แนวคิดใหม่เชื่อดาวศุกร์ยุคโบราณมีสภาพเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 24 กันยายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    e0b983e0b8abe0b8a1e0b988e0b980e0b88ae0b8b7e0b988e0b8ade0b894e0b8b2e0b8a7e0b8a8e0b8b8e0b881e0b8a3.jpg Image copyright NASA
    คำบรรยายภาพ อุณหภูมิพื้นผิวของดาวศุกร์ในปัจจุบันมีความร้อนสูงจนหลอมตะกั่วได้

    แม้จะมีการขนานนามดาวศุกร์หรือวีนัส (Venus) ว่าเป็นดาวคู่แฝดของโลก เพราะตั้งอยู่ใกล้กันและมีขนาดเกือบเท่ากันพอดี แต่การที่ดาวศุกร์มีอุณหภูมิร้อนแรงเหมือนแดนนรก ทั้งยังมีสภาพบรรยากาศไม่เหมาะให้สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย ทำให้มันถูกมองว่าเป็นแฝดคนละฝากับโลกอยู่เสมอมา

    แต่ล่าสุดมีผลการศึกษาจากทีมนักดาราศาสตร์ขององค์การนาซา ซึ่งเสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่ดาวศุกร์ในอดีตเมื่อยุคโบราณหลายพันล้านปีก่อน จะมีความคล้ายคลึงกับโลกของเราในปัจจุบันมากกว่าที่เคยคิดกันไว้ โดยอาจมีทั้งมหาสมุทรและอุณหภูมิที่อบอุ่นพอเหมาะระหว่าง 20-40 องศาเซลเซียส

    มีการเสนอแนวคิดใหม่ข้างต้นในที่ประชุมร่วมสภาวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งยุโรป (EPSC-DPS Joint Meeting 2019) ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ โดยทีมผู้วิจัยชี้ว่า แม้ดาวศุกร์ในปัจจุบันจะมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยสูงถึง 462 องศาเซลเซียสซึ่งหลอมละลายตะกั่วได้ ทั้งยังมีบรรยากาศเป็นพิษที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหนาแน่นกว่าบรรยากาศโลก 90 เท่า แต่ดาวศุกร์ในยุคโบราณอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

    ดร. ไมเคิล เวย์ ผู้นำทีมวิจัยของนาซาบอกว่า ผลการศึกษาของพวกเขาซึ่งได้จากการสร้างและเปรียบเทียบแบบจำลองคอมพิวเตอร์หลากหลายแบบ โดยใส่ข้อมูลทางดาราศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลบรรยากาศและภูมิประเทศของดาวศุกร์ในสภาพที่สมมติว่ามีน้ำบนพื้นผิวลงไปคำนวณด้วยนั้น พบว่ามีความเป็นไปได้ที่ดาวศุกร์จะเคยมีมหาสมุทรอยู่ตั้งแต่เมื่อ 4.2 พันล้านปีก่อน

    Image copyright NASA
    คำบรรยายภาพ ภาพจำลองดาวศุกร์ในยุคโบราณ ซึ่งอาจมีมหาสมุทรปกคลุมพื้นผิวเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

    ดร. เวย์ชี้ว่า มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลบนพื้นผิวดาวศุกร์ รวมทั้งสภาพอากาศที่อบอุ่นพอเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตเช่นนี้ สามารถจะคงอยู่ได้ยาวนานเป็นเวลาถึง 3 พันล้านปี จนกระทั่งเกิดภัยพิบัติบางอย่างที่ทำให้เกิดการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศจนหนาทึบขึ้นและแหล่งน้ำเหือดแห้งไป เมื่อราว 700 ล้านปีก่อน

    “เรามีสมมติฐานว่า น่าจะเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่บนดาวศุกร์ ซึ่งทำให้หินหนืดปริมาณมหาศาลลงไปถมพื้นที่มหาสมุทรจนตื้นขึ้น นอกจากนี้ หินหนืดจากภูเขาไฟยังปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ไม่สามารถดูดซับกลับคืนมายังพื้นผิวดาวเมื่อหินหนืดเย็นตัวลงไปแล้วได้” ดร. เวย์ อธิบาย

    “สิ่งนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกชนิดรุนแรง ซึ่งทำให้ดาวศุกร์ไม่สามารถแผ่ความร้อนออกสู่ห้วงอวกาศภายนอก และมีอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น จนน้ำไม่สามารถคงสภาพของเหลวที่พื้นผิวดาวได้อีกต่อไป”

    ดร. เวย์ยังชี้ว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นบนโลกมาแล้ว แต่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า เช่นการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่เมื่อ 500 ล้านปีก่อน ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตนานาชนิดต้องสูญพันธุ์ไป และคงเหลือร่องรอยเป็นพื้นที่ปกคลุมด้วยหินภูเขาไฟ “ไซบีเรียน แทรปส์” ในรัสเซีย

    อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ว่าดาวศุกร์อาจเคยมีสภาพแวดล้อมเกื้อหนุนต่อสิ่งมีชีวิตเช่นนี้ ทำให้คาดกันว่านักดาราศาสตร์จะหันมาให้ความสนใจมากขึ้นต่อการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใน “วีนัสโซน” (Venus Zone) หรือดาวบริวารที่โคจรในระยะห่างจากดาวฤกษ์ไม่มากนักเหมือนกับดาวศุกร์ ซึ่งก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์คิดว่าดาวเคราะห์ในวีนัสโซนไม่สามารถเป็นสถานที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้

    ขอบคุณที่มา
    https://www.bbc.com/thai/features-49799358
     

แชร์หน้านี้

Loading...