เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 8 ตุลาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การแต่งตั้งท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร

    [​IMG]


    ท่านพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นศิษย์วัดไหน และสาเหตุที่พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้รับอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม?

    เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาเล่าไว้หลายครั้งหลายคราวและหลายปี ว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมและอบรมกัมมัฏฐานระยะที่ 2 ของพระอาจารย์ทั้ง 3 รูปนั้น ท่านได้มาศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส เป็นพระอาจารย์ แต่ทำไมท่านพระอาจารย์ทั้ง 3 รูป ไม่พักที่วัดบรมนิวาส แต่มาพักที่วัดปทุมวนาราม หรือวัดสระปทุม ปทุมวัน ทั้งนี้เพราะทั้ง 3 รูปมีความผูกพันกับวัดปทุมวนาราม

    วัดปทุมวนารามนี้เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็นต้นวงศ์คณะธรรมยุต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2400 พร้อมทั้งได้ทรงอาราธนาเจ้าอธิการก่ำ จากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระองค์สมัยที่ทรงผนวช มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนาที่ พระครูปทุมธรรมธาดา มีพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารจำนวนหนึ่ง เป็นพระอนุจรมาจำพรรษาด้วย

    พระอารามแห่งนี้อยู่ภายนอกพระนคร สถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจ้าอาวาสรูปแรกและรูปต่อๆ มา มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร มีเฉพาะท่านเจ้าอาวาสรูปที่ 6 คือ พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เท่านั้นที่เป็นชาวกรุงเทพมหานคร

    ก่อนอุปสมบท พระธรรมปาโมกข์ท่านเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านเป็นนักเรียนของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรุ่นแรก ท่านออกบวชในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระเดชพระคุณมีชื่อคล้ายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และท่านได้ติดตามพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ที่ภาคเหนือ และประเทศพม่า

    ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส ได้ออกไปเรียนวิปัสสนาอยู่กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม และได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดปทุมวนารามใน พ.ศ.2439

    ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม รูปที่ 3 เมื่อก่อนพระคุณท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมวิโรจน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงพบท่านเจ้าคุณพระธรรมวิโรจน์ (สิงห์) ทรงเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ เพราะพระคุณท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงทรงอาราธนาให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม เพราะท่านพระครูปทุมธรรมธาดา (สิงห์ อคฺคธมฺโม) เจ้าอาวาสรูปที่ 2 มรณภาพ วัดยังว่างเจ้าอาวาส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนา ที่พระปัญญาพิศาลเถร พร้อมทั้งพระราชทานพัดงาสาน เป็นพัดยศสมณศักดิ์

    พัดงาสานนี้ พระราชทานเฉพาะพระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ซึ่งได้รับพระราชทานมี 4 รูป คือ

    1. พระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสรูปที่ 3

    2. พระวิสุทธิญาณเถร (ผิว) เจ้าอาวาสรูปที่ 4

    3. พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสรูปที่ 5

    4. พระธรรมปาโมกข์ (พระปัญญาพิศาลเถร บุญมั่น มนฺตาสโย) เจ้าอาวาสรูปที่ 6

    หลังจากที่ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (บุญมั่น มนฺตาสโย) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชในราชทินนามเดิม จึงคืนพัดยศงาสานเล่มนั้นไปที่กรมการศาสนา หลังจากนั้นมา พัดงาสานก็ไม่ได้อยู่ที่วัดปทุมวนารามอีกเลย

    พระอาจารย์ทั้ง 3 จึงถือว่าเคยอยู่สำนักวัดปทุมวนาราม แม้แต่บทนิพนธ์ขันธะวิมุตติสมังคีธรรมะ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเขียนขึ้น ก็ยังใช้คำว่า "พระภูริทัตโต (หมั่น) วัดสระประทุมวัน เป็นผู้แต่ง" สมุดเล่มนี้ปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

    ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า ในฤดูแล้งปีหนึ่ง ได้พากันจาริกไปธุดงค์แถวจังหวัดนครนายก วันหนึ่งเวลาว่าง ท่านพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้เล่าความฝันให้เพื่อนสหธรรมิกที่ออกธุดงค์ด้วยกันฟังว่า

    "ท่านฝันว่าได้ลอยข้ามทุ่งกว้างมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก แล้วลอยต่ำลงๆ จนถึงพื้นดิน ได้มีบุรุษ 4 คน แต่งตัวคล้ายมหาดเล็กสมัยโบราณ บนศีรษะใส่กระโจมแหลมๆ เหมือนคนแต่งเป็นเทวดาเวลามีขบวนแห่ขบวนใหญ่ๆ ได้นำเสลี่ยงเข้ามาหา แล้วยื่นหนังสือพระบรมราชโองการ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวาย เสร็จแล้วนิมนต์ท่านขึ้นเสลี่ยงตั้งขบวนแห่แหนท่านเข้าเฝ้าถวายพระพร"

    ท่านตื่นพอดี

    หลังจากนั้นไม่นาน ก็เป็นจริงเหมือนตามฝัน ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถร (ผิว) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปที่ 4 มรณภาพ จึงมีพระบรมราชโองการ อาราธนา พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปที่ 5 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูปทุมธรรมธาดา พระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนา แล้วได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนาในโอกาสต่อมา โดยพระราชทานพัดยศงาสานเป็นพัดยศสมณศักดิ์

    ท่านพระอาจารย์มั่นได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า การแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงที่สำคัญๆ ในสมัยนั้น เมื่อเจ้าอาวาสว่างลง หลังจากที่เลือกสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสได้แล้ว ต้องเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชฯ จะทรงพิจารณา ถ้ามีความเหมาะสมด้วยประการใดแล้ว จึงนำเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    วัดปทุมวนารามก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถร (ผิว) มรณภาพลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ได้ถวายพระพรสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าว่า วัดปทุมวนารามเป็นพระอารามที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระกัมมัฏฐาน และผู้คนที่อยู่ในบริเวณรอบวัดก็อพยพมาจากล้านช้าง ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสก็มาจากพระกัมมัฏฐานและมาจากมณฑลอุบลราชธานี ในครั้งนี้ก็เห็นสมควรที่จะอาราธนา พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นดีด้วย จึงได้มีพระบรมราชโองการอาราธนา พระอาจารย์หนู มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ดังกล่าว

    (พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นสหธรรมิกที่รักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดียิ่งกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย - ภิเนษกรมณ์)
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ส่งศิษย์ปราบผี

    [​IMG]


    เมื่อครั้งท่านพระอาจารย์พำนักอยู่อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีหลวงตารูปหนึ่ง สมัยหนุ่มเคยเป็นโยมอุปัฏฐากท่าน ไปนมัสการและอยู่ปฏิบัติธรรมด้วย ผู้เล่านั่งถวายงานพัด ท่านพระอาจารย์ถามหลวงตารูปนั้นว่า

    "เคยไปบ้านนาหมีนายูงไหม" (ปัจจุบันคงเป็นอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี - ภิเนษกรมณ์)

    "เคยขอรับกระผม"

    "เป็นอย่างไรความเป็นอยู่ของเขา พอมีกินมีใช้ไหม ก่อนหน้าเราจะไปเชียงใหม่ เราพักอยู่แถวน้ำโสม ท่าบ่อ" (คือ บริเวณ อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี และ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย - ภิเนษกรมณ์)

    ท่านเล่าว่า สมัยนั้นเคยมีชาวบ้านมาหา และกราบเรียนว่า

    "ขอนิมนต์พระคุณเจ้าไปอยู่กับพวกกระผม ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ดงนาหมีนายูง พวกกระผมจะไม่ให้ท่านพระอาจารย์อดอยาก จะผลัดเปลี่ยนกันลงมาเอาเสบียง"

    ยุคนั้นเต็มไปด้วยป่าดงพงพี ไข้ป่าเอย อสรพิษเอย เสือโคร่งลายพาดกลอนเอย ภูตผีเอย มีเป็นธรรมดา

    หลวงตารูปนั้นถวายคำตอบว่า " เดี๋ยวนี้เขาเป็นบ้านเป็นเมือง มีกินมีใช้แล้ว วัดก็เป็นวัดโดยสมบูรณ์ ผู้คนมีธรรมะเป็นประจำ ตั้งแต่นั้นมา"

    ท่านฯ เล่าต่อไปว่า "เหตุอะไรจึงมานิมนต์"

    เขาเล่าว่า "อย่างอื่นไม่กลัว กลัวแต่ผีอย่างเดียว ธรรมดาสัตว์ป่าจะเป็นช้างหรือเสือ กลัวไฟกับกลัวมนุษย์ หากเห็นไฟและได้ยินเสียงมนุษย์ มันจะหลีกหนีห่างออกไป แต่ผีนี้ซิ ยิ่งแหย่เหมือนยิ่งยุ เป็นตัวเป็นตนเหมือนคน ห้อยถุงย่ามไว้ มันมาปลดทิ้ง หม่าข้าวไว้ มันมาเททิ้ง อยู่ใกล้ๆ แต่ไม่เห็นตัว พวกเราติดไฟไว้ มันเข้ามาเอาฟืนออก เราถือพร้าอีโต้เข้าไปจะฟันมัน มันวิ่งหนี เราซัดฟืนใส่มัน มันกลับซัดฟืนมาหาเรา นี้ถ้าเราเฝ้าทับคนเดียว แต่พอหมู่กลับมา มันก็หายเข้าป่าไป เป็นอยู่อย่างนี้ ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ช่วยปราบผีด้วย"

