เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 25 กุมภาพันธ์ 2024.
-
ไฟล์ที่แนบมา:
-
-
วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ เมื่อคืนนี้ท่านนายอำเภอชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ กับท่านวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี คุณสมมารถ คำถนอม ได้นำคณะมาร่วมตามประทีปเป็นพุทธบูชาด้วย
ทางด้านของวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีนั้น ต้องบอกว่าท่านมาตามหน้าที่ ความจริงแล้วทุกปีท่านก็จะติดงานอยู่ที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) เพราะว่าที่นั่นเป็นวัดหลักของจังหวัดกาญจนบุรี ในการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ
แต่ด้วยความที่การตามประทีป ๑๐,๐๐๐ ดวงของวัดท่าขนุนนั้น โด่งดังจนกลายเป็น Unseen Thailand คุณสมมารถซึ่งจะเกษียณอายุราชการภายในปีนี้ จึงขอมาตามประทีปด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะ "ตายตาไม่หลับ" จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าขำมากกว่าน่าเห็นใจ..!
ส่วนท่านนายอำเภอชาคริต ตันพิรุฬห์นั้น ต้องบอกว่าท่านให้ความสนใจต่องาน "บวร" ก็คือประสาน บ้าน วัด โรงเรียนและส่วนราชการ เข้าด้วยกัน ด้วยความสนใจของท่านนั้น ต่อให้ไม่ได้เชิญ ท่านก็มาด้วยตนเอง
ขนาดบรรดา ปลัด อส. ผู้รักษาความปลอดภัยและผู้ติดตาม โดยเฉพาะเลขานุการถึงขนาดออกปากว่า "ตั้งแต่อยู่กับนายมาหลายคน ก็เพิ่งจะมีท่านชาคริตนี่แหละ ที่วิ่งมาตามประทีปที่วัดท่าขนุนด้วยตนเอง" ซึ่งเรื่องนี้ต่อให้ไม่ออกปาก กระผม/อาตมภาพก็ทราบซึ้งดี ตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสมา ๑๗ ปี ก็เพิ่งจะมีท่านนายอำเภอชาคริต ตันพิรุฬห์ มาร่วมกิจกรรมในการเวียนเทียนและตามประทีปที่วัดท่าขนุนนี้ด้วยกัน
เมื่อตามประทีปเสร็จเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็ไม่ได้อยู่ทำวัตรค่ำ และไม่ได้อยู่เวียนเทียน เพราะว่าต้องไปเป็นประธานในงานแสดงของบรรดาโรงเรียนต่าง ๆ ที่มาแสดงในงานทำบุญประจำปีปิดทองรอยพระพุทธบาทวัดท่าขนุน และทำบุญอุทิศอดีต ๗ เจ้าเมืองหน้าด่านจังหวัดกาญจนบุรีของปีนี้ ซึ่งมีกระทั่งเด็กตัวน้อย ๆ จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่าขนุน -
จะว่าไปแล้ว ทางด้านกระผม/อาตมภาพนี้มีกำไรมาก เพราะว่าพื้นที่วัดอยู่ในการดูแลของเทศบาลตำบลทองผาภูมิ แต่ขณะเดียวกันก็สนิทสนมกับผู้บริหารของทางเทศบาลตำบลท่าขนุนอีกต่างหาก จึงทำให้ทั้งสองเทศบาลสนับสนุนกิจการของวัดท่าขนุนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีชาวม้งจากบ้านทุ่งนางครวญ ตำบลชะแล ซึ่งกว่าจะเดินทางออกมาได้แต่ละครั้งนั้นลำบากมาก แต่ก็ยังอุตส่าห์วิ่งมาแสดงให้ไปถึง ๒ ชุดรวด กระผม/อาตมภาพได้แจกรางวัลไปตามระเบียบ
อีกส่วนหนึ่งก็คือคณะชาวไทยเนปาล ซึ่งได้ตั้งกันเป็นชมรมชาวไทยพุทธเถรวาทเนปาล ได้มาร่วมการแสดงทุกครั้ง และเป็นการแสดงที่ประทับใจทุกครั้ง แม้กระทั่งในหมู่ผู้ชมก็ยังปรารภกันว่า "ถ้าเราอ้วนแบบนั้น คงไม่สามารถที่จะเต้นจนพริ้วไปทั้งตัวแบบนักแสดงชาวเนปาลหรืออินเดียได้"
