เอกลักษณ์ยันต์ " หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"
การสร้างพระเครื่อง พระบูชา และ เครื่องรางของขลัง นั้น หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านมิได้จำกัดให้ลูกศิษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จัดสร้างขึ้น ดังนั้นลูกศิษย์ท่าน จึงมีอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ท่านได้พูดถึงเรื่องวัตถุมงคลไว้อย่างน่าคิดว่า
"ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะไปติดวัตถุอัปมงคล" ขณะเดียวกันท่านก็เคยพูดไว้ว่า ใครที่ได้ รับวัตถุมงคล ของท่านไปให้เก็บไว้ วันหนึ่งจะหายากดั่งงมเข็มในมหาสมุทร
ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างที่ท่าน พูดไว้จริงๆ เซียนพระ หันมาสนใจ ศึกษา สะสม และเช่าบูชาวัตถุมงคล ของหลวงปู่ดู่ทุกรุ่น วัตถุมงคล ของท่านจึงได้รับความนิยม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ทันข้ามพ้นช่วง อายุคน ราคาก็ขยับ ขึ้นหลักหมื่นหลักแสน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมี ของปลอม ออกมาด้วย
สิ่งหนึ่งที่น่าศึกษาไม่น้อยกว่าความแท้ คือ ยันต์ที่ปรากฏ บนเหรียญรุ่นต่างๆ
ยันต์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ของหลวงปู่ดู่ มีอยู่ ๒ ยันต์ คือ ยันต์เฑาะว์ (ยันต์ท้อ) และ ยันต์นะมหาอุด
ยันต์ทั้ง ๒ ยันต์นี้จะปรากฏอยู่ในเหรียญหลายๆ รุ่น ยันต์เฑาะว์ที่หลวงปู่ดู่ใช้นั้น ท่านนำมาจาก หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง
ส่วนการเรียกชื่อยันต์เฑาะว์นั้น หลวงพ่อคง วัดบางกะพร้อม จ.สมุทรสงคราม จะเรียกว่า ยันต์เฑาะว์รันโต โดยระหว่างลงยันต์บนกระหม่อม หลวงพ่อจะภาวนา โดยเริ่มจากการตั้งนะโม ๓ จบก่อน จากนั้นก็จะบริกรรม ท้อรันโต ศีละสมาธิ ท้อรันโตตันติ นะมัตถุโน ท้อรันโต นะกัมมัถฐานัง ท้อพุทธ นะมามิหังฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเขียนเส้น ล้อมรอบ หลายชั้น และ มีการใช้ยันต์ ตัวอื่นๆ มาเขียน ประกอบด้วย ทำให้มีการ เรียกชื่อตามตัวยันต์อื่นๆ ที่เป็นยันต์ประกอบ เช่น ยันต์เฑาะว์ พุทธคุณ ยันต์เฑาะว์พระนิพพาน ยันต์เฑาะว์พระรัตนไตร ยันต์เฑาะว์อะระหัง เป็นต้น
ส่วน ยันต์นะมหาอุด หรือ นะซ่อนหาง ซึ่งหาก พิจารณา ผิวเผินแล้ว ยันต์ตัวนี้เขียนง่าย แต่การเรียก สูตรนั้นยากมาก ขึ้นอยู่กับเฉพาะตัวว่าพระเกจิอาจารย์รูปใด จะใช้คาถาใด ในการเรียกสูตร บางรูปก็ใช้คาถาหัวใจอิติปิโส หัวใจพระเจ้า ๑๖ พระองค์ คือ นะ มะ นะ อะ กอ กอ นะ กะ กอ ออ นอ อะ นะ อะ กะ อัง
