'เปิดวัดวันอาทิตย์เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ'

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 11 พฤศจิกายน 2012.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ 'เปิดวัดวันอาทิตย์เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ' :สมหมาย สุภาษิต รองผอ.สำนักงานบริหารสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มจร

    วัด กำลังร้างเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
    พระ ร้างราเหินห่างวิถีแห่งพุทธสาวก
    อุบาสก อุบาสิกา ร้างราจากความเป็นพุทธบริษัท
    กี่วัด ยังมีการบำเพ็ญบุญกุศลในวันพระ
    กี่คน สามารถไปร่วมบำเพ็ญบุญกุศลในวันพระ

    ข้าราชการ ต้องหนีงานราชการ
    พนักงานบริษัท ต้องละทิ้งหน้าที่
    นี่หรือ คือวิถีชีวิตชาวพุทธในยุคปัจจุบัน
    เข้าวัด ต้องหนีราชการ
    เข้าวัด ต้องละทิ้งหน้าที่ ต้องขโมยทำความดี!


    โดยทั่วไปภาพที่เห็นคุ้นชินตา นั่นคือ คนเข้าวัดกันอย่างคลาคล่ำในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาเป็นต้น เพื่อทำบุญตักบาตร ไหว้พระ แต่วันอื่น ๆ แม้กระทั่งในวันพระ พบว่า มีคนเข้าวัดน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีคนเลยในบางวัด วัดและพระจึงร้างราจากความเป็นพุทธบริษัท กี่วัดที่ยังมีการบำเพ็ญบุญวันพระ? กี่คนที่สามารถไปร่วมบำเพ็ญบุญในวันพระ? เพราะถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องหนีงานราชการ ถ้าเป็นงานบริษัท ก็ต้องละทิ้งหน้าที่ นี่หรือคือวิถีชีวิตของชาวพุทธ เข้าวัดต้องหนี ต้องละทิ้งงาน หรือต้องขโมยทำความดี ...

    เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย เกิดอะไรขึ้นกับพระพุทธศาสนา เกิดมาจากสาเหตุใด?

    พระปัญญานันทมุนี (ส.ณ.สุภโร) เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ศิษย์เอกของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี ได้เมตตาแสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจและแหลมคมทางความคิดยิ่งนักว่า ... สังคมไทยถูกแรงเหวี่ยงทางความคิดของโลกตะวันตก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เช่นคำว่า อารยประเทศ คือประเทศที่มี อริยธรรมหมายถึงพัฒนาแล้ว แต่เมื่อกลับมาดูประเทศไทยถือว่ายังไม่พัฒนาจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการใหญ่จากภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้านศาสนาวัฒนธรรมประเพณี จากหยุดวันโกน วันพระ มาเป็นวันเสาร์ - อาทิตย์ เพื่อให้เกิดความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เมื่อมาถึง ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ก็ก่อให้เกิดการไหลบ่าของวัตถุนิยม (Materialism) จนเกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม (Consumerism) เน้นความสะดวกมากกว่าสาระ ทำให้เกิดกลุ่มบริษัทหรือค่ายต่าง ๆ กุมชะตากรรมสังคม ทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภทต้องล่มสลาย แม้การเงินการคลังระดับประเทศก็กระทบแล้วระบาดไปทั่วโลกจนเกิดยุค IMF (International Monetary Fund) ยิ่งมาถึงยุคปัจจุบันการเข้ามาของ IT (Information Technology) แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงวันต่อวันเป็นโลกออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) จนมาถึง 3G (3rd generation mobile telecommunications) แล้วก็ยังมีเรื่องของการประกันคุณภาพ ISO (International Organization for Standardization) ส่งผลให้ประชาคมโลกและประชาคมอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ก่อให้เกิดโลกส่วนตัวมากขึ้น ส่วนครอบครัว สังคมล่มสลาย

    วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน กำลังถูกแรงเหวี่ยงของกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยมเข้ามามีบทบาท ทำให้วัดที่เคยเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชน (บวร) ซึ่งเป็น ธรรมนิยม ปฏิบัตินิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง วัดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นศูนย์ธุรกิจชุมชน ดังนั้นคำว่า “สัพเพ สัตตา - สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เลือนหายไป คนมีชีวิตแต่จะขาดชีวา การระบาดของสิ่งเสพติดก็จะรุนแรงมากขึ้น สังคมประสบวิกฤตต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าวิกฤตทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคมและวิกฤตทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อุบัติภัยและโรคระบาดต่าง ๆ นานาอันเป็นโทษต่อสุขภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตทางศีลธรรม จนบางครั้ง “มัวแต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ จนลืมความวิปริตทางศีลธรรม - หากศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน ”

