หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย กาลกตา, 14 มีนาคม 2009.

  1. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค - โทสะ

    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว แล้วต่อไปขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจสดับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน วันนี้ก็จะว่ากันถึงเรื่องพระสกิทาคามี ในด้านการตัดความโกรธ พระสกิทาคามีนี่ยังไม่ตัดแท้นะครับ เป็นการบรรเทาความโกรธ วิธีบรรเทาความโกรธได้พูดมาแล้วในวันก่อนถึงกสิณ ๔ อย่าง เมื่อพูดถึงเรื่องกสิณนี่ความจริงมันก็เหมาะสำหรับบุคคลบางคน บางคนที่ไม่พอใจในกสิณก็มี เพราะบางท่านเห็นว่ากสิณนี่มีความเข้มแข็งเกินไป เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะไม่สมกับใจของตนเอง และบางท่านก็กลัวกสิณเพราะความจริงคำว่ากสิณ ผมฟังมาเยอะ นักปฏิบัติพระกรรมฐานบางคนพอบอกว่าเจริญกสิณเท่านั้นแหละ ทำท่าตาพอง ทำตาพอง ทำตาใหญ่ เอะอะโวยวาย เห็นว่าหนักเกินไปสำหรับจิตใจคน นี้มันก็เป็นของแปลก

    สำหรับพระกรรมฐานนี่ ขอประทานอภัยนะครับ ที่ผมต้องปรารภตัวสักนิดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านห้ามว่าการเทศน์นี่จงอย่าปรารภตนเองและอย่าปรารภบุคคลที่ฟัง แต่นี่เรื่องนี้เป็นเรื่องปฏิบัติและพูดกันตรงไปตรงมา สำหรับเรื่องกรรมฐาน ๔๐ ผมเคยลองฝึกมาทั้งหมด แล้วก็มหาสติปัฎฐานสูตรทั้งหมด ผมฝึกทั้งหมด กรรมฐาน ๔๐ นี่ผมฝึกครบ ๔๐ ตั้งแต่พรรษาที่ ๒ มหาสติปัฏฐานสูตรนี่ พอทำกรรมฐาน ๔๐ มาจับมหาสติปัฏฐานสูตร ก็เลยเป็นของง่ายไปหมด ทำเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ คำว่าเสร็จก็คืออารมณ์จบ แต่ว่าผมไม่ได้หมายว่าผมเป็นพระอรหันต์นะครับ ตอนนั้นเป็นเรื่องของการฝึก ฝึกจุดใดที่ในพระกรรมฐาน ๔๐ ที่ท่านว่าไว้ว่าถึงฌานไหนเป็นสำคัญ จะหาว่าอวดอุตริมนุสสธรรมก็ยอม อุตริมนุสสธรรมถ้าไม่มีในตน อวด ท่านปรับเป็นอาบัติปราชิก ถ้ามีในตน ไม่เห็นพระพุทธเจ้าปรับตรงไหน นี่ผมพูดกับท่านที่เป็นนักปฏิบัติด้วยกัน คนนอกทุ่งนอกท่าผมไม่ได้พูดด้วย คือผมจะบอกว่ากรรมฐานทุกกอง ที่ท่านทำว่าจบจุดไหน ผมพยายามทำจบจุดนั้น และก็มหาสติปัฏฐานสูตรท่านว่าทำจบจุดไหน ผมทำจบจุดนั้น จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน ก็ไม่เห็นว่ากรรมฐานกองไหนที่มีความสำคัญกว่ากัน ไม่ต้องไปทำตาใหญ่ตาโต เราแค่อารมณ์ทรงสมาธิให้เป็นปัญญาเหมือนกัน ในเรื่องความจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่ทว่าสำหรับท่านที่หนักใจเรื่องกสิณก็มาว่ากันใหม่ จะบรรเทาความโกรธก็ต้องใช้พรหมวิหาร ๔ ใจของท่านทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปรกติ ความจริงคนที่มีกำลังใจทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปรกตินี่เป็นคนที่มีกำลังใจสบายมาก มันมีความสุขแบบบอกไม่ถูกหรอกคุณ นี่มันมีความสุขจริงๆ ครับ ไม่เชื่อท่านลองทำดูเถอะ

    หากว่าท่านจะย้อนถามว่าแล้วก็หลวงตาที่พูดนี่ทำแล้วหรือยัง ก็อย่าลืมว่าทำครับ พรหมวิหาร ๔ ก็อยู่ในกรรมฐาน ๔๐ คนที่ไม่มีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ ศีลมันก็ไม่มี สมาธิมันก็ไม่มี ปัญญามันก็ไม่มี เรียกว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ มีปัญญาเหมือนกันแต่ปัญญามันเลว คือปัญญาคิดไปในด้านเลว ไม่ได้คิดดี คิดชั่ว คิดหาความทุกข์ สำหรับคนที่ทรงพรหมวิหาร ๔ นี่จิตใจจะทรงด้วยความปรกติ ถ้าเราเป็นปุถุชนคนธรรมดาผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส มีพรหมวิหาร ๔ เล็กน้อยใจก็เป็นสุข อย่างพ่อแม่ทุกคน ครูบาอาจารย์ทุกคน พ่อแม่ของลูก ครูบาอาจารย์ของศิษย์ นี่ทุกท่านมีพรหมวิหาร ๔ ทั้งหมด ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ ท่านก็เลี้ยงเรามาไม่ได้ ท่านก็สอนเรามาไม่ได้ เว้นไว้แต่เราจะเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณคนเท่านั้น ที่จะหาว่าครูบาอาจารย์อคติบ้าง รักลำเอียงไม่เที่ยงธรรมบ้าง ถ้ามันจะเป็นยังงั้นล่ะก็ต้องมองดูตัวเรา ว่าเราเลวหรือเราดี ไม่มีครูคนไหน ไม่มีอาจารย์คนไหน ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่จะอคติกับลูกหรือลูกศิษย์ ครูบาอาจารย์ทุกคนต้องการให้ลูกศิษย์ได้ดี เว้นไว้แต่ว่าลูกศิษย์มันจะเป็นเผ่าพันธุ์ของเทวทัตเท่านั้นที่มีจิตมุ่งมองเห็นคนอื่นเป็นคนเลวไปหมด ถ้าเลวอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ขับ อย่างพระเทวทัต พระพุทธเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณ ท่านบอกว่าเรารักราหุลลูกชายของเราเท่าใด เราก็รักเทวทัตเท่ากับราหุล เห็นมั้ย แต่ทว่าเมื่อเทวทัตทำผิดก็ต้องลงโทษ นี่เป็นเรื่องธรรมดา จะปล่อยให้คนชั่วทรงตัวอยู่ได้ยังไง ในสำนักของเรามีมั้ย คนอกตัญญูไม่รู้คุณคน มีมั้ย ถ้าจะมีหรือไม่มีคุณสังเกตดูก็ได้ คนอกตัญญูไม่รู้คุณคนน่ะมีแต่ความเร่าร้อนหาความสุขกายสุขใจไม่ได้ มีความทะเยอทะยานผิดปรกติ อยากจะทำอะไรให้มันดี อยากจะทำอะไรให้มันเด่น ให้ดีกว่าเขาให้เด่นกว่าเขา นั่นน่ะคนระยำ

    เพราะว่าพรหมวิหาร ๔ เหมือนของง่ายๆ ไม่ยาก ผมขึ้เกียจพูดมาก พูดให้มันยากก็พูดได้ แต่มันจะเกิดประโยชน์อะไร ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของไม่ยาก ใจเรา เราคิดอยากให้ชาวบ้านเขารักเราหรือว่าเราอยากให้ชาวบ้านเขาเป็นศัตรูกับเรา เราเอาใจของเราเป็นที่ตั้ง ผมว่าถ้าคนไม่บ้า นี่ผมใช้ศัพท์ธรรมดานะ ภาษาไทยแท้ๆ ไอ้แบบใช้สำบัดสำนวนนี่คนฟังยากๆ ผมไม่อยากจะพูด เพราะพ่อผมก็เป็นคนไทย แม่ผมก็เป็นคนไทย ผมก็เกิดในประเทศไทย ผมขอพูดอย่างคนไทย ผมคิดว่าคนนั้นถ้าไม่บ้าล่ะก็ ทุกคนมีความรู้สึกว่าเราต้องการเป็นที่รักของคนทั้งโลก อย่าลืมนะ ผมว่าคนไม่บ้านะเขามีความรู้สึกอย่างนี้ และพรหมวิหาร ๔ ข้อที่ ๒ ท่านบอกกรุณา ความสงสาร ปรารถนาเกื้อกูลให้มีความสุข นี้คุณลองคิดดูว่า คุณมีความรู้สึกเป็นยังไง ว่าคุณต้องการให้คนในโลกนี้เขาสงเคราะห์คุณ หรือว่าต้องการให้คนในโลกนี้เขาตัดขาดจากคุณ เอ๊ะถ้าผมต้องพูดใหม่ ผมก็ต้องพูดเหมือนเก่าน่ะสิ ผมคิดว่าถ้าคุณไม่บ้า คุณก็ต้องการให้คนทุกคนในโลกนี้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน แม้แต่ตัวเรา แล้วเราสำหรับเขา ประการข้อที่ ๓ ลองนั่งนึกดู ว่าถ้าเราได้ดีแล้ว ต้องการให้พวกมาอิจฉาริษยาเรามั้ย หรือว่าให้เขาสนับสนุนความดีของเรา ตอนนี้ก็ต้องขอตอบว่า ถ้าคุณไม่บ้า คุณก็ต้องคิดว่าถ้าเราได้ดี เราก็ต้องการให้เพื่อนเห็นความดีของเราว่ามีประโยชน์ และก็สนับสนุนในความดี แล้วก็อยากให้เพื่อนทำความดีตามเรา นี่หมายถึงว่าถ้าคุณไม่บ้า ถ้าคุณบ้าผมก็หมดทางแก้

    ประการที่ ๔ อุเบกขา วางเฉย คืออารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมากับกฎธรรมดา สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ หนึ่ง ชาติปิทุกขา ความเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องทุกข์เพราะการทำมาหากิน จะต้องทำกินกันเป็นปรกติ เพราะการทำกินมันต้องเหนื่อย ไม่ทำกินมันไม่มีกิน สอง ชราปิทุกขา เมื่อความเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องแก่ ถ้าไม่แก่มันก็เป็นเด็ก คลานไม่ได้ พลิกไม่ได้น่ะสิ มันต้องแก่ เกิดนานวัน แก่นาน แก่มาก เกิดน้อยวัน แก่น้อย มันก็แก่กันทุกเวลา ทุกนาที มาความป่วยไข้ไม่สบาย เกิดมาแล้วมันก็ต้องป่วย ร่างกายเป็นโรคนิทธัง พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ร่างกายเป็นรังของโรค ในเมื่อร่างกายมันเป็นรังของโรคมันก็ต้องป่วย ปภังคุณัง ท่านบอกว่าร่างกายของเราจะต้องป่วยเน่าเป็นธรรมดา มรณังปิทุกขัง เกิดมาแล้วมันก็ต้องตาย นี้ต่อมาเราก็มานั่งนึก ว่าอารมณ์ของโลก คนที่เกิดมาในโลก นอกจากเกิดแก่เจ็บตายแล้ว มันยังมีอะไรอีก ก็มีอารมณ์ที่ขัดคอขัดใจ ที่คนเขาทำไม่ถูกใจเรา วัตถุธาตุที่เป็นของใช้สอย เครื่องอุปโภคบริโภคที่ไม่ถูกใจเรา มันแก่คร่ำคร่า บ้านใกล้จะพังเพราะมันเก่า เสื้อกางเกงมันจะขาดเพราะมันเก่า สตางค์ที่มีไว้มันใกล้จะหมดเพราะเราใช้มันไปมาก อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก แล้วคนถ้ามีลาภ ลาภเกิดขึ้น ลาภมันก็เสื่อม หมด มันหมดไปเพราะใช้มัน เขาตั้งให้เรามียศได้เขาก็ถอดได้ คนเขานินทาเราได้เขาก็สรรเสริญได้ เรามีสุขของโลกียวิสัย มันก็มีทุกข์ได้ อาการทั้งหลายแหล่ที่พูดมาแล้วนี้ทั้งหมด ถ้ามันเกิดขึ้นกับใจ ขอพูดใหม่ดีมั้ย ว่าคุณไม่บ้า คุณจะไม่หนักใจมันเลย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นของธรรมดา ถ้าเราเกิดมาในโลกแล้วเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ต้องการฝืนไม่ให้อาการอย่างนี้ปรากฎก็คือคนบ้า ฝืนยังไงมันก็ฝืนไม่ได้

    ความจริงนี่คุณจะคิดว่าเอ ผมก็คงจะบ้ามากนะ ขึ้นท้ายก็บ้า ลงท้ายก็บ้า ถ้าคุณพูดอย่างนี้ผมยอมรับคุณ ว่าผมนี่เป็นคนบ้ามาแล้วสองแบบ คือเมื่อตอนหนุ่มๆ ผมยังไม่บวชหรือว่าบวชใหม่ๆ ตั้งแต่วันเกิดก็แล้วกัน ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันบวช บวชแล้วไม่แก่นัก ตอนนั้นผมก็บ้า ผมบ้าเกาะ ผมเกาะดะ ผมเกาะพ่อ เกาะแม่ เกาะพี่ เกาะน้อง เกาะญาติผู้ใหญ่ เกาะทรัพย์สิน ดีไม่ดีย่องเข้าไปเกาะลูกสาวชาวบ้านเขาเข้าให้ ไม่ใช่ย่องหรอก บางทีวิ่งไปเลย เห็นเขาแต่งตัวชอบใจ ทรวดทรงดี วิ่งตามส่ง มันย่องๆ ค่อยยังชั่วหน่อย อันนั้นไม่ย่อง ย่องไปทำไม ย่องจะไปเกาะเขาน่ะสิ ดีไม่ดีพอทันกันเข้าก็หันมาตบหน้าเข้าด่าเข้ามั่ง สบาย กลับบ้านสบาย ชื่นใจนิดนึง นั่นเพราะผมบ้า ตอนนั้นบ้าอย่างมาก พวกคุณที่ว่าบ้าน่ะนี่ไม่ทันผมหรอก ไม่ใช่จะเอาแก่มาอวด ผมรู้พวกคุณนี่น่ะ บ้าๆ บอๆ บ้ารักบ้าโลภบ้าโกรธบ้าหลง บ้าไม่ทันผมหรอก ไอ้ผมนี่มันบ้ารัก รักนี่บ้ามาก ถ้าโลภไม่ค่อยบ้าแฮะ เพราะชอบแจกเพื่อน ขโมยปลาหมึกแจกเพื่อนตั้งแต่เด็ก มีอะไรกินนิดกินหน่อยกินคนเดียวไม่ได้ จนกระทั่งญาติผู้ใหญ่บางคนท่านตำหนิว่าไอ้นี่กินคนเดียวไม่ได้ ต้องเผื่อหมาอยู่เรื่อย แต่คุณพ่อคุณแม่ท่านไม่ดุ บอกว่าก็ช่างมัน สิทธิของมันมีเท่านั้น มันจะไปแบ่งกับใครก็ช่าง ของกินมีท่านแบ่งเป็นส่วน เอ้า ขนมเอาไปคนละถ้วย ถ้วยเท่ากันหมด เล็กโตกินเท่ากัน คำว่าเท่ากันนี่หมายถึงว่าต้องพออิ่ม แต่ส่วนใหญ่ท่านจะทำให้เกินไว้เสมอ ผมมีผมก็ไปแจกเพื่อนในสิทธิในส่วนที่เป็นของผม ญาติผู้ใหญ่บางคนท่านว่าเอา ท่านว่าไอ้นี่กินต้องเผื่อชาวบ้าน ตัวเองก็ไม่ทันจะอิ่ม คุณแม่ท่านบอกช่างมันๆ ของของมัน มันมีสิทธิเท่านั้น มันมาเอาอีกไม่ได้ จะแบ่งกับใครมันก็ช่าง มันจะไม่กินเลย ให้เพื่อนกินทั้งหมดก็ช่าง นี่ว่าเรื่องความโลภนี่ผมบ้าน้อยไปนิดนึง เรื่องความรักนี่บ้ามาก

    มาถึงด้านความโกรธ หวา บ้าพอกับความรัก นี่ผมเกาะมันมานะ บ้าพอกับความรัก ผมบ้าจริงๆ ความโกรธนี่ผมบ้าเต็มขั้นเลยคุณ ถ้าใครทำให้ผมโกรธโดยไร้เหตุไร้ผลโดยที่ผมไม่มีความผิด ผมจะต้องหาทางตอบสนองให้ได้ที่เรียกกันว่า พยาบาท ถ้าทำไม่ได้ผมจะยอมตายเสียดีกว่า นี่ความโกรธผมเต็มขั้นเลยคุณ เต็มจริงๆ ผมว่าไอ้บ้าตัวนี้พวกคุณมันบ้าน้อยกว่าผมนน ผมยิงคุณกลางคืนไม่ได้ผมต้องยิงกลางวัน ยิงลับหลังไม่ได้ผมต้องยิงต่อหน้า ยิงนอกบ้านไม่ได้ผมต้องขึ้นไปยิงบนบ้าน นี่ คุณอย่ามาเลียนตามผมนา นี่ผมเอาเลวอวดคุณว่าผมน่ะมันบ้ามาพอ และก็ไอ้บ้าโมหะความหลง ก็ไม่ต้องพูดล่ะ ถ้ามันรักได้ มันโกรธได้ มันก็มีโมหะมันก็หลง นี่บ้า ถ้าใครว่าผมบ้าผมรับ ผมเจ้าชู้มาพอ เจ้าชู้จนเบื่อ เวลานี้นึกถึงภาพนั้นขึ้นมาเมื่อไหร่มันอยากจะอาเจียน เห็นคนแต่งตัวสวยๆ ผิดปรกติแล้วใจสะอึกมาทันที มันชักจะติดคอ มันจะอาเจียน เพราะอะไร ร่างกายของคนทุกคน ที่เรานึกว่ามันดี ปัดโธ่เอ๊ย สกปรกบอกไม่ถูกเลยคุณ เหม็นห่งเหม็นห่ามมาเชียว โอ๊ ไม่ได้ความ ไอ้เวลาตอนใหม่ๆ พูดกับแก พูดอ่อนหวาน นานๆ เข้าเจอคำสำรากเข้าให้แล้ว ผมเปิด เพราะผมต้องการของดี นี่มันไม่ดีผมก็เปิดน่ะสิ ไอ้ที่ไปทำร้ายคนเพราะเขาโกงผมก่อน ผมไม่กินเหล้าเมายา ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเบียร์ อะไรผมก็ไม่กิน คุณแม่ให้ภาวนาว่าพุทโธเป็นปรกติ ผมก็ทำ ถึงวันพระท่านรักษาศีลอุโบสถ ผมก็รักษา แต่ทว่าอย่าโกงผมก่อนนะ ผมไม่โกงใคร แต่ใครอย่าโกงผมก่อน ถ้าโกงแล้วในตอนก่อนผมจะนิ่งเฉยทำเหมือนกลัวเขา แต่ถ้าถึงที่สุดเมื่อไหร่ คนนั้นต้องจมดินเมื่อนั้น