แต่ถ้าเรียกสูตร นะมหาอุด ตัวเดียวให้บริกรรม ระหว่างเขียนว่า นะ อุด ตะ รัง อุด ตะ รัง มิ จะ นะ อย่า อย่า นะ วิ หา รัง ปิด อุท ธัง อัท โธ
ในกรณีการเรียก สูตรนะมหาอุด ของหลวงปู่ดู่นั้น เท่าที่ทราบ หลวงปู่ดูหวงคาถาเรียก สูตรนะมหาอุดมาก ใครอยากได้คาถาเรียกสูตร ต้องตั้งสัจจะ อธิษฐานก่อนว่า จะต้องบวชไม่สึก
นอกจากยันต์นะมหาอุด และยันต์เฑาะว์พุทธคุณ แล้วยัง มียันต์อื่นๆ ที่ปรากฏบนเหรียญ ที่น่าสนใจหลายรุ่น ดังนี้
เหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นเปิดโลก ปี ๒๕๓๒ มียันต์ ๒ คาถา ตัวกลมๆ ที่อยู่กึ่งกลาง คือ ยันต์นะมหาอุด หรือ นะซ่อนหาง ส่วนยันต์ที่อยู่ในรูปสามยอด คือ นะ โม พุท ธา ยะ (พระเจ้า ๕ พระ องค์)
เหรียญสี่เหลี่ยมเล็ก หลวงปู่ทวด ปี ๒๕๓๐ หลวงปู่ดู่เสก รุ่นกระโดด จากบาตร มียันต์ ๒ คาถา คือ มะ อะ อุ (หัวใจพระไตรปิฎก) ซึ่งเขียนอยู่ ระหว่าง องค์พระซ้าย ขวา และด้านใต้ ส่วนยันต์ที่อยู่ใน รูปสี่เหลี่ยม คือ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ (นวหรคุณ) การอ่านยันต์ชุดนี้ต้องอ่านจากซ้ายไปขวา และด้านล่างขึ้นบน โดยยันต์บนสุดคือ ภะ
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ ซึ่งออกเป็นที่ระลึก งานวัดลุ่ม ปี ๒๕๑๓ ยันต์ที่ปรากฏ ด้านหน้า คือ นะ โม พุท ธา ยะ ส่วนยันต์ด้านหลังที่อยู่ระหว่างตัวเฑาะว์ คือ พุท ธะ สัง มิ (หัวใจยอดศีล) ในกรณีที่ตัวเฑาะว์ มีการลงยันต์ครอบลงไป ทำให้การเรียกชื่อตัวเฑาะว์ เปลี่ยนไปด้วย กรณีดังกล่าวตัวเฑาะว์จึงเรียกว่า เฑาะว์หัวใจยอดศีล
เหรียญกลมเศรษฐี ปี ๒๕๓๑ ยันต์ด้านหน้า คือ นะ โม พุท ธา ยะ (พระเจ้า ๕ พระองค์) ส่วนยันต์หลัง เหรียญนั้นมี ๔ คาถา คือ นะ มะ พะ ทะ (ธาตุ ๔) พุท ธะ สัง มิ (หัวใจยอดศีล) จะ ภะ กะ สะ (หัวใจธาตุพระกรณี) และ อิ ธะ คะ มะ (คาถาหัวใจอิทธิเจ)
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยอาจจะเข้าใจว่า คาถา หัวใจธาตุพระกรณี กับ คาถาหัวใจ ธาตุกระกรณี นั้นเป็น คาถา ตัวเดียวกัน แต่ความจริงแล้วเป็นคนละคาถา หัวใจ ธาตุพระ กรณี คือ จะ ภะ กะ สะ ส่วน คาถา หัวใจ ธาตุกระกรณี คือ จะ อะ ภะ คะ
เหรียญรูปไข่ หลังยันต์ดวง ด้านหน้าคือพระคาถา พระไตร สรณคมน์ ซึ่งเป็น การเขียนด้วยบาลีไทย อ่านว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ส่วนด้านหลัง มีการเขียนดวง ลงไปบนหลังเหรียญนั้น ไม่ค่อยปรากฏ ให้เห็นมาก และยันต์ดวงที่เขียนจะเป็นดวงของพระเกจิอาจารย์ หรือวันเวลา ที่ปลุกเสก เหรียญรุ่นดังกล่าว ยันต์ที่อยู่ระหว่างตัวเฑาะว์ คือ พุท ธะ สัง มิ (หัวใจยอดศีล)
