อนุโมทนาบุญและร่วมทำบุญกฐินสามัคคีประจำปี ๒๕๕๘ **จิตศรัทธาทุกสายบุญ**

ในห้อง 'กฐิน - ผ้าป่า - งานวัด' ตั้งกระทู้โดย Siriwattano monk, 19 กันยายน 2015.

  1. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ด้วยท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีจิตศรัทธาทอดกฐินสามัคคีประจำปี ๒๕๕๘ ณ วัดชัยสถิต ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘

    จึงขอเรียนเชิญศรัทธาสาธุชนได้ร่วมอนุโมทนาและร่วมทำบุญในโอกาสครั้งนี้ด้วยเพราะ ๑ ปี มีแค่ครั้งเดียว ติดต่อสอบถามได้ที่เจ้าอาวาสวัดชัยสถิต ๐๙๓๑๓๗๓๘๑๕

    ***อานิสงส์ผู้ถวายกฐิน***
    กฐินเป็นกาลทานที่มีระยะเวลาเพียงเดือนเดียว และวัดหนึ่งๆ จะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพระบรมพุทธานุญาตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระองค์เอง กฐินจึงมีอานิสงส์มาก ต้องมีการ เตรียมแจ้งข่าว แก่หมู่ญาติหรือสหสามัคคีร่วมกัน ผู้ถวายกฐินต้องรู้พระวินัย ต้องกระทำพิธีถวายผ้ากฐินในพระอุโบสถ โดยสงฆ์ทุกรูปต้องญัตติ ต้องตั้งเจตนาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัดนั้น จึงจะได้อานิสงส์แก่ผู้ถวายโดยแท้จริง ดังเช่น
    ในสมัย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สมเด็จพระกัสสปพุทธเจ้า ความว่า : มีเศรษฐี ๔ คน ที่เคยเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ เวียนเกิดสับเปลี่ยนกันไป มีรูปงาม ปัญญาดี มียศ มีบริวาร มีวิมานสีทองดั่งสีของจีวร ที่อาศัยสุขสบายเป็นสัปปายะ เศรษฐีทั้ง ๔ ได้แก่ ชฏิละเศรษฐี เมณฑกะเศรษฐี โชติกะเศรษฐี และปุณณะเศรษฐี ได้ทอดกฐินสม่ำเสมอ และหมั่นทำบุญกุศลไม่ขาดสาย พร้อมทั้งเจริญศีล ภาวนา เมื่อมาเกิดในสมัยของสมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้า ท่านเศรษฐีได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
    บุญกุศลอื่นๆ นอกจากการทอดกฐินแล้ว ท่านเศรษฐีได้เคยปฏิบัติ ดังนี้อย่างสม่ำเสมอ
    ชฏิละเศรษฐี ชอบทำบุญด้วยการสละทรัพย์มากมาย
    เมณฑกะเศรษฐี ทำถนนถวายวัด ให้ความสะดวกแก่สงฆ์
    โชติกะเศรษฐี ชอบสร้างวัด
    ปุณณะเศรษฐี ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาในบริเวณอาราม

    ***นิทานกฐินครั้งโบราณกาล***
    กฐินตามเรื่องของ โบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ มีกฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง กฐินบริสุทธิ์ เป็นคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวมาปรัมปรา ท่านยกนิทานมาเล่าว่า มีมหาเศรษฐีคนหนึ่ง มีสมบัติมากมาย มีเงิน ๘๐ โกฏิ จะทอดกฐิน ขณะถวายกฐินได้ประกาศเชิญเทวดา ไม่ว่าจะเป็นอากาศเทวา หรือภุมเทวา ให้มาอนุโมทนากฐินของเขา วันนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งมาอนุโมทนากฐิน พอมาจวนจะถึงวัด (วัตร) มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง บังเอิญมีบุรุษผู้หนึ่งอยู่ใต้ต้นไทรนั้น ได้ยินเสียงเทวดาจรกล่าวชวนรุกขเทวดาที่ต้นไทรให้ไปอนุโมทนากฐินของมหาเศรษฐี แต่รุกขเทวดาที่ต้นไทรบอกให้เทวดานั้นไปก่อนเถิด เมื่อนุโมทนาแล้ว เป็นอย่างไรให้กลับมาเล่าให้ฟังด้วย ปรากฏว่า
    กฐินกองที่ ๑ เมื่อเทวดาไปอนุโมทนา ปรากฎว่า เจ้าของกฐินและคณะศรัทธา แจกสุรายาเมา ผู้มาร่วมงานเมามายส่งเสียงอึกทึกครึกโครมไม่เกิดความสงบสงัด ไม่ปฏิบัติตามธรรม พอถวายกฐินและอนุโมทนาแล้ว เทวดาจรกลับมา บุรุษผู้นั้นยองอยู่คอยฟังข่าวจากเทวดาจร รุกขเทวดาถามว่า กฐินของมหาเศรษฐี เป็นอย่างไรบ้าง เทวดาจรกล่าวว่าเป็น “ กฐินบูด ” ทำไมจึงบูด เพราะมีการดื่มเหล้าเมายาเอิกเกริก เฮฮา โกลาหล ไม่มีความสงบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม แล้วเทวดาก็จากไปบุรุษผู้นี้นำเรื่องนี้มาเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีเสียใจ ตั้งใจจะทำกฐินใหม่อีกครั้ง
    กฐินกองที่ ๒ คราวนี้ในงานกฐินไม่มีเหล้ายาเมามาเกี่ยวข้อง แต่มีการฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าหมู ฆ่าไก่ กันอย่างใหญ่โต เพื่อเลี้ยงดูผู้มาร่วมงานให้อิ่มหนำสำราญ โดยไม่คิดว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นบาป เป็นกรรม เมื่อถึงคราวทอดกฐิน เศรษฐีให้รางวัลบุรุษคนนั้นให้ไปคอยดักฟังว่าเทวดาท่านจะกล่าวถึงงานกฐินครั้งนี้ว่าอย่างไร บุรุษผู้นั้นไปคอยดักฟังที่ต้นไทรต้นเก่า เมื่อถึงเวลาประกาศให้เทวดาไปอนุโมทนา รุกขเทวดาก็ไม่ไป แต่ขอให้เทวดาจรไปแล้วให้กลับมาเล่าให้ฟัง เทวดาจรกลับมาบอกว่า เป็น “ กฐินเน่า ” เพราะมีการฆ่าสัตว์ นำมาเลี้ยงกันมากมาย บุรุษผู้ดักฟังกลับไปเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีเสียใจอีก ก็จะทำกฐินอีกเพื่อแก้ไข เนื่องจากยังไม่พ้นเขตกฐินกาล
    กฐินกองที่ ๓ เศรษฐีรีบทำกฐินอย่างรีบด่วนเนื่องจากกลัวจะไม่ทันกับกาลสมัย คราวนี้เกิดอารมณ์โทสะ ดุด่าว่ากล่าวทาสกรรมกรต่างๆ นานา เนื่องจากไม่ทันใจ มีโทสะ ความโกรธอยู่ในจิต ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ เมื่อถึงเวลาทอดกฐิน แม้ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่มีสุรายาเมา แต่มีเสียงดุด่าว่ากล่าวผู้อื่น เศรษฐีให้รางวัลบุรุษผู้นั้นให้ไปคอยดักฟังข่าวจากเทวดาว่าจะพูดเกี่ยวกับตนอย่างไรบ้าง เทวดาจรมาชวนรุกขเทวดาที่ต้นไทรอีก แต่รุกขเทวดาไม่ไป ขอให้เทวดาจรกลับมาเล่าข่าวให้ฟัง เมื่ออนุโมทนาแล้ว เทวดาจรกลับมาบอกว่า กฐินคราวนี้สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เสียอย่างเดียว เป็น “ กฐินเศร้าหมอง ” เพราะจิตใจของเศรษฐี เจ้าภาพกฐินไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมองด้วยความโกรธ บุรุษผู้นั้นไปบอกเศรษฐีตามที่ได้ยินมา เศรษฐีเสียใจยิ่ง เพราะทำกฐินมา ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่กฐินครั้งใดบริสุทธิ์เลย จึงกระทำกฐินอีกเป็นครั้งที่ ๔
    กฐินกองที่ ๔ เศรษฐีกระทำความดี มีอารมณ์สดชื่น แจ่มใส ไม่โกรธใคร ไม่นำสุรายาเมามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อถึงเวลาทอดกฐิน ก็ประกาศ เชิญเทวดามาอนุโมทนาอีก คราวนี้เทวดาจรกลับไปเล่าให้รุกขเทวดาฟังว่า คราวนี้ “ กฐินบริสุทธิ์ ” บุรุษผู้นั้นกลับมาเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีดีใจ มีความสุข ได้อานิสงส์ของการทำกฐินคราวนี้ สมบูรณ์เต็มที่ สมความปรารถนา ทุกประการ

    อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับอานิสงส์กฐิน คือ ในสมัยครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุรุษยาจกเข็ญใจไร้ที่พึ่งชาวเมืองพาราณสี ชื่อ “ ติณบาล ” อาศัยอยู่กับเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์นับได้ ๘๐ โกฏิ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้รักษาไร่หญ้าให้เศรษฐี เพื่อแลกกับอาหารที่หลับนอน เขามีความคิดว่า “ ตัวเราเป็นคนยากจนเช่นนี้ เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติปางก่อน มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย ” เมื่อคิดได้ดังนี้ เขาจึงแบ่งอาหารที่เศรษฐีให้ออกเป็นวันละ ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับตนเอง ไว้บริโภค ด้วยเดชกุศลผลบุญนั้น ท่านเศรษฐีเกิดสงสาร จึงเพิ่มอาหารให้อีก ๒ ส่วน เขาได้แบ่งอาหารนั้นออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนที่สอง แจกทานแก่คนยากจน ส่วนที่ ๓ เอาไว้บริโภคเอง เขาทำอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาช้านาน
    ต่อมาเป็นวันออกพรรษา เหล่าชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีก็เตรียมการจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า สิริธรรมเศรษฐี จะได้ทำบุญกฐิน ติณบาลได้ยินเกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจทันทีว่า “ กฐินทานนี้แหละจะเป็นทานอันประเสริฐ ” เข้าไปถามเศรษฐีว่า กฐินทานมีอานิสงส์อย่างไร เศรษฐีตอบว่า “ กฐินทานมีอานิสงส์มากมายนัก สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญว่าเป็นทานอันประเสริฐ ” ติณบาลได้ยินดังนั้นเกิดความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก จึงพูดกับเศรษฐีว่า “กระผมมีความประสงค์จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วยท่านจะเริ่มงานเมื่อใด” เศรษฐีตอบว่า ” เราจะเริ่มงานเมื่อครบ ๗ วัน นับจากวันนี้ไป ”
    ติณบาลได้ฟังก็ดีใจยิ่งนัก เขามีความศรัทธายินดีเต็มใจที่จะร่วมทำบุญกฐินนี้ด้วย แต่ตนเองเป็นคนยากจน ไม่มีเงินทองข้าวของเครื่องใช้จะอนุโมทนากับเศรษฐี จะมีแต่ก็ผ้าผืนเดียวที่นุ่งอยู่ ในที่สุดก็ตัดสินใจ เปลื้องผ้าที่นุ่งอยู่ไปซักฟอกให้สะอาด เอาใบไม้มาเย็บนุ่งแทนผ้า แล้วเอาผ้านั้นไปเร่ขายในตลาด ชาวตลาดพากันหัวเราะลั่น เมื่อเห็นอาการนั้น ติณบาลประกาศว่า “ ท่านทั้งหลายหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจน ไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์ ” ในที่สุด เขาขายผ้านั้นได้ในราคา ๕ มาสก (๑ บาท) แล้วนำไปอนุโมทนากับเศรษฐี ก็พอดีกับบริวารกฐินทุกอย่างบริบูรณ์ เว้นแต่ขาดด้ายเย็บผ้าอย่างเดียวสำหรับเย็บไตรจีวร เศรษฐี ได้นำเงินนั้นซื้อด้ายเย็บไตรจีวร
    ในกาลครั้งนั้นเกิดโกลาหลไปทั่วในหมู่ชนตลอดจนเทพเทวาในสรวงสวรรค์ ต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญ ทานของติณบาล เสียงสาธุการ ความเสียสละในทานของติณบาล ดังลั่นเข้าไปถึงพระราชวัง พระเจ้าพาราณสี ทรงทราบเหตุผล รับสั่งให้นำติณบาล ให้เข้าเฝ้า แต่ติณบาลไม่กล้าเข้ามาเพราะไม่มีผ้านุ่ง พระองค์ทรงตรัสถามความเป็นมาของเขาโดยตลอด ให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่ติณบาล นอกจากนั้นได้พระราชทานบ้านเมือง ทรัพย์สมบัติ ช้าง ม้า วัว ควาย ทาสี ทาสา เป็นอันมาก และโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐี ในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า “ ติณบาลเศรษฐี ” จำเดิมแต่นั้นเป็นต้นไป
    กาลต่อมา ติณบาลเศรษฐี เมื่อดำรงชีวิตอยู่พอสมควร แก่ อายุขัยแล้ว ก็จุติไปจากโลกมนุษย์ ไปปฏิสนธิเป็นเทพบุตรในดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพยสมบัติอยู่ในวิมานแก้ว สูง ๕ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) มีนางเทพอัปสร หนึ่งหมื่นเป็นบริวาร ส่วนสิริธรรมเศรษฐี ครั้นจุติจากโลกมนุษย์แล้ว ไปปฏิสนธิในดาวดึงส์สวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เช่นเดียวกับ ติณบาลเศรษฐี ดังนี้
    นี่คือ อานิสงส์ของกฐินทานที่ติณบาลได้ตั้งใจกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ในทานมัยในเขตบุญของพระพุทธศาสนา
    กฐิน เป็นเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดยเฉพาะในเรื่องของทานมัยที่เป็นไปถูกต้องตามพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นการสร้างมหากุศลของจิตที่เป็น “ญาณ” รู้ถูกต้องตามพระพุทธธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า “บุญ” หมายถึง มหากุศลตั้งแต่กามาวจรมหากุศล รูปาวจรมหากุศล อรูปาวจรมหากุศล โลกุตตรมหากุศล คำว่า “กิริยา” หมายถึง มหากิริยาจิตของพระอรหันต์ คำว่า “วัตถุ” หมายถึง วัตถุธรรม ๗๒ ได้แก่ : จิต ๑ เจตสิก ๕๒ นิปผันนรูป ๑๘ นิพพาน ๑ วัตถุในภาษาโลก แปลว่า ที่ตั้ง หรือวัตถุสิ่งของ แต่ในภาษาธรรม หมายถึง บุคคลผู้มีจิต เจตสิก รูป (มนุษย์ เทวดา พรหม) ผู้สามารถสร้างบุญมหากุศลนี้ได้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลไปตามลำดับจนถึงพระอรหันต์ แม้สัตว์เดรัจฉานก็สามารถสร้างบุญมหากุศลได้ สร้างมหากุศลเก็บเป็นมหาวิบาก ส่งผลให้ได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา การจะถึงกระแสโลกุตตระ ต้องเปลี่ยนภพภูมิเป็นมนุษย์หรือเทวดาเสียก่อน การจะพัฒนาไปสู่กระแสโลกุตตระได้นั้น จะต้องน้อมนำกระแสธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าสู่จิต แล้วจิตจะพัฒนาไปสู่กระแสโลกุตตระ โดยมีพระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธพจน์) เป็นผู้นำไป มิใช่เราจะปฏิบัติได้เอง หรือเราจะมีตัวรู้ผุดขึ้นมาเอง หรือปฏิบัติไปตามคำสอนของอาจารย์ที่มิได้นำพุทธธรรมมาสอน แล้วเราจะเข้าถึงธรรมได้อย่างไร การปฏิบัติโดยปราศจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนนำไปสู่อบายภูมิ ทั้งสิ้น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 12395.jpg
      ขนาดไฟล์:
      529.9 KB
      เปิดดู:
      4,610
  2. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    **ผู้มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพกฐิน**
    ผู้มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพกฐิน ได้แก่ : เทวดา พระภิกษุ พระภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขามานา อุบาสก อุบาสิกา
    การจองกฐิน : เจ้าภาพผู้ปรารถนาจะจองกฐินวัดใดวัดหนึ่งนมัสการกราบเรียนเจ้าอาวาสว่า ตนมีศรัทธาจะทอดกฐินวัดนี้ เมื่อท่านอนุญาตแล้ว เขียนหนังสือประกาศไว้ให้รู้ทั่วกัน กฐิน กับวิหารทานอื่นๆ ต้องแจ้งประกาศแยกกันต่างหาก อนึ่ง หากเจ้าอาวาสหรือคณะสงฆ์ต้องการเงินมากกว่ากฐิน กฐินนั้นเป็นอันเดาะ ไม่เป็น กฐิน เป็นเพียงสังฆทาน ไม่ได้อานิสงส์กฐิน ถ้ามีผู้ร่วมบุญเครื่องกฐินสามารถเป็นไปได้ หรือปัจจัยเกี่ยวกับวิหารทานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่เกี่ยวกับกฐิน