    นี่ ผมบ้าเต็มที่นะ มาบ้าตอนนี้บ้าไปบ้ามา มันบ้าเต็มภาคภูมิ ในที่สุด มาบวชแล้วเจอหลวงพ่อปานสอน ก็เลยบ้าใหม่ ทีนี้มาบ้าละความรัก บ้าละความโลภ บ้าละความโกรธ บ้าละความหลง จนกระทั่งเดี๋ยวนี้มันก็ละยังไม่หมด แหม มันละกันมาหลายสิบปีแล้ว ๔๐ ปีกว่านี่ยังไม่หมดเลยคุณ มันจะหมดได้ยังไงในเมื่อขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ โอ้โหละยังไงล่ะคุณ เห็นมั้ยล่ะวัดวาอารามไม่กี่ปี ล่อซะหรูหราไปหมด พอตั้งกองทุนเข้าหน่อยจะแจกของเป็นสาธารณประโยชน์ โอ้โห ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้เต็มวัดเต็มวา ยังงี้เขาเรียกว่าบ้าหรือดี นี่มันจะหมดได้ยังไง ในเมื่อมีขันธ์ ๕ ถ้าเมื่อขันธ์ ๕ หมดเมื่อไหร่ ผมอาจจะหมดก็ได้ ไม่หมดก็ได้ ตายแล้วอยากไปนรกผมก็ไปนรก อยากไปสวรรค์ผมก็ไปสวรรค์ อยากไปพรหมผมก็ไปพรหม อยากไปนิพพานผมก็ไปนิพพาน สุดแล้วแต่มันอยากตอนนั้น มันอยากไปทางไหนก็ไปทางนั้น พูดแบบนี้เลยไม่ต้องรู้เรื่องกัน นี้มาถึงเรื่องตัดความโกรธ อันนี้โกรธ โกรธแล้วก็ทรงพรหมวิหาร ๔ ที่ผมพูดมานี้น่ะพูดให้เข้าใจ ว่าอารมณ์ใจของคนมันบ้ามาแล้วเหมือนกัน ตอนนี้มาพูดถึงตัดความโกรธ มันง่ายๆ ง่ายนิดเดียวล่ะคุณ ถือคาถาไว้ตัวหนึ่งสิ ช่างมันๆๆ มันด่าก็่ช่างมัน มันว่าก็ช่างมัน มันชมก็ช่างมัน มันสรรเสริญก็ช่างมัน เขาเอาอะไรมาให้ก็ช่าง เขาไม่เอาอะไรมาให้ก็ช่าง ไอ้คำว่าช่างในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าอกตัญญู คือถือว่าเขาให้ก็ดี ไม่ให้ก็ดี หมดเรื่อง ไม่ใช่โกรธ ที่บอกว่าช่างมันแต่ดันไปโกรธเขานั้นไม่ถูก

    เป็นอันว่าอันดับแรก เราก็ทรงพรหมวิหาร ๔ ลืมตาขึ้นมากว่าจะหลับ จิตคิดไว้เสมอว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีสำหรับคนทั้งโลก เห็นมั้ย ไม่คิดเป็นศัตรูของใครทั้งหมด เห็นหน้าใครก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เขาแยกเขี้ยวเข้าใส่เราก็นึกว่าไม่ใช่หมาไม่มีเขี้ยว ช่าง เห็นหน้าคนก็ยกมือไหว้ รักหมด แต่ไม่รักด้วยกิเลสนะ รักด้วยความปรานี ข้อที่สองกรุณา สงสาร คิดว่า เออ เราเกิดมาในโลก อย่าทำตนให้เป็นคนรกโลกไร้ประโยขน์เลย เกิดมาแล้วก็ทำความดีมันเสียบ้าง นั่นก็คือหาทางเกื้อกูลแก่บุคคลที่ควรจะให้ ให้ดูคนหน่อยนะ พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น อันดับแรกสำหรับคนชั้นต่ำ ใจยังต่ำที่เป็นปุถุชน เลือกคนเฉพาะคนที่ควรให้ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงให้ดะ ท่านเลือกคนให้ ท่านคิดว่าสิ่งที่ท่านให้เขารับไปแล้ว จะมีประโยชน์มั้ย ถ้ามีประโยชน์กับเขาท่านให้ ถ้าให้แล้วไม่มีประโยชน์ไม่ควรให้

    อย่างหนังสือหลวงพ่อปาน เมื่อก่อนนี้ผมแจกเขาเหมือนกัน ของแจกไปเป็นวัตถุเสียเยอะ ไปวางทิ้งกัน เราทำเกือบตาย หนังสือของหลวงพ่อปานผมเคยทำแจกคนใกล้วัด ๒๐๐ เล่มเศษ ผมจำได้ แจกฟรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมาหรือ ๒๕๑๖ จำไม่ได้นะ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผมเคยไปถามบางคนบอกยังไม่ได้อ่านเลย บางคนบอกอ่านไป ๒-๓ หน้าไม่มีเวลาอ่าน เห็นมั้ย ว่าคนที่ไม่ควรจะให้เนี่ย แต่ขืนให้ไปสภาพมันเป็นอย่างนี้ เราต้องลงทุนลงแรง ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้เงินใช้ทอง กว่าของมันจะเกิดขึ้นมาได้ แต่ให้ไปแล้วก็กลับไปทิ้งให้มันไร้ประโยชน์ หนังสือเล่มนี้ครั้งหนึ่งเคยขึ้นราคาถึงร้อยบาทในเวลาที่ขาดก็ดี ไม่มีจำหน่าย ในที่สุดก็ต้องรีบทำขึ้น มีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง ผมลืมชื่อเสียแล้ว แต่จดหมายเขาเพราะ แกจดหมายมาบอกว่าต้องรีบพิมพ์ ไม่งั้นจะแย่ เวลานี้ เขาขึ้นราคาเล่มละ ๑๐๐ บาทแล้ว เราขาย ๒๐ ๓๐ บาท เจ๊กมานั่งด่าว่าห้าสิบบาทยังไม่แพง ทำไมขายถูก หาว่าตัดราคาเขา เราก็บอกว่าเราต้องการแต่ทุนเท่านั้น ให้มันหมุนเวียนได้ ไม่ต้องการไปสร้างตึก

    อันนี้ต่อไปเรามีความสงสาร เกื้อกูล นี้เราคิดหรือเปล่าว่าไอ้การสงสารทำยังไง เราเป็นคนไม่รกโลก อะไรที่เราจะช่วยเขาได้ เราคิดไว้พอลืมตาขึ้นมาก็ยันหลับ คิดไว้เลยว่าอะไรที่เราช่วยได้จะช่วยทุกอย่าง ถ้าไม่เกินวิสัยของเรา อย่าให้อารมณ์ความรักและควาามสงสารมันขาดจากจิต แล้วก็มุทิตา จิตอ่อนโยน มองความดีของคนอื่น อย่ามองชั่ว แต่ตัวเองมองความชั่วของตัว คนอื่นเรามองความดี ว่าคนนี้เขาดียังไง เขาจึงมีความสุข คนนี้เขาทำยังไง เขาจึงร่ำรวย คนนี้เขายังไง จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย คนนี้เขาทำยังไงร่างกายถึงไม่มีโรค อะไรก็ตาม เห็นเขาดีตรงไหนตามดีด้วย ยินดีกับความดี ทำตามไปเลย ตั้งอกตั้งใจทำความดีตามเขา แต่เขาโกงรวยอย่าไปโกงตามเขานะ นั่นมันชั่ว
    นี้อารมณ์ความวางเฉย เฉยยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น อุเบกขาน่ะ วางเฉย เอ้า ใครเขาอยากจะด่าก็เฉย เขาจะชมก็เฉย ยิ้มๆ ด่าก็ยิ้ม ชมก็ยิ้ม ยิ้มเป็นเครื่องปลอบใจ แก่ก็ยิ้ม ป่วยก็ยิ้ม ของรักของชอบใจพลัดไป ก็ยิ้ม ความตายจะมาถึงก็ยิ้ม ยิ้มเพราะอะไร เพราะเรามีอุเบกขา วางเฉย รู้อยู่ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น

    รวมความว่าเราจะตัดความโกรธ ก็ต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ ประการ ถ้าอารมณ์พรหมวิหาร ๔ ประการมันประจำอยู่ในใจเป็นปรกติ แล้วความโกรธมันจะโผล่มาตรงไหนล่ะ มันจะยื่นหน้าเข้ามาในช่องไหน แล้วคิดไปด้วยว่าโกรธก็ตาย ไม่โกรธก็ตาย เราตายอย่างคนไม่โกรธดีกว่า ใจเรามีความสุข ถ้าเราไปตายอย่างคนที่มีความโกรธเราก็พังน่ะสิ พังเพราะอะไร เพราะไอ้ความโกรธมันเป็นของไม่ดี ถ้าเราโกรธขึ้นมามันก็ไม่ดี เพราะโกรธไม่ดีนี่ เราเป็นคน ก็เป็นคนไม่ดี ถ้าเราจะตายเป็นผี ก็กลายเป็นผีไม่ดี เราไม่เอา เป็นคนดีตามคติของพระพุทธเจ้าดีกว่า แต่จงอย่าเป็นคนดีตามคติของคนเลว ท่านทั้งหลายทรงอารมณ์ใจไว้ได้อย่างนี้เป็นปรกติชื่อว่ามีฌานในพรหมวิหาร ๔ แต่ก็ต้องมีพื้นฐานอานาปานุสสติเป็นพื้นไว้ อย่าปล่อยใจให้มันลอย เห็นใจมันเฟื่องก็จับอานาปานุสสติกับพุทธานุสสติควบคุมใจ วิธีการระงับความโกรธเท่านี้ล่ะคุณพอ เหลือแหล่ ทำได้น่ะเหลือ เหลือกินเหลือใช้

    เอาล่ะท่านทั้งหลาย มองดูเวลาที่จะแนะนำท่านก็หมดเสียแล้วนี่ ต่อแต่นี้ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าเวลานั้นท่านจะเห็นสมควรว่าเลิก สวัสดี
     
  2. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค - โมหะ

    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ เวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายตั้งใจสดับคำแนะตำในการเจริญพระกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เป็นวันสรุปของพระสกิทาคามี ความจริงจะว่าสรุปทั้งพระโสดาบันและสกิทาคามีก็ได้ เมื่อพูดกันตามส่วนแล้วผมก็ไม่น่าจะพูดยาวมาถึงเพียงนี้ น่าจะพูดเพียงสั้นๆ ก็สามารถจะปฏิบัติกันได้ แต่ทว่าที่ต้องพูดยาวก็เผื่อไว้ แต่สำหรับท่านที่มีกำลังใจหรือบารมีเป็นอุคคติตัญญูก็คงจะรำคาญ เพราะพูดกันเยิ่นเย้อนานไป สำหรับท่านที่มีกำลังใจเป็นวิปปจิตัญญู อย่างนี้ก็เห็นว่าจะพอรับฟังได้ เพราะต้องการฟังคำอธิบาย สำหรับท่านที่มีนิสัยเป็นเนยยะ ก็จะรู้สึกว่าสูงเกินไปหน่อย เพราะว่าเนยยะนี่ไม่สามารถจะเป็นพระอริยเจ้าได้ จะได้ก็แต่เพียงว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ก็ยังดี สำหรับท่านที่เป็นปทปรมะจะรำคาญมาก เพราะบุคคลประเภทนี้ตายแล้วต้องลงนรก ทางที่จะเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นนิพพานน่ะไม่ได้ เพราะว่ามีนิสัยมาจากสัตว์ในอบายภูมิ นี่คนนี่พระพุทธเจ้าแบ่งออกเป็น ๔ พวก ที่ท่านแบ่งนั้นไม่ได้แบ่งเอง แบ่งด้วยอำนาจสัพพัญญูวิสัย คือรู้เอง พวกอุคคติตัญญูมีบารมีมาก คือ ปัญญาดี พูดแต่เพียงหัวข้อก็เข้าใจ วิปปจิตัญญู ต้องอธิบายถ้าพูดย่อไม่เข้าใจ เนยยะ จะสอนแบบไหนก็ตาม จะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ จะได้แต่แค่ไตรสรณาคมน์ สำหรับปทปรมะนี่พวกตากระทู้หูกระทะ สอนยังไงก็เอาดีไม่ได้ เพราะว่ามีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าตัวเป็นคนฉลาด นั่นก็คือความโง่บัดซบที่ช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย

    สำหรับต่อแต่นี้ไป ก็จะขอเตือนท่านไว้สักนิดหนึ่ง สิ่งที่เตือนนี่มีความสำคัญ นั่นก็คือการที่จะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า จะต้องมีกำลังฌานเป็นปรกติ คำว่าฌานก็เคยพูดไว้แล้วก็คือชิน ชินต่ออารมณ์ที่เราต้องการจะละ ชินกับอารมณ์ที่เราต้องการตัด ให้ใจมันจับอยู่อย่างนั้นจนชิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชินอยู่ในอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะว่าเวลานี้เราพูดกันถึงหมวดอานาปานุสสติ ชินอยู่ในอานาปานุสสติกรรมฐาน ท่านจะปฎิบัติกรรมฐานหมวดใดก็ตาม ถ้ากำลังใจของท่านไม่ชินอานาปานุสสติกรรมฐาน ผมก็ขอบอกได้ว่าโอกาสที่ท่านจะทรงฌานแม้แต่ฌานโลกีย์มันก็ไม่มี อารมณ์ใดที่เป็นอกุศลอย่าให้มันเข้ามายุ่งกับใจ ใจรักษาอยู่เฉพาะอารมณ์ของลมหายใจเข้าออกเป็นปรกติ ถ้าภาวนาด้วย กองไหนล่ะ เราชอบพุทธานุสสติกรรมฐานเราก็ใช้พุทธานุสสติกรรมฐานเป็นปรกติ แล้วก็ใช้อารมณ์พิจารณาตามอารมณ์ที่เราต้องการตัด การทรงอานาปานุสสติกรรมฐานก็ดี พุทธานุสสติกรรมฐานก็ดี เป็นการทรงอารมณ์ใจให้มีกำลังใจที่เรียกว่าฌาน คือหมายความว่า เราจะไม่ยอมให้จิตของเราว่างจากความดี เมื่อจิตมันไม่ว่างจากความดี ความชั่วมันก็เข้าไม่ได้ ที่ใจของเรายังชั่ว ก็เพราะว่าจิตมันเปิดโอกาสให้ความชั่วเข้ามายุ่งกับใจ เรื่องของชาวบ้านอื่นใดอย่าไปยุ่ง ทั้งวันทั้งคืนจงยุ่งอยู่แต่อารมณ์ใจของเราโดยเฉพาะ นิสัมมะ กรณัง เสยโย พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า จงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ แล้วจึงพูด จะทำก็ดี จะพูดก็ดี ใคร่ครวญเสียก่อนว่าควรหรือไม่ควร อันนี้ในสำนักของเรายังมีอยู่ ที่ประเภทปากไม่มีหูรูดน่ะยังมี ขอได้โปรดยับยั้งชั่งใจเสีย รู้สึกตัวว่าเวลานี้เราเป็นสมณะ คำว่าสมณะแปลว่าผู้มีความชั่วลอยทิ้งไปแล้ว หรือว่าแปลว่าเป็นผู้สงบ คือสงบจากความชั่ว ไอ้ปากชั่ว คิดชั่วน่ะเลิกกัน อยู่ด้วยความสงบสงัด

    ตอนนี้ก็มาพูดกันถึงสรุป วันนี้จะพูดถึงโมหะของสกิทาคามี ถ้าตัดเข้าถึงโมหะของสกิทาคามี ก็เป็นพระสกิทาคามีผล จัดว่าจะไม่เป็นผลหรือเป็นผลเท่านั้นแหละ ผมก็ไม่ทราบ แต่ผมคิดจริงๆ ตามความรู้สึกของผม ว่าขั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีนี้ไม่มีอะไรยาก สำหรับคนเอาจริง คนเอาจริงนี้ไม่มีอะไรยาก ไม่ต้องใช้กาลเวลาอะไรเลย เพราะว่าถ้าเรารักษาศีล ๒๒๗ สิกขาบทครบถ้วน อันนี้มันหนักพออยู่แล้ว เราแบกกำลังใจของเราพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราฟังกันมาทุกวันเฉพาะธรรมะและระเบียบวินัย การที่ให้ฟังเนี่ยเขาให้ฟังเพื่อทำกำลังใจให้เป็นพระอริยเจ้า แต่ทว่าพอเปิดเสียงธรรมะก็ดี เปิดเสียงสมาทานก็ดี เราก็เอาใจไปจดจ่ออยู่กับอย่างอื่น นั่นเป็นความเลวของเรา ไม่ใช่ความเลวของพระศาสนา

    เป็นอันว่าต่อแต่นี้ไป ฟังกัน ฟังแล้วก็คิด โมหะแปลว่าความหลง แต่ผมขอแปลว่า โมหะแปลว่าความโง่ ใครเขาจะว่าผมแปลผิดก็ช่าง ถ้าคนไม่โง่มันจะหลงได้ยังไง คนที่เขาฉลาดน่ะเขาต้องพิจารณา แม้แต่ทางเดิน เราเคยเดินมาจากทางไหน เลี้ยวทางไหน เขาต้องสังเกตไว้ ที่นี้สำหรับนักปฏิบัติกรรมฐาน อารมณ์ใดที่มันเป็นความชั่วเรารู้อยู่แล้ว อารมณ์ใดที่มันเป็นความดีเรารู้อยู่แล้ว ถ้าเรายังหลงทำความชั่วอยู่ แล้วก็ตอบว่าผมไม่รู้เลย การกระทำอย่างนี้ผมไม่รู้ว่าผิดนั่นมันชั่วอย่างสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟังคำสอนทุกวันแล้วยังชั่วอยู่อีก แล้วจะมีคำว่าดีตรงไหน นี่คนที่มีโมหะที่ผมแปลว่าโง่ ก็เพราะไอ้ตัวนี้แหละ มันโง่มันจึงหลง ถ้าไม่โง่ไม่หลง โมหะไม่ต้องอธิบายกันมาก ถอยหลังกลับไปเลยเป็นปฏิโลม เราก้าวเข้ามาในความเป็นพระอริยเจ้า สำหรับพระสกิทาคามี มีอะไร ๑ บรรเทาความรักในระหว่างเพศ ๒ บรรเทาความโลภในลาภทรัพย์สิน ๓ บรรเทาความโกรธความพยาบาท ๔ บรรเทาความหลง นี่สำหรับนักปราชญ์เขาอาจจะหาว่าไอ้ผมนี่มันยิ่งโง่ระยำหมา เพราะไอ้ความรักกับความโลภมันเป็นตัวเดียวกัน แต่ที่ผมแยกก็แยกกันความเข้าใจผิดของพวกท่าน

    เราก็มานั่งคิดทำให้อารมณ์มันชินสิ จับอานาปานุสสติกรรมฐานกับพุทธานุสสติกรรมฐานให้ใจมันสบาย เราทำกันนี่ทำเพื่อให้ใจสบาย แต่ว่าทั้งสองอย่างนั่นจับเฉยๆ เป็นใจสบายในด้านของสมถภาวนา ที่นี้เราเอามาสบายในด้านของวิปัสสนาภาวนาด้วย เพราะว่าสบายในขั้นสมถภาวนามันสบายเดี๋ยวเดียว ประเดี๋ยวมันก็เลิกสบาย มาสบายในขั้นวิปัสสนาภาวนา เราไปนั่งไล่เบี้ยอีกนิดหนึ่ง ว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่พระพุทธเจ้าท่านว่ายังไง มีอารมณ์ใจเป็นอะไรบ้าง ท่านบอกว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรงอธิศีล คือมีศีลมั่นคง มีสมาธิพอสมควร ไม่หนัก และก็มีปัญญาเล็กน้อย จำให้ดีนะ มีความมั่นคงในศีล มีสมาธิพอสมควร มีปัญญาเล็กน้อย นี่ยังไม่มาก ถ้าผมจะพูดสักนิดหนึ่ง ท่านจะหาว่าฟุ้งก็ตามใจ ผมขอพูดว่า ถ้านักบวชที่เป็นสมณะจริงๆ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี อารมณ์สองประการนี้เขาถือว่าเป็นเด็กเล่น ทำไมจึงว่าอย่างนั้นเพราะว่าเราบวชหรือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา เรามุ่งมั่นอยู่ในศีลแล้ว ถ้าเรามีศีลเป็นสีลานุสสติกรรมฐานจนกระทั่งเป็นอารมณ์ฌาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ มีความนิยมนิพพานเป็นปัจจัยเป็นที่ไป เท่านี้ก็หมดเรื่อง ไม่เห็นมีอะไร ไอ้ตัวรักในเพศตัวโลภตัวโกรธตัวหลงมันจะมายังไง มันมาไม่ได้เพราะใจเรามีความมั่นคงในอารมณ์ของสมาธิในพุทธานุสสติ ในสีลานุสสติ ในมรณานุสสติ ในอุปสมานุสสติ แล้วตัวความชั่วมันไหลมาถึงใจได้ยังไง

