(๒) พุทธตำนาน:พระเจ้าเลียบโลก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 23 ตุลาคม 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    พุทธตำนาน
    พระเจ้าเลียบโลก

    ตำนานพระเจ้าเลียบโลก หรือพุทธตำนาน เป็นคัมภีร์ปรากฎแพร่หลายในทางภาคเหนือของไทย ขณะนี้ยังมีต้นฉบับใบลานที่คัดลอกกันต่อๆ มา จำนวนมากหลงเหลืออยู่ตามวัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ตามที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการตรวจสอบทำบัญชีเอาไว้ มีดังนี้

    ฉบับความพิสดาร
    ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดกู่่คำ ต.วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
    ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดเวียง ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง
    พุทธตำนาน (จ.ศ.๑๑๙๖) ฉบับวัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
    พุทธตำนาน (ขาดผูก ๑,๑๑) ฉบับวัดเชียงมั่น ฉบับที่ ๒
    พุทธตำนาน (ขาดผูกที่ ๑) ฉบับวัดดอกเอื้อง ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ. เชียงใหม่
    พุทธตำนวน ฉบับวัดสันป่ข่อย ต.วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
    พุทธตำนวน ฉบับวัดเมืองลัง ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่
    ตำนานพุทธเลียบโลก ฉบับวัดดอนปิน ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
    ตำนานพระบาทพระธาตุ ฉบับวัดแม่สุก ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ. พะเยา
    ฉบับความย่อ
    ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบัยวัดสันป่าเลียง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
    พุทธตำนาน ฉบับวัดสันโค้ง ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
    พุทธตำนาน ฉบับวัดดาวดึงษ์ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (มี ๒ ผูก)

    ตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับตะวันออกเฉียงเหนือ
    พระเจ้าเลียบโลก ฉบับศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม
    พระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดบัานแสนยาง ต.เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
    พระเจ้าเยี่ยมโลก ฉบับวัดโพธิ์ตก ต.ป่าหวายนั่ง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
    เนื้อความโดยย่อ

    เอกสารใบลานเรื่อง ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดกู่คำมีจำนวน ๑๒ ผูก จำนวนหน้าลาน ๔๗๐ หน้า ผูกที่ ๑ ถึงผูกที่ ๑๑ เป็นเนื้อหาของเรื่องพุทธตำนานหรือตำนานพระธาตุพระบาทโดยสมบูรณ์ ส่วนเนื้อหาผูกที่ ๑๒ เป็นเรื่องย่อใจความในผูกที่ ๑ ถึงผูกที่ ๑๑ และสำหรับรายชื่อสถานที่บ้านเมืองต่างๆ บางชื่อ ผู้วิจัยไม่สามารถให้รายละเอียดได้ จึงเป็นการยากที่จะทำการศึกษาค้นคว้าให้กระจ่างชัดได้



    ความย่อในผูกที่ ๑

    เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยการกล่าวยกย่องพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าในสมัยที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้บำเพ็ญทานบารมีมาทุกๆ ชาติ ครั้งที่สมัยบังเกิดเป็นพระสิทธัตถะได้เสด็จ บรรพชาจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเสด็จออกเทศนาสั่งสอนประชาชนตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ เพื่อประดิษฐานรอยพระบาทและพระเกศาธาตุ รวมทั้งการที่ทรงทำนายอนาคตกาลของสถานที่เหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ออกจากเมืองพาราณสีประเทศอินเดียจนล่วงเข้าไปในเขตเมืองลี้ อาณาจักรหริภุญชัย ประทับรอยพระบาทแล้วเสด็จถึงท่าหัวเคียนแล้วเสด็จเลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงถึงที่หนึ่ง เทวดานำผลสมอมาถวายพระองค์ พระองค์เสวยแล้วทำนายว่าที่ตรงนั้นต่อไปจะเป็นมหานครใหญ่ นามว่า หริภุญชัย พระุพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองโดยเฉพาะในสมัยของพระยาอาทิตตราชต่อจากนั้นเสด็จถึงอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ประทับแล้วผินพระพักตร์ลงไปเบื้องล่างทางทิศตะวันออก ทำนายว่าต่อไปพระพุทธศาสนาจะมาประดิษฐานและรุ่งเรืองในอภินวนคร (เชียงใหม่) จะมีพระเถระรูปหนึ่งไปนำเอาพระบรมธาตุมากจากประเทศลังกา และจะประดิษฐานไว้ที่ยุปผาราม (วัดสวนดอก เชิงดอยสุเทพ) เสด็จจากดอยสุเทพ ไปสรงน้ำที่ปากแม่น้ำสา (เขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) ต่อไปยังตำบลยางหมอก

