-
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"เมื่อกล่าวสรุปให้สั้นที่สุดแล้ว เบญจขันธ์ที่ยังมีอุปาทาน เป็นตัวทุกข์."
(สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา)
เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความสงสัยว่า
ถ้าขันธ์เป็นทุกข์ ก็ช่างมันเป็นไร เราอย่าทุกข์ก็แล้วกัน มิใช่หรือ?
บาลีแห่งอื่นก็มีอีกว่า
"ตัวทุกข์นั้นมีอยู่แท้ แต่บุคคลผู้เป็นทุกข์หามีไม่"
(ทุกฺขเมว หิ น โกจิ ทุกฺขิโต การโก น, กิริยา วิชฺชติ)
นี่ก็เช่นเดียวกันอีก แสดงว่าตัวตนของเราไม่มี. ทุกข์อยู่ที่รูปและนาม.
นี้ก็ก่อให้เกิดคำถามว่า เราจะพยายามทำที่สุดทุกข์ไปทำไม
เมื่อเราผู้เป็นเจ้าทุกข์ก็ไม่มีเสียแล้ว,
พยายามให้ใคร. ใครจะเป็นผู้รับสุข ทำบุญกุศลเพื่ออะไรกัน?
เพื่อขบปัญหานี้ให้แตกหัก โดยตนเองทุกๆ คน (เพราะธรรมะเป็นของเฉพาะตน).
ข้าพเจ้าขอเสนอแนวคิดสั้นๆ แต่กว้างขวางออกไป
แด่ท่านทั้งหลายสำหรับจะได้นำไปคิดไปตรอง
จนแจ่มแจ้งในใจด้วยปัญญาของตนเองแล้ว
และบำบัดความหนักใจ หม่นหมองใจ อันเกิดแต่ความสงสัย
และลังเลในการประพฤติธรรมของตน ให้เบาบางไปได้บ้าง ดังต่อไปนี้ :-
ร่างกายและจิตใจสองอย่างนี้ รวมกันเข้าเรียกว่า นามรูป,
หรือเรียกว่า เบญจขันธ์ เมื่อแยกให้เป็น ๕ ส่วน.
ในร่างกายและจิตใจนี้ ถ้ายังมีอุปาทาน กล่าวคือ
ความยึดถือว่า "ของฉัน" ว่า "ฉัน" อยู่เพียงใดแล้ว ความทุกข์นานัปการ
ตั้งต้นแต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนถึงความหม่นหมองร้ายแรงอย่างอื่น เช่น
อยากแล้วไม่ได้สมอยาก เป็นต้น ก็ยังมีอยู่ และออกฤทธิ์แผดเผาทรมานร่างกาย
และจิตใจอันนั้นเอง.
แต่เมื่อใดอุปาทานอันนี้หมดไปจากจิต ผู้นั้นไม่มีความสำคัญตนหรือรู้สึกตนว่า
"ฉันมี", "นี่เป็นของฉัน" เป็นต้นแล้ว ทุกข์ทั้งมวลดังกล่าวก็ตกไปจากจิต
อย่างไม่มีเหลือ เพราะเราอาจที่จะไม่รับเอาว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นของเรา
และสิ่งที่เกิดขึ้นแก่มันว่าเป็นของเราได้จริงๆ.
แต่พึงทราบว่า เมื่ออวิชชา (ความโง่หลง) ยังมีอยู่ในสันดานเพียงใดแล้ว
ความสำคัญว่าเรา หรือของเรา มันก็สิงอยู่ในสันดานเรา โดยเราไม่ต้องรู้สึก
เพราะฉะนั้น เราจึงรับเอาความทุกข์ทั้งมวลเข้ามาเป็นของเรา โดยเราไม่รู้สึกตัว;
จึงกล่าวได้ว่า ตัวตนของเรา มีอยู่ในขณะที่เรายังมีอวิชชาหรืออุปาทาน เพราะ
สิ่งที่เป็นตัวตน (ตามที่เรารู้สึกและยึดถือไว้ในสันดานนั้น) เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง
ให้เกิดขึ้นโดยอวิชชานั่นเอง. ตัวตนไม่มีในเมื่อหมดอวิชชา.
เมื่อใดหมดอวิชชา หรือความโง่หลง เมื่อนั้น "ตัวตน" ก็ทำลายไปตาม;
ความรู้สึกว่า "เรา" ก็ไม่มีในสันดานเรา;
ไม่มีใครเป็นผู้ทำ หรือรับผลของอะไร จึงไม่มีทุกข์,
ความจริงนั้นมีแต่นามรูปซึ่งเกิดขึ้น, แปรปรวน, ดับไปตามธรรมดาของมัน
เรียกว่า มันเป็นทุกข์.
เมื่ออวิชชาในสันดานเรา (หรือในนามรูปนั้นเอง) ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า
"นามรูปคือตัวเรา" แล้ว "เรา" ก็เกิดขึ้นสำหรับเป็นทุกข์,
หรือรับทุกข์ทั้งมวลของนามรูปอันเป็นอยู่ตามธรรมชาตินั้น.
เห็นได้ว่า "เราที่แท้จริง" นั้นไม่มี มีแต่เราที่สร้างขึ้นโดยอวิชชา.