    ท่านฯ ว่า "เราก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์อย่างนี้ยังไม่เคยพบ"

    ส่วนสัตว์นั้นไม่น่ากลัว ติดไฟไว้จ้างก็ไม่เข้ามา ยิ่งช้าง ถ้ามีขวดเปล่าหรือกระบอกเล็กๆ เป่าสัญญาณขึ้น แค่นั้นก็วิ่งจนป่าราพณาสูรไปเลย เพราะมันสำคัญว่าเสียงสะไนของนายพรานช้าง

    ท่านพระอาจารย์มั่นปรึกษากับศิษย์ว่า ใครจะไปปราบผีครั้งนี้ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ รับอาสาโดยชวนพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปด้วย พร้อมด้วยพระสหจร 4 รูป รวมเป็น 6 รูป

    ก่อนออกเดินทาง ท่านพระอาจารย์เตือนศิษย์ให้มีสติ เจริญพระพุทธคุณ และกรณียเมตตสูตร แล้วกำหนดจิตเป็นปริมณฑล 3 รอบใกล้ตัว และกำหนดให้ปริมณฑลห่างออกไป และห่างออกไปอีก กำหนดเจริญกำแพง 7 ชั้น ด้วยบทว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกฺขา ส่วนชาวบ้านให้เขาตั้งอยู่ในสรณะและศีล 5 ก่อนนอนให้เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ครั้นเดินทางไปถึงที่พัก เห็นแต่ร่องรอยผีมารบกวน จัดสถานที่พักแล้ว นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผีพวกนั้นหายเข้าป่าไปเลย

    ปกติท่านไม่เคยส่งเสริมในเรื่องนี้ นอกจากมีเหตุ ศิษย์ส่วนมากจึงไม่ค่อยรู้เรื่อง
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพระอาจารย์โปรดโยมมารดา

    [​IMG]


    พ.ศ.2487 ผู้เล่ามีอายุ 21 ปี ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน วิสาขะแล้ว ท่านพระอาจารย์ปรารภจะไปจำพรรษาที่บ้านโคก (คือวัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร - ภิเนษกรมณ์) พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ได้สร้างกุฏิคอยอยู่แล้ว การเดินทางไม่มีปัญหา เพราะระยะทางใกล้กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น ผู้เล่าโชคดี ท่านอนุญาตให้ติดตามมาด้วย

    เหลือเวลาอีก 20 วันจะเข้าพรรษา ผู้เล่าได้รับข่าวร้าย มีพระมาบอกว่า มารดาเสียชีวิต จำลาท่านฯ กลับบ้านเกิด (ที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ - ภิเนษกรมณ์) เพื่อความระลึกถึงพระคุณมารดา ไม่มีสมบัติอะไร มีแต่บริขาร ไม่ได้คิดอะไร เมื่อพบบิดาและได้ดูหลุมศพมารดาก็พอ กลับถึงบ้านพัก มีกระท่อมพอได้อยู่อาศัย กลางวันไปป่าช้า เยี่ยมหลุมฝังศพมารดา อุทิศบุญบวชให้ เพราะไม่มีวัตถุอื่นจะถวายแก่พระสงฆ์

    จวนจะเข้าพรรษา ก่อนเดินทางกลับ บิดาได้มอบผ้าขาวให้ เป็นผ้าทอด้วยมือของแม่เอง แม่เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายไข้ไทฟอยด์อย่างแรง เพียง 4 วันก็เสียชีวิต ผ้าขาวผืนนี้ ก่อนแม่เสียชีวิต 1 วัน ได้สั่งไว้ว่า

    "หากเป็นอะไรไป ให้นำผ้าขาวนี้ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นด้วย พระลูกชายก็อยู่นั่น"

    ผู้เล่าได้นำผ้าขาวนั้นไปถวายท่านพระอาจารย์ ทำผ้าอาบน้ำฝนได้ 2 ผืน ท่านฯ สงเคราะห์รับผืนหนึ่ง สงเคราะห์ผู้เล่าผืนหนึ่ง ผู้เล่าเป็นผู้ตัดเย็บย้อมเสร็จ

    วันอธิษฐานพรรษาผ่านไปประมาณ 10 วันเห็นจะได้ ผู้เล่านอนพักกลางวัน ฝันเห็นมารดา มาปรากฏเต็มร่าง แต่ดูท่านยังสาว บอกว่า

    "ลูกเอย แม่ได้เสียชีวิตไปจากเจ้าแล้ว จะไม่ได้พบกันอีกชาตินี้ ชาติหน้าพบกันใหม่"

    ดูท่านเป็นสาวสวยมีเสื้อผ้าอาภรณ์หลากสี ในฝันนั้น คิดว่าแม่เราน่ารัก อยากเป็นเด็กดูดนมอีก คิดแค่นั้น ก็ตื่นขึ้น ทั้งสะอื้นทั้งน้ำตาทั่งเทออกมา ได้ยินถึงพระอาจารย์หลอด ปโมทิโต (ปัจจุบันท่านอยู่ที่วัดสิริกมลาวาส ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ) ท่านเลยมาถาม ก็บอกไปตามเรื่อง พอได้เวลาไปทำข้อวัตร ก็ล้างหน้าอดกลั้น เหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้น

    วันที่สอง ไม่ฝันแต่ร้องไห้เหมือนเดิม โธ่เอ๋ย...ความรักของแม่กับลูกนี้ เป็นความโศกที่เต็มไปด้วยความคิดถึง ผสมความสดชื่น จากเมตตากรุณาของพระคุณแม่ พอได้เวลาไปทำข้อวัตร

    ท่านพระอาจารย์ถามว่า "ทองคำ ร้องไห้คิดถึงแม่หรือ"

    เท่านั้นละปีติซาบซ่านไปทั้งตัว

    ท่านว่า "ไม่มีอะไรตายดอก ธาตุสี่เขาแยกกัน เขาอยู่ด้วยกันมานานแล้ว จิตก็ไม่ตาย แม่คุณเลื่อมใส รับศีลและสรณคมน์จากครูบาอาจารย์เสาร์ เขาไปสู่สุคติแล้ว"

    สาธุ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จริงๆ

    เลยสิ้นความสงสัยมาแต่วันนั้น และความโศกก็หายไปตั้งแต่วันนั้น
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ครานั้นท่านพักอยู่ดอยอะไรจำไม่ได้ แต่เป็นชาวลีซอ ท่านมิได้สนใจเรื่องภายนอก มีแต่พิจารณาธรรมภายใน เช้าวันหนึ่งไปบิณฑบาต สังเกตเห็นชาวบ้านจับกลุ่มสนทนากัน มีท่าทางตื่นเต้น ฟังไม่ค่อยรู้ภาษา จำได้แต่ว่า ยาปาน ยาปาน พอกลับถึงวัด ท่านเลยถามเป็นภาษาคำเมืองว่า "เขาพูดอะไรกัน"

    ได้ความว่า ทหารยาปาน (ญี่ปุ่น) บุกขึ้นประเทศไทย ที่เมืองสงขลา การรบได้เป็นไปอย่างหนักหน่วง มีแม่ค้าขายของเป็นประจำในตอนเช้าเข้าร่วมรบด้วย มีหัวหน้าชื่อนางสาวกอบกุล พร้อมนักรบแม่ลูกอ่อน มีทั้งแม่ลูกหนึ่งลูกสอง

    ท่านได้ฟังแล้วก็ยิ้มกับชาวบ้าน ถามว่า "นักรบแม่ลูกอ่อนก็มีด้วยหรือ"

    ต่อมาได้มีคำสั่งจากรัฐบาลถึงกองทัพ ให้ทหารไทยหยุดยิง โดยอ้างว่าญี่ปุ่นไม่ต้องการรบกับไทย ขอผ่านเฉยๆ แต่ทหารไทยประจำแนวหน้า พร้อมนักรบแม่ลูกอ่อนก็ไม่หยุดยิง ไม่ถอย ทหารญี่ปุ่นขึ้นบกไม่ได้ ตายเขียวไปทั้งทะเล ว่าอย่างนั้น จนรัฐบาลต้องส่งกองทหารอื่นเข้าไป สั่งให้ทหารญี่ปุ่นหยุดยิง ขอสับเปลี่ยนกองทหาร ทัพแนวหน้าและนักรบแม่ลูกอ่อน จึงได้หยุดยิงถอยเข้ากรมกอง ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นจึงขึ้นบกได้

    ท่านก็ไม่ได้ถือเอาเป็นอารมณ์ คิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ เจริญสมณธรรมตามปกติ วันรุ่งขึ้นพอจวนจะสว่าง ท่านวิตกขึ้นว่า "ชะตากรรมประเทศไทยจะเป็นอย่างไรกันหนอ"

    ปรากฏนิมิตว่า

    "ประเทศไทยคล้ายภูเขาสูง บนยอดมีธงไทย 3 สี ปลิวสะบัดอยู่ และมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เหนือธงไทย มองดูตีนเขาลูกนั้น มีธงชาติต่างๆ ปักล้อมรอบเป็นแถวๆ "