    เอ้าคุยกันต่อไปสักนิดหนึ่ง โมหะตัดความหลง หลงตรงไหน หลงคิดว่าเราจะไม่แก่ หลงคิดว่าเราจะไม่ป่วย หลงคิดว่าเราจะไม่ตาย เอาตรงนี้กันก่อน ทีนี้เราคิดหรือเปล่าว่าเราจะต้องแก่ เราจะต้องป่วย เราจะต้องตาย เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คิดกันบ้างหรือเปล่า สังเกตดูให้ดีนะครับ ถ้าคนที่เขาคิดอย่างนี้ล่ะก็คนนั้นเขาทำแต่ความดี และเขาไม่ไปยุ่งกับกิจการของคนอื่น ใครจะดีจะชั่วช่างเขา เขาจะคุมเฉพาะกำลังใจของเขาโดยเฉพาะว่าเขาลืมส่วนนี้แล้วหรือยัง ทีนี้ถ้าเขาไม่ลืม เขาไม่ลืมเขาก็หันไปคว้าความดี ว่ารูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สัมผัสก็ดี ทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของดีหรือของชั่ว ก็ต้องตอบได้ว่ามันเป็นของชั่ว การแต่งงานของคนทุกคน เป็นผู้แสวงหาความทุกข์ ทุกข์ที่มันจะพึงได้มา ทีแรกอยากแต่งงานก็ทุกข์เกรงว่าคนที่เรารักเขาจะไม่รักเรา ไอ้ตัวเกรงตัวนี้มันเป็นตัวทุกข์ ต่อมาเมื่อแต่งงานกันแล้วก็ทุกข์อีก เกรงว่าคนรักจะนอกใจ เกรงว่าจะไม่มีกินไม่มีใช้ ต้องประกอบการงานมากขึ้น เหน็ดเหนื่อยมากขึ้น มันก็ทุกข์ ต่อมาถ้ามีลูกมีเต้าขึ้นมา แล้วความสบายมันเกิดจากมีลูกตรงไหน กินก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย การเลี้ยงลูกมันง่ายนักรึ ต้องแบกภาระหนักนี่มันก็เป็นอาการของความทุกข์

    นี้การต้องการครองคู่จะมีประโยชน์อะไรสำหรับคนฉลาด มีคนโง่เท่านั้นที่ต้องการเป็นคนมีคู่ครอง เพราะว่าทุกข์ที่มันมีอยู่ ชาวบ้านเขาทุกข์ให้เห็น ทำไมเราจึงไม่คิด ไอ้ตัวไม่คิดนี่มันตัวโง่ เราก็คิดตัดตัวความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสว่ามันเป็นของไม่จีรังยั่งยืน เท่านี้เอง เอาปัญญาไปพิจารณาหาความเป็นจริง ให้มันบรรเทาความรักในเพศ ผมยังไม่ถือว่าตัด มันตัดไม่มาก ตัตเบาๆ เห็นว่าการแต่งงาน การมีคู่ครองเป็นภัย รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศเป็นภัยใหญ่สำหรับเรา เป็นปัจจัยของความทุกข์ ผมจะไม่อธิบายอะไรให้มาก ตอนนี้มันเป็นตอนสรุป ถ้าจิตคิดได้อย่างนี้แสดงว่า เริ่มฉลาดแล้ว เริ่มฉลาดนะ ผมไม่ถือว่าฉลาดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มฉลาด

    มาถึงตอนความโลภ ความโลภโมโทสันในทรัพย์สิน อยากจะถามจริงๆ เถอะ เคยเห็นคนที่เขาตายไปแล้วนี่เขาแบกอะไรไปได้บ้าง โลกธรรม ๘ ประการนี่ควรจะบรรเทา ถ้าตั้งใจตัดเสียเลยนี่ไม่ใช่อะไรหรอก ไม่ใช่บรรเทาอย่างเดียว ตั้งใจตัดแต่แรงมันไม่มาก ตัดไม่หมดมันก็ขาดไปบ้าง มันเหลืออยู่บ้าง เหลือเบาๆ ตัดลงไปน้อย เบาน้อย ตัดมากเบามาก ทีนี้มันเบากันตรงไหน ก็เบากันอีตรงที่เราตัดได้ โลภะความโลภ ตะเกียกตะกายกันเกือบตาย ตายแล้วแบกอะไรไปไม่ได้ ความมีลาภเกิดขึ้น ลาภมากเท่าไหร่เราก็แก่ลงไปทุกวัน มีลาภมากเท่าไหร่มีทรัพย์มากเท่าไหร่ แล้วก็เจ็บป่วยกับเขาเป็น เรามีความร่ำรวยเท่าไหร่เราก็ตายเป็น เรามีความร่ำรวยเท่าไหร่เราก็พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็น มันดีตรงไหน ความรวยมันต้องมีสำหรับฆราวาส เราไม่ถือ ถือว่าใจจงอย่าติดมัน คิดแต่เพียงว่าเราหามาได้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องหมดไป ถ้ามันหมดไปแล้วถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา จะหมดเพราะการจับจ่ายใช้สอยเองก็ดี หมดเพราะว่าโจรปล้น หมดเพราะไฟไหม้ หมดเพราะลมพัดสลายตัว หมดเพราะน้ำท่วม ถ้ามันหมดเพราะเหตุเกินวิสัยที่เราจะป้องกันได้ เราก็ตามใจมัน ถือว่าหมดไปแล้วก็แล้วไป ไม่ใช่มีสมบัติแล้วก็โยนทิ้งอันนั้นใช้ไม่ได้ โง่จัด มีไว้ยังใช้อยู่ แต่ว่ามีความรู้ว่าเรากำลังจะต้องจากกัน มันจากไปก่อนเรา เราก็ไม่หนักใจ เราจากไปก่อนมันเราก็ไม่หนักใจ ถือว่าสมบัติของโลกเราแบกไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายของเราก็ยังแบกไปไม่ได้ ใจมันก็สบาย ให้จิตมันชินอย่างนี้

    มาถึงด้านความโกรธ ความโกรธผมก็พูดเยิ่นเย้อ พูดกันถึงเรื่องเมตตา และก็กสิณสี่ ความจริงเราก็คิดกันแบบง่ายๆ ว่าคนที่เก่งน่ะ ตายหรือไม่ตาย นักรบที่เก่งกล้าอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ดี พระเจ้าตากสินก็ดี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ดี สมเด็จพระราชวังบวรก็ดี ที่เรายังพอจะจำชื่อท่านได้ เวลานี้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีชีวิตอยู่หรือเปล่า แม้แต่กระดูกเราก็เกือบจะหาไม่ได้ นี่คนเก่งที่ฆ่าเขาตายได้ทั้งหมด แต่ตัวเองก็ตายเหมือนกัน ไม่สามารถจะทรงความเก่งไว้ได้ แต่ว่าท่านทั้งหลายที่กล่าวมานั้น ท่านเก่งในฐานะที่ว่าท่านสร้างความสุขให้กับปวงชนที่อยู่ภายในอำนาจที่ท่านปกครอง เป็นความดีของท่าน แต่ว่าผมไม่ได้ตำหนิท่านแต่ทว่าให้จำไว้ว่าจะเก่งสักเท่าไรก็ตามเราก็ตาย

    ฉะนั้นจึงชื่อว่าคนเก่งที่ตาย เพราะเขาเก่งดี รักษาทรัพย์รักษาสินไม่น่าตำหนิ สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ในบ้านในเมืองของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อศึกมาประชิดติดพระนคร พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไปรบข้าศึก เมื่อรบชนะกลับมาแล้วก็เข้ามาฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า อันนั้นเนี่ยเขาเก่งดี ตามวิธีการของโลกก็ต้องเก่งตามนั้น ไม่ใช่มางอมืองอเท้า นั่งๆ อยู่ให้เขามากระทืบเล่นน่ะผมไม่เห็นด้วย ถ้าผมเองน่ะเห็นจะไม่ไหว ถ้ามีแรงจะกระทืบผมจะเฉยไม่ได้หรอก เพราะพ่อผมปฏิญาณตนมาแล้วผมไม่ได้เกิดมาให้คนกระทืบเล่น แต่ถ้ามันแก่แบบนี้คงสู้ใครไม่ได้ เป็นอันว่านี่เราพูดถึงใจธรรมดา แต่หากว่าเราจะมานั่งคิดโกรธคิดเกลียดชาวบ้าน ว่าเราจะเป็นศัตรูคนนั้นศัตรูคนนี้ มันจะมีประโยชน์อะไร ใจเราคิดไว้กลางๆ เสมอว่าเราจะไม่เป็นศัตรูของใคร เราคิดประทุษร้ายเขาหรือไม่ประทุษร้ายเขา เขาก็ตาย ไอ้คนที่มันทำให้เราโกรธนี่มันเป็นเรื่องของคนโง่ คนโง่เท่านั้นที่สร้างความไม่เป็นมิตรกับคนอื่น เพราะว่าถ้าเรามีศัตรูเราโกรธเขาเราก็มีแต่ความเร่าร้อน เราไม่โกรธเสียเลยดีกว่า คนที่ไม่โกรธเลยนี่ถ้าใครคิดประทุษร้าย คนนั้นย่อมถึงความพินาศทุกราย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเนื่องในความอกตัญญูไม่รู้คุณคนล่ะก็เร็วเหลือเกิน จะเห็นอย่างพระเทวทัตเหาะเหิรเดินอากาศได้มีฤทธิ์มีเดชมีอภิญญา อาศัยความโลภในความเป็นใหญ่ ความโกรธในพระพุทธเจ้าที่ไม่มอบหมายความเป็นใหญ่ให้ สองตัวนี้ฆ่าคนชั่ว ในที่สุดพระเทวทัตก็หมดฤทธิ์หมดเดชหมดอำนาจ หมดความเคารพนับถือในบุคคลทั้งหลาย และผลสุดท้ายพระเทวทัตก็ลงอเวจีไป เป็นอันว่าความโกรธมันเผาผลาญใจไม่ให้มีความสุข เราจะไปโกรธมันทำไม ใครเขาอยากจะโกรธก็เชิญให้เขาโกรธตามสบาย เขาโกรธเรามากเท่าไรเขาตายเร็วเท่านั้น เพราะว่าถ้าโกรธมากก็กินไม่ได้นอนไม่หลับแล้วก็ตายไปเอง คนโกรธไม่มีปัญญา อย่าลืมนะครับว่าคนมีความโกรธน่ะไร้ปัญญา ไร้ความคิด ไร้ความฉลาด อำนาจความโกรธมันเผาผลาญ สมัยที่ผมเป็นนักเทศน์ ก่อนที่จะเป็นนักเทศน์ ยังเป็นนักเรียนอยู่ ครูสอนนักสอนหนาว่าเวลาเทศน์น่ะอย่าไปโกรธเขานะ เขาจะว่าหนักว่าหนายังไงก็ตาม อย่าโกรธ ถ้าโกรธแล้วปัญญาที่จะตอบมันไม่มี นี่เป็นความจริง

    ฉะนั้น เมื่อเรามาพิจารณาเห็นว่าความโกรธเป็นของไม่ดี เราจะโกรธทำไม ยิ้มรับกับความชั่วที่คนอื่นเขาหยิบยื่นให้ เราดี เขาว่าไม่ดี เราก็ยิ้ม เราชั่ว เขาชมว่าเราดีเราก็ยิ้ม ยิ้มทำไมคือยิ้มเยาะ ว่า โธ่เอ๊ย เจ้านี่มีอาการ ๓๒ มีจิตใจเหมือนคนธรรมดาแต่ว่าโง่บัดซบแบบนี้จะคบอะไรมันได้ ทั้งคนที่ตำหนิเราก็ดี ทั้งคนที่ชมเราก็ดี เราไม่ต้องการคบหาสมาคม เว้นแต่เพียงว่าถ้าเจอะหน้ากันก็พูด ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นปรกติ แต่ในใจของเราจงตัดขาดจากคนนั้น คือไม่ยอมรับนับถือบุคคลนั้นเด็ดขาด ถ้ามันดีแล้วมันจะติเราทำไม มันดีแล้วมันจะชมเราทำไม ถ้าเขาชมตามความเป็นจริง อันนี้ก็ยอมรับ แต่ก็อย่าเหลิง เขาว่าดีแล้วจงอย่าเหลิง ถ้าเหลิงเมื่อไรชั่วเมื่อนั้น อันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสว่าสมัยเมื่อพระองค์เป็นเด็ก สมเด็จพระราชชนนีเคยชมว่าเธอทำดี พอชมแล้วท่านชี้หน้าว่าอย่าเหลิงนะ วันนี้เธอทำดี ฉันชมเธอว่าดี ต่อไปเธอหลงดี เหลิง เธอจะชั่ว นี้พระองค์ทรงตรัสว่าพระองค์จำไว้เสมอว่าคำว่าดีนี่พระองค์ไม่เคยคิด คิดไว้เสมอว่าตัวยังไม่ดีเสมอ ตรงกับที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อัตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทก์ความผิดใจของเราไว้เสมอ อย่าไปชมตัวว่าดี ถ้าบุคคลใดก็ตามทำได้อย่างนี้ โมหะก็ดี ราคะหรือว่าโลภะหรือว่าโทสะหรือว่าโมหะ กิเลสทั้งหมดมันก็หนีเราไปหมด อัตนา โจทยัตตานังนี่กิเลสไม่เหลือ เวลาเหลือนิดเดียว เดี๋ยวจะลืม จะขอพูดถึงอารมณ์ของพระสกิทาคามี ท่านอย่าหลงตัวเองนะ อารมณ์ของพระสกิทาคามี ๑ ความรู้สึกในระหว่างเพศมีน้อยเต็มที คำว่ามีน้อยหมายความว่านานๆ จะมีความรู้สึกนึกรักใครมาสักนิดหนึ่ง หรือว่าวัตถุ มีความรู้สึกมาแล้วมันก็สลายตัวไป ใจเบาสบาย ระวัง ขั้นพระสกิทาคามีอย่าเพิ่งนึกว่าตัวเป็นพระอรหันต์ สำหรับโลภะความโลภนี่สบายมาก ไอ้เรื่องที่ต้องมาโลภโมโทสัน หากินในทางที่ไม่ถูกธรรม ไม่มีสำหรับพระสกิทาคามี ไม่ตะเกียกตะกาย ไม่ยื้อแย่งลาภสักการะของบุคคลใด ไม่หาอาชีพที่ไม่สมควรเข้ามาไว้กับตัว สบาย ไม่มี จิตอยากจะสะสมมันไม่มี มันสบาย โปร่ง ความจริงพระสกิทาคามีนี่พูดไปเฉยๆ ก็คล้ายพระอรหันต์นะ คล้ายๆ กัน แต่ว่ายังมีเหลือติดอยู่นิดๆ

    ที่นี้มาด้านความโกรธ พระสกิทาคามียังมีกระทบจิตโกรธ แต่โกรธแล้วมันหลุดเร็ว ให้อภัย เออ ช่างมันเถอะ มันผิดแล้วก็แล้วกันไป เว้นไว้แต่ว่าทำงานผิดระเบียบวินัย ผิดกฎข้อบังคับ ต้องลงโทษ คือพระพุทธเจ้าท่านยังลงโทษ สำหรับความหลงทะเยอทะยาน ไม่มีในอารมณ์ใจของพระสกิทาคามี คำว่าไม่มีหมายความว่าดีกว่าปุถุชน คือไม่หลงใหญ่ มีหลงก็หลงเล็ก ไอ้หลงเล็กมันเป็นยังไง คือหลงเคลิ้มๆ ก็ยังเห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ลืมว่าร่างกายจะตาย

    เอาละ บรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาเห็นมันหมดเสียแล้วนี่ครับ ต่อนี้ไป ขอทุกท่านพยายามรวบรวมกำลังใจ ทบทวนคำสอนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ผมกำลังสอนอยู่ ถอยหน้าถอยหลัง ถอยหลังถอยหน้า ใคร่ครวญเป็นปรกติ อย่าให้อารมณ์ใจของท่านขาดจากอารมณ์อย่างนี้ ความเป็นพระสกิทาคามีจะมีแก่ท่านอย่างไม่ยาก ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยกว่าจะถึงเวลาที่ท่านทั้งหลายเห็นสมควรจะเลิก สวัสดี
     
  3. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค


    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้และเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว และโอกาสต่อไปนี้ก็ขอพูดเรื่องราวของพระอนาคามี สำหรับพระอนาคามีนี่ต้องตัดสังโยชน์อีก ๒ อย่างนอกจากพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี สำหรับพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนั้นตัดสังโยชน์เสมอกันก็คือ ๑ สักกายทิฎฐิ ๒ วิจิกิจฉา ๓ สีลัพตปรามาส สักกายทิฎฐิให้พิจารณาเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ความจริงเรื่องนี้ใช้ปัญญานิดหนึ่งก็เห็น แล้วข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา การไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ประกอบไปด้วยเหตุและผล ถ้าเราเป็นคนใช้ปัญญานิดเดียวก็เห็นชัด ว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เชื่อได้

    ๓ สีลัพตปรามาส พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรงศีล ๕ เป็นสมุจเฉท คำว่าสมุจเฉทหมายความว่าเด็ดขาด การที่จะละเมิดศีล ๕ โดยเจตนาไม่มีของท่านพระอริยเจ้าสองขั้น เมื่อน้อมเข้าไปหาพุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระพิชิตมารก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรงอธิศีล อธิศีลก็หมายถึงว่ามีศีล หนักไปในเรื่องของศีล อย่างอื่นน้อย เมื่อฟังกันตรงนี้แล้วก็รู้สึกว่าเหมือนกับกล้วยที่สุกกำลังอร่อย แล้วก็เขาปอกใส่จานไว้แล้ว เพราะอะไร เพราะคำว่าอธิศีลนี่มันเป็นเรื่องของคนธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฆราวาสศีล ๕ นี่แล้วเป็นเรื่องธรรมดามากอย่างยิ่ง แต่ไอ้คนที่ไม่มีศีล ๕ บริสุทธิ์นี่ เขาไม่เรียกมนุษย์เขาเรียกว่าคน แปลว่ามันยุ่ง รวมความว่ากายนี่เป็นคน แต่ใจอาจจะเลวกว่าสัตว์ สัตว์เดรัจฉานนี่ความจริง ถ้าจะว่ามันไม่มีศีลน่ะไม่แน่ สำหรับเหี้ยนี่มีศีล ๕ บริสุทธิ์ เพราะอะไร เหี้ยไม่กินสัตว์เป็น เหี้ยกินแต่ของตาย เราประณามกันว่าเหี้ยเลว ถ้าเผอิญถ้าเราไปละเมิดศีลเข้า เราก็เลวกว่าเหี้ย ดีมั้ย คุยกันแบบตรงไปตรงมาแบบนี้ดี เป็นภาษาไทยแท้ มันตรงกับพระบาลีที่ว่า อัตนา โจทยัตตานัง แปลเป็นใจความว่าจงตักเตือนตนของตนเองไว้เสมอ กล่าวโทษโจทก์ความผิดไว้เสมอ ศีล ๕ เราพอใจให้คนอื่นมีสำหรับเรา เราทำไมจะไม่พอใจจะมีศีล ๕ สำหรับคนอื่น ถ้าเราพอใจเขามีให้แก่เรา เราไม่พอใจมีให้สำหรับเขา เราก็เลวกว่าเหี้ย สบายใจมั้ย ดูตัวมันไว้เสมอ มันจะได้ดี ที่เขาทำกันมาได้ดีนี่เขาทำกันอย่างนี้ ไม่มีใครเขายกตัวเขาขึ้นเหนือลม ไม่มีใครเขามองใจเขาว่าดี เขามองจุดเดียวคือความเลวเท่านั้น หาความเลวว่าตรงไหนมันจะโผล่ขึ้นมาบ้าง