    พระองค์ทำนายต่อไปว่า จะเป็นสถานที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากนั้นเสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำปิงประทับรอยพระบาทบนหินก้อนหนึ่ง เรียกว่า พระบาทผาชะแคง (อีกชื่อหนึ่งคือ ผาชะแคง ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) ลำดับนั้น เสด็จโดยลวงอากาศ (เหาะ) ชี้พระหัตถ์ไปยังยอดดอยแห่งหนึ่ง ทำนายต่อพระสารีบุตรพระอัครสาวก ว่า ศาสนาจะมารุ่งเรืองในเมืองเชียงดาว (อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) จะบังเกิดอารามพระยาคำแดงแล้วพระองค์เสด็จไปยังเมืองลื้อ อาณาจักรสิบสองปันนา เมืองนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ คือมีดโกนพระเกศาของพระองค์ พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองภายภาคหน้า เสด็จต่อไปยังอุตรปัญจนคร (แสนหวี) ที่พระองค์ได้เคยเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ มโหสถบัณฑิต เสด็จยังเมืองวิเทหะ (หนองแส) พระยาวิเทหะกระทำการอันประมาท คือนำอาหารและคิลานปัจจัยใส่ถาดทองคำวางบนหลังช้่างเพื่อนำไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทำนายว่าเมืองนี้ต่อไปจะไม่มีช้างอีก แต่พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองมากนั และเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวป้าง (ฟันเขี้ยวที่อยู่ถัดจากฟันกรามออกมา) แล้วเสด็จกลับกรุงโกสัมพี ชำระพระองค์ที่ริมฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) ต่อไปจะได้ชื่อว่า ท่าข้าวตอก พระองค์ประทับรอยพระบาทบนหินก้อนหนึ่ง จากนั้นเสด็จเสวยภัตตาหารพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ณ ดอยเวภารบรรพต (รังรุ้ง) อันเป็นเขตแดนรอยต่อของ ๓ อาณาจักร์ คือกรุงโกสัมพี (แสนหวี) หริภุญชัย (ไทย) และเมืองแพรหลวง (จีน) จากนั้นประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ (พระพุทธกกุสันธะ, พระพุทธโกนาคมนะ, พระพุทธกัสสปะ) บนหินก้อนหนึ่ง แล้วทรงทำนายว่าอีกสองพันปีรอยพระบาทจักปรากฏแ่ก่ตาคนทั้งหลาย จากนั้นพระองค์เสด็จกลับยังเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ความต่อไป พระสารีบุตรอัครสาวกกล่าวเรื่องเมืองแพรหลวงอันอยู่ด้านทิศเหนือกรุงโกสัมพี มีดอยลิง ๒ ดอย จะเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และพระบรมธาตุในอนาคต จากนั้นกล่าวถึงวิธีการบูชารอยพระพุทธบาทและพระบรมธาตุบนดอยกินรี และอีกที่หนึ่งเรียกว่า ผาม่อน และผาอูบธาตุ หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานไปสองพันปี พรานผู้หนึ่งค้นพบรอยพระพุทธบาทบนดอยรังรุ้ง และกาลต่อมาพระเจ้ามังรายมหาราช (กษัตริย์องค์ที่ ๑ ราชวงศ์มังราย ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา) พร้อมบริวารได้ทะนุบำรุงและสร้างถาวรวัตถุประกอบพระบาทรังรุ้ง (พระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อเป็นที่สักการบูชาของอนุชน ใจความตอนต่อไปกล่าวถึงพระบรมธาตุในเขตเมืองฝาง คือถ้ำดอยผาทตะลุ (ผาัตับเต่า) ที่นี่พระพุทธองค์ประทานเกศาธาตุแก่พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากมาประดิษฐานไว้เพื่อเป็นที่สัการบูชาของคนและเทวดาตราบชั่ว ๕,๐๐๐ วัสสา จากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จรับภัตตาหารจากชาวละว้า ๒ คนสามีภรรยาแล้วประทับรอยพระบาทผาด่านบ้านยางควง (ตำบลรั้วหน่าง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วพระอรหันต์ ๗ องค์จะได้นำพระบรมธาตุมาบรรจุ ณ ที่นี้


    ความย่อในผูกที่ ๒

    ความกล่าวถึงพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอานนท์ พระอินทร์และพระยาอโศกเสด็จออกจากเมืองกุสินารา เทศนาสั่งสอนประชาชนไปถึงสถานที่หนึ่ง พระองค์ทำนายว่า ที่นี่ต่อไปพระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองตราบ ๕,๐๐๐ วัสสา และเมื่อถึง พ.ศ.๒๑๘ พระเจ้าอโศกมหาราชสถาปนาพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในเมืองปาฏลีบุตรแล้วเผยแพร่ไปทั่วชมพูทวีป พระองค์จะก่อพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุถึง ๕ องค์ องค์หนึ่งๆ จะจมลงไปในแผ่นดินเมื่อครบรอง ๑,๐๐๐ ปีจนถ้วน ๕,๐๐๐ วัสสา ทั้งนี้ในเขตอาณาจักรทวารวดี ความต่อไปกล่าวถึงการประดิษฐานพระเกศาบนดอยสิงกุตรในเขตเมืองหงสาวดี มีพ่อค้าสองพี่น้องคือตปุสสะและพลิกะ พระพุทธองค์ทรงประทานเกศาธาตุ ๘ องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานเมืองอุบลนคร หรือหงสาวดี แต่ระหว่างการเดินทาง กษัตริย์แคว้นเชตุดร (อยู่ด้านทางทิศตะวันออกของอินเดีย) ขอแบ่งเอา ๒ องค์ พญานาคมาขโมยไป ๒ องค์ เหลือถึงพระยาหงสาวดี ๔ องค์ พระเกศาธาตุทำปาฏิหารย์กลายเป็น ๘ องค์ ดังเดิม จากนั้นกล่าวถึงการก่อเจดีย์ สถสูปประดิษฐาน ณ สิงกุตรบรรพตอย่างประณีตงดงามและได้ทะนุบำรุงสืบต่อมาอีก