    ท่านพิจารณาได้ความว่า

    "ประเทศไทยไม่เป็นอะไรมาก นอกจากผู้มีกรรมเท่านั้น และต่อไปนานาประเทศจะยอมรับนับถือ เพราะประเทศไทย พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เบียดเบียน รังแกข่มเหงเพื่อนมนุษย์และสัตว์ และประเทศไทยก็ไม่เคยข่มเหงประเทศใด นอกจากป้องกันตัวเท่านั้น ชาติต่างๆ จึงยอมรับนับถือเป็นกัลยาณมิตร"

    อีกคราวหนึ่ง ท่านพักที่ดอยมูเซอ วันหนึ่งพระสยามเทวาธิราชพร้อมเทพบริวารได้พากันมากราบนมัสการ ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ พอรายงานตัวเสร็จ ท่านถามวัตถุประสงค์

    พระสยามเทวาธิราชตอบว่า "เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ อย่างหนักหน่วง พวกข้าพเจ้าป้องกันเต็มที่"

    หลวงปู่มั่น ถามว่า "มีคนบาดเจ็บล้มตายไหม"

    พระสยามเทวาธิราช ตอบว่า "มี"

    หลวงปู่มั่น ถามว่า"ทำไมไม่ช่วย"

    ตอบว่า "ช่วยไม่ได้ เพราะเขามีกรรมเวรกับฝ่ายข้าศึก จะช่วยได้แต่ผู้ไม่มีกรรม สถานที่สำคัญ และพระพุทธศาสนาเท่านั้น"

    หลวงปู่มั่น ถามว่า "มานี้ประสงค์อะไร"

    ตอบว่า "ขอให้ท่านบอกคาถาปัดเป่าลูกระเบิดไม่ให้ตกถูกที่สำคัญด้วย"

    หลวงปู่มั่นจึงกำหนดพิจารณาหน่อยหนึ่งได้ความว่า

    "นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา"

    เมื่อบอกแล้ว เทพคณะนั้นก็อนุโมทนาสาธุการ แล้วลากลับไป

    (นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา คือ ส่วนหนึ่งของคาถายูงทอง หรือ โมรปริตร นั่นเอง คำนี้หลวงปู่มั่นใช้เขียนเป็นบนผ้าเป็นคล้ายผ้ายันต์มอบให้แก่โยมบางคน ปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์หลายประการ - ภิเนษกรมณ์)
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ผลของปาณาติบาต

    เรื่องนี้ผู้เล่าและท่านอาจารย์วัน ได้ฟังด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แต่เหตุเกิดที่เชียงใหม่ เหตุมาจากการเข่นฆ่ากัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 บางท่านคงได้ยินว่า ศิษย์ของท่านติดตามหาท่านไม่พบ ท่านหนีเข้าป่าลึกจนศิษย์ตามไม่ถึง

    ท่านว่า ได้ยินข่าวภายนอกน้อยมาก เพราะไม่มีคนไปถึง คงพิจารณาธรรมตามปกติ

    วันหนึ่งขณะทำสมาธิอยู่ จวนจะสว่าง ปรากฏว่าท่านยืนอยู่บนที่สูง จะเป็นบนดิน บนภูเขา อากาศก็ไม่ใช่ คล้ายยืนอยู่บนก้อนเมฆ มองดูรอบทิศ เห็นเตาไฟมีหม้อใบใหญ่ไฟแดงฉาน ทั้งเตาทั้งหม้อใบใหญ่บรรจุวัตถุได้มาก หากเป็นมนุษย์ก็เป็นร้อยๆ คน แต่ละลูกแดงฉานทั้งเตาทั้งหม้อ แต่มีเปลวไฟบ้าง ไม่ถึงกับบังวัตถุที่อยู่ในหม้อนั้น

    ท่านกำหนดพิจารณา จึงรู้ขึ้นมาว่า นี้คือทหารที่ตายในสงคราม พากันมาตกนรกแออัดกันอยู่อย่างนี้ พิจารณาดูแต่ละหม้อ ไม่ได้เลือกชาติว่าชาตินั้นต้องตกหม้อนั้น ชาตินี้ต้องตกหม้อนี้ ตกรวมกันหมด แต่ละหม้อแออัดก็จริง ดูเหมือนเต็มแล้ว แต่พวกที่ทยอยกันมาก็ยังตกได้อีก ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม ท่านว่า

    ท่านพิจารณาต่อไปว่า "เขาเหล่านั้นรู้สึกตัวไหม"

    "รู้สึกทุกคน"

    ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า "พวกเราไม่น่าเลย เป็นเพราะนายแท้ๆ "

    "แล้วนายเล่า"

    "นายยังไม่ตาย ถ้าตายละก็นายจะลงไปลึกกว่านี้ ชนิดพวกเราตามไม่ติด"

    พวกสัตว์นรกเขาพูดกันเหมือนพูดเล่น ท่านว่า ลักษณะทหารแต่ละคนไม่มีอาวุธ มีแต่เครื่องแบบ แต่ละเอียดมาก ขนาดกระทะนรกที่เรามองเห็น เต็มแล้วลงได้อีก ชนิดถมเท่าไรไม่รู้จักเต็ม

    พอท่านเห็นเหตุดังนั้น จึงมาพิจารณาตามหลักแห่งสังสารวัฏ หรือทุกข์ในวัฏฏะ ได้ความว่า

    สัตว์หนาด้วยราคะ โลกฉิบหายด้วยไฟ

    สัตว์หนาด้วยโทสะ โลกฉิบหายด้วยลม

    สัตว์หนาด้วยโมหะ โลกฉิบหายด้วยน้ำ

    ท่านมาเฉลียวใจว่า "สัตว์หนาด้วยราคะ โทสะ โมหะ แล้ว ทำไมผู้ฉิบหายจึงเป็นโลก ทำไมจึงไม่เป็นสัตว์ฉิบหายเล่า"

    ท่านอธิบายย่อๆ ว่า " ราคะ โทสะ และโมหะ นั้น เป็นผลของอวิชชา ที่กล่าวไว้ในธรรมจักร (สมุทัยสัจจะ) ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นผลมาจากอวิชชานั้นเอง"

    "ตัวเหตุคืออวิชชา ครอบงำจิตสันดานของสัตว์ เป็นผลให้สัตว์เกิดราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสัตว์ทั้งโลกก็ฉิบหาย คือกระทบกระเทือนไปหมด ทั้งภายนอก คือ สัตว์และโลกทั้งปวง ทั้งภายใน คือ จิตสันดานของสัตว์แสดงออกมา มีแต่ฉิบหายกับฉิบหายอย่างเดียว"
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ศาสนาภายนอกและภายใน

    ท่านพระอาจารย์สอนว่า อิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นนะสร้างบุญขึ้นมาได้ เช่น เราเดินไปก็ระลึกพุทโธไป เรานั่งอยู่ก็ระลึกพุทโธ เรานอนอยู่ก็ระลึกพุทโธ พยายามทำให้มันติดต่อ ทำการทำงานก็ระลึกพุทโธอยู่ อย่างท่านฯ ไปสอนชาวบ้านนอกนะ ถึงฤดูทำไร่ เขาไปดายหญ้า สับจอบสับเสียมลงดิน ก็ให้ระลึกพุทโธ เวลาเกี่ยวข้าวก็เหมือนกันแหละ เกี่ยวกอหนึ่งก็พุทโธ เกี่ยวกอสองก็พุทโธ หมายความว่า งานที่เราทำก็ได้ บุญเราก็ได้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีปัญญา ทำการงานทุกอย่าง อย่าทิ้งพุทโธ เพราะเหตุไร เพราะว่าบุญเกิดทางใจ

    บุญนั้นไม่ได้เกิดแต่การบริจาคทานอย่างเดียว บุญเกิดจากการรักษาศีล บุญเกิดจากการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญภาวนา เป็นบุญที่สามารถทำได้ไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่าหรือเด็ก หญิงหรือชาย หรือคนเจ็บป่วยก็ตาม สามารถทำได้

    คนที่มีสติปัญญา ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นบุญแล้ว ทำการทำงานก็เป็นบุญ ทุกสาขาอาชีพที่เป็นอาชีพบริสุทธิ์ ถ้าเราระลึกพุทโธคราวใด บุญก็เกิดขึ้นคราวนั้น ไม่ต้องหาไกล คนมีปัญญาไม่ต้องหาไกล หาอยู่ในกาย หาอยู่ในวาจา หาอยู่ในจิต

    ศาสนานั้นอยู่ในธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ท่านฯ บอกว่า มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วินัย ขันธปัญญธาตุ อายตนะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ในตัวเราหรอกหรือ เพราะเหตุนั้นศาสนาจึงอยู่ในตัวเรา สมบูรณ์แบบไม่บกพร่อง นอกจากเราจะเสริมสร้างให้มัน เพื่อให้เรารู้จักศาสนาในตัวของเรา นี่คือบุคคลผู้ที่เป็นพุทธแท้ ท่านบอกอย่างนั้น

    ศาสนายังแบ่งออกเป็นศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ศาสนาภายนอก คือ พระสงฆ์ สามเณร วัด กุฎี วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ เป็นต้น ส่วนศาสนาภายใน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่ในบุคคล แต่บุคคลไม่รู้ว่า อะไรคือศาสนาภายนอก ภายใน การบำรุงพระพุทธศาสนาเราจะต้องบำรุงไปพร้อมกัน ภายนอกก็บำรุง ภายในก็บำรุง ถ้าเราจะบำรุงแต่ภายนอก ทิ้งภายในเสีย เราก็ไม่รู้จักศาสนาอยู่ในตัวเราเอง