    แก้ปัญหาโดยมาถอยหลังเข้าคลอง (ธรรม) กันดีกว่า

    “การแก้ไขวิกฤตทางศีลธรรมที่จะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือการปรับระบบกายและระบบจิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน โดยใช้ตารางชีวิตตามระบบใหม่ (สุริยคติ) นั่นคือ เพิ่มวันดีนอกเหนือจากวันพระ โดยรัฐส่งเสริมให้วันจันทร์ – วันศุกร์เป็นวันพัฒนาระบบกาย (อาชีพหรือการศึกษา) วันพระและวันอาทิตย์เป็นวันพัฒนาระบบจิต “วัดและพระเปิดวัดวันอาทิตย์ - ประชาชนเข้าวัดวันอาทิตย์ เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ” โดยจัดดำเนินการตามแบบวันพระเดิม แต่นำมาปรับประพฤติปฏิบัติเพิ่มเติมในวันอาทิตย์ เรียกว่า การจุดไฟบ้านรับไฟป่า

    การจุดไฟบ้านรับไฟป่า เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ร่วมกันจุดไฟบ้านโดยการรีบปรับเปลี่ยนให้เกิดสายวัฒนธรรมเชื่อมโยงจนมีฐานวิถีชีวิตเดียวกันด้วยการนำเอาวันเสาร์มาเป็นวันครอบครัวสืบสานวัฒนธรรมของอริยชน วันอาทิตย์เข้าวัดปฏิบัติศาสนกิจตามหลักอริยธรรมที่เป็นอริยประเพณี การร่วมกันพัฒนาวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตพุทธบริษัทสี่ (เปิดวัดวันอาทิตย์ เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ) ถือว่าเป็นการจุดไฟบ้านรับไฟป่าอย่างถูกวิธีที่บรรพชนได้ให้แนวทางไว้ ร่วมกันสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เป็นสมบัติของอริยชน จนเกิดความเป็นพุทธบริษัทก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ถือว่าเป็นการพัฒนาแล้วจะได้อยู่ร่วมกันในความเป็นมนุษยชาติสืบไป โดยมีพระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิต ชี้นำบอกทางสวรรค์ให้กับพุทธบริษัท โดยมีวัดเป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่เผยแผ่พุทธธรรมคำสอน จุดประทีปแสงสว่างทางปัญญา ส่องทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาจิตใจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยมาช้านาน ดังคำกล่าวที่ว่า“สามัคคีร่วมชาติ พุทธศาสน์ร่วมใจ” วัดจึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ธรรม พื้นที่บ่มเพาะความดี สร้างวิถีแห่งความสุขตามหลักพุทธธรรม วัดจึงเป็นทุนสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญในการสร้างสรรค์ความสุขสาธารณะตามพุทธภาษิตที่ว่า “สุขา สังฆัสสะ สามัคคี: ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำสุขมาให้” ความสุขจึงมิใช่จำเพาะของผู้หนึ่งผู้ใด อย่าให้ความสุขเป็นของเราเลย แต่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของความสุขเถิด”

    มูลนิธิวัดปัญญานันทารามจับมือสสส.พัฒนาวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติส่งเสริมคุณภาพชีวิต !
    มูลนิธิวัดปัญญานันทาราม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมีเจตจำนงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการพัฒนาวัดอย่างเป็นองค์รวมครอบคลุมสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคมและสุขภาวะทางปัญญา สร้างความเข้มแข็งแก่วัดและบุคลากรของวัด โดยพัฒนาวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เป็นวัดต้นแบบนำร่อง 60 วัดครอบคลุมทั้งสี่ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมขยายผลสู่วัดเครือข่ายจำนวนไม่ต่ำกว่า 140 วัด รวม 200 วัดทั่วประเทศ

    วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ เปิดวัดวันอาทิตย์ มีความหมายที่สำคัญอย่างน้อย ๒ ประการ