    ความย่อในผูกที่ ๓
    กล่าวถึงพระพุทธองค์และพระอรหันต์เสด็จเข้าสู่เขตสุวรรณภูมิ สมัยอาณาจักรทวารวดีถึงเมืองเชียงของ (อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย) ประทานพระเกศาธาตุและประทีปรอยพระบาทที่เมืองคาง (ปัจจุบันเรียกว่าบ้านกลาง) จากนั้นเสด็จเมืองเชียงตุง (เขตพม่า) ประทานเกศาธาตุและประทับรอยพระบาทที่ท่าผาคมและที่ดอยช่องหว่า หมู่บ้านจ่องบ่อง (บ้านที่มีัลักษณะเป็นช่องเป็นรู) จากนั้นเสด็จปราบบยักขเสนาที่ดอยรูปช้างหมอบ ริมฝั่งแม่น้ำมุคคนที ณ ที่นี้พระองค์ประทับรอย พระบาทซ้อนรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ ซึ่งต่อไปพระบาทเรียกว่าพระบาทท่าวังงาม (เขตนาคุลละ ประเทศพม่า) ดอยนั้นได้ชื่อว่า เวสาลบรรพต หรือดอยพุปูสร้าง เมืองสูง ลำดับนั้นเสด็จประทับรอยพระบาทในถ้ำแห่งหนึ่ง เขตเมืองสูงและเสด็จประทับรอยพระบาทดอยผาช่อ ดอยพูคำ (ปูคำ) เสด็จต่อไปยังดอยมหิยงค์ (เมืองยอง เขตสิบสองปันนา) ทำนายว่าต่อไปจะเป็ฯประดิษฐานพระเกศา ๔ องค์ เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วจะเป็นที่ประดิษฐานพระนลาฏะาตุ ครั้นพระองค์ปรินิพพานได้ ๗๗ ปี พระยาสุรงควัติได้สร้างเจดีย์ธาตุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒,๐๐๐ ปี บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ พระบรมธาตุจึงเสด็จปาฏิหาริย์และบังเกิดนักปราชญ์ท่านหนึ่งเป็นที่นับถือกราบไหว้ เมื่อนั้นบ้านเมืองจึงจะสงบสุขและรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

    ยังมีต่อ
     
  2. Phanudet

    Phanudet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    8,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +15,646
    ทราบว่ามีถึง ๑๑ ผูก ใช่ปะครับ.....

    โมทนาสาธุธรรมด้วยนะครับ....
     
  3. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ความย่อในผูกที่ ๔

    กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จเมืองฮ่อ เขตยูนาน และย้อนกลับมาเมืองลื้อ เขตสิบสองปันนา ได้ประทับรอยพระบาทที่เมืองฮ่อและเมืองแข่ (เป็นที่อยู่ของพระแข่ไตหลง หรือไทหลวง) บ้านแจ้งคำ บ้านเขียวค่ำ และเสด็จประทับรอยพระบาทขนาดย่อที่ดอยผาน้อย เมืองอาฬวี (เมืองลา) เสด็จเมืองเชียงใต้ เชียงเหนือ เสด็จต่อไปประทับรอยพระบาทที่บ้านแจ้งค่อนยาม และที่ห้วยน้ำอูน (อุ่น) ในเขตบ้านล้านองค์ และต่อไปยังบ้านแกว่น ลำดับนั้นเสด็จประทับรอยพระบาทที่เมืองลื้อหาง และเมืองลื้อ ต่อไปเมืองผาง (พ่างร้าย) เมืองคนใจหมิ่น (ใจแคบ) ต่อไปเมืองบาง เมืองแช่ทอง หมู่บ้านจอมทอง แล้วเสด็จประทับรอยพระบาทเมืองร่มฟ้าร่มอู่ เสวยภัตตาหารและประทับรอยพระบาทเมืองอู่ไต จากนั้นประทับรอยพระบาทที่เมืองน้อยอ้อยเหลืองที่ดอยผาแรม เมืองชุง


    ความย่อในผูกที่ ๕

    พระพุทธองค์เสด็จออกจากดอยผาแรม โปรดชาวเมืองแล้วประทับรอยพระบาที่เมืองซางหลวง ต่อไปประทับรอยพระบาทเมืองลา เมืองบาน บ้านลวงพันแข้ง บ่อแร่ (บ้านบ่อหลวง) บ่อเป็นล้างแต่ง เมืองลาใต้ ลาาเหนือ จากนั้นเสด็จประทับรอยพระบาทลงคิดลวงแวน ประทับรอยพระบาทเมืองเชียงแข็ง เมืองขันม่อน ( ดอยผารูปช้าง) พระบาทแห้ (แร่หินกรวด) พระบาทผานอน พระบาทท่าน้ำฑุน พระบาทผาลวงกู พระบาทปูจี่ (ดอยลำแท้) พระบาทคทิงคชี พระบาทบ้านท่อง พระบาทผาน้อย เสด็จเมืองเชียงครึ่ง ประทับรอยพระบาทผาค้ำดอยหรือพระบาทผาคำ ต่อไปที่พระบาทผาขาว


    ความย่อในผูกที่ ๖

    พระพุทธองค์เสด็จหมู่บ้านสุทธาวาส ที่นี่ไม่เหมาะกับการประดิษฐานพระเกศาธาตุ พระองค์จึงประทับรอยพระบาทบนหินก้อนน้อยไม่เต็มรอย ที่โบราณคาม เสด็จถึงดอยจอมไกล ชาวบ้านมิได้ทูลขอรอยพระบาท พระพุทธเจ้าทำนายว่า ต่อไปจะเป็ฯที่ประดิษฐานพระธาตุแล้วเสด็จประทับรอยพระบาทดอยจอมไค้ เพียงสันพระบาท ในเขตเมืองลวงใต้ ลวงเหนือ คือพระบาทฟ้าวลง ต่อมาเรียกพระบาทฟั่งลง ในเขตบ้านเชียงมุ่นแล้วเสด็จประดิษฐานพระเกศาสธาตุ ดอยปู่หลาน บ้านวังแดง และประทับรอยพระบาท ณ เมืองน้อยเมืองงาม ต่อไปเมื่อพานฝาย พระบาทกูมา เมืองพานใต้ ประทับรอยพระบาทผาดอกไม้ เมืองหน เสด็จเมืองราย ประทับรอยพบาทบนผ้าขาวให้ชาวบ้านนำไปประดิษฐานบนดอย ต่อมาได้ชื่อว่า พระบาทหินก้อน ประทับรอยพะรบาทห้วยตุมตุ๋ม และที่เมืองอองเต่า(กระดองเต่า) ต่อจากนั้นเสด็จประทับรอยพระบาท ณ เมืองเสี้ยว (เชียงคา) ต่อไปเมืองงาด ต่อไปบ้านหก บ้านเติม บ้านดอย ที่นี้ประทับรอยพระบาทบนผ้าขาว ภายหน้าจะเห็นเป็นรอยเสื้ออยู่บนพระบาท เสด็จเมืองพานประทับรอยพระบาท เสด็จเมืองขางประทับรอยพระบาทถ้ำผาแดง ซึ่งเป็นการประทับซ้อนรอยพระบาทพระุทธเจ้า ๓ พระองค์ จากนั้นสอนชาวเมืองให้รู้จักทำยนต์ผัดน้ำ (ยนต์หมุน) เข้านา ต่อไปประทับรอยพระบาทเมืองคราง อยากน้ำ พระบาทบ้านเวียง บ้านฝาง แล้วเสด็จดอยช้างสาร (ดอยรูปช้างหมอบ) ประทับสีหไสยาสน์ สยนบัลลังการ ตามพุทธประเพณีแห่งพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ ตราบจนึงสมัยพระอริยเมตไตรยเนื้อความต่อไปอธิบายเหตุแห่งอายุมนนุษย์ในกัปป์ต่างๆ