    ปัจจุบัน "กฐิน" ก็เพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย ภิกษุองค์ครองผ้ากฐินตัดเย็บจีวรไม่เป็น ละเมิดสิกขาบทเป็นอันตรายและเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง อาทิ กะถิลทองคำ กะถิลเงิน กะถิลสร้างโรงเรียน กะถิลสร้างโรงพยาบาล กะถิลสร้างโบสถ์ วิหารศาลาการเปรียญ หอฉัน หอระฆัง เมรุ โรงครัว กะถิลห้องสุขา สระน้ำ สวนดอกไม้ ฯลฯ กะถิลซื้อที่ กะถิลมีของแลกเปลี่ยน กะถิลฉลองหนัง ลิเก ดนตรี หมอรำ รำวง กะถิลครึกครื้น กะถิลแก้บน กะถิลซื้อรถยนต์ กะถิลลวง กะถิลหลอก กะถิลฉ้อฉล กะถิลกล กะถิลสุรา กะถิลสาโท กะถิลอุ กะถิลขันโตก กะถิลลูกเต๋า กะถิลเล่นแร่แปรธาตุ กะถิลปลุกเสกเครื่องลางของขลัง กะถิลลงเลขสักยันต์อาคมกล้า กะถิลเจ้าอาวาส กะถิลห้าร้อย(กอง) กะถิลเป็นสาย (มุ่งหมายเป็นเงิน) กะถิลสำรวม กะถิลละเมิดพระธรรมวินัย กะถิลนอกบรมพุทธานุญาต กะถิลโมฆบุรุษ กะถิลเดียรถีย์ กะถิลปาราชิก กะถิลสังฆาทิเสส ตลอดจน กะถิลใส่รองเท้าเข้าโบสถ์ ฯลฯ พระภิกษุในวัดตั้งป้ายโฆษณาหากะถิล กะถิลดอกเห็ดทั้งหลาย ล้วนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่กฐินที่แท้จริงตามพระธรรมวินัย เป็นต้น
    เช่นเดียวกัน "ผ้าป่า" ก็เพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย ในพระไตรปิฎก ไม่มีคำว่า "ผ้าป่า" แต่จะมีคำว่า "ผ้าจากป่า" คือผ้าที่พระภิกษุไปหามาจากป่า เพื่อนำมาทำจีวร หรือ "ผ้าบังสกุล" คือผ้าที่พระภิกษุเก็บมาจากซากศพ จากกองขยะ ผ้าที่เขาทิ้งแล้วตามตลาด เพื่อนำมาทำจีวร ไม่ใช่ผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ หรือผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ที่นำมาวางไว้ตามวัตถุทานต่างๆ อาราธนาพระภิกษุมาพิจารณาผ้า สมมติว่าพิจารณาผ้าจากป่าแล้วเรียกว่า "ทำบุญทอดผ้าป่า" อย่างในปัจจุบันซึ่งมีการทำบุญทอดผ้าป่า ร้อยแปดพันประการด้วยความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ นำไปอบายภูมิ
    การทำบุญกิริยาวัตถุ ในลักษณะนี้ ควรเรียกว่า "ทำบุญมหาทาน" หรือ "ทำบุญมหากุศล" หรือ "ทำบุญสังฆทาน" พระภิกษุต้องครบองค์สงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป แต่ถ้าพระภิกษุ ๑ รูป ต้องเป็นรูปที่ได้รับฉันทานุมัติจากสงฆ์ จึงจะไม่เป็นความเห็นผิด เข้าใจผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิที่จะนำไปอบายภูมิ ถ้าทำบุญถูกพระธรรมวินัย จะเป็น "มหากุศล" นำเก็บ "มหาวิบาก" นำส่งสู่สุคติในภพภูมิต่อไป
    การถวายกฐิน : เจ้าภาพกฐินไม่สามารถเจาะจงถวายแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของสงฆ์ที่เห็นสมควร แต่ต้องเป็นพระภิกษุ ผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์* (บุพพกรณ์ : รู้จักการซักผ้า กะผ้า ตัดผ้า เนาผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า พินทุกัปปะผ้า) เป็นต้น หากภิกษุองค์ครองผ้ากฐินไม่รู้ธรรม ๘ ประการ อานิสงส์ก็น้อยลงไปตามลำดับ หรือไม่สมควรเป็นผู้รับผ้ากฐิน

