โครงการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่าและการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304“

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย ออฟศัก, 25 ธันวาคม 2017.

  1. ออฟศัก

    ออฟศัก ทิพย์นาคาพระเครื่อง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    29
    ค่าพลัง:
    +17
    ถนนสายเล็กๆ ที่คดเคี้ยวตามแนวทิวเขา สองข้างทางโอบล้อมไปด้วยต้นไม้ คือถนนสายนครราชสีมา-บ้านบุไผ่-กบินทร์บุรี หรือที่รู้จักกันในชื่อ ทางหลวงหมายเลข 304 ถนนสายประวัติศาสตร์ที่ขนาบข้างด้วยอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ผืนป่าที่หลายคนรู้จักในชื่อผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ แถมมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นผืนป่าที่ถือว่าอุดมสมบูรณ์ มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ยูเนสโกประกาศให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของไทย

    ทางหลวงหมายเลข 304 เป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน เส้นทางสายหลักที่รองรับการขนส่งสินค้าจากอีสานสู่ท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กรมทางหลวงจึงบรรจุเส้นทางสายนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างขยายเส้นทางเป็น 4 ช่องจราจร มีชื่อว่าโครงการก่อสร้างสายประธานเป็น 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 304 ตอน อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย โดยทยอยสร้างตั้งแต่ปี 2538 การขยายถนนได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เว้นเพียงบางช่วงคือ กม.26-29 และ กม.42-57 ที่ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อของอุทยาน 2 อุทยานผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อปี 2548 จากนั้นในปี 2552 กรมทางหลวงได้ให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการสาย 304 เพื่อแก้ปัญหาที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นี้

    อดุลย์ เชาว์วาทิน ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา) ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขยายถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชน และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีรถที่ใช้เส้นทางสายกบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย เฉลี่ยกว่า 2 หมื่นคันต่อวัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทำให้มีผู้เสียชีวิตอยู่แทบทุกเดือน

    “ในปี 2552 กรมทางหลวงให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ของโครงการทางหลวงสาย 304 และทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ใช้เวลาพิจารณานาน 5 ปี กระทั่งวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการระดับชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการขยายถนนสาย 304 ตอน อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย ภายใต้การประชุมที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมประชุมด้วย"

    ส่วนข้อกังวลที่เกรงว่าการขยายถนนสาย 304 จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น อดุลย์ กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ กรมทางหลวงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด พร้อมประชาสัมพันธ์ให้รู้ความคืบหน้า ส่วนช่วงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่านั้น ได้ให้บริษัทออกแบบการก่อสร้างถนนให้เชื่อมผืนป่า ที่ผ่านมามีการนำเสนอ 5 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบอุโมงค์ผ่านเขา 2.รูปแบบทางยกระดับ 3.รูปแบบอุโมงค์ชนิดตัดติดแล้วแบบถมกลับ 4.รูปแบบผสมผสาน และ 5.รูปแบบทางเชื่อมผืนป่าสำหรับสัตว์ข้ามเป็นแห่งๆ

    “สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการเดินข้ามทางของสัตว์ป่าในเขตอุทยาน หลายฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในการก่อสร้างแบบผสมผสาน เพราะว่ามีความเหมาะสม โดยปรับแนววิ่งให้มีช่องลอดเพียงพอสำหรับสัตว์เดินลอด หรือลดระดับการก่อสร้างเพื่อวางโครงสร้างอุโมงค์ตื้นแล้วถมดิน เหนืออุโมงค์เป็นทางสำหรับสัตว์เดินข้าม รูปแบบการก่อสร้างจะพิจารณาจากเส้นทางเดินของสัตว์ป่าควบคู่กับลักษณะภูมิประเทศสองข้างทาง โดย กม.ที่ 42+600-42+930 จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ 2 สะพานคู่ให้รถขับด้านบน สัตว์ป่าเดินลอดด้านล่าง ติดตั้งแผงป้องกันเสียงดังรบกวนจากรถยนต์ ส่วน กม.ที่ 42+750 และ 42+8004 ให้มีทางข้ามสำหรับสัตว์ที่อาศัยเรือนยอด หรือสะพานลิง” ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา) บอก

    สำหรับชาวบ้านที่ใช้เส้นทางสาย 304 ในการเดินทางเป็นประจำ อย่าง วิโรจน์ ใจตรง อยู่บ้านเลขที่ 260 หมู่ 4 ต.บุพราหม์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ต้องการให้มีการขยายถนนเป็น 4 เลน ความคับคั่งด้านการจราจร รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดความสูญเสียบ่อยครั้ง ทำให้เห็นด้วยกับการขยายถนน เพราะต้องการให้ชาวบ้าน ลูกหลานได้รับความปลอดภัย

    “ชุมชนยอมรับกับการก่อสร้าง เพราะโครงการนี้มีการพูดคุย ศึกษาผลกระทบกันมานาน ชาวบ้านเองเคยร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีประชุมที่หน่วยงานจัดขึ้น เมื่อเห็นรูปแบบผสมผสานที่ทางหลวงนำเสนอ คิดว่าสัตว์สามารถใช้เส้นทางได้ เพราะรถที่เข้ามาจะลอดใต้อุโมงค์ ด้านบนเป็นผืนป่า เพราะสภาพภูมิประเทศเดิม พื้นที่ที่จะก่อสร้างเป็นผืนป่าเดียวกัน ความสงบเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน ทำให้สัตว์ป่าเดินข้ามทางแน่นอน โครงการจึงได้ประโยชน์ทั้งคนและสัตว์” วิโรจน์ แสดงความเห็น

