อิ่มเอมกับบรรยากาศแรกหนาวที่อุทยานแห่งชาติแม่เมย จ.ตาก ในเส้นทาง 105 ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาอาทิตย์นี้เราก็ยังปักหลักในเส้นทางเดิม ที่จะพาให้ชีวิตเปรมปรีดิ์ไปกับการตะลอนท่องทริป ลิ้มรับรสหอมหวานของต้นฤดูเหมันต์ เพียงแต่เขยิบขยับองศาขึ้นเหนือไปอีกนิด เพื่อประชิดเมืองสามหมอก จ.แม่ฮ่องสอน และมุ่งตรงบรรจบสู่ อ.แม่สะเรียง เมืองเก่าแก่ในอดีตกาลที่รุ่มรวยมากสมญานามในประวัติศาสตร์ ทั้ง "โยนสะลิน", "ไมลองยี", "เมืองนาย", "เมืองยวมใต้" และ "แม่สะเรียง" ต่างเป็นชื่อเรียกแดนดินถิ่นล้านนาตะวันตกในปัจจุบัน ที่แม้เวลาผ่านไป 700 ปี ก็ยังอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าค้นหา ด้วยเส้นทางหลวงหมายเลข 108
หากเอ่ยถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน สิ่งแรกที่นักเดินทางมักนึกถึงก็คือ "ปาย" แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต เมื่อถึงฤดูหนาวทีไรผู้คนนับพันนับหมื่น มักแห่แหนเข้ามาเที่ยวจนคลาคล่ำ ทำให้อรรถรสที่ได้รับเป็นไปแบบแย่งกินแย่งเที่ยวอย่างไรก็ไม่รู้ จำได้ว่าถนนคนเดินเมืองปายมีร้านโปสต์การ์ดชื่อ "ปายบ่เปลี่ยน" แต่เมื่อดูจากสภาพวันนี้แล้วฟันธงได้เลยว่าวันนี้ "ปายเปลี๊ยนไป๋" จากที่เคยสงบเงียบเปรียบเหมือนดั่งน้องนางบ้านนาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ กลับกลายเป็นสาวซิ่งนุ่งสั้นในเมืองกรุง จนไม่เหลือเค้าเดิมที่มากล้นด้วยกลิ่นอายธรรมชาติไร้การปรุงแต่งอย่างที่เคย
จึงเป็นเรื่องดีทีเดียวการออกเดินทางในครั้งนี้ เราได้แวะเวียนเหยียบย่างทำความรู้จักกับแม่สะเรียง ความเงียบสงบ วิถีชีวิตมีอยู่มีกินแบบพอเพียง ค่าครองชีพที่แสนถูกเพราะความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติยังเกื้อหนุนแถม ด้วยบรรยากาศแรกหนาวสุดสดชื่น
หลังจากแวะทานข้าวเติมพลังที่ร้านอาหารในตัวเมืองแล้ว ทั้งคณะก็ดั้นด้นเดินทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันลือเลื่องของแม่สะเรียงให้เป็นมงคลแก่ตัว ซึ่งก็คือ พระธาตุ 4 จอม ได้แก่ พระธาตุจอมแจ้ง บ้านจอมแจ้ง ตั้งอยู่ทางเข้าเมืองแม่สะเรียง พระธาตุจอมทองตั้งอยู่ ต.แม่สะเรียง ห่างจากตัวอำเภอ 1 กม. ตามเส้นทางแม่สะเรียง-สบเมย พระธาตุจอมมอญ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านกาด และ พระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่ที่บ้านจอมกิตติ ต.แม่ยวม โดยพระธาตุทั้งสี่มีองค์ประกอบเป็นศิลปกรรมแบบล้านนา ส่วนสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน แต่ที่เก่าแก่มากที่สุดและมีกลิ่นอายศิลปะของมอญพม่าเข้ามามีอิทธิพลอยู่มาก จนกลายเป็นโบราณสถานแปลกตามากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ด้วยเทคนิคศิลป์สร้างสรรค์องค์พระธาตุ รวมถึงระฆังสำริดในบริเวณใกล้เคียงที่หาชมได้ยาก และทั้งหมดยังไม่ถูกบูรณะให้ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม ใครอยากเห็นด้วยตาตัวเองต้องไปที่วัดพระธาตุจอมทอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเรื่องความเชื่อที่มีต่อกราบไหว้พระธาตุ 4 จอม ว่าศักดิ์สิทธิ์ในด้านใดบ้าง กลับไม่ปรากฏอย่างเด่นชัด คนพื้นถิ่นบอกเพียงว่าแค่กราบไหว้และคิดดี ทำดี พูดดี ชีวิตก็เจริญรุ่งเรือง
ด้วยเวลาที่ใกล้ย่ำค่ำค่ำมากแล้ว ทำให้การกราบไหว้ขอพรจากองค์พระธาตุทำได้แค่ 3 จอม ยกเว้นพระธาตุจอมกิตติที่แสงอาทิตย์ลาลับของฟ้า ไม่สามารถเดินทางไปกราบไหว้และเก็บภาพได้
ระหว่างทางกลับที่พักพาหนะของเราแล่นผ่าน สะพานข้ามลำน้ำแม่สะเรียง ที่หากผ่านพ้น อ.แม่สะเรียงไป ก็จะเรียกใหม่ว่าลำน้ำยวม ริ้วแสงสีส้มอมแดงอ่อนที่ทอประกายอยู่ปลายฟากฟ้า ตัดกับผืนน้ำที่เปลี่ยนเป็นสีเทาคล้ำอันเป็นผลจากการสะท้อนของแสง แซมด้วยต้นอ้อกอหญ้าริมธารที่พัดพลิ้วปลิวไหวเอนไปตามแรงลม วิวสวยๆ แบบนี้ ถ้าปล่อยให้เลยผ่านคงเสียดายแย่ ทั้งคณะจึงหยุดพัก แวะเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก และอ้อยสร้อยชมธรรมชาติอีกเล็กน้อยก่อนจะหมุนล้อเคลื่อนรถเดินทางต่อ