    สำหรับพระอนาคามีก้าวเข้าไปอีกสองจุด นั่นคือตัดกามฉันทะกับตัดปฏิฆะ กามฉันทะก็ได้แก่พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวลระหว่างเพศ จิตครุ่นคิดถึงกามารมณ์อยู่เสมอ ตัวนี้ตัดทิ้งไป และก็ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในจิต เมื่อเราก้าวเข้ามาตอนนี้เรียกว่าพระอนาคามีมรรค จากพระสกิทาคามีขึ้นมา จิตมีความรักในการตัดกามารมณ์ และตัดปฏิฆะ และก็กำลังพยายามตัด เขาเรียกว่าพระอนาคามีมรรค นี่ตำราเขาไม่ค่อยได้เขียนไว้นะ ไอ้ผมเนี่ย มีคนเขาไปนินทาไว้กับพระเจ้าอยู่หัว ว่าอวดฤทธิ์อวดเดช อวดนั่นอวดนี่อวดเป็นผู้วิเศษ แต่ความจริงถ้าผมมีหมดผมก็อยากจะอวดเหมือนกัน คนเราถ้าลงวิเศษได้ก็ควรจะอวดความวิเศษ แต่ไอ้ผมนี่มันไม่มีนี่ ความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าท่าน แต่เผอิญท่านผู้นั้นท่านคิดว่าเป็นความรู้ของผม นี่ทำให้ผมครึ้มใจขึ้นมาเยอะ อยากจะบ้าไปตามคำของท่านผู้พูด แต่มันบ้าไม่ลงเสียแล้ว มันแก่ เมื่อมันบ้าไม่ลงก็ปล่อยให้ท่านบ้าไปแต่ผู้เดียวก็หมดเรื่อง อ้าว ไปนินทาชาวบ้านเข้าแล้วล่ะสิ ไม่ได้นินทาชาวบ้าน พูดให้ฟัง ว่าเราควรจะทำใจแบบนี้ ชาวบ้านเขาจะว่าอะไรนี่มันเรื่องของเขา เขาไม่ได้เอาปากของเราไปพูด เขาใช้ปากของเขา เขาเหนื่อยของเขาเอง เขาบ้าของเขาเอง ปล่อยเขาบ้าไป ไอ้คนบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ในโลกหาได้เยอะ นี้เรามาปฏิบัติเพื่อจะหนีความบ้ากัน บ้าในความโลภ บ้าในความรัก บ้าในความโกรธ บ้าในความหลง เราบ้าเท่าไรมันก็แย่เท่านั้น มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เสียงไม่ค่อยจะออก ผมได้พูดให้คุณฟังนี่มันเหนื่อย ใกล้จะขาดใจตายอยู่แล้ว นี่ยังมาบ้านั่งพูดอยู่อีก ก็ช่างมันเถอะ เพราะว่าจะสร้างตำรากันเสียหน่อย สร้างไว้เผื่อเด็ก แต่ก็ไม่แน่นัก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง ตำราของผมที่สร้างไว้ อาจจะมีใครเขาเอาเท้าขยี้เสียเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าตำราที่สร้างนี่เป็นตำราของพระพุทธเจ้า มาแคะให้ท่านดู

    ตอนนี้เราก็มานั่งดู ไอ้กามฉันทะนี่ มันจะตัดกันตรงไหน ท่านมีความลำบากใจมั้ย เมื่อลำบากใจก็โปรดทราบ ว่านี่ท่านมาจากพระสกิทาคามีแล้วนะ ถ้ามาจากสกิทาคามีแล้วท่านบอกว่าลำบาก ผมก็ว่าท่านคงจะตั้งจิตอธิษฐานไว้ ว่าตายจากความเป็นคนเมื่อไร ข้าพเจ้าขอไปสู่อเวจีมหานรก เพราะอะไร เพราะว่าสกิทาคามีนี่ตัดซะจนเกือบจะไม่เหลือแล้ว อารมณ์ที่จะเกิดความรักในระหว่างเพศ ในระหว่างที่ทรงพระสกิทาคามีน่ะมันจะไม่เหลืออยู่แล้วนะ ถ้ามันยังเหลือยังโด่อยู่ล่ะก็มันยังใช้ไม่ได้หรอก ไม่ใช่พระสกิทาคามี โน่น มันเป็นปุถุชนคนที่หนาแน่นด้วยกิเลส ตอนนี้เราก็มารวม ตอนสกิทาคามีน่ะเราตีด้วยอำนาจสมถะภาวนามาก คราวนี้เราก็ตีด้วยอำนาจวิปัสสนาภาวนาให้หนัก เพราะมันเป็นบันไดอีกก้าวเดียวเท่านั้น ที่เราจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ โอ๊ มันกล้วยจริงๆ เลยคุณเอ๊ย มันของหวานๆ ไม่เผ็ด ไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว หวานชื่นใจ ของง่ายๆ กล้วยๆ แล้วก็นั่งมองดูมาจากสกิทาคามี ว่า โอหนอ ร่างกายของคน ร่างกายของสัตว์ วัตถุธาตุทั้งหมด มันเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม จิตใจของเราทรงอารมณ์ตั้งมั่น เห็นคนก็เหมือนเห็นซากศพ เห็นคนแต่งตัวสวยผิดปรกติอยากจะอาเจียน คุณทราบมั้ยเขาแต่งยังไงผิดปรกติ ไอ้หน้าตาดีๆ น่ะทามอมๆ แล้วก็หลายๆ อย่าง อย่าไปว่าเขาเลย เขาชอบอย่างนั้นเป็นเรื่องของเขา เราไม่ชอบก็แล้วกัน ถ้ามันจะอาเจียนเราก็เข้าไปในห้องเสียก่อนแล้วค่อยอาเจียน มาอาเจียนต่อหน้าเขา เขาจะตบหน้าเอา เมื่อเรามองไปจากเนื้อ มองจากตาพร่าๆ ปั๊บ ทะลุเข้าไปถึงหนัง ทะลุหนังถึงเนื้อ ทะลุเนื้อถึงตับไตไส้ปอด ถึงขึ้ถึงเยี่ยวในลำตัว ผมไม่อยากจะพูดอุจจาระปัสสาวะมันไม่ใช่ภาษาไทยนี่ พูดกันทำไม เรียนใช้ศัพท์ว่าไอ้ขี้นี่มันดีมั้ยหอมมั้ย เยี่ยวหอมมั้ย น้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนองหอมมั้ย ดีตรงไหน ร่างกายของใครคนใดหนอในโลกนี้จะสะอาดไม่มีความสกปรก ร่างกายของใครคนใดหนอในโลกนี้จะมีการทรงตัวไม่มีการทรุดโทรม

    อย่างนี้เขาเรียกบวกทั้งสมถะและวิปัสสนา ไอ้ตัวทรุดโทรมเนี่ย มันเป็นเรื่องของวิปัสสนา สกปรกเป็นเรื่องของสมถะ เป็นอสุภสัญญา พิจารณาถึงร่างกายเป็นกายคตานุสสติ ว่ากันเพลินๆ สบายๆ มองไปแบบสบายๆ นั่งมองดูสิ เราดูตัวของเราเองดีกว่า ว่าตัวของเรานี่แต่งให้มันเช้งวับ จะแต่งตัวหันหน้าหันหลังกันหน้ากระจก แหม มันสวยที่โน่นสวยที่นี่ ตรงไหนมันสวย ขึ้สวยมั้ย เยี่ยวสวยมั้ย เสลดน้ำลายสวยมั้ย น้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนองสวยมั้ย ร่างกายผิวข้างนอกน่ะสวยแน่เหรอ ถ้าสวยจะไปล้างมันทำไม จะไปอาบน้ำอาบท่ามันทำไม มันสวยนี่ มันสะอาด เปล่า รวมความว่ามันซวย ไม่ได้สวยหรอก ร่างกายของคนที่มีมานี่ โอ๊ย มันใช้ไม่รู้จักหยุด หากินตั้งแต่วันเกิดถึงวันตายมันยังไม่พอเลย คำว่าพอก็หมายความว่าเรางด ไม่ต้องหา มันมีกิน เรางดไม่ต้องทำอะไรหมด ผ้าผ่อนท่อนสไบมันมี เรางดไม่ต้องบริหารร่างกายทั้งหมด มันจะสวยอิ่มเปรมใจอยู่ตลอดเวลา อิ่มเอมเปรมใจ มีหรือเปล่า ไม่มี รวมความว่าหามีไม่ได้ เมื่อหามีไม่ได้แล้วยังไง มันก็ไม่สวยน่ะสิ ตัวไม่สวยทรงสภาพมั้ย ไม่ทรง เป็นยังไง มันเสื่อม มันทรุด มันโทรม มันพัง แล้วเราก็ไปนั่งนึกจุดหนึ่ง ว่าร่างกายของคนก็ดี สัตว์ก็ดีนี่ ที่มันเกิดมาแล้วมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นั่งนึกให้มันสบาย มันทุกข์หรือมันสุข ชาวบ้านน่ะไม่ต้องไปดูเขา ดูตัวเราเป็นสำคัญ เรื่องของชาวบ้านชาวเมืองเขาจะสุขหรือทุกข์ก็ช่างเถอะ อย่าไปห่วง อย่าไปห่วงชาวบ้าน สร้างตัวเราให้มันดีเสียก่อน เตี้ยแล้วจงอย่าไปอุ้มค่อม ไอ้เตี้ยก็ตัวเตาะแตะอยู่แล้ว ยังไปอุ้มค่อมเข้าอีก ผลที่สุดก็เดินกันไม่ได้

    ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตร ในเมื่อพระองค์ยังทรงไม่บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ พูดง่ายๆ ว่าพระองค์ยังไม่บรรลุอรหันต์ พระองค์ก็ไม่ทรงสอนใคร อยู่กับปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ มาตั้งนาน สมเด็จพระพิชิตมารก็ไม่สอน เพราะว่าพระองค์ยังดีไม่พอ ในเมื่อพระองค์เป็นพระอรหันต์แล้วจึงสอน แล้วท่านจะย้อนถาม ว่าผมที่พูดๆ นี่เป็นพระอรหันต์แล้วหรือยัง ท่านอยากจะรู้มั้ยล่ะ อยากจะรู้ก็ไปถามพระพุทธเจ้าดูสิว่าผมเป็นพระอรหันต์แล้วหรือยัง ถ้าไม่พบพระพุทธเจ้าก็ต้องอย่าคิดว่าผมเป็นพระอรหันต์ จงคิดว่าผมเอาความรู้ของพระพุทธเจ้ามาสอน นี่ไม่ใช่ความรู้ของผม วิธีผสมอริยสัจ มองเห็นคนเป็นศพ แต่รู้จักสภาพว่าศพนี้มันเป็นทุกข์ ศพเขาเป็นทุกข์ ศพเราก็เป็นทุกข์ ทุกข์ตรงไหน ทุกข์ที่มันเสื่อมมันโทรมเป็นปรกติ ต้องหาเลี้ยงมัน แต่การไปหาเลี้ยงมัน มันเป็นทุกข์ กว่าจะได้เงินมาสักบาทนึงมันก็ทุกข์ จะได้ผ้ามาสักชิ้นหนึ่งมันก็ทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะพึงหามาได้นี่มันเป็นอาการของความทุกข์ทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็นอาการของความสุข

    คนรับราชการน่ะมานั่งโอดนั่งครวญกันให้ฟังเสมอ ว่าวันลามี เจ้านายไม่ให้ลาตามอำนาจที่พึงมีอยู่ เวลาป่วยมี งานป่วยก็มี แต่มีการบีบคั้นว่าถ้าป่วยเกินกว่าเท่านั้นต้องตัดเงินเดือน นี่เห็นมั้ยกว่าจะได้ทรัพย์ได้สินมาแต่ละคราว เวลาไปทำงานก็หนัก เครียด ลำบาก ใช้สมอง ใช้แรงงาน ต้องกระทบกระทั่งกับคนเลวที่เป็นผู้บังคับบัญชา หรือว่าคนเลวที่อยู่ใต้บังคับบัญชา สมองงานที่รับผิดชอบก็หนักเต็มที่อยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ดีก็ยังมาสร้างความสะเทือนใจ การหากินมันทุกข์ นี่รับราชการ ถ้าเป็นลูกจ้างนายจ้าง บริษัท ห้างร้าน องค์การใดก็ตาม มันก็มีสภาพเหมือนกัน เจ้านายเขาถือว่าผลประโยชน์ของเขาเป็นใหญ่ เราต้องหาผลประโยชน์ให้เขาให้ได้ตามความประสงค์ ดีไม่ดีเขาไม่ชอบใจเขาจะตัดเงินเดือนเมื่อไหร่ก็ได้ เขาจะไล่เมื่อไหร่ก็ได้ เราต้องไปนั่งเอาใจเขานี่มันสุขหรือมันทุกข์ ทุกข์นะ การทำไร่ทำนาการค้าการขายก็เหมือนกัน ค้าขายก็ต้องนั่งดูว่านี่ซื้อมาเท่าไหร่ กำไรเท่าไรมันถึงจะพอ กำไรที่มันพอเฉพาะที่มันจะได้มากับทุนน่ะไม่แปลก แต่กำไรที่จะไปใช้อย่างอื่น บำรุงบำเรอตัวน่ะสิ บำรุงบำเรอตัว บำรุงบำเรอครอบครัว ของใช้ไม้สอยที่จำจะต้องมี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นทุกข์หรือยัง

    เอาละเรื่องงานไม่ต้องพูดกัน หันมาดูร่างกาย ร่างกายมันย่อแย่ๆ ลงไปทุกที แก่ลงไปทุกวัน เดินเข้าไปหาความตายทุกวัน ไอ้ความตายนี่มันเป็นของปรกติ แต่ทว่าเรา เป็นผู้มีอารมณ์ไม่ปรกติ เห็นว่าความตายเป็นปัจจัยของความทุกข์ เลยกลัวตายเป็นทุกข์อีกแล้ว ของรักที่เรามีอยู่มันจำต้องพลัดพรากเป็นปรกติ เราก็พยายามยัดเยียดอารมณ์ว่ามันจงทรงสภาพเป็นอย่างนั้น ในเมื่อมันไม่ทรง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ ก็ทุกข์ อันนี้เราก็หันเข้ามาดูอารมณ์ของกามฉันทะ ว่าที่เราไปนั่งรักชาวบ้านน่ะ ตัวเราคนเดียวเรายังเป็นทุกข์ เราไปรักเขาเราก็ไปแบกทุกข์มา ถ้าไม่รักชาวบ้านก็รักวัตถุ เล่นของเก่าบ้างเล่นของใหม่บ้าง ไอ้เล่นเฉยๆ น่ะมันไม่หนัก แต่มันก็เสียเวลาอารมณ์ของความดีอยู่แล้ว สำคัญก่อนจะได้ของมาเล่นต้องเอาเงินไปให้เขาเล่นก่อน แพงเท่าไหร่ก็เอา มันโก้มันเก๋ดี ชาวบ้านเขาจะได้ชมว่า แหม เรานี่เป็นผู้วิเศษ สามารถรวบรวมของเก่าในสมัยไหนๆ ไว้ได้ แล้วไอ้เงินไอ้ทองที่จะไปซื้อข้าวซื้อของทั้งหลายเหล่านั้นมันสุขหรือมันทุกข์ที่มันได้มา มันได้มาจากอารมณ์ของความทุกข์ ไม่ใช่ได้มาจากอารมณ์ของความสุข นี่มันทุกข์จริงๆ แล้วของทั้งหลายเหล่านั้นที่ได้มาแล้ว ใจเราผูกพัน กลัวมันจะหาย กลัวมันจะแตก กลัวมันจะทำลายไปด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม อารมณ์ที่กลัวอย่างนั้นเป็นอารมณ์ของความสุขหรือความทุกข์ ก็ถือว่าเป็นอารมณ์ของความทุกข์ นี่ว่าถึงรูป รูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุ ถ้าเราติดมัน ผูกพันมัน ใจมันก็เป็นทุกข์ เอ มันทุกข์เสียแล้วทำไง

    ทีนี้มาเสียง บางคนก็ติดเสียง บางคนก็ติดกลิ่น บางคนก็ติดรส บางคนก็ติดสัมผัส ขอพูดลัดๆ ไม่ว่าติดอะไรๆ ที่ไหนมันทรงตัวบ้างหรือเปล่า มันก็หาความทรงตัวอะไรไม่ได้ เสียงผ่านหูแล้วก็หายไป กลิ่นผ่านจมูกแล้วก็หายไป รสผ่านปลายลิ้น กลางลิ้น ถึงโคนลิ้นแล้วก็หายไป สัมผัสระหว่างเพศ ยินดีกันนักถึงกับฆ่ากันตาย สมัยนี้ฆ่ากันตายนะไอ้กามารมณ์นี่ แต่ว่าทำไม่ไม่ไปดูคนที่เขาแต่งงานก่อน คนที่เขาแต่งงานกันก่อนๆ เราน่ะ ที่เขาแก่ไปแล้ว เขาเบื่อกันแล้วนะ ดีไม่ดี ไม่กี่เดือนไม่กี่ปี เขาก็เบื่อกัน นี่ก่อนที่เขาจะแต่งงานกันล่ะก็แหม รักกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เริ่มรักก็เริ่มทุกข์ เรารักเขา เขาจะรักเราหรือเปล่า นี่ทุกข์แล้ว ต้องหาวิธีการให้เขามารักกับเรา รักกันได้จริงๆ ทุกข์อีก ว่าผู้ปกครอง บิดามารดา เขาจะให้แต่งงานกันหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ ถ้าเขาให้แต่งงานกันทุกข์ใหญ่ ทุกข์เพราะอะไร เพราะอีตอนนี้ต้องเลี้ยงตัวเองน่ะสิ ตอนที่อยู่กับพ่อกับแม่น่ะทุกข์มันอยู่กับพ่อกับแม่ ไม่มีเงินก็แบมีอขอพ่อขอแม่ ไม่มีเครื่องแต่งตัวก็แบมือขอพ่อขอแม่ แต่ทว่าไอ้เราเอาเองน่ะ ปกครองเอง แบกภาระหนัก ไม่รู้จะแบมือหาใคร ต้องทำงานทำการหนักเต็มที่ มันสุขหรือมันทุกข์ แล้วไอ้ความรักนี้แหม มันยั่งยืนหรือเปล่า เปล่า ถ้ามีลูกมีเต้ายิ่งทุกข์ใหญ่ แล้วหนักเข้าๆ มันก็เหี่ยวแห้งลงไป อีตอนรักใหม่ๆ มันเปล่งปลั่ง ไม่ได้ลืมหูลืมตามาดูไอ้คนที่เขาเกิดก่อน เขาแต่งงานก่อน น่ะเขาก็สวยกันทุกคนแหละ แต่ในที่สุดก็เขาก็หมดสวย ไม่ต้องดูใคร ดูพ่อดูแม่เราก็แล้วกัน ถ้าท่านแก่เหล่าเหย่แบบนั้นน่ะท่านไม่แต่งงานกันหรอก ก่อนที่จะแต่งงานน่ะมันต้องเปล่งปลั่ง สวยสดงดงาม น่ารัก น่าชื่นใจ แต่ไม่ทันไร ทุกวันวันคืนล่วงไป ร่างกายก็ทรุดโทรมลงไป แล้วก็ในเมื่อเราผูกพันอยู่ในกามารมณ์อย่างนี้น่ะ มันก็มีแต่อารมณ์เป็นทุกข์ เราจะทุกข์ไปทำไมล่ะ

