เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 18 ตุลาคม 2022.
-
ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพพร้อมด้วยคณะเดินทางออกจากโรงแรมแกรนด์หลวงพระบางตั้งแต่ประมาณตี ๕ เศษ เพื่อที่จะไปรอใส่บาตรบริเวณหน้าวัดศรีบุญเรืองซึ่งเป็นถนนสายวัฒนธรรมของประเทศลาว คล้ายกับ โครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าซิ่น นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" ของทางวัดท่าขนุน เพียงแต่ที่นี่มีการใส่บาตรกันแบบนี้ทุกวัน
ถนนสายนี้มีวัดอยู่ติด ๆ กัน ๔ - ๕ วัด เท่านั้นยังไม่พอ ทางด้านหลังริมแม่น้ำโขงยังมีวัดข้างเคียงอยู่อีกหลายวัด บรรดาพระภิกษุสามเณรนั้นถึงเวลาก็จะเดินมารับบาตร จนกระทั่งทางราชการต้องจัดให้เป็นถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาถึงหลวงพระบาง ก็จะต้องเข้ามาร่วมกิจกรรมตรงนี้
เมื่อถึงเวลาประมาณ ๐๕.๕๐ น. พระภิกษุสามเณรทุกวัดก็จะเคาะระฆังเป็นสัญญาณต่อกันว่าจะออกบิณฑบาตแล้ว หลังจากนั้นก็จะเดินมารับบาตรกันทีละวัด ทีละวัด ซึ่งหลายวัดก็เดินติดกัน จนถ้าหากว่าไม่สังเกตก็จะแยกไม่ออก ถ้าเป็นสามเณรตัวน้อย ๆ แล้วรูปต่อไปกลายเป็นพระ ก็แปลว่าเป็นอีกวัดหนึ่งแล้ว
การใส่บาตรที่ตรงนี้ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที จากที่กระผม/อาตมภาพนับ โดยการถวายปัจจัยแก่พระภิกษุสามเณรรูปละ ๒๐ บาท ซึ่งถ้าหากว่าเป็นเงินกีบ ก็ประมาณ ๙,๐๐๐ กีบเห็นจะได้ นับไปได้ ๑๓๕ รูป โดยที่ตนเองนั้นมีธนบัตรใบละ ๒๐ บาทไทยอยู่ ๗๖ ใบ ใส่ไปเรื่อยจนกระทั่งพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. หัวเราะ บอกว่า "หลวงพ่อครับ ใส่เกินจากที่นับไว้ไปมากแล้วนะครับ" กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่ยิ้ม เรื่องนี้เป็นสิทธิพิเศษของบุคคลที่ทำพระคาถาเงินล้านได้สำเร็จ คนอื่นเลียนแบบได้ยากมาก
เมื่อใส่บาตรจนครบถ้วนทั้ง ๑๔ วัดแล้ว ทางด้าน "ท้าวนุ" มัคคุเทศก์ของเราก็พาเดินไปยังตลาดเช้า ซึ่งมีทั้งชาวบ้านและพ่อค้าแม่ขายนำเอาสินค้าพื้นบ้านมาจำหน่ายกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์อย่างปลาแม่น้ำโขง หรือว่าพืชผักต่าง ๆ ที่เก็บมาจากหัวไร่ชายนา หรือว่าในป่าในดงไปเลย
ของแปลกหลายอย่างที่พวกเราอาจจะไม่เคยเห็นก็คือไคก้อน ไคแผ่น ซึ่งเป็นตะไคร่น้ำ ประเภทที่ทางบ้านเราเรียกว่า ตะไคร่น้ำผมนางเงือก หรือที่ทางภาคเหนือของเราเรียกกันว่า เทา หรือออกตามเสียงภาษาเหนือว่า เตา นั่นเอง อีกส่วนหนึ่งที่เห็นมีมาก็คือต่อหลุม ซึ่งเขาขุดเอาตัวอ่อนมาจำหน่าย แต่ละตัวโตประมาณนิ้วชี้ผู้ใหญ่เห็นจะได้..! -
กระผม/อาตมภาพเดินดูไปเรื่อย จนกระทั่งไปเจอชาวบ้าน ๒ คน นำเอาปูปลาตัวน้อย ๆ ใส่ถุงมาจำหน่าย ซึ่งแต่ละอย่างก็มีร่วมร้อยตัว เมื่อถามราคาดูแล้ว ปูน้อยถุงนั้นราคา ๒๐,๐๐๐ กีบ ส่วนปลาน้อยนั้นราคา ๘๐,๐๐๐ กีบ รวมแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ กีบพอดี..!
