เด็กๆ เห็น ‘อะไร’ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไทย

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 15 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    b980e0b8abe0b987e0b899-e0b8ade0b8b0e0b984e0b8a3-e0b89ce0b988e0b8b2e0b899e0b8abe0b899e0b989e0b8b2.jpg

    เห็นวิธีระบายความโกรธด้วยความรุนแรง

    ในละครไทย เมื่อนางร้ายถูกพระเอกปฏิเสธ เพราะจะรีบไปหานางเอก นางร้ายจะแสดงกิริยาอย่างไร

    ก. หายใจเข้า-ออกช้าๆ

    ข. เข้าครัวไปต้มมาม่า

    ค. กรีดร้อง กระทืบเท้า ขว้างปาข้าวของ

    แน่นอนว่านางร้ายในแบบฉบับละครไทยทั่วไป ต้องมีอาการกราดเกรี้ยวตามข้อ ค. และหากมีโอกาสได้เจอหน้านางเอก ก็อาจทำร้ายให้หายแค้น หรือกลั่นแกล้งด้วยการใช้ความรุนแรงต่างๆ


    ไม่เพียงตัวละครผู้หญิง ตัวละครชายก็เช่นกัน หากเป็นตัวร้ายที่มีลูกสมุน ก็อาจรุมซ้อมคู่กรณีให้สาแก่ใจ ตบหน้าลูกน้อง ปัดข้าวของบนโต๊ะล้มกระจาย หรือทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิต

    คำถามคือ หากเด็กเห็นสิ่งเหล่านี้ผ่านหน้าจอ พวกเขาเรียนรู้อะไร?

    พวกเขาจะเรียนรู้ว่า ความโกรธจัดการได้ด้วยความรุนแรง การทำลายข้าวของ การทำร้ายคนอื่น และพฤติกรรมก้าวร้าวต่างๆ เป็นสิ่งที่ ‘ทำได้’ เพราะในทีวีก็ทำกัน

    ทั้งนี้เพราะความรุนแรงเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ จึงเลียนแบบได้ง่าย ยิ่งหากว่าได้เห็นบ่อยๆ หรือถูกหล่อหลอมด้วยเนื้อหาเช่นนี้เป็นประจำ โดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม ก็อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้

    งานวิจัยเอแบคโพลล์ในปี 2546 เรื่อง ‘ผลกระทบสื่อโทรทัศน์ต่อเด็ก’ พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่า รายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระดับกลางค่อนไปทางมาก โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้คำด่าทอ การชกต่อย และการตบตีกับผู้อื่น เมื่อเห็นเนื้อหาเหล่านี้จากจอทีวี

    สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ถึงแม้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะหลีกเลี่ยงไม่ชมละครทีวีพร้อมกับลูก แต่ก็อาจมีการโฆษณาละครแทรกรายการทั่วไป หรือกระทั่งรายการสำหรับเด็ก โดยนำเสนอฉากที่มีความรุนแรงเพื่อดึงความสนใจผู้ชม เช่น ฉากทำร้ายร่างกาย, ตบหน้า, กรีดร้อง, ทำลายข้าวของ ฯลฯ ซึ่งมักดึงดูดความสนใจจากผู้ชมตัวจิ๋วได้เป็นอย่างดี


    เห็นการล้อเลียนเป็นเรื่องตลก

    “แค่ล้อเล่น อย่าคิดมาก”, “แหม แหย่นิดแหย่หน่อยไม่ได้เลยนะ”

    คุ้นๆ สองประโยคนี้กันไหม

    สังคมไทยเป็นสังคมที่มักพูดล้อเล่น หยอกล้อ หรือแซวกัน ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อสร้างความสนิทสนม หรือสร้างความสนุกสนาน โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าสิ่งที่พูดออกไปนั้นกระทบกับความรู้สึกของผู้ฟังอย่างไรบ้าง

    พฤติกรรมการล้อเล่น คือสิ่งที่พบได้บ่อยในรายการทีวี โดยเฉพาะรายการเกมโชว์ต่างๆ ที่มีการแซวรูปร่างหน้าตา หรือการนำเอาปมด้อยของคนอื่นมาล้อเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ และบางครั้งล้อก็ถึงขั้นสร้างความอับอายให้ผู้อื่น — เราอาจพบพฤติกรรมเหล่านี้บ่อยจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ แล้ว นี่คือการบูลลี่ (Bully) ที่แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บทางกาย แต่ก็สามารถสร้างบาดแผลทางใจได้

    รายการทีวีที่นำเสนอเรื่องราวสนุกสนานผ่านการบูลลี่ มีเสียงหัวเราะจากผู้ชมเป็นแรงสนับสนุน อาจทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าการล้อเลียนคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งในทางกลับกัน เมื่อเด็กที่ถูกบูลลี่ในชีวิตจริงเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ผ่านสื่อ อาจเข้าใจว่า การถูกบูลลี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับให้ได้ แม้ลึกๆ จะรู้สึกไม่โอเค และพวกเขาก็อาจโทษตัวเองว่า ‘อ่อนแอ’ เพราะใครๆ ในสังคมก็ล้อเลียนล้อเล่นกันเป็นเรื่องปกติ