    **อานิสงส์ห้าประการของภิกษุผู้รับกฐิน**
    อานิสงส์พระภิกษุสงฆ์
    ภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ
    ๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
    ๒. อสมทานจาโร เที่ยวไปไหนไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า ๓ ผืน คือสบง จีวร สังฆาฏิ)
    ๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ได้ คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถ บอกชื่อ อาหาร คือโภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)
    ๔. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน)
    ๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ
    จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่นไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่างๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์)
     
  3. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ปฐมเหตุการทอดกฐิน

    ปฐมเหตุการทอดกฐิน (จากกฐินขันธกะ พระวินัยปิฎก และอรรถกถาแปล เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาคที่ ๒ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗/๙๑ น.๑๙๓) ความว่า

    สมัยเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารอารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ครั้นนั้น พระภิกษุ ภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป (ระดับภูมิธรรมระหว่างพระโสดาบัน – พระอนาคามี) ชาวเมืองปาไฐยรัฐ ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ (ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร) บิณฑปาติกธุดงค์ (ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร) และเตจีวริกธุดงค์ (ถือการครองผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร) เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เดินทางมาไม่ทัน เพราะจวนเข้าพรรษา จึงต้องหยุดจำพรรษา ณ เมืองสาเกต พระภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยใจรัญจวนว่า : พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เราระยะทางห่างกันเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระพุทธองค์
    ครั้นล่วงไตรมาส พระภิกษุเหล่านั้นออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว ได้มุ่งตรงมายังวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ขณะนั้นในชมพูทวีปยังมีฝนตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลนโคลนตม มีน้ำขังอยู่ในที่ต่างๆ ตามทางที่เดินทางผ่านมา พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ได้รับความลำบากจากการเดินทาง มีจีวรชุ่มชื้นไปด้วยน้ำและมีหล่มเลนโคลนตม อีกทั้งยังต้องฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย จีวรขาดวิ่น จนมาถึงวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ก็มิได้รั้งรอ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
    การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้นเป็น พุทธประเพณี

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระภิกษุเหล่านั้นว่า

    พระผู้มีพระภาคเจ้า :
    “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ”

    พระภิกษุภัททวัคคีย์ :
    “ พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษาไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ เราระยะทางเห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
    ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ และมีหล่มเลน โคลนตม มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า ”
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

    พระผู้มีพระภาคเจ้า :
    “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้วจักได้อานิสงส์กฐิน ๕ ประการคือ
    ๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปไหน ไม่ต้องบอกลา (ภิกขาจารไปโดย ไม่ต้องบอกลา)
    ๒. อสมทานจาโร ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า ๓ ผืน : สบง จีวร สังฆาฏิ)
    ๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ ได้ คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถบอกชื่ออาหาร คือ โภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)
    ๔. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน)
    ๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่ พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่นไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เครื่องใช้ต่างๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์)
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่พวกเธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว ”


    พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเรื่องนี้เป็นปฐมเหตุ ทรงมีฉันทานุมัติตามพุทธประเพณีที่มีมา ต้องมีพระภิกษุ ๓๐ รูป ซึ่งเป็นพระภิกษุปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในธุดงควัตร อยู่ป่าเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร และปฏิบัติกิจด้วยผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะท่านได้สะสมบารมีมา พระภิกษุภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ รูป เคยได้เห็นพระภิกษุ ๓๐ รูป ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ท่านได้ถวายภัตตาหารในพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ และท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าได้เกิดมาภพหนึ่ง ชาติใดในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้เป็นเอตทัคคะ หรือเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติเป็นท่านแรกหรือเป็นคณะแรกทั้ง ๓๐ ท่าน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฉันทานุมัติให้ยกเว้น หรือได้อานิสงส์จากการกรานกฐิน ๕ ประการ บุรุษทั้ง ๓๐ ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เกิดมาพบกันทุกชาติ เพราะสร้างกุศลมาร่วมกัน มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละชาติ การที่ท่านได้มาเกิดในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า จะได้สร้างกุศลใหญ่ คือท่านจะเป็นปฐมเหตุ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐิน กรานกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ เมื่อออกพรรษาแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ พระภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้สดับฟังพระธรรมีกถาเรื่อง “อนมตัคคิยกถา” ได้บรรลุ “พระอรหัตตผล” ทุกรูป ในวาระกาลจบพระธรรมเทศนา
    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจึงได้รับผ้ากฐินตามพระวินัยบัญญัติ มหาอุบาสิกาวิสาขา (พระโสดาบัน) ได้ทราบพระพุทธานุญาต จึงได้เป็นท่านแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา

    สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
     
  4. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ลำดับพิธีการทอดกฐิน (พอสังเขป)

