบมาแล้ว ตรงไหนท่านท่านเห็นว่าสำคัญและเป็นการเตือนใจในทางปฏิบัติให้ตรงและลัดที่สุด ท่านก็จะยกมากล่าวเตือนอยู่เสมอ เช่น หลวงปู่ยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
" ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ ลาภสักการะและสรรเสริญ มิใช่อานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิหรือแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ฯ ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสังวระ ความสำรวม เพื่อปหานะ ความละ เพื่อวิราคะ ความหายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะ ความดับทุกข์ ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้ นอกจากแนวทางนี้แล้วผิดทั้งหมด "
พระพุทธพจน์
หลวงปู่ว่า ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฏฐิและเมื่อมีทิฏฐิแล้วยากที่จะเห็นตรงกัน เมื่อเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่ร่ำไป สำหรับพระอริยเจ้าผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรสำหรับมาโต้แย้งกับใครใครจะมีทิฏฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป ดังพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
" ภิกษุทั้งหลายสิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่า มีอยู่แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่ สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่วิวาทโต้เถียงกับโลก แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา "
ผู้ไม่มีโทษทางวาจา
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2526 หลวงปู่กำลังอาพาธหนักพักรักษาอยู่ที่ห้องพระราชทาน ตึกจงกลนี วัฒนวงค์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลวงปู่สาม อกิญฺจโน เดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่ถึงห้องพยาบาลฯ
ขณะนั้นหลวงปู่กำลังนอนพักผ่อนอยู่ เมื่อหลวงปู่สามขยับไปนั่งใกล้ชิดแล้วก็ยกมือไหว้ หลวงปู่ดูลย์ก็ยกมือรับไหว้แล้วต่างองค์ก็นั่งอยู่เฉยตลอดระยะเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลาอย่างยิ่งแล้ว หลวงปู่สามประนมมืออีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับจำนรรจาว่า " กระผมกลับก่อน " หลวงปู่ดูลย์ว่า " อือ " ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง ได้ยินเพียงแค่นี้เองฯ
เมื่อหลวงปู่สามกลับไปแล้ว อดที่จะถามไม่ได้ว่า หลวงปู่สาม อุตส่าห์มานั่งตั้งนาน ทำไมหลวงปู่จึงไม่สนทนาพูดอะไรกับท่านบ้างฯ
หลวงปู่ตอบว่า " ธุระมันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไร "
ขันติบารมี
เท่าที่อยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ตลอดเวลาอันยาวนาน ไม่เคยเห็นท่านแสดงอากัปกิริยาใดๆ ให้เห็นว่า ท่านอึดอัดหรือรำคาญจนทนไม่ได้ถึงต้องบ่นอุบอิบอู้อี้กับกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ไปเป็นประธานในงานสถานที่ใดๆ ไม่เป็นเจ้ากี้เจ้าการ รื้อฟื้น หรือให้เขาจัดแจงดัดแปลงใหม่ หรือไปในสถานที่ที่เป็นกิจนิมนต์ แม้จะต้องนั่งนานหรืออากาศอบอ้าว อย่างไร ก็ไม่เคยบ่นฯ เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย หรือเวลาเผอิญอาหารมาไม่ตรงเวลา แม้จะหิวกระหายแค่ไหน ก็ไม่เคยบ่น หรือสำออย หรือแม้รสชาติอาหารจะจืดจางอย่างไร ก็ไม่เคยเรียกหาเครื่องปรุงเพิ่มเติมอะไรเลย ตรงกันข้าม ถ้าเห็นพระเถระรูปไหนชอบเป็นเจ้ากี้เจ้าการ ขี้บ่น หรือทำสำออยให้คนอื่นเอาใจ เป็นต้นฯ หลวงปู่มักปรารภให้ฟังว่า
" แค่นี้อดทนไม่ได้หรือ ถ้าแค่นี้อดทนไม่ได้ จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้อย่างไร "
ไม่เบียดเบียนแม้ทางวาจา