    ตอนนี้เราก็ตัดกามารมณ์ เอาอริยสัจควบกับอสุภสัญญากับกายคตานุสสติ ผมไม่สอนมากหรอก มันย่ำแย่มาตั้งแต่สกิทาคามีแล้ว ตอนนี้ความจริงสะกิดนิดเดียว มันก็หลุดเป๊าะ มันไม่มีอะไร เราฟันมันแหลกมาตั้งแต่สกิทาคามี จนกระทั่งมันเดินไม่ไหว คลานไม่ไหว เมื่อเผลอเมื่อไหร่ เราก็ค่อยๆ สะกิดนิดหนึ่งเท่านั้นเอง นี้ตอนที่เราเป็นอนาคามีมรรคนี้ ปัดโถ มันของง่ายจริงๆ มันหั่นแหลกมาแล้ว รวมความว่าใจของเรา จะพ้นจากอารมณ์ความทุกข์ ถอนจากกามารมณ์ได้หรือกามฉันทะ อย่าลืมนี่หมวดอานาปานุสสติ ตั้งใจให้มันทรงตัวในสมาธิ สมาธิดีคลายมาพิจารณาอสุภสัญญาควบกับอริยสัจ พอจิตมันซ่านขยับทิ้งพิจารณากลับเข้ามาทรงตัวกันใหม่ จับจิตให้ทรงฌานใหม่ เดินไปเดินมา เดินมาเดินไป มองคน มองพั่บเป็นซากศพ เห็นร่างกายพั่บสะอิดสะเอียนอยากจะอาเจียนโอ้กอ้ากเอาเสียเลย เพราะอะไร ข้างในน่ะปัดโธ่เอ๋ย นั่นมันถุงขึ้เดินได้นี่ มันไม่ใช่อะไรหรอก ดันไปรักถุงขี้เดินได้นี่มันก็ซวย เพราะอะไร เพราะว่า โธ่ ร่างกายคนแต่ละคนมันดีอยู่นิดเดียวคือหนังกำพร้า ไอ้หนังกำพร้าก็แสนจะสกปรก แต่ว่าเราก็ไปหลงรักไม่มองหาความจริง

    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงภิกษุสามเณร ผมพูดอะไรไปก็ไม่รู้จะพูดอะไร เพราะตอนนี้มันง่ายนิดเดียว เพราะสะกิดๆ มันติดอยู่ปลายเข็มนิดหนึ่ง แล้วก็เหล็กเข็มก็ไม่ได้ทิ่มเข้าไป มันวางไว้เฉยๆ สะกิดนิดเดียวมันก็หล่น ถ้าจิตของท่านพุทธศาสนิกชนและบรรดาภิกษุสามเณรรักดี สำหรับความเป็นพระอนาคามีนี่มันง่ายยิ่งกว่ากล้วยสุกใส่ปาก เวลานี้พูดมากไม่ได้ เวลาหมดของดแต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไป ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จะเลิกเมื่อไหร่เป็นเรื่องของท่านตามสบายใจ สวัสดี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 พฤษภาคม 2009
  4. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค (ต่อ)

    สำหรับโอกาสนี้ บรรดาท่านทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งใจสดับ ปฏิปทาที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระอนาคามี เมื่อคืนที่แล้วได้พูดมาถึงตอนตัดกามฉันทะ ความจริงตอนนี้ ถ้าจะกล่าวว่าหนักมันก็ไม่หนัก สำหรับคนที่มาใหม่ก็รู้สึกว่าจะหนักสักหน่อย แต่ว่าคนเก่าถ้าใช้อารมณ์จริงๆ มันก็ไม่มีอะไรจะหนัก เพราะว่าความรู้ของพระโสดาบัน สกิทาคามี ก็ผ่านกันมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่บวชมาตั้งหลายปี ฟังกันมาทุกวันและก็ฟังกันวันละหลายครั้ง ถ้าใช้อารมณ์เป็นกุศลจริงๆ หรือว่าตั้งใจจริงๆ ว่าเราบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเพื่อหวังจะตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ก็ไม่เห็นจะมีอะไรหนัก ถ้าใช้อารมณ์นั้นให้มันเป็นปรกติ

    สำหรับวันนี้ก็จะพูดถึง การตัดโทสะ และก็จะสรุปเรื่องอนาคามีเลย เพราะว่าเป็นของไม่ยาก การศึกษามาตามลำดับไม่ใช่ของหนัก ถ้าโดยวิธีปฏิบัติแล้ว ท่านไม่ได้แยกกันออก หลังจากที่ได้สกิทาคามีผลแล้ว วิธีพิจารณาเขาพิจารณารวมกันเลย เพราะว่าของเหล่านี้เราผสมกันมาแล้วตั้งแต่สกิทาคามี เป็นอันว่าอารมณ์สำหรับอนาคามีนี้ อย่าลืมว่าต้องใช้สมาธิหนัก คำว่าสมาธิหนักไม่ใช่นั่งหนัก ไม่ใช่ว่าไปนั่งตะบันกันตั้งเก้าชั่วโมง สิบชั่วโมง ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นเขาเรียกว่าโง่หนัก ไม่ใช่ฉลาดหนัก คำว่าใช้สมาธิหนักก็หมายความว่าใช้ให้มันเป็นอารมณ์เป็นปรกติ อย่างในด้านอสุภสัญญาตัดกามฉันทะ เราเห็นคนเห็นสัตว์เห็นเราเห็นเขา เห็นใครทั้งหมดมันสกปรกไปเสียทั้งหมด จับอสุภกรรมฐานให้ซึ้งใจ ให้มันทรงอยู่ในใจ มันไม่คลายไปจากจิต ความรักในเพศ ความปราถนาในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส มันจะมาจากไหน เพราะความปราถนาจริงๆ มันมาจากใจ ในเมื่อใจของเรามันตัดเสียแล้ว แล้วก็อะไรมันจะเกิด เนื้อแท้ของอารมณ์มันมีอยู่เท่านี้

    ทีนี้มาว่ากันถึงปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งในจิต คำว่าปฏิฆะนี่หมายความถึงว่า อารมณ์ที่สร้างอาการของจิตให้เกิดความไม่พอใจ กระทบนิดไม่ชอบใจ กระทบหน่อยไม่ชอบใจ คือว่าในเมื่อเราผ่านพระสกิทาคามีมา ตอนนั้นจะรู้สึกว่าอารมณ์ใจของเรามีอภัยทานเป็นปรกติ เราให้อภัยกับคนที่มีความผิด เว้นไว้แต่ว่าผิดระเบียบวินัย ระเบียบวินัยกฎข้อบังคับนี่เว้นไม่ได้ ถ้าเว้นแล้วเราเป็นคนขาดเมตตา เพราะว่าจะปล่อยเขาเลวเกินไปน่ะไม่ได้ ถ้าเราสั่งสอนไม่ได้ตักเตือนไม่ได้ก็ขับไปเสียเลย อย่างพระพุทธเจ้าท่านทำ ไม่ใช่ว่ามีเมตตาจิตแล้วก็เมตตากันซะเรื่อย จะดีจะชั่วก็เมตตา เขาเมตตาแต่เฉพาะคนดีเท่านั้น เมื่อคนที่เอาดีไม่ได้นี่เขาไม่เมตตากัน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่เมตตา จะเห็นได้ว่าอย่างพระฉันนะเป็นคนหัวดื้อหัวด้าน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้พระฉันนะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ อยากดื้ออยากด้านก็ปล่อยส่งเดช สั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์เสีย ไม่คบค้าสมาคมกับพระฉันนะ ในที่สุดพระฉันนะเกิดความน้อยใจ ว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดานี่เคยเป็นคู่สหชาติกันมาตั้งแต่เกิด เคยเป็นสหายกันมาตั้งแต่เกิด เล่นกันมาตั้งแต่เด็ก เวลาจะออกมหาภิเนษกรมก็ได้นายฉันนะเป็นคนจูงม้ากัณธกะ ก็มีเราผู้เดียวเท่านั้นเป็นคู่หูกันมาในกาลก่อน เวลานี้องค์สมเด็จพระชินวรสั่งให้สงฆ์ลงพรหมฑัณฑ์ ไม่คบค้าสมาคมด้วย เกิดความน้อยใจ ในที่สุดก็ตัดอาลัยในชีวิต เอามีดโกนมาเชือดคอตาย แต่ทว่าการตายของพระฉันนะไม่ไร้ผล เพราะอาศัยที่ตนตัดอาลัยในชีวิตไม่คิดว่าจะทำอะไรต่อไป เห็นว่าไม่มีใครเขาคบเราก็ไม่ควรจะอยู่ แล้วการที่อยู่นี่มีความทุกข์อาศัยขันธ์ ๕ เป็นปัจจัย มีความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ ในที่สุด พระฉันนะก็ตาย เมื่อตายแล้วก็อาศัยจิตที่หมดอาลัยในขันธ์ ๕ ท่านก็ไปพระนิพพาน

    อันนี้เป็นจริยาเมตตาอันหนึ่ง เราจะพูดกันว่า พระพุทธเจ้าไม่เมตตาหรือก็ไม่ได้ ที่ว่าไม่เมตตาก็มองอย่างชาวบ้าน ว่าคนที่เป็นสหชาติคบค้าสมาคมมา ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงให้สงฆ์ตัดขาดจากบุคคลนั้น ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถ้าขืนเอาใจมันจะเลวมากเกินไป จะเอาดีไม่ได้ เลยต้องไม่เอาใจ ปล่อยให้รู้สึกตัวเสีย ว่าไอ้การประพฤติปฏิบัติแบบนั้นมันเลวไม่คู่ควรกับผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์อาจจะทราบเพราะว่ามีพระพุทธญาณพิเศษ ว่าถ้าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ลงโทษแบบนั้น พระฉันนะจะมีความรู้สึกตัว และความจริงก็เป็นเช่นนั้น นี่เป็นอันว่าคำว่าเมตตานี่ไม่ใช่ไปนั่งเอาใจกัน ดีก็ให้ หมายความว่านักปกครองมือหนึ่งต้องถือไม้เรียว อีกมือหนึ่งถือขนม ถ้าดีก็ให้รางวัล ถ้าไม่ดีก็ลงโทษ และก็จะมาอ้างเหตุอ้างผลว่าเคยทำความดีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ดูตัวอย่างพระฉันนะ ซึ่งเป็นคู่สหชาติกันมาแท้ๆ เป็นเพื่อนเล่นกันมา ต่อมาก็เป็นนายสารถึ เป็นคนสนิท จนกระทั่งองค์สมเด็จพระบรมสามิสส์จะเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมย์ ก็ได้นายฉันนะคนนี้แหละเป็นคนจูงม้าออกมา แต่ทำไมสมเด็จพระบรมศาสดาจึงสั่งสงฆ์ลงพรหมฑัณฑ์ ถ้าจะพูดกันอย่างชาวบ้านก็เรียกว่าไม่มีความกตัญญูต่อเพื่อน แต่ถ้าหากว่าจะใช้ความเมตตาปรานี เพื่อนก็จะเลวเกินไป จะมีอเวจีเป็นที่ไป ขอท่านทั้งหลายจำเรื่องนี้ไว้ให้ดี เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา จงอย่าคิดว่าจะต้องมีคนเอาใจเสมอไป พระธรรมวินัยมีอยู่ ถ้าเรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระบรมครู ปฏิบัติอยู่ในธรรมะและวินัย ไม่มีใครเขาว่าอะไรหรอก นอกจากคนเลวเท่านั้นที่เขาจะว่า
    แต่วาจาของคนเลวเป็นวาจาที่ ไร้สมรรถภาพยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เราจะไปสนใจอะไรกับวาจาของคนเลว ถ้าเราเชื่อคนเลว เราก็จะเลวไปด้วย เราไม่ควรจะบูชาวาจาของคนเลว ก่อนที่จะบูชาเขาก็ตูปฏิปทาเขาเสียก่อน ว่าเขามีความประพฤติดีหรือมีความประพฤติเลว ถ้าเขามีความประพฤติเลว ยอมรับนับถือเขา คำว่าบูชาแปลว่ายอมรับนับถือ เราก็เลวไปด้วย

    อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่จะตัดปฏิฆะ คือ ความรู้สึกในใจที่มีความไม่พอใจเกิดขึ้นกับเรา การตัดปฏิฆะ ความไม่ชอบใจน่ะมันตัดนิดเดียว ตัดตามพระบาลีว่า อัตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทก์ความผิดอารมณ์ของเราไว้เสมอ อย่าไปกล่าวโทษโจทก์ความผิดของบุคคลอื่น และก็จงทำใจให้แช่มชื่นด้วยอำนาจเมตตา ความรัก ในพรหมวิหาร กรุณา ความสงสาร อารมณ์จิตชื่นบานปรารถนาในการเกื้อกูล มีอารมณ์อ่อนโยน หมายความว่า เห็นใครเขาดีพลอยยินดีด้วย และก็น้อมเอาความดีที่เขากระทำแล้วมาประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าลอกแบบจากความดีของเขามาใช้ อุเบกขา สิ่งใดที่มันเกิดกับเรา ถ้าเป็นเหตุให้ไม่พอใจ ถ้าสิ่งนั้นเป็นกฎธรรมดาของโลก เราก็วางเฉย เท่านี้มันก็หมดเรื่อง แต่ว่าถ้าหมดเรื่องแค่นี้น่ะ มันก็หมดเรื่องแค่สมถภาวนา เราต้องต่ออีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องวิปัสสนาภาวนา ในด้านวิปัสสนาภาวนานี่ ผมขอยึดอริยสัจเป็นสำคัญ เพราะว่าอริยสัจนี้เป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงบรรลุเอง ค้นคว้ามาเอง พระพุทธเจ้าจะเทศน์ที่ไหนก็ตาม ถ้าเทศน์ชาดก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงนำเอาเรื่องของชาดกมายกเป็นตัวอย่าง และก็ทรงสรุปด้วยอริยสัจ ๔

    ผมไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าสรุปด้วยอะไร สรุปด้วยอริยสัจ ๔ ฉะนั้นวิปัสสนาญาณผมถืออริยสัจ ๔ เป็นหลัก และอริยสัจ ๔ ก็คือขันธ์ ๕ หรือว่าวิปัสสนาญาณก็มองขันธ์ ๕ นั่นเอง แต่ว่าคำอธิบายหรือคำพูดสำนวนแตกต่างกัน ถ้าเราฉลาดจะเห็นว่าอาการทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่ต่างกัน คือ อริยสัจ ๔ ก็ดี การพิจารณาขันธ์ ๕ ก็ดี หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ดี เหมือนกัน ถ้าฉลาด ถ้าโง่มันก็ไม่เหมือน ถ้าฉลาดใช้ปัญญานิดเดียว ไม่ต้องสอนกันมาก มันก็เหมือน ไอ้ประเภทที่บอกว่าไม่รู้เนี่ยเก็บไว้เสียมั่งเถอะ อะไรก็ไม่รู้ อย่างโน้นก็ไม่รู้ นี้ก็ไม่รู้ ไอ้คำว่าไม่รู้เนี่ยมันไม่น่าจะมี มันต้องแกล้งไม่รู้ เลวทำไมเราจึงรู้ รู้จักการทำความเลวเรารู้จัก ถ้าเราจะรู้จักการทำความดีเสียบ้างไม่ได้หรือ

    เป็นอันว่าเราต้องโทษใจของเราเสมอ มองดูความเลวของใจไว้เป็นสำคัญ อย่ามองดูความดี แล้วก็มาร้อนใจว่าไอ้ปฏิฆะ ความไม่ชอบใจ ทำให้อารมณ์ใจขุ่นมัวนี่มันดีตรงไหน มันเกิดประโยชน์กับใครบ้าง มีใครคนไหนบ้าง ที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ขึ้โมโหโทโส ไม่ชอบใจคนนั้น ไม่ชอบใจคนนี้ คนประเภทนี้ชาวโลกพวกไหนเขานิยม คนที่จะนิยมพวกนี้ก็คือคนบ้า ก็เพราะอาการอย่างนั้นมันเป็นอาการของคนบ้า คนดีเขาไม่คบ ที่จะชอบใจกันก็เฉพาะคนบ้าก็เท่านั้น แต่เราก็มานั่งนึกว่าไอ้บ้านี่เราชอบมั้ย คนโมโหโทโสนี่มันไร้สติสัมปชัญญะ อยากจะพูด อยากจะด่า อยากจะอะไรก็ว่าตามอารมณ์ อยากจะทำชั่ว อยากจะทำเลว อยากจะทำทรามก็ทำตามอารมณ์ ไม่ได้มองดูกำลังใจของชาวบ้านชาวเมือง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ตั้งใจสร้างแต่ความชั่วอย่างเดียว อย่างคนอื่นเขาสร้างเราก็ทำลายมันเสีย เขาสร้างความดีเราก็สร้างความชั่ว เขาต้องการความสงบเราก็ส่งเสียงรบกวน อันนี้มันเป็นอาการของความชั่ว ดีมั้ยล่ะ ไม่ดีเพราะถ้าเขากวนใจเราบ้างล่ะ เราก็ไม่ชอบใจ ถ้าเราไปกวนใจเขา เขาจะชอบใจมั้ย ไม่มีใครเขาบูชาเราหรอก มันเลว แล้วก็นั่งด่าตัวเองไว้ทุกวัน อย่าไปชมตัวเอง แล้วก็น้อมมาถึงอริยสัจควบกับพรหมวิหาร ๔ หรือว่าควบกับกสิณ ๔ ก็ได้ ตอนนี้ต้องเร่งอริยสัจให้มาก อนาคามีนี่ถ้าพวกคุณทิ้งอริยสัจ พวกคุณพัง ไม่มีทาง ความจริงอริยสัจนี่เรารู้กันมาตั้งแต่ต้น เราทำกันมาแล้ว เราประพฤติกันมาแล้ว แต่ว่าเราไม่จำกันเอง นี่ผมพูดถึงว่าคนที่ไม่สนใจ อริยสัจเป็นไง เป็นทุกข์ ตัวทุกข์ตัวนี้แหละต้องมองให้มันเห็น หนึ่ง คนที่มีความโหดร้ายในจิต คนนั้นมีแต่ความทุกข์ เห็นมั้ย มือไว ลักขโมยเขา ทุกข์ ใจเร็ว คบหาสมาคมกับใครไม่ได้ ยื้อแย่งลูกเขาเมียเขา เราก็ทุกข์ เพราะเขาจะล่อกบาลเข้า ตีหัวยังดี เจอปืนเข้าให้ ตายไป พูดปดมดเท็จ ใครเขาจะคบค้าสมาคมด้วย คนเวลานี้ตายกันมากก็เพราะว่าขาดสัจจะ ดื่มสุราเมรัย เหลว เลวทั้งนั้น มองดูมุมของความเลว กฎ ข้อบังคับ ระเบียบวินัย ประเพณี กฎหมาย ถ้าเราละเมิดเมื่อไหร่ เราเลวเมื่อนั้น

