เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 มกราคม 2023.

  1. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,927
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,927
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช กระผม/อาตมภาพถวายหนังสือวัดท่าขนุน เป็นที่ระลึกในการเดินทางมาศึกษารูปแบบและแนวทางการปฏิบัติธรรมของวัดท่าขนุนให้แก่หลวงพ่อซูวอน หรือชื่อเต็มก็คือ Professor Suwon Suenim เจ้าอาวาสวัดชอนกยองซา ซึ่งคำนี้ออกเสียงค่อนข้างยาก ภาษาอังกฤษก็คือ Cheon Kyung Sa ท่านมีสาขาอยู่ในยุโรป ๓ สาขาด้วยกัน

    หลวงพ่อซูวอนอายุ ๖๕ ปี พรรษา ๔๐ ตำแหน่งวิชาการคือศาสตราจารย์ทางพระพุทธศาสนา กระผม/อาตมภาพเองอายุน้อยกว่าท่าน ๑ ปี พรรษาน้อยกว่าท่าน ๓ พรรษา ตำแหน่งทางวิชาการไม่เคยคิดที่จะขอ แปลว่าเป็นรองท่านในทุกรูปแบบ แต่ว่าหลวงพ่อซูวอนขอกราบในฐานะ "พี่ชายทางธรรม" ซึ่งท่านเองเกรงว่าถ้าใช้ภาษาอังกฤษจะไม่ตรงกับความหมาย จึงพิมพ์เป็นภาษาเกาหลีแล้วใช้กูเกิ้ลทรานสเลตแปลเป็นภาษาไทย บังเอิญกระผม/อาตมภาพเข้าใจความหมายตรงนี้ดี ก็คือลักษณะของสหธรรมิกนั่นเอง เพียงแต่ท่านถือว่าเป็นสหธรรมิกผู้พี่

    เนื่องจากว่าการอยู่ร่วมกันมา ๒ คืน ๑ วัน ท่านได้พบได้เห็นอะไรต่อมิอะไรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพไม่ได้รังเกียจที่ท่านเป็นพระภิกษุมหายาน ให้ความเคารพกราบไหว้ตามปกติ แค่นี้ท่านเองก็มั่นใจแล้วว่า เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพได้ เพราะว่าไม่ถือมานะ แต่ว่าถือธรรมวินัยเป็นใหญ่ คำว่าถือธรรมวินัยในที่นี้ก็คือท่านเป็นพระภิกษุเช่นกัน ในเมื่อท่านมีพรรษามากกว่า กระผม/อาตมภาพก็ต้องกราบไหว้ตามปกติ

    ตรงจุดนี้หลายท่านอาจจะบอกว่าท่านเป็นนานาสังวาส ก็คือไม่ใช่เถรวาทแบบเดียวกัน ถือสังฆกรรมต่างกัน ความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่การที่เรามาแยกนิกายกันนั้นเกิดจากความเชื่อ ตลอดจนกระทั่งการปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนเพื่อให้เข้ากับบริบทสังคมนั้น ๆ จนกระทั่งกลายเป็นพระพุทธศาสนามหายานขึ้นมา

    ส่วนของเราเอง ต่อให้ยึดถือเถรวาทเคร่งครัดเพียงใดก็ตาม ก็อย่าลืมว่ายังมีผู้ที่ปฏิบัติตนไม่สมกับความเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่ได้อยู่ที่นิกาย หากแต่ว่าอยู่ที่การปฏิบัติตนต่างหาก ว่าสมควรแก่การเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสหรือไม่ ?
     
  3. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,927
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    ในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงยังมีชีวิตอยู่ ได้มีสมณะจากสำนักสันติอโศก ๓ รูปเดินทางไปเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง

    บรรดาพระภิกษุวัดท่าซุงก็แสดงอาการอีหลักอีเหลื่อ ทำอะไรไม่ถูก ถึงขนาดต้องกราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติตนต่ออาคันตุกะชุดนี้อย่างไร ? พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูดง่าย ๆ ว่า "แกเห็นเขาเป็นพระเหมือนกันก็หมดเรื่อง..!"