ท่านจึงกล่าวว่า ความทุกข์นั้นมีจริง แต่ผู้ทุกข์หามีไม่,
หรือเบญจขันธ์ที่ยังมีอุปาทาน เป็นตัวทุกข์.
ที่เรารู้สึกว่า มีผู้ทุกข์ และได้แก่ตัวเรานี่เองนั้น เป็นเพราะความโง่ของเรา
สร้างตัวเราขึ้นมาด้วยความโง่นั้นเอง, ตัวเราจึงมีอยู่ได้แต่ในที่ๆ ความโง่มีอยู่.
ยอดปรัชญาของพุทธศาสนา จึงได้แสดงถึงความจริงในเรื่องนี้
ด้วยการคิดให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดว่า "ตัวเราไม่มี" จริงๆ.
อาจมีผู้ถามว่า ก็เมื่อความจริงนั้น ตัวเราไม่มีแล้ว
เราจะขวนขวายประพฤติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ทำไมเล่า?
นี่ก็ตอบได้ด้วยคำที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกนั่นเอง, คือว่าในขณะนี้
เราหาอาจมีความรู้ได้ไม่ว่า "ตัวเราไม่มี". เรายังโง่เหมือนคนบ้าที่ยังไม่หายบ้า
ก็ไม่รู้สึกเลยว่าตนบ้า.
เหตุนี้เอง "ตัวเรา" ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความโง่ นั่นแหละมันมีอยู่,
มันเป็นเจ้าทุกข์, และเป็นตัวที่เราเข้ายึดเอามาเป็นตัวเรา หรือของเราไว้โดยไม่รู้สึก.
เราจึงต้องทำตามคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อหายโง่ หายยึดถือ
หมดทุกข์ แล้วเราก็จะรู้ได้เองทีเดียวว่า อ้อ! ตัวเรานั้น ที่แท้ไม่มีจริงๆ!!
นามรูปมันพยายามดิ้นรนเพื่อตัวมันเองตลอดเวลา
มันสร้าง "เรา" ขึ้นใส่ตัวมันเองด้วยความโง่ของมัน;
เราที่มันสร้างขึ้น ก็คือเราที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่นี่แหล่ะ !
ความทุกข์ ความสุขมีจริง. แต่ตัวผู้ทุกข์ หรือผู้สุขที่เป็น "เราจริงๆ" หามีไม่,
มีแต่ "เรา" ที่สร้างขึ้นจากความไม่รู้ โดยความไม่รู้.
ดับเราเสียได้ ก็พ้นทุกข์และสุข, สภาพเช่นนี้เรียกว่า
นิพพาน.
ที่กล่าวว่า พระนิพพานเป็นยอดสุขนั้น ไม่ถึงเข้าใจว่า เป็นสุขทำนองที่เราเข้าใจกัน,
ต้องเป็นสุขเกิดจากการที่ "เรา" ดับไป และการที่พ้นจากสุขและทุกข์ ชนิดที่เรา
เคยรู้จักมันดีมาแต่ก่อน. แต่พระนิพพานจะมีรสชาติเป็นอย่างไรนั้น ท่านจะทราบ
ได้เองเมื่อท่านลุถึง. มันอยู่นอกวิสัยที่จะบอกกันเข้าใจ ดังท่านเรียกกันว่าเป็น
ปัจจัตตัง หรือสันทิฏฐิโก.
ในพระนิพพาน ไม่มีผู้รู้, ไม่มีผู้เสวยรสชาติแห่งความสุข; เพราะอยู่เลยนั้น
หรือนอกนั้นออกไป; ถ้ายังมีผู้รู้ หรือผู้เสวย ยังยินดีในรสนั้นอยู่ นั่นยังหาใช่
พระนิพพานอันเป็นที่สุดทุกข์จริงๆ ไม่ แม้จะเป็นความสุขอย่างมากและน่า
ปรารถนาเพียงไรก็ตาม มันเป็นเพียง "ประตูของพระนิพพาน" เท่านั้น.
แต่เมื่อเราถึงสถานะนั่นแล้ว เราก็แน่แท้ต่อพระนิพพานอยู่เอง.
เมื่อนามรูปยังมีอยู่
และทำหน้าที่เสวยรสเยือกเย็นอันหลั่งไหลออกมาจากการ
ลุถึงพระนิพพานได้ ในเมื่อมันไม่เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งอุปาทาน หรืออวิชชาอีกต่อไป.
เราเรียกกันว่า นั่นเป็นภาวะแห่งนิพพาน.
เมื่อรูปนามนั้น ดับไปอย่างไม่มีเชื้อเหลืออยู่อีก นั่นก็คือ ปรินิพพาน
ดังนี้ ท่านตัดสินเอาตามความพอใจของท่านเองเถิดว่า
ใครเล่าเป็นผู้ทุกข์? ใครเล่าเป็นผู้สุข?
แต่พึงรู้ตัวได้ว่า ตัวเราที่กำลังจับกระดาษแผ่นนี้อ่านอยู่นั้น
ก็ยังเป็นตัวเราของอวิชชาอยู่ !
๑ สิงห์ ๗๙
พุทธทาสภิกขุ