๑๒ แม่ผู้มีบุญคุณ

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 14 มกราคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “แม่”ว่า หมายถึง หญิงผู้ให้กำเนิด หรือเลี้ยงดูลูก หรือ คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน บางแห่งก็เรียก “แม่” ว่ามารดรหรือ มารดา อันหมายถึง เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่กอง เป็นต้น หรือบางทีก็เรียกว่า ชนนี ซึ่งหมายถึง ผู้ให้กำเนิดลูก เป็นที่บังเกิดเกล้าของลูก

    สำหรับ
    “แม่” ในความหมายข้างต้น เชื่อว่าผู้เป็นลูกทุกคนคงจะซาบซึ้งกันดี และคงปฏิบัติต่อท่านด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ให้สมกับที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามาด้วยความยากลำบากจนเราได้เติบใหญ่มาจนทุกวันนี้

    โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึงคำว่า
    “แม่” เรามักจะนึกถึง ผู้หญิง และหากจะสังเกต เราจะพบว่าคำใดก็ตามที่มีคำว่า “แม่” นำหน้าไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม สิ่งนั้นมักจะมีนัยของความยิ่งใหญ่และมีพระคุณต่อเราเสมอ ดังนั้น ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ลองรวบรวม คำที่ขึ้นต้นด้วย “แม่” ๑๒ คำ ซึ่งมีความหมายและมีบุญคุณหรือทำประโยชน์ให้แก่เรานอกเหนือไปจาก “แม่ผู้ให้กำเนิด” ดังนี้

    ๑. แม่โพสพ เป็นเทพธิดาประจำข้าว มีตำนานเล่าไว้แตกต่างกัน แต่สรุปตรงกันว่า ให้ทุกคนที่กินข้าว ได้สำนึกถึงพระคุณของแม่โพสพ หรือระลึกถึงประโยชน์ของเมล็ดข้าวที่เรากิน ชาวนาสมัยก่อนจะปฏิบัติต่อข้าวในทุกลักษณะด้วยความระมัดระวัง เช่น ไม่ทำข้าวหกเรี่ยราด ไม่เอากระด้งครอบปากครกตำข้าว ไม่เอาน้ำข้าวราดใต้ถุนครัว ฯลฯ เพราะเชื่อว่าจะทำให้แม่โพสพเสียใจ ปลูกข้าวกล้าไม่งอกงาม ไม่พอกิน และจะเกิดความอัปมงคลอย่างยิ่ง ปัจจุบันแม้ความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับข้าวจะลดน้อยถอยไป แต่เราทุกคนก็ยังควรรำลึกถึงพระคุณของข้าวที่ทำให้เราเติบโต มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง

    [​IMG]๒.แม่พระธรณี หมายถึง เทพธิดาประจำแผ่นดิน หรือ เจ้าแม่แห่งแผ่นดิน ซึ่งก็คือ ผืนแผ่นดินที่เราเหยียบย่ำอยู่ทุกวันนี้นี่เอง แม่ธรณีมีคุณต่อเราก็เพราะเป็นที่ที่เราอาศัย และทำกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินนี้ หากไม่มีแผ่นดินเราก็คงมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันถนอมแผ่นดินที่เราอยู่อาศัยให้อยู่ไปได้นานๆด้วยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

    ๓.แม่พิมพ์ หมายถึง ครูอาจารย์ซึ่งถือเป็นแบบอย่างความประพฤติของศิษย์ ครูบาอาจารย์เป็นเหมือนดังแม่ที่สองรองจากแม่ผู้ให้กำเนิดเรา เพราะเป็นผู้อบรมสั่งสอนให้เราเป็นคนดี มีวิชาความรู้ที่จะไปทำมาหากินในอนาคต

