อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 10 พฤษภาคม 2012.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,611
    ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ

    ตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ จงอยู่ด้วยอานาปานสติ
    อย่างพระพุทธเจ้า
    จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน ดื่ม ขับถ่าย ทำครัว
    ทำความสะอาดบ้าน ขับรถ ทำงานทุกชนิด ให้อยู่กับอานาปานสติ
    เดินเล่น พักผ่อน ก็ทำอานาปานสติได้
    พูดได้ว่า ชีวิตทั้งหมดนี้ให้อยู่ด้วย อานาปานสติ

    เจริญอานาปานสติ เพื่อเป็นการรักษาใจให้เป็นปกติ ให้ใจเป็นศีล
    โดยเพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกติดต่อกันอย่าง
    ต่อเนื่องและอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลืม ไม่เผลอ แม้แต่ขณะที่เห็นรูป
    ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส

    การกำหนดรู้ต้องอาศัยจิตใจที่สงบ
    จึงจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
    ก่อนที่จะฝึกอานาปานสติ ต้องพยายามปล่อยวางความคิดต่างๆ
    พยายามทำใจให้นิ่ง ให้สงบเสียก่อน แม้จะเป็นความสงบเพียง
    ชั่วคราวก็ตาม

    อานาปานสติ ทำได้ในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
    ให้มีสติระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกติดต่อกัน
    โดยเฉพาะช่วงที่ปรารภความเพียรทำได้ 24 ชั่วโมง ในวันหนึ่ง
    ทีเดียว หรือเว้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น

    อานาปานสติ สามารถเจริญเป็น สมถกรรมฐาน ให้สมบูรณ์ได้
    อานาปานสติ สามารถเจริญเป็น วิปัสสนากรรมฐาน ให้
    สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ ได้

    ในอิริยาบถบางอย่างไม่สะดวกที่จะเจริญอานาปานสติ หรือ
    กำหนดรู้ลมหายใจ เช่น ขณะที่กำลังขับรถบนถนน บนทางด่วน
    เราไม่ต้องกังวล คือไม่ต้องระลึกถึงลมหายใจ แต่ให้อยู่ในหลัก
    อานาปานสติให้ครบถ้วนคือ

    ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด
    ปัจจุบัน เป็นสำคัญ
    เรื่อง อดีต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง
    เรื่อง อนาคต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง
    เรื่องคนอื่น ไม่สำคัญเท่าไร โดยเฉพาะความชั่วของคนอื่นอย่าแบก
    ตัวเราเองทำดี ทำถูก นั่นแหละ สำคัญที่สุด

    ขอให้ตั้งใจขับรถดีที่สุด อย่าให้เกิดอุบัติเหตุก็ใช้ได้
    ใครจะขับรถไม่ดี ไม่รักษากฎจราจร แซงตัดหน้าเรา เกือบชน
    เกือบมีอุบัติเหตุก็ตาม น่าโมโหอยู่ แต่ช่างมัน
    เรื่องความชั่วของเขา อย่าให้เราเกิดโมโห อย่าให้ใจเสีย
    อย่าให้เกิดอุบัติเหตุ
    รักษาใจเป็นปกติ ใจดี แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

    เมื่อเราเจริญอานาปานสติเป็นประจำ เราจะมีสติตลอดเวลา
    สามารถจัดการกับงานหลายอย่างที่เร่งรัดเข้ามาในเวลาเดียวกันได้
    เพราะเมื่อรู้สึกวุ่นวาย สติจะกำกับให้กลับมาที่ลมหายใจทันที
    โดยอัตโนมัติ จิตจะเริ่มสงบและรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
    ทีละอย่าง ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ไข หรือ จัดการกับงานเหล่านั้น
    ให้สำเร็จทีละอย่าง และเมื่องานแล้วเสร็จ สติจะกำกับให้กลับมาที่
    ลมหายใจทันทีที่ว่างจากงาน เป็นการพักผ่อนด้วยอานาปานสติ

    ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ
    คือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี มีสุข



