แนะยกสติสมาธิช่วยหมูป่าพ้นวิกฤติ แนวปฏิรูปสอนพุทธในโรงเรียน

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 3 กันยายน 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590


    แนะยกสติสมาธิช่วยหมูป่าพ้นวิกฤติ แนวปฏิรูปสอนพุทธในโรงเรียน

    เปิดเวทีระดมสมองปฏิรูปการสอนพุทธในโรงเรียน ให้ “รู้ ตื่น และเบิกบาน” “บวรศักดิ์”ชี้เรียนพุทธควรครอบคลุมการพัฒนาจิตใจและปัญญา ขณะที่ “พระพรหมบัณฑิต”แนะสอนสติสมาธินำหมูป่ารอดพ้นวิกฤติ



    ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2561 คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะกรรมการ ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการ “จัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับผู้เรียนในสังคมไทยปัจจุบัน” โดยผู้มีเข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย คณาจารย์จากมกาวิทยาลัย ผู้ปกครอง องค์กรทางศาสนา ผู้บริหารโรงเรียน พระสงฆ์ รวมถึงสมาชิก สนช. เข้าร่วมร่วมแลกเปลี่ยนอย่างรอบด้านกว่า 200 รูป/คน ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร

    กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นการปาฐกถานำโดย ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ ตามด้วยการอภิปรายจากวิทยากรประกอบด้วยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการสอนฯ พระมหานพดล ธมฺมานนฺโท ครูพระสอนศีลธรรม ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ กรรมการปฏิรูปการสอนฯ และนายธันยธร โรจน์มหามงคล ผู้แทนของนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ขณะที่กิจกรรมช่วงบ่ายเป็นการบรรยายสรุปบทเรียนกี่ยวกับที่มา และพัฒนาการของการจัดทำสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา และผังมโนทัศน์การสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน โดยพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดทำสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในโรงเรียนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

    “บวรศักดิ์”ชี้เรียนพุทธควรครอบคลุมการพัฒนาจิตใจและปัญญา

    ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ กล่าวว่า ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 รัฐต้องดําเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนจึงสอดรับกับแนวทางนี้

    ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์กล่าวเพิ่มว่า หลักสูตรฯ ที่เคยทำกันมากนั้น มีประเด็นค่อนข้างจะครอบคลุม คำถามคือ เราจะปรับให้เหมาะสมกับนักเรียนแตละช่วงวัย และสอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ ปฏิรูปครูผู้สอน ทั้งความเข้าใจในสาระ ทักษะการสอน การวัดผล ครูจึงควรเป็นแบบอย่างสำคัญของนักเรียนในโรงเรียน การเรียนรู้พระพุทธศาสนาจึงควรครอบคลุมทั้งการพัฒนาจิตใจและปัญญาผ่านการสวดมนต์ภาวนา และสมาธิภาวนา เป้าหมายสำคัญคือเด็กนักเรียนต้องมีเบญจศีล และเบญจธรรมอยู่ในวิถีแห่งการดำเนินชีวิต

    ขณะที่พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. ได้กล่าวย้ำว่า คณะทำงานที่จัดทำสาระการเรียนรู้ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรเสร็จแล้ว และมีเนื้อหาที่ครอบคลุมภายใต้ผังมโนทัศน์ที่ประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในการสอนนั้น ครูผู้สอนจะต้องบูรณาการเรียนการสอนอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นมิติที่สัมพันธ์กันระหว่างหลักธรรมที่เป็นแก่น แล้วดึงไปเชื่อมโยงกับบริบทต่างๆ ที่เป็นตัวอย่างในพระไตรปิฏกและชีวิตจริง แต่เสียดายว่า เมื่อทำคู่มือเสร็จแล้ว ไม่ได้มีโอกาสอบรมครูผู้สอนให้เข้าใจระบบคิดในผังมโนทัศน์ดังกล่าว จึงทำให้ครูผู้สอนขาดความเข้าใจ จึงทำมุ่งสอนเนื้อหามากเกินไปจนขาดการบูรณาการเพื่อให้นักเรียนเข้าใจอย่างง่าย และเกิดความศรัทธา

    “พระพรหมบัณฑิต”แนะสอนสติสมาธินำหมูป่ารอดพ้นวิกฤติ

    “การสอนพระพุทธศาสนานั้น บางจังหวะต้องสอนแบบค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับเป็นขั้นเป็นตอนตามแนวอนุพพีกถา แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาอยู่แล้วก็ใช้การสอนแบบโยนิโสมนสิการ อันเป็นการใช้ปัญญาพินิจพิเคราะห์ เพื่อให้สามารถมองเห็น แยกแยะ สิ่งตามต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นปัจจัย ฉะนั้น สิ่งสำคัญ คือ ครูผู้สอน ที่จะต้องฉลาดในการวิเคราะห์นักเรียน และใช้กระบวนการและวิธีการต่างๆ กระตุ้นผู้เรียนให้สามารถเข้าใจ และมีศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำสติและสมาธิมาเป็นฐานในการช่วยกล่อมเกลาเพื่อให้สามารถมีสติและปัญญาเอาตัวรอดได้ ตัวอย่างคือ โค้ชของทีมหมูป่าอคาเดมี ที่สามารถใช้สมาธิมาช่วยรักษาพลังงานอยู่ในถ้ำจนปลอดภัยได้” พระพรหมบัณฑิตกล่าวเสริม