    อุปมาเปรียบเหมือน ทุกคนมีสองขา ขาหนึ่งมัดติดไว้เสียไม่ใช่ หมายความว่า เราเดินได้ แต่ไม่สะดวก นั่นคือรักษาแต่ศาสนาภายนอก ศาสนาภายในไม่รักษา

    เหมือนกันกับรักษาศาสนาภายใน ภายนอกไม่รักษา ก็เปรียบเหมือนมีสองขา แต่ใช้ขาเดียว

    เพราะฉะนั้นการบำรุงศาสนา จึงต้องบำรุงไปพร้อมกัน ทั้งศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านจึงว่า ทำอะไรให้มีสติปัญญา
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    มงคลสถาน

    สถานที่ทั้งหมดเป็นมงคล ถ้าบุคคลทำตนให้เป็นมงคล

    มงคลสถานที่ขอเล่าเป็นนิยาม คือ ไม่กำหนดแน่นอน ตามที่ท่านพระอาจารย์บอก กำหนดดังนี้

    ทิศตะวันออก ตั้งแต่มุกดาหารเข้ามา

    ทิศใต้ ตีนภูเขา ตั้งแต่มุกดาหาร คำชะอี กุดสิม (อำเภอเขาวง) ถึง อำเภอสหัสขันธ์

    ทิศตะวันตก ตั้งแต่อำเภอสหัสขันธ์ ถึง อำเภอสว่างแดนดิน

    ทิศเหนือ ตั้งแต่อำเภอสว่างแดนดิน เส้นทางสายอุดร-สกลฯ จรดนาแก ธาตุพนม

    ภายในภูพานทั้งหมด เป็นมงคลสถาน เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม ภาวนาจิตสงบดี สามารถบรรลุมรรคผลได้ ท่านว่า เพราะเป็นมงคลสถาน
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ความอัศจรรย์ของท่านพระอาจารย์

    [​IMG]


    เมื่อครั้งพุทธกาล ขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัททั้งสี่นั้น ทุกคนจะเงียบตั้งใจฟัง โดยแต่ละคนสำคัญในใจว่า พระพุทธเจ้าเทศน์ให้เราฟัง จำเพาะใช้ภาษาเรา อันนี้เป็นความรู้สึกของพุทธบริษัทเหล่านั้น ซึ่งมีหลายชาติหลายภาษา ท่านพระอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน ดังจะเล่าต่อไปนี้

    เมื่อท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น มีคนไทยเชื้อสายเวียดนามคนหนึ่ง ชื่อว่า อัมพร พงษ์เจริญ เป็นบุรุษพยาบาล ประจำโรงพยาบาลแขวงคำม่วน (ท่าแขก) ประเทศลาว เป็นชาวญวนอพยพมาอยู่พังโคน ได้เปิดคลีนิครักษาคนไข้ เคยมารักษาท่านพระอาจารย์ เกิดความเลื่อมใส ฟังเทศน์ภาษาลาวและภาษาไทยได้ชัดเจน

    วันหนึ่งเธอพาลูกน้องมา 4-5 คน เพิ่งอพยพมาใหม่ พูดภาษาลาวไทยไม่เป็น มานั่งฟังเทศน์ด้วย หลังฟังเทศน์จบก็กราบลากลับ ท่านพระอาจารย์พัก เธอและคณะนั่งพักอยู่ ผู้เล่าเดินไปหา เธอยกมือไหว้พร้อมคณะตามธรรมเนียมไทย

    เธอถามว่า "ท่านพระอาจารย์เป็นเวียดนามหรือเป็นไทย"

    ผู้เล่า "ไทยแท้ร้อยเปอร์เซนต์"

    ถาม "เอ๊ะ ทำไมท่านพูดภาษาเวียดนามได้"

    ผู้เล่า "ไม่ทราบ ได้ยินแต่ท่านพูดไทย"

    "ก็ท่านเทศน์เมื่อกี้นี้ เทศน์ภาษาเวียดนามทั้งนั้น พวกผมกำลังพูดกันเรื่องนี้อยู่ว่า รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ก็เหมือนเวียดนาม กำลังสนทนากันอยู่ว่า ท่านเป็นไทยหรือเวียดนาม"

    ผู้เล่า "เราก็ฟังอยู่ด้วยกัน ท่านไม่ได้เทศน์ภาษาเวียดนาม เทศน์ภาษาไทย"

    "เอ แปลกนะ ผู้รู้ธรรมมีอัศจรรย์หลายอย่าง" เธอพูด

    อีกเรื่องหนึ่ง เกิดที่วัดป่าบ้านหนองผือเหมือนกัน โยมเง็กหงษ์ เป็นชาวจีนมาอยู่เมืองไทย พูดไทยได้สะเปะสะปะ มาฟังเทศน์พร้อมคณะชาวจีนเหมือนกัน ภาษาใช้อยู่ใช้กินธรรมดาก็สะเปะสะปะ ภาษาธรรมะยิ่งแล้วใหญ่ แต่ชอบทำบุญตามประเพณีไทย ฤดูแล้งมาปฏิบัติธรรมถือศีลพร้อมคณะ กับท่านพระอาจารย์ทุกปี

    วันหนึ่งหลังฟังเทศน์แล้ว ไปนั่งสนทนากับพวกที่มาด้วยกัน เขาพูดภาษาจีนสนทนาเรื่องธรรมะที่ท่านพระอาจารย์เทศน์ ผู้เล่าก็เดินไปพบ นั่ง ณ ที่ควรแล้ว โยมก็กราบ ถามว่า

    "พูดกันเรื่องเทศน์พระอาจารย์ เพราะท่านพูดจีน เทศน์ภาษาจีน ฟังเข้าใจดี ฟังพระในกรุงเทพฯ เทศน์ภาษาไทยไม่ค่อยเข้าใจ เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นคนจีน รูปร่างผิวพรรณหน้าตาก็จีนทั้งนั้น"

    ผู้เล่าจะตอบปฏิเสธก็เกรงว่าเขาจะหมดศรัทธา

    "แต่ท่านเทศน์พวกอาตมา พระเณรโยมชาวบ้าน เทศน์ไทย"

    "นั่นนา ภาษาไทยก็เก่ง ภาษาจีนก็เก่ง นี้คือ ผู้ปฏิบัติรู้แท้ เป็นเซียนองค์หนึ่งได้" คือ คำพูดของโยมเง็กหงษ์

    อยากรู้ประวัติของโยมคนนี้ ถามได้ที่วัดอโศการาม ได้ยินว่าท่านไปเป็นชี หมดอายุที่นั่น
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เทวดาป้องกันอากาศหนาวให้

    ท่านฯ เล่าว่า ปีนั้นท่านพักอยู่บนดอยมูเซอ พร้อมด้วยพระมหาทองสุก อากาศหนาวมากเป็นพิเศษกว่าทุกปี หากมีเครื่องวัดก็คงจะติดลบหลายองศา ขนาดชาวบ้านไม่ยอมหนีจากกองไฟตลอดวันตลอดคืน ทั้งสองท่านก็รู้สึกหนาวมาก ติดไฟก็ไม่ค่อยจะติด น้ำค้างแข็งเป็นน้ำแข็งหมด เอาละตัดสินใจจะหนาวตายวันนี้ก็ยอม กลับขึ้นไปกุฏิ ท่านฯ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จเข้าสมาธิทันที พอจิตสงบ ท่านเห็นบุคคลหนึ่งพร้อมบริวาร 4 คน ผู้เป็นหัวหน้าแต่งตัวแบบกษัตริย์ ทรงผ้าสีแดง มาชี้บอกให้บริวารกางผ้าม่านให้ท่านทั้ง 4 ทิศ ทั้งข้างบนข้างล่าง

    จึงกำหนดพิจารณาว่าเป็นใครนั่น แต่ไม่ได้ถามพระยาองค์นั้น เพราะเห็นกำลังสาละวนอยู่กับการกางผ้าม่าน รู้ในใจขึ้นมาว่า เป็นท้าวเวสสุวรรณ มาป้องกันอากาศหนาวให้ โดยใช้ผ้าม่านสีแดงกางกั้นไว้ มีความอบอุ่นพอดีๆ เทวดาเหล่าก็ไปกางถวายพระมหาทองสุกด้วย พอกางเสร็จก็ไป แปลก ไม่บอกไม่ลาไม่ไหว้ ทำธุระเสร็จแล้วก็หายไป ไม่เหมือนเทพองค์อื่นๆ เวลาหา มีการกล่าวขานกัน แต่เทพนี้มาแปลก ท่านว่า

    อาการของม่าน เวลาจะไปบิณฑบาตหรือ ยืน เดิน นั่ง นอน ปรากฏว่าจะกางกั้นไว้ ไม่กว้างไม่แคบ พอดีๆ ตื่นเช้าถามพระมหาทองสุกว่า "หนาวไหม"

    "ไม่หนาว"

    แต่ท่านจะรู้ว่ามีม่านกั้นหรือเปล่าไม่ได้ถาม แต่ตัวท่านพระอาจารย์เห็นม่านกั้นพระมหาทองสุกอยู่ พอไปบิณฑบาต ชาวบ้านร้องทักว่า "ตุ๊เจ้าบ่หนาวก๊าๆ " ตลอดทาง