    หลวงพ่อชาอธิบายว่า
    “เมื่อใดที่เราระลึกรู้ลมหายใจ ก็เป็นอานาปานสติเมื่อนั้น”
    ลมหายใจนี้มีอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
    แม้ขณะหลับอยู่ก็มีลมหายใจ
    เฉพาะอานาปานสติขั้นที่ 4 เท่านั้น ที่ต้องระงับลมหายใจแล้วเข้าสู่ฌาน

    ในการปฏิบัติเราต้องอาศัยอิริยาบถนั่งมากเป็นพิเศษ ทำให้
    หลายท่านพูดว่า การเจริญอานาปานสติทั้งในอิริยาบถ ยืน เดิน
    นอน นั้นผิดพุทธบัญญัติ ต้องเข้าป่าแล้วก็นั่งขัดสมาธิเท่านั้น
    แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วในอานาปานสติสูตรท่านก็ไม่เคยบอกว่าปฏิบัติ
    ไม่ได้ในอิริยาบถยืน เดิน นอน แต่ที่นั่งเจริญอานาปานสติ ก็เพราะ
    ว่าสะดวก ยิ่งอานาปานสติขั้นที่ 4 นั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะระงับ
    กายสังขาร เข้าฌาน ก็ต้องนั่ง

    การปฏิบัติในเบื้องต้น ให้พยายามรักษาความรู้สึกที่ดี หรือจิตที่
    เป็นกุศลเอาไว้ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้า - ออก ในทุกอิริยาบถ
    ยืน เดิน นั่ง นอน สำหรับบางคนอิริยาบถยืน เดิน อาจจะเหมาะสม
    กว่านั่ง แต่เมื่อจะฝึกเข้าฌานหรือวิปัสสนาขั้นละเอียด อิริยาบถนั่ง
    น่าจะเหมาะสมกว่า

    ในที่สุด กำลังสติปัญญา ก็ต้องเสมอกัน ในทุกอิริยาบถ
    ยืน เดิน นั่ง นอน เรียกว่า “อิริยาบถเสมอกัน”
    เป็นมหาสติ มหาปัญญา

    อิริยาบถยืน : ยืนอานาปานสติ

    ยืนอย่างสำรวม เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร ประมาณ 20 เซนติเมตร
    เพื่อยืนได้อย่างมั่นคง และเอามือขวาทับมือซ้าย วางลงที่หน้าท้อง
    เหมือนกับท่านั่ง เพื่อให้ดูเรียบร้อย แต่ถ้าอยู่คนเดียวจะปล่อยมือข้างๆ
    ตัวตามสบายๆ แบบโครงกระดูกที่ถูกแขวนไว้ก็ได้

    จากนั้นทอดสายตาให้ยาวพอดีๆ ประมาณเมตรครึ่ง แต่ไม่ให้จ้องอะไร
    กำหนดสายตาไว้ครึ่งๆ ระหว่างพื้นดินกับตัวของเราเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้
    ดูอะไรเป็นพิเศษนั่นเอง หรืออาจกำหนดดูที่ปลายจมูกก็ได้

    บางครั้งอาจจะกำหนดสายตาไว้ที่ที่สบายตา เช่น กำหนดที่
    สนามหญ้าสีเขียว ต้นไม้ ดอกไม้ หรือสระน้ำ แต่ไม่ให้คิดปรุงแต่ง
    เป็นเรื่องเป็นราว ถ้ารู้สึกมีอะไรเกะกะตาหรืออยู่ด้วยกันหลายคน
    อาจจะหลับตาก็ได้เหมือนกัน แต่ระวังอย่าให้ล้ม ต้องมีสติ ทรงตัวไว้ให้ดี

    หายใจจากทางเท้า

    หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ
    หายใจออกสบายๆ ปล่อยลมลงตามตัวทางเท้า

    หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ ตั้งกายตรง
    หายใจออก ปล่อยลมลงทางเท้า สบายๆ
    2 - 3 ครั้ง หรือ 3 - 4 ครั้ง
    หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ
    หลังจากนั้น หายใจสบายๆ ธรรมดาๆ
    แต่ส่งความรู้สึกให้มันถึงเท้าทุกครั้ง
    ทำความรู้สึกคล้ายกับว่า ลมเข้า ลมออก จากทางเท้า
    วิธีนี้ช่วยทำให้ ลมเข้า ลมออก ยาวขึ้น

    โอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาดูกายยืน
    ไม่ให้ส่งจิตคิดออกไปข้างนอก
    ให้มีความรู้ตัวชัดๆ ในการยืน ยืนเฉยๆ
    ทุกอย่างให้มันเป็นธรรมดาๆ
    ยืนสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง
    รู้ชัดว่ากายกำลังยืน รู้ชัดว่าลมหายใจปรากฏอยู่

    ลมหายใจปรากฏอยู่อย่างไรก็รับรู้ รับทราบ กำหนดรู้ ระลึกรู้เฉยๆ
    มีหลักอยู่ว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น

    การระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า คือ การรักษาใจไม่ให้
    ฟุ้งซ่าน ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ให้ติดอารมณ์

    การหายใจให้ปล่อยตามธรรมชาติและธรรมดาที่สุด สบายๆ ที่สุด
    กำหนดเบาๆ ให้พยายามมีความรู้สึกนิดหน่อยว่า มีลมเข้า มีลมออก
    ทุกครั้งไปเท่านั้น ถ้าสบาย สงบ มีความสุข แสดงว่า กำหนดได้ถูกต้อง

    ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วรู้สึกเหนื่อย เครียดและสับสน
    แสดงว่ากำหนดไม่ถูกต้อง ให้พิจารณาทบทวนใหม่

    อย่าบังคับลมหายใจมากมาย
    หายใจสบายๆ เป็นธรรมชาติที่สุด
    การส่งความรู้สึกหรือจิตไปถึงเท้า ก็เพื่อให้
    ลมหายใจค่อนข้างยาวขึ้นตามธรรมชาตินั่นเอง

    นี่เป็นวิธีการหายใจจากทางเท้า

    การฝึกระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นการฝึกเจริญสติ
    เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ เบาสบาย

    ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
    เป็นการตั้งเจตนาถูกต้อง

    เป็นการรักษาใจให้เป็นปกติ คือ ใจสงบ ใจเป็นศีล ศีลถึงใจ
    เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาปฏิปทา


    อิริยาบถเดิน : เดินอานาปานสติ

    การเดินที่ถูกต้อง คือ เดินอย่างธรรมดา
    เอากาย เอาใจ มาเดิน
    เมื่อกายกำลังเดิน ให้ใจเดินด้วยกัน
    ไม่ใช่ว่า เมื่อกายกำลังเดิน ใจคิดไปเที่ยวในอดีต อนาคต หรือ
    คิดเที่ยวไปทั่วโลก อย่าให้กายกับใจทะเลาะกัน อยู่คนละทิศ
    คนละทาง ให้กายกับใจสามัคคีกัน รักกัน อยู่ด้วยกัน
    ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดิน
    เดินให้ถูกต้องและเป็นธรรมชาติที่สุด

    ลักษณะการเดิน

    มีมากมายหลายวิธี แล้วแต่สำนักและครูบาอาจารย์
    - เดินช้าๆ ช้ามากๆ ชั่วโมงละ 10 - 40 เมตร ก็ได้
    - ค่อยๆ เดิน
    - เดินอย่างธรรมดา
    - เดินเร็ว
    - วิ่งก็มี

    โยมคนหนึ่งบอกอาจารย์ว่า หลวงพ่อใหญ่ (พระอาจารย์มั่น)
    เดินเร็วมาก ท่านเดินกลับไปกลับมาและเดินเร็วมาก

    วิธีกำหนดขณะที่เดิน

    มี 2 วิธีด้วยกัน คือ กำหนดที่กาย และกำหนดที่จิต

    วิธีกำหนดที่กาย คือ การตั้งใจเพ่งกำหนดดูการเคลื่อนไหวของเท้า
    เช่น เดินช้าๆ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ค่อยๆ เดิน
    พยายามกำหนดรู้ เท้าสัมผัสดิน หรือทำความรู้สึกอยู่ที่การก้าว
    ขวาก้าว ซ้ายก้าว บางทีก็ให้นึกก้าวขาขวาว่า พุท ก้าวขาซ้ายว่า โธ
    ขวาพุท ซ้ายโธ พุทโธๆ เป็นต้น