    ยังมีต่อ

     
  4. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    ล้านนามี11ผูกลาวมี17ผูกครับ
     
  5. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ความย่อในผูกที่ ๗

    พระพุทธเจ้าเสด็จประดิษฐานพระเกศาธาตุ ณ ดอยเยืองขึ้น และเสด็จประทับรอยพระบาทยังบ้านดาวลวงที่ ๑ ต่อไปพระบาทบ้านแก้ว เสด็จปราบอาฬวกยักษ์ เมืองอาฬวี ประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ ที่มีในตำนานกล่าวถึงถ้ำกวางคำและเรื่องราวของอาฬวกยักษ์ซึ่งกินคนในเมืองอาฬวีจนเกือบหมด จนถึงพระยาอาฬวีต้องส่งพระราชบุตรไปให้ยักษ์กิน พระพุทธองค์ปราบพยศยักษ์ได้ ให้ยึดถึอศีล ๕ และพระรัตนตรัยเป็นที่พึี่ง ให้ส่งคืนราชบุตรแก่พระยาอาฬวี พระองค์อยู่จำพรรษา ณ อังคารเจอีย์ ดอยโลหกุตร ตามคำอาราธนาของพระยาอาฬวี พระองค์ทำนายต่อพระอานนท์ว่า ภายหลังปรินิพพานแล้ว อังคารเจดีย์จะเป็นที่ประดิษฐานกระดูกกระหม่อมของพระองค์ ส่วนเจ้าราชบุตรได้บวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์มีนามว่า มหาหัตถกอาฬวกเถระ พระบาทซ้อนรอย ๓ พระพุทธองค์ได้ชื่อว่า พระบาทดงนั่ง พระบาทลำน้ำทรายคำ ประทับรอยพระบาทที่หาดใหม่ ต่อไปถึงพระบาทบ้านทุ่งยาง พระบาทลวงสูงลวงต่ำ พระบาทว่าวใต้ ว่าวเหนือ เสด็จเมืองวัง ประทับรอยพระบาทห้วยพร้าว ซ้อนรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ ต่อไปพระบาทของดอกไม้ (พวงดอกไม้) พระบาทติงตาย พระบาทแจงแคม พระบาทเชียงผา พระบาทเมืองมาง จากนั้นโปรดเทศนาประชาชนในเขตเขมรัฐ คือเมืองเชียงตุง



    ความย่อในผูกที่ ๘

    พระพุทธองค์ออกจาเมืองเขมรัฐเข้าสู่โยนกนคร ถึงแม่น้ำพยาก เมืองเพียะ ประดิษฐานพระเกสาธาตุ ทำนายว่า ต่อไปจะมีเจดีย์ธาตุเป็นที่ประดิษฐานหัตถะาตุข้างขวา พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรือง แล้วพระองค์เสด็จสู่ดอยโลหกุตร พระยาอโศกและพระอรหันต์ทูลขอพระเกศาธาตุบรรจุผอบทองคำซ้อนในผอบแก้วประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งหนึ่ง พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ด้วย รับสั่งว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วจงเอาหัตถ์ข้างซ้ายมาประดิษฐานที่นี้ จากนั้นเสด็จเข้าเมืองช้างแสน (เชียงแสน) ประทานเกศาธาตุมอบละว้าขุนแสนทองคำบรรจุผอบทองคำประดิษฐานไว้ริมฝั่งแม่น้ำกุกุฏนที (แม่น้ำกก) เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วจงเอากรธาตุข้างซ้ายมาประดิษฐานไว้ จากนั้นเสด็จเมืองชีราย (เชียงราย) ปรายชีม่านร้ายแล้วประทานเกศาธาตุบรรจุผอบแก้วประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งหนึ่ง เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วจงเอาธาตุองคุลีทั้ง ๑๐ มาประดิษฐานไว้ จากนั้นเสด็จเมืองพระยาว (พะเยา) ประทานเกศาธาตุ พระยาสุตโสมเจ้าเมืองนำมาบรรจุผอบทองคำประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งหนึ่ง เมื่อปรินิพพานแล้วจงนำเอาธาตุแขนข้างซ้ายมาประดิษฐานไว้ด้วย จากนั้นเสด็จเมืองลัมพาง (ลำปาง) ละว้าชื่ออ้ายคอนถวายหมากพร้าว (มะพร้าว) เสวยแล้วประทานเกศาเอาใส่ผอบทองคำประดิษฐานในหลุมลึ ก ต่อไปจะมีการสร้างเจดีย์บรรจุกัณฐธาตุ (ธาตุกระดูกคอ) เรียกว่าเจดีย์ธาตุลำปาง จากนั้นเสด็จเมืองน่าน ประทานเกศาธาตุใส่ผอบแก้วแล้วใส่ในน้ำเต้าทองคำบรรจุในเจดีย์สถูป ทรงทำนายว่า ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานธาตุกระดูกข้อพระกรข้างซ้าย จากนั้นเสด็จเมืองแพร่ประทานเกศาธาตุบรรจุผอบแก้วไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุกระดูกข้อศอกซ้าย ลำดับนั้นเสด็จบ้านละว้าผู้หนึ่ง เขตแดนต่อเมืองหงสาวดี ริมฝั่งแม่น้ำปิงที่นั้นเรียก ท่าลอย ประทานเกศาธาตุบรรจุอผบทองคำขุดหลุมฝังไว้ ภายหน้าจะเป็นที่ประดิษฐานธาตุกระดูกแขนซ้าย เสด็จต่อไปท่าทราย (เขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่) ประทานเกศาธาตุบรรจุผอบทองคำประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งหนึ่ง เรียกว่า ถ้ำทรายคำ (สุวรรณคูหา) และประทับรอยพระบาทถ้ำดอกไม้ เสด็จต่อไปยังเมืองลี้ จากนั้นเสด็จไปทางป่าทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลี้ และประทับรอยพระบาทบนหินก้อนหนึ่ง เสด็จดอยผาเรือประทับรอยพระบาทแท่นผาคำในถ้ำมีหีบพระธรรม ๗ หีบ ซึ่งพระจุนทเถระอรหันต์สาวกพระพุทธเจ้าสร้างไว้ก่อนท่านนิพพาน พระพุทธองค์ประทานเกศาธาตุแก่พระยาอโศกและเจ้าละว้าขุนแสนทอง บรรจุผอบทองคำลูกใหญ่นำไปประดิษฐานในถ้ำแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทำนายว่าที่นี้ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระนลาฏธาตุเบื้องซ้าย และดอยนี้จะมีชื่อว่า ดอยเกิ้ง (อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)