    ท่านว่าม่านนั้นค่อยๆ จางไป พร้อมกับอากาศค่อยอุ่นขึ้น จนบัดนี้ก็ไม่เคยเห็นท้าวเวสสุวรรณอีก
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ถ้ำตับเตา

    [​IMG]


    ถ้ำตับเตา หรือ ถ้ำดับเถ้า ภาษาของท่านพระอาจารย์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่) ถ้ำนี้เป็นสถานที่ท่านพระอาจารย์พิจารณาพระอภิธรรมปิฏก ท่านว่าพิจารณาได้ดี ไม่ติดขัด ละเอียดลึกซึ้งมาก นี้คือเหตุที่ท่านต้องไปเชียงใหม่ เพราะท่านพิจารณาแล้ว ภาคอื่นไม่เหมาะ ไม่สะดวกเหมือนภาคเหนือ

    ท่านเปรียบให้ฟังว่า เหมือนปลาใหญ่ว่ายอยู่ในแม่น้ำแคบและตื้น พอมาพิจารณาที่ถ้ำตับเตาหรือถ้ำดับเถ้าที่ภาคเหนือนี้ เหมือนปลาใหญ่ว่ายออกสู่ทะเลหลวง จะเหวี่ยงหัวเหวี่ยงหางไปมาทิศไหนก็ไม่ขัดข้อง ท่านว่าอย่างนี้

    ถ้ำแห่งนี้มีประวัติเกี่ยวพันกับพระอรหันต์ครั้งพุทธกาล 2 รูปๆ หนึ่ง คือ ท่านพระภัคคุ หนึ่งในกษัตริย์ 6 พระองค์นั้น (คือเจ้าศากยะที่ออกบวชพร้อมกัน 6 องค์ ได้แก่ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระภัททิยะ พระเทวทัต -ภิเนษกรมณ์) ท่านพระอาจารย์รู้ว่า ถ้าอยากรู้รายละเอียดของท่านพระภัคคุ ต้องเข้าฌานให้ละเอียดเหมือนควันไฟจึงจะรู้ แต่ท่านบอกว่าท่านทำไม่ได้ รู้แต่ว่าท่านพระภัคคุมานิพพานที่นี้
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พิธีเถราภิเษก

    15 วันที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส (ระหว่างที่ท่านเดินทางย้ายจากจังหวัดอุดรธานี มาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ.2485- ภิเนษกรมณ์) มีเหตุการณ์ที่ควรนำมาเล่า คือ เรื่อง "เถราภิเษก" ภาษาอีสานเรียกว่า "กองฮด" (ฮด หมายถึง รด หรือเทราดลงไป) คือ นำผ้าไตรมา แล้วมีการสรงน้ำพระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ถวายบริขารใหม่ สมมติเป็นสมเด็จพระอุปัชฌาย์ (ชา) เป็นครู (ราชครู) ลาภ 1 ลาภ 2 ไปเรื่อยๆ ชาวสกลนครได้นำไตรจีวรจะมาฮดมาสรง ท่านพระอาจารย์ไม่ยอมรับ

    ท่านอธิบายว่า "เป็นประเพณีที่มีมาจากเวียงจันทน์ ที่อื่นไม่มี ครั้งพุทธกาลไม่มี แล้วพวกญาติโยมจะมาแต่งอาตมาให้เป็นอะไรอีก เป็นพระ อาตมาก็เป็นแล้ว พระสงฆ์อุปัชฌาย์อาจารย์แต่งให้แล้ว เป็นพระโดยสมบูรณ์ คณะสงฆ์รับรองแล้ว"

    "พระพุทธเจ้ามีใครไปฮดไปสรงให้เป็นพระพุทธเจ้าบ้าง ไม่มี พระองค์ตรัสรู้เอง พระสาวก พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ฮดไม่ได้สรง ทั้งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วได้บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน นี่มีอำนาจกว่า แล้วจะมาฮดสรงแต่งอาตมาให้วิเศษกว่าพระพุทธเจ้าหรือ"

    "อันเรื่องเถราภิเษกหรือฮดสรงนี้ เป็นขัตติยประเพณี สำหรับอภิเษกแต่งตั้งพระมหาสังฆนายก สมเด็จพระสังฆราชต่างหาก มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ไม่ใช่ของราษฎรบุคคลสามัญจะทำกัน ทางเวียงจันทน์ก็ทำเหมือนกัน ครั้นราษฎรสามัญเห็นเข้า ขออนุญาตให้ราษฎรทำบ้าง ก็เลยเป็นประเพณี"

    "ส่วนพระผู้ถูกฮดถูกสรง ก็ไม่เห็นว่าวิเศษ ได้สำเร็จอะไร สึกหาลาเพศไปมีครอบครัวมีกิเลสถมเถไป ไม่เห็นวิเศษวิโสอะไร แล้วพวกท่านเป็นฆราวาส อาตมาเป็นพระ ตักน้ำมาฮดหัวอาตมาๆ เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกท่าน แทนที่จะได้บุญกลับเป็นบาปเสียอีก"

    มีโยมคนหนึ่งพูดขึ้นว่า " ถ้าเช่นนั้นวัตถุทานนี้ ท่านไม่รับจะทำอย่างไร"

    ท่านก็บอกว่า "ถวายสงฆ์สิ พระสงฆ์นั่งอยู่นี่เต็มไปหมด"

    โยมได้กราบเรียนถามว่า "ถวายสงฆ์ทำอย่างไร"

    "ใครเป็นประธานก็ถวายองค์นั่น อาตมาไม่ใช่ประธานนะ อาตมาพระจรมาอาศัยชั่วคราว ก็ท่านมหาเส็งไงเล่า (คือ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)-ภิเนษกรมณ์) จะถวายต่อมือท่านก็ได้ วางไว้ต่อหน้าก็ได้ เป็นบังสุกุล ได้บุญมาก" ท่านว่า

    "กล่าวคำถวายไหม" โยมถามอีก

    ท่านว่า "กล่าวทำไม มนุษย์รู้เรื่องกันอยู่ วางไว้ข้างหน้าก็พอแล้ว จะรับพรหรือไม่รับ ก็ได้บุญแล้ว ได้ถวายท่านแล้ว ถ้ายังสงสัยก็เอาคืนไป"

    โยมวางไว้เสร็จ ก็เป็นอันยุติ
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บทเรียนอันมีค่า

    เหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ เกิดขึ้นขณะท่านพักอยู่วัดป่าสุทธาวาสเป็นเวลา 15 วัน

    ก่อนจะจากวัดป่าสุทธาวาสไป ชาวสกลฯ มีขุนอร่ามรัชดากร ชื่อจำไม่ได้ นามสกุล สุคนธชาติ ได้กราบเรียนท่านพระอาจารย์ว่า

    "ขอนิมนต์ให้ท่านพักนานๆ อยู่โปรดญาติโยมชาวสกลนคร ท่านอยู่แต่ป่ามานานแล้ว โปรดชาวเมืองด้วย"

    ว่าแล้วก็ยกขันนิมนต์ถวายท่าน

    ท่านพระอาจารย์ตอบว่า "อาตมาไม่รับ อาตมาไม่อยู่ ไม่มีประโยชน์ สู้อยู่ป่าไม่ได้"

    โยมขุนฯ พูดขึ้นว่า "ไม่มีประโยชน์อย่างไรท่าน"

    ท่านพระอาจารย์ตอบว่า "ก็ไม่มีประโยชน์ซิ จะให้อาตมาสั่งสอนพวกท่านให้เป็นอะไร จะสอนให้ฉลาด พวกท่านก็ฉลาดแล้ว จะสอนให้พวกท่านมีศีลมีธรรม พวกท่านก็มีแล้ว จะสอนให้พวกท่านมีกินมีทานมีใช้ พวกท่านก็มีแล้ว หรือจะให้อาตมาสอนให้พวกท่านเป็นแท่งทอง อาตมาสอนไม่ได้ อาตมาไม่รับ อาตมาไม่อยู่"

    "ชาวบ้านนอกบ้านป่า มีอะไรหลายๆ อย่างที่เขายังขาดแคลน อาตมามีเรื่องจะสอนเขาอีกมาก ถ้าอาตมาไม่ไปสอน ก็ไม่มีใครสอน นั่นเป็นหน้าที่ของอาตมา หรือใครจะไปสอนแทนอาตมา อาตมาต้องไปสอนเขา เพราะไม่มีใครสอน" ท่านว่า

    เรื่องนี้ผู้เล่าจำไม่ลืม เป็นบทเรียนอันมีค่า เพราะในยุคนั้นไม่มีใครสอนจริงๆ นอกจากครูสอนเด็กเท่านั้น เป็นความจริงแท้ๆ
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อัศจรรย์ปัญญาถ้วน 5

    ท่านพระอาจารย์อธิบายคำว่า ปัญญาถ้วน 5 หมายถึง อินทรีย์ 5 พละ 5 ให้ปัญญามีอยู่ในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมทุกอย่าง นับตั้งแต่การอยู่การกินการนุ่งการห่มการอยู่ในบ้าน เกี่ยวกับปัจจัยทั้ง 4 ต้องใช้สติปัญญาทั้งนั้น การใช้สอยปัจจัย 4 จึงสมบูรณ์แบบ ถ้าขาดสติปัญญา การใช้สอยปัจจัย 4 นี่ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อไม่สมบูรณ์แล้วความบกพร่องจึงเกิดขึ้น ทุกข์ก็จะเสริมเข้ามา ท่านว่าอย่างนั้น

