เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕
ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 มิถุนายน 2022.
-
ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ได้เดินทางไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลที่วัดธรรมปัญญาราม (บางม่วง) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อไปถึง จึงได้รู้ว่ามี "แฟนพันธุ์แท้" ของ "เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน" เยอะมากเป็นพิเศษ
เหตุก็เพราะว่านอกจากท่านเจ้าอาวาสคือ องพจนกรโกศล, ดร. (พิสิษฐ์ เถี่ยนบ๊าว) ที่เป็นรุ่นพี่ จบมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมาแล้ว บรรดาลูกวัดก็คือลูกศิษย์ปริญญาตรีบ้าง ปริญญาโทบ้าง ซึ่งเรียนกับกระผม/อาตมภาพที่วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ประกอบกับบรรดาสามเณรทั้งหลาย ที่คอยฟังเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนอยู่ทุกวัน
เมื่อเดินเข้าไปในเขตวัด จึงเหมือนอย่างกับว่ามีผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินเดินทางมาถึง เพราะว่าทุกคนรีบมาถวายการต้อนรับพระอาจารย์ โดยเฉพาะปรารภว่าฟังเสียงธรรมฯ หลวงพ่อมาเป็นปีแล้ว เพิ่งจะเห็น "ตัวเป็น ๆ" เดี๋ยวนี้เอง..!
บรรดาเพื่อนเถระอนัมนิกายทั้งหลายนั้น ก็มาจากสายอนัมนิกายหรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า "วัดญวน" ทั่วประเทศไทย โดยที่กระผม/อาตมภาพเองนั้น มีเพื่อนร่วมรุ่นปริญญาเอก คือ องปลัด (สิทธิศักดิ์ เถี่ยนยา) มีเพื่อนพระวิปัสสนาจารย์คือ องอนนตสรภัญ (ปรีชา เถี่ยนกือ) เป็นต้น จึงทำให้บรรดาพระภิกษุและสามเณรอนัมนิกายรุ่นหลัง ๆ เห็นกระผม/อาตมภาพเป็นรุ่นครูบาอาจารย์ของเขาไปเลย เนื่องจากว่าพรรคพวกที่ได้เอ่ยนามมานั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นพระเถระที่มี "อาวุโสรุ่น" ที่สูงมาก
คำว่า "อาวุโสรุ่น" ในที่นี้ก็คือ การบวชของสายอนัมนิกายนั้น ต้องดูว่าพระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นรุ่นไหน ถ้าหากว่าพระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้ที่มีลำดับรุ่นสูง ท่านซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป ต่อให้เพิ่งบวช ก็อาจจะมีลำดับรองจากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านอาจจะกลายเป็นรุ่นพี่ หรือว่ารุ่นพ่อของท่านที่บวชก่อนก็เป็นได้..!
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เรื่องความชัดเจนในลำดับรุ่นของพระที่บวชทางจีนนิกายหรืออนัมนิกาย ก็ดูได้จากอักษรนำหน้าฉายา อย่างเช่นว่ารุ่น "เถี่ยน" ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นปริญญาเอก และเป็นเพื่อนพระวิปัสสนาจารย์ เป็นต้น รุ่นหลัง ๆ ลงไปก็จะเป็นพระลูกพระหลานของท่านทั้งหลายเหล่านี้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ในเรื่องของลำดับรุ่น จึงมีความสำคัญมากสำหรับพระภิกษุสามเณรในสายอนัมนิกายและจีนนิกาย
ในงานนี้พระเดชพระคุณพระคณานัมธรรมเมธาจารย์ (ณรงค์ ติ่นเรียน) เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย ก็ได้เมตตามาเป็นประธานในการเจิมและจุดเทียนชัยในพิธีด้วย ส่วนบรรดาพระเกจิคณาจารย์ที่มาร่วมงานพุทธาภิเษกนั้น ก็เป็นที่คุ้นเคยกัน อย่างเช่นว่า หลวงพ่ออวยพร (พระครูปฐมวราจารย์) วัดดอนยายหอม หลวงพ่อจำนงค์ (พระครูสิริสาครธรรม) วัดท่ากระบือ เป็นต้น -
ในงานนี้เมื่อกำหนดใจคิดว่าเป็นการปลุกเสกวัตถุมงคลสายมหายาน กระผม/อาตมภาพควรที่จะทำอย่างไรดี ? ยังไม่ทันที่คิดจะทำอะไร องค์พระประธานในมณฑลพิธีก็ขยายองค์ใหญ่พรวดขึ้นมา จนกระทั่งเต็มไปทั้งมณฑลพิธี..!