    วิธีกำหนดที่จิต ตั้งใจรักษาจิต หรือ พินิจพิจารณาในหัวข้อธรรม
    ต่างๆ ไม่ต้องกังวลในอิริยาบถยก ย่าง เหยียบ ฯลฯ เช่น พิจารณา
    ความตาย พิจารณาร่างกายเป็นอสุภะ หรือแยกออกเป็น ธาตุ 4
    เป็นต้น เดินธรรมดา หรือเดินเร็ว หรือ ช้าๆ แล้วแต่จริตนิสัย
    ของแต่ละบุคคล ไม่ต้องกังวลในเท้าที่เคลื่อนก้าวไป

    การฝึกอานาปานสติ จะกำหนดทั้งกายและจิตพร้อมกัน
    ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก คือ กาย
    จิตก็อยู่ที่ลมหายใจเฉพาะหน้า
    การกำหนดรู้ลมหายใจ จึงเป็นการตามดูจิต
    เป็นการรักษาจิตด้วย

    เดินจงกรม

    เราจะฝึกเดินจงกรมแบบธรรมชาติที่สุด
    ให้เดินธรรมดาๆ แต่ช้ากว่าปกตินิดหน่อย
    ขวาก้าว ซ้ายก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว
    เดินไปเรื่อยๆ นั่นแหละ คือเดินจงกรม
    เดินเฉยๆ ธรรมดาๆ แต่ให้มีอาการสำรวมระวังในการเดิน

    มีสติ ระลึกรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทุกครั้ง

    บางคนอาจจะไม่เคยชินกับการกำหนดลมหายใจขณะเดิน
    เพราะว่าความรู้สึกที่เท้ากำลังก้าวอยู่ ความรู้สึกที่ฝ่าเท้ากำลัง
    ถูกดิน ความรู้สึกตัวในการเดินเด่นชัดมากกว่าลมหายใจหลายเท่า
    หลายสิบเท่าก็เป็นได้ แต่ไม่ต้องสงสัยอะไร

    อะไรที่กำลังปรากฏอยู่โดยธรรมชาติ รับรู้ รับทราบหมด
    รู้ชัดว่ากายกำลังเดิน แต่เราไม่ทิ้งลมหายใจ
    ให้มีความพยายามที่จะกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
    รู้นิดหน่อยว่า ลมเข้า ลมออก เท่านั้น เบาขนาดไหนก็ช่างมัน
    แต่ให้มันรู้ติดต่อกัน

    เดินไป เดินมา เริ่มจะเมื่อยคอ เมื่อยหลัง หายใจเข้าลึกๆ 2 - 3 ครั้ง
    ยืดตัวหน่อยๆ เป็นระยะๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายความรู้สึก
    ทำให้เบาตัว สบายตัว เดินไปเรื่อยๆ
    ถ้าจิตไม่สงบ หยุดเดินก่อนก็ได้ หายใจเข้าลึกๆ 2 - 3 ครั้ง
    หรือนานพอสมควร จนกว่าจิตจะสงบเรียบร้อย
    ตั้งหลัก ตั้งสติ แล้วค่อยๆ เดินต่อไป

    เดินกำหนดอานาปานสติ เหมือนการยืนกำหนดอานาปานสติ
    ต่างกันเพียงการเคลื่อนไหวของกายเท่านั้น
    ไม่ว่าจะวิ่ง เดินเร็ว เดินธรรมดา เดินช้า หยุดอยู่คือ ยืน เรามีหน้าที่
    ระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกติดต่อกันเท่านั้น

    หาจุดสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ หายใจออกสบายๆ
    เป็นการเจริญสติที่จะระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
    เป็นการรักษาจิตใจให้เป็นปกติ
    เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ
    เบาสบาย หายใจสบายๆ กายสบาย ใจสบาย สบายๆ

    อานิสงส์ของการเดินจงกรม มี 5 อย่างคือ

    1. เป็นผู้ทนต่อความเพียร
    2. เป็นผู้ทนต่อการเดินไกล
    3. เป็นผู้มีการเจ็บไข้น้อย
    4. อาหารที่บริโภคเข้าไปย่อมย่อยง่าย
    5. สมาธิซึ่งได้ขณะเดินจงกรม ดำรงอยู่ได้นาน

