เทศน์วันมาฆบูชา วันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๘
https://www.youtube.com/live/vGIvbAImS4Y
เทศน์เริ่มนาทีที่ ๒๗.๐๐
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สติมโต สทา ภทฺทํ ติฯ
ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิปัสสนาในสติกถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมีของบรรดาธนิสราทานบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้
ญาติโยมทั้งหลาย วันมาฆบูชานั้นจัดเป็นวันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนาของเราวันหนึ่ง เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในพระพุทธศาสนา ต่อพระสงฆ์สาวกของพระองค์ท่านว่า..
เมื่อถึงเวลาออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ว่ากล่าวไปในแนวทางเดียวกันดังนี้ ซึ่งภาษาบาลีนั้นท่านได้ใช้คำว่า..
"สพฺพปาปสฺส อกรณํ" คือ การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง
"กุสลสฺสูปสมฺปทา" คือ การยังกุศลให้ถึงพร้อม
"สจิตฺตปริโยทปนํ" ขอให้ชำระจิตของตนให้สะอาด หมดจดจากกิเลสทั้งปวง
โดยที่ยืนยันว่า "เอตํ พุทฺธานสาสนํ" ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่สั่งสอนกันอย่างนี้
เทศน์วันมาฆบูชา วันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๘
ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 กุมภาพันธ์ 2025.
-
ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
โดยที่..หลักการที่จะให้เข้าถึงทั้งหลายเหล่านี้นั้น ท่านกล่าวว่า..
"อนูปวาโท" คือ ไม่ว่าร้ายใคร
"อนูปฆาโต" ไม่ทำร้ายใคร
"ปาติโมกฺเข จ สํวโร" ให้สำรวมในศีลตามสภาพของตน
"มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ" คือ รับประทานอาหารแต่พอสมควรที่จะยังชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่กินล้น กินเกิน กินตามใจตัวเอง
"ปนฺตญฺจ สยนาสนํ" ให้อยู่อาศัยในที่อันสงัด เหมาะแก่การปฏิบัติสมาธิภาวนา
"อธิจิตฺเต จ อาโยโค" ให้ยังสภาพจิตของตนให้ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านส่งส่ายไปตามอำนาจรัก โลภ โกรธ หลง
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราทำได้ เราก็จะเป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น 'พุทธสาวก' อย่างแท้จริง -
โดยที่การประกาศศาสนานั้น พระองค์ท่านตรัสว่า..
"ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา"
"ขันติ" คือ ความอดทนอดกลั้นนั่นแหละ เป็น "ตบะ" หรือว่าแนวทางการปฏิบัติอย่างยิ่งของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาของเรา
"นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา"
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักตรัสถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ "พระนิพพาน" ไว้เสมอ
"สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต"
"สมณะ" คือ ผู้มีบาปอันลอยแล้ว ย่อมไม่ใช่ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ดังนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศอุดมการณ์ไปแล้วว่า เราทั้งหลายมีที่สุดแห่งทุกข์เป็นที่ไป โดยที่ต้องอดกลั้นอดทน ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ต้องเป็นผู้ที่สำรวมตนอยู่ในศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ รู้จักบริโภคอาหารแต่พอดี และพยายามอยู่ในที่สงัด สร้างสมาธิจิตให้เกิด
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลย..ถ้าเราขาดสติ ดังที่ยกบาลีขึ้นเป็นนิกเขปบทเมื่อครู่นี้ว่า "สติมโต สทา ภทฺทํ" ผู้มีสติย่อมเข้าถึงความเจริญได้ทุกเมื่อ -
การที่เราท่านทั้งหลายจะมีสตินั้น..เราจะต้องมีสมาธิก่อน ถ้าสมาธิทรงตัว สติก็จะตั้งมั่น
แล้วสมาธิของเรามาจากไหน ? สมาธิของเรามาจากศีลเป็นเครื่องหนุนเสริม
ในขณะที่เราตั้งใจรักษาศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกาก็ดี ศีล ๑๐ สำหรับสามเณรก็ดี หรือว่าศีล ๒๒๗ สำหรับพระก็ดี ความที่เราต้องระมัดระวังไม่ให้ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่เผลอยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล เท่ากับว่าเรากำลังสร้างสมาธิให้เกิด เพราะสภาพจิตที่จดจ่อระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา สมาธิย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย
ก็แปลว่า..เราท่านทั้งหลาย ถ้าจะปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องเริ่มจากศีลก่อน ถึงจะเป็น "สพฺพปาปสฺส อกรณํ" ได้ ก็คือ การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง คือ..