    วันหนึ่งๆ เราก็มาจ้องมองอารมณ์ความเลวของเรา เอาสังโยชน์สิบประการมานั่งอ่านนั่งดู ว่าอีตรงไหนหนอที่เรายังค้างอยู่ หนึ่งถึงห้า คือสักกายทิฏฐิ เรายังมีความหลงใหลใฝ่ฝันในร่างกายของเราหรือเปล่า เห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราหรือเปล่า ถ้ายังเห็นอยู่ เราเลว วิจิกิจฉา คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบไปด้วยเหตุผล เราพยายามฝ่าฝืนกฎข้อบังคับนี้บ้างหรือเปล่า หรือฝ่าฝืนคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ถ้าฝ่าฝืน เราเลว นี่นะ ระเบียบประเพณี กฏข้อบังคับประจำถิ่นที่เขามีอยู่ เราฝ่าฝืนหรือเปล่า เรามีความทะนงตนหรือเปล่า ถ้ามี เราเลว รวมความว่ามองเลวมันให้พบ สีลัพตปรามาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอนาคามีนี่ถ้าคนทรงถึงแล้ว อารมณ์จิตของท่านผู้นั้นจะมีอุโบสถศีลเป็นประจำ หรือว่ากันง่ายๆ จะมีศึล ๘ เป็นประจำ การหิวข้าวหิวปลานี่มันไม่มีหรอก ศึล ๘ ประจำใจเป็นปรกติขึ้นมาเองโดยไม่ต้องสมาทาน ความดีมันปรากฎขึ้นมาเต็มที่ จำไว้ให้ดีนะ ว่าท่านที่ทรงอนาคามีผลน่ะ เป็นท่านที่ทรงศีล ๘ เป็นปรกติ ถ้าฆราวาส คือว่าไม่ต้องบังคับให้ใจมันศึกษาศีล ๘ ศีล ๘ มันเกาะติดใจเอง ปลดมันไม่ได้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่เราจะมองอนาคามี

    นี้เมื่อความโกรธมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ทำไมเราจึงจะต้องโกรธ อารมณ์ของเราปล่อยมันนิ่งๆ ไม่ได้หรือ ใครเขาจะดีใครเขาจะชั่ว ไม่เกี่ยวที่หมู่คณะ ปล่อยมันไปเลย ช่างเขา ถ้าเขาพูดดีเป็นความดีของเขา เขาพูดเลวเป็นความเลวของเขา เขาทำดีเป็นความดีของเขา เขาทำเลวเป็นความเลวของเขา แต่เราสิ อย่าให้มันเลวอย่างเขา คุมกำลังใจในด้านความดีไว้ ทำใจให้มันเป็นปรกติจิตเป็นสุข เราจะไม่ยอมทุกข์เพราะอารมณ์ใจเลว ความสุขจะมีมาจากไหน ความสุขก็มีมาจาก หนึ่ง เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา ไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉยในเมื่อเขาเลว เพราะอะไร เพราะว่าเราต้องการอารมณ์อย่างนี้เพราะเกรงความทุกข์ ความทุกข์ที่มันมีมาคือมันจะพาเราเกิดอีก เราไม่ต้องการความเกิด เท่านี้เอง ไม่ยาก ใจทรงอารมณ์อย่างนี้เดี๋ยวมันก็หาย ไอ้ความโกรธไอ้การกระทบกระทั่งใจ เราก็ถืออุเบกขาว่าช่างมัน เอ็งอยากจะเลวเอ็งจงเลวไปแต่ผู้เดียว เราจะไม่เลวกับเอ็งด้วย หมดเรื่อง รวมความว่านี่ขอสรุป เพราะมันง่าย ไม่ยาก ถึงอนาคามี ผมไม่เห็นมีอะไร เราผ่านสกิทาคามีมาแล้ว มันก็หมดแล้วนี่ ความจริงสกิทาคามีนี่ ผมสอนน่ะมันถึงอรหันต์แล้วนะ นี้ก็มาย่ำเท้าให้ฟังนิดหน่อยเท่านั้น มาย่ำเท้ามันก็เสียเวลาคนฟัง แต่เอ้า เสียเวลาก็เสียเวลากัน เดี๋ยวจะมาหาว่าไม่บอก

    ขอสรุปลัดว่าจิตเราเมื่อตัดจากกิเลสถึงสกิทาคามีแล้ว จงน้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งมั่นตัดราคะกิเลสให้ขาด นี่ความจริงมันก็จะขาดอยู่แล้ว มันร่อแร่เต็มทีตั้งแต่สกิทาคามี ระหว่างที่จิตทรงสกิทาคามีผล ไอ้คนสวยมันหาไม่ได้แล้วในโลก แต่ทว่าอารมณ์ค้างที่เป็นอนุสัยมันยังมี หมายความว่าอารมณ์ที่กำลังปรกติมีจิตสบาย บางทีจิตมันนึกขึ้นมาได้ว่า โอหนอ คนนั้นดีนะ รูปนั้นดีนะ เสียงนั้นดีนะ กลิ่นนั้นดีนะ รสนั้นดีนะ ไอ้พวกติดรสติดชาติ ติดสี ติดกลิ่นเนี่ย ไอ้พวกกิเลสหนักทั้งนั้น มันเป็นอารมณ์เลว ไม่เป็นเรื่อง ทีนี้ในเมื่อเราเจริญในอสุภสัญญามาตั้งแต่สกิทาคามี มันก็ตัดไปแล้ว ทีนี้มาคิดว่า ถ้ายังมีอารมณ์ค้างอยู่ อารมณ์ค้างก็หมายความว่า ตอนที่จิตสบาย มันเป็นอนุสัยเกิดขึ้น พออารมณ์สงบสงัด อารมณ์มันคิดขึ้นมานิดหนึ่ง ถึงรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสระหว่างเพศ พอจิตคิดมานิดหนึ่ง สติมันก็จะโผล่ขึ้นมาทันกัน มันจะตัดทันทีว่ามึงนี่เลวเท่านั้นรึ จงอย่าใช้คำว่าเอ็ง ใช้คำว่ามึง เราต้องปราบมัน ถ้าจะสอนว่าหยาบก็เชิญสิ ใครอยากสุภาพก็เชิญ ต้องใช้ให้หนักถือว่ามันเป็นศัตรูหนักของเรา ใช้คำในใจของเราให้หนักว่ามึงไอ้ตัวเลวนี่โผล่หน้ามาอีกแล้วรึ กูไม่คบหาสมาคมกับมึง รูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสที่ไหนวะ ที่มันจะสร้างความสุขให้กับกู กูไม่คบเพราะกูหลงมึงอย่างนี้ กูจึงเกิด ต่อจากนี้ไปมึงกับกูเลิกกัน

    มาถึงด้านปฏิฆะก็เหมือนกัน อารมณ์ที่มันจะเข้าไปรบอารมณ์ที่สร้างความไม่ชอบใจแก่คนอื่น ตอนนี้ก็จงสร้างความรู้สึกว่าไอ้เจ้านี่เลว เอ็งจะไปนั่งโกรธชาวบ้านชาวเมืองเขาทำไม ไอ้เอ็งมันเลวเองต่างหาก ในเมื่อมันเรื่องความเลวของคนอื่น ก็มึงจะมายุ่งอะไรกับกูล่ะ กูไม่เอาแล้วไอ้ความโกรธ ความพยาบาท ความกระทบกระทั่ง ทำจิตให้ดิ้นรน ทำให้ไม่สบายกูไม่เอา มึงจงไปเสียจากกู กูไม่คบค้าสมาคมกับมึง จิตเราทรงความยิ้มไว้เป็นปรกติ ยิ้มเพราะเมตตา ความรัก ยิ้มเพราะกรุณา ความสงสาร ยิ้มเพราะมีเมตตากับมีความอ่อนโยนของจิต พร้อมยอมรับความดีของบุคคลอื่น จิตมีอารมณ์สบายด้วยอุเบกขาที่เป็นอัพยากฤต คือมีอารมณ์พระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตมีอารมณ์โปร่ง จิตมีอารมณ์สบาย เพราะใจของเราหวังได้แล้วกับพระนิพพานเป็นของแน่นอนสำหรับเรา เป็นอันว่าอารมณ์พระอนาคามีนี่ไม่มีอะไร เพราะว่าเราจ้ำจี้จ้ำไชมากันตั้งแต่สกิทาคามี ถ้าถึงอนาคามี ถ้าถึงตอนนี้ยังบอกว่าหนักใจเรื่องกามฉันทะ หนักใจเรื่องปฏิฆะ ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง ก็ต้องโมทนาด้วย หนักใจก็โมทนา อยู่เกิดต่อไปก็แล้วกัน มันจะได้อยู่กับความทุกข์ให้มันช่ำใจ ให้มีความแน่ใจว่าทุกข์มันมีความดีขนาดไหน จนกว่าจะเบื่อมัน

    เป็นอันว่าสำหรับเรื่องพระอนาคามีนั้น ไม่มีอะไรยาก วันนี้เราก็มาว่ากันว่า ถ้าจะตัดปฏิฆะได้ จิตจะต้องทรงในอารมณ์ของพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นปรกติ ควบกันกับอริยสัจ ๔ เพราะว่าตัวไม่ชอบใจเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราไม่ต้องการมันเพียงเท่านี้ ท่านก็จะทรงอารมณ์เป็นพระอนาคามี พอถึงความเป็นพระอนาคามีนี่ อารมณ์จะมีความสุขมาก จิตจะไม่ดิ้นรนด้วยรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส ลองนึกดู มีแต่ความสุข มีแต่ความสบาย รังเกียจในระหว่างเพศ ร่างกายของเราก็ดี คนอื่นก็ดี เราเต็มไปด้วยความรังเกียจเพราะมันสกปรก จิตใจเป็นสุขเพราะไม่มีความโกรธไม่มีความพยาบาท มีแต่ความชุ่มชื่นด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ มีการยอมรับนับถือว่าการเกิดแก่เจ็บตายนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ อันนี้เราเหยียบย่างเข้ามาใกล้พระนิพพานแค่มือเอื้อม เรามีความพอใจ

    เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย คำแนะนำสำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าท่านจะเห็นว่าเวลานั้นเป็นกาลอันสมควรสำหรับท่าน สวัสดี
     
  5. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค

    บรรดาท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และพระโยคาวจรทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล สมาทานศีลพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไป ขอท่านทั้งหลายตั้งใจสดับ อารมณ์ของพระอรหัตตมรรค ในขณะที่ท่านทั้งหลายตั้งใจสดับ จงตั้งใจฟังด้วยจิตเป็นสมาธิ คำว่าสมาธิคือมีอารมณ์ตั้งมั่นไปตามกระแสเสียงที่รับฟังและก็ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วย

    คำว่าอรหัตตมรรคจะหมายความว่าท่านผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ มรรคะ นี่เขาแปลว่าเดิน เดินไปเพื่อความหมดกิเลสอย่างสิ้นเชิง ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายทบทวนอารมณ์มาเดิมเสียก่อน ว่าการที่เราศีกษาพระกรรมฐานมาตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ฌานสมาบัติ และพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ส่วนต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เราละอะไรกันได้บ้าง ถอยหลังไปโดยเฉพาะ สำหรับอารมณ์สมาธิมีอารมณ์ฌานเป็นต้น นั่นหมายความว่าเรามีอารมณ์ชนะนิวรณ์ ๕ ประการ นิวรณ์ ๕ ประการไม่สามารถจะเป็นเจ้านายใจของเราได้ ถือว่าเราเป็นผู้ชนะ เมื่อเป็นผู้ชนะนิวรณ์แล้ว ก็จงเป็นผู้ชนะตลอดไป อย่ากลับเป็นผู้แพ้ จงอย่าติดอารมณ์เดิม นี่ผมขอทวนต้น อารมณ์เดิมที่เคยศีกษามาจากไหน ติดตำรับตำรา ดูเหมือนว่าวันนี้จะได้ยินเสียงแว่วๆ ว่านักติดตำราจะปรากฎขึ้น นั่นระวังตัวให้ดี จงอย่าติดตำรา คำว่าตำรานั่นน่ะติดได้ จงมีปัญญาเท่าเทียมกับตำรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจงมุ่งอย่างเดียวคือการตัดกิเลส เพราะว่าการติดตำราเป็นปัจจัยไปสู่อบายภูมิ เป็นเหตุถือตัวถือตน นั่นเป็นส่วนของบุคคลที่ตกอยู่ในอารมณ์ของโลกียวิสัยเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้มีส่วนความเป็นพระอยู่เลย ประการที่ ๒ เมื่อเราอ่านตำราแล้วจงใช้ปัญญาพิจารณาตำรา ว่านิวรณ์ ๕ มีอะไรบ้าง ทำยังไงเราจึงจะชนะนิวรณ์ ๕ ได้ นี่ทวนอารมณ์ต้นนะ อารมณ์ฌานเป็นเครื่องฆ่านิวรณ์ แต่การทรงฌานสมาบัติเป็นของดี แต่ว่าดีเล็ก คำว่าดีเล็กก็คือไม่สามารถจะทำตนให้พ้นจากอบายภูมิได้

    ต่อมาก็มีอารมณ์พระโสดาบัน เป็นเขตแห่งพระนิพพาน ท่านผู้ใดที่เข้าถึงพระโสดาบันย่อมไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ติดโน่นไม่ติดนี่ มีใจติดเฉพาะคือจับอารมณ์ความชั่วของตัวเท่านั้น เราเรียนกันมาถึงพระอนาคามี ตั้งแต่หนี่ง สักกายทิฏฐิ เราไม่ติดในกาย วิจิกิจฉา เราไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สีลัพตปรามาส เราจะเป็นผู้มั่นคงในศีล กามราคะ เราไม่ติดในกามารมณ์ ละได้เลย และก็ปฏิฆะ อารมณ์ของเราจะไม่ยุ่งกับอารมณ์ใดๆ ที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา นี่หลักสูตรที่เราศึกษากันมามีเท่านี้ ได้ถึงเพียงนี้ท่านชื่อว่าเป็นพระอนาคามี ฉะนั้นตำราอ่านก็อ่านเถอะ แต่ว่าจงละสังโยชน์ให้ได้ อย่าถือตัวถือตนว่าเคยเป็นอะไรมา เคยศึกษามาจากไหน มีความรู้ขนาดไหน แล้วจงเอาใจไปวัดใจของเราว่า สังโยชน์ตัวใดบ้างที่อยู่ในจิตของเรา ถ้ายังปรากฎว่ามีสังโยชน์ตัวใดหรือข้อใด ที่ใจเรายังข้องอยู่ จงทราบว่าเรายังเลวอยู่มาก จงสังวรในเรื่องนี้ให้ดี

    วันนี้จะพูดถึงเรื่องอรหัตตมรรค สำหรับอรหัตตมรรคคือผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นพระอรหัตตผล เพื่อตัดกิเลสทั้งสิ้นให้หมดไปจากจิตของเรา เราก็ยังเหลือจากอนาคามีผลอีก ๕ ข้อ นั่นก็คือ ๑ รูปราคะ ได้แก่การติดอยู่ในรูปฌาน ๒ อรูปราคะ ได้แก่การติดอยู่ในอรูปฌาน ๓ มานะ การถือตัวถือตน ๔ อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้ง ๕ อวิชชา ความโง่ ท่านทั้งหลายอาจจะยังคิด ว่าในเมื่อเป็นพระอนาคามีแล้วยังโง่อีกหรือ ก็ต้องตอบว่ายังมีความโง่อยู่ พระอนาคามีตัดกิเลสหยาบได้หมด แต่ทว่ากิเลสที่ละเอียดที่เป็นอนุสัยยังมีอยู่ในใจของตน คือยังมีความเมาอยู่ในฌานสมาบัติ คือในรูปฌานและอรูปฌาน ยังมีการถือตัวถือตน ถือไม่มาก ถือน้อย ก็ถือว่ายังถืออยู่ ยังใช้ไม่ได้ ยังมีอารมณ์ฟุ้ง คือ อารมณ์นอกเหนือไปจากอารมณ์ของพระนิพพาน ยังมีการติดในฉันทะและราคะอยู่ในสักกายทิฏฐิบางประการ อาการทั้งหมดนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นอารมณ์เบา ก็ยังถือว่าโง่ โง่ตรงไหน โง่ตรงที่ว่าตนเองยังไม่เสร็จกิจ ยังมีภารกิจที่จะต้องทำแต่กลับคะนองตนว่าเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าใช้ภาษาไทยแท้เขาเรียกว่าโง่บัดซบ อย่าลืมนะ ว่าพระอนาคามีนี่ยังโง่ จงอย่าติดโง่ วันนี้ได้ยินเสียงโง่ปรากฎ เสียงนี้จงทิ้งไป อย่าให้เข้ามาอยู่ในสมาคมและสังคมนี้ เพราะว่าที่นี่ต้องการอย่างเดียวคือ อารมณ์ของความบริสุทธิ์ของจิต ถ้าจิตบริสุทธิ์ เสียงมันก็บริสุทธิ์ อาการที่ออกทางกายก็บริสุทธิ์ วาจาก็บริสุทธิ์ เพราะว่าอารมณ์บริสุทธิ์ ในเมื่อเราเข้าถึงพระอนาคามีผลแล้ว เราจะปฏิบัติตนแบบไหน นี่วันนี้ผมจะพูดอรหัตตมรรคเพียงย่อๆ เพราะว่าผลแห่งการปฏิบัติอยู่ที่ความพากเพียรเอาจริงเอาจัง จงใช้จิตพิจารณาจิตไว้เสมอ การศึกษาในพระพุทธศาสนา ศึกษาเฉพาะโดยตรงในด้านของจิต ถ้าจิตของเราดี ทุกอย่างมันดีหมด ไม่มีอะไรเลว ถ้าจิตของเราเลวทุกอย่างมันก็เลวหมดเหมือนกัน จงจำไว้ให้ดีว่า อัตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทก์ความชั่วจิตของเราไว้เสมอ จงอย่าคิดว่าเราดี ถ้าเรามีความเห็นว่าเราดีเมื่อไหร่ เราก็เลวเมื่อนั้น

    ตอนนี้เรามาพูดกันถึงการเข้าถึงความเป็นอรหัตตมรรค เมื่อได้อนาคามีผลแล้ว ก็มานั่งพิจารณาอาการของฌานสมาบัติ ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน สำหรับรูปฌานแต่อาการทรงอารมณ์ดี อารมณ์หนักแน่นหนักหน่วง อารมณ์ทรงตัว ในอรูปฌานมีอารมณ์เบา โปร่งดี จิตไม่ติดอยู่ในอากาสานัญจายตนะ หมายความว่าเราไม่เห็นอะไรเป็นสภาวะเป็นตัวเป็นตน มันมีสภาพโล่งสบาย วิญญาณัญจายตนะ เราไม่มองเห็นว่าอะไรมีสภาพเป็นตัวเป็นตน มันมีสภาพเป็นนามธรรม บ้านก็พัง คนก็พัง วัตถุก็พัง ดี จิตสบาย อากิญจัญญายตนะ เราเห็นว่าสภาพของโลกทั้งหมดมันไม่มีอะไรเหลือ จิตเป็นสุข ดี สบาย เนวสัญญานาสัญญายตนะ เราไม่ยึดอะไรมันทั้งหมด เป็นคนมีความจำเหมือนกับมีสภาพจำไม่ได้ ไม่ติดในอะไรทุกอย่าง จุดนี้แหละท่าน ทั้งรูปฌานที่มีอาการอารมณ์ทรงเข้าถึงอุเบกขารมณ์ เช่น ฌาน ๔ มีเอกัคตากับอุเบกขา เหลือตัวนิดเดียวคิดว่าเป็นอรหันต์ เพราะว่ามันกดนิวรณ์คือกดกิเลสเข้าไว้ แต่มีอารมณ์หนัก สำหรับอรูปฌานตัดเบาไปหมด ลอยตัว คิดว่าไม่มีอะไรเหลือแล้ว เราไม่ติดวัตถุธาตุทั้งหมดแม้แต่ร่างกายของเรา ใจเป็นสุขยังคิดว่านี่คือพระนิพพาน เสร็จ ถ้าคิดอย่างนี้ก็จมพัง เป็นความโง่ เราจงตั้งจิตคิดว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี เป็นบันไดสำหรับเราจะก้าว หรือว่าเป็นนั่งร้านสำหรับเราจะขึ้นไปชั้นสูง คืออารมณ์ของพระนิพพานแท้ๆ ได้แก่อรหัตตผล

