เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 เมษายน 2025 at 20:17.

  1. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,502
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,721
    ค่าพลัง:
    +26,582
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๘


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,502
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,721
    ค่าพลัง:
    +26,582
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ ข่าวที่สะเทือนใจในวงการสงฆ์ก็คือ เรื่องที่ผู้ก่อการร้ายยิงสามเณรภาคฤดูร้อน ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จนเสียมรณภาพ ๑ รูป บาดเจ็บอีก ๑ รูป แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังออกมาให้ข่าวอีกด้วย ก็คืออยู่ในลักษณะที่ว่า ถ้าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยื่นคำขาดภายใน ๗ วันว่า จะต้องจับตัวผู้ก่อการร้ายให้ได้ ก็จะทำให้เรื่องลุกลามหนักขึ้น โดยที่บอกว่าที่ตัวเองลงมือก็เพราะว่าเกลียดข้าราชการสีเทาที่รังแกชาวบ้าน

    หวังว่าพวกท่านคงจะไม่โง่หลงประเด็นตามไป "มึงเกลียดข้าราชการ แล้วเกี่ยวอะไรกับพระเณรด้วย ?" แต่ว่าเรื่องพวกนี้ปล่อยทางราชการเขาเวียนหัวกันไปเถอะ พวกเรามาฟังเรื่อง "เล่าความหลัง" กันต่อ

    เมื่อวานนี้กล่าวถึงเรื่องหนึ่งก็คือการหุงข้าว ซึ่งสมัยก่อนนั้นมีทั้ง "หุงข้าวเช็ดน้ำ" และ "หุงข้าวไม่เช็ดน้ำ" ส่วนใหญ่ที่หุงข้าวเช็ดน้ำนั้น ก็เพราะว่าจะเอาน้ำข้าวไว้เลี้ยงหมูเลี้ยงหมา ส่วนการหุงข้าวไม่เช็ดน้ำ ต้องอาศัยความชำนาญในการกะเกณฑ์ว่า จะต้องใช้น้ำเท่าไร ? ข้าวถึงจะสุกและนุ่มพอดี

    ตอนหลังก็มีการนึ่งข้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับข้าวเหนียวเพื่อทำขนม ก็จะใช้หม้อดินที่ใช้สำหรับต้มน้ำ แล้วก็วางหม้อดินที่ก้นมีรูพรุน ซึ่งบางคนเรียกว่า "ลังถึง" เอาไว้ด้านบน แล้วใช้ผ้าขาวบาง สมัยนี้มีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ? ห่อข้าวเหนียวซึ่งแช่น้ำเอาไว้จน "ได้ที่" แล้ววางลงไป แล้วก็ปิดฝา ก่อไฟ เมื่อน้ำเดือดก็จะส่งไอความร้อนขึ้นไปชั้นบน ทำให้ข้าวสุก

    จนกระทั่งเด็ก ๆ เอามา "ทายอะไรเอ่ย ?" กัน ซึ่งสมัยนั้นเป็นการลองปัญญา อย่างเช่น "อะไรเอ่ย ต้นเท่าครก ใบปรกดิน ?" "อะไรเอ่ย ต้นเท่าขา ใบวาเดียว ?" แต่อันนี้เป็นของยาก เขาถามว่า "อะไรเอ่ย เอาดินตั้งดิน เอาดินซ้อนดิน เอาดินปิดดิน ?" เพราะว่าสมัยก่อนเตาก็ทำด้วยดิน เตารุ่นเก่า ๆ จะมีแผ่นดินที่ทำแผ่ยื่นออกมาด้านหน้า ซึ่งเขาเรียกกันว่า "เชิงกราน" เวลาที่หุงข้าวบนบ้าน ฟืนไฟจะได้ไม่กระเด็นออกมา หรือลามไปไหม้บ้าน ตรงส่วนที่ทำแผ่กว้างออกมาทางด้านล่างของเตา เพื่อช่วยป้องกันไฟไหม้ เขาเรียกว่า "เชิงกราน"