เหรียญฉลองอายุ ๘๔ ปี ซึ่งเป็นงานฉลอง ครั้งสุดท้าย ยันต์ด้านหน้า ของเหรียญ คือ นะ โม พุท ธา ยา (พระเจ้า ๕ พระองค์) และโค้ดที่ตอกบริเวณสังฆาฏิ คือ ยะ ส่วนยันต์หลังเหรียญ ตัวกลาง รูปสามเหลี่ยม คือ นะมหาอุด ส่วนยันต์ที่อยู่บริเวณมุมของสามเหลี่ยม คือ มะ อะ อุ (หัวใจพระไตรปิฎก)
เหรียญรูปไข่ บล็อกกษาปณ์ ปี ๒๕๒๙ ยันต์บริเวณขอบเหรียญ คือ พระไตรสรณคมน์ แต่เขียน ด้วยอักขระขอม อ่านว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ส่วนยันต์สี่ตัวที่อยู่ข้างตัวเฑาะว์ คือ พุท ธะ สัง มิ
เหรียญหล่อพิมพ์รูปเหมือนหลวงปู่ดู่ สี่เหลี่ยมข้างบัว ปี ๒๕๒๓ ยันต์ที่อยู่ตรงกลาง คือ ยันต์เฑาะว์ และนะมหาอุด ส่วนยันต์ รอบนอกนั้น ประกอบด้วย นะ โม พุท ธา ยะ (แถวบน ที่ติด กับห่วง) ส่วนแถวล่างคือ พุท ธะ สัง มิ ยันต์ด้านขวา คือ นะ มะ พะ ทะ (หัวใจธาตสี่) และด้านซ้าย คือ จะ ภะ กะ สะ (หัวใจ ธาตุกรณี) นอกจากนี้แล้ว ยันต์ทั้งสี่นี้ยัง ปรากฏ ในเหรียญหล่อ พิมพ์รูปเหมือนหลวงปู่ดู่ แบบเสมา ปี ๒๕๒๓ อีกด้วย
แหวนองค์พระ เนื้อเงิน สร้างเมื่อปี ๒๕๓๒ ยันต์ที่ปรากฏ ที่หัวแหวน คือ นะ มะ พะ ทะ ส่วนยันต์ที่เขียนไว้ด้านในคือยันต์นะมหาอุด
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ นายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์คเณศ์พร ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ ในโอกาสหน้าจะนำเรื่องยันต์หลังเหรียญ พระครูธรรมกิจโกศล (พ่อท่านนอง ธมฺมภูโต ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว จ.ปัตตานี มานำเสนอต่อไป
ชั่วโมงเซียน อ.โสภณ :
http://www.komchadluek.net/column/pra/2005/12/05/01.php
เอกลักษณ์ยันต์ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"
ในห้อง 'พระเครื่อง วัตถุมงคล' ตั้งกระทู้โดย TupLuang, 8 กันยายน 2008.
-
-
อืมมม ติดวัตถุมงคลเพื่อเสริมกำลังใจ แต่ อย่าเอามาแข่งกันนะ เห็นแล้วสงสาร
-
อนุโมทนาครับ "ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะไปติดวัตถุอัปมงคล" (good)(good)
-
โสภา จาเรือน เป็นที่รู้จักกันดี
อนุโมทนาสาธุบุญ
ละความชั่วด้วยศีล ทำความดีด้วยทาน จิตเบิกบานด้วยภาวนา -
พุทธานุภาพประมาณค่ามิได้คับ
-
ขอกราบโมทนาสาธุครับ สาธุ...