หลวงปู่กล่าววาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านกล่าวเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์ และไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อนเพราะคำพูดของท่าน แม้จะมีผู้ใดมาพูดเป็นเหตุที่จะชวนให้ท่านวิพากษ์วิจารณ์ใครๆ ให้เขาฟังสักอย่าง ท่านก็ไม่เคยคล้อยตามฯ
หลายครั้งที่มีผู้ถามท่านว่า หลวงปู่ ทำไมพระนักพูดนักเผยแผ่ระดับประเทศ บางองค์ เวลาพูดหรือเทศน์ชอบพูดโจมตีคนอื่น พูดเสียดสีสังคม หรือพูดกระทบกระแทกพระเถระด้วยกัน เป็นต้น พระพูดในลักษณะนี้ จ้างผมก็ไม่นับถือดอกฯ
หลวงปู่ว่า
" ก็ท่านมีภูมิรู้ ภูมิธรรมอยู่อย่างนั้น ท่านก็พูดไปตามความรู้ความถนัดของท่านนั่นแหละ การจ้างให้นับถือไม่มีใครเขาจ้างหรอก เมื่อไม่อยากนับถือ ก็อย่าไปนับถือซิ ท่านคงไม่ว่าอะไรหรอก "
พระหลอกผี
ส่วนมากหลวงปู่ชอบแนะนำส่งเสริมพระเณรให้ใส่ใจเรื่องธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นพิเศษมีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสานุศิษย์มาชุมนุมกันจำนวนมาก ทั้งแก่พรรษและอ่อนพรรษา หลวงปู่ชี้แนวทางว่าให้พากันไปอยู่ป่าหาทางวิเวก หรืออยู่ตามเขาตามถ้ำเพื่อเร่งความเพียร จะได้พ้นจากภาวะตกต่ำทางจิตบ้าง ก็มีพระรูปหนึ่งพูดออกมาพล่อยๆ ว่า ผมไม่กล้าไปครับเพราะผมกลัวผีหลอกฯ
หลวงปู่ตอบเร็วว่า
" ผีที่ไหนเคยหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผี และตั้งขบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่เสียด้วย คิดดูให้ดีนะ วัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้น แทบทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผีทั้งนั้น ผีพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องเขา แล้วพระเราเล่าประพฤติตนเหมาะสมแล้วหรือมีคุณธรรมอะไรบ้าง ที่จะส่งผลให้ถึงผีได้ ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี "
ดีเหมือนกัน...แต่
นักปฏิบัติที่ตื่นอาจารย์ ตื่นสำนักใหม่ ในปัจจุบันนี้มีอยู่มาก นักนิยมหวยก็ตื่นอาจารย์บอกใบ้หวย นักนิยมความศักดิ์สิทธิ์ยังมีอยู่ฉันใด นักวิปัสสนาก็ย่อมตื่นอาจารย์วิปัสสนาฉันนั้น ดังนั้น กลุ่มชนเหล่านั้นจึงมีอยู่มิใช่น้อย เมื่อเขาชอบใจอาจารย์องค์ไหน เขาก็กล่าวยกย่ององค์นั้น ตลอดถึงชักชวนคนอื่นให้ช่วยนับถือหรือเห็นด้วยกับตน ยิ่งปัจจุบันนี้มีพระเทศน์ดังๆ มากที่อัดเทปขายเผยแพร่ได้อย่างมากมาย มีอุบาสิกานักฟังผู้หนึ่งนำเทปนักเทศน์ดังไปถวายให้หลวงปู่ฟังหลายม้วน แต่หลวงปู่ไม่ได้ฟัง เพราะตั้งแต่ท่านเกิดมายังไม่เคยมีวิทยุ มีเทปกับเขาเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือสมมติว่าถ้ามี ท่านก็คงเปิดฟังไม่เป็น ต่อมามีผู้เอาเครื่องเทปไปเปิดให้หลวงปู่ฟังจบหลายม้วนแล้วถามท่านว่าฟังแล้วเป็นอย่างไรบ้างฯ
หลวงปู่ว่า
" ดีเหมือนกัน สำนวนโวหารสละสลวยน่าฟัง ทั้งรวยด้วยคำพูดแต่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ การฟังแต่ละครั้งนั้นควรให้ได้อรรถรสของ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงจะเป็นสาระแก่นสาร "
</td></tr> <tr> <td class="body" align="left" valign="baseline"> นักปฏิบัติลังเลใจ
ปัจจุบันนี้ ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนา มีความงวยงง สงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจ เนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกันยิ่งกว่านั้น แทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อยฯ
ดังนั้น เมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มากและเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า
" การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดัยวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ, สัมมาอรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวม สงบแล้ว คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมี วิมุติ เป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง "
อยู่ ก็อยู่ให้เหนือ
ผู้ที่เข้านมัสการหลวงปู่ทุกคนและทุกครั้ง มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมาก็ยากที่จะได้เห็นท่านแสดงอาการหมองคล้ำ หรืออิดโรย หรือหน้านิ่งคิ้วขมวดออกมาให้เห็น ท่านมีปกติสงบเย็นเบิกบานอยู่เสมอ มีอาพาธน้อย มีอารมณ์ดี ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เผลอคล้อยตามคำสรรเสริญ หรือคำตำหนิติเตียนฯ
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระเถระฝ่ายวิปัสสนา สนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติกับหลวงปู่ ถึงปกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์โดยลักษณาการอย่างไรฯ
หลวงปู่ว่า " การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ "
ตื่นอาจารย์
นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสองประเภท ประเภทหนึ่ง เมื่อได้รับข้อปฏิบัติ หรือข้อแนะนำจากอาจารย์ พอเข้าใจแนวทางแล้วก็ตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ อีกประเภทหนึ่ง ทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว ได้ข้อปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์ ไปในสำนักต่างๆ ได้ยินว่าสำนักไหนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่มากมายฯ
หลวงปู่เคยแนะนำลูกศิษย์ว่า
" การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้ คล้ายกับการเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป "
จับกับวาง
นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่านก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อยฯ
แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า
" ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน "
ทำจิตให้สงบได้ยาก
การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น จะให้ได้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้ บางคนได้ผลเร็ว บางคนก็ช้าหรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี แต่ก็ไม่ควรท้อถอย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ได้ประกอบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นบุญเป็นกุศลขั้นสูงต่อจากการบริจาคทาน รักษาศีล เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้ฯ
หลวงปู่เคยแนะนำวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า
" ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญาหาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่ายคลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน "
หลักธรรมแท้
มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติชอบพูดถึง คือ ชอบโจษขานกันว่านั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง ปรากฏอะไรมาบ้าง หรือไม่ก็ว่าตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฏอะไรออกมาบ้างเลย หรือไม่บางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้นฯ
หลวงปู่เคยเตือนว่า การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง
" หลักธรรมที่แท้จริงนั้น จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้วนั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม "
เตือนศิษย์ไม่ให้ประมาท
เพื่อป้องกันความประมาท หรือมักง่ายต่อการประพฤติปฏิบัติของพระเณร หลวงปู่จึงสรรหาคำสอนตักเตือนไว้อย่างลึกซึ้งว่า
" คฤหัสถ์ชน ญาติโยมทั่วไป เขาประกอบอาชีพการงานด้วยความยากลำบาก เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุข้าวของเงินทองมาเลี้ยงครอบครัวลูกหลานของตน แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรเขาก็ต้องต่อสู้ ขณะเดียวกัน เขาก็อยากได้บุญได้กุศลด้วย จึงพยายามเสียสละทำบุญ ลุกขึ้นแต่เช้า หุงหาอาหารอย่างดีคอยใส่บาตร ก่อนใส่ เขายกอาหารขึ้นท่วมหัวแล้วตั้งจิตอธิษฐาน ครั้นใส่แล้วก็ถอยไปย่อตัวยกมือไหว้อีกครั้งหนึ่ง ที่เขาทำเช่นนั้นก็เพื่อต้องการบุญต้องการกุศลจากเรานั่นเอง แล้วเราเล่า " มีบุญกุศลอะไรบ้างที่จะให้เขา ได้ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับเอาของเขามากินแล้วหรือ "
