เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย santosos, 11 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. santosos

    santosos เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    1,165
    ค่าพลัง:
    +3,212
    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๓

    งานของผู้ต้องการความพ้นทุกข์

    จิตเป็นสิ่งที่ละเอียดมากเกินสิ่งทั้งหลายในโลก ไม่มีสิ่งใดที่จะมีความละเอียดยิ่งกว่าจิต แม้จะอยู่ในอำนาจของสมมุติก็ยังมีความละเอียดอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน ยิ่งพ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวงแล้ว เพียงแต่รู้เท่านั้น จะพูดออกมาในแง่ใด มันเป็นเรื่องสมมุติเสียทั้งมวล พูดไม่ได้ นักปราชญ์ท่านจึงแยกออกมา เพราะโลกอยู่ในสมมุติมีสมมุติ ธรรมไม่แยกออกมาเป็นสมมุติก็เข้ากันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแยกออกมา เช่นว่านิพพานเป็นต้น ให้ชื่อธรรมชาติอันนั้นแหละ สอุปาทิเสสนิพพาน ได้นิพพานทั้ง ๆ ที่ยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน ผ่านจากธาตุขันธ์ไปเรียบร้อยแล้ว หมดความรับผิดชอบซึ่งเกี่ยวกับสมมุติโดยประการทั้งปวง ท่านเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน สุดท้ายก็ว่าท่านไปนิพพาน แต่ธรรมชาติที่ถูกให้ชื่อให้นามนั้นไม่ได้เข้ากันกับคำเหล่านี้ได้เลย

    คำว่าเช่นนี้ผู้ฟังอาจเข้าใจผิดได้ ผู้ที่รู้ในความเป็นนิพพานของตนเท่านั้นเข้าใจแนบสนิทกับความจริงนี้ มีกี่ร้อยกี่พันองค์จะไม่มีใครแย้งกันเลย ที่แยกออกมาเช่นนั้นก็เพราะโลกมีสมมุติดังที่กล่าวแล้ว เพียงอยู่ในธาตุในขันธ์ ขณะที่ไม่ใช้ธาตุขันธ์ คือขันธ์ ๕ นี้ ระงับเสียให้หมด เช่นท่านเข้าสมาธิสมาบัติ คำว่าสมาบัติก็ยังเป็นสมมุติ สมาธิก็เป็นสมมุติ แต่ธรรมชาติที่เป็นวิมุตตินั้นอาศัยอันนี้อยู่ เข้าสู่อันนี้แล้วระงับสมมุติทั่ว ๆ ไป หากเหลือก็เหลือแต่ชื่อว่าสมาบัติ เพราะระงับขันธ์ นั่นจะเห็นได้ชัดเจนว่าโลกธาตุนี้ไม่มีเลยในขณะนั้น เพราะอาการของจิตไม่แสดงออกสู่สิ่งใดให้เป็นอารมณ์แม้น้อย

    เมื่อเหลือแต่ความรู้ที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วจึงพูดไม่ได้เลยว่าเหมือนอะไร ผู้ที่สิ้นแล้วเท่านั้นเป็นผู้ที่จะทราบได้อย่างชัดเจน แต่จะนำออกมาสู่สมมุตินั้น แล้วแต่อุบายวิธีของท่านผู้ใดจะนำออกมาได้ด้วยวิธีใด ตามความสามารถฉลาดแหลมคมของแต่ละองค์ ๆ ที่จะนำออกสู่สมมุติ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าความฉลาดในความบริสุทธิ์นั้นต่างกัน เพราะเป็นสิ่งที่คงที่ตายตัวแล้ว พูดว่าฉลาดพูดว่าโง่ไม่ได้ ไม่ใช่วิสัยจะไปพูดกับธรรมชาตินั้น การพูดว่าฉลาดแหลมคมเป็นต้นของปราชญ์ชั้นนี้นั้น เราพูดตามภูมินิสัยวาสนาของท่าน ที่จะนำธรรมออกไปประกาศสอนโลกได้กว้างแคบมากน้อยต่างกันอย่างไร นี่เป็นภูมินิสัยวาสนาที่นำธรรมออกสู่สมมุติ ส่วนธรรมวิมุตติซึ่งเป็นสมบัติของท่านนั้นเป็นประเภทหนึ่งต่างหาก เราพูดไม่ได้ว่าท่านโง่หรือท่านฉลาด เพราะเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ตายตัวเสมอกันหมดแล้ว