    ความย่อในผูกที่ ๙

    พระพุทธองค์ประทับที่ดอยเกิ้ง ๗ วัน แล้วเสด็จลงมาเลียบฝั่งแม่น้ำปิงไปทางด้านทิศเหนือ พญานาคตนหนึ่งควักดวงตาถวายบูชาพระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทบนหินก้อนหนึ่ง ตรงที่พระองค์ประทับยืนมีชื่อเรียกว่า สังเวโสนเจดีย์ ทรงรำพึงว่าต่อไปบริเวณนั้นจะเป็นมหานครและจะเป็นที่ประดิษฐานพระบาทธาตุมากกว่าที่ใดๆ แล้วเสด็จกลับถึงบ้านกุมภเศรษฐีประทานเกศาธาตุองค์หนึ่ง พระอรหันต์และกุมภเศรษฐีนำบรรจุผอบทองคำขุดหลุมฝังไว้ ซึ่งต่อไปจะมีการสร้างเจดีย์ครอบลงไป ทำนายว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุกระดูกกระหม่อมข้างขวาของพระองค์ จากนั้นเสด็จบ้านทิชา ต่อไปจะมีชื่อเรียกว่ากุมกาม ประทานเกศาธาตุและพระยาอโศกกับละว้าทั้งหลายนำไปบรรจุผอบทองคำขุดหลุมฝังไว้ จากนั้นเสด็จประทับดอยคำหลวง ๑ คืน รุ่งเช้าเสด็จประทับรอยพระบาทบนหินใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ทรงรำพึงในพระทัยว่าบริเวณที่นี้ต่อไปจะเป็นมหานคร คอเมืองเชียงใหม่ ภายหน้าพระพุทธศาสนาจักรุ่งเรืองจะเกิดมีมหาอาราม ๘ แห่งได้แก่ บุปผาราม (วัดสวนดอก) เวฬุวันอาราม (วัดป่าหกหรือวัดป่าไผ่ได้แก่วัดกู่เต้า) วัดบุพพาราม อโศการาม (วัดป่าแดง) พีชอาราม (วัดหลวงศรีเกิด) สังฆาราม (วัดเชียงมั่น) นันทอาราม (วัดนันทา) และโชติอาราม (วัดเจดีย์หลวง) ในแต่ละแห่งพระองค์ได้ประทานเกศาธาตุเพื่อประดิษฐานแห่งละ ๑ องค์ ส่วนบริเวณที่เป็นตัวเมืองเชียงใหม่นั้นเดิมชื่อว่า อภินวนคร เพราะพระองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่นักบวชพม่า ๒ องค์ ลำดับต่อจากนั้นพระองค์เสด็จประทับที่บ้านกุมภเศรษฐี กุมภเศรษฐีป่าวร้องละว้าชาวบ้นช่วยกันสร้างพระพุทธรูปดินเผาได้ถึง ๓,๓๐๐,๐๐๐ องค์ นำถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดให้ขุดหลุมฝังดินทั้งหมด ทำนายว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พระพุทธรูปเหล่านั้นจะปรากฏออกมาให้เห็นเป็นที่สักการบูชาแก่คนทั้งหลาย หลังจากนั้นเสด็จประทานเกศาธาตุ ประดิษฐาน ณ ดอยนางนอน (นางน้อง) ต่อไปถึงเมืองยวม (อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ประทับพระบาทแล้วเสด็จต่อไปเมืองพระบาง (ฉบับเชียงมั่น ว่าเมืองทราย) ประทับรอยพระบาท เสด็จผ่านเมืองแปร ผ่านเมืองตะโก้ง กลับถึงเชตวันมหาวิหาร ความต่อจากนั้นกล่าวเรื่องพระพุทธองค์เมื่อพระชนมายุ ๖๐ พรรษา เสด็จเข้าเขตโยนกนคร โปรดเทศนายัขราชาที่ดอนอ่างสลง (สลุง) ในเขตเมืองเชียงดาว (อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) ยักขราชาละพยศ สมาทานศีล ๕ พระองค์ทำนายว่า เมื่อพระพุทธศาสนาย่างเข้าเขต ๓,๐๐๐ วัสสา ยักขราชาจะบังเกิดเป็นพระยาธรรมิกราชปราบยุคเข็ญ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ในเมืองเชียงดาวนั้น