การคิดชั่ว เราก็พยายามไม่คิด
การพูดชั่ว เป็นการละเมิดศีล เราก็พยายามไม่พูด
การทำชั่ว ที่เป็นการละเมิดศีล เราก็พยายามไม่ทำ
ถ้าหากว่าเราทำอย่างนี้ได้จึงได้ชื่อว่า 'ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง' แต่เราจะละเว้นไม่ได้เลยถ้าหากว่า 'ขาดสติ' เพราะว่าบุคคลที่ไม่รู้ตัว..บางทีละเมิดศีลไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองทำผิด..! การที่เราจะหักห้ามใจตนเองไม่ให้ละเมิดศีลทั้งที่รู้ตัว ก็แปลว่า เราต้องมีกำลังสมาธิด้วย ถ้ากำลังสมาธิไม่เพียงพอก็เหมือนกับรถไม่มีเบรค ไม่สามารถที่จะหยุดรถให้ไหลลงที่ต่ำได้
ดังนั้น..เราท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นศีลก็ดี เป็นสมาธิก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนของเราจักต้องมีเอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะไหลตามกระแสโลกไปอย่างเดียว โดยไม่อาจจะที่ระงับยับยั้งตนเองเอาไว้ได้ เพราะว่าขาดสติ ขาดสมาธิ ดีไม่ดีก็ขาดปัญญาด้วย
-
เมื่อถึงเวลา..เว้นจากความชั่วทั้งปวงแล้ว เราจะต้องทำความดีให้ถึงพร้อมด้วย ก็คือ ทำดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เป็น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ รวมแล้ว ๑๐ ประการด้วยกัน ถ้าหากว่าสามารถละเว้นได้ทั้งหมด ก็ถือว่า 'เราทำความดีให้ถึงพร้อม'
ละเว้นจากกายกรรม ๓ คืออะไร ? ก็คือ การไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติผิดในกาม
วจีกรรม ๔ คืออะไร ? ก็คือ ไม่โกหก ๑, ไม่พูดคำหยาบ ๑, ไม่พูดส่อเสียดให้คนแตกร้าวกัน ๑ และไม่พูดวาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ ๑
มโนกรรม ๓ คืออะไร ? คือ..
ไม่โลภ อยากได้ของคนอื่นจนเกินพอดี อยากได้อะไรให้หามาโดยถูกต้องตามศีลตามธรรม
ไม่อาฆาตพยาบาทผู้อื่น จนเป็นการเอาไฟมาเผาใจตนเอง โกรธได้..แต่ว่าโกรธแล้วให้ลืม อย่าไปผูกโกรธเอาไว้
และท้ายที่สุด..มีสภาพจิตที่ "รู้ดี รู้ชั่ว" เรียกว่า มี "สัมมาทิฏฐิ" ก็คือ สิ่งไหนที่พระพุทธเจ้าสอนมานั่นเป็นสิ่งดี เราพร้อมที่จะปฏิบัติตาม
ถ้าท่านทั้งหลายสามารถที่จะรักษาความดีอย่างนี้เอาไว้ได้ ถึงจะได้ชื่อว่า ท่านยังกุศลให้ถึงพร้อม แล้วท้ายที่สุดก็เหลือการชำระจิตของตนให้สะอาดปราศจากกิเลส ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้นั้นน้อยมาก แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย -
เนื่องเพราะว่า..การชำระจิตของเราก็มีทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย..