    ๑. เจตนาในการทอดกฐิน การทอดกฐินเป็นเรื่องของมหากุศล เกิดจากการทำงานของจิตที่เป็นมหากุศลในกามาวจร เป็นไปในเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือ ๓๐ ประการ ประกอบด้วย กายกรรม ๑๐ วจีกรรม ๑๐ มโนกรรม ๑๐ ที่ได้กระทำถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยมีทิฏฐุชุกัมม์ เป็นตัวคุมว่าได้กระทำความเห็นให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ของพระบรมศาสดาหรือไม่ การสร้างกุศลผลทานทำบุญมาไม่เสมอกันในเรื่องบุญกิริยาวัตถุผลของบุญจะเป็นไปตามระดับของ "วัตถุ" ที่รับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานผู้มีกิเลศหนาไปจนถึงพระอริยบุคคลตลอดจนถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อจะกระทำการกุศลใด ๆ ต้องอาศัยหลักเรื่องของ "เจตนา" และ "ปฏิคาหก" ซึ่งประกอบด้วยหลัก ๖ ประการ คือ
    ๑) บุพพเจตนา เจตนาก่อนกระทำ มีแต่กุศลจิต มีจิตผ่องใสเต็มใจที่จะกระทำทาน
    ๒) มุญจเจตนา (มุญจนเจตนา) เจตนาขณะกำลังกระทำ มีแต่กุศลจิต มีความเลื่อมใสในการให้ทาน
    ๓) อปรเจตนา (อปราปรเจตนา) เจตนาภายหลังกระทำ มีแต่กุศลจิต มีความปลื้มใจภายหลังให้ทานแล้ว
    ๔) ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้ปราศจากโลภะ หรือกำลังปฏิบัติให้ปราศจากโลภะ
    ๕) ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือกำลังปฏิบัติให้ปราศจากโทสะ
    ๖) ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือกำลังปฏิบัติให้ปราศจากโมหะ
    เมื่อครบ ๖ ประการ ผลของทานจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ครบ ๖ ประการ ทำด้วยจิตที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ แอบแฝงอยู่ ผลของทานก็จะได้น้อยไปตามลำดับ

    ลำดับการสร้างกุศล (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ เวลามสูตร หน้า๓๑๕ ข้อ ๒๒๔ ท้ายสีหนาทวรรคที่ ๒)

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระองค์ตรัสถึงเรื่องเวลามพราหมณ์ และมีลำดับของการให้ทานดังนี้
    มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทองมีธงทอง คลุมด้วยข่ายทองให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด ฯลฯ

    สมัยนั้นไม่มีใครพระทักขิเณยยบุคคล ไม่สามารถชำระทักขิณานั้นให้หมดจด ทานที่ให้กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (พระโสดาบัน) ผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า
    - ทานให้กับพระสกทาคามี ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (พระโสดาบัน) ร้อยท่านบริโภค
    - ทานให้กับพระอนาคามี ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
    - ทานให้กับพระอรหันต์ ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
    - ทานให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค
    - ทานให้กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
    - ทานให้กับภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
    - การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่ให้กับภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
    - การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ
    - การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
    - การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ
    - การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

    นอกจากนี้ การทำทานให้ได้อานิสงส์อันไพบูลย์ยิ่งขึ้น ต้องประกอบด้วย "ทายก" ผู้ให้ และ "ปฏิคาหก" ผู้รับ มีความบริสุทธิ์ สมควรแก่ทานดังความบริสุทธิ์ของทักขิณาทาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน "ทักขิณาวิภังคสูตร" ความว่า : ความบริสุทธิ์ของทักขิณาทาน ๔ ประการ
    ๑. ทักขิณา ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก คือทายกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
    ๒. ทักขิณา ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก คือทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม
    ๓. ทักขิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก ก็ไม่บริสุทธิ์ คือ ทายกเป็นผู้ทุศีล ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก เช่นกัน
    ๔. ทักขิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก คือ ทายกเป็นผู้มีศีล ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม เช่นกัน
    ดังนั้น การทำทานกับบุคคลผู้มีอริยคุณสูงไปตามลำดับ ย่อมได้รับผลมากไปตามลำดับเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน ถ้าทำทานกับบุคคลผู้ไม่มีคุณธรรม ก็จะได้รับผลน้อยไปตามลำดับเช่นกัน การเกิดมาจนหรือมั่งมีร่ำรวย ก็มาจากผลของกรรมที่ทำมาแต่อดีตชาติ ดังว่า อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
     
  5. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337

    ๒. การเตรียมขบวนกฐิน เมื่อเจ้าภาพได้เตรียม "กฐิน" และบริวารเครื่องกฐินไว้เรียบร้อย พร้อมที่จะนำขบวนแห่ไปยังวัด (วัตร) ที่จองกฐินไว้ ถ้าวัดอยู่ไกลจะต้องมีการเดินทางตั้งแต่กลางคืน ระหว่าง

    การเดินทางควรเจริญธรรม (พระสูตรต่างๆ ที่มีในพระไตรปิฎก เช่น พระอภิธรรม พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอนัตตลักขณสูตร พระอาทิตตยปริยายสูตร ทีฆนขสูตร โมคคัลลานสูตร เป็นต้น) เป็นธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรงที่ออกจากพระโอษฐ์เป็นพระพุทธพจน์ อย่านำธรรมอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์มาเจริญเด็ดขาด จะไม่ได้อานิสงส์ ควรเจริญธรรมไปตลอดการเดินทางเท่าที่จะทำได้ เพื่อยังจิตของคณะทอดกฐินให้เบิกบานผ่องใส เต็มไปด้วยมหากุศลไปตลอดสาย เพื่อยังผลให้เกิดอานิสงส์อันไพบูลย์ ในการทอดกฐินครั้งนี้
    ขบวนกฐินไม่ควรนำ "ผ้ากฐิน" เข้าไปในวัดก่อนสว่าง (จนกว่าจะเห็นลายมือชัด) ของวันที่จะทอดกฐินนั้น เพราะถ้านำผ้ากฐินเข้าไปแล้ว พระภิกษุไม่สามารถทำสังฆกรรมได้ กฐินจะเดาะ เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องเปลี่ยนผ้ากฐินเป็นผ้าผืนใหม่ เพราะผ้าผืนเก่าเป็นโมฆะ เมื่อเข้าวัดเรียบร้อยแล้วนำเครื่องกฐินไปตั้งรวมกันไว้ในศาลาการเปรียญหรือสถานที่เหมาะสม ก่อนที่จะอัญเชิญองค์กฐินและบริวารกฐินไปเวียนทักษิณาวัตร รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ เมื่อพร้อมกันตามเวลานัดหมาย ไม่ว่าจะทำการทอดกฐินในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย เมื่อพระภิกษุฉันภัตตกิจและคณะศรัทธาร่วมกันรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว มารวมตัวกันที่ศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีมอบองค์กฐินและบริวาร เพื่อเจ้าภาพกฐินและคณะอัญเชิญไปทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถต่อไป

