ไวรัสตับอักเสบซี ป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย ishakti, 17 มิถุนายน 2009.

  1. ishakti

    ishakti เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    108
    ค่าพลัง:
    +135
    ไวรัสตับอักเสบซี ป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท


    ปัจจุบันนี้แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้ไกล

    [​IMG]แต่ก็มีโรคอยู่หลายโรคที่กลับมาอุบัติซ้ำและมีผลร้ายแรงกว่าเดิม หรือมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ไปอีก โดยที่ยาปฏิชีวนะทั่วไปแทบจะเอาไม่อยู่ เช่น ไวรัสตับอักเสบซี ค้นพบมาประมาณ 12 ปี พบว่าเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดตับอักเสบได้อีกชนิดหนึ่ง สามารถทำให้เกิดตับอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ตลอดจนตับแข็งและมะเร็งตับ ความรุนแรงของเชื้อไวรัสชนิดนี้ คือ เป็นตับอักเสบเรื้อรังมากกว่าชนิดอื่น และยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเหมือนไวรัสตับอักเสบบี

    รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ว่าเป็นการติดเชื้อ พบได้ทั้งสองเพศ แต่ชายมากกว่าหญิง อัตราการติดเชื้อในเมืองไทยประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ในภาคอีสาน และภาคเหนือ 6-7 เปอร์เซ็นต์
    การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี
    1.มาจากเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือดทุกชนิด โดยเฉพาะได้รับก่อนปีพ.ศ. 2533
    2.จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฉีดยากับหมอเถื่อน
    3.จากการสัก การเจาะหู โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่มีมาตรฐาน
    4.จากการฟอกไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
    การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก หรือการติดต่อในครอบครัว ข้อมูลในปัจจุบันพบได้น้อยมาก จนไม่ถือเป็นนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นพฤติกรรมสำส่อนทางเพศอาจทำให้เพิ่มอัตราการติดเชื้อต่อคู่นอน
    โรคที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบซี
    1.ตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งหายได้เพียง 20-25 เปอร์เซ็นต์ 2.ติดเชื้อเรื้อรัง พบได้หลังการติดเชื้อถึง 75-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นตับแข็ง 20-40 เปอร์เซ็นต์ และลงท้ายด้วยตับวาย ผลแทรกซ้อนจากตับแข็ง และอีก 1-4 เปอร์เซ็นต์ ของตับแข็งกลายเป็นมะเร็งตับ

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครุนแรงหรือตับแข็งเร็วขึ้น

    1.ได้รับเชื้อขณะอายุมาก
    2.ได้รับเชื้อจากการได้รับเลือด 3.ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 30-50 กรัม/วันขึ้นไป แม้ดื่มปริมาณน้อย (20 กรัมของแอลกอฮอล์) ก็สามารถทำให้ตับเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

    อาการของตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบซี

    1.ไม่มีอาการ
    2.อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด และลงท้ายด้วยตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งอาการตัวเหลืองตาเหลือง พบได้เพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (จึงไม่พบตัวเหลืองตาเหลืองซึ่งทำให้ยากต่อการวินิจฉัย)
    การตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี
    1.โดยการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสและการทำงานของตับ
    ถ้าเป็นพาหะ จะตรวจพบเพียงเชื้อไวรัส แต่ผลการทำงานของตับ (ALT) ปกติ
    ถ้าเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็ง ก็จะพบทั้งตัวไวรัสและผลการทำงานของตับผิดปกติ
    2.การหาปริมาณของเชื้อไวรัสในเลือด ในบางรายตรวจพบไวรัสตับอักเสบซีจากกระแสเลือดจริง แต่เป็นเพียงแค่ซากของไวรัส เพราะเมื่อตรวจหาปริมาณแล้วพบว่าต่ำมาก
    3.การตัดชิ้นเนื้อตับ จะบอกได้ถึงพยาธิสภาพว่าขณะนี้เป็นตับอักเสบเรื้อรังขั้นไหน ซึ่งจะทำในกรณีที่จะให้การรักษา
    ดังนั้น การตรวจร่างกายประจำปีในปัจจุบันจึงมีข้อแนะนำว่า ถ้าตรวจพบว่ามีผลการทำงานของตับผิดปกติ ควรบอกแพทย์ให้ตรวจหาไวรัสตับอักเสบให้ด้วย โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสี่ยงจากการได้เลือด การสัก การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรืออุปกรณ์ที่ไม่มีมาตรฐาน
    [​IMG]การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี...ตับอักเสบเฉียบพลัน
    เนื่องจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน มักไม่ค่อยมีอาการ จึงไม่มีการรักษาโรคใดๆ เพราะผู้ป่วยยังเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ถึงแม้ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของการอักเสบเฉียบพลัน ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ยอมรับว่าได้ผล ดังนั้นจึงเป็นการดูแลรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ถ้าอ่อนเพลียมาก แนะนำให้พักผ่อน ไม่นอนดึก รับประทานอาหารตามปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องดื่มน้ำหวาน ยกเว้นว่าถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในระยะเริ่มแรกก็ให้หลีกเลี่ยงอาหารมัน รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น น้ำหวาน และเมื่ออาการอักเสบดีขึ้น ก็กลับมารับประทานอาหารตามปกติ
    ตับอักเสบเรื้อรัง
    ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง และมีการดำเนินของโรคไปเรื่อยๆ จนถึงสภาพตับเสื่อม และตับวายในที่สุด ดังนั้นในผู้ป่วยที่ตับอักเสบเรื้อรัง จึงสมควรได้รับการรักษา
    วัตถุประสงค์ของการรักษาไวรัสตับอักเสบซี
    วัตถุประสงค์ที่สำคัญในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี คือ กำจัดไวรัสให้หมดไปจากร่างกาย ผลลัพธ์คือตับอักเสบลดลงหรือคืนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้การเกิดตับแข็งช้าลง นอกจากนั้นการรักษาไวรัสตับอักเสบซีสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ แม้ว่าค่าการทำงานของตับจะไม่ลดลงมาเป็นปกติ
    ยาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี
    ปัจจุบันยาที่ใช้มาตรฐานในการรักษา คือ การให้ยา 2 ตัวร่วมกัน ประกอบด้วย ยาฉีดในกลุ่มอินเตอร์เฟอรอน ร่วมกับยาไรบาไวริน ซึ่งได้รับประทานยาทั้งสองจะให้ผลดี คือ สามารถกำจัดไวรัสให้หมดไป และไม่เป็นซ้ำอีกหลังหยุดยา ซึ่งผลเฉลี่ยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ บางสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อย ให้ผลเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
    ข้อแนะนำคนที่มีไวรัสตับอักเสบซี
    1.หยุดบริจาคเลือด
    2.แยกอุปกรณ์ที่เป็นของมีคม เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน โดยไม่ปนเปื้อนกับผู้อื่น
    3.งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
    4.การสัก เจาะ ควรใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน และห้ามนำไปใช้กับผู้อื่น
    5.งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะว่าการดื่มสุราเพียง 20-30 กรัม/วัน (เบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้ว) จะทำให้โรคตับรุนแรงมากขึ้น และถ้าดื่มมากกว่า 50 กรัม/วัน จะทำให้เกิดตับแข็งเร็วขึ้น
    6.หลีกเลี่ยงสารพิษอื่นๆ เช่น อาหารเสริม สมุนไพร ที่ไม่ทราบส่วนประกอบหรือผลข้างเคียง เพราะอาจทำให้ตับอักเสบขึ้นหรือเกิดตับแข็งเร็วขึ้น
    7.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ หรือพฤติกรรมทางเพศที่รุนแรง เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อต่อคู่นอนง่ายขึ้น
    8.ควรมาพบแพทย์ทุก 3-6 เดือน แม้จะไม่มีอาการอะไร หรือมาตามนัดของแพทย์ทุกครั้ง เพื่อตรวจว่ามีตับอักเสบหรือไม่ หรือเริ่มเป็นตับแข็งหรือยัง หรือเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรก
    การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
    ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงการได้เลือดโดยไม่จำเป็น ถ้าผ่าตัดที่ไม่รีบด่วน ควรใช้เลือดตนเอง โดยไปบริจาคเอาไว้ก่อนผ่าตัด แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เลือด ควรเลือกผู้บริจาคที่มีปัจจัยเสี่ยงน้อย ไม่ควรซื้อเลือดจากบุคคลที่นำเลือดมาขาย แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องมีการตรวจทางเคมีที่เชื่อได้ว่ามีมาตรฐานในการคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี พ่อแม่ ครู ควรให้คำแนะนำแก่บุตรหลานเรื่องการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เพราะพฤติกรรมการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน มักเกิดในช่วงวัยรุ่น หนุ่มสาว ซึ่งต้องการทดลองและเรียนรู้ จึงทำให้เกิดผิดพลาดขึ้น มารู้ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในวัยทำงานหรือวัยกลางคน ซึ่งก็สายเกินการแก้ไข
    สำหรับวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวที่ต้องการความสวยงาม นิยมการสัก การเจาะ ควรจะต้องระมัดระวังไม่ใช้อุปกรณ์ บุคลากรที่มีมาตรฐานและรับผิดชอบในการทำงาน ไม่นำอุปกรณ์ที่ใช้แล้วมาใช้กับคนอื่นอีก
    คู่สามีภรรยา ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีไวรัสตับอักเสบซี ไม่ต้องกลัวมากเพราะโอกาสติดเชื้อไปสู่อีกคนหนึ่งค่อนข้างน้อย ไม่จำเป็นต้องป้องกันด้วยถุงยางอนามัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงทำให้เกิดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน
    ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อตับ ตั้งแต่การติดเชื้อเรื้อรัง ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ แม้ว่าการคัดกรองเลือดในปัจจุบันจะมีความแม่นยำมากขึ้น ร่วมกับการรณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยาเสพติด ทำให้การติดเชื้อจากแหล่งเหล่านี้ลดลง แต่มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการกระทำบางอย่าง เช่น การสัก การเจาะ ซึ่งเป็นที่นิยมในสังคมเด็กวัยรุ่นในปัจจุบัน และเนื่องจากวัคซีนสำหรับการป้องกันยังไม่สามารถค้นพบได้ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด คือ พยายามหลีกเลี่ยงการได้เลือด หรือผลิตภัณฑ์ของเลือดโดยไม่จำเป็น หรือการสัก การเจาะ การใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน และสำหรับผู้ที่มีเชื้อไวรัสควรดูแลสุขภาพตนเอง และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

     

แชร์หน้านี้

Loading...