หนักๆ ก็มีบ้าง
พระอาจารย์สำเร็จ บวชมาแต่วัยเด็ก จนอายุใกล้หกสิบปีแล้วเป็นพระฝ่ายวิปัสสนา ปฏิบัติเคร่งครัด ชื่อเสียงดี มีคนเคารพนับถือมาก แต่ที่สุดก็ไปไม่รอด จิตใจเสื่อมลง เนื่องจากไปหลงรักลูกสาวของโยมอุปัฏฐาก ถึงขั้นมาขอลาหลวงปู่สึกไปแต่งงาน
ทุกคนตกตะลึงกับข่าวนี้มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะปฏิปทาของท่านเป็นที่ยอมรับว่าจะต้องอยู่ในสมณวิสัยจนตลอดชีวิต หากเป็นเช่นนั้นไปก็จะเป็นการเสื่อมเสียแก่วงการฝ่ายวิปัสสนาอย่างยิ่ง พระเถระคณะสงฆ์และสานุศิษย์ของท่าน จึงช่วยกันป้องกันทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านเปลี่ยนใจที่จะคิดสึกเสีย โดยเฉพาะหลวงปู่เรียกมาตักเตือนแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายอาจารย์สำเร็จกล่าวต่อหลวงปู่ว่า กระผมอยู่ไม่ได้ เพราะนั่งภาวนาทีไร เห็นใบหน้าเขามาล่องลอยปรากฏต่อหน้าอยู่ตลอดเวลาฯ
หลวงปู่ตอบเสียงดังว่า " ก็ไม่ภาวนาดูจิตของตัวเอง ไปภาวนาดูก้นของเขา มันก็เห็นแต่ก้นเขาอยู่ร่ำไปนั่นแหนะ ไป อยากไปไหนก็ไปตามสบาย ไปเถอะ "
มีปกติไม่แวะเกี่ยว
อยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่เป็นเวลานานสามสิบกว่าปี จนถึงวาระสุดท้ายของท่านนั้น เห็นว่าหลวงปู่มีปฏิปทาตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างเดียว ไม่แวะเกี่ยวกับวิชาอาคม ของศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งชวนสงสัยอะไรเลยแม้แต่น้อย เช่น มีคนขอให้เป่าหัวให้ ก็ถามว่าเป่าทำไม มีคนขอให้เจิมรถ ก็ถามเขาว่าเจิมทำไม มีคนขอให้บอกวันเดือนหรือฤกษ์ดี ก็บอกว่าวันไหนก็ดี ทั้งนั้นฯ หรือเมื่อท่านเคี้ยวหมาก มีคนขอชานหมาก
หลวงปู่ว่า " เอาไปทำไม ของสกปรก "
ทำโดยกิริยา
บางครั้งอาตมานึกไม่สบาย เกรงว่าตัวเองจะมีบาป ที่เป็นผู้มีส่วนทำให้หลวงปู่ต้องแวะเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านไม่สนใจหรือไม่ถนัดใจครั้งแรกคือ วันนั้นหลวงปู่ไปร่วมงานเปิดพิพิธภัณฑ์บริขาร ท่านอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร มีพระเถระฝ่ายวิปัสสนามากประชาชนก็มาก เขาเหล่านั้นจึงถือโอกาสเข้าหาครูบาอาจารย์ทั้งเพื่อกราบเพื่อขอ จึงมีหลายคนที่มาขอให้หลวงปู่เป่าหัว เมื่อเห็นท่านเฉยอยู่ จึงขอร้องท่านว่า หลวงปู่เป่าให้เขาให้แล้วๆ ไปท่านจึงเป่าให้ ต่อมาเมื่อเสียไม่ได้ก็เจิมรถให้เขา ทนอ้อนวอนไม่ได้ก็อนุญาตให้เขาทำเหรียญ อดสงสารไม่ได้ก็จุดเทียนชัยให้และเข้าพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลฯ
แต่ก็มีความสบายใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อฟังคำหลวงปู่ว่า
" การกระทำของเราในสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกิริยากายภายนอกที่เป็นไปในสังคม หาใช่เป็นกิริยาจิตที่นำไปสู่ภพ ภูมิหรือมรรคผล นิพพานแต่ประการใด "
ปรารภธรรมะให้ฟัง
คำสอนทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลส มีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียวคือพระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไปเพราะว่า เมื่อสัจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน
ปรารภธรรมะให้ฟัง
มิใช่ครั้งเดียวเท่านั้นที่หลวงปู่เปรียบเทียบธรรมะให้ฟังมีอยู่อีกครั้งหนึ่งหลวงปู่ว่า
" ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้ ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรคจึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ เช่น ไอน์สไตน์มีความรู้มาก มีความสามารถมาก แยกปรมาณูที่เล็กที่สุดจนเข้าถึงมิติที่ 4 แล้ว แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จักพระนิพพาน จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้ จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้นจึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม เป็นไปเพื่อความดับทุกข์เป็นไปเพื่อนิพพาน "
วิธีระงับดับทุกข์แบบหลวงปู่
ระหว่าง พ.ศ. 2520 โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ กำลังครอบงำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยอย่างหนัก คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และทุกข์ แน่นอน ความทุกข์โศกอันนี้ย่อมปกคลุมถึงบุตรภรรยาด้วยฯ
จึงมีอยู่วันหนึ่ง คุณหญิงคุณนายหลายท่านได้ไปนมัสการหลวงปู่ พรรณนาถึงความทุกข์โศกที่กำลังได้รับอยู่ เพื่อให้หลวงปู่ได้แนะวิธีหรือช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ท่านจะเมตตาฯ
หลวงปู่ว่า
" บุคคลไม่ควรเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งนอกกายทั้งหลายที่มันผ่านพ้นไปแล้ว มันหมดไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้น มันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว "
เมื่อกล่าวถึงสัจธรรมแล้ว ย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน
มีท่านผู้คงแก่เรียนหลายท่านชอบถามว่า คำกล่าวหรือเทศน์ของหลวงปู่ ดูคล้ายนิกายเซ็น หรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหล่าง เป็นต้น อาตมาเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้งในที่สุดท่านกล่าวอย่างเป็นกลางว่า
" สัจธรรมทั้งหลายมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อจะอธิบายสัจธรรมนั้นนำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้นที่ตนเอง ไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว "
</td></tr> <tr> <td class="body" align="left" valign="baseline"> ละเอียด
หลวงพ่อเบธ วัดป่าโคกหม่อน ได้เข้าสนทนาธรรมถึงการปฏิบัติทางสมาธิภาวนา เล่าถึงผลของการปฏิบัติขั้นต่อๆ ไปว่า ได้บำเพ็ญสมาธิภาวนามานาน ให้จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เป็นเวลานานๆ ก็ได้ ครั้นถอยจากสมาธิออกมา บางทีก็เกิดความสุข เอิบอิ่มอยู่เป็นเวลานาน บางทีก็เกิดความสว่างไสว เข้าใจสรรพางค์กายได้อย่างครบถ้วน หรือจะมีอะไรต้องปฏิบัติต่อไปอีกฯ
หลวงปู่ว่า
" อาศัยพลังอัปปนาสมาธินั่นแหละ มาตรวจสอบจิตแล้วปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด อย่าให้เหลืออยู่ "
ว่าง
ในสมัยต่อมา หลวงพ่อเบธ พร้อมด้วยพระสหธรรมิกอีกสองรูป และมีคฤหัสถ์หลายคนด้วย เข้านมัสการหลวงปู่ฯ
หลังจากหลวงปู่ได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่ผู้ที่เข้ามาใหม่ แล้วหลวงพ่อเบธถามถึงข้อปฏิบัติที่หลวงปู่แนะเมื่อคราวที่แล้วว่า การปล่อยวางอารมณ์นั้น ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจให้อยู่ได้เป็นเวลานานฯ
หลวงปู่ว่า
" แม้ที่ว่าปล่อยวางอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจิตไม่ดี หรือสติไม่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นได้ว่าละจากอารมณ์หยาบไปอยู่กับอารมณ์ละเอียดก็ได้ จึงต้องหยุดความคิดทั้งปวงเสีย แล้วปล่อยจิตให้ตั้งอยู่บนความไม่มีอะไรเลย "
ไม่ค่อยแจ่ม
กระผมได้อ่านประวัติการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เมื่อสมัยเดินธุดงค์ว่า หลวงปู่เข้าใจเรื่องจิตได้ดีกว่า จิตปรุงกิเลส หรือว่ากิเลสปรุงจิต ข้อนี้หมายความว่าอย่างไรฯ
หลวงปู่อธิบายว่า
" จิตปรุงกิเลสคือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้ดี ให้เลว ให้เกิดวิบากได้แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเรา ของเขา ส่วนกิเลสปรุงจิต คือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามาทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมัน แล้วยึดว่ามีตัวมีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่ร่ำไป "
