อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่ง "กรรม"

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 9 กันยายน 2006.

  1. rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    ทำกรรมดี ย่อมเกิดผลดี

    ทำดีย่อมเกิดผลดี ทำไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี

    อันกรรมหรือการกระทำนั้น แม้ได้กระทำลงไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการพูดหรือการประกอบกระทำก็ตาม จักแก้กลับคืนไม่ได้ ทำแล้วก็เป็นอันทำแล้ว ผลย่อมเกิดตามมาอย่างแน่นอน ทำดีย่อมเกิดผลดี ทำไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี

    ทำดีไม่ได้ดี เพราะมีกรรมเก่าที่ไม่ดีกำลังส่งผล

    ที่ชอบกล่าวกันพร่ำเพรื่อในยุคนี้สมัยนี้ว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำไม่ดีกลับได้ดีนั้น แม้จะให้ถูกต้องควรต้องขยายความให้ยาวออกไปด้วย เช่นว่า ทำดีไม่ได้ดี เพราะมีกรรมเก่าที่ไม่กำลังส่งผล ทำไม่ดีกลับได้ดี เพราะมีกรรมเก่าที่ดีกำลังส่งผล
    แม้กล่าวขยายให้สมบูรณ์ดังนี้ ก็จะได้ความเข้าใจในเรื่องผลของกรรมชัดเจนถูกต้องขึ้น คือกรรมนั้นแม้ทำแล้ววันหนึ่งต้องให้ผล จนสามารถทำให้กรรมปัจจุบันต้องส่งผลช้าไปได้ คือ กรรมดีในปัจจุบันไม่อาจส่งผลดีได้ทันที เมื่อมีผลกรรมไม่ดีในอดีตแรงกว่า หรือกรรมไม่ดีในปัจจุบัน ไม่อาจส่งผลไม่ดีได้ทันที เมื่อมีผลของกรรมดีในอนาคตแรงกว่า

    แม้เชื่อในเรื่องกรรมเพียงไร ทิฐิที่ไม่ชอบก็อาจพาให้ทำกรรมไม่ดีได้

    เมื่อเชื่อเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมแล้ว ก็ต้องเชื่อในเรื่องทิฐิคือความเห็นด้วย ไม่เช่นนั้น แม้เชื่อในเรื่องกรรมเพียงไร ทิฐิที่ไม่ชอบก็อาจพาให้ทำกรรมไม่ดีได้ โดยมิจฉาทิฐินำให้เห็นกรรมดีเป็นกรรมไม่ดี กรรมไม่ดีเป็นกรรมดี
    แต่การจะรู้ว่าคนมีทิฐิอย่างไร สัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิ ก็เป็นการยาก ต้องอาสัญปัญญาที่ประณีตในการพิจารณาต้องรอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ไม่มีการหลงตัวลืมตัวแอบแฝงอยู่ในจิตใจ ไม่มีตัณหาอุปาทานรุนแรง แม้ว่ายังมีอยู่ตามวิสัยของผู้ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ยังเป็นปุถุชน

    กรรมทั้งปวงของแต่ละคน ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งจิตใจ

    อันการประกอบกระทำกรรมทั้งปวงของแต่ละคน ย่อมเป็นไปตามอำนาจใจ ดังที่ท่านกล่าวใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ แต่ใจนั้นก็เป็นไปตามพลังสอง พลังหนึ่งเป็นพลังของกิเลส โลภ โกรธ หลง อีกหลังหนึ่งเป็นพลังของเหตุผล
    พลังของกิเลสเป็นพลังที่ทำให้มืดมัว เป็นความโฉดเขลาเบาปัญญา
    พลังของเหตุผล เป็นพลังที่ทำให้แจ่มใสสว่าง เป็นความมีปัญญาเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง
    ถ้าใจตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสมาก ก็มืดมัวมาก เบาปัญญามาก
    ถ้าใจมีพลังเหตุผลมากก็มีความสว่างแจ่มใสมาก ปัญญามาก

    สติที่เข้มแข็ง ตั้งมั่น สามารถชนะความคิดที่จะก่อกรรมไม่ดีได้

    อย่างไรก็ตาม สติมีความสำคัญที่สุด สติมีหน้าที่ตัดสินว่าจะให้กิเลสชนะเหตุผล หรือจะให้เหตุผลชนะกิเลส
    ถ้าสติอ่อน ไม่ตั้งมั่นอยู่ ก็จะยอมให้กิเลสชนะเหตุผล คือ กิเลสจะครองใจยิ่งกว่าเหตุผล ชื่อว่าเชื่อกิเลสยิ่งกว่าเชื่อเหตุผล
    ถ้าสติเข้มแข็งตั้งมั่นอยู่ ก็จะไม่ยอมให้กิเลสชนะเหตุผล คือ เหตุผลจะครองใจยิ่งกว่ากิเลส ชื่อว่าเชื่อเหตุผลยิ่งกว่ากิเลส เป็นผู้ใช้เหตุผลยิ่งกว่าเป็นผู้ให้กิเลสใช้

    สัมมาทิฐิ : ความเห็นชอบ ปัญญาอันนำมาซึ่งความพ้นทุกข์สิ้นเชิง

    สำคัญที่สุดในมรรคมีองค์ 8 ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ อันเป็นปัญญายิ่ง
    ความเห็นขอบ คือ ความเห็นตัวด้วยปัญญา ว่าผลทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่ก่อเหตุ...ไม่เกิดผล ดับเหตุได้ก็ดับผลได้ ปรารถนาให้ผลดับแต่ไม่ดับเหตุ ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา ปรารถนาผลดีไม่ก่อเหตุดี ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา
    เมื่อมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบดังนี้อย่างหนักแน่น ย่อมมีความดำริชอบตามมาที่จะปฏิบัติเพื่อดับเหตุไม่ดีทั้งปวง เพื่อให้ผลไม่ดีทั้งปวงดับไปด้วย
    ความดำริชอบ จะดำริให้มีวาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ การปฏิบัติชอบดังกล่าวทุกประการ จักเป็นเหตุให้เป็นไปตามทางของความเห็นชอบ ดับเหตุไม่ดีทั้งปวงได้ นั่นก็คือทำผลไม่ดีทั้งปวงให้ดับได้ ที่สำคัญสุดยอดคือความสามารถดับเหตุแห่งความทุกข์ได้ ทำให้ความทุกข์ทั้งปวงดับได้ ได้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปได้

    ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น

    ทุกคนมีความรู้แน่อยู่แก่ใจ ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น นับว่าทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่ แต่แทบทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่ไม่เห็นค่า ไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้ จึงมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย จึงเหมือนไม่รู้ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง จึงเหมือนเป็นสิ่งไม่มีค่าไม่มีประโยชน์
    ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เป็นสิ่งเป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้สำคัญนี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามารถนำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ใดอาจเปรียบปานได้
    เพื่อเสริมส่งความรู้นี้ให้บังเกิดคุณ บังเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาทั้งหลายท่านจึงสอนให้หัดตายเสียก่อนถึงเวลาตายจริง ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ อย่างน้อยก็ควรวันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 5 นาที 10 นาที เป็นอย่างน้อย


    ที่มา ธรรมจักร
     

แชร์หน้านี้