    กระผม/อาตมภาพเมื่อสอบถามดูแล้ว บางท่านมีพรรษามากกว่าสูงกว่า จึงไหว้ก็กราบตามปกติ แต่ว่ารุ่นพี่หลายท่านนั้นบอกว่า "กราบไปทำไม ? ท่านไม่ใช่พระ" กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่คิดว่า ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่นิกาย ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งกาย หากแต่อยู่ที่กำลังใจของตนว่าเข้าถึงธรรมได้เท่าไร นี่เป็นเรื่องที่หนึ่ง

    เรื่องต่อไปก็คือพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ได้แนะนำครูบาอาจารย์ให้หลายต่อหลายองค์ว่าเป็นพระสุปฏิปันโน มีดวงจิตผ่องใสอย่างนั้น มีแนวปฏิบัติเพื่อส่วนรวมอย่างนี้ กระผม/อาตมภาพเองตอนนั้นก็แบกกิเลสไว้ท่วมหัว ก็คือว่าถ้าเรียกว่าหลวงปู่ "หลวงปู่ของกูต้องเป็นหลวงปู่ปาน วัดบางนมโคเท่านั้น" ถ้าเรียกว่าหลวงพ่อ "หลวงพ่อของกูต้องเป็นหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเท่านั้น" องค์อื่นไม่ใช่ แล้วถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ เราจะขอเรียนกรรมฐาน ขอศึกษาความรู้จากท่านอื่นได้อย่างไร ?

    ตอนนั้นพระเดชพระคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน อาภรโณ บุญ-หลง, ป.ธ. ๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส หรือที่ลูกศิษย์สายวัดท่าซุงเรียกง่าย ๆ ว่าหลวงปู่มหาอำพัน ท่านเหมือนอย่างกับมองทะลุเข้าไปถึงจิตถึงใจของกระผม/อาตมภาพ ท่านถึงได้กล่าวตักเตือนขึ้นมาว่า "ใครวางก่อนก็สบายก่อน" พอได้ยินตรงจุดนี้ กระผม/อาตมภาพก็ "ฟ้าแจ้งจางปาง" เลย..!

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าหลวงปู่ท่านเป็นเจ้าคุณ ท่านมีอายุกาลพรรษามากกว่า ทั้งอายุทางโลกและอายุในการบวช แต่ว่าท่านสามารถกราบเท้า ล้างเท้าให้กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ในลักษณะเคารพสุดจิตสุดใจ ท่านบอกว่ามีบรรดาพระธรรมยุตตำหนิท่านเป็นจำนวนมาก ว่าไปกราบไหว้ทำไมกับพระมหานิกาย?
     
  4. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,927
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    หลวงปู่ท่านบอกว่า "ในธรรมบท แม้กระทั่งพระราชายังต้องไหว้คนจัณฑาล เพื่อขอเรียนวิชาความรู้ แล้วพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเก่งเลิศเลอขนาดนั้น เราจะไม่กราบไม่ไหว้ได้อย่างไร ? ถ้าหากว่าตกเป็นขี้ปากคนอื่น ก่อนที่จะไหว้เราก็ว่า " สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ" ก็หมดเรื่องไป ว่าเราไหว้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ไหว้ที่นิกาย แต่ไหว้ที่คุณความดีของท่าน"

    เมื่อฟ้าแจ้งจางปางจากตรงนี้ กระผม/อาตมภาพก็สามารถกราบหลวงปู่ท่านนั้น กราบหลวงพ่อท่านนี้ เรียกหลวงปู่ก็เหมือนอย่างกับเป็นปู่เป็นตาจริง ๆ เรียกหลวงพ่อก็เหมือนกับเป็นพ่อจริง ๆ ก็คือยอมรับนับถืออย่างเต็มที่เต็มทางในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่ง จึงทำให้บรรดาหลวงปู่หลวงพ่อเกิดความรักใคร่เมตตา แล้วมีสรรพวิชาอะไรที่ท่านเห็นสมควร ท่านก็เมตตาถ่ายทอดมาให้

    กระผม/อาตมภาพที่มีความอยากในการศึกษาเรียนรู้ตามปกติ จึงได้ซึมซับเอาวิชาการสายธรรมต่าง ๆ เข้ามารวมอยู่ในตนเองมากพอสมควร เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า สามารถที่จะปล่อยได้ วางได้ ในลักษณะที่ว่า วางก่อนสบายก่อน นี่เป็นเรื่องที่สอง