    เช่น การใช้จ่ายทรัพย์นี้ ถ้านอกเหนือไปจากพระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วนะ ทรัพย์ที่จ่ายไปไม่คุ้มค่า ท่านว่านะ แล้วทีนี้ประโยชน์ที่สอน คือ สัมปรายิกัตถะประโยชน์ จะเป็นสัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคะสัมปทา ปัญญาสัมปทา ก็ยังอาศัยปัญญา แม้แต่ในโลกุตตระก็เหมือนกัน ถ้าขาดสติปัญญาแล้ว ไม่สามารถจะบรรลุโลกุตตระได้

    ฉะนั้นทุกอย่างปัญญาจะต้องเข้าไปเสริมอยู่เสมอ ถ้าขาดปัญญาก็หมายถึงว่า ทุกสิ่งที่ราทำไปในชีวิตประจำวันไม่คุ้มค่า สูญเปล่า แม้แต่จะกวาดพื้นก็ดี ในบริเวณบนบ้านก็ดี ไม่ใช่ว่ากวาดแล้วให้มันกระจัดกระจายไป คือกวาดเอาไปรวมกันแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วจึงค่อยเก็บนำไปทิ้งในที่ทิ้งขยะนั้น

    ส่วนการปัดกวาดบริเวณวัดนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นสอนว่า โดยปกติเราจะกวาดออกจากที่อยู่ เช่น จากรอบกุฏินี้ออกไป เมื่อเรากวาดเสร็จแล้ว ก็จะเป็นบริเวณที่เราพัฒนาให้เป็นวัดหรือเป็นลานวัดแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง

    ส่วนที่เลยขอบออกไปก็จะเป็นป่าธรรมชาติ ถ้าเรากวาดใบไม้ไปทับถมธรรมชาติ อันนั้นคือ ขาดปัญญาแล้ว เพราะแดนพัฒนาก็ให้เป็นแดนพัฒนา แดนธรรมชาติก็ให้เป็นแดนธรรมชาติ ที่ถูกต้องเราคือ จะต้องปัดกวาดจากแดนธรรมชาติเข้ามาข้างใน แล้วก็กวาดข้างในไปหาข้างนอก และเก็บเป็นกองๆ ไว้ จะเผาไฟก็ให้รีบสุมเสีย ปล่อยไว้ลมจะพัดไปได้ อีกวิธี คือ เราขุดหลุมไว้ เรากวาดแล้วไปเทลงหลุม หลุมเต็มก็ไปขุดใหม่

    ทีนี้หากว่าเรากวาดออกไปเรื่อยๆ บริเวณรอบกุฏิเรานี้มันจะต่ำลงและขอบจะสูงขึ้น นั้นคือ สิ่งแวดล้อมสกปรกแล้ว สิ่งที่เราพัฒนาก็แปรรูปไปแล้ว มันจะเป็นคล้ายๆ กับก้นกระทะ อันนั้นคือการขาดสติปัญญาได้อย่างหนึ่ง มันเสียอย่างหนึ่ง

    ท่านมักเตือนอยู่เสมอว่า กวาดเข้าไปทำไม ทำไมไม่กวาดออกมา มันไปกระทบกับสิ่งแวดล้อม หมายความว่า สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ก็ให้อยู่ไปตามของเขา เราอย่าเอาไปใส่ ถ้าเอาไปใส่ มันจะกระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่พัฒนาแล้วก็อยู่ในสภาพที่พัฒนาแล้ว พื้นที่ยังไม่พัฒนาก็ให้เป็นป่า

    ในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นขอบโดยรอบ เพราะผู้ที่ตามมาภายหลังเขาไม่รู้จุดประสงค์ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นปัดกวาดอย่างนี้ มันมีได้มีเสียอย่างไร นี้คือความไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นจึงว่า อัศจรรย์ปัญญาถ้วน 5 เราจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องมีปัญญาไปแทรกอยู่เสมอ ถ้าไม่มีปัญญาเข้าไปแทรก ก็หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นไม่สมบูรณ์แบบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

    นี่คือความหมายในเรื่องนี้
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพระอาจารย์เป็นผู้พอ

    เรื่องการรับบริจาคปัจจัย 4 นั้น ดูจะมีขอบเขตคำว่า "พอ" หรือพอละ (อลํ) ในกุฏิของท่าน นอกจากสิ่งจำเป็นสำหรับใช้สอยประจำวันแล้ว ไม่มีอะไรเลย ผู้เล่าเคยเอาไตรจีวรที่ท่านรับบังสุกุลไปเก็บไว้ในห้องท่าน ท่านไปเห็นเข้าดุตะเพิดผู้เล่า

    "ใครเอาอะไรมาไว้ที่นี้"

    "กระผมขอรับ"

    "เหอะ เราไม่ใช่หลวงตาสารโมบโลภมาก รีบเอาหนี ใครอยากได้ก็เอาไป" ท่านว่า

    ผู้เล่ารีบเอาไตรจีวรออกไปทันที

    แม้การรับบริจาคทานของท่านพระอาจารย์ เท่าที่ผู้เล่าเคยสังเกตมาหลายปี ท่านพระอาจารย์จะเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาบริจาค ดูจะเป็นกาลเป็นสมัย เช่น กาลกฐินภายใน 30 วัน วิสาขบูชาเดือน 6 เพ็ญ ภายใน 3 วัน คือ ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ก่อนเข้าพรรษาเริ่มตั้งแต่เดือน 7 แรมค่ำหนึ่ง ถึงเดือน 8 แรมค่ำหนึ่ง ยกเว้นกรณีพิเศษบุคคลเหล่านี้ คือ หญิงมีครรภ์ คนชรา คนป่วย และคนจะไปสนามรบ ท่านจะอนุญาตเป็นพิเศษ

    ผู้เล่าเคยเห็นท่านกวักมือเรียกเข้ามาเลย ถ้ามีบุคคลไปถวายทานในกาลในสมัยที่ว่านี้เปิดเต็มที่ ใครทันก็ทัน ใครไม่ทันก็ไม่ทัน

    นอกกาลถ้ามีคนมาถวายทาน ท่านจะถามว่า

    "บุตร ภรรยา สามี บิดามารดาของท่าน พอหรือยัง อาตมา (บางทีท่านเรียก "พระเฒ่า" แทนตัวท่าน) และภิกษุสามเณรรวมทั้งผ้าขาวที่อยู่กับอาตมาพอแล้ว ตั้งแต่กาลกฐินนั้น ถ้าบุตรภรรยาของท่านยังไม่พอ ให้ทานบุตรภรรยาของท่านเสียก่อน"

    โยมก็พูดว่า " กระผมอยากได้บุญกับท่านอาจารย์"

    ท่านบอกว่า "การให้บุตรภรรยา บิดามารดาก็ได้บุญเหมือนกัน"

    บุตรภรรยาบิดามารดา เป็นหน้าที่ของกุลบุตรผู้ครองเรือน ต้องรับผิดชอบ ท่านคงประสงค์ให้กุลบุตรเอาใจใส่ก่อนจะให้ใคร ให้นึกถึงท่านเหล่านี้ก่อน

    ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์คงมุ่งผลประโยชน์ของเศรษฐกิจในครอบครัวชาวบ้านมาก ต้องการให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ จึงไม่รบกวนชาวบ้าน เป็นอยู่อย่างสมถะจริงๆ เมื่อมีเศรษฐีหรืออิสรชนมาถวายทานท่านพระอาจารย์ กลับไปแล้วท่านมักบ่นให้ผู้เล่าฟังว่า

    "พวกนี้มันมาอวดมั่งอวดมีต่อเรา"

    นึกว่าท่านพระอาจารย์ยินดีจะได้ของดีๆ ราคาแพง ได้มากๆ ท่านกลับว่า มาอวดมั่งอวดมีกับท่าน

    ท่านพระอาจารย์มั่นเคารพนับถือให้เกียรติคณะปกครองบริหารทั้งสองคณะ (ธรรมยุตและมหานิกาย) ท่านไปอยู่บ้านใดตำบลใด จะแจ้งให้เจ้าคณะตำบลนั้นทราบเสมอทั้งสองฝ่าย หากจะมีการก่อสร้าง จะปรึกษาและขอความเห็นจากผู้ปกครองเสียก่อน เห็นดีแล้วจึงทำ ท่านเป็นบุคคลถ่อมตน ไม่ถือว่าเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีคนนับหน้าถือตามาก ท่านไม่ลืมตัวว่า ท่านก็มาจากเด็กท้องทุ่ง
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เมตตาชาวภูไท

    [​IMG]


    ผู้เล่าเคยสังเกต ดูท่านจะไม่คลุกคลีด้วยกับบุคคลผู้มักเอาเปรียบ ข่มเหง รังแกสัตว์ โดยเฉพาะพวกฉ้อราษฏร์บังหลวง ถึงไม่มีใครบอกท่านๆ ก็รู้ เข้าไปหา ท่านจะเฉยๆ ไม่ค่อยพูดด้วย ไม่ยินดีต้อนรับ

    ส่วนชนต่างชาติต่างภาษา ก็มีพม่าที่ท่านจะยอมรับและเคยไปจำพรรษา ส่วนชาวยุโรป ดูจะเมตตาชาวรัสเซียเป็นพิเศษ เพราะเหตุใดก็สุดวิสัยจะเดาได้