    ๓. การมอบเครื่องกฐิน เจ้าหน้าที่ทำการมอบเครื่องกฐินตามรายชื่อที่เตรียมไว้ "ผ้ากฐิน" มีเพียงไตรเดียวเป็นของเจ้าภาพกฐิน ส่วนไตรจีวรอื่นที่คณะศรัทธานำมาจะเป็น "ผ้าจำนำพรรษา" เมื่อได้รับการขานชื่อ แต่ละท่านจะเวียนทักษิณาวัตรรอบกองกฐิน ๑ รอบ แล้วกราบสักการะ พระพุทธปฏิมากร ก่อนจะเข้ารับมอบ เครื่องกฐินมาถือไว้จากเจ้าหน้าที่ เปรียบเสมือนเป็นการแสดงความเคารพสักการะต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนไปในสมัยอดีตเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คณะศรัทธาได้เข้าไปเฝ้าขอพระบรมพุทธานุญาต เพราะการทอดกฐินเกิดขึ้นได้จากพระพุทธประสงค์ และพระพุทธานุญาตของพระพุทธเจ้า ขณะกำลังกระทำพิธี คณะจะเจริญธรรมไปด้วยในขณะเดียวกัน ผู้ได้รับมอบเครื่องกฐินจะตั้งแถวเป็นขบวนเตรียมไว้ เพื่ออัญเชิญไปยังพระอุโบสถ

    ๔. การอัญเชิญเครื่องกฐินเข้าพระอุโบสถ จากนั้นขบวนแห่กฐิน จะอัญเชิญองค์กฐินและบริวารกฐินไปทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถ ๓ รอบ พร้อมๆ กับเจริญธรรมสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย แล้วอัญเชิญองค์กฐินและบริวารกฐินเข้าภายในพระอุโบสถ เพื่อเตรียมทำพิธีทอดกฐินต่อไป

    ๕. การอัญเชิญชุมนุมเทพพรหมเทวดา
    และบูชาคุณพระรัตนตรัย ขณะอยู่ภายในพระอุโบสถ ทุกท่านจะสงบกายสงบวาจาและสำรวมจิต นอบน้อมสักการะ ในคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ นอบน้อมสักการะ ในคุณของพระธรรมเจ้า ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นอบน้อมสักการะในพระอริยสงฆเจ้าในพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่มีมาแล้วแต่อดีตจนปัจจุบัน และจะพึงบังเกิดมีในมนุษยภูมิ เทวภูมิ พรหมภูมิ มีชั้นสุทธาวาสเป็นที่สุด พร้อมทั้งอัญเชิญเทพพรหมเทวา กระทำกิจอนุโมทนาการถวายกฐิน อันเป็นอริยประเพณีมีมาแต่ครั้งพุทธกาล พร้อมกล่าวคำอัญเชิญ เป็นภาคภาษาธรรมพร้อมกัน ดังนี้

    คำชุมนุมเทวดา
    สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง, ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ
    ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา, อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ ฯ
    สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน,
    ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต,
    ภุมมาจายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา,
    ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ ฯ
    ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา,
    ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา,
    ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ฯ

    คำบูชาพระรัตนตรัย
    โย โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ,
    สวากขาโต เยนะ ภะคะวะตา ธัมโม,
    สุปะฏิปันโน ยัสสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
    ตัมมะยัง ภะคะวันตัง สะธัมมัง สะสังฆัง, อิเมหิ สักกาเรหิ ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ อะภิปูชะยามะ,

    สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ปัจฉิมาชะนะตานุกัมปะมานะสา, อิเม สักกาเร ทุคคะตะปัณณาการะภูเต ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ,
     
  6. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ๖. การถวายผ้าพระประธาน เนื่องด้วยในสมัยพุทธกาล ขณะเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธอุปัฏฐากพระมหาอานนทเถระ ท่านได้ถวายการดูแลและถวายสิ่งของที่จะพึงมีให้ปรากฏสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และผ้าทั้งหลายมาถวาย เป็นผ้าห่ม ผ้าใช้ แด่พระบรมศาสดาอยู่เสมอมา การถวายผ้าพระประธานก็นับเนื่องจากพระอานนทเถระพุทธอนุชาในขณะนั้นท่านเป็นพระโสดาบันการกระทำของพระอริยบุคคล คือมีพระโสดาบันเป็นเบื้องต้น ท่านกระทำหนึ่งกิจใดแล้ว สิ่งที่กระทำนั้นย่อมเป็น "อริยบูชา" หรือเป็น "อริยประเพณี"
    ดังนั้นการถวายผ้าพระประธาน การบูชาข้าวพระพุทธได้เกิดสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็เนื่องด้วยพระอานนทเถระ เป็น "ปฐมเหตุ" ด้วยเหตุนั้น เราท่านทั้งหลาย การน้อมนำผ้าถวายพระประธานและพระอัครสาวกทั้งสองหรือการน้อมนำถวายข้าวพระพุทธ ขอให้นึกย้อนไปในอดีตสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราปฏิบัติตามอริยประเพณี เราท่านทั้งหลาย ได้กระทำสมบูรณ์แล้วด้วยเหตุและปัจจัย อันเป็นบาทฐานแห่ง มัคค ผล และพระนิพพาน
     
  7. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ๗. พิธีถวายกฐิน การทำพิธีถวายกฐินดังนี้
    คำอาราธนาศีล ๕
    (นำ) มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
    ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
    ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ

    พระภิกษุให้ศีล ๕
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ, (๓ ครั้ง)
    (ฆราวาสกล่าวตาม ๓ ครั้ง)
    ปาณาติปาตา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
    อะทินนาทานา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
    กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
    มุสาวาทา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
    สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
    อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ, สีเลนะ สุคะติง ยันติ,
    สีเลนะ โภคะสัมปะทา, สีเลนะ นิพพุติง ยันติ,
    ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
    ฆราวาสกล่าว สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ พร้อมกัน และกล่าวว่า นิพพานัง ปะระมัง สุขัง.
    (กราบและกล่าว ๓ ครั้ง)

