(๒๕) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 5 พฤศจิกายน 2009.

  1. anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๓๓
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๐๖

    เรื่อง
    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า สัมปชัญญปัพพะ)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วย สัมปชัญญบรรพ สืบต่อไป

    ถ. คำว่า "สัมปชัญญปัพพะ" แปลและความหมายความว่าอย่างไร?
    ต. สัมปชัญญปัพพะ แยกออกเป็น ๔ ศัพท์ คือ สํ+ป+ชัญญะ+ปัพพะ
    สํ แปลว่า พร้อม แปลว่า ดี
    ป แปลว่า ทั่ว แปลว่า ยิ่ง
    ชัญญะ แปลว่า รู้ แปลว่า เข้าใจ ได้แก่ปัญญา
    ปัพพะ แปลว่า ข้อ แปลว่า หมวด แปลว่า ตอน

    เมื่อต่อกันเข้าได้รูปเป็น สัมปชัญญปัพพะ แปลว่า หมวดที่ว่าด้วยการกำหนดรู้ทุกๆ ขณะ หมายความว่า หมวดนี้ พระพุทธองค์ทรงชี้แจงแสดงไขบอกวิธีปฏิบัติวิปัสสนาไว้อย่างละเอียดละออชัดเจนแจ่มแจ้งมาก ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ กิเลสจะไม่มีโอกาสเข้ามาย่ำยีโจมตีกายนครได้เลยแม้แต่น้อย

    ถ. สัมปชัญญะปัพพะ มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. เมื่อจะกล่าวโดยส่วนใหญ่ๆ แล้วมีอยู่ ๔ อย่าง คือ สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ อสัมโมหสัมปชัญญะ
    ๑.สาตถกสัมปชัญญะ จะทำอะไรทุกๆ อย่าง ต้องมีสติกำหนดรู้ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ให้ดีก่อน เช่น เมื่อจิตคิดจะไป อย่างไปตามอำนาจจิต คิดหาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ก่อนว่า ถ้าเราไปที่นั้นจะมีประโยชน์หรือไม่มี

    คำว่าประโยชน์ในที่นี้ ได้แก่ความเจริญโดยธรรม คือทำให้กรรมฐานดีขึ้น เจริญขึ้น เช่น ถ้าไปเห็นพระเจดีย์ เห็นต้นศรีมหาโพธิ์ เห็นพระสงฆ์ ทำให้เกิดปีติ มีพระพุทธเ้จ้าเป็นอารมณ์ เกิดปีติมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ แล้วเจริญวิปัสสนาต่อจนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตน อย่างนี้เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลแท้

    ถ้าไปเห็นพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญชำนาญในปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ปฏิบัติตามจนไ้ด้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ดุจพระราธเถระ พระรัฐบาลเป็นตัวอย่าง อย่างนี้ก็เป็นประโยชน์มากเช่นกัน

    ถ้าไปเห็นอสุภะ คือ ซากศพแล้วเจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌาณ เอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อ จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน อย่างนี้ก็เป็นประโยชน์มหาศาลเช่นเดียวกัน

    ๒. สัปปายสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์เป็นที่สบายและไม่สบายก่อน เช่น การไปไหว้พระเจดีย์มีประโยชน์อยู่ แต่ถ้ามีหญิง ชาย แต่งตัวกันอย่างสวยงามและไปกันมากๆ เพื่อพากันบูชาพระเจดีย์นั้น ต่างก็เดินไปมาอยยู่ไม่ขาดสาย อาจจะทำให้เสียสังวร เรียกว่า สังวรแตก กิเลสเกิด กรรมฐานเสื่อม เช่น ถ้าประสบอิฏฐารมณ์ก็จะทำให้เกิดโลภะได้ ถ้าประสบอนิฏฐารมณ์ ก็จะทำให้เกิดโทสะได้ ถ้าประสบมัชฌัตตารมณ์ ก็จะทำให้เกิดโมหะได้ อาจจะทำให้ต้องอาบัติได้ และอาจจะเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ดีแน่ ไม่เป็นที่สบายเลย อย่าไปเป็นอันขาด