กระผม/อาตมภาพจึงควักธนบัตรลาวใบละ ๑๐๐,๐๐๐ กีบ ที่พระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร.ถวายเอาไว้ตอนแลกเงิน ส่งให้ไปแม่ค้า แล้วก็นำถุงมาจะไปปล่อย แต่ปรากฏว่า "ท้าวนุ" มัคคุเทศก์ของเราขออาสาถือถุงแทน แล้วก็พาพวกเราเดินตลาดต่อไปจนกระทั่งสุดซอย แปลว่าแทนที่จะปล่อยกุ้งหอยปูปลาให้ได้รับอิสรภาพเร็วขึ้น ก็กลายเป็นว่าช้าลงไปเกือบครึ่งชั่วโมง..!
เมื่อพ้นถนนออกมาแล้ว กระผม/อาตมภาพก็คว้าเอาถุงปูน้อยและปลาน้อยเหล่านั้น เดินตรงดิ่งไปยังแม่น้ำโขงตามเส้นทางที่ "เจ้าลุง" ท่านชี้บอก ทำเอาคนอื่นวิ่งตามกันหูตาเหลือก สงสัยอยู่ว่ากระผม/อาตมภาพไม่เคยมาก่อนเลย ทำไมถึงได้รู้ว่าทางด้านนั้นมีท่าน้ำอยู่ด้วย ?
เมื่อได้ทำการปล่อยปูปลาไปเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว คณะของเราก็เดินมาขึ้นรถยนต์ ย้อนกลับมารับประทานอาหารเช้ากันที่โรงแรมแกรนด์หลวงพระบาง ซึ่งเป็นอาหารบุปเฟต์ ทั้งเหลือเฟือทั้งอร่อย โดยเฉพาะโต๊ะอาหารจัดเอาไว้ริมแม่น้ำโขง จึงได้เห็นว่า "เจ้าลุง" นั้น ท่านเลือกที่สร้าง "คุ้มเจ้าหลวง" หรือว่าวังได้ในจุดที่สวยงามมาก เพราะว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงทิ้งโค้งตกคุ้งมาพอดี
เมื่อฉันเสร็จแล้ว กระผม/อาตมภาพเดินออกมา ทุกคนก็คงคิดว่าจะไปเข้าห้องน้ำ แต่ปรากฏว่าได้ "เจ้าลุง" เป็นมัคคุเทศก์พิเศษ พาเข้าไปชม "หอคำ" ของท่าน เข้าไปจนกระทั่งถึง "บ่อนนอน" หรือถ้าภาษาไทยก็คือที่นอน นับว่าเป็นความเมตตาอย่างสูงที่ท่านให้เข้าไปดูสิ่งของต่าง ๆ ที่ท่านเคยใช้เคยสอยอยู่
เมื่อกลับออกมาแล้ว พวกเรารวมพลกันจนครบครัน แล้วมัคคุเทศก์ก็นำพาพวกเราออกเดินทาง ตอนแรกก็บอกว่าจะไปไหว้พระที่วัดเชียงทอง ซึ่งเป็นมรดกโลก แต่ว่ากลับกลายเป็นเลี้ยวลงชายแม่น้ำโขงแถว "บ้านจูมของ" หน้าตาเฉย พาพวกเราไปขึ้นเรือท่องเที่ยวลำใหญ่ ซึ่งน่าจะบรรจุคนได้เป็นร้อยเลย แต่ว่าพวกเรามากันแค่ ๑๖ คนเท่านั้น วิ่งทวนน้ำขึ้นไปเรื่อย ๆ ตรงไปยังถ้ำติ่ง เพื่อสักการะพระพุทธรูปเป็นพัน ๆ องค์ที่ในถ้ำติ่งแห่งนั้น -
ถ้ำติ่งแห่งนี้นั้น แต่เดิมสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระองค์ท่านเสด็จขึ้นล่องแม่น้ำโขง แม่น้ำคานอยู่เป็นประจำ ได้บนบานศาลกล่าวว่า ถ้าหากว่าการเดินทางครั้งนั้นปลอดภัย ก็จะสร้างพระพุทธรูปมาถวายไว้ในถ้ำติ่ง ๑ องค์ หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จหลายต่อหลายครั้ง พระพุทธรูปก็มีมากขึ้น และมีผู้เห็นค่านิยม ได้กระทำการบนบานศาลกล่าวตามไปแบบเดียวกันด้วย
เพราะว่าแม่น้ำโขงนั้น สมัยก่อนหลากไหลได้ดุเดือดมาก การเดินทางอาจจะเกิดอุบัติเหตุอันตรายได้ทุกเมื่อ จึงมีการบนบานศาลกล่าวกันมากขึ้น ๆ เมื่อสำเร็จสมประสงค์ก็นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในถ้ำ จนกระทั่งมีจำนวนเป็นพัน ๆ องค์