    ในเมื่อทำด้วยดิน พอถึงเวลาเอาหม้อดินต้มน้ำตั้งขึ้นไป ก็เท่ากับว่าเอาดินตั้งบนดินแล้ว หลังจากนั้นก็เอาหม้อดินที่เป็น "ลังถึง" ก็คือที่ก้นเป็นรู วางซ้อนลงไป ก็เป็นเอาดินซ้อนดิน เมื่อใส่ข้าวลงไปเรียบร้อยแล้วปิดฝา ก็คือเอาดินปิดดิน เพราะว่าฝาหม้อก็เป็นดินเช่นกัน
     
  3. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,502
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,721
    ค่าพลัง:
    +26,582
    การหุงข้าวเช็ดน้ำ พอมาภายหลังเปลี่ยนจากหม้อดินมาเป็นหม้ออะลูมิเนียม ซึ่งถ้าหากว่าอย่างที่บ้านกระผม/อาตมภาพ แม่มีลูกมาก โยมแม่ก็จะหุงข้าวด้วย "หม้อเบอร์ ๓๕" ใหญ่แค่ไหนถ้าไม่รู้จักก็เดาเอาเองแล้วกัน..! ถึงเวลาจะรินน้ำข้าวออก ตอนแรกก็ยังพอได้ แต่ถ้าหากว่ารินมากไป ข้าวจะหลุดไปด้วย ก็ต้องเหลาไม้มาทำไม้ขัดหม้อ คราวนี้ไม้ขัดหม้อเบอร์ ๓๕ ยาวประมาณศอกหนึ่ง พอถึงเวลาดื้อก็โดนไม้ขัดหม้อฟาด กระเจิดกระเจิงกันทั้งบ้าน..! ใครมีประสบการณ์โดนไม้ขัดหม้อฟาดก้นมาบ้าง ?

    ภาชนะต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นดินปั้น ท่านทั้งหลายจะต้องจำให้ได้ว่า ที่กระผม/อาตมภาพเล่าก็คือตอนสมัยเด็ก แล้วที่บ้านอยู่ในส่วนที่เขาเรียกว่า "ไกลปืนเที่ยง" ก็คือในสมัยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พอถึงเวลาเที่ยงตรง ก็คือไม้ที่ปักไว้กลางแจ้งไม่มีเงา เขาจะให้ยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณให้คนรู้ว่าเป็นเวลาเที่ยงแล้ว ก็เลยเรียกว่า "ปืนเที่ยง" คราวนี้ถ้าหากว่าใครอยู่ไกลจนไม่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ ก็เป็นพวกบ้านนอกหลังเขา อะไรประมาณนั้น เขาเรียกว่า "ไกลปืนเที่ยง" ดูห่างความเจริญ ดูท่าวันนี้ไม่ต้องไปไหนแล้ว..เรื่องเดียวจบ..หมดเวลา..!

    ภาชนะที่ใช้กันเป็นประจำและเป็นดิน ก็มีอีกอย่างหนึ่งคือโอ่ง จะมีโอ่งน้ำที่ปั้นด้วยดินเหนียวอย่างเดียว แล้วก็เคลือบสีแดง ๆ หรือว่าเผาจนแดงก็ไม่มั่นใจ แต่เขาเรียกว่า "โอ่งแดง" ใส่น้ำฝนแล้วเย็นดีมาก แล้วก็จะมี "โอ่งเคลือบ" ซึ่งมักจะวาดเป็นรูปลายมังกรดั้นเมฆ จนเขาเรียกกันว่า "โอ่งมังกร" มีชื่อเสียงที่สุดก็ "โอ่งมังกรราชบุรี"

    สิ่งของต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ทำกันเอง ยกเว้นพวกถ้วยชาม ซึ่งจะมีของที่โรงงานทำขาย ถ้าไม่วาดเป็นรูปดอกไม้ ก็วาดเป็นรูปไก่ จนกระทั่งเขาเรียกกันง่าย ๆ ว่า "ชามตราไก่" ขนาดเล็กจะเป็นชามใส่ข้าวใส่แกงธรรมดา ขนาดใหญ่หน่อยเขาเรียกว่า "ชามโคม" ก็คือใบใหญ่ขนาดโคมจีน (เต็งลั้ง)