     
  6. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ความย่อในผูกที่ ๑๐

    เนื้อเรื่องกล่าวถึงคำทำนายของพระพุทธองค์ต่อพระอินทร์ เกี่ยวกับความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในช่วง ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้
    พ.ศ.๒๑๘ พระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงรวบรวมเอาพระธาตุแจกจ่ายไปยังบ้านน้อยเมืองใหญ่ ถึง ๘๔,๐๐๐ เมือง (พระเจ้าอโศกเป็นพระยาธรรมิกราชในระหว่าง ๑,๐๐๐ วสาแรก)

    พ.ศ. ๕๐๐ พระภิกษุณีจะหมดไปจากพระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๑๐๐๗ พระสงฆ์จะแตกแยกออกไปเป็น ๔ เหล่า (นิกาย)

    พ.ศ.๑๐๘๐ จะบังเกิดพระยาธรรมิกราชองค์หนึ่งมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๑๙๐๐ จะหมดเชื้อสายพระอรหันต์

    พ.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๑๙ จะเกิดกลียุครบราฆ่าฟันกันไปทั่วแผ่นดิน

    พ.ศ.๒๐๐๐ ผู้คนจะละเว้นการปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม
    พระสงฆ์หมู่หนึ่งจะหล่อพระพุทธรูป ๕ องค์ด้วยทองเหลือง ทองคำ แก้วมณี หินและไม้จันทน์ นำไปประดิษฐานใเมืองต่างๆ ๕ เมือง และเมื่ออายุพระพุทธศาสนาล่วงเข้าเขต ๓,๐๐๐ ปี พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์จะมารวมกัน ณ เมืองเดียวกัน จะบังเกิดพระยาธรรมิกราชองค์หนึ่งมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ในช่วงนั้นพระสงฆ์อรัญวาสีจะค่อยๆ หมดไปด้วยพอใจที่จะมาอยู่วัดในเมืองคือคามวาสี มีความผิดปกติเกิดขึ้นนั่นคือ ชาวป่าชาวเขาเกิดศรัทธาใฝ่ใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในขณะที่คนในเมืองอาศัยวัดวาอารามเป็นที่ทำมาหากินโดยไม่กลัวบาป สมณะชีพราหมณ์ละเลยการปฏิบัติวัตรครองธรรมอันดีงาม ความเป็นไปดังกล่าวอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๐๐๐ -๔๐๐๐ พระสงฆ์มากันสั่งสมสมบัติ ลาภยศ แล้วพากันลาสิกขาบทออกไปเป็นผู้ครองเรือน พระพุทธองค์ทำนายความเจริญความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในช่วง ๕,๐๐๐ วัสสนา และเมื่อใกล้ถึง ๕,๐๐๐ ปี จะเกิดกลียุค (ไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก) ด้วยเทวดาอารักษ์เป็นผู้บันดาลให้เกิดขึ้น เพราะความไม่พอใจในการกระทำของหมู่มนุษย์ แต่พระพุทธเจ้าได้สั่งพระอินทร์ไว้ว่า เมื่อถึงช่วงทุกๆ พันวัสสนาให้ส่งพระยาธรรมิกราชจากสวรรค์ลงไปเกิดในโลก เพื่อพยุงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไปจนถึง ๕,๐๐๐ ปี เรื่องดังกล่าวพระอินทร์ได้บอกแก่อินทสมภารฤาษี ซึ่งอยู่ ณ ดอยคำหลวง เขตเมืองหริภุญชัย เพื่อนำไปประกาศให้คนทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน
    ความย่อในผูกที่ ๑๑

    ความกล่าวถึงพระพุทธองค์ประสูติ ออกบรรพชา ตรัสรู้และเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์แล้ว กล่าวถึงวัสสาที่ ๑๗ ได้เสด็จจำพรรษา ณ เมืองอาฬวี ใกล้ดอยจอมทอง ในเขตอาณาจักรสิบสองปันนา แล้วกล่าวถึงการปรินิพพานของพระองค์ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ได้มีการจัดสรรปันส่วนพระบรมธาตุ กล่าวถึงพระบรมธาตุที่บ่แตกม่ม้าง (อยู่ในสภาพดี ไม่แตกไม่หัก) มี ๗ องค์ ได้แก่
    พระธาตุกระดูกกระหม่อม ๑ องค์
    พระธาตุกระดูกด้ามมีด (ไหปลาร้า) ๒ องค์
    พระธาตุทาฒ (เขี้ยว) ๔ องค์

    ส่วนพระบรมธาตุที่แตกกระจัดกระจายอยู่มี ๓ ถ้าน (ระดับ) ได้แก่
    พระธาตุขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วค้างหักครึ่ง สีเหมือนทองคำ
    พระธาตุขนาดกลาง เท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง สีเหมือนแก้วมุกดา
    พระธาตุขนาดเล็ก เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด สีขาวเหมือนปีกนกยาง

    สำหรับพระบรมธาตุทั้งหลายนี้จะมีผู้นำไปประดิษฐานไว้ในที่ต่างๆ ตามคำทำนายของพระพุทธเจ้า ดังนี้
    พระธาตุกระดูกกระหม่อม ประดิษฐานไว้ที่เมืองหริภุญชัย

    ธาตุกระดูกไหปลาร้าข้างขวา และพระเกศาธาตุบางส่วน ประดิษฐานไว้ในพรหมโลก

    ธาตุเขี้ยวซ็ายบนและเขี้ยวล่างขวา ประดิษฐาน ณ เมืองตักศิลาเมืองคันธาราษฎร์ ตามลำดับ

    ธาตุเขี้ยวบนขวาและพระเกศเหล้าจุฬามณี (ผมมุ่นเกล้า) ประดิษฐานไว้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    ธาตุเขี้ยวล่างซ้าย ประดิษฐานไว้นาคทวีป

