อารมณ์อุเบกขา หรือ สังขารุเปกขาญาณ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 มีนาคม 2022.

  1. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ถาม : อารมณ์ที่นิ่ง ๆ เป็นอุเบกขาหรือเปล่า ?
    ตอบ : มีสองอย่าง อย่างแรกเป็นอุเบกขาในสมาธิระดับใดระดับหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์อทุกขมสุขเวทนา กำลังใจที่ไม่รับทั้งสุขและทุกข์

    ถาม : เป็นสังขารุเปกขาญาณหรือยัง ?
    ตอบ : อาจจะเป็นสังขารุเปกขาญาณก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าปัญญายังไม่ถึง บางทีก็เหมือนกับคนที่หมดสติไปเฉย ๆ ไม่รับรู้อะไร แล้วจะไปสุขไปทุกข์อะไรได้

    ถาม : อารมณ์จะนิ่ง ลงมากองที่แกนกลางของร่างกาย ดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ?
    ตอบ : ถ้าอย่างนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ เป็นอุเบกขาในสมาธิ

    ถาม : อยู่ ๆ ก็เป็นนะคะ มาเอง ?
    ตอบ : ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ แล้วเป็น แต่มีสาเหตุ บางทีเราลืมคิดย้อนไปว่า ก่อนที่จะเป็นอย่างนั้นเราคิดอย่างไร ? เราพูดอย่างไร ? เราทำอย่างไร ? ถ้าเราคิดย้อนกลับไปแล้ว สามารถย้อนได้ชัดเจนว่า เป็นเพราะเราคิด เราพูด เราทำอย่างไร ? ถ้าเราทำใหม่ ผลนั้นก็จะเกิดกับเราใหม่อีก

    พอเราซ้อมบ่อย ๆ ผลนั้นเกิดกับเราจนทรงตัว ก็ไม่ต้องไปชนกับ รัก โลภ โกรธ หลง เท่ากับว่าเราใส่เกราะไว้ ปลอดภัยหน่อย

    ถาม : เราก็มองทุกอย่าง เห็นทุกอย่าง รับรู้ทุกอย่างได้ตามปกติ ?
    ตอบ : ปกติ..ต่เราก็ไม่ไปแตะต้องด้วย ถ้าอะไรจำเป็นต้องแตะ เราก็คลายกำลังใจออกมาหน่อยหนึ่ง รับรู้ด้วยความระมัดระวัง พอรับรู้เสร็จหมดเรื่องก็ปิดทันที ไม่ยุ่งด้วยอีกแล้ว ก็จะปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าวันไหนเผลอให้เกราะหลุด ก็โดนเล่นงานไม่เลี้ยงเหมือนกัน

    ถาม : เราก็อยู่อย่างนี้ของเราเองได้ และเราก็รับรู้ทุกอย่างได้อย่างรอบตัว มีความคล่องตัว ?
    ตอบ : นั่นเป็นฌานใช้งาน ลักษณะของฌานใช้งาน ก็คือ คุณทรงสมาธิอยู่ แต่คุณก็สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นคนที่เพิ่งฝึก จะนั่งนิ่งอย่างเดียว ทำอย่างอื่นจะไม่เป็น

    ถาม : แล้วอย่างนี้คนที่เขาได้สังขารุเปกขาญาณ เกิดจากปัญญาที่เขาเห็น เขาไม่เอาอะไรแล้ว อารมณ์นี้จะไม่นิ่ง แต่จะเบา..?
    ตอบ : อารมณ์จะเบา..นิ่ง..จะไม่ยุ่งอะไร โดยที่มีปัญญารู้เห็นว่า ถ้าหากเราทำอย่างนี้ จะมีประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ จะมีโทษอย่างนี้ แล้วก็เลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นในด้านที่เป็นโทษ

    โดยเฉพาะถ้าถึงระดับนั้นจะรู้ละเอียดว่า ทำอย่างไรถึงจะออกมาดีที่สุด ความพอเหมาะพอดีจะมีอยู่ ก็จะเลือกทำในสิ่งที่พอเหมาะพอดีเท่านั้น บางอย่างเราอาจทุ่มกำลังไปเต็มร้อย หรือเกินไปร้อยยี่สิบ แต่บางอย่าง เราอาจจะใช้แค่หนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วแต่เหตุการณ์ ซึ่งตอนนั้นสภาพจิตจะรายงานว่าควรจะทำแค่ไหนจึงจะเหมาะ

    ถาม : ความเบาเกิดจากการที่เรา...?
    ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นสมาธิเราดีแค่ไหน ยกเว้นว่าเป็นสังขารุเปกขาญาณที่เกิดจากการยอมรับแล้วปล่อยวาง ถ้าอย่างนั้นจะเบาตลอดไป

    ถาม : จะเบาเป็นบางเรื่องหรือเปล่า ?
    ตอบ : ถ้าเบาได้ทุกเรื่องจึงเป็นของแท้ ถ้าเบาเป็นบางเรื่องก็เกิดจากสมาธิล้วน ๆ เลย

    ถาม : ถ้าเกิดจากสมาธิก็ทำให้เกิดปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาแท้ ?
    ตอบ : ยังไม่ยอมรับจริงก็ยังไม่ใช่ปัญญาแท้ ถ้ายอมรับจริงแล้วต้องยอมรับได้ทุกเรื่อง

    ถาม : แล้วเรายอมรับในบางเรื่อง เรื่องที่ยอมรับได้ก็จะยอมรับได้ไปตลอด ?
    ตอบ : ใช่..จนกว่าสติ สมาธิ ปัญญา จะก้าวล่วงไปในอีกระดับหนึ่ง พอไปอีกระดับหนึ่งก็จะปล่อยวางได้มากขึ้น เราก็เพิ่มระดับของเราไปเรื่อย ๆ