เบื้องต้นของเรานั้นชำระด้วยศีล หักห้ามตัวเอง ไม่ให้กิเลสไหลไปกระทบผู้อื่น โกรธ..แต่ว่าไม่ทำร้ายใคร โลภ ไม่ลักขโมยของใคร ถ้าหากว่าโกรธก็ไม่ด่าว่าใคร..ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ของเรา เราก็อยู่ในลักษณะของบุคคลที่เพียรพยายามหักห้ามตนเอง ซึ่งการหักห้ามนั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อสมาธิของเราทรงตัว
การที่จะมีสมาธิทรงตัวได้..ศีลทุกข้อของเรานอกจากบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ยังต้องหาเวลาในการภาวนาอย่างเป็นทางการเอาไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเช้า ๆ เย็น ๆ สักครั้งละ ๕ นาที ๑๐ นาที หรือถ้าใครทำได้สัก ๓๐ นาทีหรือ ๑ ชั่วโมงก็ยิ่งดี..!
โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด หรือว่าสภาวะสงครามต่าง ๆ เกิดขึ้น ภัยธรรมชาติเกิดขึ้น เราจะภาวนาก็ขอให้เกิดผลพิเศษด้วย..ก็ภาวนาพระคาถาเงินล้านไปเลย ถ้าอย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านบอกเมื่อล่าสุดมา..ก็พยายามว่าให้ได้สักวันละ ๑๐๘ จบ ก็คือ ใช้ภาวนาเป็นกรรมฐาน ไม่ใช่สักแต่ท่องให้ได้ครบทั้ง ๑๐๘ จบ ถ้าทำอยู่ในลักษณะอย่างนี้ นอกจากเราทรงสมาธิแล้ว ยังมีผลพิเศษให้เกิดความคล่องตัว สามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้
-
ในเบื้องต้นของเรา..เราใช้ศีลเป็นเครื่องป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกไปอยู่ในที่ชั่ว เบื้องกลาง..ใช้สมาธิในการยับยั้งชั่งใจตน ไม่ให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วท้ายที่สุด..ยังต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาให้เห็นว่า การเกิดมาแต่ละชาติของเรานั้นมีแต่ความทุกข์..
ในปัจจุบันของเรานี้ สภาวะสงครามทำให้เดือดร้อนไปทั้งโลก ดีไม่ดีผลกระทบก็จะมาถึงเรา อยู่กับบ้านเฉย ๆ ก็มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาหลอกเราจนหมดเนื้อหมดตัว ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนแบบนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีก เราก็ตั้งกำลังใจไว้ว่า ถ้าตายจากชาตินี้เมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว
ถ้าท่านทั้งหลายสามารถวางกำลังใจแบบนี้ ประพฤติปฏิบัติแบบนี้ได้ทุกวัน ถึงจะได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายละเว้นจากอกุศลทั้งปวง กระทำกุศลให้ถึงพร้อม และพยายามชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลส จึงจะสมกับพุทโธวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสไว้เป็นโอวาทปาฏิโมกข์ให้แก่พวกเรา และในส่วนสำคัญก็คือ ต้องมีสติ ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา เราถึงจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่วุ่นวายเร่าร้อนนี้ไปได้อย่างไม่ทุกข์ยากมากนัก
-
ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นประธาน มีบารมีของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนทั้งหลาย มีหลวงปู่สาย อคฺควํโส เป็นที่สุด
ขอได้โปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายอยู่รอดปลอดภัยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใด ที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้ว ขอให้ความปรารถนาของท่านทั้งหลายจงสำเร็จสัมฤทธิ์ผล สมดังมโนรสทุกประการ
รับหน้าที่วิสัชนามาในสติกถา เนื่องในวันมาฆบูชาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์วันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุน
วันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)