    1) วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ เปิดวัดวันอาทิตย์ หมายถึง โครงการบำเพ็ญบุญตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เฉลิมพระชนมายุ ๘๕ พรรษา โดยคัดเลือกวัดเข้าร่วมโครงการ 200 วัดทั่วประเทศ จำแนกเป็นวัดต้นแบบจำนวน 60 วัดและวัดเครือข่ายจำนวน 140วัด เน้นการเข้าวัดปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญกุศลวันอาทิตย์ ด้วยความรับผิดชอบไตรภาคี คือ มหาเถรสมาคม (มส.) โดยมี พระพรหมวชิรญาณ กรรมการ มหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานอำนวยการโครงการฯ มีมูลนิธิวัดปัญญานันทาราม โดยมีพระปัญญานันทมุนี (ส.ณ.สุภโร) เป็นประธานดำเนินการโครงการฯ และนางลัดดาวัลย์ แก้วสว่าง ผู้จัดการโครงการฯ และวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ วัดวันอาทิตย์ ร่วมดำเนินการ และสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

    1) วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ เปิดวัดวันอาทิตย์ หมายถึงการบำเพ็ญบุญในทางพระพุทธศาสนา ด้วยการให้ทาน รักษาศีล สวดมนต์ไหว้พระและเจริญภาวนาเป็นต้น ตามแบบวันพระเดิม (จันทรคติ) มาเป็นวันอาทิตย์ (สุริยคติ) ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดวิถีชีวิตของพุทธบริษัท นั่นคือ

    วัดและพระ“เปิดวัดวันอาทิตย์ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวพุทธ”

    อุบาสก อุบาสิกา“เข้าวัดวันอาทิตย์ เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ”

    โดยประยุกต์การส่งเสริมคุณภาพชีวิตสู่การปฏิบัติด้วยกรอบแนวคิด 4 สบาย (สัปปายะ) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่วัด พัฒนาให้วัดเป็นองค์กรสุขภาวะ เพื่อสร้างสรรค์ความสุขสาธารณะ และพัฒนาวัดให้มีขีดความสามารถเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยกระตุ้นขับเคลื่อนให้วัดเปิดวัดวันอาทิตย์ บุคลากรมีสุขภาพที่ดีและพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในและรอบวัดให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพอันมีผลต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตพุทธบริษัทสี่

    1) อาวาสสบาย จัดวัดให้สะอาด รื่นรมย์ร่มรื่น โดยการปลูกต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ จัดพื้นที่สีเขียวในวัดพร้อมทั้งจัดอาวาสงามสู่อาราม ตามหลัก 5 ส. โดยคำแนะนำของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น เป็นวิทยากรถวายความรู้แก่พระภิกษุสงฆ์และอุบาสก อุบาสิกา

    2) อาหารสบาย พินิจโภชนาและปานะ เพื่อ “สงฆ์ไทยไกลโรค” ข้อเสนอเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสู่โภชนาการและสุขภาพดี ภายใต้การจัดการและการแก้ปัญหาด้านอาหารและโภชนาการของพระภิกษุสามเณรที่นำปสู่การป้องกันและแก้ไขการเกิดโรคเรื้อรังและการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนา “สงฆ์ต้นแบบ โภชนาดีชีวียั่งยืน “และ “ฆราวาสเกื้อกูล หนุนโภชนาดี” พร้อมทั้งลดการบริโภคสิ่งส่วนเกิน เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช เป็นวิทยากรถวายความรู้แก่พระภิกษุสงฆ์และอุบาสก อุบาสิกา

    3) บุคคลสบาย ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมต่อสมณสารูป เช่น การเดินจงกรม การเดินเพื่อสุขภาพ และการฝึกโยคสมาธิ โดย พระมหาบัญญัติ ธมฺมสาโร เจ้าอาวาสวัดบ่อล้อ จ.นครศรีธรรมราช เป็นวิทยากรถวายความรู้

    4) ธรรมะสบาย ส่งเสริมการเปิดวัดวันอาทิตย์ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าวัดวันอาทิตย์ เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ โดยการนำรูปแบบกิจกรรมวันพระมาจัดทำเพิ่มในวันอาทิตย์ เช่น การสวดมนต์ การให้ทาน การรักษาศีล การบริหารจิตและเจริญปัญญา เป็นต้น

    โครงการพัฒนาวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตพุทธบริษัทสี่ ได้ดำเนินงานโดยมีกระบวนวิธีการดำเนินงาน ดังนี้

    1) สรรหาคัดเลือกวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 60 วัด เพื่อพัฒนาเป็นวัดต้นแบบตามแนวคิดคุณภาพชีวิต 4 สบาย โดยครอบคลุมทุกภูมิภาคเพื่อ ณ วัดปัญญานันทาราม ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

    2) วัดต้นแบบ 60 วัดกลับไปดำเนินการพัฒนาวัดของตนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามแนวคิด4 สบายที่ได้รับการฝึกอบรมมา

    3) เจ้าหน้าที่ส่วนกลางออกนิเทศเชิงกัลยาณมิตรเพื่อให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ในการร่วมแก้ปัญหาและชื่นชมความดีทุกวัด ทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค

    4) วัดต้นแบบขยายผลไปสู่วัดเครือข่าย จำนวน 2 – 3 วัด รวมทั้งสิ้น 140 วัด เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต

    5) จัดสัมมนาสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 4 ภูมิภาค

    6) จัดตั้งศูนย์ประสานการเรียนรู้ใน 4 ภูมิภาคเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลต่อไป

    7) ถอดบทเรียนและการจัดการความรู้มิติการส่งเสริมคุณภาพชีวิตพุทธบริษัทสี่ด้วยกรอบแนวคิด 4 สบาย

    เปิดวัดวันอาทิตย์เพิ่มคุณภาพชีวิตชาวพุทธ คมชัดลึก : ศาสนาพระเครื่อง : ข่าวทั่วไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. AYACOOSHA

    AYACOOSHA เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +2,253
    ถ้าได้วิถีพุทธเดิม ๆ แบบนี้กลับมาคงจะดีไม่น้อยนะครับ จะได้ไม่มีใครบอกว่าไม่มีเวลาไปวัดกัน ขออนุโมทนากับโครงการนี้ครับ มีขึ้นเมื่อไหร่น่าไปเมื่อนั้นครับ
     
  3. ธัมมนัตา

    ธัมมนัตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    1,515
    ค่าพลัง:
    +9,765
    สาธุ
    ขออนุโมทนา

    ในปัจจุบันหลายๆวัดได้ปรับวันอาทิตย์เป็นวันสำหรับญาติโยมอยู่แล้ว
    วันพระ วันสำคัญทางพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ เช่นเดิม
    ทอดกฐิน ผ้าป่า ก็ต้องจัดลงวันเสาร์อาทิตย์เป็นหลัก เป็นแนวปฏิบัติเรื่อยมาอยู่แล้วนับแต่ที่ไทยเปลี่ยนวันหยุดของประเทศมาเป็นเสาร์อาทิตย์ หากวางแผนจัดการเวลาได้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

    อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาบุคลากรในศาสนา ที่หลายวัดยังไม่พร้อมในการต้อนรับโยม
    หรือที่มีอยู่ก็ออกไปในแนวของการสั่งสมวัตถุ จนเบี่ยงเบนสาระสำคัญของศาสนาไป
    พระ เณรที่บวช และอยู่ในวัด ก็มีหลายวัตถุประสงค์ บ้างบวชหนีปัญหา บ้างบวชเพื่อเรียน
    บ้างบวชเพื่อมุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นซึ่งบางรูปไม่ได้ต้องการมาสอนคน
    การบวชเพื่อมุ่งสอนคน คือกลุ่มพระปริยัติ พระสายวัดป่าบางรูปท่านไม่ถนัดสอน
    ในประเด็นการเปิดวัดคงต้องดู ความพร้อมและความสมัครใจของพระด้วย รวมถึงแนวและข้อธรรมที่จะมาสอนก็มีหลากหลาย มากแนวมากจน ยากที่จะหาจุดร่วมกันได้ในระยะเวลาอันสั้น บางวัดมีหลักสูตรชัดเจน บางวัดไม่เน้นการเรียน

    ทางออกอย่างหนึ่งคือการจัดกลุ่มวัดต่างๆไว้ ให้ชาวบ้านเลือกเองว่าชอบแนวไหน ชอบทำทาน ชอบเรียนข้อธรรม ชอบปฏิบัติแบบง่ายๆ หรือชอบปฏิบัติแนวอุกฤษฏ์หวังผลชัดเจน เพราะพระในแต่ละวัดไม่เหมือนกันมีความต่างกันมาก แม้ในนิกายเดียวกันเอง เช่น พระธรรมยุติ ในเมือง กับพระธรรมยุติที่เป็นวัดป่า หรือวัดมหานิกายด้วยกันแต่นโยบายของเจ้าอาวาสต่างกันก็มีแนวปฏิบัติต่างกันอีก

