เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๗
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๗
ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 14 เมษายน 2024.
-
ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ เป็นวันที่สองของงานสงกรานต์ พรุ่งนี้จะมีการแห่หลวงพ่อทองคำ เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำกัน
การที่สร้างหลวงพ่อทองคำ หลวงพ่อนาก หลวงพ่อเงินขึ้นมานั้น เกิดจากแนวคิดของกระผม/อาตมภาพที่ว่า กาญจนบุรีของเรายังไม่มีพระพุทธรูปสำคัญที่คนเขารู้จักกันทั้งประเทศ ถ้าพูดถึงฉะเชิงเทรา เราจะรู้ว่ามีหลวงพ่อโสธร พูดถึงพิษณุโลก เราจะรู้ว่ามีหลวงพ่อพระพุทธชินราช เป็นต้น แต่ถ้าพูดถึงกาญจนบุรี เราจะไม่รู้เลยว่าพระพุทธรูปสำคัญของเราคืออะไร ?
แต่กระผม/อาตมภาพเป็นคนประเภทที่ว่า "ถ้าไม่มีก็ต้องทำให้มี" จึงได้ปรึกษาหารือกับทางชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยที่ทางวัดจะเป็นผู้ลงทุนในการสร้างพระพุทธรูปทองคำ นาก และเงิน ส่วนทางด้านเทศบาลตำบลทองผาภูมิ มีหน้าที่ในการนำพระพุทธรูปออกแห่ปีละ ๑ ครั้ง เท่ากับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว คาดว่าไม่เกิน ๓ ปี ก็จะติดตลาด
แต่ปรากฏว่าเมื่อสร้างหลวงพ่อเงินเสร็จ สร้างหลวงพ่อนากเสร็จ สร้างหลวงพ่อทองคำเสร็จ เพิ่งจะเริ่มแห่ได้ปีแรก การตอบรับดีมาก เพราะว่าขบวนแห่ยาวหลายกิโลเมตร..! แต่พอแห่เสร็จ COVID 19 ระเบิดตูม..! โดนสั่งห้ามจัดงานไปหลายปี เรื่องที่ควรจะติดตลาดตั้งแต่หลายปีก่อน ก็เลยเงียบ ๆ ไป ต้องรอจนกระทั่งเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ เลิกระบาด แล้วเราค่อยมาเริ่มต้นกันใหม่
คราวนี้จากที่กระผม/อาตมภาพคิดแนวทางเอาไว้นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้รถยนต์ในการแห่เสมอไป เราอาจจะใช้วิธีนิมนต์หลวงพ่อทองคำขึ้นเสลี่ยง แล้วให้คนผลัดกันแบกก็ได้ หรือถ้าปีไหนสนุกขึ้นมา ก็เช่าช้างมาสัก ๓ เชือก ๕ เชือก นิมนต์หลวงพ่อทองคำขึ้นหลังช้างไปก็ได้ เพียงแต่ว่าแนวคิดของกระผม/อาตมภาพอาจจะโลดโผนเกินไป แล้วคนอื่นตามไม่ทัน หรือว่าเขาอาจจะอนุรักษ์นิยม เห็นว่าการแห่ด้วยรถยนต์ง่ายที่สุด ก็เลยยังไปไม่ถึงไหน
ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ในเรื่องของชุมชนนั้น ถ้าจะหาจุดเด่นที่ขายได้ ต้องไม่เหมือนกับที่อื่นเขา ถ้าเหมือนกับที่อื่นเขา ของเราต้องเด่นกว่า ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าเราแห่พระโดยรถยนต์ ที่ไหน ๆ เขาก็แห่โดยรถยนต์ แล้วจะเอาความต่างมาตรงไหน ? -
ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อทองคำของเรา ต้องบอกว่าเป็นพระยุคใหม่ซึ่งสร้างด้วยทองคำ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะว่าเท่าที่พบมาก็คือ สร้างขึ้นมาขนาดหน้าตัก ๑๐ นิ้วบ้าง ๙ นิ้วบ้าง ๕ นิ้วบ้าง แต่ว่าองค์นี้หน้าตัก ๑๙ นิ้ว..! แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ในเมื่อเราขอความร่วมมือกับทางชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะไปเรียกร้องอะไรมากมายไม่ได้ ต้องแล้วแต่เขาจะจัดให้
เรื่องของการทำงานชุมชน บางทีไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราคิดจะถูกทั้งหมด เขาจะจัดการอย่างไร เขาอาจจะมีข้อจำกัด หรือว่าอาจจะมีงบประมาณจำกัด สมมติว่าเราเช่าช้างเชือกหนึ่งสัก ๕,๐๐๐ บาท ๓ เชือกก็ว่าไป ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ถ้าเราเอารถยนต์มาวิ่ง จ่ายค่าน้ำมันอย่างเก่งก็พันเดียวเท่านั้น
ดังนั้น..การทำงานทุกอย่าง จึงเป็นเรื่องของการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ถ้าถามว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นหลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรงไหน ? ก็คือเป็นหลักสมานัตตตาในสังคหวัตถุ ๔ สมานัตตตาแปลง่าย ๆ ว่าเสมอด้วยตนเอง คนเราส่วนมากไปแปลว่าเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าอย่างนั้น คนทำความชั่วเสมอต้นเสมอปลาย แปลว่ามีหลักธรรมข้อนี้ด้วย..!