    พระนลาฏธาตุ ประดิษฐานไว้ในประเทศลังกา

    ธาตุย่อย ประดิษฐานไว้ในเจดีย์ธาตุแห่งละ ๑ องค์ คือเมืองราชคฤห์ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัศดุ์ หมู่บ้านราชคาม เมืองกุสินารา และเมืองสาริกานคร

    ธาตุออกออหัว (มันสมอง) ประดิษฐาน ณ อังคารเจดีย์ เมืองอาฬวี แคว้นสิบสองปันนา

    ธาตุกกระดูกคาง ประดิษฐาน ณ เมืองสุโขทัย

    ธาตุกระดูกคอ ประดิษฐาน ไว้ในนาคทวีป

    ธรรมกรก (ที่กรองน้ำ) และผ้ากายพัน (รัดประคต) ประดิษฐานเมืองปาฏลีบุตร

    ไม้สีฟันทิพย์ ประดิษฐานเมืองมิถิลา (ตาลีฟู)

    กระบอกเข็ม ประดิษฐานเมืองวิเทหะ

    รองพระบาท ประดิษฐานเมืองเจติยนคร

    สนุกบาตร (สมุกบาตรหรือผ้าหุ้มบาตร) ประดิษฐานที่หมู่บ้านพราหมณ์ ชื่อ อุสิลคาม

    ไตรวีจร (ผ้า ๓ ผืน) ประดิษฐานที่พันธุมดี

    บาตร ประดิษฐานเมืองมวร (มธุ) นคร

    ผ้าปูนั่ง (นิสิทน) ประดิษฐานที่กุรุรัฐ (โกสัมพี)


     
  7. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ความตอนต่อไปกล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมธาตุต่างๆ ในอาณาจักรหริภุญชัย

    ๑. ธาตุย่อยกับเกศาธาตุ ไว้ดอยจอมไกล (ทุรบรรพต)
    ๒. ธาตุย่อยกับเกศาธาตุ ไว้ดอยปู่หลาน
    ๓. ธาตุกระดูกฝ่ามือขวากับพระเกศาธาตุ ไว้ดอยแจ้ขุม เมืองพยาก (อำเภอเชีียงแสน จังหวัดเชียงรายป
    ๔. ธาตุกระดูกฝ่ามือซ้ายกับพระเกศาธาตุ ไว้ดอยว่อง เมืองพาน
    ๕. ธาตุกระดูกแขนขวากับพระเกศาธาตุ ไว้ดอยจอมกิตติและดอยทองเมืองเชียงแสน
    ๖. องคุลีธาตุพระหัตถ์ซ้ายกับพระเกศาธาตุ ไว้ดอยจอมทองเมืองเชียงราย
    ๗. ธาตุกระดูกแขนซ้ายกับพระเกศาธาตุ ไว้ดอยจอมทอง เมืองพะเยา
    ๘. กัณฐธาตุกับพระเกศาธาตุ ไว้เมืองลำปาง
    ๙. ธาตุกระดูกข้อพระกรซ้ายกับพระเกศาธาตุ ไว้ภูเพียง แช่แห้งเมืองน่าน
    ๑๐. ธาตุกระดูกข้อศอกซ้ายกับพระเกศาธาตุ ไว้เมืองแพร่
    ๑๑. ธาตุข้อศอกขวากับพระเกศาธาตุ ไว้ท่าลอย
    ๑๒.ธาตุกระดูกกลางศอกทั้งสองข้างกับพระเกศาธาตุ ไว้ท่าทราย
    ๑๓. ธาตุกระดูกกระหม่อมกับพระเกศาธาตุ ไว้เมืองหริภุญชัย
    ๑๔. ธาตุกระดูกคางขวากับพระเกศาธาตุ ไว้กู่คำ (เวียงกุมกาม)
    ๑๕. ธาตุกระดูกคางซ้ายกับพระเกศาธาตุ ไว้วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

    พระเกศาธาตุแห่งละ ๑ องค์ไว้ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
    ๑. วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่
    ๒. วัดหลวงศรีเกิด เมืองเชียงใหม่
    ๓. วัดกู่เต้า เมืองเชียงใหม่
    ๔. วัดนันทาราม ประตูเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่
    ๕. วัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่
    ๖. วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่
    ๗. วัดดอยนางน้อง (ดอยนางนอน) เมืองติง
    ๘. ดอยนางพี่ (ภีก) เมืองเมย

    พระนลาฎธาตุด้านซ้ายและเกศาธาตุ ไว้กับหีบพระธรรม ๗ หีบของพระจันทรเถระ ณ ดองเกิ้ง (คำ) เมืองหอด (ฮอด)
    ความตอนต่อไปกล่าวถึงการทำสังคายนาครั้งต่างๆ จนถึงครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๑๘ มีพระมหาโมคคัลลีบุตรเถระเป็นประธาน พระเจ้าอโศกมหาราชให้ค้นหาอุโมงค์บรรจุพระบรมธาตุสมัยพระเจ้าอชาติศัตรู เมืองราชคฤห์ พบแล้วนำมาบรรจุผอบแจกจ่ายไปตามบ้านเล็กเมืองน้อยถึง ๘๔,๐๐๐ เมือง คือในประเทศอินเดียและภายนอก ได้แก่ ลงกา พม่า จีนและไทยเป็นต้น ความต่อจากนั้นเป็ฯเรื่อง พระเจ้ามังรายมหาราชยึดเมืองหริภุญชัยได้ ต่อมามีการสร้างเมืองเชียงใหม่และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง จนถึงสมัยพระเจ้ากือนา ซึ่งกิจการพระพุทธศาสนาเจริญมากและค่อยเสื่อมลง โดยเฉพาะหลังจากพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้างมาครองเมืองเชียงใหม่แล้วเสด็จกลับไปเลย หลังจากนั้นเกิดศึกสงครามจนบ้านเมืองเสียแก่พม่าข้าศึก