    เผยตะวันตกตั้งชื่อโรงเรียนสติประยุกต์ให้เป็นวิถีชีวิต

    ขณะที่พระมหาหรรษาได้เสนอว่า ตะวันตกมีความสนใจพระพุทธศาสนาโดยการนำสติกับสมาธิ ในประยุกต์ใช้สอนในโรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก ถึงขนาดตั้งชื่อโรงเรียนว่า “Mindful School” หรือโรงเรียนสติ โดยเอาสติไปเป็นฐานในการบูรณาการการเรียนการสอนให้เป็นวิถีชีวิต สติจึงไม่ได้อยู่เฉพาะในวิชาพระพุทธศาสนา หรืออยู่ในโรงเรียน แต่อยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในลมหายใจของนักเรียนตลอดเวลา ฉะนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกวิชา ทุกกิจกรรม จึงต้องแทรกเรื่องนี้เข้าไป

    “ครูจึงควรเป็นแบบที่สำคัญ ครูจึงควรเป็นครูสติ สอนอย่างมีสติ เพราะหากครูไม่มีสติ จึงเป็นเรื่องยากที่จะน้อมนำให้เด็กๆ ให้ความสนใจและใส่ใจว่า ทำไมสติจึงสำคัญแก่ชีวิตของตัวเอง แต่ปัญหาในปัจจุบันที่เกิดในสังคมไทยคือ ครูมักจะโยนเรื่องจริยธรรมให้แก่พระ หรือครูพระ และมองว่าเป็นเรื่องที่พระที่ได้รับนิมนต์มาสอนจะดำเนินการเอง จึงทำให้ครูไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนแบบองค์รวม ทั้งการเรียนการสอน การทำกิจกรรม และการประเมินผล จึงทำให้การพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนขาดการบูรณาการอยางเป็นรูปธรรม จนทำการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนไม่ค่อยบรรลุผลตามที่หลายฝ่ายตั้งใจ” พระมหาหรรษากล่าวเสริม

    ชี้เหตุนักเรียนทัศนคติไม่ดีต่อการเรียนพระพุทธศาสนา

    นายธันยธร โรจน์มหามงคล นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้สะท้อนว่า นักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติไม่ดี และเกลียดการเรียนพระพุทธศาสนา เพราะครูสอนมักจะดุขาดความใส่ใจ และมักจะทำโทษนักเรียนโดยการให้ไปนั่งสมาธิ ให้กราบพระ 100 ครั้ง ให้คัดลอกหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเล่มๆ ส่งครูประจำชั้น การลงโทษโดยการทำแบบนี้ ได้แต่ร่างกาย แต่จิตใจนั้น เด็กไม่ได้น้อมใจศรัทธา และสุดท้ายจึงเกลียดและไม่สนใจพระพุทธศาสนา ทั้งที่การเรียนพระพุทธศาสนาจึงควรเริ่มจากศรัทธาก่อน คำถามคือ การเรียนเรียนการสอน และการสอบนั้นสอดรับกับวิถีชีวิต หรือจำเป็นต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากน้อยแค่ไหน”

    ขณะที่พระมหานพดลและผศ.ดร.บรรจบ ซึ่งเป็นผู้ร่วมอภิปรายได้สะท้อนสภาพปัญหาในทิศทางที่สอดรับกัน โดยพระมหานพดลชี้ว่า การสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนนำมาซึ่งความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ความเสื่อมจะเกิดขึ้นเพราะครูพระสอนศีลธรรม ขาดทักษะและความเข้าใจในการนำพระพุทธศาสนาไปสอนให้ผู้เรียนเข้าใจ และมีความสุข สามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ การขาดทักษะจึงทำให้นักเรียนเบื่อพระ ไม่ชอบพระ จนนำไปสู่การปฏิเสธศาสนาในที่สุด

    ผศ.ดร.บรรจบได้กล่าวเสริมว่า ควรปฏิรูปครูผู้สอนพระพุทธศาสนาเป็นการด่วน เพราะครูเป็นตัวแบบสำคัญที่จะทำให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีหรือไม่ดีต่อพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ควรปรับเนื้อหาสาระให้สอดรับกับวิถีของนักเรียนในแต่ละช่วงวัย โดยเน้นธรรมะที่เป็นวิถีที่นำไปใช้ในชีวิตจริงยุคปัจจุบัน

    หลังจากนั้น คณะทำงานฯ ได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ทั้งกลุ่มนักเรียน กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มพระสอนศีลธรรม ครู ศึกษานิเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน และกลุ่มผู้ทำงานกับเด็ก เพื่อร่วมกันตอบคำถามว่า สภาพปัญหาของนักเรียนในยุคปัจจุบันมีอะไรบ้าง และสาเหตุของปัญหาคืออะไร กระบวนการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนในยุคปัจจุบันมีปัญหาอย่างไรบ้าง ทั้งเนื้อหา วิธีการสอน ครูผู้สอน และวิธีการวัดผลประเสินผล สุดท้ายแล้ว จะนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมแก่นักเรียนในโรงเรียนอย่างไร หลังจากนั้น จึงให้กลุ่มต่างๆ ได้นำเสนอในเวทีสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

    หลังจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาฯ จะได้นำผลจากการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นไปจัดกลุ่ม และสังเคราะห์เป็นแนวทางในการพัฒนารูปการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน แล้วจัดวางมาตรการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งการปรับเนื้อหา พัฒนาครูผู้สอน พัฒนาวิธีการสอน และการวัดผลประเมินผล ในโอกาสต่อไป โดยคณะกรรมการจัดนี้ได้วางกรอบการทำงานทั้ง 3 ระยะให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เชื่อว่า การดำเนินการครั้งนี้ จะทำให้การสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาประสบความสำเร็จ ทั้งผู้เรียนจะมีความสุขกับการเรียนรู้ และการนำไปใช้ ผู้สอนจะได้รับประโยชน์แก่ตัวเอง และเป็นแบบอยางที่ดีแก่นักเรียน ชุมชนและสังคมจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

    …………

    (หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กHansa Dhammahaso)

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.banmuang.co.th/news/education/123805
     

แชร์หน้านี้