    การติดตามโครงการขยายทางหลวง 304 มาอย่างต่อเนื่อง สมบูรณ์ สิงกิ่ง แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ต้นน้ำมูน ระบุว่า ระยะแรกที่รู้ข่าวว่าจะมีการขยายถนนในกลุ่มนักอนุรักษ์ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อผืนป่าดงพญาเย็น ทั้งเรื่องการตัดไม้ สัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ ทั้งนี้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า โครงการขยายถนนจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการที่เหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้นหลังการก่อสร้าง

    “ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างขยายถนนสาย 304 เพราะมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในส่วนของการออกแบบเชื่อมผืนป่าเพื่อให้สัตว์สามารถข้ามไปมาได้นั้น ทราบว่ามีการอนุมัติรูปแบบที่เหมาะสมแล้ว แต่ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องรายละเอียดในการก่อสร้างว่าตรงตามที่เสนอมาหรือไม่ หากสร้างแล้วจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สัตว์ป่าอย่างไร การออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ไม่แน่ใจว่าจะมีระบบป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุ เพราะระยะทางยาวกว่า 500 เมตร ในส่วนการออกแบบที่เป็นทางให้สัตว์ข้าม คิดว่าทางผู้ออกแบบได้ออกแบบได้ดีพอสมควร” สมบูรณ์ ยอมรับ

    ส่วนประเด็นที่สร้างความกังวลในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการดูแลความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนช่วงผ่านอุโมงค์ รวมถึงมาตรการควบคุมความเร็วในการขับขี่ โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ขนสารเคมี เมื่อเกิดอุบัติเหตุมาตรการที่นำมาใช้จะได้ผลหรือไม่ ถึงแม้รัฐบาลไทยจะมีความคืบหน้าในการอนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว อ้างอิงจากรายงานสถานภาพด้านการอนุรักษ์ ปี 2556 ของคณะกรรมการมรดกโลก อ้างว่า ข้อมูลที่ได้รับไม่ได้นำเสนอข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อความโดดเด่นของผืนป่า ไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของการจราจรและการควบคุมความเร็วในการใช้ถนน

    และเมื่อวันที่ 13-17 มกราคม 2557 คณะทำงานจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ไอยูซีเอ็น ลงพื้นที่สำรวจผืนป่า จากนั้นไทยได้ส่งรายงานสถานะด้านการอนุรักษ์ในเดือนกุมภาพันธ์ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการอนุรักษ์และมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการขยายทางหลวง เช่น การปลูกป่า ทำโป่งเทียม และรั้ว เป็นต้น จนล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อนุมัติรายงาน

    แต่ในความเห็นของ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แล้ว เขาประกาศมาคัดค้านแล้วหลายเวที ว่า หากกรมทางหลวงจะขยายถนนตามโครงการนี้ คงจะต้องเจอกับเขาแน่

    เมื่อโครงการผ่านความเห็นชอบจากคสช. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วย และภายหลังจากที่ยื่นหนังสือฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว ศรีสุวรรณให้ความเห็นว่า โครงการนี้อาจจะไปกระทบต่อการทำทะเบียนขึ้นมรดกโลก ที่สำคัญก็คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเองเพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาเพียงไม่กี่วัน จะสามารถมาทำความเข้าใจในรายละเอียดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งมีความหนาเป็นพันๆ หน้า โดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบเพียงไม่กี่นาทีได้อย่างไร

    ศรีสุวรรณ ย้ำว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบมักกล่าวอ้างว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของมรดกโลกที่เร่งรัดให้หน่วยงานรัฐไทยจำเป็นต้องรีบแก้ไขด้วยวิธีการทำอุโมงค์ต่างๆ จึงคิดว่าในช่วงระยะเวลาที่ได้ประกาศหรือขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กลับไม่มีข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าทางหน่วยงานมีเงื่อนไขที่จะทำอุโมงค์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่อสัตว์

    "แต่ที่แปลกก็คือ เหตุใดจึงมาเปิดเผยข้อมูลในช่วงที่ทำโครงการ มันเหมือนเป็นข้อพิรุธมากกว่า ที่ไม่เปิดเผยหรือปิดบังข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนมาโดยตลอด ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก จึงเป็นคำถามที่หน่วยงานรัฐต้องตอบให้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะถือว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 โดยชัดเจน”

    เขายังวิจารณ์บทบาทของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดใหม่ว่า เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน้าที่คือต้องปกป้อง คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

    "ทุกวันนี้ประเทศของเราเลยมีพื้นที่สำหรับอนุรักษ์ลดน้อยลง สาเหตุล้วนมาจากการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่นายทุนทั้งสิ้น อาทิ ผู้ประกอบการที่ลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ปราจีนบุรี พื้นที่โคราช พื้นที่ภาคอีสาน โดยใช้เส้นทางถนน 304 นี้เป็นหลัก”

    ล่าสุดอ้างอิงจากรายงานสถานภาพด้านการอนุรักษ์ ปี 2557 เสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกลงชื่อผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้อยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย เนื่องจากภัยคุกคามที่รุนแรงและเพิ่มขึ้นจากการลักลอบตัดไม้และการบุกรุกเข้าไปในเขตป่า รวมทั้งการขยายรีสอร์ทที่มีต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของผืนป่า ซึ่งยังไม่รู้ว่า กรณีการขยายถนนสาย 304 จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ถูกถอดออกจากบัญชีหรือไม่

    ------------------------


    (หมายเหตุ : ปัดฝุ่นทางหลวง304 เชื่อมสะพานผุดอุโมงค์ทางเดินสัตว์ป่า : กวินทรา ใจซื่อรายงาน)

    ที่มา http://www.komchadluek.net/news/local/190898
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...