พวกเราใช้เวลาเดินทางทวนน้ำขึ้นไป ๒ ชั่วโมง ๑๐ นาที ผ่านสิ่งแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็น อย่างเช่นว่าสถานีน้ำมันลอยน้ำ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกถังน้ำมันขนาดใหญ่ ถ้าหากว่าเรือของใครมีปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ก็สามารถแวะเติมได้ทุกเวลา แล้วก็มีเรือในลักษณะเรือโรงแรมลอยน้ำ ซึ่งทางบ้านเรายังไม่ได้เห็นเป็นล่ำเป็นสันเหมือนกับทางด้านนี้ ตลอดจนกระทั่งสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงตรงไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงต่อจากหลวงพระบางไปนั่นเอง
เมื่อพวกเรามาถึงถ้ำติ่งซึ่งอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคานไหลมาพบกัน ด้านทางแม่น้ำคานนั้นมีภูมิประเทศพิเศษ คือ ภูเขาด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น "โลงศพนางอั้ว" ตามตำนาน "ท้าวขูลู - นางอั้ว" ของประเทศลาว "ท้าวนุ" ช่วยซื้อ "ปี้" ก็คือตั๋วในการเข้าชมถ้ำ แล้วก็ขึ้นบันไดเข้าถ้ำไปกราบพระ กระผม/อาตมภาพช่วยในการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งถ้ำติ่งล่างและถ้ำเทิงทางด้านบน ด้วยการทำบุญไปแห่งละ ๑๐๐ บาทไทย ก็ตีเสียว่าทำบุญไปเป็นจำนวนหลายหมื่นกีบทีเดียว..!
เมื่อชมถ้ำทั้งล่างทั้งบนเสร็จแล้ว ย้อนกลับลงมาที่เรือ เพิ่งจะเห็นป้ายว่าเรือลำที่เราอาศัยมานั้น ชื่อว่า "หนุ่มเทิงสาวทุ่ง" ซึ่งอยู่ในลักษณะของ "หนุ่มภูเขาสาวท้องนา" นั่นเอง ทางด้านแม่ครัวในเรือได้เตรียมอาหารกลางวันไว้ให้เรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงได้อิ่มอร่อยกันอีกวาระหนึ่ง
โดยเฉพาะมีการสั่งเอาส้มตำพิเศษ นอกเหนือจากเมนูที่ได้รับการจัดสรรให้อีกด้วย แต่ว่ายังไม่ทันไร เรือของพวกเราก็มาจอดอยู่ที่หน้าท่าน้ำขึ้นสู่วัดเชียงทอง ซึ่งเป็นท่าน้ำที่ "เจ้ามหาชีวิต" เสด็จขึ้นไปนมัสการพระ แสดงว่าขาล่องซึ่งไหลตามแม่น้ำนั้น ทำเวลาได้เร็วมาก ก็คือขาขึ้นใช้เวลาไป ๒ ชั่วโมงเศษ แต่ว่าขาล่องมาถึงหน้าวัดเชียงทองนั้น อยู่ที่ประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
เมื่อเรือเทียบท่า กระผม/อาตมภาพได้ก้าวลงบันไดท่าน้ำ แต่ว่าเกิดเรื่องแปลกขึ้นมา คือ ไม่รู้ว่าความรู้สึกของตนเองขาดหายไปตอนไหน จึงได้หกล้มลงไปฟาดพื้นบันไดตรงนั้นนั่นเอง ลักษณะแบบนี้คือลักษณะของการที่ "กรรมเก่ามาสนอง" ถ้าหากว่าไม่ได้ปล่อยปูปล่อยปลา ช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดไปได้ก่อน ก็อาจจะหนักหนาสาหัสถึงขนาดสิ้นชีวิตเลยทีเดียว..! -
ตอนที่กระผม/อาตมภาพตกบันได จนเล็บนิ้วหัวแม่เท้าหลุดไปทั้งอัน ก็อยู่ในลักษณะนี้ ก็คืออยู่ ๆ ความรู้สึกทั้งหมดได้ขาดหายไปเฉย ๆ มารู้สึกตัวอีกที อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นแล้ว ลักษณะอย่างนี้ถ้าเกิดกับใคร ขอให้รู้ว่าเป็น "กรรมบันดาล" ต่อให้ระมัดระวังแค่ไหนก็พลาดจนได้..!