    ด้วยเหตุนี้เองบรรดาพระขีณาสพท่านนับแต่พระพุทธเจ้าลงมา จึงต้องอาศัยสมาธิสมาบัติเพื่อระงับระหว่างขันธ์กับจิต ให้อยู่สะดวกสบายเป็นครั้งคราวไป จนกระทั่งถึงวันนิพพาน เพราะเหตุนี้สมถะกับวิปัสสนาจะเป็นของพระขีณาสพ หรือเป็นของผู้กำลังดำเนินเพื่อความเป็นพระขีณาสพก็ตาม ย่อมมีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เป็นแต่จำเป็นไปคนละแง่เท่านั้นเอง ผู้ที่กำลังดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นผู้มีเจตนาหวังอาศัยสมถวิปัสสนานี้เป็นแนวทางจริง ๆ แต่ท่านผู้สิ้นกิเลสอาสวะแล้ว ท่านไม่หวังอาศัยเพื่อความสิ้นกิเลสประเภทใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะท่านสิ้นเรียบร้อยแล้ว เป็นแต่เพียงเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่สบายระหว่างขันธ์กับจิต ให้เหมาะสมกันจนถึงอายุขัย เป็นไปด้วยความราบรื่นระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองกันอยู่เท่านั้น พอผ่านจากนั้นแล้ว สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นสมมุติก็เป็นอันว่าผ่านไปหมดไม่มีเหลือ

    ธรรมนี้เราเคยได้เห็นแต่ในตำรับตำรา ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านดำเนินและรู้กันมาโดยลำดับ มาประกาศสอนโลก เราจึงได้ยินแต่ชื่อแต่นามแห่งสมาธิสมาบัติ ตลอดวิธีการกำจัดกิเลสถึงความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน แต่ธรรมเหล่านี้เรายังไม่สามารถอาจเอื้อม ที่จะเข้าถึงได้ให้เป็นสมบัติของตน เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเต็มขั้นภูมิ จึงต้องอาศัยความพยายามตามหลักศาสดาที่ทรงสั่งสอนไว้นี้ อย่าได้ปลีกแวะจากทางดำเนินของพระองค์และสาวกที่ท่านดำเนินมา

    งานของพระผู้ต้องการความพ้นทุกข์นั้น เป็นงานที่หนักแน่น หรือจะว่าเป็นงานที่หนัก เป็นงานที่ต้องใช้ความพากเพียรความอุตส่าห์พยายาม ใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรอย่างมาก ผิดกับงานทั้งหลายที่โลกทั้งหลายทำกันเป็นไหน ๆ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรลืมและควรสำนึกตัวอยู่เสมอ ว่าเวลานี้ความพากเพียรของเราเป็นอย่างไรบ้าง พอที่จะเข้าร่องรอยแห่งเส้นทางที่พระศาสดาและสาวกท่านดำเนินไปแล้วได้บ้างเพียงไร หรือได้เป็นที่ภูมิใจเพียงไร จึงควรสำนึกเสมออย่าลืมตัว

    งานนี้เป็นงานสำคัญมากสำหรับผู้ต้องการความพ้นทุกข์ จึงไม่ควรถืองานใดมาเป็นอารมณ์เครื่องกีดขวางจิตใจหรือมาเป็นใหญ่กว่างานนี้ซึ่งจะทำให้งานนี้ล้มเหลวไปได้ งานของพระในครั้งพุทธกาล ท่านถืองานบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อความสงบเยือกเย็นภายในจิตใจ และวิปัสสนาธรรมเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดในสภาวธรรมทั้งหลาย นับแต่ภายในหรือนับแต่ภายนอกเข้ามาสู่ภายใน นับแต่ภายในออกไปสู่ภายนอก ให้ทะลุปรุโปร่งตลอดทั่วถึงไปหมด แล้วปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสมมุติอันมีอยู่ในโลกสมมุตินี้ จิตได้ผ่านพ้นไปด้วยความเฉลียวฉลาดแหลมคมของตน

    คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ครอบวิธีการดำเนินไว้หมดทุกแง่ทุกมุมแล้ว ศีลนั้นเป็นธรรมประเภทหยาบ ท่านเรียกว่าศีล ความจริงก็คือธรรม เบื้องต้นอาศัยการบังคับบัญชาให้อยู่ในสิกขาบทคือข้อห้ามนั้น ๆ ไว้ก่อน ข้อห้ามนั้น ๆ ก็นับตั้งแต่ศีล ๕ ขึ้นไปโดยลำดับ มีแต่ข้อห้ามทั้งนั้น ไม่มีข้ออนุญาต เราพยายามปฏิบัติหรือบังคับจิตใจกายวาจาของเราให้เป็นไปตามข้อห้ามนั้น ๆ โดยลำดับ ในขั้นนี้ต้องได้บังคับตัวเองให้เข้าสู่ธรรมข้อห้ามประเภทนี้ ที่ท่านเรียกว่าศีล

    สมาธิก็ให้บำเพ็ญ ที่เรียกว่าสมถะ เพื่อความสงบใจ ด้วยการเดินจงกรมมีสติกำกับกับงานของตนที่ทำ ผู้ใดมีงานอะไรเป็นอารมณ์ของตน เช่นคำบริกรรม หรือกำหนดธรรมแง่ใดเป็นอารมณ์ในขณะที่ต้องการความสงบ ให้จิตมีความสงบเยือกเย็นและเป็นฐานแห่งความมั่นคงขึ้นมาภายในตน พึงทำอย่างเอาจริงเอาจัง ศรัทธา วิริยะ นั่นฟังซิ สติมีความเข้มแข็งอยู่ภายในนั้น ถ้ายังไม่ใช้ปัญญาในขณะนั้น ก็ ศรัทธา วิริยะ สติเป็นสำคัญ ให้กำกับงานของตนด้วยดี อย่าปล่อยให้เผลอแล้วถูกกิเลสฉุดลากจิตส่งไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไปกอบโกยเอาความทุกข์เข้ามาสู่ตน ซึ่งผิดกับความมุ่งหมายของผู้ต้องการความสงบ เพื่อจะตะล่อมกิเลสให้เข้าสู่จุดรวม แล้วสังหารด้วยปัญญาไปเสีย
     
  2. dangcarry

    dangcarry เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2005
    โพสต์:
    1,396
    ค่าพลัง:
    +4,305
    อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ค่ะ
    ผู้ที่ปฏิบัติเดินตามหัวใจหลักธรรม และเห็นในความถ่องแท้ของการงานทั้งภายนอก ภายใน ก็ต้องเพียรให้มาก ตามหลักคำสอน คำกล่าวที่ จขกท ยกมาให้เป็นธรรมทาน เพื่อให้นักปฏิบัติพึงสำรวจตรวจทานตัวเอง ว่าวันนี้สิ่งที่เราทั้งหลายได้กล่าวอ้างว่ารู้ในธรรมนั้น
    รู้ที่ไหน ยึดที่ไหน ขออนุโมทนา กับจขกท อีกครั้งค่ะ
     
  3. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,199
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    สมาธิก็ให้บำเพ็ญ ที่เรียกว่าสมถะ เพื่อความสงบใจ ด้วยการเดินจงกรมมีสติกำกับกับงานของตนที่ทำ ผู้ใดมีงานอะไรเป็นอารมณ์ของตน เช่นคำบริกรรม หรือกำหนดธรรมแง่ใดเป็นอารมณ์ในขณะที่ต้องการความสงบ ให้จิตมีความสงบเยือกเย็นและเป็นฐานแห่งความมั่นคงขึ้นมาภายในตน พึงทำอย่างเอาจริงเอาจัง ศรัทธา วิริยะ นั่นฟังซิ สติมีความเข้มแข็งอยู่ภายในนั้น ถ้ายังไม่ใช้ปัญญาในขณะนั้น ก็ ศรัทธา วิริยะ สติเป็นสำคัญ ให้กำกับงานของตนด้วยดี อย่าปล่อยให้เผลอแล้วถูกกิเลสฉุดลากจิตส่งไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไปกอบโกยเอาความทุกข์เข้ามาสู่ตน ซึ่งผิดกับความมุ่งหมายของผู้ต้องการความสงบ เพื่อจะตะล่อมกิเลสให้เข้าสู่จุดรวม แล้วสังหารด้วยปัญญาไปเสีย<!-- google_ad_section_end -->

    อนุโมทนา สาธุ
     
  4. dangcarry

    dangcarry เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2005
    โพสต์:
    1,396
    ค่าพลัง:
    +4,305
    อนุโมทนา กับ ธรรมที่คุณหลงเข้ามาเสนอแน่ะ ค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...