กระผม/อาตมภาพก็คิดว่า ถ้าหากว่าเป็นทางสายของเรา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จ บางทีท่านก็คลุมไปทั้งอนันตจักรวาลเลย ก็คือบรรดาดวงดาวต่าง ๆ ที่มีคนและสัตว์จำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะอยู่ในดาราจักรไหนก็ตาม บางทีพระองค์ท่านก็อนุเคราะห์สงเคราะห์เขาจนทั่วถึงไปหมด
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงได้เห็นองค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าของทางสายอนัมนิกาย หรือก็คือองค์พระสมณโคดมของเรา ท่านแสดงอานุภาพให้ดู เหมือนอย่างกับการม้วนพรมสักผืนหนึ่ง แต่ว่าพรมผืนนี้คือแผ่นดินทั้งโลก เมื่อม้วนเข้าไปแล้วรวบกลับมา ก็กลายเป็นโลกกลม ๆ เหมือนอย่างกับวัตถุอะไรเล็ก ๆ นิดเดียวอยู่ภายใต้องค์ของพระองค์ท่าน ที่สามารถจะเปล่งพระรัศมีครอบคลุมทั่วถึงภายในไม่ถึงวินาที..!
เมื่อกระผม/อาตมภาพสงสัยว่า นิมิตนี้หมายถึงอะไร ? พระองค์ท่านก็ตรัสบอกในทันทีทันใดว่า "เธออุตส่าห์เรียนอักขระเลขยันต์มามากมาย ไม่รู้จักคำว่า "พุทม้วนโลก" ใช่ไหม ?"
ตรงจุดนี้ถ้าหากบอกว่าไม่รู้ก็ต้องเสียหายหลายแสน เพราะว่าครูบาอาจารย์ในสายธรรมท่านหนึ่ง ก็คือหลวงปู่สาย อคฺควํโส (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ซึ่งท่านสืบสายวิชามาจากสายหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ และ หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม ในขณะเดียวกันครูบาอาจารย์อีก ๒ ท่าน ก็คือหลวงปู่สำราญ (พระเดชพระคุณพระมงคลไชยสิทธิ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่า และพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) นั้น ท่านสืบสายวิชามาจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งทั้ง ๒ สายนี้ ในการจารวัตถุมงคล บางทีท่านก็จารเป็นรูปอักขระพุท แล้วก็มีวงกลมล้อมรอบ ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า "พุทม้วนโลก"
กระผม/อาตมภาพก็เพิ่งได้เห็นอย่างชัดเจนในวันนี้เองว่า เวลาที่พระองค์ท่านแสดงพุทธานุภาพมานั้น โลกของเราทั้งโลกเป็นวัตถุเล็กนิดเดียว แทบจะไม่มีอะไรเหลือบ่ากว่าแรงเลยในการที่พระองค์ท่านจะม้วน และเก็บอยู่ใต้พุทธบารมีอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย -
เมื่อถึงเวลาพระองค์ท่านบอกว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพลืมตาขึ้นมา คาดว่าเวลาจะอยู่ที่ประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็จัดการทำน้ำมนต์ พรมรอบบริเวณพิธี แล้วก็โปรยดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากรับปัจจัยไทยธรรมแล้วก็ได้ขอตัวกลับมา
ในพิธีกรรมครั้งนี้ สิ่งพิเศษก็คือ การที่เห็นคำว่า "พุทม้วนโลก" นั้นเป็นอย่างไร และขณะเดียวกัน พระพุทธเจ้านั้นไม่ว่าจะเป็นสายอนัมนิกาย สายจีนนิกาย สายวัชรยาน หรือว่าสายมหายาน สายเถรวาทอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน พุทธานุภาพที่แสดงออกก็เหมือนกันทุกประการ