รู้จักการเรียนกับรู้จากการปฏิบัติ
ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือฯ
หลวงปู่อธิบายว่า
" ศีล คือ ปกติจิตที่อยู่อย่างปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง สมาธิ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือ จิตที่มีความมั่นคง มีความสงบเป็นพลังที่จะส่งต่อไปอีก ปัญญา ผู้รู้ คือ จิตที่ว่าง เบาสบาย รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไรฯ วิมุติ คือ จิตที่เข้าถึงความว่าง จากความว่าง คือ ละความสบาย เหลือแต่ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย "
อุบายคลายความเครียด
เมื่อกระผมทำความสงบให้เกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในความสงบนั้นด้วยดี แต่ครั้นกระทบกระทั่งกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็มักจะสูญเสียสถานะที่พยายามธำรงไว้นั้นร่ำไปฯ
หลวงปู่ว่า
" ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าสมาธิของตนเองยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ถ้าเป็นอารมณ์แรงกล้าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเราแล้ว ต้องแก้ด้วยวิปัสสนาวิธี จงเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่หยาบที่สุด คือ การแยกให้ละเอียด พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ขยับถึงพิจารณานามธรรม อะไรก็ได้ทีละคู่ ที่เราเคยแยกพิจารณามา ก็มีความดำ ความขาว ความมืดความสว่าง เป็นต้น "
เรื่องกิน
กระผมได้ปฏิบัติทางจิตมานาน ก็พอมีความสงบอยู่บ้าง แต่มีปัญหาทางอาหารเมื่อบริโภคเนื้อสัตว์ คือ เพียงแต่เห็นก็นึกเวทนาไปถึงเจ้าของเนื้อนั้นว่าเขาต้องสูญเสียชีวิตเพื่อเราผู้บริโภคแท้ๆ คล้ายกับว่าเราผู้ปฏิบัติจะขาดเมตตาไปมาก เมื่อเกิดความกังวลใจเช่นนี้ ก็ทำความสงบใจได้ยากฯ
หลวงปู่ว่า
" ภิกษุจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ คล้ายเป็นการเบียดเบียนและขาดเมตตาต่อสัตว์ ก็ให้งดเว้นการฉันเนื้อเสีย พากันฉันอาหารเจต่อไป "
เรื่องกินมีอีก
สมัยต่อมาประมาณสี่เดือน ภิกษุกลุ่มนั้นมากราบเรียนหลวงปู่อีกหลังจากออกพรรษาแล้ว บอกว่าพวกกระผมฉันเจมาตลอดพรรษาด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะญาติโยมแถวบ้านโคกกลาง อำเภอปราสาทนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องอาหารเจเลย ลำบากด้วยการแสวงหา และลำบากแก่ญาติโยมผู้อุปัฏฐาก บางรูปถึงสุขภาพไม่ดี บางรูปเกือบไม่พ้นพรรษา การทำความเพียรก็ไม่เต็มที่เท่าที่ควรฯ
หลวงปู่ว่า
" ภิกษุเมื่อจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน ครั้นเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าอาหารที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้านี้แม้จะมีผักบ้าง เนื้อบ้าง ปลาบ้าง ข้าวสุกบ้าง แต่ก็เป็นของบริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และเขาไม่ได้ฆ่าเพื่อเจาะจงเรา และเราก็แสวงหามาโดยชอบธรรมแล้ว ญาติโยมเขาถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใสแล้ว ก็พึงบริโภคอาหารนั้นไป ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็ปฏิบัติอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน "
เรื่องกินยังไม่จบ
เมื่อวันแรม 2 ค่ำเดือน 3 พ.ศ. 2522 หลวงปู่พักอยู่ที่วัดป่าประโคนชัย เวลา 2 ทุ่มผ่านไปแล้ว มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชอบเดินธุดงค์ไปตามที่ชุมนุมต่างๆ ได้แวะเข้าไปพักที่วัดป่านั้นด้วยฯ
หลังจากแสดงความคารวะตามสมณวิสัยแล้ว ก็กล่าวถึงจุดเด่นที่เขายึดถือเป็นหลักปฏิบัติว่า ผู้บริโภคเนื้อสัตว์คือผู้สนับสนุนให้คนฆ่าสัตว์ ผู้บริโภคผักมีจิตเมตตาสูง สามารถพิสูจน์ได้ว่าเมื่อหันไปบริโภคผักแล้ว จิตใจก็สงบเย็นดีขึ้นฯ