แล้วในขณะเดียวกัน เมื่อเอาคางไปกระแทกพื้นบันได มีบาดแผลเล็ก ๆ ประมาณเซ็นติเมตรเดียวเท่านั้น แต่ว่าเลือดไหลไม่ค่อยอยากจะหยุด ต้องเอากระดาษซับอัดเอาไว้ แล้วก็ใส่หน้ากากทับอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นก็ขึ้นไป
กราบพระและเที่ยวชมสถานที่ในวัดเชียงทอง ไม่ว่าจะเป็นวิหารที่เก็บราชรถ ซึ่งใช้ทำการอัญเชิญพระบรมศพ "เจ้ามหาชีวิต" ตลอดจนกระทั่งมากราบขอพรพระประธานในพระอุโบสถวัดเชียงทอง ซึ่งเป็นมรดกโลก
หลังจากที่เดินชมสถานที่จนถ้วนทั่วกันแล้ว พวกเราก็ได้ย้อนกลับออกมาทางด้านหน้าวัด เพราะว่ารถตู้ของคณะมารอพวกเราอยู่ที่นี่ ซึ่งทางรถตู้ก็นำคณะของพวกเราบุกป่าฝ่าดงตรงไปยังน้ำตกตาดกวงซี (กวางซี) ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไปอ่านภาษาอังกฤษว่า "กวางสี"
ความจริงคำนี้ภาษาไทยเรียกว่า "กวางชี" เป็นกวางชนิดหนึ่งที่นักสัตวศาสตร์ไม่ค่อยจะรู้จักกัน เพราะว่ากวางทั่วไปที่เราเรียกว่า Sambar Deer ในประเทศไทยนั้น คนเก่าคนแก่เรียกว่า "กวางม้า" กวางชีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กวางเขาเทียน" มีลักษณะของเขากวางที่แตกกิ่งก้านน้อยกว่า และลำตัวเล็กกว่ากวางม้าอยู่มาก แต่ว่านักสัตวศาสตร์ของเราน่าจะศึกษาไม่ถึง จึงไม่ได้แยกสายพันธุ์ออกมา นอกจากเรียกว่า Sambar Deer เหมือนกัน บริเวณน้ำตกแห่งนี้สมัยก่อนน่าจะมีกวางประเภทนี้อยู่มาก
เมื่อซื้อ "ปี้" สำหรับเข้าชมแล้ว พวกเราก็ได้นั่งรถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตรครึ่ง หลังจากนั้นก็เดินตามเส้นทางเดินป่า ค่อย ๆ ชมน้ำตกขึ้นไป บุคคลที่ไม่ชอบการเดินก็อาศัยนั่งรถไฟฟ้าขึ้นไปด้านบนเลย แต่ว่าจะได้เห็นเฉพาะน้ำตกชั้นบนสุดเท่านั้น
พวกเราที่ค่อย ๆ ลัดเลาะตามป่าตามเขามา เมื่อมาใกล้ที่จะถึงชั้นบน "ท้าวนุ" บอกว่าหลวงพ่อเลือดออกมาก ดังนั้น..ขอให้เปลี่ยนหน้ากากอนามัยจากสีขาวเป็นสีดำเถิด จะได้ไม่มีใครเขาเห็นแล้วตกใจ เมื่อเปลี่ยนหน้ากากเสร็จ รอจนกระทั่งพวกเรามากันครบถ้วน ถึงได้ถ่ายรูปหมู่ที่หน้าน้ำตกตาดกวางซี ซึ่งหาทางเลี่ยงคนได้ยากมาก เพราะว่า "ผู้คนล้านแปด" พากันไปแออัดยัดเยียดกันอยู่ตรงนั้น เมื่อได้รูปหมู่แล้ว พวกเราก็เดินย้อนลงมาอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นทางที่รถไฟฟ้านำบรรดาผู้ที่ไม่ชอบเดินวิ่งสวนทางขึ้นมา -