    โคมไฟจีนจะสานด้วยไม้ไผ่ซี่เล็ก ๆ โค้งเป็นทรงรี หัวท้ายเท่ากัน ปิดกระดาษบาง ๆ กันลมพัดไฟดับ ถ้าหากว่าตัดครึ่งก็ลักษณะเหมือนกับชาม เขาก็เลยเรียกว่า "ชามโคม" เพราะหน้าตาคล้าย ๆ กับโคมจีนตัดครึ่ง
     
  4. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,502
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,721
    ค่าพลัง:
    +26,582
    แม้กระทั่ง "ครกตำน้ำพริก" ก็ยังทำด้วยดินเผา แต่คนตำต้องมือเบา ไม่อย่างนั้นแล้วครกจะทะลุ..! แล้วเรื่องครกทะลุนี่โบราณถือว่าเป็นอาถรรพ์มาก พวกหมอผีหมอไสยศาสตร์ชอบใช้บาตรแตก เอามาลงยันต์ลงคาถาเกี่ยวกับพวกแตกแยก ถ้าเอาบาตรแตก ไปฝังไว้บ้านไหน บ้านนั้นก็ทะเลาะกันทั้งบ้าน ผัวเมียก็แตกกัน..!

    แต่ครกทะลุไม่ใช่ ครกทะลุนี่เป็นเคล็ดลับมหาเสน่ห์ แต่เป็นในด้านที่ไม่ดี เนื่องเพราะว่าเขาจะไปทำไสยศาสตร์ แล้วโยนลงไปในบ่อน้ำของหมู่บ้าน เขาว่าอำนาจของมันจะทำให้ผู้หญิงหมู่บ้านนั้นตะกายหาผัวตั้งแต่ "นมยังไม่ทันจะตั้งเต้า" อันนี้ก็เป็นศัพท์โบราณเหมือนกัน ถ้าเป็นประมาณสมัยนี้ก็น่าจะไม่เกินเด็ก ป.๕ - ป. ๖ อันตรายมาก..!!

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าบ้านไหนตำน้ำพริกแล้วครกทะลุ เขาจะรีบทุบละเอียด..ทิ้งไปเลย..! จะไม่ให้เหลือเอาไว้ เริ่มเลี้ยวไปออกเรื่องลี้ลับแล้ว มาภายหลังถึงได้มี "ครกหิน" ซึ่งสกัดขึ้นมาจากหินแกรนิต แต่สมัยก่อนเรียกว่า "หินอัคนี" แล้วก็ยังมี "ครกไม้" ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ตาลกลึงขึ้นมา

    ในเมื่อครกมีอาถรรพ์แล้วสากมีไหม ? มี..ถ้าหากว่าบ้านไหนแม่ม่ายผัวร้าง แม่ม่ายผัวตาย ก็จะไปขโมยสากเอาไปให้อาจารย์เขาลงคาถา ช่วยให้ค้าขายดีมาก ซึ่งสมัยหลังปรับเป็นปลัดขิก ก็คงลักษณะเดียวกัน เพราะว่ารูปร่างใกล้เคียงกัน คือส่วนใหญ่เขาเชื่อกันว่าแม่ม่ายเสน่ห์แรง ความจริงไม่ใช่ คือแม่ม่ายส่วนใหญ่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว กล้าพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผย ก็เลยทำให้ผู้ชายเข้าใจง่ายว่าเขามีใจกับตัวเองหรือเปล่า ? คนก็เลยไปมองว่าแม่ม่ายเสน่ห์แรง

    เขาจึงเชื่อว่า "สากกะเบือแม่ม่าย" ก็ต้องเรียกลูกค้าได้ดี เพราะว่าตัวแม่ม่ายอยู่บ้านไหน หนุ่ม ๆ มักจะขึ้นบ้านจนบันไดลื่น สมัยนั้นเขาเรียกว่า "หัวกระไดไม่แห้ง" เพราะว่าเขาจะมีอ่างล้างเท้าอยู่ ของพวกเรายังดี..ยังได้เห็น เพราะว่าอ่างล้างเท้าตรงหน้าหอฉันยังมีอยู่ ล้างเท้าเสร็จเดินขึ้นบันไดก็เปียกติดบันไดบ้าง คนไปมามากจนกระทั่งทั้งวันหัวกระไดไม่แห้ง คิดดูว่าคนมากเท่าไร ? จะไปได้ไกลกว่านี้ไหม ? เวลาจะหมดแล้ว..!
     