    ฉะนั้น เราจะไม่เมาในรูปฌานและอรูปฌาน แต่ว่าไม่ใช่ทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน เราจะใช้รูปฌานและอรูปฌานเป็นประจำวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง หมายความว่าถ้าตื่นอยู่เพียงใด เราจะทรงฌานไว้เป็นปรกติ จะกิน จะนอน จะนั่ง จะพูด จะคุย ดูหนังสือหนังหา ทำกิจการงาน จิตทรงอยู่ในรูปฌานหรืออรูปฌานที่เราคล่องอยู่ จงอย่าวางฌานเสีย ผมบอกแล้วว่าฌานคือชิน ผมไม่นิยมคนที่เก่งฌานในการเข้านั่งหลับตาขัดสมาธิ ถ้าได้เพียงเท่านั้น ลืมตาฌานเคลื่อน อย่างนี้ผมยังถือว่าเลวมาก ยังเป็นผู้เข้าไม่ถึงฌาน ผู้มีอารมณ์ฌานจะต้องทรงอยู่ทุกอิริยาบถ อารมณ์จิตจะเป็นกุศลในตัวละอยู่เสมอ อย่างนี้เขาเรียกผู้ทรงฌาน ทรงฌานได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ถือว่าดี คือถือว่าเป็นตัวหน่วงเหนี่ยว เหนี่ยวรั้งหรือดึงเข้าไว้ ได้แก่ สังโยชน์ ฉะนั้นเราจะไม่เห็นว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นจุดจบเป็นกิจที่เราจะพึงปฏิบัติ เราจะก้าวต่อไป ทรงกำลังใจไว้ฌานแล้วก็หันไปจับมานะ เพราะรูปฌานและอรูปฌานนี่เป็นของไม่ยาก มานะ ความถือตัวถือตน ถือเราถือเขา ถือพวกถือพ้อง ถือพี่ถือน้อง ถือว่าเราดีกว่าเขา หรือเราเลวกว่าเขา หรือเราเสมอเขา เราเป็นลูกศิษย์สำนักโน้น เราเป็นลูกศิษย์สำนักนี้ เรามีความรู้ชั้นนี้ มีความรู้ชั้นนั้น นี่มันเป็นความเลวของจิต เป็นอารมณ์ของคนที่โง่บัตซบเท่านั้นจะมีความรู้สีกอย่างนี้ เพราะอะไรจึงว่าอย่างนั้น

    มันถือตัวถือตนถืออะไรกันล่ะ ความรู้ที่เรามีอยู่พาเราไปนิพพานได้มั้ย สำนักที่เราปฏิบัติพาเราไปนิพพานได้มั้ย ครูบาอาจารย์ผู้สอนพาเราไปนิพพานได้มั้ย ถ้าพาไปได้ล่ะก็พระพุทธเจ้าพาไปแล้วทุกคน สมเด็จพระทศพลทรงตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตน่ะเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น ท่านจะไปไหนนั่นมันเรื่องของท่าน ไม่ใช่เรื่องของตถาคต จะดีจะชั่วมันเป็นเรื่องของท่าน จำข้อนี้ไว้ให้ดี และก็จงวางเสียให้หมด การถือตัวถือตนจงอย่ามี ถ้าท่านทั้งหลายมีความรู้สึกว่าสัตว์เดรัจฉานกับเราไม่เป็นที่รังเกียจกัน เราไม่รังเกียจสัตว์เดรัจฉานเพราะมีสภาวะความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด เขามีขันธ์ ๕ เรามีขันธ์ ๕ เขามีธาตุ ๔ เรามีธาตุ ๔ ร่างกายเขาสกปรกฉันใด ของเราก็สกปรกฉันนั้น ร่างกายเขากับร่างกายเรามันก็ไม่ใช่ใครเป็นเจ้าของ จิตผู้ครองร่างไม่ได้มีอำนาจเป็นเจ้าของร่างกาย ร่างกายมีสภาวะของมันไปตามกฎของธรรมดา ใครจะยึดเหนี่ยว เหนี่ยวรั้งมันไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุข คนดี คนชั่ว คนเลว เรื่องของเขา เราถือเพียงอย่างเดียว ว่าเราทำจิตของเราให้บริสุทธิ์ เมื่อถึงเวลาจะคบหาสมาคม ก็ถือว่าการคบหาสมาคมในฐานะเป็นมิตร ไม่คิดจะรังเกียจคนและสัตว์ แล้วมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าขันธ์ ๕ เรา ขันธ์ ๕ เขา ไม่ช้ามันก็พัง ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ฐานะไม่มีความหมาย วิชาความรู้ที่ศึกษามาไม่มีความหมาย เราตายแล้วมันไม่ตามไปด้วย เราจะไม่ยอมถือตัวถือตน ผมขอพูดไว้แต่เพียงย่อๆ เพราะขั้นอนาคามีแล้วปัญญาดีมาก ผมศึกษามาไม่มีใครเขาสอนผมแบบนี้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเองทั้งนั้น ส่วนใหญ่ท่านแนะนำให้แต่หัวข้อ ผมก็ใช้หนังสือปฏิบัติ ผมถือว่าหนังสือที่พระอรหันต์เขียนมาผมยอมรับนับถือ หนังสือที่พระอรหันต์แก้มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าอรรถกถาจารย์ ผมยอมรับนับถือ แต่ว่าของฎีกาจารย์กับเกจิอาจารย์นี่ผมไม่มอง เพราะว่าผมจับได้หลายจุดว่าท่านแก้เฝือมาก เราไปติดอย่างนั้นเราก็เสีย ฉะนั้นหนังสือที่เราอ่านเราควรจะดูว่าใครเป็นผู้เขียน ถ้าเป็นพระพุทธพจน์บทพระบาลีของพระพุทธเจ้าเรายอมรับ แต่ว่าจงพยายามทำใจให้เข้าถึง จิตเราหยาบเราเข้าใจหยาบ จิตละเอียดเราเข้าใจละเอียด แต่ทีนี้จิตเราเข้าถึงพระอนาคามี เราสามารถจะเข้าไปทำความเข้าใจในการที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ง่าย เป็นอันว่าโยนกลองทิ้งไป เรื่องมานะถือตัวถือตน เท่านี้พอ ผมไม่พูดมาก ขั้นอนาคามีเราจะต้องพูดอะไรกันมาก พรุ่งนี้จะสรุปทั้งหมด

    ต่อไป อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้ง ท่านผู้รับฟัง อาจจะแปลกใจว่าอะไรหนอ ทำไมพระอนาคามีนี่ยังจะฟุ้งอีกรึ ก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นสูง ถ้าตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม แล้วก็ไปนิพพานบนนั้น น่าจะไม่มีอารมณ์ฟุ้ง เราก็ต้องถอยหลังไปดู คำปรารภของพระเจ้ามหานาม ท่านท้าวมหานามเคยปรารภกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ทรงตรัสว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระอนาคามี เพราะเหตุใดในบ้างโอกาส จิตของข้าพระพุทธเจ้านี้ยังมีอารมณ์ฟุ้ง พอใจในทรัพย์สิน องค์สมเด็จพระมหามุนินทร์ จึงได้มีพระพุทธฎีกาว่า มหาราชะ ขอถวายพระพร มหาราชบพิตรราชสมภาร อนาคามีนี่ยังมีอารมณ์ฟุ้ง คึอว่ายังติดอยู่บ้าง แต่ติดไม่มาก มีความรู้สึกว่าทรัพย์สินกับเราไม่ช้ามันก็จากกันไป ยังมีอารมณ์ฟุ้งนอกแนวทางพระนิพพานอยู่ ฉะนั้น ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู จงทำความรู้สึกตัดอารมณ์ฟุ้งในฐานะที่จะเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าเวลานี้เราถึงอรหัตตมรรคแล้ว ตัดฟุ้งตรงไหน ฟุ้งอารมณ์ทั้งหมด จะไม่ยอมให้ปรากฎว่าเป็นเจ้านายใจของเรา อารมณ์ของเราจะตั้งไว้โดยเฉพาะ นั่นก็คือ พระนิพพานเป็นอารมณ์ ว่าทำยังไงหนอเราจะตัดสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาให้สิ้นไป มันจะสิ้นหรือไม่สิ้นเพียงใดก็ตาม แต่ใจของเรานี้จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีความรักพระนิพพานอย่างยิ่ง นี่ถ้าบางอาจารย์ เขาฟังแล้วเขาจะคิดว่า เอ๊ะ นี่สอนกันยังไง สอนให้ติดพระนิพพาน เพราะว่าในพระไตรปิฎกท่านสอนว่า จงอย่าติดอะไรทั้งหมดแม้พระนิพพาน ทำใจให้โปร่งที่สุด ถ้ายังมีอารมณ์ติดอยู่ ยังว่าไม่ดี และจงเข้าใจตัวเราว่า ในเมื่อเรายังไม่ถึงอรหัตตผลเพียงใด หรือว่าเหมือนกับคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรง จะไปไหนมันก็ต้องเกาะราว มีไม้เท้าเป็นธรรมดา นี่อย่าลืมว่าเรายังเป็นอรหัตตมรรค จะต้องเกาะราวสูงคือพระนิพพาน เกาะรอกที่สูง เหนี่ยวรอกจับรอกไว้ให้มั่น มิฉะนั้นมันจะพลาด ถ้าพลาดโอกาสแล้ว เวลาเราตาย ยังจะต้องทำกิจนี้ต่อไป เป็นอันว่าการตัดอารมณ์ฟุ้ง คือยึดถือพระนิพพานเป็นอารมณ์ มองทุกอย่างมันไม่ดีไปหมดในโลก เห็นว่ามันไม่ดีแต่เราไม่กลุ้ม ถือว่าเป็นธรรมดาของมัน ถ้ายังกลุ้มอยู่ยังใช้ไม่ได้

    ต่อไปก็มาตัดอวิชชา อวิชชานี่ไม่มีอะไร ความจริงถ้าจิตเข้ามาถึงนี่แล้ว ไม่ต้องตัดอวิชชาก็ได้ มันตัดไปเสียแล้ว เนื้อแท้จริงๆ ของการปฏิบัติในการตัดสังโยชน์ ๑๐ เค้าตัดที่สักกายทิฏฐิตัวเดียว ไอ้ที่พูดกันมานี้เพื่อความเข้าใจ อวิชชาแปลว่าไม่รู้ ถ้าใครแปลอย่างนี้ เสร็จ คนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมดที่เกิดมาโลก มีความรู้ทั้งหมด แต่ว่ารู้ไม่ครบ อวิชชาแยกออกได้เป็นสองศัพท์ คือตัวกิเลส ได้แก่ ฉันทะกับราคะ สองตัวนี่คืออวิชชา ที่ปรากฎมีมาในพระไตรปิฎกที่เราเรียกว่า ขันธวรรค ฉันทะมีความพอใจในทรัพย์สินบางอย่าง ฉันทะมีความพอใจในมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และก็ว่าพรหมสมบัติ ราคะเห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกเป็นของดี ถ้าอารมณ์ยังติดดีจุดใดจุดหนึ่งอยู่ ติดมนุษย์ก็ดี ติดเทวดาก็ดี หรือว่าติดพรหมก็ดี ก็ชื่อว่าเรายังมีอวิชชาอยู่ เพราะอะไร เพราะเรายังโง่ ดินแดนมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่ใช่เป็นดินแดนที่หมดทุกข์ ยังมีทุกข์ยังมีกังวล ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน และพระโยคาวจรทุกท่าน จงจำคำนี้ไว้ ใช้กำลังใจโดยเฉพาะ ว่ามนุสสโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นดินแดนที่เรารังเกียจ เพราะเป็นดินแดนที่ไม่นำความสุขมาให้ เป็นดินแดนที่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ มันจะเป็นทุกข์มากทุกข์น้อยก็ตาม ขึ้นชื่อว่าทุกข์แม้แต่นิดหนึ่งเราไม่ต้องการ ส่วนดินแดนที่เราต้องการนั่นก็คือ พระนิพพาน พระนิพพานมีดินแดนมั้ย นี่บางท่านยังต้องเถึยงใจของท่านอยู่ แต่เพื่อให้มั่นใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู ว่านิพพานเป็นดินแดนเอกันตบรมสุข เป็นสุขยอดเยี่ยมยิ่งกว่าดินแดนใดๆ จงทำใจของท่านให้เข้าถึงฌานสมาบัติ ฝึกหัดทิพจักขุญาณหรือมโนมยิทธิให้ได้ แล้วหลังจากนั้นทำใจของท่าน อย่างเลวถ้าต่ำที่สุดก็คือ โคตรภูญาณ หรือว่าถึงพระโสดาบัน ตอนนั้นท่านจะเข้าใจพระนิพพานได้ดี เพื่อเป็นการเปลี้องความรู้สึกของท่านนี้ จงทำตนให้เข้าถึง เมื่อตนยังไม่เข้าถึงซึ่งพระโสดาบันเพียงใด แล้วไม่สามารถได้ทิพจักขุญาณด้วย จงอย่าเถียงกับเขาเรื่องพระนิพพาน

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน และพระโยคาวจรทั้งหมด มองดูเวลาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะพูด ต่อจากนี้ไปขอท่านทั้งหลาย ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควรจะเลิก สวัสดี
     
  6. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)

    บัดนี้ท่านทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ระยะนี้ท่านทั้งหลายกำลังศึกษาอยู่ในอานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ว่าตอนนี้ตอนอรหัตตผล ขอได้ทราบว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ ท่านจะพึงศึกษากรรมฐานอีก ๓๙ กอง ท่านจงอย่าเว้นอานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานเสียแล้ว ผลจะไม่มีสำหรับท่าน เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต และเป็นกรรมฐานระงับกายสังขารคือระงับทุกขเวทนาที่เกิดทางกาย กำลังใจของท่านที่เจริญพระกรรมฐานจงอย่าสนใจกับร่างกาย มีความเข้มแข็งในจิตคิดว่ามันจะตายเสียได้เวลานี้ก็ดี เคยได้ฟังมาบ่อยๆ อาการทางกายเกิดแบบนั้นเกิดแบบนี้นิดๆ หน่อยๆ ก็มีความห่วงใยมีการกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการของปีติ ๕ เกิดขึ้น ซึ่งหลักสูตรมีอยู่แล้ว แต่ทว่าก็ยังมีคนมาพูดมาถาม ว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มันยังไง คนประเภทนี้ผมไม่อยากพูดด้วย ตำรามีอยู่ไม่สนใจกับตำรา และก็ยังห่วงขันธ์ ๕ แม้แต่อาการเล็กน้อยยังห่วง ชีวิตทำไมจะไม่ห่วง ถ้าห่วงชีวิตจะเป็นพระอริยเจ้าได้ยังไง ฉะนั้นคนประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อนี่ อย่ามายุ่งกับผม ผมจะไม่สนใจกับบุคคลประเภทนี้เป็นอันขาด ดีไม่ดีก็ไล่ส่ง พอถามเข้ามา ดีไม่ดีก็ไล่ส่งเดช เพราะว่าไม่อยากจะคบหาสมาคม เบื่อหน่ายเพราะสอนกันมาเท่าไหร่ไม่รู้จักจำ แบบแผนมีแล้วไม่รู้จักประพฤติปฎิบัติ ขอบรรดาท่านทั้งหลายสังวรเรื่องนี้ให้ดี

    วันนี้มาสรุปกันถึงผลการปฏิบัติตนเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า ที่พูดกันมามากน่ะความจริงผมก็ไม่อยากจะพูด นี่ต้องใช้คาสเซ็ตต์กันถึง ๙ คาสเซ็ตต์ เพียงแค่ผลที่จะนำตนให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ตามที่เขาศึกษากันมาจริงๆ เขาศึกษากันไม่เกิน ๓๐ นาที เมื่อฟังเท่านี้แล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติจนกว่าจะได้อรหัตตผล คือคนจริงๆ เขาทำกันแบบนี้ แต่ว่าการที่จะบรรลุเร็ว บรรลุช้า นั่นขึ้นกับกำลังใจ กำลังใจของเรามีความเด็ดเดี่ยว มันก็ได้บรรลุเร็ว ถ้ากำลังใจอ่อนแอก็ได้บรรลุช้า ประเภทป้อแป้เอาไหนไม่ได้ตกนรกไปเลย

    ต่อนี้ไปก็ขอพูดกันถึงความสรุปตนเป็นอรหันต์ เป็นของไม่ยาก อย่าไปติดตำราให้มาก เอนกชาติสังสารัง สันธาวิสสังอะไรนี่ หรือว่าอวิชชาปัจจยาสังขารา สังขารปัจจยาวิญญาณัง วิญญาณปัจจยา ไล่กันไปเถอะ ไล่ส่งเดชเป็นนกแล้วนกขุนทอง มันจะเกิดประโยชน์อะไร ปฏิจจสมุปบาท ที่ผมไม่สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี เอนกชาก็ดี ผมเห็นว่าไม่จำเป็น ดูตัวอย่างถึงบุคคลผู้สนใจจริง และก็ศึกษาเรื่องความเป็นพระอรหันต์ ขอยกตัวอย่างในพระสูตร ว่าครั้งหนึ่งบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายได้ศึกษาพระกรรมฐานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าโดยสังเขป หลังจากนั้นจึงได้ลาองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เพื่อจะเข้าป่า สมเด็จพระบรมศาสดา จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอไปลาสารีบุตรแล้วหรือยัง บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปลาสารีบุตรเสียก่อน ทั้งนี้เพราะว่าองค์สมเด็จพระชินวรทรงทราบว่าพระสารีบุตรจะพูดว่ายังไง เมื่อบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเข้าไปหาพระสารีบุตร นมัสการแล้ว พระสารีบุตรจึงถามว่า เธอจะไปไหน พวกเธอทั้งหลายก็บอกว่า จะลาเข้าไปปฏิบัติตนในป่า นี่ขอพูดถึงสองเรื่องซ้อนแต่เอามากล่าวเป็นเรื่องเดียวกัน พระสารีบุตรถามว่าถ้าเธอเข้าไปอยู่ในป่าในแดนไกลในชนบท ถ้าเขาถามว่าเธออุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนาหวังประโยชน์อะไร เธอจะตอบว่ายังไง บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็กราบเรียนว่า ไม่ทราบว่าจะตอบยังไงดีพระเจ้าข้า พระสารีบุตรจึงบอกว่าถ้าเขาถามเธอเช่นนั้น เธอจงตอบว่า การที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ บวชเข้ามาเพื่อความดับไม่มีเชื้อ จงจำไว้ พระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็จำไว้ คำว่าความดับไม่มีเชื้อนี่หมายความว่าสังโยชน์ทั้งสิบประการจะไม่มีเชื้อติดอยู่ในจิตของเรา จำคำนี้ไว้ว่าการบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานั้น บวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ คือกิเลสหมดจากจิต