    ถาม : ตอนที่เราตกอยู่ในอารมณ์นิ่ง ๆ ที่ท่านบอกว่าเป็นอุเบกขา จะเกิดเป็นพัก ๆ เราจะรู้สึกนิ่ง ๆ เหมือนกับเราโผล่มาจากพลาสติกอะไรสักอย่างที่กดเราอยู่ พอเราโผล่มา จะรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ความรู้สึกว่า โลกนี้เราไม่เอาอะไรสักอย่าง นั่นคือปัญญาหรือคะ ?
    ตอบ : เป็นปัญญาที่เกิดจากสมาธิของเรา ที่นิ่งอยู่ในระยะเวลาที่ยาวนานพอ ความสะอาดของจิตจะมี พอคลายจากสมาธินั้น ปัญญาจึงเกิด เห็นชัดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เหมาะกับเราแล้ว เราไม่ได้มีความปรารถนา ไม่ได้มีความต้องการอีกแล้ว

    อย่าลืมว่าศีลทำให้เกิดสมาธิ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาจะไปคุมศีลกับสมาธิอีกทีหนึ่ง คราวนี้เราอยู่ในลักษณะนิ่งก็คือ เป็นอุเบกขาในฌาน ในเมื่อเราทรงสมาธิในระดับที่ยาวนานพอ กิเลสถูกกดนิ่งไประยะหนึ่ง ความสะอาดของจิตก็มี พอเราโผล่ขึ้นมาจากสมาธิก็คือคลายออกมา ที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า ให้คลายออกมาแล้วพิจารณา

    พอของเราคลายออกมาแล้วสภาพจิตบอกตัวเองเลยว่า เราไม่เอาแล้ว อย่างนี้ไม่ต้องพิจารณาแล้ว เห็นชัดแล้วว่าไม่ดีแน่ เราไม่เอา แต่ว่าก็เกิดจากการที่เราตอกย้ำของเก่าซ้ำแล้วซ้ำอีกมาจนนับครั้งไม่ถ้วน จึงเป็นปัญญาที่เริ่มคิดเองได้ว่า ไม่เอาแล้ว

    ถ้าเราทำบ่อย ๆ จิตใจปลดวางได้จริง ๆ ต่อไปใจจะไม่เอาอะไร ก็จะเบาสบายไปตลอด

    ถาม : จำอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เอานี้ได้ ?
    ตอบ : จำได้แล้วก็เริ่มทำใหม่และรักษาเอาไว้ให้ดี

    ถาม : หนูข้ามขั้นได้ไหมคะ ?
    ตอบ : ถ้าสามารถทรงได้เลยก็ข้ามไปได้ สำคัญที่ว่าพอถึงเวลาแล้วจะใช่จริงหรือเปล่า ?

    ถาม : แล้วความรู้สึกที่เป็นสังขารุเปกขาญาณละคะ คือความรู้สึกที่เราหยุดแล้ว ?
    ตอบ : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอะไรก็ไม่ปรุงแต่งแล้ว จึงจะเป็นสังขารุเปกขาญาณ

    ถาม : ได้เป็นช่วง ๆ ?
    ตอบ : ไม่เป็นไร จะได้เป็นช่วงช่วง เป็นหลินฮุ่ยหรือเป็นหลินปิง ก็ขอให้ได้..!

    ถาม : แล้วต่างอย่างไรกับการที่เราได้รับการกระทบแล้วไม่ปรุงแต่งต่อ คือไม่รู้สึกอะไรเลยหรือคะ ? สมมติเราได้ยินอะไรมา อาจจะเป็นคำพูดที่เขาพูดมา แล้วเราไม่ปรุงแต่งกับคำพูดเขา คือ เราไม่รับรู้ถึงคำพูดที่เขาพูดมา เป็นความรู้สึกแบบไหนหรือคะ ?
    ตอบ : ต้องสังเกตตัวเราเองว่า ตอนนั้นเป็นเพราะทรงสมาธิทรงอยู่หรือเปล่า ? ถ้าเราทรงสมาธิอยู่ กำลังสมาธิจะกัน รัก โลภ โกรธ หลง ไม่ให้เข้ามาได้ แต่ว่ากันได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าหลังจากนั้นเราเก็บเอาไปคิดใหม่ ก็แปลว่าตอนนั้น เป็นอารมณ์ที่เกิดจากอำนาจสมาธิที่กั้นไว้จริง ๆ

    แต่ถ้าเป็นสังขารุเปกขาญาณ จิตจะไม่คิดต่อ สักแต่ว่าได้ยินเฉย ๆ รู้อยู่ว่าเขาว่าอะไร แต่ใจก็ช่างมัน ไม่ได้รับเข้ามาเลย ก็แค่นั้น ต้องสังเกตเอง

    ถาม : จะใช่อารมณ์ที่ว่าเราโตแล้ว เราเห็นเด็กเล่นกันอะไรอย่างนี้ เด็กจะทำอะไรของเขาก็แล้วแต่เรื่องของเด็ก ประมาณนี้หรือเปล่าคะ ?
    ตอบ : คล้าย ๆ อย่างนั้น เราหมดสนุกแล้ว เบื่อแล้ว ไม่อยากจะไปเล่นด้วยแล้ว

    __________________
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    ที่มา: https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2447&page=3
    #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #หลวงพ่อเล็ก
    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนา #watthakhanun
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้