  5. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,502
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,721
    ค่าพลัง:
    +26,582
    เรื่องของโอ่งนั้นยังมีระดับอีก ก็คือจะมี "โอ่งเคลือบ" เป็นการเคลือบสีเดียวบ้าง มีการวาดลวยลายลงไปบ้าง ถ้าเคลือบสีเดียวที่เขานิยม ก็จะอยู่ในลักษณะว่าปั้นโอ่งเสร็จแล้ว เอาน้ำโคลนทาให้ทั่ว ถึงเวลาแล้วเผาจะเป็น "โอ่งเคลือบ" ถ้าไม่ทาน้ำโคลน จะเป็นโอ่งดินเผาธรรมดา ไม่ใช่โอ่งเคลือบ ใครเคยทันจะรู้ว่าเป็นได้เพราะอะไร ?

    คราวนี้โอ่งเคลือบที่เขานิยมมากที่สุดก็คือ "สีเขียวไข่กา" ไม่รู้จักอีก ? อีกาไข่หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่เคยเห็น ขอให้มีความสุขความเจริญ..! ตูจะทำอย่างไรดีวะ ?! ต่อไปคงจะต้องบรรยายโดยฉายโปรเจ็คเตอร์ขึ้นจอให้ด้วย..ใช่ไหม ? จะได้รู้ว่าแต่ละอย่างที่พูดถึงมีหน้าตาเป็นอย่างไร

    มากล่าวถึงว่าสมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มี ไม่ต้องไปพูดถึงเตาถ่าน เตาแก๊ส ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ก็ใช้ฟืนใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ทำเองสร้างเองในบ้าน แต่ว่าจะมีบรรดาคนจีนที่เดินทางเข้ามาเมืองไทย ถ้าเป็นรุ่นโยมพ่อ เขาเรียกว่า "พวกต่างด้าว" อพยพเข้ามาจากต่างประเทศเลย พวกนี้ต้องมา "ขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว" ทำงานเสียภาษีให้ประเทศไทย ๑๐ ปีแล้วจะได้สัญชาติไทย แต่จะต่อท้ายว่าเชื้อชาติจีน..!

    คนจีนมาใหม่ ๆ จะมี "อาชีพรับจ้างย้อมผ้า" บ้าง ผ้าสมัยก่อนเขาย้อมสองอย่าง ถ้า "ย้อมมะเกลือ" จะเป็นผ้าดำ ถ้า "ย้อมคราม" จะเป็นผ้าสีน้ำเงิน หรือที่ทางเหนือเขาเรียก "หม้อห้อม" รับจ้างย้อมผ้า ผ้าใครเก่าเอาไปจ้างให้เขาย้อมใหม่ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าให้พระของเราที่ไปหาผ้าเก่ามา ซักสะอาด เย็บเป็นสบงจีวรแล้ว ก็ทำการย้อมด้วยสีกรัก หรือว่าย้อมขมิ้น สมัยก่อนพระก็ใช้วิธีง่าย ก็คือย้อมขมิ้น พอถึงเวลาสีขมิ้นตกใส่ตัวก็เหลืองอร่ามไปด้วย จนเขาชมว่า "ผิวเหลืองเหมือนทอง" แต่ความจริงแล้วเหลืองขมิ้น ไอ้ตัวเองผิวลงรัก..ยังไม่ทันจะปิดทอง..ดำปี๋..!