    ถ้าไปแล้วเกิดประโยชน์ คือกรรมฐานเจริญ เป็นที่สบายแน่ ควรไป เช่นภิกษุหนุ่มกับสาเณรน้อยไปตัดไม้ชำระฟัน เห็นซากศพ เจริญกรรมฐานจนได้ฌาน เอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาจนได้เป็นพระอนาคามี

    ๓. โคจรสัมปชัญญะ กำหนดรู้โคจร คือกำหนดรู้กรรมฐาน เช่น กาย เวทนา จิต ธรรม และกำหนดรู้สถานที่ควรไปและไม่ควรไป เวลาไปก็ต้องมีกรรมฐานไป เวลากลับก็ต้องมีกรรมฐาน ตัวอย่าง มีภิกษุรูปหนึ่งบวชได้ ๑๙ พรรษา พยายามเดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่ใกล้ๆ ทุ่งนา พวกชาวนากำลังพากันทำนาอยู่ แลเห็นท่านเดิน เกิดความสงสัยว่า ท่านลืมของหรือหลงทางหนอ ทำไมจึงเดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ส่วนท่านเองมิได้สนใจอะไรเลย มุ่งหน้าแต่ทำกรรมฐานอย่างเดียว ท่านตั้งอกตั้งใจทำจริงๆ ในไม่ช้าก็ได้บรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล

    นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอยู่อีก คือ พระกาลวัลลิเถระ ท่านได้บำเพ็ญวัตร คือ เดินจงกรมกลับไปกลับมา โดยอธิษฐานใจไว้ว่า "จะบูชาความเพียรของพระพุทธเจ้า ด้วยความเพียรของตน คือทำกรรมฐานไม่ขาดเลยตลอด ๗ ปี ท่านได้พยายามทำความเพียร คือ เจริญกรรมฐานเดินจงกรมบ้าง นั่งกำหนดบ้าง นอนกำหนดบ้าง ยืนกำหนดบ้าง กำหนดอิริยาบถย่อยอื่นๆ บ้าง จนครบ ๗ ปีก็ไม่สำเร็จ ท่านไม่ละความเพียรพยายาม อธิษฐานใจบูชาความเพียรของพระพุทธเจ้าต่ออีก ๙ ปี จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์

    เวลาท่านปฏิบัติอยู่นั้น ท่านเคร่งครัดมาก เวลายกเท้าขึ้นท่านก็มีกรรมฐาน เวลาวางเท้าลงท่านก็มีกรรมฐานเป็นประจำ ถ้าขณะใดไม่มีกรรมฐาน ขณะนั้นท่านต้องนำกลับมาตั้งต้นใหม่

    ๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ ได้แก่ความมีสติอยู่ทุกๆ ขณะ เรียกว่าเป็นผู้ไม่หลง มีอยู่ ๒๒ อย่าง คือ
    ๑. อภิกฺกนฺเต เวลาร่างกายเอนไปข้างหน้า ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า เอนหนอๆ
    ๒. ปฏิกฺกนฺเต เวลาร่างกายเอนมาข้างหลัง ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า กลับหนอๆ
    ๓. อาโลกิเต เวลาแลดูตรงๆ ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า แลดูหนอๆ
    ๔. วาโลกิเต เวลาแลดูตามทิศต่างๆ ก็ีมีสติกำหนดรู้ ภาวนา่ว่า แลดูหนอๆ
    ๕. สมฺมิญฺชิเต เวลาคู้แขน คู้ขาเข้ามา ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า คู้หนอๆ
    ๖. ปสาริเต เวลาเหยียดแขน เหยียดขาออกไป ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า เหยียดหนอๆ
    ๗. สงฺฆาฏิธารเณ เวลาพาดสังฆาฏิ ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า พาดหนอๆ
    ๘. ปตฺตธารเณ
    เวลาอุ้มบาตร ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า อุ้มหนอๆ
    ๙. จึวรธารเณ เวลาห่มจีวร ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า ห่มหนอๆ
    ๑๐. อสิเต เวลาบริโภคอาหาร ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า บริโภคหนอๆ
    ๑๑. ปิเต เวลาดื่ม เช่นดื่มข้าวยาคู ดื่มน้ำ เป็นต้น ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่าดื่มหนอๆ
    ๑๒. ขายิเต เวลาเคี้ยว ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า เคี้ยวหนอๆ
    ๑๓. สายิเต เวลาลิ้มเลีย ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า ลิ้มเลียหนอๆ
    ๑๔. อุจฺจารกมฺเม เวลาถ่ายอุจจาระ ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า ถ่ายหนอๆ
    ๑๕. ปสฺสาวกมฺเม เวลาถ่ายปัสสาวะ ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า ถ่ายหนอๆ
    ๑๖. คเต เวลาเดินไป ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า เดินหนอๆ หรือชวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
    ๑๗. ฐิเต เวลายืน ก็มีสติรู้ ภาวนาว่า ยืนหนอๆ
    ๑๘. นิสินฺเน เวลานั่ง ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า นั่งหนอๆ
    ๑๙. สุตฺเต เวลานอน ก็ให้กำหนดรู้อาการพอง ยุบ ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ จนกว่าจะหลับ และให้สังเกตให้ดีๆ ว่าจะหลับไปตอนพองหรือตอนยุบ
    ๒๐. ชาคริเต เวลาตื่น ก็ให้มีสติกำหนดรู้ ภาวนาว่า ตื่นหนอๆ
    ๒๑. ภาสิเต เวลาพูด ก็ให้มีสติกำหนดรู้อยู่ที่ความเคลื่อนไหวของขากรรไกรข้างล่าง
    ๒๒. ตุณฺหิภาเว เวลานิ่งอยู่เฉยๆ ก็มีสติกำหนดรู้ ภาวนา นิ่งหนอๆ
    เมื่อกำหนดได้ละเอียดละออถี่ถ้วนอย่างนี้ เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ

    ถ. พระบาลีว่า "อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ" มีปกติพิจารณาเห็นกายในภายในภายในอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นความเคลื่ออนไหวไปมาของกายตนเองโดยอาการ ๒๒ อย่าง ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น

    ถ. พระบาลีว่า "พหิทฺธา วา กาเย กายุนุปสฺสี วิหรติ" มีปกติพิจารณาเห็นกายในภายในภายนอกอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นกายของคนอื่น เพราะเมื่อพิจารณาเห็นกายตนได้ดีแล้ว ก็สามารถจะพิจารณาเห็นกายของคนอื่นได้ดี โดยไม่มีผิดแผกแตกต่างกันเลย ย่อมเป็นดุจพิมพ์เดียวกันอย่างนี้ เข้าในหลักพระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ ได้ตรัสสอนพระนางรูปนันทาว่า
    อาตุรํ อสุจึ ปูตึ ปสฺส นนฺเท สมุสฺสยํ
    อุคฺฆรนฺตํ ปคฺฆรนฺตํ พาลานํ อภิปตฺถิตํ
    ยถา อิทํ ตถา เอตํ ยถา เอตํ ตถา อิทํ
    ธาตุโย สุญฺญโต ปสฺส มา โลกํ ปุนราคมิ
    ภเว ฉนฺทํ วิราเชตฺวา อุปสนฺตา จริสฺสิ.
    นันทา เธอจงดูกายอันกรรมสร้างขึ้นมา อันอาดูร คือเป็นไข้อยู่เนืองนิตย์ ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้า ไหลออก อยู่เสมอ พวกคนโง่ปรารถนากันนัก สรีระของเธอนี้ ฉันใด สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น สรีระของหญิงนั้นฉันใด สรีระของเธอนี้ก็ฉันนั้น เธอจงพิจารณาเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นศูนย์ อย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก เธอสำรอกความพอใจในภพเสียได้แล้ว จักเป็นผู้สงบเที่ยวไป
    ถ. พระบาลีว่า "อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ" มีปกติพิจารณาเห็นกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า เห็นทั้งกายของตน และเห็นทั้งกายของคนอื่น

    ถ. พระบาลีว่า "สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ" มีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนา ถึงญาณที่ ๔ คือ อุทยยัพพยญาณแล้ว