แม้แสงของวันจะอัสดงลาลับ ทว่ากิจกรรมตระเวนรู้จักแม่สะเรียงยังไม่จบ สถานที่อีกแห่งที่ควรไปอย่างยิ่งก็คือ พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง ตั้งอยู่บริเวณทางแยกบ้านจอมแจ้ง ตรงจุดทางหลวงหมายเลข 108 ตัดกับหมายเลข 105 พอดิบพอดี หากมีความสงสัยเกี่ยวกับแม่สะเรียง ที่แห่งนี้มีคำตอบให้กับทุกคำถาม ทั้งประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีตกาล ฉายาเมืองไม้สักทองได้มาแต่ใด ประเพณีโบราณที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งปอยส่างลอง, ออกหว่า, หลู่เตียนเห็ง และจองพารา ก็มีแบบจำลองให้เห็น นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราววิถีชาติพันธุ์ของล้านนาตะวันตกแห่งลุ่มน้ำสาละวิน ที่เดิมเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของชนชาติลัวะ ต่อมามีกระเหรี่ยง, มอญ, ชาวเขา, ชาวไทยใหญ่ และคนเมืองย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ แต่ประชากรกว่า 70% ที่อาศัยอยู่ในแม่สะเรียง ณ ปัจจุบัน ก็ยังเป็นกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิม
และที่ต้องออกปากก็คือ พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียงสร้างได้งดงามทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกปลูกด้วยโครงสร้างสถาปัตยกรรมคลาสสิก ในรูปแบบการฉลุไม้โดยลวดลายเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ผสานกับศิลปะพื้นเมืองทางภาคเหนือ ภายในยังจัดตกแต่งแบ่งเป็นโซนที่เดินดูชมแล้วง่ายต่อการเข้าใจ แถมด้วยพระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะพม่าสุดตระการตา ด้วยสีทองอะร้าอร่าม โดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ยืนยันมาว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดต่อการกราบไหว้บูชา
สิ้นสุดหนึ่งวันในแม่สะเรียง ทั้งเดินขึ้น เดินลง แวะถ่ายรูป ชื่นชมความงาม ซึมซับความสงบเงียบ ส่งผลให้ผู้คนร่วมทริปต่างพากันหลับใหลไปกับอากาศเย็นสบายของต้นฤดูหนาว เพราะแค่ 3 ทุ่มกว่าๆ เมืองแม่สะเรียงก็เข้าสู่กาลเงียบสงัดไร้ผู้คนเดินไปมา จะมีก็เพียงแค่ร้านอาหารบรรยากาศดี เปิดไว้รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงคนไทย ให้มาดื่มกินแบบชิล-ชิล ไม่เกินเที่ยงคืน ซึ่งก็มีน้อยร้าน จนนับได้ไม่เกินนิ้วใน 2 ฝ่ามือ
เช้าวันใหม่ที่แม่สะเรียง เรายังออกเดินทางไปชม Unseen in Thailand ที่หลายคนไม่ใคร่รู้ว่า ณ วัดศรีบุญเรือง ศาสนสถานใจกลางเมือง จะกลายเป็นวัดพุทธวัดเดียวในประเทศไทย ที่มี "โบสถ์" ลักษณะคล้ายๆ โบสถ์ของศาสนาคริสต์ไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แม้ตัวโบสถ์สร้างด้วยสถาปัตยกรรมพม่าผสมกับไทยใหญ่ แต่องค์ประกอบทางศิลป์กลับมีกลิ่นอายยุโรปแฝงสอดแทรกร่วมด้วย ทั้งลวดลายที่คล้ายคลึงสไตล์หลุยส์ และยอดโบสถ์ที่ประดับด้วยมงกุฎจำลองของควีนอังกฤษ แทนที่จะเป็นยอดฉัตรเหมือนโบสถ์อื่นๆ ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จกราบพระประธานที่โบสถ์แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2516 การมาไหว้สักการะที่วัดศรีบุญเรือง จึงเป็นเหมือนกับการตามรอยพระยุคลบาทไปในตัว อย่างไรก็ดี ภายในวัดศรีบุญเรือง ยังมีพระพุทธรูปหยกขาวศิลปะพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไว้ให้ยลความงามและน้อมกราบสักการะขอพร
หนาวนี้ ถ้าใครเบื่อความวุ่นวายจอกแจกจอแจในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ให้แม่สะเรียงเป็นตัวเลือกใหม่ กับความสงบเงียบที่อิงแอบอยู่กับวิธีพุทธ อันช่วยผ่อนคลายและเติมพลังใจพลังชีวิต ไว้สู้กับวิกฤติรุมล้อมรอบตัวในปีใหม่ 2553 คงจะดีไม่น้อย
สนใจติดต่อสอบถามเส้นทางเที่ยวแม่สะเรียงเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร.05-3612-982-3 หรือ www.travelmaehongson.org.
แม่สะเรียง... สวย-สงบ-พบพระ | ไทยโพสต์
แม่สะเรียง... สวย-สงบ-พบพระ
ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 15 พฤศจิกายน 2009.