แสดงว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นความสามารถเฉพาะเผ่าพันธุ์ เรื่องและเนื้อหาต่าง ๆ ที่แสดงนั้นก็ชัดเจนมาก เพราะว่าบรรดาชาวชมพูทวีปนั้นมี "ภาษากาย" ที่สื่อออกมาให้เราเห็นคล้ายคลึงกับคำพูด ก็คืออธิบายไปในตัวได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เมื่อจบการแสดงที่กระผม/อาตมภาพกำชับกำชาไว้แล้วว่า จะต้องจบภายใน ๒ ทุ่ม ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะอยู่ไม่ได้ เนื่องเพราะว่ามาลาเรียกำเริบ ขนาดนั้นก็ยังเกิน ๒ ทุ่มไปนิดหน่อย เพราะว่ายังมีชุดการแสดงของพี่น้องมอญ ตลอดจนกระทั่งโรงเรียนอื่น ๆ ที่อยู่ไกลขนาดโรงเรียนบ้านห้วยเสือก็มา ชุดที่อยู่ใกล้ที่สุดก็คือระบำมอญของโรงเรียนบ้านเสาหงษ์
แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่า ในวันนี้แกนหลักของการแสดงจะเป็นวัฒนธรรมอีสานหรือไม่ ? เนื่องเพราะว่าของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็เป็นเซิ้งกระติ๊บ ของอีกสองแห่งก็เป็นเซิ้งมโหรีอีสาน และระบำจัมปาศรี ซึ่งใช้ดนตรีอีสานประเภทเสียงพิณเสียงแคนด้วยกันทั้งสิ้น ทำเอากระผม/อาตมภาพฟังไปก็อมยิ้มไป
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคุ้นเคยกับดนตรีอีสานมาก เนื่องจากว่าสมัยที่ยังรับราชการทหารอยู่ ปีหนึ่งมีลูกน้องที่มาจากด้านอีสานล้วน ๆ ท่านทั้งหลายเหล่านี้สอนทั้งภาษาพูด ดนตรีกาล และอาหารการกินทุกอย่างให้ จนกระทั่งการข้ามไปประเทศลาวนั้น กระผม/อาตมภาพต้องเป็น "นายภาษา" ก็คือล่าม คอยอธิบายภาษาลาวเป็นภาษาไทยให้ทุกคนฟัง ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอีสานเป็นอย่างยิ่ง -
โดยเฉพาะในอำเภอทองผาภูมินั้น หมู่บ้านเขาพระอินทร์ หมู่บ้านพุเตย หมู่บ้านห้วยเสือ ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องไทยอีสาน แม้กระทั่งหมู่บ้านทุ่งนางครวญ ก็มีพี่น้องไทยอีสานเกือบหมด มาภายหลังถึงได้มีพี่น้องม้งแทรกเข้ามา ๒๙ ครอบครัว แต่ว่าก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นชาวอีสาน ก็ช่วยให้การดูแลประคับประคองกันมาตลอด จึงกลายเป็นผลดีต่อการทำงานด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อจบงานกลับเข้ามาในวัด ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรนำญาติโยมเวียนเทียนจวนจะจบแล้ว ทางด้านท่านวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีก็มาพาคณะลากลับ กระผม/อาตมภาพถามว่า "จะกลับทำไมดึก ๆ ดื่น ๆ เพราะว่าขับรถยากและอันตราย" แต่ท่านบอกว่าบรรดาลูกน้องที่มาค้างคืนตั้งแต่คืนก่อน เริ่มคิดถึงบ้านกันแล้ว โดยเฉพาะพวกสาว ๆ ทางบ้านก็โทรตามแล้วตามอีก จึงได้อวยพรให้ท่านเดินทางกลับโดยสะดวกปลอดภัย
แต่ว่าตนเองนั้นมาเสียท่าเป็นอย่างยิ่ง เนื่องเพราะว่าตื่นเช้าขึ้นมาแบบงง ๆ ว่าเสียงอะไรเอ่ย ? แล้วในที่สุดตั้งสติขึ้นมาก็นึกได้ว่า เสียงระฆังปลุกยามเช้า ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงหลับได้ชนิด "ฟิวส์ขาด" แบบนั้น ต้องตาลีตาลานสรงน้ำ แต่งตัว ออกไปนำญาติโยมปฏิบัติธรรมช่วงตี ๓ ครึ่ง ต่อด้วยการทำวัตรเช้า แล้วออกบิณฑบาตตามปกติ
โดยเฉพาะเมื่อมาถึงบริเวณร้านค้าชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน ซึ่งตอนนี้บริหารกันจนอยู่ตัวแล้ว ก็เจอทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ปฏิบัติธรรมที่มากันมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดล้นไปถึงบันไดคอนกรีตที่ลงสู่สะพานแขวนหลวงปู่สายเลย ครั้นรับบิณฑบาตและฉันเช้าเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องไปนำญาติโยมทั้งหลายปฏิบัติธรรมในช่วงสาย