    อิริยาบถนั่ง : นั่งกำหนดอานาปานสติ

    ใครเคยฝึกนั่งสมาธิในท่าไหน หรือถนัดนั่ง ก็ให้นั่งอย่างนั้น
    นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบกับพื้น หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ข้อสำคัญ
    อยู่ที่หลังตั้งตรง และไม่ควรพิงหลังกับสิ่งใด เพราะจะทำให้เกิด
    ความสบายมากไป ทำให้ง่วงนอนได้ง่าย

    โบราณาจารย์สอนไว้ว่า ลักษณะการนั่งที่เรียบร้อยนั้น ให้เอาขาขวา
    ทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง พอเหมาะ พอดี พองาม
    ไม่ให้เอียงขวา เอียงซ้าย ไม่ก้มหน้าเกินไป และไม่เงยหน้าเกินไป
    ให้เอาท่านั่งของพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง พยายามนั่งให้เรียบร้อย
    อย่างนั้น เมื่อใครได้เห็น ย่อมรู้สึกศรัทธา เกิดความชื่นอกชื่นใจด้วย

    สำหรับท่านั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
    คือ ท่าขัดสมาธิเพชร หรือ ขัดสมาธิ 2 ชั้น โบราณเรียกว่า
    ท่านั่งดอกบัว พระเซนในญี่ปุ่น หรือนักกรรมฐานในอินเดีย
    นิยมใช้ท่าดอกบัวนี้มาก

    การนั่งแบบดอกบัวนั้น ให้เหยียดขาทั้งสองออกไปก่อน ยกเท้าขวา
    เข้ามาวางบนต้นขาซ้ายแนบกับท้อง แล้วยกขาซ้ายขัดเข้ามาวางบน
    ต้นขาขวาให้แนบกับท้องเหมือนกัน ลักษณะมั่นคงเป็นสองชั้น
    คล้ายดอกบัว ถ้าฝึกนั่งมากๆ จนเคยชิน และสามารถนั่งได้นานๆ
    แล้ว ท่านี้จะเป็นท่าที่ดีที่สุด

    แต่ไม่ว่าจะเป็นท่าไหนก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า นั่งสบาย ตั้งกาย
    ได้ตรง มั่นคง และนั่งได้นาน โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการ
    ทรงตัวมากนัก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกกังวลทางกาย เพราะ
    การปฏิบัติงานทางจิตในสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเป็นงานที่
    ละเอียดสุขุม บางครั้งอาจจะเข้าลักษณะมีกาย แต่รู้สึกเหมือนไม่มี
    ให้พยายามฝึกปฏิบัติกันมากๆ ไม่ให้มีความกังวลต่อการนั่ง

    นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติให้มั่น หายใจเข้าลึกๆ ปล่อย
    ลมหายใจออก หายใจเข้าลึกๆ สุดๆ ยืดตัว แล้วก็ปล่อย ทำอยู่
    อย่างนี้ 2 - 3, 3 - 4 ครั้ง แล้วค่อยๆ ปล่อย หายใจสบายๆ ธรรมดาๆ
    รู้กายนั่ง รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำใจให้เรียบร้อย
    รู้ความรู้สึกเป็นปกติ
    นั่งสบายๆ หายใจสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง

    หายใจสบาย
    หายใจเข้า ให้เบาสบาย
    หายใจออก ให้เบาสบาย
    ไม่ต้องตั้งใจกำหนดลงไปที่ไหน
    ให้กำหนดเบาๆ สบายๆ ก่อน
    นั่งสบาย นั่งเฉยๆ ลมหายใจปรากฏอยู่ กำหนดเบาๆ
    ระลึกรู้อยู่เฉยๆ
    หายใจเข้า สบาย หายใจออก สบาย

    ถ้าคิดออกไปเรื่องอื่น พอรู้ตัว ให้รีบกลับมาที่
    ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
    ถ้าคิดอะไรมากไปหน่อย
    ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก สบาย
    หายใจเข้าลึกๆ หน่อย หายใจออก ปล่อย สบายๆ 3 - 4 ครั้ง
    แล้วปล่อยตามปกติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