    ขอยกตัวอย่างกลุ่มวัด(ตามความเห็นส่วนตัวที่เคยไปอยู่และไปเรียนมา)

    ชื่อวัด แนวปฏิบัติที่มุ่งเน้น
    วัดพระธรรมกาย ทานกุศลเช่นวิหารทาน /สมาธิภาวนา ปฏิบัติแบบกลุ่มใหญ่ใช้พลังของกลุ่ม
    วัดอัมพวัน การปฏิบัติภาวนาเบื้องต้น มีครูพระอาจารย์สอนแบบกลุ่ม
    วัดมเหยงคณ์(อยุธยา การปฏิบัิิติภาวนาเบื้องต้น-ขั้นกลาง มีพระอาจารย์สอบอารมณ์
    วัดถ้ำสหาย(อุดรธานี) การปฏิบัติที่ต้องศึกษาแลควบคุมตนเองสูงไม่มีพระมาคุม มาสอน
    วัดมหาธาตุมีหลายคณะ แยกอิสระต่อกัน เช่นคณะ 5 เน้นปฏิบัติ บางคณะเน้นศึกษา พระสูตร และอภิธัมโชติกวิทยาลัย เน้นศึกษาพระอภิธรรมล้วน ๆ

    โดยสรุปรวมๆ หากต้องการทำทาน ก็ไปวัดบ้านทั่วไป
    หากต้องการศึกษาธรรมปริยัติโดยมีพระสอนควรไปวัดสายวัดมหาธาตุและมีแนวให้เลือกหลากหลาย
    ส่วนใครสนใจแนวปฏิบัติจริงจังตามแนวทางหลวงปู่มั่น คือสายวัดป่าต่างๆ ในแถบอิสานเหนือ แถวๆ อุดรธานี หนองคายสกลนคร บึงกาฬ นครพนม
    เช่น วัดป่าบ้านตาด วัดดอยธรรมเจดีย์ วัดป่านามน วัดถ้ำพระภูวัว เป็นตัน

    ส่วนใครที่ไม่พร้อมก็สามารถทำทานออนไลน์ที่บ้าน สวดมนต์ภาวนาที่บ้านก็ได้บุญกุศลเช่นกัน เพราะการไปวัดเป็นการไปฝึกหัดส่วนสนามรบจริงนั้นอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันของเรา
     
  4. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    ทำไมวันหยุดราชการประเทศไทย ให้หยุด วันโกน วันพระและหลังวันพระ เป็น 3 วัน เป็นวันหยุดราชการไทย อย่าลืมคนไทยนับถือศาสนาพุทธประมาณ 80 เปอร์ขึ้นไปนะครับ ไปหยุดตามศาสนาอื่นเขา เขาจะหยุดก็ให้เขาหยุดไป เราก็หยุดของเราตามวิถีพุทธ หรือยิ่งหยุดนักเรียน นักศึกษาด้วยยิ่งดีใหญ่ เราจะได้วิถีชาวพุทธคนจะเข้าวัดกันไปทำบุญฟังเทศน์ ฟังธรรม สังคมจะสุขสงบขึ้นอีกเยอะ ทุกวันนี้คนห่างวัดกันมากถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ผมว่าคน่เข้าวัดไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
    อยากให้หยุด วันโกน วันพระและหลังวันพระอีกวัน ราชการก็รู้ ๆ กันอยู่ เช้าชาม เย็นชาม ไปทำงานหลาย ๆ วัน เปลื้องค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าภาษีต้องออกให้อีก แล้วเงินเดือนก็น้อย จะได้ออกมาประกอบอาชีพเสริม แล้ววันหยุดก็ไปทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรมกันบ้าง ผมว่าจะเกิดผลดีกับประเทศเป็นอย่างมากและเยาวชนจะได้เห็นเป็นแบบอย่าง ศาสนาอื่นเขาก็หยุดวันสำคัญของเขา ส่วนของเราวันพระกับไม่หยุด ไปหยุดเสาร์-อาทิตย์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 พฤศจิกายน 2012
  5. chuchart_11

    chuchart_11 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    764
    ค่าพลัง:
    +2,932
    ขออนุโมทนาสาธุ ธรรมใดที่ท่านสำเร็จแล้วขอข้าพเจ้าสำเร็จด้วยเทอญ สาธุๆๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...