และขณะเดียวกัน พระองค์ท่านเคยสงเคราะห์ให้แค่ไหน ก็มักจะให้แค่นั้น ยกเว้นว่ามีอะไรเพิ่มเติม พระองค์ท่านก็จะเมตตาตรัสบอกเพิ่มขึ้น อย่างครั้งนี้เป็นต้น ซึ่งถ้าหากว่าเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนจบลงแค่นี้ ก็คงจะมีเรื่องราวไม่เพียงพอต่อระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่
ก็มาขอกล่าวถึงไอ้ตัวเล็กของพวกเรา ซึ่งท่านทั้งหลายคุ้นเคยกันดี ก็คือนางสาวพัชรีภรณ์ หยกอุบล ซึ่งวันนี้ไปด้วยกัน มีโอกาสสอบถามปัญหาว่า ในการที่เราประพฤติปฏิบัติในอสุภกรรมฐานก็ดี ในอาหาเรปฏิกูลสัญญาก็ดี เมื่อถึงเวลาแล้ว รู้สึกอยากจะอาเจียน ทำให้หมดอารมณ์ ไม่กล้าที่จะประพฤติปฏิบัติต่อ ควรที่จะทำอย่างไรดี ?
กระผม/อาตมภาพก็ได้ตอบไปว่า นั่นเป็นลักษณะของบุคคลที่ปัญญาเกินสติ ก็คือรู้เห็นอย่างเดียว แต่ขาดสติในการยั้งคิด ทำให้บางทีก็อาจจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ประพฤติผิด ประพฤติพลาดไปได้เลย
ถ้าหากว่าเราพิจารณาดูในอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญ ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือหลักธรรมที่ช่วยให้บรรลุมรรคบรรลุผลนั้น หลักธรรมทั้ง ๑๐ หัวข้อนี้นั้น หน้าตาเหมือนกันทุกประการ เมื่อรวมแล้วจึงได้แค่ ๕ เท่านั้น ก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
โดยที่ครูบาอาจารย์ท่านได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ในเรื่องของศรัทธานั้นต้องคู่กับปัญญา ไม่เช่นนั้นถ้าศรัทธาขาดปัญญาก็จะกลายเป็นงมงาย ในเรื่องของวิริยะต้องคู่กับสมาธิ ถ้าหากว่าพากเพียรพอเหมาะพอดี ผลของการประพฤติปฏิบัติก็จะเห็นผลเร็ว แต่ถ้าหากว่าพากเพียรเกินไป ก็กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าหากว่าย่อหย่อนเกินไปก็กลายเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ยกเว้นอย่างเดียวคือสติ ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นคุณประโยชน์มากเท่านั้น ซึ่งตรงท้ายนี้ไม่จริง เพราะว่า ถ้าสติเกินปัญญา ก็จะลังเล ไม่กล้าทำอะไร เพราะว่ากลัวผิด กลัวพลาด ทุกอย่างจึงต้องเสมอหน้ากัน
-
คำถามของไอ้ตัวเล็กนั้น ก็คือเกิดอาการปัญญาเกินสติ ทำให้ไม่มีการพิจารณาย้อนหลัง เป็นการขึ้นหน้าไปอย่างเดียว คำว่าพิจารณาย้อนหลัง ก็คือ ต้องมองเห็นธรรมดาของร่างกายนี้ ว่ามีความสกปรกโสโครกเป็นปกติ แต่ว่าสภาพร่างกายเช่นนี้ เราก็จำเป็นที่จะต้องบริหาร เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างไม่มีความทุกข์มากนัก จึงต้องดูแลไปตามอัตภาพนี้ให้ดีที่สุด
ลักษณะเหมือนการหยิบยืมสิ่งของจากผู้อื่น ถ้าหากว่าโดยมารยาทก็คือต้องรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด ถึงเวลาจะได้คืนให้แก่เจ้าของไปในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด พูดง่าย ๆ ว่าไม่ชำรุดทรุดโทรมมากนัก