    ๔.แม่นม หมายถึง หญิงแม่ลูกอ่อน คือ หญิงที่เพิ่งคลอดลูก มีน้ำนมมากเกินพอให้ลูกของตัวดื่มกินแล้ว ยังอาจแบ่งปันให้ทารกในวัยเดียวกันของผู้อื่นได้กินบ้าง ซึ่งหญิงแม่ลูกอ่อนที่แบ่งน้ำนมของตนเลี้ยงดูทารกที่มิใช่ลูกของตัวกิน จนกระทั่งทารกนั้นโตพอจะอดนมหรือเลิกกินนมหญิงนั้นแล้ว คือผู้ที่ได้ชื่อว่า แม่นม การหาหญิงแม่ลูกอ่อนมาเป็นแม่นมแก่ลูกหลานที่เกิดใหม่นี้เป็นประเพณีที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางและชั้นสูงในโบราณกาล และมิใช่ว่าใครๆก็จะเป็นแม่นมได้ เพราะคนสมัยก่อนเขามีคัมภีร์ดูลักษณะด้วยว่าหญิงใดจะมีคุณสมบัติเป็นแม่นมที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร เช่น ลักษณะสตรีและน้ำนมชั่ว “สตรีจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวคาวดังน้ำล้างเนื้อ เนื้อขาวเหลือง ห้องตัวยาว ฝ่ามือและเท้ายาว จมูกยาว สันทัดคน ไม่พี ไม่ผอม ลูกตาแดง หนังริมตาหย่อน นมยาน หัวนมเล็ก เสียงพูดแหบเครือดังเสียงการ้อง สะดือลึก กินของมาก ลักษณะดังกล่าวนี้ชื่อว่ายักขิณี เป็นสตรีที่มีกามราคะแรง ถ้าให้ทารกบริโภคน้ำนมเข้าไป มักบังเกิดโรคต่างๆ ลักษณะอย่างนี้ ท่านให้ยกเสีย อย่าพึงเอา” ส่วนลักษณะสตรีและน้ำนมดี คือ “สตรีจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวไม่ปรากฏหอมหรือเหม็น เอวกลม ขนตางอน จมูกสูง หัวนมงอนดังดอกอุบลพึ่งจะแย้ม เต้านมกลม รสน้ำนมนั้นหวานมันสักหน่อย ลักษณะสตรีอย่างนี้ ท่านจัดเปนสตรีเบญจกัลยาณี ให้เลือกเอาไว้ให้ทารกบริโภคดีนักฯ”

    [​IMG]๕.แม่คงคาหรือแม่น้ำ หมายถึงเจ้าแม่ประจำน้ำ หรือ ลำน้ำใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมของลำธารทั้งปวง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง เป็นต้น โดยมากบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของแม่น้ำทั้งหลายมักจะเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมต่างๆ อีกทั้งยังเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นเส้นทางสัญจรไปมา ฯลฯ แม้ในปัจจุบันเราก็ได้อาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม ทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม จัดทำกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีชักพระหรือโยนบัว เป็นต้น

    ๖.แม่ย่านาง หรือแม่ย่านางเรือ เป็นผีที่สิงสถิตอยู่ประจำเรือแต่ละลำ เจ้าของเรือส่วนมากจะมีความเชื่อว่าเรือทุกลำมีแม่ย่านางสิงสถิตอยู่ที่หัวเรือ และอาจจะเป็นผู้นำโชคหรือความหายนะมาสู่เรือของตนได้ ดังนั้น จึงต้องมีการกราบไหว้ และเซ่นสังเวยแม่ย่านางอยู่เสมอก่อนที่จะนำเรือออกทำกิจการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกเรือใช้งานครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นเรือที่ทำขึ้นเองหรือซื้อมาถือว่าสำคัญที่สุด ต้องดูฤกษ์ยามและเซ่นสรวงบูชาแม่ย่านางเป็นพิเศษ ซึ่งเชื่อว่าจะนำโชคชัยมาสู่เรือและทำให้กิจการของตนเจริญก้าวหน้าได้