    "อาชีพรับจ้างลับมีด ลับกรรไกร" สมัยนี้ยังมีหรือเปล่าไม่รู้ เขาบอกว่า "ถ้าผู้ชายคนไหนลับมีดคม แสดงว่ากลัวเมีย" พูดง่าย ๆ ว่าลับมีดไม่คมเมียจะด่า ก็ต้องหัดลับมีดจนกระทั่งคม อาชีพลับมีด ลับกรรไกร "อาชีพขายหวานเย็น" สะพายกระติก ถ้าคนขยันหน่อยก็สองใบเลย ไอ้หวานเย็นสมัยนี้เขาเรียก "ไอศกรีม" ถึงเวลาก็สีเขียวบ้าง สีแดงบ้าง สีส้มบ้าง ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นสีกินได้หรือกินไม่ได้ แต่ว่าสีแดงส่วนใหญ่จะเป็นสีของ "น้ำยาอุทัยทิพย์" ซึ่งกลิ่นจะหอมชื่นใจมาก น้ำกระติกใหญ่ ๆ หยดน้ำยาอุทัยทิพย์ลงไปหยดเดียว จะเป็นสีชมพู ซึ่งเด็กสมัยหลังนี้ได้ยินว่าเขาเอามาทาแก้มกัน เมื่อไม่นานนี้ก็ยังฮิตกันอยู่ เคยเห็นกันสักอย่างหรือเปล่าวะ ?
     
  6. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,502
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,721
    ค่าพลัง:
    +26,582
    มี "อาชีพรับซ่อมเตา ซ่อมโอ่ง" ซ่อมอะไรที่รั่ว แล้วก็จะมีคนแขกซึ่งมี "อาชีพขายถั่ว" กับ "อาชีพขายผ้า" ซึ่งถ้าหากว่าเจอคนจีน เราก็เรียกว่า "เจ๊ก" ความจริงมาจากคำว่า "เจ็ก" ที่เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า อา (น้องพ่อ) พอเจอแขก เราก็เรียก "บัง" กันหมด ทั้ง ๆ ที่ "บัง" นั้นแปลว่า "พี่" บางคนน่าจะรุ่นปู่แล้ว เครายาวเกือบถึงพุง แต่คนก็เรียก "อาบัง" กันหมด ถือว่าเป็นการนับญาติกันไปโดยปริยาย..!

    อาบังมีความอึดและอดทนมาก เดินขายผ้าทั้งหมู่บ้าน "วันนี้ไม่ซื้อไม่เป็นไรนะนายจ๋า พรุ่งนี้ฉานค่อยมาใหม่" ใครจะ "ซื้อผ่อน" ก็ได้ ขนาดยุคหลัง ๆ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ ไปแล้ว สมมติว่าซื้อผ้า ๒๐ บาท เขาจะให้ผ่อนวันละบาท ให้ ๒ บาทก็ไม่เอานะ ถ้าให้ ๒ บาท อาบังก็หยิบวางไว้ที่หัวเสา "อีนี่ฉานไว้ตรงนี้หนานาย เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาเอา" แล้วรู้ไหมว่าทำไม ? เขาจะได้มีโอกาสหาข้ออ้างเดินวนเข้ามาใหม่ในวันพรุ่งนี้ แล้วไอ้บ้านที่ไม่ซื้อก็อาจจะซื้อเขาอีก เป็นวิธีค้าขายของเขาแบบหนึ่ง

    บรรดาอาชีพต่าง ๆ สมัยก่อนเขาจะสงวนไว้สำหรับคนไทย เช่น "อาชีพตัดผม" ทุกวันนี้เดี๋ยวต้องไปดูข้อมูลก่อนว่าอาชีพสงวนมีอะไรบ้าง ? ช่วงนี้เห็นไล่จับต่างด้าวกันอุตลุด ว่ามาแย่งอาชีพคนไทย พวกนั้นเขาก็ไม่รู้ว่าอาชีพไหนสงวนไว้สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เห็นพอทำมาหากินได้ก็ทำ แต่ไม่ต้องมาจับแถวทองผาภูมินะ เดี๋ยวนี้บรรดาเจ้าของร้านแทบจะเป็นต่างด้าวกันหมดแล้ว แต่เป็นต่างด้าว รุ่น ๒ รุ่น ๓ รุ่น ๔ อะไรก็แล้วแต่เถอะ ไล่ขึ้นไปไม่เชื้อสายมอญก็เชื้อสายพม่า ต่อไปเขาทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นเถ้าแก่ใหญ่กันหมด แล้วคนไทยก็จะกลายเป็นลูกน้อง ฟังแล้วเศร้าใจ..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     

แชร์หน้านี้