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็คือ ญาติโยมส่วนใหญ่มาก็เพราะต้องการได้ยินได้ฟังกระผม/อาตมภาพวิเคราะห์วิจัย ว่าการปฏิบัติของตนนั้นบกพร่องที่ใดบ้าง แล้วขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าไปนำสมาทานกรรมฐานหรือนำปฏิบัติได้ก็จะยิ่งดี แต่กระผม/อาตมภาพนั้นจะมีเวลาให้เต็ม ๆ ก็เฉพาะในช่วงเช้ามืด ระหว่างตี ๓ ครึ่งถึงตี ๕ เท่านั้น ถ้าหากว่าอย่างวันนี้ ก็กลายเป็นว่านอนเพลิน กินเวลาไปหน่อย..! -
ดังนั้น..ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่แล้วต้องอยู่ในลักษณะ "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" ก็คือ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ เมื่อได้แนวทางจากครูบาอาจารย์แล้ว ก็เร่งรัดการปฏิบัติให้เต็มที่ ติดขัดอย่างไรแล้วค่อยไปสอบถาม ซึ่งกระผม/อาตมภาพเคยบอกกล่าวกับทุกท่านหลายครั้งแล้วว่า ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าหากว่าเราทำจริง ๆ จะได้คำตอบเองเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านอารมณ์เท่านั้น ที่เราอาจจะไม่มั่นใจ หรือว่าไม่เข้าใจ
กระผม/อาตมภาพที่ติดตามพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงอยู่ ในชีวิตฆราวาส ๑๑ ปี และในชีวิตพระอีก ๗ พรรษา รวมแล้ว ๑๘ ปี เคยกราบเรียนถามอารมณ์ปฏิบัติกับท่านแค่ ๔ ครั้งเท่านั้น เนื่องเพราะว่าถ้าเรามีการปฏิบัติที่จริงจังแล้ว พอถึงเวลา "ญาณ" คือเครื่องรู้จะปรากฏขึ้น
เมื่อพิจารณาทบทวนตั้งแต่หัวจรดท้าย ท้ายจรดหัวสัก ๗ - ๘ รอบ ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าใช่ ก็ไม่ต้องไปเรียนถามจากครูบาอาจารย์อีก เพราะว่าคำตอบทั้งหลายเหล่านี้นั้น ก็มักจะตรงกับในพระไตรปิฎก หรือในวิสุทธิมรรค ตลอดจนกระทั่งตรงกับคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ยกเว้นเพียงบางส่วนที่เป็น "ปัจจัตตัง" รู้เฉพาะตน ต่อให้ได้รับคำตอบแล้ว ก็ยังขาดความมั่นใจ จึงต้องกราบรบกวนครูบาอาจารย์ให้ช่วยแถลงไขให้หน่อย
แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ กระผม/อาตมภาพในสมัยนั้นก็ระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องเพราะว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ นั้น นอกจากป่วยเป็นปกติแล้ว งานทั้งภายนอกภายในของท่านยังมากเป็นอย่างยิ่ง จึงพยายามรบกวนท่านให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ไม่ใช่อย่างญาติโยมในปัจจุบันนี้ ตัดสินใจว่าจะบวชแล้ว ก็ยังมาถามพระอีกว่า "จะบวชดีหรือไม่ ?" ถึงเวลาจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ก็ยังมาถามอีกว่า "จะนิมนต์พระกี่รูปดี ?" ถ้าหากว่าในลักษณะนี้ ถามตอนที่ไม่ยุ่งมากก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าถามตอนที่ยุ่งมาก ๆ อาจจะได้รับการ "เป่ายัน" รอบพิเศษไปตอนไหนก็ไม่รู้..?!
ดังนั้น..เรื่องของครูบาอาจารย์ เราต้องคิดด้วยว่าท่านจะทั้งแก่ทั้งป่วยหรือเปล่า ? ไม่ใช่ว่าท่านสามารถที่จะมาให้เรารบกวนได้ตลอดเวลา จะทำอะไรก็ต้องนึกถึงท่านก่อน ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวเอง ไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะกำลังสร้างกรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเองก็ได้..!
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)