    จากนั้นผู้นำการถวาย กล่าวถึงมูลเหตุการทอดกฐินว่าบังเกิดมีขึ้นได้อย่างไร (ตามข้อมูลปฐมเหตุการทอดกฐิน)
    บัดนี้ท่านทั้งหลาย ได้มีโอกาสสร้างบุญมหากุศลไว้ในเขตบุญของพระพุทธศาสนา ในการทอดกฐิน อันมีอานิสงส์สำคัญยิ่ง การทอดกฐินเป็นการสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ให้ได้รับอานิสงส์อันยิ่ง ๕ ประการ (อานิสงส์ กฐิน ๕ ประการ) เราท่านทั้งหลายได้มาที่วัดที่พระภิกษุสงฆ์ จำพรรษาได้ถูกต้องตามพุทธวินัย ขอทุกท่านได้เกิดความปลื้มปิติอนุโมทนาว่า สิ่งที่ท่านได้กระทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ไม่มีสิ่งที่เป็นอกุศลมารบกวน ไม่ว่าจะเป็นกฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง ที่จะทำให้กฐินเดาะ ไม่มีสุรายาเมา ไม่มีการฆ่าสัตว์ ไม่มีการดุด่าโกรธเคืองกัน กฐินของเราท่านทั้งหลาย ครบถ้วนบริบูรณ์ บริสุทธิ์ผุดผ่องสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง ขอทุกท่านได้สมาทานน้อมใจอธิษฐาน ตั้งความปรารถนาตามที่ได้ตั้งใจมาแล้วที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาให้เป็นไป เพื่อมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
    (ท่านผู้อัญเชิญผ้ากฐิน และผ้าจำนำพรรษาอาจยืนหรือนั่งก็ได้เพื่อกล่าวคำอธิษฐานธรรม)

    คำกล่าวนอบน้อมพระพุทธเจ้า
    (นำ) หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะภาคะนะมะการัง กะโรมะ เส ฯ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า,
    พระองค์นั้น,
    อะระหะโต, ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส,
    สัมมาสัมพุทธัสสะ, ตรัสรู้ชอบได้ โดยพระองค์เอง,
    (กล่าว ๓ ครั้ง)

    คำกล่าวอธิษฐานธรรม
    (นำกล่าวและทุกท่านกล่าวตาม)
    อัปมาโน พุทโธ คุณของพระพุทธเจ้า ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ
    อุปมาโน ธัมโม คุณของพระธรรมเจ้า ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ
    อุปมาโน สังโฆ คุณของพระอริยสงฆเจ้า ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ

    ด้วยอานิสังสทาน ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญ ณ โอกาสบัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าและสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ จงถึง มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
    สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง
    นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
    ทุติยัมปิ สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง
    นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
    ตะติยัมปิ สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง
    นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
    ขอทุกท่าน ตั้งใจมั่นในการถวายกฐิน ถวายผ้าให้พระภิกษุสงฆ์ ได้ใช้เป็นไปตามพุทธานุญาตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

    คำถวายผ้ากฐิน
    อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ,
    โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภัณเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง,
    กะฐินะจีวะระทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตวา จะ,
    อิมินา, ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง,
    ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ,
    นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ.

    คำแปล
    ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
    ครั้นรับแล้ว ขอพระสงฆ์จงกรานกฐิน ด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ถึงซึ่งมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาลชาตินี้ เทอญ ฯ

    คำถวายผ้าจำนำพรรษา
    อิมานิ มะยัง ภันเต, วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ, สะปะริวารานิ,
    ภิกขุสังฆัสสะ, โอโนชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ,
    อิมานิ วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุ, อาทีนัญจะ, ญาติ มิตตานัญจะ, ราชานัญจะ, เปตานัญจะ, เทวะตานัญจะ, สัพพะสัตตานัญจะ, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ.

    คำแปล
    ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ถึงซึ่ง มัคค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาล ชาตินี้ เทอญ.
    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

    เจ้าภาพกฐินถวาย "ผ้ากฐิน" แก่พระภิกษุ โดยนำถวายตั้งไว้พระภิกษุสงฆ์จะนำไปกระทำพิธี "อุปโลกน์กฐินและกรานกฐิน" อันเป็น "สังฆกรรม" ถูกต้องตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า
    เมื่อพระภิกษุสงฆ์เสร็จพิธีในการกรานกฐิน เรียบร้อยแล้ว คณะจึงถวายผ้าจำนำพรรษา และพระภิกษุสงฆ์จะถอนจีวรเก่าและพินทุอธิษฐานผ้าพร้อมกัน พร้อมทั้งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ครองผ้าจีวรใหม่ทันที เพื่อเจ้าภาพจะได้อานิสงส์ ในทันใด
     
  8. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ๘. พระภิกษุสงฆ์ทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถ พร้อมมาลาพุทธบูชา เมื่อพระภิกษุสงฆ์ครองผ้าจีวรเรียบร้อยแล้ว ได้ทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถพร้อมมาลาพุทธบูชา ๓ รอบ แล้วนำมาลาสักการะบูชาคุณพระรัตนตรัย ภายในพระอุโบสถ

    ๙. คณะศรัทธาถวายเครื่องบริวารกฐิน คณะศรัทธาน้อมนำเครื่องบริวารกฐินทั้งหมด ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในเขตบุญพระพุทธศาสนา ด้วยจิตใจเบิกบานผ่องใส