หลวงปู่ว่า
" ดีทีเดียวแหละ ท่านผู้ใดสามารถฉันมังสวิรัติได้ก็เป็นการดีมาก ขออนุโมทนาสาธุด้วย ส่วนท่านที่ยังฉันมังสะอยู่ หากมังสะเหล่านั้นเป็นของบริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเจาะจงให้เราและได้มาด้วยความบริสุทธิ์แล้ว ก็ไม่ผิดธรรมผิดวินัยแต่ประการใด อนึ่ง ที่ว่าจิตใจสงบเยือกเย็นดีนั้น ก็เป็นผลเกิดจากพลังของการตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่เกี่ยวกับอาหารใหม่ อาหารเก่า ที่อยู่ในท้องเลย "
การค้ากับการปฏิบัติธรรม
พวกกระผมมีภาระหน้าที่ในการค้าขาย ซึ่งบางครั้งจะต้องพูดอะไรออกไปเกินความจริงบ้าง ค้ากำไรเกินควรบ้าง แต่กระผมก็มีความสนใจและเลื่อมใสในการปฏิบัติทางสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติมาบ้างแล้วโดยลำดับ แต่บางท่านบอกว่า ภาระหน้าที่อย่างผมนี้มาปฏิบัติภาวนาไม่ได้ผลหรอก หลวงปู่เห็นว่าอย่างไรเพราะเขาว่าขายของเอากำไรก็เป็นบาปอยู่ฯ
หลวงปู่ว่า
" เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ทุกคนจึงต้องมีอาชีพการงานและอาชีพการงานทุกสาขาย่อมมีความถูกต้อง ความเหมาะความควรอยู่ในตัวของมัน เมื่อทำให้ถูกต้องพอเหมาะควรแล้ว ก็เป็นอัพยากตธรรม ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญแต่ประการใด ส่วนการประพฤติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น ย่อมสมควรแก่การงานทุกกรณี "
ความหลังยังฝังใจ
ครั้งหนึ่งหลวงปู่ไปพักผ่อนที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์ พระเณรจำนวนมากมากราบนมัสการหลวงปู่ ฟังโอวาทของหลวงปู่แล้วหลวงตาพลอย ผู้บวชเมื่อแก่ แต่สำรวมดี ได้ปรารภถึงตนเองว่า กระผมบวชมาก็นานพอสมควรแล้ว ยังไม่อาจตัดห่วงอาลัยในอดีตได้ แม้จะตั้งใจอย่างไรก็เผลอจนได้ ขอทราบอุบายวิธีอย่างอื่นเพื่อปฏิบัติตามแนวนี้ต่อไปด้วยครับกระผมฯ
หลวงปู่ว่า
" อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ถ้าเผลอ เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา อย่าปล่อยให้มันรู้อารมณ์ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ไม่คล้อยตาม และไม่หักหาญ "
หลวงปู่กับเกจิอาจารย์
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 หลวงปู่รับนิมนต์ไปร่วมพิธีกรรมที่วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ในงานนี้ ท่านรับนิมนต์เข้าไปนั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ออกมานั่งพักที่กุฏิเล็กๆ แห่งหนึ่ง สนทนากับเหล่าศิษยานุศิษย์ ที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนหลายรูป และมีพระรูปหนึ่งคงไม่เคยเห็นการเข้าพิธีพุทธาภิเษกมาก่อน เพิ่งเห็นครั้งนี้เอง เช่นนี้กระมัง จึงถามหลวงปู่ว่า นั่งปรกเขาทำอย่างไร?
หลวงปู่จึงว่า
" อาจารย์องค์อื่นๆ เขานั่งปรกนั่งพุทธาภิเษกอย่างไร เราไม่รู้ ส่วนตัวเรานั่งสมาธิอย่างเดียว ตามแบบฉบับของเรา "
อยากเรียนเก่ง
หนูได้ฟังคุณตาสรศักดิ์ กองสุข แนะนำว่า ถ้าใครต้องการเรียนเก่งและฉลาด ต้องหัดนั่งภาวนา ทำสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน หนูอยากจะเรียนเก่งเรียนฉลาดอย่างเขา จึงพยายามนั่งภาวนาทำใจให้สงบ แต่ใจมันก็ไม่ยอมสงบสักที บางทีก็ยิ่งทวีความฟุ้งซ่านมากขึ้นก็มี เมื่อใจไม่สงบเช่นนี้ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งเจ้าค่ะฯ
หลวงปู่ว่า
" เรียนอะไร ก็ให้มันรู้อันนั้น เดี๋ยวก็เก่งเองแหละ ที่ใจไม่สงบก็ให้รู้ว่ามันไม่สงบ เพราะอยากสงบ มันจึงไม่สงบ ขอให้พยายามภาวนาเรื่อยๆ ไปเถอะ สักวันหนึ่งก็จะได้สงบตามต้องการ "
:z8
</td></tr></tbody></table>
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ธรรมบรรยาย ตอนที่ 1
ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย CLUB CHAY, 18 มีนาคม 2010.