    ส่วนภูมิประเทศที่ไม่เป็นสัปปายะแก่ท่าน หากไม่มีความจำเป็นแล้วท่านก็จะไม่ไป เช่น อุบลราชธานี ผู้เล่าได้กล่าวไว้ว่า หลังจากท่านกลับจากลพบุรีสู่กรุงเทพฯ แล้ว ท่านพระอาจารย์ได้สนทนากับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจนฺโท) ว่า มีวาสนาจะสอนหมู่ได้ไหม แล้วท่านก็กลับอุบลฯ ไปยังวัดพระอาจารย์เสาร์ พร้อมด้วยพระอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่น

    ระหว่างเดินธุดงค์รุกขมูลอยู่ถิ่นอุบลฯ ถูกต่อต้านจากชาวบ้านอย่างแรงด้วยวิธีการต่างๆ สารพัด ท่านว่า จึงได้ชวนพระอาจารย์เสาร์ มุ่งหน้าสู่มุกดาหาร คำชะอี หนองสูง ถิ่นนี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่าภูไท สถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การแสวงวิเวก และชาวบ้านก็ให้ความอุปถัมภ์บำรุงด้วยศรัทธาและเลื่อมใส ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิตจนกระทั่งเบื้องปลายแห่งชีวิต ก็ได้อาศัยชนเผ่าภูไทนี้แหละ

    บางคนสงสัยได้กราบเรียนถามท่านว่า เหตุใดท่านพระอาจารย์มักอยู่กับพวกภูไท ท่านตอบว่า

    "เพราะชาวภูไทว่าง่ายสอนง่าย"

    ศิษย์ของท่านที่เป็นชนเผ่าภูไทมีชื่อเสียงหลายรูป เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร เป็นต้น

    ท่านได้กลับไปอุบลฯ สองครั้ง ครั้งแรกกลับไปส่งมารดา ก่อนขึ้นไปเชียงใหม่ ครั้งที่สองไปทำฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์เสาร์ หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปอีกเลย
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    รอยพระพุทธบาท

    [​IMG]


    ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่อยู่จังหวัดสระบุรีว่า เป็นรอยพระพุทธบาทแท้ ตามตำนานปรัมปราว่า ประทานแก่ฤาษีหรือนายพราน แต่ท่านพระอาจารย์ว่า ทรงประทานไว้แก่สามเณรเรวตะ ผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร

    ท่านพระอาจารย์เคยไปนมัสการเล่าว่า มีมณฑปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้มีคนเฝ้ารักษา ท่านอยากดูภาพมงคล 108 ในรอยพระพุทธบาท แต่คนเฝ้าไม่ยอมเปิด อ้างว่าไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต เลยไม่ได้ดู ท่านว่า

    ส่วนรอยที่ 2 ชื่อว่า "พระบาทฮังฮุ้ง" (รังเหยี่ยวใหญ่) พระพุทธบาทนี้ ประดิษฐานอยู่ที่โยนกประเทศ อยู่ที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า

    รอยพระบาทนี้ประทานแก่ อชิตฤาษี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ จะมาตรัสรู้ข้างหน้า เคยเป็นพระสหาย สงเคราะห์กันมาหลายภพหลายชาติ ประทานไว้บนแผ่นหิน

    ความว่า หลังจากเสด็จเยี่ยมฤๅษี ได้สนทนาร่าเริงกันแล้ว ฤๅษีได้ถวายผลไม้ พร้อมทั้งต้มน้ำกระดูกสัตว์ถวาย ก่อนเสด็จกลับ ฤๅษีขอรอยพระบาทไว้เป็นที่ระลึก

    พระองค์ตรัสถาม "จะไว้ที่ไหน"

    ฤๅษีกราบทูลว่า "บนแผ่นหินมีรังเหยี่ยวใหญ่อาศัยเลี้ยงลูกอยู่"

    พระองค์ตรัสถาม "ทำไมจึงให้ประทับไว้ที่นั่น"

    ฤๅษีกราบทูลว่า " ในวันฝนตก ไม่ได้ออกไปหาผลไม้ ข้าพระองค์ได้อาศัยเก็บกระดูกสัตว์มาต้มบริโภค ถ้าพระองค์ประทานรอยไว้ที่นั่น วันที่ขึ้นไปเก็บกระดูกสัตว์ จะได้ทำความสะอาด และกราบนมัสการด้วย"

    พระบาทฮังฮุ้ง เรียกตามภาษาท้องถิ่นเชียงใหม่กับเชียงตุง พระอาจารย์มนูเคยไปกราบนมัสการ เล่าให้ฟังว่า พระบาทฮังฮุ้งนี้อยู่บนแผ่นหินที่ตั้งขึ้นไป ไม่มีทางขึ้น เจ้าเมืองเชียงตุงทำบันไดเวียนขึ้นไปแต่นานแล้ว บันไดตอนกลางต่อโซ่ใส่พอได้ปีนขึ้นไป แต่ผู้หญิงหรือคนไม่แข็งแรงขึ้นไม่ได้ พระอาจารย์มนูตั้งใจจะขึ้นไปพักภาวนา แต่พอขึ้นไปแล้ว แผ่นหินนั้นเหมือนหลังช้าง ไม่มีที่ให้พัก บริเวณไม่กว้าง ประมาณ 10 วา รอบปริมณฑล เอาบริขารไปด้วย พะรุงพะรังลำบาก ขากลับ นำเอาบริขารพะรุงพะรังกลับลงมา ถ้าพลัดตกลงมาคงไม่ได้กลับบ้านเรา

    เรื่องพระพุทธบาทท่านเล่าแค่นี้
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ความสมบูรณ์พร้อมของประเทศไทย

    [​IMG]


    เรื่องอริยบุคคลนี้ ท่านพระอาจารย์ปรารภไว้หลายสถานที่หลายวาระ ต่างๆ กันแล้วแต่เหตุ

    ท่านเล่าว่า ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะใกล้เคียง เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว

    ท่านพระอาจารย์บอกว่า "เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้น แต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี"

    ท่านพระอาจารย์หมายถึง พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้ มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว คือ หมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว ที่ผู้เล่าเคยเล่าว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของตาผ้าขาวนั้นละ ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเขาถวายท่านพระอาจารย์และท่านเจ้าคุณบุญมั่น ครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า

    ท่านว่า "ยกเว้นสยามประเทศแล้วนอกนั้นไม่มี"

    "สำหรับสยามประเทศ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรพชิต แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่า ทั้งปริมาณและมีสิกขาน้อยกว่า"

    ท่านเล่าต่อไปว่า เราไม่ได้ว่าเขา เราไม่ได้ดูหมิ่นเขา เพราะประเทศเหล่านั้นขาดความพร้อม คือ คุณสมบัติหลายอย่าง เช่น เรื่องอักขระ ที่ไม่เป็นพุทธภาษา คือ ฐานกรณ์วิบัติ และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ องค์พระมหากษัตริย์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานี้ก็สำคัญ ขาดไม่ได้ ถ้าขาดไป อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย

    ท่านพระอาจารย์ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา ทรงหาหลักค้ำประกันอันมั่นคง คือ มุ่งไปที่พระเจ้าพิมพิสาร ความสำคัญอันนี้มีมาตลอด หากประเทศใดไม่มีองค์ประกอบนี้ ซึ่งเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ก็ปฏิเสธได้เลย

    เปรียบเหมือนกับก้อนเส้า 3 ก้อน ก้อนที่ 1 คือ ความเป็นชาติ ก้อนที่ 2 มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก้อนที่ 3 มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากขาดไปก้อนใดก้อนหนึ่ง ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป ไม่สามารถจะใช้นึ่งต้มแกงหุงหาอาหารได้
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เหตุที่ผู้ฟังเทศน์ไม่ยอมลุกหนี

    [​IMG]


    ตลอด 30 กว่าปี ที่ท่านพระอาจารย์แนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทชาวไทยมา ดูท่านจะแนะนำสั่งสอน แนวประโยชน์ทั้ง 3 ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ถือเป็นหลักสำคัญพอๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทุกครั้งแห่งพระธรรมเทศนา ท่านจะไม่ละประโยชน์ทั้ง 3 ทั้งอ้างที่มาในพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรมไปพร้อมๆ กัน

    ศิษย์ของท่านที่ได้เขียนได้เล่าประวัติของท่าน มักเล่าแต่หลักเป็นส่วนมาก เขียนหรือเล่าปลีกย่อยน้อยมาก แต่ศิษย์เก่ากำลังจะเล่านี้ จะเล่าทั้งเหตุและผล พร้อมทั้งที่มาที่ไปพร้อมๆ กัน พอเป็นการเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ผู้ได้ฟังเป็นที่ตั้ง

    ท่านพระอาจารย์จะแสดง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มรรคผล นิพพาน อันเป็นสัมปรายิกัตถะและปรมัตถะก็ดี จะนำประโยชน์ทั้ง 2 นี้มาเปรียบเทียบกับทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ แบบสัมพันธ์เป็นวงจรหรือวัฏจักรเสมอ เพื่อเปรียบเทียบ

    เหตุนี้ธรรมของท่านพระอาจารย์ ผู้ฟังไม่ยอมลุกหนี ถ้าท่านเทศน์ไม่จบจะไม่ยอมลุกหนี เพราะชวนฟังตลอด และคล้ายเป็นของง่าย เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก นำไปปฏิบัติก็เป็นผล ประสบความสำเร็จจริง ตามสมควรแก่การปฏิบัติ