    เด็กๆ ควรได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า การล้อเลียน หรือการนำปมด้อยผู้อื่นมาพูดเป็นเรื่องตลกนั้นไม่ใช่เรื่องปกติในสังคม หากลูกถูกบูลลี่ก็ไม่จำเป็นต้องก้มหน้ายอมรับ เด็กๆ สามารถยืนหยัดและบอกคนที่ล้อเลียนตนเองได้ว่า ไม่ชอบพฤติกรรมดังกล่าว หรือพยายามอยู่ห่างๆ บุคคลเหล่านั้นเอาไว้

    เห็นข่าวร้ายสร้างความกังวล

    เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารรายล้อมอยู่รอบตัว พอเข้าโซเชียลมีเดีย เพื่อนๆ ก็แชร์ข่าวสารพัด เปิดทีวีก็มีข่าวแทบทุกต้นชั่วโมง ยังไม่รวมข่าวภาคเช้า, ข่าวภาคเที่ยง, เจาะประเด็นข่าว, ข่าวภาคบ่าย และข่าวภาคเย็น ซึ่งในบรรดาข่าวที่นำเสนอทางทีวีนั้น เกินครึ่งมักไม่ใช่ข่าวดี ไม่ว่าจะเป็นอุบัติภัย, อาชญากรรม, ภัยพิบัติ, โรคระบาด, การก่อการร้าย หรือความรุนแรง

    งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการรับชมข่าวระเบิดที่เมืองโอคลาโฮม่า และเหตุการณ์ 9/11 ของเยาวชน พบว่า เด็กที่ติดตามข่าวเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง มีอาการทางใจ (Trauma) โดยไม่อาจระบุสาเหตุได้ว่า เป็นเพราะเด็กติดตามการรายงานข่าวเหล่านี้มากจนวิตกกังวล หรือเป็นเพราะเด็กวิตกกังวลอยู่แล้วจึงติดตามข่าวนี้

    โดยทั่วไปเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ยังไม่สามารถแยก ‘เรื่องจริง’ และ ‘เรื่องแต่ง’ ได้ การดูข่าวจึงอาจเหมือนการดูการ์ตูนเรื่องหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เด็กๆ รับรู้ถึงความกังวลใจของพ่อแม่ผู้ปกครองได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อดูข่าวไฟไหม้โรงงานที่อาจอยู่ใกล้บ้าน พ่อแม่อาจกังวลเรื่องสารเคมี ซึ่งความรู้สึกวิตกกังวลนี้จะถูกส่งต่อไปยังลูก และอาจทำให้ลูกนอนผวา ฝันร้าย หรืองอแงมากกว่าปกติ

    ข้อมูลจาก Commonsensemedia.org แนะนำว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมในการติดตามข่าวคือ 7 ปีขึ้นไป เพราะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี การรับรู้ข่าวสารอาจทำให้เด็กกังวลโดยไม่จำเป็น เพราะเป็นการยากสำหรับเด็กวัยนี้ที่จะแยกแยะว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง สิ่งใดเกิดขึ้นได้ และสิ่งใดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่น เด็กอาจเห็นข่าวภูเขาไฟระเบิดจนรู้สึกกลัว เมื่อพ่อแม่อธิบาย ลูกก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าภูเขาไฟระเบิดคงไม่เกิดขึ้นใกล้ๆ บ้านเราแน่

    อย่างไรก็ดี พ่อแม่ผู้ปกครองยังคงสามารถช่วยลดความกังวลให้กับเด็กๆ ได้ ด้วยการปิดโทรทัศน์ งดการรับรู้ข่าวสาร ขณะที่อยู่กับเด็กๆ แล้วถามไถ่ว่าลูกมีความกลัวอะไร และให้คำแนะนำโดยใช้วิธี Prepare Not Panic คือ ‘ตระเตรียม ไม่ตระหนก’ อาทิ หากดูข่าวน้ำท่วม ก็อาจบอกวิธีการเตรียมตัวให้ลูก บอกวิธีรับมือ เพื่อเตรียมตัวดี ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล

    การเปิดทีวีที่รายงานข่าวไว้ตลอดทั้งวัน ก็เหมือนการรับฟังข่าวร้ายตลอดเวลา จึงไม่แปลกหากเด็กๆ จะมีอาการกังวลหรืองอแงมากขึ้นในช่วงที่มีแต่ข่าวร้ายๆ รอบตัว ความเข้าใจและสร้างความมั่นใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กๆ คลายความกังวลได้

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า เสียงจากทีวีที่เปิดทิ้งไว้หรือ Background TV Exposure อาจทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลงในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และยังส่งผลต่อเวลาคุณภาพที่ควรมีภายในครอบครัวด้วย

    อ้างอิง: American Psychological Association, Pediatrics


    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/momandkid/2140927
     

แชร์หน้านี้

Loading...