    ความตอนต่อไปเป็นตอนสำคัญเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าเลียบโลก คือบอกความเป็นมาของพระบาทและพระบรมธาตุ ซึ่งมีข้อความปรากฏบนแผ่นหินในลังกาทวีป จนถึงสมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช เมืองหงสาวดีอาณาจักรพม่า ได้ส่งพระสงฆ์ออกไปสืบพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ ร้อยเอ็ดหัวเมือง โดยเฉพาะการส่งพระธรรมรโสไปลังกา ท่านได้ไปคัดลอกตำนานพระบาทและพระบรมธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชวัดรพะหิน (มหาเศลอาราม) ซึ่งมีรายละเอียดว่า พระบรมธาตุในอาณาจักรหงสาวดีมีถึง๕๒ แห่ง อาณาจักรหริภุญชัยมี ๒๓ แห่ง รอยพระบาทมี ๑๒ แห่ง พระบาทและพระบรมธาตุในเมืองลื้อเมืองไทยมีถึง ๗๐ แห่ง ครั้นเมื่อพระธรรมรโสเดินทางกลับ และแจ้งเรื่องราวแก่พระเจ้าอนุรุทธมหาราชแล้ว ท่านก็ออกเดินทางจาริกแสวงบุญไปบูชาสถานที่เหล่านั้น จนกระทั่งมาถึงดอยเกิ้ง เขตเมืองหอด (ฮอด) พระมหาโพธิสมภาร ลูกชาวบ้านนาวการคาม (บ้านชาวเรือ) อยู่วัดตีนดอยเกิ้ง ได้พบท่านและขอจารคัดลอกตำนานดังกล่าวไว้ เมื่อปี จ.ศ.๘๘๕ (พ.ศ.๒๐๖๖) และหลังจากนั้นก็ได้มีการจารคัดลอกตำนานกันต่อๆ มาหลายชั่วอายุคน

    ความย่อในผูกที่ ๑๒ เป็นการกล่าวสรุปเรื่องราวในผูกที่ ๑-๑๑
     
  8. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    พระธาตุประจำปีเกิด

    คนเกิดปีชวด ได้แก่ พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
    คนเกิดปีฉลู ได้แก่ พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
    คนเกิดปีขาล ได้แก่ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
    คนเกิดปีเถาะ ได้แก่ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
    คนเกิดปีมะโรง ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
    คนเกิดปีมะเส็ง ได้แก่ ต้นศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย หรือวัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่
    คนเกิดปีมะเมีย ได้แก่ พระธาตุย่างกุ้ง (ตะโก้ง) หรือเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า หรือวัดพระบรมธาตุ จังหวัดตาก
    คนเกิดปีมะแม ได้แก่ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
    คนเกิดปีวอก ได้แก่พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
    คนเกิดปีระกา ได้แก่พระธาตุหริภุญชัย จำหวัดลำพูน
    คนเกิดปีจอ ได้แก่ พระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ หรือวัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่
    คนเกิดปีกุน ได้แก่ พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย


    ;aa40
     
  9. ติงติง

    ติงติง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    38,275
    ค่าพลัง:
    +82,733
    [​IMG]

    เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 53
    ติงไปงานกฐินที่วัดสระจุลณี(วัดสระพังแล้ง) ธาตุพนม
    พระอาจารย์ท่านได้แสดงธรรม
    และกล่าวถึงความเป็นมาของสระพังแล้ง
    ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระธาตุพนม

    [​IMG]

    พระอาจารย์ได้กล่าวถึงตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งน่าสนใจมาก
    กราบขอบพระคุณท่านเจ้าของกระทู้
    ที่นำเรื่องดีๆมาเผยแพร่
    อนุโมทนาค่ะ

    [​IMG]

    [​IMG][​IMG] [​IMG]
     
  10. สังวรคุณ

    สังวรคุณ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    149
    ค่าพลัง:
    +766
    พ.ศ.๒๐๐๐ ผู้คนจะละเว้นการปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม
    พระสงฆ์หมู่หนึ่งจะหล่อพระพุทธรูป ๕ องค์ด้วยทองเหลือง ทองคำ แก้วมณี หินและไม้จันทน์ นำไปประดิษฐานใเมืองต่างๆ ๕ เมือง และเมื่ออายุพระพุทธศาสนาล่วงเข้าเขต ๓,๐๐๐ ปี พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์จะมารวมกัน ณ เมืองเดียวกัน จะบังเกิดพระยาธรรมิกราชองค์หนึ่งมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ในช่วงนั้นพระสงฆ์อรัญวาสีจะค่อยๆ หมดไปด้วยพอใจที่จะมาอยู่วัดในเมืองคือคามวาสี มีความผิดปกติเกิดขึ้นนั่นคือ ชาวป่าชาวเขาเกิดศรัทธาใฝ่ใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในขณะที่คนในเมืองอาศัยวัดวาอารามเป็นที่ทำมาหากินโดยไม่กลัวบาป สมณะชีพราหมณ์ละเลยการปฏิบัติวัตรครองธรรมอันดีงาม ความเป็นไปดังกล่าวอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๐๐๐ -๔๐๐๐ พระสงฆ์พากันสั่งสมสมบัติ ลาภยศ แล้วพากันลาสิกขาบทออกไปเป็นผู้ครองเรือน

    รู้สึกคุ้นๆยังไงชอบกลนะครับ เหมือนจะยุกต์ปัจจุบันนี้ยังไงก็ไม่รู้
     
  11. วสุธรรม

    วสุธรรม พลังรักอมตะ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    2,323
    ค่าพลัง:
    +8,220
  12. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,662
    ค่าพลัง:
    +9,236

    [​IMG]


    ขออนุโมทนาค่ะ

     

แชร์หน้านี้

Loading...