    ถ้าง่วงนอนให้ลืมตา
    ให้มีสติในการนั่ง
    ทรงตัวในการนั่งเรียบร้อย
    ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการนั่ง

    ให้มีเจตนาในการหายใจเข้าลึกๆ หน่อย
    หายใจออก ปล่อยตามธรรมชาติ
    หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก หายใจเข้าลึกๆ
    ช่วยทำให้เพิ่มกำลัง นั่งได้ตรง ตื่นตัว ตื่นใจ
    ขับไล่ความง่วงนอน ความขี้เกียจออกไปได้

    ถ้ามีพลังมากไป
    กายร้อน ใจร้อน ตื่นเต้น
    หายใจออก ยาวๆ หน่อย
    หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ

    ให้มีเจตนาในการหายใจออกยาวๆ หน่อย
    หายใจเข้า ปล่อยตามสบาย
    หายใจออก ยาวๆ สบายๆ
    หายใจเข้า สบายๆ
    กำหนดรู้ลมหายใจออกสบาย ลมหายใจเข้าสบาย
    รักษาจิตให้เป็นปกติ รักษาความรู้สึกเป็นปกติ

    หลับตาหรือลืมตา

    โดยมากเราทั้งหลายมักเข้าใจกันว่า การนั่งสมาธิ คือการนั่งหลับตา
    แต่ถ้าเราสังเกตดูพระพุทธรูป มีองค์ไหนบ้างที่หลับตา ส่วนใหญ่
    แล้ว พระพุทธรูปจะอยู่ในท่านั่งแล้วลืมตาเล็กน้อยใช่ไหม สำหรับ
    พระในนิกายเซนที่ประเทศญี่ปุ่น เวลานั่งสมาธิท่านก็ห้ามหลับตา

    เวลานั่งสมาธิหลับตา อาจจะรู้สึกสงบและสบายก็จริง แต่นิวรณ์
    มักจะเข้ามาครอบงำจิตได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความง่วงเหงา
    หาวนอน หรือ ถีนมิทธะนิวรณ์
    ถ้าลืมตาให้มีแสงสว่างเข้าตาอยู่ตลอด จะสังเกตและจับความ
    ง่วงนอนได้ง่าย และจัดการขับไล่ได้สะดวก

    แต่หากมั่นใจว่าไม่ง่วงเหงาหาวนอนแน่ๆ จะหลับตาก็ได้เหมือนกัน
    ที่สุดของการทำสมาธิ คือ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เมื่อเห็นอะไร
    ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไรก็ตาม ให้ทำจิตตั้งมั่น เป็นสมาธินั่นแหละ


    อิริยาบถนอน : นอนกำหนดอานาปานสติ

    เราสามารถฝึกอานาปานสติในอิริยาบถนอนได้อย่างง่ายๆ สบายๆ
    โดยการนอนหงาย สบายๆ ธรรมดาๆ อิริยาบถคล้ายการยืน
    วางแขนลงข้างลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้นห่างจากกายพอสมควร
    ประมาณ 1 - 2 คืบ นอนเหยียดสบายๆ เหมือนคนตายที่ไม่รับรู้
    อะไร หากเราคุ้นเคยกับการนอนตะแคงก็สามารถทำได้เช่นกัน

    จากนั้นให้สำรวจร่างกายทั้งหมด โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา
    ผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายทุกส่วน ไม่ให้มีกล้ามเนื้อส่วนใด
    เกร็งอยู่เลย จนกระทั่งมีความรู้สึกตัวเบาเหมือนสำลี

    เวลาหายใจเข้า หายใจออก ให้กำหนดความรู้สึกเหมือนกับว่า
    หายใจเข้า หายใจออก ทางเท้า

    เมื่อหายใจออกให้กวาดเอาความรู้สึกที่ไม่ดี ความเครียด ความ
    กังวล ความรู้สึกเจ็บป่วย ไม่สบาย ทั้งทางกายและทางใจ ออกไป
    จากร่างกายให้หมด โดยหายใจให้ไกลออกไปจากเท้าหลายเมตรก็ได้

    เมื่อหายใจเข้า ตั้งสติไว้ที่เท้า ให้ความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ผ่านเข้า
    มาทางร่างกาย จนถึงใบหน้าและจมูก สุขภาพของใจจะดีขึ้นและ
    ทำให้อายุยืนไปด้วยพร้อมๆ กัน