    นี่อีกเรื่องหนึ่งคือบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายถามพระสารีบุตรว่าถ้าผมเป็นปุถุชน ต้องการจะเป็นพระโสดาบัน จะปฏิบัติยังไงพระเจ้าข้า พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าพวกท่านทั้งหลายยังเป็นปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส ปรารถนาจะปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน จงพิจารณาในสักกายทิฏฐิ ก็คือพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรารวมกันเรียกว่ากาย อันนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา หรือว่าเราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เธอพิจารณาอย่างนี้ไว้เสมอ เท่านี้จิตเธอจะละเอียดลง เมื่อจิตของเธอละเอียดลง เธอก็เป็นพระโสดาบัน บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นจึงกราบเรียนถามต่อไปว่า ในเมื่อพวกผมเป็นพระโสดาบันแล้ว ผมจะทำยังไงจึงจะเป็นพระสกิทาคามี พระสารีบุตรจึงได้ตอบสุนทรวาทีบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า ถ้าเช่นนั้น เธอก็จงพิจารณาขันธ์ ๕ นั่นแหละ ที่เราเรียกกันว่าสักกายทิฏฐิ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เมื่ออารมณ์จิตละเอียดลงแล้ว เราก็เป็นพระสกิทาคามี บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายถามอีกทีว่า เมื่อผมเป็นพระสกิทาคามีแล้ว จะเป็นพระอนาคามีจะทำยังไง ท่านก็บอกว่าปฏิบัติเช่นเดียวกัน พิจารณาขันธ์ ๕ เช่นนั้น พิจารณาแบบนั้น เมื่อจิตละเอียดลงก็เป็นพระอนาคามี พระสงฆ์ถามอีกว่าถ้าผมจะเป็นพระอรหันต์ทำยังไง ท่านก็บอกว่าพิจารณาอย่าวเดียวกัน พระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นถามต่อไปว่า ถ้าผมเป็นพระอรหันต์แล้วหยุดเลยใช่มั้ย พระสารีบุตรตอบว่าไม่ใช่ พระอรหันต์ยังพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่เพื่อความอยู่เป็นสุข เพียงเท่านี้ท่านเข้าใจแล้วหรือยัง ในการปฏิบัติจริงๆ น่ะเขาไม่ใช้อะไรมาก เขาใช้อย่างนี้ไม่ต้องไปแบกตำราเป็นหอบๆ ไม่ต้องไปนั่งทองตำราให้มันเหนื่อย แต่ผมน่ะท่องมาแล้วนะ ตำราที่ผมเรียนเนี่ย ถ้าจะเอาน้ำหนักตัวผมไปชั่งกับตำรา คิดว่าตำราที่ผมอ่านเนี่ยมันเกินกว่าร้อยเท่าของน้ำหนักตัวผม ผมคิดว่ากุฏิที่ผมนั่งอยู่เวลานี้ถ้าจะใส่ตำราที่ผมเรียนมันไม่พอ คือไม่พอใส่ แค่เรียนนักธรรมตรี เพื่อนเขามีหนังสือสามเล่ม แต่ผมแบกสามแบกยังไม่พอเลย นิสัยผมเป็นคนชอบค้นคว้า ถ้าหนังสือเล่มนั้นพาดพึงถึงอะไร ผมต้องหาซื้อมาอ่านให้ได้ แต่เป็นอันว่าเมื่ออ่านกันเข้าไปแล้ว ก็มาจบกันอยู่ตรงนี้ จบกันอย่างพิศดารก็คือสังโยชน์ ๑๐ เราตั้งตัดให้ได้

    การตัดสังโยชน์ ๑๐ ก็คือตัดตัวแรก ได้แก่สักกายทิฏฐิ อันนี้ในขันธวรรคปรากฏว่า มีพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าถึงกิเลสหลายสิบประการ ว่าจะห้ำหั่นกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดให้หมดไปใช้อะไร องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ก็ทรงตัดไว้เช่นเดียวกับพระสารีบุตรว่า จงตัดที่ขันธ์ ๕ คือเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่มีในเรา เท่านี้ ไหวมั้ย การปฏิบัติจริงๆ เขาจับกันอยู่ตรงนี้เท่านั้นเอง ที่ผมพูดมามากน่ะกันคนเลอะเทอะ กันที่คนมีปัญญาทรามไม่รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้เป็นประโยชน์ หากว่าจะถามว่าเวลาผมศึกษา ผมศึกษาตรงไหน คำว่าศึกษานี่หมายถึงการปฏิบัติ ผมก็ยึดคำสอนขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ที่ตรงกับคำสอนของพระสารีบุตร นี้เป็นเครื่องปฏิบัติโดยเฉพาะ นอกจากนั้นผมเล่นเป็นกีฬาสมาธิของผม ปรกติ ผมเป็นคนชอบจุกจิก ใครเขามีอะไร ใครเขาทำอะไรได้ ก็ต้องคิดว่าเขากินข้าว เรากินข้าว เขามีมือมีเท้าอย่างละสิบนิ้ว เราก็มีมือมีเท้าอย่างละสิบนิ้ว เมื่อเขาทำได้เราต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้อย่างเขาให้มันตายไป เรื่องชีวิตถ้าไม่มีความสามารถมันก็ไม่มีความหมาย ถ้าทำแล้วในขณะนั้น ถ้าผลมันยังไม่สำเร็จเพียงใด เราจะยอมตาย ยึดถึอกำลังใจขององค์สมเด็จพระจอมไตรขณะที่ทรงอธิษฐานจิตนั่งอยู่ที่โคนโพธิ์ ตอนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคิดว่า เราจะนั่งอยู่ตรงนี้ เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไปก็ตามที หรือว่าชีวิตินทรีย์จะตักษัยก็ตาม ถ้าเรายังไม่ได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี่ คำว่าไม่ยอมลุกมันก็ไม่ยอมกินด้วย เพราะไม่มีอะไรจะกิน กำลังใจจริงๆ มันอยู่ตรงนี้ การที่เขาทำได้มาเขาทำกันอย่างนี้ มีกำลังใจอย่างนี้ จำไว้ให้ดีนะ คำว่าไม่สามารถ คำว่าไม่ไหว คำว่าไม่เข้าใจ อย่ามาพูดให้ผมฟัง เพราะพูดให้ฟังทุกอย่างแล้ว ถ้าไม่สามารถ ไม่เข้าใจ ไม่ไหว ไปเสียจากที่นี่ ไปเสียเลยอย่ามาอยู่ อย่ามาอยู่ให้มันรกสถานที่ เราไม่ต้องการคนประเภทนี้ คำว่าไม่สามารถ ไม่เข้าใจ เขาสอนกันมาไม่รู้เท่าไหร่ ไม่เข้าใจจงอย่าอยู่ที่นี่ นี่เราต้องใช้อารมณ์ของเราเด็ดเดี่ยวแบบนี้ ตายให้มันตายไป

    หันเข้าไปจับสังโยชน์ ๑๐ เวลาปฏิบัติจริงๆ ต้องเอาใจจับสังโยชน์ ๑๐ เป็นอารมณ์ สังโยชน์ ๑๐ ๓ ข้อเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี เขาพิจารณากันขั้นขันธ์ ๕ ตัวเดียว เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายมันเป็นธาตุ ๔ ประชุมกัน มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นที่สุด มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ แล้วเราจะนั่งยึดถือมันเพื่อประโยชน์อะไร ดูในท้ายมหาสติปัฏฐานทุกข้อ ท่านบอกว่าจงอย่าสนใจในกายของเรา คือกายภายในและก็กายของเรา ตัวเรา จงอย่าสนใจกายภายนอก คือร่างกายของผู้อื่น จงอย่าสนใจวัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมด ถ้าเราไม่สนใจ อารมณ์ติดมันก็ไม่มี เมื่อไม่สนใจกายเรา ไม่สนใจในกายเขา ไม่สนใจวัตถุธาตุ จิตมันก็โปร่งจากกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะจากไหน ที่มันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เพราะว่าสนใจกายเรา สนใจกายเขา สนใจทรัพย์สินต่างๆ คำว่าไม่สนใจไม่ใช่โยนทิ้ง มี เก็บรักษาไว้ ทำให้มันเป็นประโยชน์ อย่าให้มันเป็นโทษ แค่นั้นพอ ตายแล้วเลิกกัน เมื่อร่างกายเราจะต้องพังในที่สุด เราจะต้องยึดถืออารมณ์เป็นสำคัญคือตัดอบายภูมิ ได้แก่พิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระอริยสงฆ์ เห็นว่าดีแล้วยอมรับนับถือปฏิบัติตาม สิ่งที่ท่านให้ปฏิบัติตามอันดับแรกก็คือ ศีล ๕ ทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เพียงเท่านี้เราทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้ก็ตั้งใจไปอบายภูมิ เพียงเท่านี้เราก็เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ยากหรือเปล่า อย่าฟุ้งกับตำราให้มันมากเกินไป ตำรารู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ใช้ตำราให้เป็นประโยชน์ อย่าใช้ตำราเป็นเครื่องโอ้อวดคนอื่น อัปจายนธรรม ธรรมเป็นเครื่องอ่อนน้อม ทรงไว้ให้เป็นปรกติ กายอ่อนน้อม วาจาอ่อนน้อม ใจอ่อนน้อม ใจมันจึงจะดี ถ้าใจมันแข็งกระด้าง มันเลว จำไว้นะ แล้วต่อไปเมื่อพิจารณาร่างกายของเราว่าขันธ์ร่างกายของเรา มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่สนใจร่างกายเรา ไม่สนใจร่างกายคนอื่น ไม่สนใจวัตถุธาตุ ในเมื่อไม่สนใจเรา ไม่สนใจเขา ไม่สนใจวัตถุ มันมีจุดไหนหนอที่มันจะเกิดกามารมณ์ มีมั้ย เห็นผู้หญิงสวย ผู้ชายสง่า เราไม่สนใจ และก็ทรัพย์สินทั้งหลาย เราก็ไม่สนใจ มันเป็นของโลก อารมณ์ใดๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา ในเมื่อเราไม่สนใจกาย มันจะสนใจอารมณ์อะไร ไม่มี นี้การกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่สนใจ มันจะมีได้ยังไง ใครเขาด่าเขาว่าเขานินทา เราก็ช่างมัน เพราะอะไร เขาด่า เขาด่ากาย เห็นกายไม่ใช่เรานี่ มันไม่ถูกเรา คนด่า คนบ้า ไม่ใช่คนดี ไม่สนใจกับทุกอย่าง คนสวยเราไม่สนใจ คนสง่าเราไม่สนใจ วัตถุธาตุที่สวยเราไม่สนใจ วัตถุธาตุที่งามเราไม่สนใจ อารมณ์รักในกิเลสมันจะเกิดขึ้นได้ยังไง การกระทบกระทั่งในจิต มันจะเกิดขึ้นได้ยังไง อารมณ์จิตมันก็เป็นอุเบกขารมณ์ เท่านี้เราก็เป็นพระอนาคามี ไม่เห็นมันจะยากตรงไหน รักษากำลังใจให้มันมั่นคงจริงๆ ให้จิตมันแน่วแน่จริงๆ อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับอารมณ์ภายนอก ทำงานทุกอย่างเพื่อสาธารณประโยชน์ เราทำเพื่อพระนิพพาน ที่เราทำนี่เราทำเพื่อไม่เกิด ไม่ได้ทำเพื่อเกิด ไม่เกิดทำทำไม ก็ทำเพื่อเป็นการตัดอารมณ์ว่าไอ้งานที่เราทำไปแล้ว เราลงทั้งทุนทั้งแรง แต่ว่าทำไปแล้วเราก็รู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ของไม่เที่ยง อนัตตาไม่ช้าก็สลาย มันไม่ตายก่อนเราก็ตายก่อน มันไม่พังก่อนเราก็ตายก่อน เราทำเพื่อจิตตัดโลภะ ความโลภ การทำงานอารมณ์มันจุกจิก ฝึกอารมณ์ใจใหัมันเย็นตัดความโกรธ การไม่สนใจว่ามันเป็นของเราเพราะว่าเรากับมันไม่ช้าก็ต่างกันเมื่อไร เป็นการตัดความหลงไปนิพพานเลย

    นี้พระที่ทำงานที่ใช้อารมณ์แบบนี้ไปนิพพานง่ายๆ ไม่ยาก ไม่เห็นมีอะไรยาก ตอนที่จะเข้าเป็นอรหัตตผล อันนี้ก็ไม่ยากอีกไปนั่งพิจารณาว่าร่างกายมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ก็ร่างกายของเรา เรายังไม่สนใจว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา รู้แล้วว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ มันแก่ มันหิว มันหนาว มันร้อน มันกระหาย ทุกอย่าง มันไม่มีอะไรเป็นปัจจัยของความสุขมีแต่ความทุกข์ ในที่สุดมันก็พัง ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริงมันจะพังเรอะ ไม่พัง ในเมื่อไม่สนใจกับร่างกายเรา แล้วทำไมเราจะสนใจกับร่างกายคนอื่น ซึ่งมันมีสภาพเหมือนกัน สกปรกโสมม แล้วก็พังไปในที่สุด ทรัพย์สินในโลกมีอะไรบ้างที่เราควรจะสนใจ เราก็หันเข้ามาดูว่ากามารมณ์ รูปราคะ อรูปราคะ รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ยังเป็นจุดแห่งความเมาของจิต ถ้าหลงติดอยู่แค่รูปฌานและอรูปฌานนี่ เราก็โง่เต็มที กิเลสที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงให้ตัด ยังมีอีก ๓ นอกจากรูปฌานและอรูปฌาน รูปฌานและอรูปฌานเราทรงไว้จริงแต่เราไม่ติดอยู่แค่นั้น เราจะใช้รูปฌานและอรูปฌานเป็นยานพาหนะสำหรับขี่เข้าโจมตีข้าศึก ข้าศึกที่จะเข้าตีข้างหน้านั่นก็คือ มานะ ความถือตัวถือตน ในเมื่อจิตของเราไม่สนใจกับร่างกายของเรา เอาอะไรมาถือตัวถือตน มีมั้ย จำให้ดี ถ้าเราไม่สนใจร่างกายของเรา เห็นว่ามันเลอะเทอะสกปรก น่าเกลียด มันมีสภาพเป็นศัตรู แล้วเขามาชมว่าเราขาว มาติว่าเราดำ หน้าเบี้ยว หน้าบูด จมูกแหว่ง ตาโหว่ เราก็ยิ้ม ยิ้มได้เพราะมันไม่ใช่ของฉันนี่จ๊ะ มันจะเป็นของมันอย่างนั้นก็ช่างมันปะไร เราเขามาเทียบเปรียบกับวรรณะหรือว่าฐานะหรือว่าศักดิ์ศรี เรามีความรู้น้อยกว่าเขา เขามีความรู้ดีกว่าเรา เขามีเกียรติตระกูลดีกว่าเรา เขามีฐานะดีกว่าเรา เราก็ยิ้ม บอกว่าโธ่เอ๊ย เจ้าผีดิบ เจ้าผีดิบนี่ยังไปติดความชั่วอย่างมาก ก็สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นเปลือกเท่านั้น มันเป็นเครื่องถ่วงให้ติดอยู่ในทุกข์ ทำไมจะไปยุ่งกับมัน จิตเราตัดได้คิดได้อย่างนี้ ตัวมานะมันก็ไม่มี หาย ง่ายๆ ผมขอพูดย่อๆ ผมพูดมามากเกินไป นี่ก็จะถึงอรหันต์ นี่มันไม่มีอะไรของง่ายๆ

    ทีนี้มาอุทธัจจะ อุทธัจจะนี่คิดว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรานี่ยังมีอยู่บ้าง โยนทิ้งมันไปเสียสิ จิตตั้งเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ นั่งคลำมันเลย จิตมันติดอยู่ในกามฉันทะบ้างหรือเปล่า จิตมันติดอยู่โลภะความโลภบ้างหรือเปล่า จิตมันติดอยู่ในความโกรธไว้ จิตมันติดอยู่ในความหลงไหม ถ้ามันมีก็แก้ไขให้มันพ้นไป เท่าที่ศึกษามาแล้ว มันก็ไม่ยาก และมาดูอีกทีตัวอวิชชา อวิชชาคือฉันทะกับราคะ ใช้ปัญญาให้มันรู้จริงๆ อย่าถือสัญญา ไอ้ที่แบกตำราคุยว่าเรียนมามากๆ น่ะเลอะด้วยประการทั้งปวง ฟังเสียงพูดเห็นอาการนั่งก็รู้แล้วว่ายังเลวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มันต้องดูจุดนี้ว่าเราติดอะไรบ้าง มนุสสโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นที่พอใจของเราหรือเปล่า มนุสสโลก เทวโลก พรหมโลกเป็นที่ปรารถนาของเราหรือเปล่า เห็นว่ามันสวยสดงดงาม มีหรือเปล่า ถ้าไม่มีล่ะก็ อัปจายนธรรมมันก็ครบถ้วน จิตมันก็ละเอียด มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราต้องการความสุขที่สุด ไอ้ความสุขชั่วคราวเราไม่ต้องการ นั่นก็คือ พระนิพพาน การไปพระนิพพานเขาทำกันยังไง เอาจิตตัดร่างกายให้รู้สภาพตามความเป็นจริงด้วยปัญญา คิดว่าโลกนี้เราไม่ต้องการ ร่างกายพังหรือ เชิญพังจ้ะ เธอจะป่วยก็เชิญป่วย ฉันห้ามเธอไม่ได้ เธอจะแก่ก็เชิญแก่มันเรื่องเธอ เธอจะมีทุกขเวทนาใดๆ เกิดขึ้น ถือว่านั่นมันเป็นเรื่องของเธอฉันห้ามไม่ได้ เธอพังเมื่อไหร่ฉันพร้อมที่จะไปพระนิพพาน เธอกับฉันมีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีอะไรที่เราจะมีการผูกพันกันอีก ถือว่าเรามีสัญญาหย่ากันเด็ดขาด ฉันโง่มาแล้วหลายแสนชาติ แต่ชาตินี้ขอฉลาดสักชาติหนึ่ง แล้วก็เธอจะใช้ฉันได้แต่เพียงชาตินี้ชาติเดียว ชาติต่อไปเธอกับฉันไม่มีความหมายสำหรับกัน นี่ตัดแค่นี้ก็เป็นพระอรหันต์ คิดแค่นี้หน่อยเดียวเป็นพระอรหันต์ เป็นแน่นอน แต่ให้มันได้จริงๆ อย่าสักแต่ว่าคิด อย่าสักแต่ว่านึก จงจำไว้ให้ดี

    เอาละ สำหรับวันนี้ เวลาที่จะพูดกันมันก็หมด ขอพูดกันให้ชัดๆ ว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาค ที่จะสอนคนให้เป็นพระอรหันต์แล้วสอนเพียงเท่านี้เท่านั้น ไม่มีอะไรมาก ต่อแต่นี้ไปขอสาวกองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น ทรงอิริยาบถตามอัธยาศัยของท่าน นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้ จงรักษากำลังใจแบบนี้ไว้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นพระอรหันต์ได้ภายใน ๓ เดือน สวัสดี
     
  7. chai8383

    chai8383 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    1,032
    ค่าพลัง:
    +6,348
    ลิงค์ธรรมะในเว็บต่างๆของหลวงพ่อ <?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:eek:ffice:eek:ffice" /><o:p></o:p>
    <o:p> </o:p>
     

แชร์หน้านี้

Loading...