สังคหวัตถุ ๔ ประกอบไปด้วยทาน คือการรู้จักแบ่งปันผู้อื่น เห็นใครลำบาก ก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
ปิยวาจา พูดดีกับคนอื่น ไม่จำเป็นต้องพูดไพเราะก็ได้ เพราะว่าการพูดให้กำลังใจ บางครั้งด่ายังได้ผลมากกว่าพูดดี ๆ..!
อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่คนอื่น ก็คือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
และท้ายที่สุด สมานัตตตา รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราชอบอะไร คนอื่นก็ชอบใกล้เคียงกัน เราไม่ชอบอะไร คนอื่นก็ไม่ชอบใกล้เคียงกัน เมื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะรู้ได้ว่า ถ้าเขาชอบอะไร เราควรจะทำสิ่งดี ๆ เหล่านั้นกับเขา เขาไม่ชอบอะไร เราก็ควรที่จะละเว้นไม่ทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นกับเขา
-
ดังนั้น..ในเรื่องของ "ความเสมอต้นเสมอปลาย" จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญมาก ก็คือต้องประกอบไปด้วยกำลังใจที่มองรอบด้าน ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็คือใส่ใจในความคิดและการกระทำของคนอื่น แต่ว่าการใส่ใจในความคิดและการกระทำของคนอื่น ไม่ใช่ใส่ใจไปทุกคน หากแต่ว่าใส่ใจตามที่เสียงส่วนใหญ่เรียกร้องหรือว่าต้องการ ก็คือลักษณะของ "สามัคคีธรรม" หรือที่เรียกสมัยนี้ว่า "ประชาธิปไตย"
ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ต้องการอย่างไร เราก็ทำตามนั้น เสียงส่วนน้อยมีความต้องการอะไร ถ้าสามารถที่จะสงเคราะห์ได้ก็ทำไป ถ้าสงเคราะห์ไปแล้ว ขัดกับความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ก็ต้องเว้นเอาไว้ก่อน จึงมีผู้รู้กล่าวว่า "เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่เราต้องทำให้ส่วนใหญ่พอใจได้"
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นวิธีการดำเนินชีวิต ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแบบหนึ่ง ก็คือเลือกเอาส่วนที่มีประโยชน์มากที่สุด ประโยชน์ในที่นี้ นอกจากประโยชน์ส่วนตน คือ อัตตัตถะ แล้ว ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น คือ ปรัตถะ แล้วยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม คือ อุภยัตถะ ถึงจะได้ชื่อว่าเราทำตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
ดังนั้น..ในการสร้างหลวงพ่อทองคำ หลวงพ่อนาก หลวงพ่อเงินขึ้นมา อันดับแรกเลย ถ้าเป็นประโยชน์ตนก็คือ เมื่อไรคนเขาถามว่าใครสร้าง เขาก็จะบอกว่า "หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุนสร้าง"
ถ้าสำหรับประโยชน์ของคนอื่นก็คือ เมื่อถึงเวลามีคนมากราบไหว้บูชา รายได้ต่าง ๆ ก็จะตกอยู่กับบุคคลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นที่กิน ที่อยู่ ตลอดจนกระทั่งการบริการต่าง ๆ
แล้วท้ายที่สุด ถ้ากลายเป็นแหล่งเที่ยวสำคัญ ประโยชน์ก็จะตกแก่ส่วนรวม ถึงขนาดเป็นชื่อเสียงของจังหวัด หรือว่าเป็นชื่อเสียงของประเทศไปด้วย
ดังนั้น..หลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราทำ ถ้าไม่คิดพิจารณา ก็ไม่สามารถที่จะสงเคราะห์เข้ากับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าหากว่ารู้จักคิดและพิจารณา เราจะเห็นว่าทุกอย่างสงเคราะห์เข้าในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่าก่อให้เกิดประโยชน์มาก หรือประโยชน์น้อยเท่านั้นเอง
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)