เมื่อทุกข์ให้รู้ทุกข์ไม่หนีทุกข์

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NUI, 26 มิถุนายน 2009.

  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    ชีวิตคนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย เปลี่ยนแปลงไป สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง ใจสงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง นี่แหละคือธรรมะ เรายอมรับสิ่งเหล่านี้ได้เราก็จะอยู่กับธรรมะอย่างมีความสุข และเห็นธรรมะตามความเป็นจริงว่ามันเป็นเพียง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไปไม่เคยอยู่นิ่งเลย และไม่ได้ดั่งใจ

    ใจของเรามีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นกุศลบ้าง ไม่เป็นกุศลบ้าง จิตที่มีกุศลก็มีเหตุเกิด มีเหตุปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเบาสบาย ปลอดโปร่ง มีความสุข มีปิติ แล้วก็สลายตัวไป เวลาเกิดขึ้นก็ดูเหมือนมีจริงๆ (แต่มีอยู่ชั่วขณะ) อย่างเวลาความโกรธเกิดขึ้นเรารู้สึกว่าโกรธมีจริง เมื่อเขาว่าเรา เราโกรธ แต่พอหมดเหตุแล้วมันก็สลายตัวไปไม่เหลืออะไรเลย

    เหมือนรุ้งกินน้ำ รุ้งกินน้ำเกิดขึ้นเพราะมันมีเหตุที่หลังฝนตกใหม่ๆ มีละอองน้ำพอควร มีแสงแดดอ่อนๆ เมื่อมีเหตุพร้อมมันก็เกิดรุ้งกินน้ำขึ้นมา มีจริงด้วยถ่ายรูปเอาไว้ก็ได้ แต่พอหมดเหตุรุ้งกินน้ำก็หายไป เหลือแต่ท้องฟ้าที่ว่างเปล่า

    ความรู้สึกอารมณ์เราเปลี่ยนแปลงตลอดไม่คงที่ เช่นเราตื่นเช้ามาเรารู้สึกอย่างหนึ่ง ใจเบาสบายโล่ง พอเจ้าหนี้มาทวงหนี้ถึงบ้านใจมันเปลี่ยนแล้วกลายเป็นเศร้า หดหู่หรือเครียดแค้น เป็นต้น ใจมันไม่อยู่นิ่งเลย

    คิดแล้วทุกข์ คิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง คิดไม่หยุด จะบังคับให้คิดแต่เรื่องดีก็ไม่ได้ ห้ามคิดไม่ดีก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของจิต จิตทำงานของมันเอง ถ้าคิดแล้วเรารู้ว่าจิตมันคิดเป็นธรรมชาติของจิต ยอมรับมันตามความเป็นจริงก็ไม่เครียดอะไร พระอรหันต์ก็คิดเหมือนกัน ไม่ใช่พอเป็นพระอรหันต์แล้วหยุดคิดหมด ยังคิดได้พูดได้แสดงธรรมได้ แต่ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น

    พอมีทุกข์คิดถึงการปฏิบัติธรรม ก็คิดว่าไปทำให้จิตใจมันสงบให้มันเลิกฟุ้งซ่าน พอไปทำมันก็ได้จริงซะด้วยนะได้สงบมาพักหนึ่ง เมื่อไปนั่งห้องพระหรือไปวัดได้จิตสงบ ไม่นานก็ฟุ้งซ่านเหมือนเดิม เพราะว่ามันไม่เที่ยงความสงบไม่เที่ยงเป็นปกติธรรมดา เราก็ต้องหนีฟุ้งซ่านไปห้องพระอีก วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้

    หนีทุกข์จึงมาปฏิบัติเพื่อให้ใจสงบ เมื่อสงบแล้วอยากให้สงบอยู่นานๆ อยากให้ได้สภาวะนี้อีก นั่งวันหลังก็นึกแต่สภาวะนี้แหละ อยากให้มันได้สงบจะได้ไม่ทุกข์ อยากให้สงบคงทนอยู่ถาวร อย่างนี้เรียกว่าภวตัณหา ส่วนบางอย่างไม่อยากให้มา มาแล้วก็เครียด อยากให้มันหายไปเร็วๆ หนีมัน ปฏิเสธมัน นี่เป็นสิ่งที่เกิดจากตัณหาเหมือนกัน เรียกว่าวิภวตัณหา ถ้าอยากให้สงบนานๆแต่จิตไม่ยอมสงบนานๆ ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาในใจทุกข์เพราะไม่ได้ดั่งใจ

    ทีนี้อยากทำให้มันสุขตลอดให้ดีตลอดให้สงบตลอดต้องฝืนมันให้ได้ อันนี้เป็นมิจฉาทิฎฐิแล้ว มีความเห็นผิดว่าจะทำให้มันเที่ยง จริงๆไม่มีสิ่งไหนเที่ยง มันเป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของมัน

    โดยความจริงแล้วเราไม่ต้องหนีอีกอันหนึ่งไปเอาอีกอันหนึ่ง ไม่ได้หนีไม่ดีไปเอาดี ไม่ได้หนีฟุ้งซ่านไปเอาสงบ เราศึกษาธรรมะตามที่มันเป็นจริงให้เห็นว่าทั้งดีและไม่ดีมันเป็นธรรมะเหมือนกันหมด

    เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่หนีอีกสิ่งหนึ่งไปเอาอีกสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เครียดก็ไม่เที่ยง สบายก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ มันเป็นสังขารที่ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นครั้งคราว ถ้าเราไม่รู้ความจริงอย่างนี้ก็จะเกิดตัณหาตามมา ถ้าได้ดีดั่งใจก็เกิดความสุขอยากให้อยู่กับเรานานๆ อย่างนี้เป็นภวตัณหา ถ้าไม่ได้ดีไม่ได้ดั่งใจก็เกิดความทุกข์ ความเครียดอยากหนีมัน ไม่อยากได้ เป็นวิภวตัณหา

    เมื่อทุกข์กายทุกข์ใจเรามีหน้าที่รู้ให้มันแจ่มแจ้ง ทุกข์เป็นปริญเญยยธรรม ธรรมะที่ควรรอบรู้ให้แจ่มแจ้ง ไม่ใช่ไปดัดแปลง ไม่ใช่ไปหนี ไม่ใช่ปฏิเสธ ทุกข์เกิดขึ้นให้รู้ ให้ดู ให้เห็นมันจนแจ่มแจ้ง กายและใจเรามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้จิตรู้ยอมรับความจริง สิ่งที่เราต้องละคือตัณหาไม่ใช่ละทุกข์หรือเปลี่ยนแปลงทุกข์

    การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ดูที่การเดินจงกรมเก่ง นั่งเก่งนั่งนาน วัดกันที่ปัญญาการรู้ความจริง การละความเห็นผิดได้ ละความยึดมั่นถือมั่น ละกิเลสก็ละได้ด้วยปัญญา การมีปัญญาก็ต้องมีสมาธิ มีสมาธิก็ต้องมีศีล ต้องฝึกฝนปฏิบัติภาวนาฝึกสติสัมปชัญญะ ศีล สมาธิ ปัญญามันเกี่ยวข้องกันอย่างนี้

    เราฝึกปฏิบัติธรรมฝึกฝนเพื่อให้จิตฉลาด ความฉลาดในจิตเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา การตามรู้กายรู้ใจให้ทันจิตจะฉลาดได้เอง กายใจเราเป็นทุกข์ เราก็ดูลงไปบ่อยๆ เมื่อจิตมันฉลาดเห็นว่ามันเป็นทุกข์ จิตก็จะเลิกยึดมั่นถือมั่นเอง เมื่อจิตฉลาดแล้วเกิดปัญญาแล้ว ต่อไปเราบอกว่า “จิตเอ๋ย ช่วยไปยึดหน่อย มันก็ไม่ทำตามเพราะรู้แล้วว่ายึดก็เป็นทุกข์เปล่าๆ อย่างนี้เรียกว่าจิตฉลาด”

    ให้เรารู้จิตใจตามความเป็นจริงว่า ตอนนี้ใจมันทุกข์ตอนนี้ใจมันสุข ตอนนี้มันสบายตอนนี้มันไม่สบาย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเท่าเทียมกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วก็สลายไปเท่าเทียมกัน เมื่อเรายอมรับได้อย่างนี้ ทุกข์เพราะมันไม่ได้ดั่งใจมันก็จะน้อยลงและค่อยๆหมดไปเอง จะเห็นทุกข์ที่เกิดจากการยึด จนมีปัญญาสมบูรณ์ รู้กายรู้ใจอย่างแจ่มแจ้งไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกเลย จิตใจก็ถึงการพ้นทุกข์ได้จริง
    อ.สุภีร์ ทุมทอง
     
  2. หลบภัย

    หลบภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,209
    ค่าพลัง:
    +3,129
    "เราฝึกปฏิบัติธรรมฝึกฝนเพื่อให้จิตฉลาด ความฉลาดในจิตเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา การตามรู้กายรู้ใจให้ทันจิตจะฉลาดได้เอง กายใจเราเป็นทุกข์ เราก็ดูลงไปบ่อยๆ เมื่อจิตมันฉลาดเห็นว่ามันเป็นทุกข์ จิตก็จะเลิกยึดมั่นถือมั่นเอง เมื่อจิตฉลาดแล้วเกิดปัญญาแล้ว ต่อไปเราบอกว่า “จิตเอ๋ย ช่วยไปยึดหน่อย มันก็ไม่ทำตามเพราะรู้แล้วว่ายึดก็เป็นทุกข์เปล่าๆ อย่างนี้เรียกว่าจิตฉลาด”

    คัดออกมา ชอบตรงนี้นะ .. จิตเอ๋ย จิต.
     
  3. Tboon

    Tboon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    2,094
    ค่าพลัง:
    +3,424
    รู้ทุกข์ให้ถึงที่สุดคือ รู้เหตุ รู้ต้นตอ รู้กระบวนการก่อตัวของทุกข์ ด้วยสติที่ต่อเนื่องเพียงพอ

    การเห็น เห็นโดยไม่ได้ตั้งใจ

    ตอนฝึกสติเราตั้งความรู้สึกไว้ที่ใจเสมอ ๆ

    แต่ตอนเห็น เรากลับเห็นจริง ๆ ตอนเผลอแต่สติตามทันได้พอดี

    ถ้าเห็นอย่างนี้ได้เรียกว่า รู้ทุกข์ไม่หนีทุกข์ ครับ...


    สาธุ
     
  4. matakalee

    matakalee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    160
    ค่าพลัง:
    +367
    โมทนาสาธุคะ ทุกข์มีไว้ให้เห็น มิใช่มีไว้ให้เป็น อย่ารู้สึกเป็นทุกข์ แต่ให้ดูว่าทุกข์เป็นอย่างไร ดูให้เป็นท้ายสุดก็เข้าสู่กฏพระไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
     

แชร์หน้านี้

Loading...