    หายใจทางเท้าจะทำให้อายุยืน

    กายหายใจจากทางเท้า ถ้าทำได้ชำนาญจนเป็นปกติ สบายๆ
    แล้วลมหายใจจะค่อนข้างยาวขึ้น 2 - 3 เท่า ปกติคนทั่วไปหายใจ
    17 ครั้งต่อ 1 นาที ผู้ที่หายใจทางเท้าได้เป็นปกติจะหายใจได้ถึง
    5 - 6 ครั้งต่อ 1 นาที การหายใจยาวนี้ ช่วยทำให้จิตสงบ ร่างกาย
    ก็สงบสบาย ปล่อยวางร่างกายได้ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะสามัคคีกัน

    โรคเกิดจากอุปาทาน

    ทางการแพทย์ได้วิจัยว่า โรคต่างๆ ที่เราประสบอยู่ในโลกนี้
    ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจาก ความเครียด ความโกรธ อุปาทาน
    ความยึดมั่นถือมั่น ในโรคภัยต่างๆ ในความคิดที่เป็นฝ่ายทุกข์ก็ดี
    มีผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายมาก
    จิตอุปาทาน นั้นจะกีดกั้นระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิด
    โรคต่างๆ ถ้ามีโรคอยู่แล้วก็ทำให้แย่ลงอีก ถ้าไม่มีโรคก็ทำให้เกิดโรคได้

    ** พระองค์หนึ่งเข้าห้องกรรมฐาน ปิดวาจาอย่างพวกเราอย่างนี้
    นานหลายเดือน ไม่ต้องไปบิณฑบาต พระเณรจัดอาหาร
    เอามาถวายที่กุฏิ ไม่มีน้ำร้อน น้ำปานะ รอบๆ กุฏิเอาจีวรเก่าๆ
    ทำเป็นม่านปิดไว้ไม่ให้คนอื่นดูท่าน ท่านก็ไม่ต้องมองข้างนอก
    มองดูแต่ กาย เวทนา จิต ธรรมของตน ปฏิบัติกำหนดช้าๆ

    พระองค์นี้ท่านเป็นโรคกระเพาะ เจ็บท้องเป็นเดือนๆ วันหนึ่งๆ มี
    แต่กังวลเจ็บท้อง ภาวนาก็ไม่ขึ้น เมื่อออกพรรษา ก็ออกจากกุฏิ
    เดือนหนึ่งผ่านไป นึกขึ้นมาได้ว่า โรคกระเพาะหายไป ทั้งที่ยังไม่ได้
    รักษา ลืมไปไม่ได้นึกถึง ทั้งที่เคยเจ็บท้องเกือบทั้งวัน เป็นหลาย
    เดือนทีเดียว ทั้งนี้เพราะเมื่ออยู่ในห้องเฉยๆ จิตมีแต่อุปาทานเรื่อง
    โรคกระเพาะ คิดแต่ว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะอยู่อย่างนั้น

    ** โยมคนหนึ่งบอกว่า เมื่อถึงช่วงใกล้สอบลูกสาวจะถ่าย
    เป็นเลือด ความเครียดมันลงกระเพาะ จนกระเพาะทะลุ

    ** คนเรานี้มันแปลก อยู่ดีๆ ก็อยากจะไม่สบาย เพราะไม่อยากไป
    โรงเรียนก็มี ไม่อยากไปทำงานก็มี มีความรู้สึกผิดปกติอะไร
    นิดหน่อยก็ยึดมั่นถือมั่น จนไม่สบายไปจริงๆ ก็มี

    ** บางคนก็ทำร้ายร่างกายของตัวเอง เพื่อเรียกร้องความสนใจ
    ความเห็นใจ ความรัก จากคนอื่น ก็มี

    การหายใจทางเท้า หายใจเข้า - ออก ยาวๆ อย่างถูกวิธี ทำให้
    ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่มากพอ ถ่ายเทอากาศเสีย
    ออกจากร่างกายได้เต็มที่ ทำให้เรามีสุขภาพดี มีอายุยืน

    ที่มา::
     

แชร์หน้านี้

Loading...