    ๗.แม่ซื้อ หมายถึง เทวดาหรือผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก ตามความเชื่อว่ามี ๗ คนและมีชื่อตามวันต่างๆคือ วันอาทิตย์ชื่อ นางวิจิตรมาวรรณ วันจันทร์ชื่อ นางวรรณนงคราญ วันอังคารชื่อ นางยักษบริสุทธิ์ วันพุธชื่อ นางสามลทัศ วันพฤหัสบดีชื่อ นางกาโลทุกข์ วันศุกร์ชื่อ นางยักษ์นงเยาว์ และวันเสาร์ชื่อ นางเอกาไลย์ เวลาที่เราเห็นทารกยิ้มหรือพูดอืออออยู่คนเดียว คนสมัยก่อนเชื่อว่าเป็นเพราะแม่ซื้อมาเล่นด้วย

    ๘.แม่สื่อแม่ชัก หมายถึงหญิงที่ทำหน้าที่ชักนำเพื่อให้หญิงชายได้แต่งงานกัน สมัยนี้แม่สื่อแม่ชัก อาจจะไม่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยว่าการดำเนินชีวิตของหนุ่มสาวปัจจุบัน ทำให้พบปะ คบหา และศึกษาอัธยาศัยใจคอกันได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ทำให้ไม่ต้องใช้แม่สื่อเป็นตัวกลางเหมือนสมัยพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของเรา อย่างไรก็ดี ยุคโลกาภิวัตน์นี้แม่สื่อก็ใช่จะหมดหน้าที่ เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนเป็นเพื่อนฝูง บริษัทจัดหาคู่ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เป็นได้

    [​IMG]๙.แม่ยก หมายถึง หญิงที่เป็นผู้อุปถัมภ์พระเอกลิเกหรือนายวงดนตรีลูกทุ่ง แม่ยกในปัจจุบันยังหมายถึงผู้ให้ความอุปถัมภ์ในวงการบันเทิงอื่นๆด้วย

    ๑๐.แม่บ้าน โดยปกติจะหมายถึง ภรรยาของพ่อบ้านคือแม่ของเรา แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแม่บ้านที่เป็นหญิงซึ่งเราว่าจ้างมาทำงานในบ้าน และเป็นผู้ดูแลกิจการต่างๆในบ้านแทนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การซักรีด จัดเสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ ทำให้เราได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันยิ่งขึ้น

    ๑๑.แม่ครัว คือ หญิงที่ทำมีหน้าที่ทำอาหาร การดำรงชีวิตปัจจุบัน หากเราไม่ได้ทำอาหารกินเองแล้ว เราจะพบว่าตามร้านอาหาร แม่ครัวเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นหัวใจในการดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน หรือแม้แต่ในบ้านเราเอง หากมีแม่ครัวดี ก็ย่อมจะทำให้เรามีความสุขในการกินอาหารที่บ้าน

    ๑๒.แม่เลี้ยง หมายถึงเมียของพ่อที่มิใช่แม่ตัว หลายคนคิดว่าแม่เลี้ยงส่วนใหญ่จะใจร้ายใจดำเหมือนในหนังหรือ นวนิยายที่อ่าน แต่ก็มีแม่เลี้ยงจำนวนไม่น้อยที่รักลูกเลี้ยง และช่วยดูแล เอาใจใส่ ส่งเสียจนกระทั่งลูกเลี้ยงเติบใหญ่

    จะเห็นได้ว่า
    “แม่”ที่ยกมาข้างต้น แม้จะมิใช่แม่ในความหมายผู้ให้กำเนิดเรา แต่ก็ยังประโยชน์ต่อเราไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ถือได้ว่ามีพระคุณต่อเรา สมควรที่เราจะได้ตระหนัก และปฏิบัติตนต่อแม่เหล่านี้ด้วยความมีน้ำใจไมตรีเพื่อแทนคุณ


    อมรรัตน์ เทพกำปนาท
    กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...