บริเวณทางเดินป่าช่วงนั้น เป็นศูนย์อนุรักษ์หมี ที่ทางการประเทศลาวนำเอาหมีที่ยึดจากชาวบ้านมาอนุบาลเอาไว้ตรงนั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว หมีก็คือ "ทองคำเคลื่อนที่" จับมาเลี้ยงดูเอาไว้ เจาะดีหมีไปขายให้กับร้านยาจีน ทำเงินได้มากมายทีเดียว แต่เป็นการทรมานสัตว์แบบทารุณมาก เมื่อทางการจับได้ ก็จะยึดหมีเหล่านั้น ซึ่งส่วนมากเป็น "หมีควาย" มาปล่อยอนุบาลเอาไว้บริเวณนั้น
เมื่อมาขึ้นรถไฟฟ้าที่บริเวณลานจอดรถ กลับลงไปถึงลานจอดรถด้านล่างแล้ว รถตู้ของเราก็พาแวะไปที่น้ำตกอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งรถสามารถวิ่งไปถึงหน้าน้ำตกเลย เรียกว่าน้ำตกตาดแก้ว หรือที่บางท่านเรียกว่าน้ำตกตาดแก้วมงคล ปรากฏว่าสถานที่นี้ มีร้านอาหารตั้งติดริมลำห้วยหน้าน้ำตกเลย ทำให้หามุมถ่ายรูปได้ค่อนข้างยากถึงยากมาก
เมื่อถ่ายรูปกันเสร็จสรรพเรียบร้อย พวกเราก็นั่งรถยนต์บุกป่าฝ่าดง ย้อนกลับมายังที่พักที่โรงแรมแกรนด์หลวงพระบาง โดย "ท้าวนุ" แวะไปซื้อหาบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือในการทำแผลมาให้คณะของเรา ช่วยกันทำแผลให้กระผม/อาตมภาพ โดยมีการทายาอย่างชนิดที่เรียกว่า ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงดิ้นร้องโอดโอยไปแล้ว แต่ว่ากระผม/อาตมภาพได้แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ อยู่ในลักษณะที่ว่าทรงสมาธิหนีความเจ็บปวดนั่นเอง จนกระทั่งบาดแผลทุกอย่างได้รับการทำเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพก็มาบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนให้ท่านทั้งหลายได้ฟังอยู่ในขณะนี้
ขอให้ทุกท่านอย่าได้ห่วงใยกังวลกับอาการที่เกิดขึ้นกับกระผม/อาตมภาพ เพราะว่าขนาดมีผู้ใหญ่อย่าง "เจ้าลุง" คอยดูแลอยู่ แต่เมื่อวาระกรรมมาสนอง ก็ยังทำให้ต้องได้รับบาดเจ็บอยู่ดี โดยเฉพาะว่ามีการปล่อยชีวิตสัตว์ไปเป็นร้อย ๆ ตัวล่วงหน้า เพื่อชดใช้ให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นอยู่แล้ว
แต่จะว่าไปแล้วในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กระผม/อาตมภาพเองก็มาสร้างเวรสร้างกรรมอยู่บริเวณนี้ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เพราะว่ามาตีบ้านตีเมืองของเขาเอาไว้ ถึงเวลาเขาจะทวงคืนบ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรต้องหนักใจ ชดใช้ได้เท่าไรก็เท่านั้น ทวงทันเท่าไรก็ให้เท่านั้น ใครทวงไม่ทันก็ต่างคนต่างไปเท่านั้นเอง..!
สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)