    ถ. พระบาลีว่า "วยธมฺมานุปส์สี วา กยส์มี วิหรติ" มีปกติพิจารณาเห็นธรรมคือความดับในกายอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนาผ่านญาณที่ ๑-๒-๓ มาแล้ว กำลังอยู่ในฌานที่ ๔

    ถ. พระบาลีว่า "สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ" มีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นและความดับไปในกายอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นเห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดเจนดีแล้ว คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตต ด้วยภาวนามยปัญญา ถึงจะตายในวันนั้น ขณะนั้น ก็ยังประเสริฐกว่าผู้ไม่ได้เห็น แต่ีชีวิตเป็นอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐ ปี สมดังพระบาลีรับรองไว้ว่า
    โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
    เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ
    ผู้ใดไม่ได้พิจารณาเห็นความเกิดดับของรูปนาม ผู้นั้นถึงมีชีวิตอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ไม่ประเสริฐเท่าบุคคลผู้ที่ได้พิจารณาเห็นความเกิดดับของรูปนาม แต่มีชีวิตอยู่ได้เพียววันเดียวหรือขณะเดียวเลย
    ถ. ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ จะได้อานิสงส์เป็นประการใดบ้าง?
    ต. ได้อานิสงส์มากมายหลายประการ คือ
    ๑. มีสติสัมปชัญญะรู้ได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า กายคือรูปเป็นของมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา อะไรทั้งสิ้น
    ๒. มีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับๆ
    ๓. กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ ได้สงบลงไป
    ๔. ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
    ๕.ถ้ามีอุปนิสัยจะได้บรรลุอรหัตในปฐมวัย
    ๖. ถ้าไม่ได้ในปฐมวัย ก็จะได้ในมัชฌิมวัย
    ๗. ถ้าไม่ได้ในมัชฌิมวัย ก็จะได้ในปัจฉิมวัย
    ๘. ถ้าไม่ได้ในปัจฉิมวัย ก็จะได้ในมรณสมัย คือตอนใกล้จะตาย
    ๙. ถ้าไม่ได้ในมรณสมัย ก็จะได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรแล้วเจริญต่อ สามารถจะได้บรรลุในภพนั้น
    ๑๐. ถ้าไม่ได้ในเทวโล หากมาเกิดในสมัยไม่มีพระพุทธเจ้า ก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
    ๑๑. หากไม่ได้เป็นพระปัจเจก ก็จะได้มาเกิดในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง จะได้ขิปปาภิญญา ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าองค์นั้น เช่นพาหิยะทารุจิริยะ จะมีปัญญามาก เช่นพระสารีบุตร จะมีฤทธิ์มาก เช่นพระมหาโมคคัลลาน์ จะทรงธดุงค์ เช่นพระมหากัสสปะ จะมีทิพพจักขุ เช่นพระอนุรุทธะ จะทรงวินัยเช่นพระอุบาลี จะได้เป็นพระธรรมกถึก เช่นพระปุณณมันตานีบุตร จะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เช่นพระเรวตะ จะเป็นพหูสูตร เช่นพระอานนท์ จะเป็นผู้ใคร่ต่อสิกขา เช่นพระราหุล

    ถ. กำหนดตามปัพพะนี้จะเห็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างไร?
    ต. เห็นได้อย่างนี้ คือ
    ๑. จตุสมฺปชญฺญปริคฺคาหิกา สติ ทุกฺขสจฺจํ สติที่ำกำหนดรู้สัมปชัญญะทั้ง ๔ เป็นทุกขสัจ

    ๒. ตสฺสา สมุกฺฐาปิกา ปุริมตณฺหา สมุทยสจฺจธ ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสติให้เกิดขึ้นเป็นสมุทัยสัจ

    ๓. อุภินฺนํ อปฺปวตฺติ นิโรธสจฺจํ ความดับไปแห่งทุกข์กับสมุทัย เป็นนิโรธสัจ

    ๔. วุตฺตปฺปกาโร อริยมคฺโค มคฺคสจฺจํ อริยมรรคมีองค์ ๘ กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง เป็นมัคคสัจ


    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่าด้วย สัมปชัญญปัพพะ มา ก็จบลงเพียงเท่านี้ ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

    สวัสดี.

     

แชร์หน้านี้