    ขอกล่าวถึง อุปนิสัยและปฏิปทา ของท่านพระอาจารย์ก่อน ผู้เล่าสังเกตว่า ท่านมีความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจสัมพันธ์ และพลานามัยพร้อมมูล กล่าวคือ มักน้อยสันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ฉันหนเดียวในบาตร และอยู่ป่าเป็นวัตร เสมอต้นเสมอปลายจนท่านละสังขาร

    ปฏิปทาและวัตรที่กล่าวมานี้ ผู้เล่าเคยถวายความเห็นให้เว้นในวัตรบางข้อ เช่น ฉันหนเดียว ท่านก็ไม่ยอม ท่านบอกว่า หนเดียวก็มีค่าเพียงพอแล้ว ท่านมักยกเอาพระมหากัสสปะ มาเป็นอุทาหรณ์บ่อยๆ

    ท่านแสดงถึงประโยชน์ 2 คือ ประโยชน์เป็นที่ไปพร้อมในเบื้องหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ท่านจะยกมาเปรียบเทียบกับประโยชน์ในปัจจุบัน เปรียบด้วยการทำนา หวังผล คือ ข้าวสุก เพื่อใช้บริโภค

    ท่านกล่าวว่า ในปัจจัย 4 เหตุที่เอาผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มเป็นข้อ 1 นั้น เพราะคนเราเกิดจากครรภ์มา หลังจากชำระสะอาดแล้ว จะเอาผ้ารองรับก่อน ส่วน 3 อย่าง คือ เศรษฐกิจ ปัจจัยอื่นและครอบครัว จึงตามมา

    ท่านว่าปัจจัย 4 สำหรับบรรพชิต พระพุทธเจ้าทรงถือเป็นพื้นฐานของมรรคผลธรรมวิเศษที่พระองค์ตรัสรู้ ตลอด 45 พรรษาที่ตรัสเทศนาแก่พุทธบริษัท จึงทรงแสดงเป็นอเนกปริยาย ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม

    สำหรับคฤหัสถ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งคุณและโทษ ดังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแสดงไว้ในหนังสือนวโกวาท ภาคคิหิปฏิบัติ ตั้งแต่จตุกกะ คือ หมวด 4 ถึง ฉักกะ คือ หมวด 6 อยากรู้รายละเอียดโปรดค้นดูได้ในหนังสือนวโกวาท

    จะกล่าวตามแนวท่านพระอาจารย์มั่น พอเป็นตัวอย่าง

    ผู้ทำนาจะได้ผล คือข้าวสุก นำมาบริโภคอย่างอร่อย อิ่มหนำสำราญ พร้อมบุตรและภรรยานั้น เริ่มตั้งแต่การไถ หว่าน ต้องหมั่นเอาใจใส่ เมื่อปักดำแล้วก็คอยดูแลคันนา น้ำ หญ้าที่เป็นศัตรูข้าว และแมลงต่างๆ โดยน้ำอย่าให้ขาด

    ท่านพูดเป็นคำพังเพยว่า นาน้ำลัด นาน้ำล่วง นาหมาเห่าเมีย หมายความว่า นาที่คันนาขาด คันนารั่ว น้ำไม่มีขังอยู่ ข้าวก็ไม่ได้ผล ข้าวไม่พอกิน อดอยากข้าว เมียก็หาของฝาก ยุคโบราณมีไต้ ชาวอีสานเรียกว่า กระบอง (ขี้ไต้มัดรวมกัน 10 ท่อน เรียกว่า ลึมกระบอง) นำไปแลกข้าวบ้านอื่น หมาก็เห่า จึงกล่าวว่านาหมาเห่าเมีย เพราะนาขาดการดูแล ข้าวจึงไม่พอกิน

    อันนี้เป็นเรื่องความเจริญในแบบเศรษฐกิจครอบครัว

    ส่วนเรื่องความเสื่อมทางเศรษฐกิจ ท่านแสดงไว้ว่า อิตฺถี ทูโต สุรา ทูโต อกฺขา ทูโต ปาปมิตฺโต จโย นิโร ลฺทธํ ลทฺธา วินาเสติ ความเป็นนักเลงหญิง การเป็นนักเลงการพนัน การเป็นนักเลงสุรา การคบคนชั่วเป็นมิตร ผู้ใดประพฤติเช่นนี้ ทรัพย์ที่ได้ก็จะเสื่อมไป ท่านเทศน์อย่างนี้บ่อยๆ ขอเล่าพอสังเขป
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ลีลาแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์

    ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ ผู้ฟังไม่ลุกหนี เพราะลีลาการแสดงธรรมของท่าน มีอ้างคัมภีร์บ้าง เช่น ธรรมบท ขุทฺทกนิกาย หนังสือที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บุคคลนั้นที่นั้น เป็นต้น

    หากแสดงแก่บรรพชิต คือ พระที่เข้าไปนมัสการฟังธรรมเป็นครั้งคราว หรือศิษย์ที่อยู่ประจำ ดูจะอ้างอิงคัมภีร์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหนังสือที่ทรงรจนาโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เช่น บทสวดต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแสดง มีจตุรารักขกัมมัฏฐาน เป็นต้น ส่วนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นั้น จะเน้นนวโกวาท วินัยมุข และพุทธประวัติ

    พุทธประวัตินั้น จะไม่ละเลยแม้แต่ครั้งเดียว

    ลีลาการแสดงธรรมต่างๆ ของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเอามาจากพระไตรปิฎกบ้าง แม้ในคัมภีร์ในนิทานต่างๆ เช่น คัมภีร์พระเวสสันดร อุณหิสสวิชัยสูตร ปัญญาปารมีสูตร หรือพระนิพนธ์ต่างๆ ของสองพระองค์ดังกล่าว ก็นำมาแสดง ท่านมิได้แสดงเป็นอย่างอื่น แต่ทำไมศิษย์และผู้ฟังจึงเคารพเชื่อฟังและเลื่อมใส

    ท่านว่า "ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม

    สามัญชนพูด มีค่าเท่ากับ สามัญโวหาร

    กัลยาณชนพูด มีค่าเท่ากับ วิสามัญโวหาร

    พระอริยเจ้าพูด เป็นพระอริยโวหาร

    มีค่าต่างๆ กันดังนี้ เปรียบด้วยข้าว เปลี่ยนให้มีรสชาติยิ่งหย่อนกว่ากันได้"

    ที่เล่ามานี้คือ สูตรประจำ ปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เสาร์
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ยกย่องพระมหาเถระ

    [​IMG]


    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นพระมหาเถระอีกองค์หนึ่งที่ท่านพระอาจารย์ยกย่อง ด้วยคุณสมบัติพิเศษ

    - เป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม

    - มีความซื่อสัตย์

    - มีผลงานที่ผู้บังคับบัญชายอมรับ

    - มีความขยันและอดทนสูง

    - ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่พระอริยเจ้า

    ข้อ 1 ไม่กล่าวถึง คนทั่วไปก็รู้ ข้อ 2 ท่านเป็นธุระสนองงานให้คณะสงฆ์ ตั้งแต่อายุ 23 ปีมาตลอด ผลงานเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา เป็นผู้มีความอดทนสูงและขยัน ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ในทำเนียบพระเถระฝ่ายบริหารว่า ไม่มีใครเทียบเท่า

    สมัยไปเป็นเจ้าคณะมณฑลจำปาศักดิ์ ต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากจำปาศักดิ์สู่กรุงเทพฯ เพื่อรายงานราชการคณะสงฆ์ และให้คำแนะนำในการทำมาหากินแก่ชาวบ้าน อันเป็นนโยบายของ 3 พระองค์พ่อลูก (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ที่ให้ไว้แก่คณะสงฆ์ในสมัยนั้น แม้ท่านพระอาจารย์ก็ยึดถือมาตลอด ดังคำอบรมศิษย์ผู้จะออกแสวงวิเวกว่า การสอนคนหมายถึงสอนชาวบ้าน ต้องสอนปากสอนท้องให้เขาอิ่มก่อน จึงสอนศีลธรรม

    สมเด็จฯ นำคณะเดินทางจากจำปาศักดิ์ มาถึงช่องเม็กจะเข้าเขตอุบลราชธานี บังเอิญพระที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ล้มป่วยเสียชีวิตลง เหลือโยมคอยนำเสบียงเดินทาง 2 คน เดินทางมาด้วยกัน 4 คน ตายเสียคนหนึ่ง ช่วยกันหาฟืนเผาเสร็จแล้ว ห่อกระดูกใส่ย่าม สะพายมามอบแก่มารดาบิดาของเธอ ทั้งหนักกระดูกตนเอง แล้วยังหนักกระดูกเพื่อน ท่านพระอาจารย์เล่าไปหัวเราะไป ท่านชมเชยความอดทนสูงของสมเด็จฯ มาก สมเด็จฯ ท่านปฏิบัติหน้าที่มาจนแก่เฒ่า ได้พักไม่กี่ปีก็มรณภาพ

    (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เกิดเมื่อ พ.ศ.2410 ที่จังหวัดอุบลราชธานี อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2430 ที่วัดศรีทอง โดยมีท่านพระเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2499 ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ สิริรวมอายุได้ 89 ปี - ภิเนษกรมณ์)
     

แชร์หน้านี้

Loading...