ขณะเดียวกัน ในเมื่อเราใช้ปัญญาลักษณะนี้กับอสุภกรรมฐาน ตลอดจนกระทั่งอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็ต้องระลึกเพิ่มขึ้นมาว่า ในเมื่อเรายังต้องอาศัยร่างกายนี้อยู่เพื่อปฏิบัติธรรม เราก็จำเป็นที่จะต้องกินอาหารเข้าไป เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ยังอัตภาพร่างกายนี้ไว้ ให้สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ตามสมควร ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเราไม่รักษาร่างกายนี้เอาไว้ เราปฏิบัติธรรมทั้งทีแล้ว ไม่ถึงมรรคไม่ถึงผลที่ต้องการ ก็จะกลายเป็นการเสียชาติเกิด
ดังนั้น...ในส่วนของอสุภกรรมฐานนั้น เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณาย้อนกลับว่า ในเมื่อเราต้องอยู่กับร่างกายนี้ เราต้องดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีอาหารไปหล่อเลี้ยง เพื่อที่จะได้อาศัยร่างกายนี้ปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะนำพาเราหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพาน
ลักษณะเหมือนกับการที่เราดูแลเรือ ดูแลรถยนต์ให้ดีที่สุด ต้องมีการซ่อม ต้องมีการเติมน้ำมัน เพื่อที่ถึงเวลาแล้ว จะได้อาศัยรถ อาศัยเรือทั้งหลายเหล่านั้น นำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางตามที่ต้องการ ถ้าหากว่าไม่ดูแลให้ดี พังไปเสียก่อน ก็จะทำให้เราเสียเวลาในการเวียนว่ายตายเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วน
ดังนั้น...ท่านทั้งหลายถ้าหากว่ามีอาการเดียวกัน ก็คือปฏิบัติอสุภกรรมฐานแล้วรังเกียจร่างกาย จนกระทั่งบางทีก็เป็นอย่างในธรรมบทก็คือ มีการจ้างปริพาชกมาฆ่าตัวเองก็มี หรือว่าถ้าหากว่าปฏิบัติในอาหาเรปฏิกูลสัญญาแล้ว เกิดความรังเกียจในอาหารขึ้นมาจนกินไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาย้อนกลับว่า ตราบใดที่เรายังอาศัยร่างกายนี้อยู่ เราก็จำเป็นที่ต้องมีอาหารเหล่านี้เข้าไปหล่อเลี้ยง ถึงจะรังเกียจเพียงไหน ก็ต้องทนฝืนกินเข้าไป เพื่ออาศัยร่างกายนี้เป็นพาหนะ นำพาเราหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน
ถ้าท่านทั้งหลาย ถ้ารู้จักคิด รู้จักพิจารณา พยายามปรับสติและปัญญาให้เท่าเทียมกัน ก็จะก้าวพ้นจากอาการรังเกียจร่างกาย รังเกียจอาหารเหล่านี้ไปได้ ไม่เช่นนั้นแล้วท่านก็อาจจะหลงผิด กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าหากว่าจิตใจตอนนั้นเศร้าหมองแล้วเกิดเสียชีวิตลงไป อาจจะตกสู่อบายภูมิไปเลยก็ได้..!
วันนี้ก็ขอใช้โอกาสที่มีเวลาเหลือ บอกกล่าวแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และญาติโยมทั้งหลายเพิ่มเติมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)