    ๑๐. การแสดงธรรมของพระภิกษุสงฆ์มีอานิสงส์ใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ถวายสักการะบูชาพระรัตนตรัยเรียบร้อยแล้ว ท่านจะมีสัมโมทนียกถา พร้อมทั้งกล่าวแสดงธรรมด้วย ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง .....
    ห้วงน้ำย่อมยังมหาสมุทรให้เต็มได้ฉันใด....
    คณะเจ้าภาพกฐินควรตั้งใจสดับธรรม ขณะพระสงฆ์กล่าวแสดงธรรม "ยะถา" ยังมิใช่วารกาลกรวดน้ำ และไม่ควรกล่าวธรรมอื่นใด พร้อมพระภิกษุ เพราะพระธรรมเป็นธรรมให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล การตั้งใจฟังธรรมเป็นเหตุให้มีการบรรลุธรรม เมื่อจบพิธีสงฆ์แล้ว ให้ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศกุศลด้วยบทธรรมกรวดน้ำอัปปมัญญา (ดังข้อ ๑๓)
    เรื่องของอำมาตย์ ๒ ท่าน จากพระสูตร และอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๒ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่ม ๑๔/๙๑ น. ๔๖ - ๔๙ ดังความว่า
    สมัยหนึ่ง ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทมาถึงพระเชตวัน เมืองสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงนิมนต์มาถวายทาน พระราชาถวายทานติดต่อกัน ๗ วัน ด้วยมหาทานอันยิ่งใหญ่ ในวันที่ ๗ พระราชาทรงถวายบังคมแล้วกราบทูลพระทศพลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด" ในบริษัทนั้น มีอำมาตย์ ๒ ท่าน คือท่านกาฬะ และท่านชุณหะ ฝ่ายท่าน กาฬะ คิดอกุศลว่า "สมบัติของราชตระกูลจะฉิบหาย" ส่วนท่านชุณหะ คิดเป็นกุศลว่า "ความเป็นพระราชานี้ยิ่งใหญ่ ใครอื่นจะทำสิ่งเหล่านี้ได้" เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรวจดูอัธยาศัยของบริษัทก็ทรงทราบอัธยาศัยของอำมาตย์ทั้งสองท่าน ทรงพระดำริว่า "ถ้าตถาคตจะแสดงธรรมตาม อัธยาศัยของชุณหะในวันนี้ ศีรษะของกาฬะจักแตกเป็น ๗ เสี่ยง ตถาคตบำเพ็ญบารมีมาด้วย ความสงสารสัตว์ แม้ในวันอื่น เมื่อตถาคตแสดงธรรม ชุณหะ ก็คงจักแทงตลอด มัคคผล สำหรับวันนี้ จักเห็นแก่กาฬะ" (เป็นการแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณของพระพุทธองค์) ทรงตรัสคาถา ๔ บท แก่พระราชาว่า
    พวกคนตระหนี่ จะไปเทวโลกไม่ได้
    พวกคนโง่ จะไม่สรรเสริญทานเลย
    แต่นักปราชญ์ พลอยยินดีตามทาน
    เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงมีความสุขในโลกหน้า
    พระราชาได้รับฟังธรรมเพียงเล็กน้อย ไม่พอกับพระราชหฤทัยประสงค์ทรงข้องพระทัย ภายหลังเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว เสด็จไปถวายอภิวาท และทูลถามพระบรมศาสดา ถึงสาเหตุที่ทรงแสดงธรรมเพียง ๔ บท แก่พระองค์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ได้ถวายมหาทานถึง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกความปริวิตกของอำมาตย์ กาฬะ พระราชาตรัสถามกาฬะว่า "เธอเดือดร้อนอะไรด้วยเล่าในการถวายทานของพระองค์" จากนั้นตรัสเรียกชุณหะ มาถามความจริง และทรงประทานทรัพย์จากพระราชวังให้อำมาตย์ชุณหะ ถวายทานดุจราชาเป็นเวลา ๗ วัน อย่างที่พระองค์ถวาย ครั้นถวายเสร็จแล้วในวันที่ ๗ พระราชากราบทูลพระพุทธองค์โปรดแสดงธรรมแก่พระองค์
    พระบรมศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาทาน แม้ทั้งสองครั้งให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนทรงกระทำแม่น้ำใหญ่สองสายให้เต็มด้วยห้วงน้ำเดียวกัน ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านอำมาตย์ชุณหะ ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล พระราชาทรงเลื่อมใส ทรงถวายผ้าชื่อ "ปาวาย" แด่พระทศพล พึงทราบว่าก็ลาภสำเร็จยิ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ด้วยอาการอย่างนี้
    จบการให้พร (แสดงพระธรรมเทศนา) ของพระภิกษุสงฆ์ แล้วคณะเจ้าภาพกฐิน รับด้วย สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ พร้อมกราบสักการะพระภิกษุสงฆ์พร้อมกัน




    ๑๒. กราบบูชาคุณพระรัตนตรัย อีกครั้ง

    ๑๓. กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลเป็นอัปปมัญญา ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ ไปสู่สัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ อันประกอบด้วย เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และสัตว์เดรัจฉาน

    คำกรวดน้ำอัปปมัญญา
    ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิ กะตานิ เม
    เตสัญจะภาคิโน โหนตุ สัตตานันตาป ปะมาณะกา
    สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
    จงมีส่วนแห่งบุญ ที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ และแห่งบุญอื่น
    ที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว และจงเป็นพลวปัจจัย ให้ทุกท่าน
    ถึงซึ่ง มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
    โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาลชาตินี้ เทอญ

    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
     
  9. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    ๑๔. อัญเชิญเทพพรหมเทวากลับทิพยวิมาน
    เทวะตาอุยยะ โยชะนะคาถา
    ทุกขัปปัตตา จะ นิททุกขา, ภะยัปปัตตา จะ นิพภะยา
    โสกัปปัตตา จะ นิสโสกา, โหนตุ สัพเพปิ ปาณิโน,
    เอตตา วะตา จะ อัมเหหิ, สัมภะตัง ปุญญะสัมปะทัง,
    สัพเพ เทวานุโมทันตุ, สัพพะสัม ปัตติสิทธิยา,
    ทานัง ทะทันตุ สัทธายะ, สีลัง รักขันตุ สัพพะทา,
    ภาวะนาภิระตา โหนตุ, คัจฉันตุ เทวะตาคะตา,
    สัพเพ พุทธา พะลัปปัตตา, ปัจเจกานัญจะ ยัง พะลัง,
    อะระหัน ตานัญจะ เตเชนะ, รักขัง พันธา มิ สัพพะโส.

    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

    ๑๕. การอนุโมทนามหากุศลที่ได้บำเพ็ญมา ซึ่งกันและกัน ในวารกาลสุดท้าย เราท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญมหากุศล กฐินทานอันเป็นกาลทานถูกต้องตามพระธรรมวินัย มาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๓๐ ประการ (กายกรรม ๑๐ วจีกรรม ๑๐ มโนกรรม ๑๐) ทั้งบุพพเจตนา เจตนาก่อนกระทำ มุญจเจตนา เจตนาขณะกำลังกระทำและอปรเจตนา เจตนาภายหลังกระทำ เป็นไปในกระแสมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ และน้อมนำกระแสบุญไปยังสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ได้มีส่วนในมหากุศลอันเป็นทานมัยถูกต้องตามพุทธวินัย เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็เข้าสู่กระแสพุทธอริยะ สมควรที่เราท่านทั้งหลายควรเปล่งวาจาอนุโมทนามหาทานอันเป็นกระแสแห่งโลกุตตระ อนุโมทนาซึ่งกันและกันพร้อมสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ในวาระแห่งปัจฉิมกาลพร้อมกัน เทอญ
    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
     
  10. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    คำถวายผ้ากฐิน
    อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ,
    โอโณชะยามะ สาธุ โน ภัณเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง,
    กะฐินะจีวะระทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตวา จะ,
    อิมินา, ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง,
    ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ,
    นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
    (คำแปล)
    ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐิน ด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ถึงซึ่งมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันชาตินี้เทอญ
     
  11. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
  12. Siriwattano monk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,194
    ค่าพลัง:
    +1,337
    "สิงห์ชัยสถิตมงคล กฐิน ๕๘" เตรียมไว้มอบแก่ศรัทธาญาติโยมในวันงานทำบุญทอดกฐิน ๓๐ ตุลาคม นี้
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้