    ดังนั้น..ในเมื่อเห็นหลวงพ่อซูวอนที่เป็นพระมหายานของเกาหลีใต้ เราเองจะไปถือว่าท่านเป็นนานาสังวาส เป็นคนละนิกายกัน ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าคิดอย่างนั้นก็ต้องคิดถึงคำกล่าวของพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ที่เคยว่ากล่าวกับพวกกระผม/อาตมภาพ ในสมัยที่ยังเป็นพระราชวิริยาลังการ รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม แล้วท่านได้นำพวกกระผม/อาตมภาพไปถวายสักการะในวาระเข้าพรรษา ต่อพระเถระทั้งธรรมยุตและมหานิกายในกรุงเทพฯ แล้วมีบุคคลไปตำหนิท่านว่า "พระธรรมยุตเราไปกราบไปสักการะทำไม ?" พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม ที่ทุกคนเรียกด้วยความสนิทปากกล่าวว่า "ถ้าพวกมึงคิดอย่างนั้น กูก็เหนื่อยแหละ..!"

    เราจะเห็นว่า พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. ท่านเองไม่ได้แบ่งแยกนิกาย เห็นว่าทุกนิกายก็คือคณะสงฆ์ไทย ดังนั้น..ถ้าหากว่าสามารถที่จะดึงเอามาร่วมงานกันได้ ท่านก็ดึงเอามาร่วมงาน ถ้าหากว่าเป็นบุคคลที่มีอายุกาลพรรษา มีตำแหน่ง มีสมณศักดิ์ใหญ่กว่า ท่านก็ไปกราบไปไหว้ ไปขอความเมตตาให้อนุเคราะห์สงเคราะห์เกี่ยวกับงานในพระพุทธศาสนาต่าง ๆ
     
  5. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,927
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    จึงทำให้พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. เจ้าคณะภาค ๑๔ สามารถที่จะสร้างผลงานอันโดดเด่นขึ้นมาได้ พระทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายให้การสนับสนุนโครงการปรองดองและสมานฉันท์ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า หมู่บ้านรักษาศีล ๕ นั้น เป็นไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง สร้างความสมัครสมานสามัคคีให้กับชนในชาติ สมกับที่ทางรัฐบาลและคณะสงฆ์ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้

    ดังนั้น..การที่หลวงพ่อซูวอน แม้ว่าท่านจะอายุมากกว่า ๑ ปี พรรษามากกว่า ๓ พรรษา ท่านเองเป็นศาสตราจารย์ทางพระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้ถือยศถือศักดิ์ ท่านเองยอมกราบยอมไหว้ โดยบอกว่ายกให้กระผม/อาตมภาพเป็น "พี่ในทางธรรม" แม้ว่าในลักษณะนี้จะเป็นการยกย่อง แต่ขอให้ทราบว่า ถ้าเป็นบุคคลที่แบกมานะมาเต็มตัว ย่อมไม่สามารถที่จะทำใจอย่างนี้ได้

    สิ่งที่ท่านประพฤติปฏิบัติไม่ใช่การประจบเอาใจ เพราะว่าได้พบกับกระผม/อาตมภาพแค่ ๑ วันกับ ๒ คืนเท่านั้น และไม่ได้เต็มเวลาอีกด้วย แต่ว่าสิ่งที่ได้รับกลับไป ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการปฏิบัติของวัดก็ดี การปฏิบัติโดยส่วนตนของกระผม/อาตมภาพที่สวดมนต์ ทำวัตร เจริญกรรมฐาน บิณฑบาต อย่างสม่ำเสมอให้ท่านเห็นทุกครั้งก็ตาม ทำให้ท่านยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พุทธสาวกหรือว่าศากยบุตรพุทธชิโนรสควรที่จะยึดถือและปฏิบัติตาม

    หลวงพ่อซูวอนจึงยินดีที่จะคบหาสมาคมกับกระผม/อาตมภาพในฐานะเพื่อนสหธรรมิก โดยไม่ได้มีนิกายมาเป็นเครื่องกีดขวาง ซ้ำยังยกให้อยู่ในฐานะที่สูงกว่าท่านด้วย
    กระผม/อาตมภาพถวายก็ต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อซูวอน ซือนิม หรือในตำแหน่งทางวิชาการคือศาสตราจารย์ซูวอน ซือนิมแห่งวัดชอนกยองซา ไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     

แชร์หน้านี้